‘พี่จีน’ และ ‘น้องไทย’ ความสัมพันธ์แบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’

เป็นที่รู้กันดีครับ ว่าหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยเราก็ถือว่าเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ สำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เราต่างก็รู้ดีว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวของพวกเขานั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศเราอย่างมหาศาล

ในปีพ.ศ. 2559 (ช่วงก่อนโควิดระบาด) เพียงปีเดียว รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนมีมูลค่าสูงกว่า 400,000 ล้านบาท แถมการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เที่ยวไทยยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมูลค่าต่อคนที่สูงมาก ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายโดยการท่องเที่ยว และการซื้อของฝาก

โดยสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าชาวจีนค่อนข้างที่จะกรี๊ดกร๊าดกับแบรนดิ้งความเป็นไทยนั้นมีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแห่มาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ ฯลฯ หรือการที่ชาวจีนกว้านซื้อผลไม้ไทยส่งกลับไปที่แผ่นดินใหญ่ การที่ชาวจีน “คลั่งไคล้” ในทุเรียนไทย รวมถึงความนิยมในดารานักแสดงชาวไทย และละครไทยซึ่งหลายเรื่องที่เราคนไทยไม่รู้จัก แต่กลับดังพลุแตกอยู่ในจีน ซึ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในหมู่ “แม่จีน” ตอนนี้เห็นจะเป็น ‘ซีรี่ส์วาย’ หรือแม้กระทั่งล่าสุดคือกระแสเรื่อง ‘แนนโน๊ะ’ จากซีซั่นใหม่ของซีรี่ส์ ‘เด็กใหม่’ โดย Netflix

ความรักในความเป็นไทยของชาวจีนนั้นเป็นที่ประจักษ์ในตัวเลขสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ตัวผมและเพื่อน ๆ ชาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีนเองก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนในทุกครั้งที่ผมแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ชาวจีนว่าเราเป็นคนไทย มาจากไท่กั๋ว (泰国) ก็จะได้เห็นแววตาแห่งความตื่นเต้นในเกือบทุกครั้ง ซึ่งบทสนทนาต่อจากนั้นก็จะเป็นไปในทิศทางประมาณว่า

“โอ้ว,我去过泰国 ฉันเคยไปเที่ยวที่ไทย”

“我真的喜欢泰国的水果,特别是泰国的榴莲。ฉันชอบผลไม้ไทยมาก โดยเฉพาะทุเรียน”

“哦,你有没有看过爱在暹罗吗?หนี่เคยดูหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ หรือเปล่า ? ”

ซึ่งผมที่เป็นคนไทยก็จะได้โอกาสโม้เรื่องราวและโอ้อวดความเป็นไทยอย่างภาคภูมิใจอยู่บ้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมได้สะท้อนและมองมุมกลับ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือเหตุการณ์ “ดราม่าแนนโน๊ะ” นี่แหละครับ ที่หลังจากกลายเป็นกระแสทำให้คนจีนมากมายแต่งคอสเพลย์ชุดนักเรียนไทยตามแนนโน๊ะ

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ทีมงานซีรี่ส์เด็กใหม่ออกมาโพสต์ขอบคุณแฟนคลับจากทั่วโลกเป็นภาษาต่าง ๆ โดยมีการใช้คำยกฮ่องกงและไต้หวันว่าเป็น “ประเทศ” โดยวางสัญลักษณ์ธงชาติตามหลังชื่อ ซึ่งสำหรับคนจีนนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องซีเรียส เพราะประชาชนจีนเกือบทุกคนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน จนทำให้มีคนจีนจำนวนไม่น้อยออกมาเรียกร้องบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยติดแอชแท็ก #禁忌女孩辱华 หรือ #ซีรี่ย์เด็กใหม่ดูถูกประเทศจีน โดยเรียกร้องให้ #เด็กใหม่2 ออกมาขอโทษในกรณีดังกล่าว

ซึ่งก็เรียกได้ว่าจากรักกลายเป็นชังได้ภายในพริบตาเดียวจริง ๆ ครับ…

อีกหนึ่งกรณีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือประเด็นเดือดในทวิตเตอร์เมื่อกลางปีที่แล้ว (2020) จากแฮชแท็ก #nnevvy ของเหล่าแฟน ๆ นักแสดงซีรีส์วายอันเป็นชนวนที่ทำให้แฟนคลับชาวจีนทะเลาะกับแฟนคลับชาวไทยในโลกออนไลน์ จากกรณีนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งหน้าใส ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี รีทวีตโพสต์หนึ่งบนทวิตเตอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาพของฮ่องกง และเรียกฮ่องกงว่าเป็นประเทศ ซึ่งก็เป็นกรณีคล้ายกับดราม่าแนนโน๊ะเลยครับ กลายเป็นเหตุที่ทำให้ตัวนักแสดงต้องพบกับแฟนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยแฟนคลับชาวจีน ก่อนที่นักแสดงหนุ่มจะโพสต์ขอโทษ

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องคำว่า “ชาติ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่อ่อนไหวมาก ๆ สำหรับคนจีน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ในช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่คำพูดของผู้นำระดับสูงของประเทศไทยที่วิจารย์กรณีชาวจีน 41 รายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่มใกล้กับเกาะภูเก็ต และยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเหตุเกิดเนื่องจาก "บริษัทจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยใช้นอมินีของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินคดีอยู่ โดยเรื่องนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขและไทยก็มีกฎหมายของไทยอยู่” ซึ่งก็คือการกล่าวโทษไปที่ระบบ ‘ทัวร์ 0 เหรียญ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่คนพูดถึงกันในปีนั้น

คำพูดดังกล่าวถูกนำไปรายงานตามสื่อต่าง ๆ ของจีน ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวจีน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง คนจีนมากมายมองว่าปัญหาก็ส่วนปัญหา แต่การตายของคนจีน 41 คนที่อุบัติขึ้นในประเทศของคุณ ที่คุณเป็นผู้นำ การกล่าวแสดงความอาลัยมันยากนักหรือ การกล่าวโทษคนจีนด้วยสีหน้าที่เพิกเฉยมันผิดเวลาไปหน่อยหรือไม่ ? 

ซึ่งก็กลายเป็นเหตุให้เกิดกระแสแบนภูเก็ต จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในภูเก็ตในปีนั้นและปีต่อมาลดฮวบไปอย่างน่าตกใจ เพื่อนของผมที่เปิดร้านอาหารรองรับทัวร์จีนเล่าให้ผมฟังว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลให้กิจการร้านอาหารต้องเจ๊งไปเลยทีเดียว

จากสามกรณีที่ผมยกตัวอย่างมานี้คือลักษณะของความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’ คือรักกันอยู่ดี ๆ ก็เกลียดกันเสียอย่างนั้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากคำว่า “รัก” จนกลายมาเป็นคำว่า “เกลียด” หรือคำว่า “แบน” เนี่ย มันเกิดขึ้นจากประเด็นหลัก ๆ อยู่ที่ประเด็นคำว่า “ชาติ”

ด้วยลักษณะของคนจีนที่ยอมเสียได้ทุกอย่างแต่จะไม่มีวันยอมเสียหน้านั้น ทำให้ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับกรณีฮ่องกงและไต้หวันนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาหัวร้อนอยู่บ่อย ๆ เพราะหากมองในมุมรัฐบาลจีนที่พยายามอย่างหนักในการโปรโมทนโยบายที่มีชื่อว่า “จีนเดียว” (One China) และด้วยความที่กำลังแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ถูกโจมตีด้วยประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการที่โลกฝั่งตะวันตกเข้ามามีบทบาทการเมืองระหว่างจีนและไต้หวัน/ฮ่องกง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐจะต้องคอยปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมลงไปในดีเอ็นเอของคนในชาติ

การกระทำอันใดที่เป็นการดูถูกประเทศจีนนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นอันขาด ในกรณีอย่างดราม่าแนนโน๊ะนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจก็ดี หรือว่าไม่ได้ตั้งใจก็ดี แต่การจะทำการค้าขาย หรือตีตลาดในประเทศจีนอย่างมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้ เพราะหากเราเผลอทำตัวไม่น่ารัก เราอาจถูกเกลียดชังได้ภายในพริบตาเดียว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32