โศกนาฏกรรม “โคเรียนแอร์ไลน์” (Korean Air Lines) เที่ยวบิน 007 ปริศนา? หายนะกลางอากาศ

มีผู้อ่านท่านหนึ่งเขียน In box ใน Facebook ดร.โญ มีเรื่องเล่า ว่า “ สวัสดีครับอาจารย์ ผมอยากได้ข่าวเก่า ๆ อดีตสหภาพโซเวียตส่งเครื่องบินรบไล่ยิงเครื่องบินโดยสารเกาหลีใต้ อยากทราบว่ายิงทำไมครับ ? ” เรื่องนี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลกในยุคนั้น (พ.ศ. 2526) เลย ขอจัดให้ในบทความนี้ ซึ่งผนวกเรื่องราวเช่นนี้ที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารของ Korean Air Lines และโดยเครื่องบินรบของสหภาพโซเวียตแบบเดียวกันเมื่อ 5 ปี ก่อนหน้าเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเกิดขึ้น

เครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747-230B (HL-7442) ลำดังกล่าว

ข่าวใหญ่ระดับโลกที่โด่งดังมากที่สุดในปี พ.ศ. 2526 คือ ข่าวโศกนาฏกรรม Korean Air เที่ยวบิน 007 ซึ่งถูกเครื่องบินขับไล่ของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นยิงตก ทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747-230B (HL-7442) เสียชีวิตทั้งหมด ถึง 269 ราย และมีคนไทยรวมอยู่ด้วย 5 ราย

เครื่องบินโดยสารของ Korean Air แบบ Boeing 707 (HL-7429) ลำที่ถูกยิง

เหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ของโซเวียต ยิงเครื่องบินโดยสารของ Korean Air ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น โดย 5 ปีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่  20 เมษายน พ.ศ. 2521 ก็มีเหตุเครื่องบินขับไล่ของสหภาพโซเวียตยิงเครื่องบินโดยสารของ Korean Airเที่ยวบินที่ 902 (KAL 902 หรือ KE 902) มาแล้ว ครั้งนั้นเป็นเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 707 (HL-7429) จากกรุงปารีส ฝรั่งเศส มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีกำหนดแวะพักเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานนานาชาติเทด สตีเวนส์ เมืองแองคอเรจ มลรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา มีผู้โดยสาร 97 คน ลูกเรือ 12 คน

เครื่องบินสอดแนมแบบ Boeing RC-135 ซึ่งพัฒนาจากเครื่องบิน Boeing 707

เหตุการณ์ Korean Air เที่ยวบินที่ 902 มีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 คน เครื่องบินถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินบนทะเลสาบน้ำแข็ง Korpijärvi ทางทิศใต้ของเมืองเมอร์มานส์ ใกล้ชายแดนฟินแลนด์

เครื่องบินโดยสาร Korean Air เที่ยวบินที่ 902 หลังจากถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินบนทะเลสาบน้ำแข็ง Korpijärvi

ต่อมาเมื่อ 38 ปีก่อน เครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747 -230B เที่ยวบิน KAL 007 สายการบิน Korean Air ของเกาหลีใต้ถูกสหภาพโซเวียตยิงตก หลังจากที่พลัดหลงเข้ามาในเขตน่านหวงห้ามของโซเวียต ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และทั้ง 269 ชีวิตบนเครื่องเสียชีวิต โดยหาศพไม่เจอ และกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าใครผิดใครถูก ระหว่างโซเวียตที่เป็นคนยิง เกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของและผู้บังคับเครื่องบิน หรือสหรัฐอเมริกา เที่ยวบิน KAL 007 บินจากนครนิวยอร์กสู่กรุงโซล โดยแวะพักที่เมืองแองเคอเรจ มลรัฐอะแลสกา และในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2526 เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินดังกล่าวถูกเครื่องบินสกัดกั้น SU-15 ของสหภาพโซเวียตยิงตกใกล้เกาะโมเนรอน ทางตะวันตกของเกาะซาฮาลิน ในทะเลญี่ปุ่น นักบินของเครื่องบินสกัดกั้นลำนั้น คือ นาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich โดยผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 269 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้ง Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรัฐจอร์เจีย เครื่องบินลำดังกล่าวกำลังอยู่ในเส้นทางจากเมืองแองเคอเรจสู่กรุงโซลเมื่อบินผ่านน่านฟ้าโซเวียตซึ่งเป็นเขตหวงห้ามในเวลาไล่เลี่ยกับภารกิจของเครื่องบินสอดแนมสหรัฐฯ

โดยตอนแรก สหภาพโซเวียตปฏิเสธการรู้เห็นในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ภายหลังยอมรับว่า เครื่องบินขับไล่ของโซเวียตเป็นผู้ยิง โดยอ้างว่าเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวอยู่ระหว่างภารกิจสอดแนม คณะตรงโปลิตบูโรแถลงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการยั่วยุโดยเจตนาของสหรัฐ เพื่อทดสอบความพร้อมทางทหารของสหภาพโซเวียต หรือกระทั่งยั่วยุให้เกิดสงคราม ทำเนียบขาวก็กล่าวหาสหภาพโซเวียตว่า ขัดขวางปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย กองทัพโซเวียตระงับการค้นหาหลักฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อใช้ในการสอบสวนสาเหตุ โดยเฉพาะ เครื่องบันทึกข้อมูลการบิน หรือกล่องดำ ซึ่งสุดท้ายก็มีการเผยแพร่ในแปดปีหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดขณะหนึ่งของสงครามเย็นและส่งผลให้การต่อต้านโซเวียตทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ มุมมองตรงข้ามต่อเหตุการณ์ไม่เคยยุติอย่างสมบูรณ์ ต่อมามีอีกหลาย ๆ กลุ่มได้ดำเนินการเกี่ยวกับรายงานอย่างเป็นทางการในกรณีพิพาทและเสนอทฤษฎีทางเลือกของเหตุการณ์นี้ มีการเผยแพร่เอกสารต่าง ๆ และข้อมูลเครื่องบันทึกของเที่ยวบิน KAL 007 ภายหลังโดยสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งได้เปิดเผยรายละเอียดบางอย่างซึ่งยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

ระบบ GNSS ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นความลับอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2526)

ผลของเหตุการณ์ สหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนวิธีดำเนินการติดตามเครื่องบินที่บินออกจากมลรัฐอะแลสกา พัฒนาโปรแกรมต่อประสานนักบินอัตโนมัติที่ใช้ในสายการบินโดยได้รับการออกแบบใหม่ให้สมบูรณ์มากขึ้น นอกเหนือจากนี้แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นเหตุการณ์เดี่ยวที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี Reagan อนุญาตให้ทั่วโลกเข้าถึงระบบ GNSS ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นความลับอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบันระบบดังกล่าวรู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อว่า GPS (Global Positioning System)

เครื่องบินของ Korean Air เที่ยวบินที่ 007 คือ เครื่องบินพาณิชย์แบบ Boeing 747-230B ส่งมอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2515 เลขทะเบียน CN20559/186 และ D-ABYH ซึ่งให้บริการโดยสายการบิน Condor ก่อนจะมาจดทะเบียนเป็น HL7442 ของ Korean Air KAL 007 ออกจากประตูที่ 15 ของท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2526 มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ ในเขตกังเซโอ กรุงโซล โดยออกเดินทางช้ากว่ากำหนด 35 นาที จากกำหนดเดิม 23:50 เขตเวลาตะวันออก (03:50 UTC ของวันที่ 31 สิงหาคม) เที่ยวบินนี้บรรทุกผู้โดยสาร 246 คนและลูกเรือ 23 คน หลังจอดเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานนานาชาติแองเคอเรจ ในเมืองแองเคอเรจ มลรัฐอะแลสกาแล้ว เครื่องบินดังกล่าว ซึ่งกัปตันของผลัดนี้คือ กัปตัน Chun Byung-in จึงได้ออกเดินทางสู่กรุงโซลเมื่อเวลา 04:00 ตามเวลาอะแลสกา (13:00 UTC) ของวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526

Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากมลรัฐจอร์เจีย หนึ่งในผู้โดยสาร

เที่ยวบินนี้มีสัดส่วนลูกเรือต่อผู้โดยสารสูงผิดปกติ โดยมีลูกเรือที่โดยสารแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (Deadheading) 6 คนบนเครื่อง ผู้โดยสาร 12 คนอยู่ในห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่งส่วนบน ขณะที่ที่นั่งชั้นธุรกิจมีผู้โดยสาร 24 ที่นั่ง ในชั้นประหยัดว่างราว 80 ที่นั่ง บนเครื่องมีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 22 คน ผู้โดยสาร 130 คนมีกำหนดการบินเชื่อมไปยังจุดหมายอื่น เช่น กรุงโตเกียว นครฮ่องกง และกรุงไทเป Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจากมลรัฐจอร์เจีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นประธานคนที่สองของสมาคม John Birch Society อยู่บนเครื่องด้วย โซเวียตยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสันจะนั่งติดกับ Larry McDonald บน KAL 007 แต่ CIA ได้เตือนไม่ให้ไป จากข้อมูลของ นิวยอร์กโพสต์ และสื่อของสหภาพโซเวียต แต่นิกสันปฏิเสธข่าวดังกล่าว

จุดอ้างอิงในเส้นทางการบิน R-20

หลังจากบินขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติแองเคอเรจ เที่ยวบิน KAL 007 ได้รับคำสั่งจากการควบคุมจราจรทางอากาศ (ATC) ให้เลี้ยวหันหน้าไป 220 องศา ประมาณ 90 วินาทีต่อมา ATC สั่งให้เที่ยวบิน "มุ่งหน้าตรงสู่เบเธลเมื่อทำได้" เมื่อมาถึงเบเธล รัฐอะแลสกา เที่ยวบินที่ 007 จะเข้าสู่เหนือสุดของเส้นทางการบินกว้าง 80 กิโลเมตร ที่เรียก เส้นทาง NOPAC (แปซิฟิกเหนือ) ซึ่งเชื่อมชายฝั่งอะแลสกากับญี่ปุ่น เส้นทางการบินของ KAL 007 คือ R-20 (โรมีโอ 20) ผ่านห่างจากน่านฟ้าโซเวียตนอกชายฝั่งคัมชัตกาเพียง 28.2 กิโลเมตร ระบบนักบินอัตโนมัติที่ใช้ในขณะนั้นทำงานควบคุมระบบพื้นฐานสี่อย่าง ได้แก่ HEADING, VOR/LOC, ILS, และ INS สภาวะ HEADING รักษาเส้นทางแม่เหล็กคงที่ตามที่นักบินเลือก สภาวะ VOR/LOC รักษาเครื่องบินให้อยู่ในเส้นทางเฉพาะ การส่งสัญญาณจาก VOR ภาคพื้นดินหรือเครื่องบอกตำแหน่ง Localizer ตามที่นักบินเลือก สภาวะ ILS (ระบบลงจอดด้วยเครื่อง) ทำให้เครื่องบินติดตามทั้งเครื่องบอกตำแหน่งเส้นทางแนวตั้งและแนวระนาบ ซึ่งนำไปสู่ทางวิ่ง (Runway) ที่นักบินเจาะจงเลือกสภาวะ INS (Inertial navigation system : ระบบเดินอากาศยานเฉื่อย) ทำหน้าที่รักษาเครื่องให้อยู่ในเส้นทางแนวระนาบระหว่างพิกัดจุด (Waypoint) ตามแผนการบินที่เลือกที่ตั้งโปรแกรมเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของระบบ INS

อุปกรณ์ HEADING Mode

ประมาณ 10 นาทีหลังจากเครื่องขึ้น โดยบินหันหัวทาง 245 องศา KAL 007 เริ่มเบี่ยงไปทางขวา (เหนือ) ของเส้นทางที่กำหนดไปยังเบเธล และยังคงบินต่อไปอีกห้าชั่วโมงครึ่ง การจำลองและวิเคราะห์เครื่องบันทึกข้อมูลการบินของ ICAO ระบุว่า การเบี่ยงเบนนี้อาจเกิดจากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของเครื่องบินที่ทำงานในโหมด HEADING หลังจากจุดที่ควรเปลี่ยนเป็นโหมด INS ตามที่ ICAO ระบุ นักบินอัตโนมัติไม่ทำงานในโหมด INS เนื่องจากนักบินไม่ได้เปลี่ยนระบบอัตโนมัติเป็นโหมด INS หรือพวกเขาเลือกโหมด INS แต่คอมพิวเตอร์ไม่ได้เปลี่ยนการนำทางไปที่โหมด INS เนื่องจากเครื่องบินได้เบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางเกินพิกัดความเผื่อ 7.5 ไมล์ (12.1 กม.) ที่อนุญาตโดยคอมพิวเตอร์ INS ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักบินอัตโนมัติยังคงอยู่ในโหมด HEADING และนักบินไม่ได้พบปัญหา

หลังจากบินขึ้น 28 นาที เรดาร์ของพลเรือนที่คาบสมุทร Kenai บนชายฝั่งตะวันออกของ Cook Inlet และด้วยเรดาร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ 175 ไมล์ (282 กม.) ทางตะวันตกของแองเคอเรจ ติดตาม KAL 007 5.6 ไมล์ (9.0 กม.) ทางเหนือของจุดที่ควรจะเป็น เมื่อ KAL 007 ไม่ถึงเบเธลในเวลา 50 นาทีหลังจากเครื่องบินขึ้น เรดาร์ของกองทัพสหรัฐฯที่ King Salmon รัฐอะแลสกา ได้ติดตาม KAL 007 ที่ระยะทาง 12.6 ไมล์ทะเล (23.3 กม.) ทางเหนือของจุดที่ควรจะเป็น ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ทหารประจำเรดาร์ที่ฐานทัพอากาศ Elmendorf (ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะรับผลการวิเคราะห์จากเรดาร์ King Salmon) ทราบถึงความเบี่ยงเบนของ KAL 007 แบบเรียลไทม์ จึงสามารถเตือนได้ เครื่องบิน เพราะเกินค่าเบี่ยงเบนสูงสุดที่คาดไว้ถึงหกเท่า ข้อผิดพลาด 2 ไมล์ทะเล (3.7 กม.) เป็นค่าเบี่ยงเบนสูงสุดที่คาดหวังจากเส้นทางหาก INS (ระบบนำทางเฉื่อย) เปิดใช้งาน

ด้วย KAL 007 ไม่สามารถส่งตำแหน่งผ่านคลื่นความถี่สูงมาก (VHF) ที่มีช่วงสั้นกว่า ดังนั้นจึงขอให้ KAL 015 ซึ่งกำลังเดินทางไปยังกรุงโซลถ่ายทอดรายงานไปยังศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ KAL 007 ขอให้ KAL 015 ถ่ายทอดตำแหน่งสามครั้ง เมื่อเวลา 14:43 (UTC) KAL 007 ได้ส่งการเปลี่ยนแปลงเวลาที่ประมาณการมาถึงโดยตรงไปยังสถานีบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศที่แองเคอเรจ แต่ได้ส่งผ่านคลื่นความถี่สูง (HF) ที่มีพิสัยไกลกว่า แทนที่จะเป็น VHF การส่งสัญญาณ HF สามารถไปได้ไกลกว่า VHF แต่เสี่ยงต่อการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้าและไฟฟ้าสถิต VHF มีความชัดเจนกว่าและมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่า การที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางวิทยุโดยตรงเพื่อให้สามารถส่งตำแหน่งได้โดยตรง เพื่อเตือนนักบินของ KAL 007 ทราบถึงการเบี่ยงออกนอกเส้นทางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติโดยผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ระยะครึ่งทางระหว่างเบเธลและจุดอ้างอิง NABIE KAL 007 ได้บินผ่านส่วนใต้ของเขตกันชนของหน่วยบัญชาการป้องกันการบินและอวกาศอเมริกาเหนือ โซนนี้อยู่ทางเหนือของเส้นทางการบิน Romeo 20 และจำกัดเฉพาะเครื่องบินพลเรือน หลังจากออกจากน่านฟ้าอเมริการะยะหนึ่ง KAL Flight 007 ได้บินข้ามเส้นแบ่งวันที่สากล วันที่ท้องถิ่นจึงเปลี่ยนจาก 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526 เป็น 1 กันยายน พ.ศ. 2526 KAL 007 เดินทางต่อไป โดยความเบี่ยงเบนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนออกนอกเส้นทาง 60 ไมล์ทะเล (110 กม.) ที่จุดอ้างอิง NABIE และออกนอกเส้นทาง 100 ไมล์ทะเล (190 กม.) ที่จุดอ้างอิง NUKKS และออกนอกเส้นทางถึง 160 ไมล์ (300 กม.) ณ จุดอ้างอิง NEEVA จนกระทั่งบินถึงคาบสมุทรคัมชัตกา ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายและเป็นเขตหวงห้ามที่สำคัญที่สุดของสหภาพโซเวียตในเขตตะวันออกไกล

หมู่เรือในการซ้อมรบทางทะเล FleetEx '83 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 17 เมษายน พ.ศ. 2526

ด้วยช่วงเวลานั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ แต่เป็นช่วงระหว่างสงครามเย็นระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมกำลังตึงเครียดอย่างมาก จากการที่สหรัฐฯ นำขีปนาวุธ Pershing II มาประจำการในยุโรป การซ้อมรบทางทะเล FleetEx '83 ที่เป็นการซ้อมรบขนาดใหญ่ในแปซิฟิกเหนือ โดยเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ USS Midway และ USS Enterprise บินเข้ามาในลักษณะยั่วยุถึงเขตที่มั่นทางการทหารของโซเวียตบนเกาะคูริลในช่วงการซ้อมรบดังกล่าว จนสหภาพโซเวียตสั่งปลดนายทหารที่รับผิดชอบด้านการป้องกันพื้นที่ที่ไม่สามารถยิงเครื่องบินสหรัฐให้ตกได้ ดังนั้นโซเวียตจึงต้องป้องกันน่านฟ้าของตนอย่างเต็มที่ และในวันเดียวกับที่เกิดเหตุ สหภาพโซเวียตก็มีแผนจะซ้อมยิงขีปนาวุธ จึงมีการเตือนภัยทั่วเขตคาบสมุทรคัมชัตกา ขณะที่สหรัฐฯ ก็ส่งเครื่องบินแบบ RC-135 ออกสอดแนม (เหมือนกับกรณี Korean Air เที่ยวบินที่ 902)

15:51 น. (UTC) KAL 007 ได้เข้าสู่น่านฟ้าหวงห้ามของคาบสมุทรคัมชัตกา ซึ่งห่างจากน่านฟ้าเขตชายฝั่ง 200 กิโลเมตร และตำแหน่งที่อีก 80 กิโลเมตร KAL 007 จะเข้าสู่น่านฟ้าของคาบสมุทรคัมชัตกา โซเวียตจึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-23 ลำหนึ่ง และ SU-15 Flagon อีก 3 ลำเข้าสกัด แต่ฝ่ายโซเวียตมีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการบัญชาการ เรื่องทางเทคนิค รวมถึงเรื่องสภาพอากาศ ทำให้ทั้ง 4 ลำไม่สามารถทำอะไรเครื่องบินโดยสารได้ จนกระทั่งมันออกจากน่านฟ้าของคัมชัตกา เข้าสู่น่านน้ำสากลโดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด หลังจากพิจารณาถึงเส้นทางการบินของ KAL 007 ฝ่ายโซเวียตเห็นว่า KAL 007 น่าจะบินฝ่าเข้ามายังน่านฟ้าหวงห้ามของโซเวียตอีกครั้ง น่าจะเป็นบริเวณเกาะซาคาลิน จึงสั่งการให้เครื่องบินขับไล่จัดการทำลาย KAL 007 แม้ว่า KAL 007 จะอยู่ในเขตน่านฟ้าสากล หากสามารถแน่ใจว่า บนเครื่องบินไม่มีผู้โดยสาร แต่นายทหารระดับสูงอีกคนกลับบอกว่า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรกันอีกแล้วกับเครื่องบินที่ละเมิดน่านฟ้าของโซเวียตถึง 2 ครั้ง เมื่อ KAL 007 รุกล้ำน่านฟ้าเป็นครั้งที่ 2 โซเวียตได้ส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-23 ลำหนึ่ง และ SU-15 Flagon อีก 3 ลำแบบเดิม รวม 4 ลำขึ้นไปเพื่อหาทางสื่อกับนักบิน KAL 007 แต่การติดต่อทางวิทยุ ไม่ประสบผล เพราะนักบินเกาหลีไม่ตอบกลับ เครื่อง บิน SU-15 ที่นำฝูง ก็ได้ยิงปืนเตือนไป 243 นัด แต่ก็ไม่มีการตอบสนอง ซึ่งกระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนเจาะเกราะธรรมดา ไม่ใช่กระสุนส่องวิถี นักบิน KAL 007 จึงอาจจะไม่ทราบเรื่องการยิงเตือน

ในระหว่างนั้น กัปตัน KAL 007 ได้ติดต่อไปยังศูนย์ควบคุมการบินของญี่ปุ่น เพื่อขอเพิ่มเพดานบิน เพราะจะทำให้เครื่องบินประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และเมื่อเพิ่มเพดานบินแล้ว พวกเขาจึงต้องลดความเร็วลงกะทันหัน แต่สำหรับนักบินเครื่องบินขับไล่ที่ติดตามอยู่ กลับเห็นว่าเป็นความพยายามในการหลบหนี เพราะทำให้เครื่องบินรบที่บินเร็วกว่า ต้องบินเลย KAL 007 ออกไป ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งจากหน่วยบัญชาการให้จัดการกับ KAL 007 ก่อนที่ KAL 007 จะออกไปพ้นน่านฟ้าของโซเวียตเป็นครั้งที่ 2 นักบินจึงต้องบินวนกลับมาด้านหลังของ KAL 007 อีกครั้ง ด้วยการสั่งการ 6 ขั้นของสายการบังคับบัญชา หลังจาก KAL 007 รุกล้ำน่านฟ้าโซเวียตกว่า 2 ชั่วโมง ในเวลา 18.26 น. (UTC) เครื่องบินรบแบบ SU-15 ที่บินนำฝูง โดยนาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich ก็ได้ยิงขีปนาวุธแบบอากาศสู่อากาศ Kaliningrad K-8  จำนวน 2 ลูกใส่บริเวณส่วนหางของเครื่องบิน (เพราะกระสุนปืนถูกใช้ไปหมดแล้ว)  ทำให้เครื่องบินไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ และที่สุดก็ตกลงในทะเลญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา นาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เขารู้แน่ว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing จากหน้าต่าง 2 แถว และรู้ว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินพลเรือน แต่สำหรับเขาแล้วเรื่องนี้ไม่มีความหมายอะไร เพราะสามารถดัดแปลงเครื่องบินพลเรือนเป็นเครื่องบินทางการทหารได้ไม่ยาก รายละเอียดสัญชาติของผู้โดยสารและลูกเรือเที่ยวบิน : ออสเตรเลีย 4 ฮ่องกง 12 แคนาดา 8 สาธารณรัฐโดมินิกัน 1 อินเดีย 1 อิหร่าน 1 ญี่ปุ่น 28 มาเลเซีย 1 ฟิลิปปินส์ 16 เกาหลีใต้ 105 สวีเดน 1 ไต้หวัน 23 ไทย 5 สหราชอาณาจักร 2 สหรัฐอเมริกา 62 เวียดนาม 1 รวม 269 เป็นผู้โดยสาร 76 คน ลูกเรือ 23 คน และลูกเรือที่โดยสารแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (Deadheading) 6 คน

หลังเครื่องบินหายไป หลายฝ่ายก็มีการออกค้นหาซากเครื่องบินและศพผู้เสียชีวิต แต่โซเวียตก็ไม่ให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการค้นหาภายในเขตของโซเวียตด้วย ในส่วนของการค้นหาในเขตน่านน้ำสากล เกาหลีใต้ในฐานะเจ้าของเครื่องบินมอบหมายให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯเป็นผู้ค้กนหาซากเครื่องบิน ในทางปฏิบัติก็เท่ากับว่าสหรัฐฯสามารถยิงฝ่ายโซเวียตได้ หากเข้ามาขโมยซากเครื่องบินในเขตน่านน้ำสากล ทำให้ทั้งสองฝ่ายส่งเรือรบเข้ามาในเขตมากมายราวกับเตรียมจะทำสงครามกัน นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็มีการก่อกวนยั่วยุกันตลอด แต่ในเขตน่านน้ำสากลไม่พบชิ้นส่วนอะไร ส่วนในฝั่งโซเวียตก็ไม่มีการแจ้งว่าพบอะไรบ้าง แต่ในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1991) มีการเปิดเผยว่า ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือที่ทันสมัย เจ้าหน้าที่ค้นหาของโซเวียตพบซากเครื่องบินอยู่ใกล้กับเกาะโมเนรอนที่ระดับความลึก 174 เมตร แต่เมื่อส่งประดาน้ำลงไปในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ก็ไม่พบว่ามีซากศพติดอยู่ภายในซากเครื่องบินแต่อย่างใด เท่าที่ฝ่ายโซเวียตพบก็มีเพียงแค่เศษซากชิ้นส่วนของมนุษย์ชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น

รองเท้าและเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต

8 วันต่อมาหลังการตก ศพผู้เสียชีวิตเริ่มลอยมายังญี่ปุ่น แต่อยู่ในสภาพชิ้นเล็กชิ้นน้อย และไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของใคร และ 26 วันหลังการตกของ KAL 007 โซเวียตได้นำรองเท้าและเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตที่เก็บได้ส่งคืนให้ตัวแทนสหรัฐ – ญี่ปุ่น เมื่อรวมกับที่ค้นพบในน่านน้ำสากล รองเท้า เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นของผู้ที่อยู่บนเครื่องบิน 213 คน ด้วยคำแนะนำจากรัฐมนตรีมหาดไทย ในเบื้องต้น ยูริ อังโดรปอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในฐานะผู้นำประเทศ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าโซเวียตเป็นผู้ยิงเครื่องบิน KAL 007 เพราะเชื่อว่า คงไม่มีใครพิสูจน์เรื่องนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สหรัฐฯซึ่งเป็นคู่อริจึงใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นในการโจมตีโซเวียต โดยการนำเทปบันทึกเสียงติดต่อของนักบินโซเวียตกับฐานที่ดักฟังได้ ไปเปิดในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เมื่อเจอเรื่องแบบนี้เข้าฝ่ายโซเวียตจึงต้องออกมายอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน ก็แฉกลับว่า จนทำให้โลกรู้เป็นครั้งแรกว่า สหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินลาดตระเวนแบบ RC-135 เข้ามาสอดแนมในน่านฟ้าของโซเวียต และเส้นทางการบินก็อยู่ในแนวเดียวกับ KAL 007 ที่ถูกยิงตก

ท่าทีของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งจ้องจะเอาผิดกับโซเวียตในเรื่องนี้ยิ่งทำให้ฝ่ายโซเวียตเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเจตนาร้ายและเป็นการวางแผนของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯเดินหน้าตอบโต้ฝ่ายโซเวียตต่อไป โดยการห้ามสายการบินแอโรฟล็อตบินเข้าสหรัฐฯ ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียตต้องยกเลิกการเดินทางมาสหประชาชาติ และจากการที่สหรัฐฯไม่ยอมให้เครื่องบินของเจ้าหน้าที่โซเวียตที่จะมาร่วมประชุมสหประชาชาติลงจอด ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ โซเวียตก็จึงแก้เผ็ดโดยการจุดประเด็นว่า ควรย้ายสำนักงานใหญ่สหประชาชาติไปที่อื่นน่าจะดีกว่า และเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงจะมีมติประณามโซเวียตเรื่องการยิงเครื่องบิน โซเวียตจะใช้อำนาจ VETO ในการบล็อคมติดังกล่าวทุกครั้งไป

Gennadiy Osipovich ผู้ยิงขีปนาวุธแบบอากาศสู่อากาศ Kaliningrad K-8  จำนวน 2 ลูกใส่ KAL 007 จนตก

หลังสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว ฝ่ายโซเวียตกล่าวหาว่า เป็นแผนการต่าง ๆ ของสหรัฐ ทั้งการซ้อมรบ การนำขีปนาวุธมาไว้ในยุโรป และอื่น ๆ บ่งบอกว่ากรณีแบบ KAL 007 จะต้องเกิดขึ้นแน่ โซเวียตบอกว่า ภารกิจของ KAL 007 คือการสอดแนม เป็นการยั่วยุของฝ่ายสหรัฐฯ และเพื่อทดสอบความพร้อมทางการทหารของโซเวียต หรือไม่ก็หวังให้เกิดสงครามขึ้น รัฐบาลโซเวียตขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิต แต่ไม่ขอโทษ และไม่ชดเชยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังตำหนิ CIA กลับไปด้วย โดยบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเหลือเชื่อมาก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจากนักบินที่เคยบินกับเครื่องบิน Boeing เป็นพัน ๆ ชั่วโมง ต่างก็บอกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ 3 เครื่องบนเครื่องบิน ไม่น่าจะเสียได้ในเวลาเดียวกันได้  เช่นเดียวกับเครื่องส่งสัญญาณวิทยุทั้ง 5 เครื่อง จึงไม่ต้องสงสัยอะไรอีกเกี่ยวกับความตั้งใจของ KAL 007 ลำนี้ 

ส่วนนักบินที่บินขึ้นสกัดนั้น ก็อาจไม่รู้ว่าแน่ชัดว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินพลเรือน เพราะ KAL 007 บินโดยไม่มีไฟนำร่อง ท่ามกลางสภาพทัศนวิสัยการมองเห็นที่ไม่ดี และการไม่ตอบสนองต่อสัญญาณวิทยุ ในรายงานของ ICAO ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ สรุปในปีปลายปี พ.ศ. 2526 ว่า เรื่องนี้เป็นอุบัติเหตุ โดยมีสาเหตุมาตจากการใช้งานระบบ Auto pilot ของนักบิน แต่อีก 10 ปีต่อมา ICAO ก็ออกมาประณามโซเวียตที่ตอนแรกแจ้งว่า ไม่พบกล่องดำ แต่ต่อมามีการเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า โซเวียตพบกล่องดำของ KAL 007 และผลจากการตกของเครื่องบิน KAL 007 ทำให้สหรัฐฯต้องปรับเปลี่ยนวิธีการติดตามเฝ้าดูเครื่องบินที่บินออกจากน่านฟ้าของมลรัฐอลาสกา ในส่วนของเครื่องบินโดยสารเองก็มีการออกแบบหน้าปัดของระบบ Auto pilot ใหม่เพื่อให้มองเห็นความผิดพลาดได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ยังสั่งให้มีการพัฒนาระบบ GPS สำหรับกิจการพลเรือน เพื่อว่าจะได้ไม่เกิดความผิดพลาดในการนำร่องเช่นที่เกิดกับเที่ยวบิน KAL 007 อีกครั้ง

เส้นทางการบิน R-20 (เส้นประ) เส้นทางการบิน KAL 007 เส้นทึบ

องค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ได้ปิดเส้นทางการบิน R-20 ชั่วคราว ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางอากาศที่ Korean Air Flight 007 ตั้งใจจะบิน ในวันที่ 2 กันยายน สายการบินต่าง ๆ คัดค้านการปิดเส้นทางยอดนิยมนี้อย่างดุเดือด ด้วยเป็นทางเดินอากาศที่สั้นที่สุดในห้าทางเดินอากาศระหว่างมลรัฐอลาสกากับตะวันออกไกล FAA จึงเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2526 หลังจากมีการตรวจสอบความปลอดภัยและอุปกรณ์ช่วยนำทางแล้ว ต่อมา NATO ได้ตัดสินใจภายใต้แรงผลักดันของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ในการปรับใช้ขีปนาวุธ Pershing II และขีปนาวุธร่อนในเยอรมนีตะวันตก โดยการติดตั้งขีปนาวุธเหล่านี้นี้จะทำให้ขีปนาวุธอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 6-10 นาที การสนับสนุนการปรับใช้กำลังถูกสั่นคลอนและน่าสงสัยว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ แต่เมื่อสหภาพโซเวียตยิงเครื่องบิน KAL 007 ตก สหรัฐฯ ก็สามารถกระตุ้นการสนับสนุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเพียงพอเพื่อให้การติดตั้งและใช้งานขีปนาวุธดำเนินต่อไปได้

มีการเปิดเผยข้อมูลการสื่อสารที่ถูกเฝ้าฟังโดยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เปิดเผยให้เห็นข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับระบบข่าวกรองและความสามารถของพวกเขา ต่อมาสมาคมเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย KAL 007 อเมริกัน ภายใต้การนำของ Hans Ephraimson ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐสภาแห่งสหรัฐฯและอุตสาหกรรมการบินยอมรับข้อตกลงที่จะรับประกันว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ของสายการบินในอนาคตจะได้รับการชดเชยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยการเพิ่มค่าตอบแทนและค่าชดเชย ภาระการพิสูจน์การประพฤติมิชอบของสายการบิน กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบในทางบวกต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากภัยพิบัติเครื่องบินต่อ ๆ มาเป็นอย่างมาก สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้เรดาร์ทางทหารเพื่อขยายความครอบคลุมเรดาร์ควบคุมการจราจรทางอากาศจาก 200 ถึง 1,200 ไมล์ (320 ถึง 1,930 กม.) จากแองเคอเรจ โดย FAA ยังได้จัดตั้งระบบเรดาร์สำรอง (ATCBI-5) บนเกาะเซนต์พอล  ในปี พ.ศ. 2529 สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตได้จัดตั้งระบบควบคุมการจราจรทางอากาศร่วมกันเพื่อตรวจสอบเครื่องบินที่บินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตมีความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการตรวจสอบการจราจรทางอากาศของพลเรือน และตั้งค่าความเชื่อมโยงการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศของทั้งสามประเทศ

ประธานาธิบดีเรแกนประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2526 ว่า ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) จะพร้อมใช้งานสำหรับพลเรือนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเมื่อการติดตั้งระบบเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการนำทางที่คล้ายกันในอนาคต นอกจากนี้อินเทอร์เฟซของนักบินอัตโนมัติที่ใช้กับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ว่าจะทำงานในโหมด HEADING หรือโหมด INS มีการเปิดเส้นทางการบินปกติระหว่างกรุงโซลและกรุงมอสโกเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 อันเป็นผลมาจากนโยบาย Nordpolitik ของเกาหลีใต้ ซึ่งดำเนินการโดยสายการบิน Aeroflot และKorean Air ในขณะเดียวกัน เส้นทางยุโรปทั้ง 9 เส้นทางของ Korean Air จะเริ่มบินผ่านน่านฟ้าของโซเวียต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินของ Korean Air ได้รับอนุญาตให้บินผ่านน่านฟ้าของโซเวียตอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ยกเลิกการจัดประเภทเอกสารทางการทูต ซึ่งเปิดเผยว่าสองเดือนหลังจากเหตุการณ์ KAL 007 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ได้แจ้งกับนักการทูตของญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ ว่าสหภาพโซเวียตได้เข้าใจผิดว่า เครื่องบิน KAL 007 เป็นเครื่องบินลาดตระเวนแบบ RC-135 ของกองทัพสหรัฐฯ ปัจจุบัน Korean Air ยังคงให้บริการเส้นทางการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์ก ไปยังกรุงโซล อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินไม่ได้แวะหยุดที่แองเคอเรจหรือบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพอีกต่อไป โดยตอนนี้ทำการบินตรงไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เที่ยวบินหมายเลข 007 ถูกยกเลิกตั้งแต่นั้นมา โดยใช้หมายเลขเที่ยวบินสำหรับสองเที่ยวบินแยกกันเป็นเส้นทางการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์กไปยังกรุงโซล (KAL/KE 82, 85 และ 250)


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9