ห่วงโซ่แห่งความห่วงใย หอมกลิ่น ‘น้ำใจ’ จากวิกฤตโควิด

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 1 ปี นับจากวันที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม 2563 และประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่ว ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ขณะนี้โควิดก็ยังคงแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกและทีท่าว่าจะไม่จบง่าย ๆ แม้มีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว สถานการณ์โควิดรอบโลกยังน่าเป็นห่วง ตัวเลข ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 พบมีผู้ติดเชื่อทั่วโลกร่วมแล้วเกือบ 150 ล้านคน สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด ตามมาด้วยอินเดีย และบราซิล

ที่มา : Covidtracker - Covid-19 Coronavirus Tracker

ซึ่งบราซิลเป็นประเทศที่นักระบาดวิทยา ระบุว่า มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ มีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในท้องถิ่นบราซิลเอง ซึ่งจะติดง่ายในหญิงตั้งครรภ์ ถึงขั้นว่ารัฐบาลต้องประกาศให้ประชากรชะลอการตั้งครรภ์ ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกต่อวันตอนนี้ คือ อินเดีย มียอดพุ่งสูงกว่าสองแสนรายต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก และที่สำคัญตอนนี้อินเดียมีการกลายพันธ์ุ์ของเชื้อ ซึ่งระบาดเร็วกว่าเดิมและมีแนวโน้มว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพไม่ได้เต็มที่กับสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วย ส่วนประเทศที่สถานการณ์ดีที่สุด คือ อิสราเอล อิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ๆ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 9 ล้านกว่าคน มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไป 8 แสนกว่าคน เสียชีวิตไปมากกว่า 6 พันคน นับว่าเป็นอัตราการติดเชื้อและการสูญเสียที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่ขณะนี้อิสราเอลฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วมากกว่า 53%  ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงสุดในโลก และถึงแม้ว่าจะไม่ถึง 70% ตามที่ WHO ระบุว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่รัฐบาลอิสราเอลมีความมั่นใจว่าถ้ายังมีการติดเชื้อเกิดขึ้นก็น่าจะน้อยมาก และสามารถจัดการได้ จึงประกาศให้ประชาชนอออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยแล้ว (แต่ยังต้องสวมในพื้นที่ปิด)  

ส่วนประเทศไทยเรา ระลอก 3 นี้ สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว วันละเป็นหลักพันราย ในขณะที่จำนวนโรงพยาบาล และบุคคลกรทางการแพทย์มีจำกัด แม้จะมีการเตรียมทั้งโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ดูเหมือนว่ายังเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย หากอัตราการติดเชื้อยังวิ่งสูงขึ้นทุกวัน และประการสำคัญแม้จะเพิ่มโรงพยาบาลสนามได้ แต่เราเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ รุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรต้องวางแผนจัดสรรกำลังพลกันอย่างหนัก แทบไม่มีเวลาได้พัก เพราะมีผู้ป่วยใหม่โควิดมาอยู่โรงพยาบาลวันละประมาณ 300 คน ไม่นับคนไข้เดิมที่มีอยู่แล้ว แล้วยังไม่รวมคนไข้ที่โรงพยาบาลสนามที่ก็ต้องการแพทย์ พยาบาลด้วย ได้ฟังแล้วนึกภาพตามได้ชัดเจนถึงภาระอันหนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์ โควิดรอบนี้ต้องส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์พยาบาลมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ 

แต่ในความยากลำบากนี้ เราก็ได้เห็นน้ำใจคนไทย เราได้เห็นผู้คนมากมาย ทั้งดารา นักร้องและประชาชนทั่วไปที่ร่วมกันบริจาคเงิน บริจาคอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วย บางท่านก็ทำอาหาร ส่งเสบียงมาให้เจ้าหน้าที่ ดาราบางคนบริจาครถ หรือให้ยืมรถไปใช้เพื่อรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อ บางคนอาสาจะช่วยลงแรง เราเห็นน้ำใจหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ผู้เขียนได้อ่านเจอโพสต์ที่น่าประทับใจจนต้องขอนำมาเล่าต่อ คือโพสต์ของอาจารย์หมอท่านหนึ่ง ท่านเล่าถึงน้ำใจของผู้ป่วยโควิด ที่ช่วยทีมแพทย์พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยกัน อาจารย์หมอท่านนี้ใช้ชื่อ Facebook ว่า Somnuek Sungkanuparph ท่านเล่าว่าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระลอกนี้รับจำนวนผู้ป่วย COVID-19 มาดูแลรักษามากเป็น 4 เท่าของระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว และมีผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมาก (สูงสุดคืออายุ 89 ปี) และมีเด็กเล็กจำนวนไม่น้อย มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดของกำลังคนทั้งแพทย์และพยาบาล และการไม่สามารถเข้าห้องผู้ป่วยได้ถี่เหมือนผู้ป่วยปกติ และต้องอาศัยการ VDO call เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การติดตามผู้ป่วยไม่สะดวก ทางโรงพยาบาลจึงมีการวางแผนจัดเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสในการช่วยดูแลกัน เช่น 

- ผู้ป่วยที่เป็นพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล อยู่ห้องเดียวกับ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยชายหนุ่มแข็งแรงที่อาการไม่มาก อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยสูงอายุที่เป็น Alzheimer (อัลไซเมอร์)
- ผู้ป่วยอาการไม่มาก อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยน้ำหนักตัวมาก ที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากความเสี่ยงสูงกว่า ที่จะเกิดปอดอักเสบ
- ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคน อยู่ห้องเดียวกับ เด็กเล็กที่พ่อแม่นอนอยู่โรงพยาบาลอื่นหรืออยู่ที่นี่แต่อาการหนักต้องเข้า ICU
- ผู้ป่วยเด็กที่พ่อแม่ไม่ติดเชื้อ อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ข้างบ้าน หรือเพื่อนบ้านข้างบ้าน
- ผู้ป่วยที่ปรับตัวได้และมีความกระตือรือร้น อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น 

ท่านเล่าต่อด้วยว่า ผู้ป่วยหลายคนมีความเต็มใจและช่วยดูแลผู้ป่วยคนอื่นในห้องเดียวกันได้ดีมาก และเมื่อผู้ป่วยหายแล้วกำลังจะกลับบ้าน หลายคนก็ถามว่า "ถ้าผมกลับบ้านแล้ว มีใครจะมาช่วยดูแลคุณตาต่อจากผมไหมครับ?" หรือบอกว่า "รู้สึกยินดีมากค่ะ เป็นช่วงเวลาที่ได้ทำประโยชน์แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยอยู่ แต่รู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ค่ะ" 

พอได้อ่านโพสต์นี้ของคุณหมอแล้ว รู้สึกขอบคุณ รู้สึกซาบซึ้งน้ำใจและความเอื้ออาทรต่อกันของผู้ป่วย ที่นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระที่หนักหนาของแพทย์พยาบาลแล้ว ยังช่วยให้คนป่วยโควิดมีคนดูแลให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ในยามป่วยไข้ที่ต้องอยู่ห่างไกลครอบครัว คนที่รัก และญาติพี่น้องลูกหลานมาเยี่ยมมาดูแลไม่ได้ 

น้ำใจและความห่วงใยที่มีให้กันในยามนี้ย่อมมีคุณค่าและความหมายอย่างมาก..ในฐานประชาชนคนหนึ่งขอขอบคุณผู้ป่วยโควิดที่เต็มใจช่วยเหลือทีมแพทย์พยาบาลอีกครั้ง และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งผู้ป่วย คุณหมอ คุณพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทุก ๆ ท่าน เรารู้ว่าท่านเหน็ดเหนื่อยและเสียสละมากเพียงใด ประชาชนอย่างเราจะปฎิบัติตามและให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการป้องกันโควิด นอกจากวัคซีนแล้ว การมีน้ำใจต่อกัน การมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ก็จะเป็นทั้งวัคซีนป้องกันและเป็นยาขนานที่ดีจะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้เหมือนกับ 2 ครั้งที่เราผ่านมาได้เช่นกัน...ว่ากันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จมูกมักจะไม่ได้กลิ่นอะไร แต่ถ้าเราหอมกลิ่นน้ำใจ เราน่าจะยังปลอดภัยจากโควิดใช่ไหมคะ #ทีมไทยแลนด์สู้ๆ 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.coronatracker.com/country/israel/?fbclid=IwAR3DrabAngd1Sg_sgvVrsW4Ph9HHgcwYxyEUafKcvHpIMqlDKBnKtA4xKks
Covidtracker - Covid-19 Coronavirus Tracker

https://www.facebook.com/ken.sungkanuparph/posts/3938938202808617