“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” จากมุมมองของครูบัญชี (ตอนที่2) 'ทางสายกลาง'​ ภูมิคุ้มกัน​ธุรกิจ SME​ ไทย ในมุมมองของครูบัญชี

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงแนวทางในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เพื่อประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) ซึ่งหลาย ๆ ท่านยังมีคำถามในใจว่าควรจะเริ่มต้นประกอบธุรกิจในรูปแบบใดดี ในตอนที่แล้วมีคำตอบให้กับทุกท่านในเบื้องต้น  สำหรับในตอนที่ 2 นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทและขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการเลือกประเภทของธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับดำเนินงานของแต่ละบุคคล

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 กำหนดประเภทและลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไว้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หมายเหตุ วิสาหกิจรายย่อยเป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจขนาดย่อม

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับการเป็นผู้ประกอบการกิจการผลิตสินค้า การค้าและบริการ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นั้น เมธสิทธิ์ พูลดี (2562) ได้อธิบายความหมายของประเภทกิจการแต่ละประเภทดังนี้ 

การเป็นผู้ประกอบการกิจการผลิตสินค้าเป็นลักษณะของการประกอบการเปลี่ยนรูปวัตถุให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ด้วยเครื่องจักรกลหรือเคมีภัณฑ์โดยไม่คำนึงว่างานนั้นทำโดยเครื่องจักรหรือด้วยมือ ทั้งนี้ การประกอบกิจการผลิตสินค้ารวมถึงการแปรรูปผลิตผลการเกษตรอย่างง่ายที่มีลักษณะเป็นการอุตสาหกรรม การผลิตที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจชุมชนและการผลิตที่เป็นการประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน

การเป็นผู้ประกอบการกิจการการค้า ที่ประกอบด้วยกิจการค้าส่งและค้าปลีก หมายถึง การให้บริการเกี่ยวกับการค้าโดยที่การค้าส่ง หมายถึง การขายสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้วให้แก่ผู้ค้าปลีก ผู้ใช้ในงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้งานวิชาชีพ งานพาณิชยกรรม สถาบัน และรวมถึงการขายให้แก่ผู้ค้าส่งด้วยกันเอง ส่วนการค้าปลีก หมายถึง การขายโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสินค้าทั้งสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้วให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนบุคคลในครัวเรือน รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการซื้อขาย สถานีบริการน้ำมัน และสหกรณ์ผู้บริโภค เป็นต้น

การเป็นผู้ประกอบการกิจการการบริการ หมายความครอบคลุมถึง การศึกษา การสุขภาพ การบันเทิง การขนส่ง การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและหอพัก การภัตตาคาร การขายอาหาร การขายเครื่องดื่มของภัตตาคารและร้านอาหาร การให้บริการเช่าสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การให้บริการส่วนบุคคล บริการในครัวเรือน บริการที่ให้ธุรกิจ การซ่อมแซมทุกชนิด การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

หลายท่านคงมีข้อมูลประเภทของธุรกิจในใจแล้วว่าจะเลือกดำเนินธุรกิจประเภทใดดี แนวโน้มของธุรกิจที่เลือกจะเติบโตในอนาคตหรือไม่ ผู้เขียนมีข้อมูลบางส่วนจากรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2562 รายงานโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งรายงานบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมทั้งประเทศ หากมีการพิจารณาตามขนาดวิสาหกิจพบว่าวิสาหกิจรายย่อย (Micro) คิดเป็นร้อยละ 2.9 วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.1 

สังเกตรายละเอียดได้จากรูปที่ 1 ที่แสดงโครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามขนาดวิสาหกิจ

รูปที่ 1 โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามขนาดวิสาหกิจ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

สำหรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ในปี 2562 ภาคบริการยังคงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงสุด ลำดับถัดมาคือภาคการค้าปลีกและค้าส่ง และภาคการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.8  31.1 และ 20.3 ตามลำดับ 

รายละเอียดตามตารางที่ 1 ภาพรวมของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ตารางที่ 1 ภาพรวมของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

คิดว่า ณ จุดนี้ผู้อ่านคงได้แนวความคิดในการเลือกประเภทของธุรกิจในการเริ่มต้นที่จะเป็นผู้ประกอบการได้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกประเภทธุรกิจใดก็ตามผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบยั่งยืนนั้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย ก็ยังมีประโยชน์มากมายสำหรับการประกอบธุรกิจไม่ว่าในระดับใดก็ตาม เนื่องจากเป็นปรัชญาที่ยึดหลักสายกลางที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนทุกระดับให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่าง ๆ 

ดังรูปที่ 2 แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รูปที่ 2 แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ เป็นต้น

ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน 

ความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน

คุณธรรม หมายถึง การยึดถือคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 

จะเห็นได้ว่าพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ทรงมอบให้ประชาชนชาวไทยในเรื่องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นประโยชน์อันมหาศาลต่อชนชาวไทยทุกกลุ่มในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในยุคใหม่ ๆ ที่ตลาดการค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง อย่างน้อยในเริ่มแรกของการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยสร้างให้องค์การมีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ข้อมูลอ้างอิง

- เมธสิทธิ์ พูลดี. (2562).  ตัวแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในประเทศไทย (ปริญญานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต).  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.  (2559).  เศรษฐกิจพอเพียง.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.  (2563).  รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ปี 2563.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9