ผลไม้ไทยธรรมดากับการส่งออกแบบราชา จนกลายเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดีย 

ถ้าใครไม่เคยเดินทางไปอินเดียจะนึกไม่ออกเลยว่าผลไม้พื้น ๆ ราคาธรรมดา ๆ ในประเทศไทยจะกลายเป็นผลไม้ราคาแพงลิบลิ่วสำหรับเศรษฐีอินเดียไปได้ยังไง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลไม้ทุกชนิดของไทยจะได้รับความนิยมในอินเดียนะครับ หลัก ๆ ก็จะมีลำไย เงาะ มังคุด ฝรั่ง มะพร้าวอ่อน ลิ้นจี่ แก้วมังกร และช่วงหลัง ๆ ทุเรียนก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าพูดถึงผลไม้ไทยยอดนิยมที่สุดในอินเดียก็ต้องยกให้ลำไยเพราะเป็นผลไม้ที่ถูกโฉลกกับคนอินเดียมาก เนื่องจากคนอินเดียชอบรับประทานรสหวาน ลำไยไทยก็เลยตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมไปประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบใหม่ ๆ พอเห็นราคาผลไม้ไทยที่สูงลิบลิ่วก็ตื่นเต้นดีใจมาก แต่พอพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็พบว่าราคาผลไม้ของไทยที่สูงลิบลิ่วนั้น จริง ๆ แล้วพี่น้องเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยเราก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากราคาขายปลีกที่สูงมากในอินเดียเลย พูดง่าย ๆ ก็คือ เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ขายได้ในราคาปกติ แถมราคาที่สูงลิ่วนั้น ก็ทำให้เป็นการจำกัดเฉพาะลูกค้าระดับเศรษฐีเท่านั้นที่จะสามารถซื้อได้ ก็เลยทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวยาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาผลไม้ไทยที่อินเดียพุ่งขึ้นไปสูงมากขนาดนั้น ก็เพราะต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากเนื่องจากผู้นำเข้าอินเดียมักจะนำเข้าแต่ละครั้งในปริมาณไม่มาก ประกอบกับระบบห้องเย็นของอินเดียยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอและมีอยู่จำกัด จึงต้องนำเข้าผลไม้ไทยไปทางอากาศเพื่อเป็นการรักษาความสดของผลไม้ และช่วยยืดอายุผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่ายให้มีอายุในการจำหน่ายยาวขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ไทยมีราคาพุ่งสูงไปอีกก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการตั้งราคาที่ร้านค้าปลีกจะต้องตั้งราคาไว้สูงมากเผื่อการเน่าเสียของผลไม้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดามากในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่เราจะพบว่าราคาลำไยจากประเทศไทยที่ขายปลีกอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในอินเดียจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 รูปีขึ้นไปหรือ 300 บาทเลยทีเดียว (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 รูปี = 0.50 บาท) แต่ภายหลังได้มีความพยายามของผู้นำเข้าอินเดียที่จะเปลี่ยนจากการขนส่งทางอากาศมาเป็นการขนส่งทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์เย็นซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญในการนำเข้าลำไยครั้งละมาก ๆ ได้ เลยส่งผลทำให้ราคาลำไยไทยในอินเดียในช่วงหลังมีราคาถูกลง จนล่าสุดจากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย พบว่าราคาลำไยไทยลดลงเหลือกิโลกรัมละ 199-249 รูปี หรือ 85-107 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี = 0.43 บาท) ซึ่งการที่สามารถทำราคาได้ต่ำลง ก็จะทำให้ลำไยไทยสามารถขยายไปยังตลาดส่วนอื่นได้เพิ่มขึ้นอีกมากนอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเศรษฐีของอินเดีย เพราะฉะนั้นตอนนี้ลำไยไทยก็อาจจะไม่ใช่ “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ไทยยอดนิยมอื่น ๆ ก็ยังคงมีราคาสูงมากหรือหนักกว่าเดิม และยังคงความเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอยู่เหมือนเดิม อย่างฝรั่งกิมจูจากประเทศไทยปัจจุบันวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อินเดียกิโลกรัมละ 499-600 รูปีหรือ 215-258 บาท ลิ้นจี่สด ราคา 625 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 2,500 รูปีหรือ 1,075 บาท มังคุด ราคากิโลกรัมละ 750 รูปี หรือประมาณ 320 บาท เสาวรสสด ราคา 300 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 1,200 รูปีหรือ 516 บาท มะพร้าวอ่อน ราคาลูกละ 550 รูปีหรือ 236 บาท (มะพร้าวอ่อนอินเดีย ราคาลูกละ 29-32 รูปีหรือประมาณ 12-14 บาท) เงาะ ราคากิโลกรัมละ 900 รูปี หรือ 387 บาท แก้วมังกร ราคา 100 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 400 รูปีหรือ 172 บาท และมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ของไทยนั่นเอง วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตราคากิโลกรัมละ 1,500 รูปีหรือ 645 บาท

สำหรับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่คนอินเดียไม่รู้จักคุ้นเคยสักเท่าไหร่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วแทบจะไม่เห็นมีวางขายในอินเดียเลย จะพบก็แต่ในอินเดียทางตอนใต้โดยเฉพาะที่รัฐเกรละ ที่มีทุเรียนวางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว สืบสาวราวเรื่องก็ได้ทราบว่าคนอินเดียจากรัฐเกรละไปทำงานอยู่ต่างประเทศมากที่สุด โดยบางส่วนก็จะทำงานอยู่ในตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะฉะนั้นคนอินเดียในรัฐนี้ก็จะรู้จักและรับประทานทุเรียนเป็น แต่ในปัจจุบันพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองมุมไบมีการนำทุเรียนไปขายแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าส่งเสริมให้คนอินเดียรับประทานทุเรียนให้มากขึ้น สาเหตุสำคัญที่คนอินเดียรับประทานทุเรียนเป็น นอกเหนือจากการที่เคยไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะที่สิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่คนอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกันมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็พบว่ามีคนอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 1.98 ล้านคนเลยทีเดียว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปี 

จริง ๆ แล้ว อินเดียเป็นประเทศที่สามารถผลิตผักและผลไม้ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสามารถผลิตผลไม้ได้ประมาณปีละ 80 ล้านตัน อาทิ กล้วย มะม่วง องุ่น ส้ม ทับทิม ฝรั่ง มะละกอ แตงโม และ สับปะรด โดยรัฐที่มีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มาก (มีสัดส่วนรวมกัน 60% ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งหมด) ได้แก่ อานธรประเทศ มหาราษฏระ คุชราต ทมิฬนาฑู กรณาฏกะ มัธยประเทศ และ เกรละ ตามลำดับ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันให้มีการส่งออกด้วย โดยเฉพาะองุ่นและมะม่วง โดยตลาดส่งออกสำคัญของอินเดีย ได้แก่ UAE อิหร่าน โอมาน ซาอุดิอารเบีย การ์ต้า คูเวต และ อิรัก รวมถึงอีกหลายประเทศในยุโรป

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Food and Agribusiness Strategic Advisory & Research และธนาคาร YES BANK ของอินเดียพบว่าผลไม้หลายชนิดประสบภาวะขาดตลาดซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังพยายามเชื่อมโยงการค้าระหว่างรัฐที่มีสินค้าขาดและเกินเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตซึ่งกันและกัน อาทิ รัฐคุชราตมีมะละกอ กล้วยและส้ม แต่ยังขาดแคลนฝรั่ง รัฐมหาราชฏระมีองุ่น ทับทิม มะม่วงและส้ม แต่ยังขาดสับปะรด ในขณะที่ รัฐกัวขาดแคลนส้ม รัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละขาดแคลนองุ่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการจัดเก็บสินค้าเน่าเสียง่าย และการขนส่งทางรางเพื่อสินค้าเกษตร (Kisan Rail) ที่ได้เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เพื่อลดความสูญเสียและรักษาความสดของสินค้าในราคาที่ SMEs สามารถใช้บริการได้ โดยจะไม่จำกัดปริมาณขั้นต่ำในการจัดส่งและหากมีการเน่าเสียก็มีการจ่ายชดเชยให้ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำผลไม้ที่ผลิตได้มหาศาลนี้ไปแปรรูปด้วย ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บและแปรรูปผลไม้ในอินเดียยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากซึ่งถือว่าเป็นโอกาสหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน โดยเฉพาะการสูญเสียของผักและผลไม้ที่มีสูงสุดถึง 18% ของผลผลิตและมีสัดส่วนในการนำไปแปรรูปเพียง 2% เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน อินเดียก็กำลังส่งเสริมให้มีการผลิตผลไม้ทดแทนการนำเข้าเพื่อลดราคาในตลาดและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยในขณะนี้ได้มีการทดลองปลูกแล้วในรัฐเกรละ (Kerala) โดยเฉพาะในเขตอำเภอ Wayanad และ Idukki ได้แก่ ผลไม้ประเภทเงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ขนุน อโวคาโด และ โกโก้ รวมถึงสตรอเบอรรี่ โดยรัฐบาลมีงบประมาณมาอุดหนุนให้ประมาณ 1,800 บาทต่อไร่ และในปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 4,375 ไร่ ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาต้นพันธุ์และวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรด้วย นอกจากรัฐเกรละแล้ว รัฐบาลจะส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้เหล่านี้ในรัฐกรณาฏกะ มหาราชฎระ และทมิฬนาฑู ทั้งนี้ มีบางพื้นที่ที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยเฉพาะเงาะ ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 65 บาท/กก. โดยเป็นเงาะสายพันธุ์จากมาเลเซีย (ปูลาซัน) ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าเงาะสายพันธุ์อื่น

แต่อินเดียยังคงมีความต้องการนำเข้าผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่ (Exotic Fruits) โดยในปัจจุบันมีแอปเปิ้ลและสตรอเบอรี่เป็นผลไม้นำเข้าหลักในสัดส่วนประมาณ 60% นอกจากนี้จะเป็นผลไม้ประเภทลูกแพร์ บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ แบล็คเบอรี่ เชอรี่ กีวี อโวคาโด และผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ โดยแหล่งนำเข้าหลักได้แก่ อิหร่าน ชิลี นิวซีแลนด์ เวียดนาม ไทย UAE บังกลาเทศ กรีซ อิตาลี และ เนเธอร์แลนด์

สำหรับการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 98.29 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 26.61% เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผลไม้ไทยที่อินเดียนำเข้า โดยเฉพาะเงาะ มีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าแม้จะประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ตาม เช่นเดียวกับทับทิมและมะขาม อย่างไรก็ตามการส่งออกลำไย ทุเรียน ส้ม มังคุด และ มะม่วง ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันอินเดียเริ่มนำเข้าผลไม้จากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีได้ โดยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) มีผลไม้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจำนวน 8 ชนิด คือ มังคุด มะม่วง องุ่น แอปเปิ้ล ทุเรียน เงาะ ลำไย และทับทิม และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ที่มีผลไม้ได้รับการยกเว้นภาษีมากกว่า 20 ชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ มะนาว เชอร์รี่ อินทผลัม ลูกพีช ลูกแพร และน้อยหน่า

มาถึงจุดนี้ก็คงจะพอเห็นภาพนะครับว่าอินเดียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้สด แต่ที่ยังคงมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคอินเดียระดับเศรษฐีที่ต้องการบริโภคผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่หรือ Exotic Fruits แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศหลายเท่าตัวก็ตาม ซึ่งการที่ผลไม้ไทยถูกนำเข้าไปและขายในราคาที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะดีอกดีใจ เพราะราคาขายปลีกที่สูงขนาดนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพของอินเดีย ในขณะที่เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ยังคงส่งออกผลไม้ไทยไปอินเดียในราคาปกติโดยไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากราคาขายปลีกที่สูงเกินไปขนาดนั้น แถมยังทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มเศรษฐีอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นในอินเดียได้ ก็น่าจะทำให้ผลไม้ไทยค่อย ๆ ปลดตัวเองจากตำแหน่ง “ผลไม้เศรษฐี” มาเป็นผลไม้สำหรับทุกคนในอินเดียได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้ตลาดผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32