เมื่อ “ร้านโชห่วย” ออกมาช่วยในยามวิกฤติ

อินเดียตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติและน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รายวันทำสถิติสูงที่สุดในโลกโดยในวันพุธที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อสูงถึงเกือบ 3 แสนรายหรือจำนวน 294,290 รายภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,609,004 รายมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และมีจำนวนผู้เสียชีวิตภายใน 1 วันในวันดังกล่าวสูงถึง 2,020 คนซึ่งสูงที่สุดในโลก ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 182,570 ราย โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่าสาเหตุที่ COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งก็เนื่องมาจากการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ทำให้ประชาชนการ์ดตก และล่าสุดที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ก็คือ การจัดพิธีศักดิ์สิทธิ์ในเทศกาลกุมภเมลา ที่มีผู้แสวงบุญที่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนแห่ร่วมพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำคงคาตามความเชื่อและความศรัทธาโดยไม่สนใจเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 เลย

ผลจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในระลอกใหม่นี้ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโดยให้แต่ละรัฐบริหารจัดการกันเอง เริ่มจากรัฐมหาราษฏระซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองหลวง ได้กำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวไว้ระหว่างเวลา 21.00 น. จนถึง 5.00 น. ของอีกวันหนึ่ง และอนุญาตให้ร้านโชห่วยที่ขายสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีวิตเปิดได้แค่วันละ 4 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 7.00-11.00 น. เท่านั้น แต่บริการจัดส่งสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ สามารถทำได้ระหว่างเวลา 7.00-20.00 น. เท่านั้น จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากนั้น กรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดียก็ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์เช่นกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงวันที่ 19-26 เมษายน 2564 ซี่งมาตรการล็อกดาวน์ของกรุงนิวเดลีมีการบังคับให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนต้องปิดบริการทั้งหมด โดยในช่วงเคอร์ฟิว แพลตฟอร์ม eCommerce จะได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าได้เฉพาะสินค้าจำเป็นเช่น อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น จนถึงขณะนี้ รัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียก็ทะยอยประกาศล็อกดาวน์ตามรัฐมหาราษฎระกันแล้ว

การประกาศล็อกดาวน์ของรัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียจริง ๆ แล้วน่าจะส่งผลดีต่อบริษัท eCommerce ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Online Grocery Supermarket ที่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดเพราะผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวก แต่ปรากฏว่าหลังจากมีการประกาศล็อกดาวน์ บริษัทออนไลน์เหล่านี้กลับประสบปัญหาเป็นอย่างมากในเรื่องของการจัดส่งสินค้า เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะมีความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แต่บริษัทกลับมีปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคเนื่องจากไม่มีกำลังคนและยานพาหนะเพียงพอในการจัดส่งและยังประสบกับปัญหาเรื่องช่วงเวลาในการจัดส่งด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้แม้แต่ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดังอย่าง Amazon Fresh ซึ่งเป็น Online Grocery Supermarket ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ตามปกติ ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าไปหลายวัน ซึ่งสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นแล้ว ผู้บริโภคไม่สามารถรอคอยได้นานหลายวันขนาดนั้น เลยทำให้หน้าเพจสั่งซื้อสินค้าของ Amazon Fresh ต้องถึงกับมีข้อความขึ้นแจ้งลูกค้าไว้เลย เช่น “ตารางเวลาจัดส่งของเราเต็มแล้ว” หรือ “เรากำลังเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งให้ดีขึ้น” หรือ “กรุณากลับมาตรวจสอบอีกครั้ง” เป็นต้น หรืออย่างบริษัท BigBasket ซึ่งเป็นบริษัท Online Grocery Supermarket ชื่อดังอีกบริษัทหนึ่งก็มีข้อความแจ้งถึงลูกค้าบนหน้า Home Page ของบริษัทฯ เช่นกันว่า “การจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าอาจจะล่าช้าเนื่องจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่”

เมื่อสถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ ก็เลยทำให้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของอินเดียตอนนี้หันมาให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าหรือสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยหรือ Kirana มากกว่าที่จะไปเพิ่มไว้กับบริษัท eCommerce ซึ่งปรากฏว่าในช่วงหลังที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 หนักหนาสาหัสขึ้นในประเทศอินเดียทำให้บริษัทที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์หรือบริษัท eCommerce ต่าง ๆ ประสบปัญหากับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่มีการซื้อผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของอินเดียต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าตอนนี้ผู้บริโภคชาวอินเดียได้หันมาซื้อสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยมากยิ่งขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ต้องกลับลำหันมาให้ความสำคัญกับร้านโชห่วยมากขึ้นด้วยการเติมสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยก่อนร้านค้าปลีกประเภทอื่นโดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกออนไลน์ 

ตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ต้องหันมาพึ่ง “ร้านโชห่วย” เป็นหลัก ด้วยการจัดส่งสินค้าไปเพิ่มไว้ในสต๊อคของร้านโชห่วยแทบจะตลอดเวลา โดยทุกบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรอบเวลาในการจัดส่งสินค้าให้ร้านโชห่วยมากที่สุดด้วยการจัดส่งสินค้าด้วยจำนวนรอบที่ถี่มากขึ้นเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาดในช่วงเคอร์ฟิว ทั้งนี้ สินค้าที่เป็นที่ต้องการมากจะเป็นสินค้าจำเป็นประเภทอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ (Packaged Food) และสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัย (Hygiene Products) ซึ่งบริษัทต่างๆจะไม่ยอมให้ขาดตลาดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ก็ออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคว่าไม่ต้องวิตกกังวลว่าสินค้าจะขาดตลาดและไม่จำเป็นต้องมีการกักตุนสินค้าแต่ประการใด เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ตอนนี้ให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าให้กับร้านโชห่วยใกล้บ้านของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว 

น่าสนใจว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียถึงหันมาสนใจ “ร้านโชห่วย” หรือ “Kirana” ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ คำตอบก็คือ ในปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียจะมีร้านโชห่วยที่เรียกกันว่า Kirana มากถึง 12 ล้านร้านกระจายอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนนในประเทศอินเดียและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนอินเดียไปแล้ว โดยคนอินเดียหรือคนที่อยู่อาศัยในประเทศอินเดียจะต้องพึ่งพาซื้อหาสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยเหล่านี้กันเป็นกิจวัตรประจำวันเพราะเป็นร้านใกล้บ้าน มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นทุกอย่างทั้งอาหารและของใช้ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคก็มักจะเป็นลูกค้าขาประจำของแต่ละร้านอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้นการที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่เลือกที่จะหันกลับมาใช้ช่องทางของร้านโชห่วยในการกระจายหรือจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคในช่วงวิกฤติ COVID-19 จึงถือว่าเป็นแนวทางที่ชาญฉลาดมากด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ เครือข่ายของร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย 

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ยอดขายรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกอินเดียในปี 2019 สูงกว่า 790,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศไทยในปี 2020 ที่มีมูลค่าประมาณ 527,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2024 ยอดขายของอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียพยายามปกป้องอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นอย่างมากเนื่องจากในอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะประกอบไปด้วยผู้ค้าปลีกรายย่อยที่เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailers หรือ Unorganized Retailers) จำนวนมหาศาลซึ่งก็คือ ร้านโชห่วยหรือ Kirana นั่นเอง ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกกฏระเบียบต่างๆเพื่อกีดกันบริษัทค้าปลีกต่างชาติไม่ให้เข้าไปเปิดหรือขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียมาโดยตลอด ด้วยเกรงว่าจะไปกระทบกับร้านโชห่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศอินเดียนั่นเอง

และด้วยมาตรการกีดกันธุรกิจค้าปลีกต่างชาตินี่เองที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade หรือ Organized Retailers) ในประเทศอินเดียมีสัดส่วนน้อยมาก อย่างในปี 2011 ที่รัฐบาลอินเดียเริ่มเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียขณะนั้นมีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เป็นร้านโชห่วยมีสัดส่วนสูงถึง 95% แต่หลังจากมีการเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมในปี 2011 แล้ว ปรากฏว่าจนถึงปี 2015 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 8% และธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมลดลงไปเล็กน้อยเหลืออยู่ 92% แต่ก็ยังคงมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ และในปี 2019 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนลดลงไปเหลือ 88% แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ (Organized Online Retailers) ที่เข้ามามีสัดส่วน 3% ทำให้โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รวมกันมีสัดส่วนเป็น 12% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 88% และล่าสุดได้มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2024 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25% ประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบมีสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า 18% กับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ 7% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะมีสัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 75% 

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยในอินเดียมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมาแรงมาก แถมยังมีบทบาทอย่างสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงวันนี้ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ก็ไปไม่รอดเหมือนกันเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ด้วยการกำหนดเคอร์ฟิวและจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์เพราะไม่สามารถจัดการส่งสินค้าได้ตามปกติ และในที่สุดบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ต้องหันกลับมาใช้บริการ “ร้านโชห่วย” อยู่ดี ก็ถือว่าอินเดียยังโชคดีที่มีเครือข่ายร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคอยู่ทั่วประเทศ วิกฤติการณ์ครั้งนี้ “ร้านโชห่วย”ก็เลยกลายเป็น “พระเอก” ขี่ม้าขาวมาช่วยได้ในที่สุดแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาวิกฤติก็ตาม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32