เกร็ดกฎหมายจากคดีน้องชมพู่

สัปดาห์ที่ผ่านมา คดีการเสียชีวิตปริศนาของ “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่หายตัวจากบ้าน ในหมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายจับ “นายไชย์พล วิภา” หรือ “ลุงพล” ลุงเขยของน้องชมพู่หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่เก็บหลักฐาน และสอบปากคำพยานมานานกว่า 1 ปี 

โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาลุงพล 3 ข้อหาด้วยกัน คือ

1.) พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร

2.) ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และ

3.) กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

ผมคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าลุงพลจะผิดตามข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับหรือไม่ เพราะผมไม่ได้มีส่วนร่วมในคดีนี้แต่อย่างใด

แต่ที่จะนำมาเล่าให้ฟัง คือ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อที่จะให้ผู้ที่ติดตามคดีนี้ได้เข้าใจมากขึ้นถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ มาลองติดตามอ่านกันไปทีละประเด็นนะครับ

ตอนนี้ลุงพลมีสถานะเป็น “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” ในคดีน้องชมพู่

ความแตกต่างระหว่าง ผู้ต้องหา กับ จำเลย คือ ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาล ส่วนจำเลย หมายถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องศาลว่าได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้นแล้ว

ดังนั้น ตอนนี้ลุงพลจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้ลุงพลยังไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งกว่าคดีจะไปสู่ศาลนั้น ลุงพลยังมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาทั้งในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ซึ่งอาจจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้

ทำไมลุงพลถึงถูกออกหมายจับ

ตามปกติแล้ว หากไม่ใช่กรณีที่เป็นความผิดซึ่งหน้า ตำรวจจะต้องไปขอศาลเพื่อออกหมายจับเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าศาลจะออกหมายจับให้ในทุกกรณี 

โดยศาลจะพิจารณาออกหมายจับให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ดังนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ซึ่งในกรณีของลุงพลนี้ ศาลคงได้พิจารณาจากพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเชื่อว่าลุงพลน่าจะได้กระทำความผิด และโทษตามข้อกล่าวหานั้นก็มีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลุงพลถูกออกหมายจับ ก็ไม่ได้หมายความว่าลุงพลมีความผิดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

ลุงพลเป็นผู้ต้องหาและถูกออกหมายจับแล้ว ทำไมถึงบอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิด

ที่บอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิดนั้น เป็นเพราะ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติเอาไว้ว่า 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าลุงพลเป็นผู้กระทำผิด เราจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตอนนี้ลุงพลยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติต่อลุงพลเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้

ทำไมลุงพลถึงไม่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา 

มีหลายคนสงสัยว่า การที่ตำรวจดำเนินคดีกับลุงพล 3 ข้อหา โดยไม่มีการตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนั้นเป็นเพราะอะไร 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในการดำเนินคดีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำไปตามพยานหลักฐานที่มี แม้ว่าจะน้องชมพู่จะเสียชีวิตจริง แต่ถ้าไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่าลุงพลเป็นผู้ลงมือทำ หากคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ข้อกล่าวหานั้นก็จะถูกหักล้างได้โดยง่าย

เนื่องจากในการดำเนินคดีอาญานั้น หากมีเหตุอันควรสงสัย ศาลจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ว่า 

“ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน”


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9