“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

"Chinese people will not allow some foreigners to eat China's rice while smashing its bowls"

“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

คำกล่าวนี้ หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศ และอธิบดีกรมสารสนเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวโต้ตอบสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก ที่กล่าวหาจีนว่า ใช้แรงงานอุยกูร์เยี่ยงทาสในเขตซินเจียง ในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตผ้าผ้าย เมื่อช่วงปลายเดือน มีนาคม 2564

จีนแถลงว่าการกล่าวหาของอเมริกาและประเทศตะวันตก เป็นการโกหกให้ร้ายอย่างไร้ความอาย ส่วนการต่อต้านสินค้าจีนนั้น ถูกพลเมืองจีนตอบโต้โดยการงดซื้อสินค้าระดับแบรนด์ของตะวันตก โดยมีดาราจีนและผู้เป็นพรีเซนเตอร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนช่วยผลักดัน โดยการยกเลิกสัญญากับแบรนด์ ส่วนผู้บริโภค และผู้ค้าขายออนไลน์ ทำการยกเลิกแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ ของแบรนด์ต่าง ๆ

แม้ฟังดูจะเหมือนเป็นกิจกรรมบอยคอตต์เชิงสัญลักษณ์ ที่อาจไม่มีผลกระทบมากนัก แต่โดยความจริง จีนมีพลเมือง 1,400 ล้านคน และยอดขายสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ในตลาดจีนนั้น ล้วนมีมูลค่าแต่ละปี หลายร้อยหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นตลาดของ H&M ในประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจาก UK (1), US (2) และเยอรมันนี โดยทำยอดขายจากร้าน H&M ทั่วประเทศจีนกว่า 500 ร้านได้ถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 หากมียอดขายตกไป 10% ย่อมหมายถึง 140 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจาก H&M แล้ว แบรนด์อื่น ๆ ที่เจอกระแสต่อต้านได้แก่ Nike, Adidas และ Burberry โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแถลงนโยบายที่จะไม่ใช้สินค้าฝ้ายของจีน หรือแสดงการเห็นด้วยกับคำกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา

คำพูดในเชิงโวหาร ของหัว ชุนหยิง นั้น เป็นคำพูดที่ต่อยอดมาจากคำอธิบาย ที่เธอพูดไว้ว่า “ตลาดของประเทศจีนอยู่ตรงนี้ เราต้อนรับบริษัทต่างชาติด้วยความใจกว้าง แต่เราต่อต้านการโจมตีประเทศจีนด้วยความเกลียดชังและใช้วิธีสกปรก ใช้เรื่องโกหกและข่าวลือ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศจีน”

คำพูดชุดนี้ ช่วยให้ความหมายของ “ทุบชามข้าวของเรา” ชัดเจนขึ้น

สำหรับคนจีน คำว่า “ชามข้าว” ไม่ได้มีความหมายตรง ๆ แต่หมายถึง ช่องทางในการทำมาหากิน เช่นเดียวกับที่คนไทยพูดว่า “ทุบหม้อข้าวของตนเอง” จากความหมายดั้งเดิม ที่ชามข้าวหมายถึง “อาชีพ” ความหมายได้ถูกปรับไปตามบริบท คำว่า “ชามข้าว” หรือ rice bowl นั้น จึงรวมถึง ธุรกิจ การค้า การลงทุน และแหล่งรายได้ทุกประเภท และคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” นั้นยิ่งเป็นการย้ำในความหมายของ “แหล่งรายได้ที่มั่นคงถาวร”

บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเปิดร้านและดำเนินธุรกิจในประเทศจีน กอบโกยรายได้มหาศาลจากพลเมืองจีน เปรียบเสมือน เข้ามา “กินข้าวของคนจีน” แต่การไม่ยอมซื้อผ้าฝ้ายของจีน เพราะอ้างว่าเป็นสินค้าจากการใช้แรงงานทาสตามข่าวลือ คือการ “ทุบชามข้าวจีน” นั่นเอง

ชาวจีน มีโวหารมากมายที่เกี่ยวกับ “ข้าว” ที่น่ารู้ เช่น

- ข้าวทุกเม็ดได้มาจากเหงื่อที่หยดมาจากคิ้ว

- ข้าวหุงสุกไปแล้ว ยังไงก็แก้ไขไม่ได้ (อย่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว)

- พูดมากแค่ไหนก็ไม่อาจทำให้ข้าวสุกได้ (อย่าดีแต่พูด)

- ภรรยาจะทำอาหารเก่งเพียงใด ก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีข้าว (ถ้าเครื่องมือไม่ครบย่อมทำอะไรไม่สำเร็จ)

- เอาข้าวไปล่อจับไก่ ได้ไก่มาแต่ไม่มีข้าวกิน

- ไม่มีจิตใจที่จะดื่มชาหรือกินข้าว (อยู่ในอารมณ์โศกเศร้าอย่างที่สุด)

- จะให้ข้าวสาร 3 ถัง ข้าก็ไม่มีวันก้มหัวให้ (ไม่ยอมแลกเกียรติกับสิ่งของใด)

- ข้าราชการตงฉิน คือคนที่กินข้าวกับเกลือเท่านั้น

- มีเวลาปีเดียว จงปลูกข้าว มีเวลาสิบปีให้ปลูกป่า ถ้ามีเวลาตลอดชีวิตจงให้ความรู้แก่ผู้คน

- ครูคือผู้ทำนาด้วยปากเพื่อให้ได้ข้าวมาใส่ชาม

- คนรอเกี่ยวข้าว ย่อมดีกว่า ข้าวรอให้คนมาเกี่ยว

คำว่า “ทุบหม้อข้าว” ที่คนไทยใช้นั้น จะให้ภาพที่ชัดกว่าสำหรับคนไทย เพราะหม้อเป็นภาชนะที่ใช้หุงต้ม อันเปรียบเทียบให้เห็นว่า หม้อเป็นช่องทางทำมาหากินที่ชัดกว่า อย่างไรก็ตามคนจีน ก็ใช้ทั้ง “ชามข้าว” และ “หม้อข้าว” ตามความคุ้นเคยของแต่ละคน ส่วนคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” ซึ่งหมายถึงอาชีพที่มั่นคงถาวรนั้น ยังใช้เรียก ตำแหน่งงานราชการ เพราะมีความมั่นคงระยะยาว ตกไม่แตก ในเกาหลี ข้าราชการจะมีชื่อเปรียบเทียบว่า “ชามข้าวเหล็ก” เพราะมีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง