'คิวบา' เส้นทางแพทย์สันถวไมตรี ทองแท้ที่ท้าสู้ไฟการเมือง

ในระหว่างที่ทั่วโลกได้สัมผัสกับวิกฤติการแพร่ระบาด Covid-19 ก็เริ่มทำให้เราต้องย้อนมองมาตระหนักถึงความจริงได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตมนุษย์จริง ๆ แล้ว กลับไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, แสนยานุภาพด้านการทหาร หรือความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี 

หากแต่เป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขชุมชน ที่หลายคนมองข้าม และตีความเพียงแค่ว่า การที่เรามีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีหมอเก่ง ๆ มีเครื่องมือทันสมัยกว่าใคร คือ ความล้ำหน้าด้านการแพทย์ 

แต่พอเกิดโรค Covid-19 ระบาดทั่วโลก ก็ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ต่อให้มีโรงพยาบาลใหญ่โต ทีมแพทย์ฝีมือดี หรือเครื่องมือทันสมัยแค่ไหน แต่ถ้ามีไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงผู้ป่วยจำนวนมากก็จบเห่เหมือนกัน

และปัญหานี้ก็เกิดขึ้นแล้วในระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศตะวันตก ที่เคยมั่นใจว่ามีระบบรักษาพยาบาลดีเยี่ยม ก็ยังพังพินาศให้กับคลื่นการระบาดของ Covid-19 

แต่มีประเทศเล็ก ๆ และไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย กลับสามารถดูแลประชาชนจากการระบาดของ Covid-19 ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีหมอ-พยาบาลเหลือเฟือ ส่งออกไปช่วยเหลือประเทศอื่นได้ด้วย

ประเทศเล็กแต่แจ๋วจริงนั้นก็คือ 'คิวบา'

คิวบาเป็นประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลาง ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน มีขนาดเท่ากับรัฐเทนเนสซี ของสหรัฐเท่านั้น และมีประชากรประมาณ 11 ล้านคน 

คิวบาเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลก ที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และแน่นอน เป็นไม้เบื่อ ไม้เมารุ่นเดอะของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการคว่ำบาตร กดดันรัฐบาลคิวบามาตลอดหลายสิบปี 

แม้จะโดนชาติมหาอำนาจกดทับ และเจอวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่คุณภาพด้านระบบสาธารณสุขของคิวบา กลับพัฒนาสวนทาง จนทำให้ทุกวันนี้คิวบามีจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก 

ปัจจุบันนี้ ในคิวบามีแพทย์อยู่ถึง 8.4 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะมีแพทย์เพียง 2.6 คน ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น น้อยกว่าคิวบาถึง 3 เท่า 

และก็ไม่ใช่มีดีแค่ปริมาณ!! แต่คุณภาพก็ดีด้วย พิจารณาได้จากการที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขต่อปีถึง 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งสูงกว่างบประมาณของคิวบา 10 เท่า แต่ประชากรคิวบากลับมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 78.7 ปี ซึ่งมากกว่าชาวสหรัฐฯ ที่ 78.5 ปี 

ถึงจะมองว่าสหรัฐฯ มีประชากร, กำลังเงิน, เทคโนโลยีทางการแพทย์ และทรัพยากรที่เหนือกว่าคิวบาทุกด้าน แต่ค่าเฉลี่ยด้านสุขภาพกลับแทบไม่ต่างกัน ก็แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของคิวบานั้น ไม่ธรรมดาจริง ๆ

แล้วเหตุใดทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างคิวบา กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขได้อย่างยอดเยี่ยม? 

จุดเริ่มต้นนั้น มาจากการวางรากฐานสาธารณสุขของคิวบา ที่ต้องยกเครดิตให้กับ 'ฟิลเดล คาสโต' หลังจากที่เขาเป็นผู้นำการปฏิวัติคิวบา โค่นอำนาจ ของ 'ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา' ผู้นำเผด็จการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนั้น แล้วได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของคิวบามาเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1959 โดย ฟิเดล คาสโต ปฏิญาณว่า การศึกษา และสาธารณสุข เป็นหัวใจสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

และเป็นหลักที่รัฐบาลคิวบายึดมั่นเสมอมาว่า ชาวคิวบาทุกคนต้องได้เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี 

แต่ปัญหาคือ พอคิวบาเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้คนชั้นปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์กลัวว่าพวกเขาจะถูกกวาดล้าง จึงลี้ภัยหนีไปอยู่สหรัฐฯ จำนวนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีทางเดียวคือต้องสร้างทีมบุคลากรการแพทย์ขึ้นมาใหม่ และมุมมองของฟิเดล คาสโตร คือ แพทย์หลังยุคปฏิวัติคิวบาต้องยึดถือมวลชนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดถือแค่วิชาการ

โดยคาสโตร ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ และปรับแผนการเรียนใหม่ทั้งหมด ต่อมาพัฒนาจนกลายเป็น Latin American School of Medicine ที่จัดเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รับนักศึกษาแพทย์ในแต่ละปีเกือบ 2 หมื่นคนจาก 110 ประเทศทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนที่นี่เรียนฟรี มีที่พักให้ฟรี แถมได้ค่าจ้างในการฝึกงานระหว่างเรียนด้วย

ยิ่งไปกว่าการรับนักศึกษาของที่นี่ก็ไม่ได้ยึดเอาใบผลคะแนนสอบมาเป็นตัววัด ขอแค่มีใจรัก มุ่งมั่นที่จะเป็นหมอ ก็เข้ามาคุยกันได้ และยังเปิดรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านย่านแคริบเบียน และประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาอีกด้วย

ส่วนการสอน ไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนหรูหรา แต่จับมือสอนจากเคสจริง ด้วยการให้นักศึกษาแพทย์เรียนคู่กับฝึกงานในคลินิกชุมชนตั้งแต่ปี 1 เจอคนไข้จริง ๆ เพื่อให้เรียนรู้ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสาธารณสุข กับผู้คนในท้องถิ่น

เพราะหลังจากจบมาแล้ว หน้าที่สำคัญคือการทำให้ระบบสาธารณสุขเพื่อมวลชนเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องมีทีมเดินไปเยี่ยม ปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพตามบ้านด้วย จะได้รีบรักษาได้ตั้งแต่ต้นมือ ดีกว่ารอจนอาการหนักค่อยมาหาหมอ 

นอกจากนี้ เมื่อมีบุคลากรด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก ก็จัดทัพเป็นกลุ่มนักรบเสื้อขาวออกไปช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ที่เดือดร้อน อย่างเหตุระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล, เหตุสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แผ่นดินไหวที่เฮติ การระบาดของอีโบล่าในแอฟริกา และภัยพิบัติหลาย ๆ เหตุการณ์ ก็มีทีมแพทย์จากคิวบาไปร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่เสมอ 

นั่นจึงทำให้คิวบาไม่เคยขาดมิตรประเทศ แม้จะโดนมาตรการคว่ำบาตร บีบคิวบาให้โดดเดี่ยวด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ทั่วโลกจึงยกให้ทีมหมอเฉพาะกิจชาวคิวบาว่าเป็นเหมือน 'ฑูตสันถวไมตรี' ที่คิวบาส่งไปเชื่อมสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ ที่ต่อมาก็สร้างรายได้ให้กับคิวบามากถึงหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี เพราะมีหลายประเทศขอใช้บริการทีมหมอคิวบายาว ๆ เพราะหมอในประเทศตนขาดแคลน โดยมีการจ่ายค่าแรงคุณหมอให้กับรัฐบาลคิวบา หรือบางประเทศอย่างเวเนซุเอล่า ผ่าน 'ราคาน้ำมัน' ที่ต่ำกว่าท้องตลาด

นี่จึงกลายเป็นจุดที่สหรัฐฯ ไม่ปลื้ม จนออกมาโจมตีโครงการแพทย์สันถวไมตรีของคิวบาอย่างหนัก เพราะค่าแรงของหมอ ไม่ถึงหมอ แต่รัฐบาลคิวบาเก็บไป แล้วจ่ายเป็นเงินเดือนคืนให้หมอแต่ละคนที่ไปทำงานเสี่ยงภัยให้รัฐในต่างประเทศเพียงแค่ 10-20% และมีหมอคิวบาบางส่วนก็ออกมาบ่นว่างานหนักเหลือเกิน ไม่คุ้มเงินเดือนที่ได้ เพราะการเป็นหมอเพื่อชุมชนในคิวบาได้เงินเดือนน้อยมาก เพียงแค่ 200 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 6,000 บาท) 

สุดท้ายก็เข้าล็อคแผนการดูดคนของสหรัฐฯ จนกลายเป็นที่มาของแผนวีซ่าพิเศษ Cuba Medical Professional Parole Program (CMPP) ในปี 2006 ที่ให้สิทธิ์บุคลากรการแพทย์ ผู้มีประสบการณ์ของคิวบา เดินทางเข้ามาอยู่ทำงานถาวรในสหรัฐฯ ได้เลยทันที ขอเพียงแค่ออกจากคิวบามาสหรัฐฯ ให้ได้

ทว่าโครงการ CMPP ก็มาสิ้นสุดในปี 2017 ยุคประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี มีหมอจากคิวบาไหลไปทำงานที่สหรัฐฯ ด้วยวีซ่าพิเศษถึง 15,000 คน 

ทางรัฐบาลคิวบา กล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามทำลายความสำเร็จของระบบสาธารณสุขชุมชนของคิวบา และยืนยันว่า แม้รายได้ของแพทย์คิวบาจะน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ก็เป็นค่าแรงที่สูงกว่าฐานเงินเดือนอาชีพอื่น ๆ ในคิวบาแล้ว

แต่หลังจบโครงการ CMPP สหรัฐฯ ยังไม่หยุดโจมตีโครงการแพทยสันถวไมตรีของคิวบา และเผยว่าเข้าข่ายใช้แรงงานทาส และค้ามนุษย์ รวมถึงกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ใช้บริการทีมแพทย์ของคิวบา เช่น เคนยา แอฟริกาใต้ ให้หยุดเสีย 

แล้วก็มีคนบ้าจี้ตามสหรัฐฯ จริง ๆ นั่นคือ ประธานาธิบดีบราซิล ชาอีร์ โบลโซนารู ได้สั่งให้ยกเลิกการนำเข้าหมอจากคิวบา เพราะไม่อยากสนับสนุนแรงงานทาส ซึ่งตอนนั้น คิวบาได้ส่งทีมแพทย์มาประจำช่วยเหลือคนพื้นเมืองในแถบป่าแอมะซอนอยู่แล้วหลายพันคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด Covid-19 เพียง 1 ปี 

แต่พอ Covid-19 มา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ระบบสาธารณสุขทั่วโลกถูกท้าทายอย่างหนักที่สุดในรอบ 100 ปี นับจากการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ทำให้ประธานาธิบดีบราซิลต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขอให้คิวบาส่งทีมแพทย์มาช่วย 

และคิวบายังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลืออิตาลี ที่เคยวิกฤติหนักจากการระบาดของ Covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คิวบาส่งนักรบเสื้อขาวไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และรวยกว่าคิวบาหลายเท่า

แม้ว่าศึกครั้งนี้จะหนัก และคิวบาก็ประสบปัญหาการระบาดของ Covid-19 เช่นกัน แต่ด้วยความพร้อมของระบบสาธารณสุขชุมชนที่วางรากฐานมานานหลายสิบปี ก็ทำให้คิวบาสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงที่พีคสุดไม่เกิน 1,500 คน และตอนนี้ได้พัฒนาวัคซีน Covid-19 ได้เองแล้วถึง 2 ตัว คือ Soberano 02 และ Abdala ที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ชาวคิวบาทุกคนด้วยวัคซีนที่ผลิตใช้เองในประเทศ

ต้องยอมรับว่า Covid-19 มาเบิกเนตรความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในระดับชุมชน ที่ทุกคนควรเข้าถึงสิทธิ์ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเริ่มตั้งแต่ทุ่มเทสร้างบุคลากรการแพทย์ ที่เน้นการบริการเพื่อประชาชนจริง ๆ แล้วผลลัพธ์ตอบแทน ก็จะเป็นแบบที่คนคิวบาได้รับ และชาวโลกได้เห็นเช่นทุกวันนี้


ข้อมูลอ้างอิง
https://time.com/5467742/cuba-doctors-export-brazil/
https://www.thinkglobalhealth.org/article/medical-diplomacy-lessons-cuba
https://hir.harvard.edu/exploring-the-implications-of-cuban-medical-diplomacy/
https://www.theguardian.com/world/2020/may/06/doctor-diplomacy-cuba-seeks-to-make-its-mark-in-europe-amid-covid-19-crisis
https://en.m.wikipedia.org/wiki/ELAM_(Latin_American_School_of_Medicine)_Cuba