ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง 'จีน' กับเส้นทางสู่อวกาศ ที่เริ่มต้นจาก 'คำดูถูก'

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ประเทศจีนได้ส่งยานสำรวจจู้หรง ที่มากับยานเทียนเหวิน-1 ร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่ความสำเร็จครั้งนี้ของจีนถือว่าล้ำหน้ากว่านั้น เพราะหากนับยานที่ร่อนลงจอดบนดาวอังคารแล้วยังสามารถติดต่อสื่อสารกับยานแม่ได้ ก็จะนับว่าจีนเป็นชาติที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกาที่ทำได้ และยังเป็นการประกาศความสำเร็จตามหลังนาซ่า ที่ส่งยาน "เพอร์ซีเวอแรนซ์" ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ก่อนหน้านั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์เพียงไม่กี่เดือน 

ความสำเร็จของโครงการสำรวจอวกาศของจีนครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจว่าจีนจะไปได้ไกลถึงไหน และนี่อาจเป็นการเปิดศักราชสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อย่างที่สหรัฐฯ และ สหภาพโซเวียต เคยขับเคี่ยวกันอย่างสูสีในการมุ่งสู่ห้วงอวกาศเมื่อกว่า 70 ปีก่อนก็เป็นได้ 

ถ้าหากมองย้อนกลับไปในสมัยที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ ๆ ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจีนจะกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจอวกาศ หรือ แม้แต่จะพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานได้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจของโลกได้อย่างที่เห็นในวันนี้ 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่เคยฝันว่าจะต้องได้ไปเหยียบเย้ยชมจันทร์อย่างชาติตะวันตกให้ได้สักวันหนึ่ง 

จุดเริ่มต้นของความพยายามมุ่งสู่อวกาศของจีนนั้นมาจากปณิธานของเหมา เจ๋อตุง ที่ได้เห็นยานสปุตนิก-1 ดาวเทียมดวงแรกของโลกจากสหภาพโซเวียต ที่ส่งออกไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จในปี 1957 จึงตั้งเป้าหมายว่าจีนต้องส่งยานอวกาศสักลำออกไปนอกโลกบ้างให้ได้ หลังจากนั้น เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งเดินหน้าโครงการสำรวจอวกาศของจีนทันที ภายใต้ชื่อ Project 581 ในปี 1958

เมื่อมีโปรเจกต์เริ่มต้นแล้ว ก็ต้องมีคนมาคุม ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอากาศยานที่ล้ำสมัยแบบตะวันตกที่หาไม่ได้ในประเทศจีน แต่ในที่สุด เหมา เจ๋อตุง ก็ได้หัวกะทิระดับประเทศมา ที่มีเบื้องหลังไม่ธรรมดา และต้องยอมแลกกับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันหลายคน 

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ต่อมาได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการบินอวกาศจีน คนนั้นก็คือ เฉียน สเวเซิน

เฉียน สเวเซิน พื้นเพเป็นคนเซี่ยงไฮ้ เกิดในปี 1911 พร้อมพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ และ ฟิสิกส์อย่างหาตัวจับยาก จึงได้ทุนจากสหรัฐฯ ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT

หลังจากจบปริญญาโทที่ MIT แล้ว เฉียน สเวเซิน ย้ายไปทำงานวิจัยพัฒนาด้านอากาศยานระบบแอโรไดนามิกกับ ธีโอดอร์ ฟอน คาร์มาน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่สถาบัน California Institute of Technology หรือ Caltech ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศาตราจารย์ คาร์มาน เป็นผู้ดูแลห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ช่วยพัฒนายานขับเคลื่อนไร้คนขับ และระบบยานขนส่งอวกาศให้กับองค์การ NASA 

และเมื่อเฉียน สเวเซิน จบปริญญาเอกที่ Caltech ในปี 1939 เขาได้รับบรรจุให้ทำงานในกองทัพสหรัฐฯ โดยรับผิดชอบการวิเคราะห์ จรวด และขีปนาวุธของฝ่ายเยอรมัน เพื่อพัฒนาอาวุธให้กับฝ่ายสหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่พอ เขายังได้รับเลือกให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ Manhattan Project ในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกอีกด้วย 

แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเย็นของ 2 ขั้วอำนาจใหม่ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำโดยสหรัฐอเมริกาที่ยึดแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย กับ สหภาพโซเวียตที่เดินตามแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 

ประกอบกับช่วงนั้น เหมา เจอตุง สามารถรบชนะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ก จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศสังคมนิยมตั้งแต่ 1949 เป็นต้นมา 

ด้วยความกลัวกระแสลัทธิสังคมนิยมในรัฐบาลสหรัฐฯ จึงทำให้ เฉียน สเวเซิน ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับให้จีน และถูกคุมขังในบ้านพักพร้อมครอบครัวนานหลายปี จนกระทั่งเหมา เจ๋อตุง ได้เจรจากับ ประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ เพื่อแลกตัว เฉิน สเวเซิน กับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังในประเทศจีนหลายคน จนสามารถได้ตัว เฉียน สเวเซิน กลับมาประเทศจีน 

และให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CAST ที่นอกจากเขาจะเป็นคนวางพื้นฐานการพัฒนายานอวกาศ และดาวเทียมให้จีนเป็นคนแรกแล้ว ยังถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิศกรชาวจีนอีกมากมายหลายรุ่น ที่กลายเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าให้กับโครงการอวกาศของจีน

ตอนแรก เหมา เจ๋อตุง ต้องการเร่งพัฒนาดาวเทียมสัญชาติจีนสู่อวกาศให้ทันภายในปี 1959 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ยังทำไม่สำเร็จ ทำได้เพียงการทดลองปล่อยจรวดส่งหนูขาวออกไปนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น 

จนกระทั่งจีนสามารถพัฒนาดาวเทียมดวงแรกได้สำเร็จในปี 1970 ที่ชื่อว่า ตงฟางหง-1 ปล่อยจากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน ในมณฑลกานซู และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกได้ ตามหลัง สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น 

แต่ทั้งนี้ ในปี 1969 สหรัฐอเมริกาได้ส่งมนุษย์คนแรกไปปักธงชาติสหรัฐฯ บนดวงจันทร์เรียบร้อยแล้วด้วยยานอพอลโล่ 11 

เหมา เจ๋อตุงไม่อยากจะถูกทิ้งห่างไปนาน ยังคงฝันที่ไล่ตามชาติตะวันตกให้ทัน แต่ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนก็มีหยุดชะงักนานหลายปีเพราะปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม จนสิ้นสุดหลังจากการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุงในปี 1976 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ NASA เปิดตัวโครงการ Viking เพื่อมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารไปแล้ว

โครงการสำรวจอวกาศยุคแรกจึงไม่ได้รับความสนใจจาก 2 ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เท่าที่ควร เพราะมองว่าเทคโนโลยีของจีนยังล้าหลังอยู่หลายขุม และไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะชวนจีนให้มาเข้าร่วมสมาคม "มุ่งสู่ดวงจันทร์" ไปด้วยกัน 

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงได้เริ่มเดินหน้าแผนสำรวจอวกาศจีนขึ้นมาใหม่ โดยคราวนี้จีนตั้งใจพัฒนายานที่สามารถพามนุษย์ขึ้นไปได้จริง ๆ ด้วยโครงการยานเสินโจว และในที่สุดก็ทำสำเร็จกับยานเสินโจว-5 ในปี 2003 ที่สามารถพา หยาง ลี่เว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนไปสู่นอกโลกได้นาน 21 ชั่วโมง และกลาย เป็นชาติที่ 3 ของโลกที่สามารถก้าวมาจนถึงจุดนี้ได้ 

การพัฒนายานอวกาศของจีนยังเดินหน้าต่อเนื่อง จีนเริ่มพัฒนากระสวยอวกาศ ฉางเอ๋อ-1 เพื่อวนรอบดวงจันทร์ในปี 2007 และยานเสินโจว-7 ในปี 2008 ที่นักบินอวกาศจีนสามารถออกจากยานมาลอยอยู่นอกชั้นบรรยากาศได้ 

แต่พอมาถึงจุดนี้ แผนการสำรวจอวกาศของจีนก็เริ่มทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่พอใจ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาจรวดอวกาศ กับ จรวดพิสัยไกลข้ามทวีป ICBM ที่เป็นอาวุธทางทหารใช้พื้นฐานเดียวกัน 

และในปี 2011 สภาคองเกรซสหรัฐฯ ก็ลงมติแบนโครงการสำรวจอวกาศของจีน ไม่ยอมให้ NASA ใช้งบประมาณไปสนับสนุนโครงการของจีน และไม่ยอมให้จีนใช้สถานีอวกาศนานาชาติที่ดูแลโดย NASA ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่ต้องการให้จีนแอบใช้เทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ไปพัฒนาอาวุธ กล่าวหาว่าจีนแอบขโมยข้อมูลจากห้องแล็บของ NASA รวมถึง ดาวเทียมวงโคจรต่ำของจีน มีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง และจะกลายเป็นขยะในชั้นบรรยากาศที่อาจเป็นอันตรายกับโลกในภายหลัง

แต่จีนไม่ยอมแพ้ แก้ลำด้วยการสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเองในโครงการ เทียนกง-1 ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2011 เช่นเดียวกัน และตามมาด้วยสถานีอวกาศเทียนกง-2 ในปี 2016 

และในปี 2019 ทีมสำรวจอวกาศจีนก็สร้างความฮือฮาให้กับโลกอีกครั้ง ที่สามารถนำยาน ฉางเอ๋อ-4 ร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในด้านที่ยังไม่เคยมีประเทศไหนสำรวจมาก่อน จนนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการสำรวจดวงจันทร์ 

และต่อมาในปี 2020 จีนก็บรรลุภารกิจส่งดาวเทียมเป่ยโต่ว ที่เป็นดาวเทียมระบุพิกัดสัญชาติจีนที่ครอบคลุมพิกัดทั่วโลก ท้าทายธุรกิจดาวเทียมระบบ GPS ของสหรัฐฯ ได้แล้วในตอนนี้ 

จนกระทั่งวันนี้ เทคโนโลยีอวกาศของจีนก็ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้นจากความสำเร็จของยานจู้หรง-1 เพื่อมุ่งหน้าสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร นับว่า 60 ปีของโครงการพัฒนายานอวกาศของจีนเดินทางมาไกลมาก จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลย

แม้ความจริงในตอนนี้ จีนยังไม่สามารถทัดเทียมสหรัฐฯ ได้ ในโครงการอวกาศ และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไปถึงจุดที่สหรัฐฯ ทำได้ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้ห่างกันจนไม่เห็นฝุ่น แถมยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ใกล้เคียงในระดับหายใจรดต้นคอ

เรื่องนี้ เหมา เจ๋อตุง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อย่าปรามาสว่าเป็นเพียงฝันลม ๆ แร้ง ๆ เพราะก้าวแรกของความมุ่งมั่นนั้นสำคัญเสมอ 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าประเทศต่าง ๆ ทำไมถึงอยากมุ่งสู่นอกโลก และหากถามว่าการสำรวจอวกาศด้วยงบประมาณมากมายมหาศาลนั้น โลกจะได้ประโยชน์อะไร? 

การแสวงหาแร่หายาก และทรัพยากรใหม่ ๆ งั้นหรือ? การสร้างอาณานิคมนอกโลกสำรองไว้หากโลกเกิดหายนะงั้นหรือ? 

ฤาจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะ DNA ของความอยากรู้ ที่ทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาคำตอบมานับพันปี ถึงความจริงเรื่องจุดเริ่มต้นสิ่งมีชีวิต โดยมีโลกเป็นฐานผลักดันให้มนุษย์มุ่งสู่อวกาศเพื่อไขปริศนาความลับของจักรวาลกันแน่...


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nbcnews.com/science/space/china-becomes-only-second-nation-history-land-rover-mars-n1267410

https://interestingengineering.com/all-you-need-to-know-about-the-chinese-space-program

https://www.labroots.com/trending/space/16798/china-banned-international-space-station

https://www.reuters.com/article/us-space-exploration-china-moon-timeline/timeline-major-milestones-in-chinese-space-exploration-idINKBN28B5GE

https://www.washingtonpost.com/national/health-science/nasas-1976-viking-mission-to-mars-did-everything-right--except-find-martians/2016/06/18/749701f6-2c15-11e6-9b37-42985f6a265c_story.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_space_program

https://en.wikipedia.org/wiki/Qian_Xuesen