ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ! การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญาจ้าง ‘วีริศ อัมระปาล’ นั่งแท่น ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ เดินหน้าสานต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ในวันที่ 20 เม.ย. 64 หลังคณะกรรมการสรรหามีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นายวีริศ อัมระปาล ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กนอ. ซึ่งภายหลังการเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสัญญาจ้างแล้ว ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2564 เห็นชอบแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ ทั้งนี้ นายวีริศฯ จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ตามเงื่อนไขและสัญญาจ้างที่มีต่อ กนอ. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการสำคัญต่างๆ ที่เตรียมส่งมอบให้กับผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่สานต่อ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่กนอ.ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย

1.) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม smart park โดยการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการก่อสร้างโครงการและเปิดดำเนินการภายในปี 2567 และดำเนินการตามแผนธุรกิจที่วางไว้

2.) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งในการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการกำกับดูแลภาคเอกชนคู่สัญญา งานขุดลอกและถมทะเล งานก่อสร้างท่าเรือก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ซึ่งก็คือการคัดเลือกเอกชนและประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อลงนามในสัญญาร่วมทุนโครงการ

3.) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ที่ต้องมีมาตรการส่งเสริมการจองเช่า/ซื้อที่ดิน เพื่อกระตุ้นยอดขาย/เช่าในพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง รวมทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 2

และ 4.) การพัฒนานิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco) ที่การดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การจัดทำแผนแม่บทที่จะดำเนินการให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการที่นิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion Eco-Excellence และ Eco-World Class เพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 36 นิคมฯ เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G มาประยุกต์ใช้ตามแผนพัฒนาการบริหารและการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ทั้ง 14 แห่ง โดยตั้งเป้าให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัตินิคมอุตสาหกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาวได้


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32