“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” จากมุมมองของครูบัญชี (ตอนที่1)

ในแต่ละปีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาออกมารับใช้สังคมเป็นจำนวนมากบางส่วนออกไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ก็มีบัณฑิตบางส่วนที่มีความคิดไม่อยากเป็นพนักงานประจำอยากมีกิจการเป็นของตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีในการกำหนดรูปแบบและประเภทของกิจการวิธีการดำเนินงานจะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตได้ในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอแนวความคิดเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับบัณฑิตหรือผู้ที่มีความสนใจอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองในการนำไปปรับใช้ สำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้ข้อมูลทางด้านบริหารธุรกิจโดยเฉพาะทางด้านศาสตร์บัญชี เพื่อทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises หรือ MSME) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นการประกอบธุรกิจเนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากการรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2563 ของคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานพบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP MSME ยังคงขยายตัวได้สูงมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคของภาครัฐ และภาคเอกชน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการบริการ ยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง 

ในทางกลับกันดัชนีความเชื่อมั่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 47.5 เท่ากับค่าเฉลี่ยของปี 2561 และเมื่อจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการ MSME ภาคการค้า และภาคการบริการ มีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยในปี 2562 ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ยังต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดีนักโดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากความต้องการของตลาดโลกลดลงการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติสงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริการวมทั้งค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่ารวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร

หากสังเกตจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงแม้นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.5 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 46.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เป็นอย่างมากโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP MSME ในปี 2563 อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 6.2 (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ) 

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) จำนวน 2,700 รายพบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มีแผนการปรับตัวทางธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 84.8 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวในด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รองลงมา คือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และ การเพิ่มประเภทสินค้าและรูปแบบการให้บริการ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมทักษะในการทำตลาดออนไลน์ การสนับสนุนต้นทุนขนส่งสินค้า และ การประชาสัมพันธ์สินค้าออนไลน์ท้องถิ่น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือโดยตรงต่อธุรกิจ MSME ที่มีความต้องการ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีและเงินกู้ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ไม่สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน ได้แก่ การขาดหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอปัญหาด้านประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาและการขาดเอกสารหลักฐานแสดงรายได้ (https://www.ryt9.com/s/cabt/3190747

แม้นว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีความสำคัญเพียงใดก็ตาม ในบทบาทของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับการองค์การได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพปัญหาภายในองค์กร เช่น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คุณภาพสินค้า รูปแบบบรรจุภัณฑ์ รูปแบบการให้บริการ ช่องทางการส่งเสริมการขาย หรือสภาพปัญหาภายนอกองค์กร เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อมาตรการด้านภาษี หรือแม้นกระทั่งแหล่งเงินทุนขององค์การ ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่องค์การได้นั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นแนวทางในเบื้องต้นสำหรับการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย โดยมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยต้องอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ของรัฐนักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม มีการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งวัตถุสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (สุเมธตันติเวชกุล, 2550, http://www.rdpb.go.th/th/Sufficiency

จากแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) จะพบว่าเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ดังนั้นในการที่จะเป็นเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจใด ๆ หากนำแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน โดยอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งก็จะทำให้ธุรกิจมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

ในการเป็นผู้ประกอบการนั้น อาจจะเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว หรืออาจจะมีหุ้นส่วนรวมกันหลายคน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการ โดยรูปแบบของธุรกิจสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

บุคคลธรรมดา : บุคคลทั่วไป ที่มีชีวิตอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 15)

คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อการทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน โดยทะเบียนนิติบุคคลหุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ห้างหุ้นส่วนจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน หุ้นส่วนมีทั้งที่จำกัดความรับผิดและไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บริษัทจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนลงทุน และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วิสาหกิจชุมชน : กิจการของชุมชนที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวประกอบกิจการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน โดยมีการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 2548 กับกรมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนการเกษตร 

ที่มา : https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/360_1_2.pdf

หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะพอมีแนวทางในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อประกอบธุรกิจในเบื้องต้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลพยายามเร่งพัฒนายกระดับให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการทำธุรกิจให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น และสามารถอยู่ได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ และมีการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันต้องถือว่าเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มทุกอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ไว้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทและขนาดของของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลต่อจากการกำหนดรูปแบบของธุรกิจ 

หมายเหตุ: แนวคิดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในบทความเป็นของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัด