สตรีนิยม (Feminism) การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม... แต่จงเป็นการใช้เสรีภาพและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

ภาพโปสเตอร์นี้มาจากงาน Black Feminist Festival ณ กรุงปารีสในปี 2017 ปรัชญาของ Feminism เกิดขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อน เพื่อให้สตรีมีความเท่าเทียมในสังคม เช่นการมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่สิทธิในการครองสมบัติในนามของตน เมื่อเข้ายุค 1960s จนถึง 1970s การเคลื่อนไหวของสตรีนิยม เน้นการต่อสู้เพื่อขจัดการกีดกันสตรี และการกดขี่ทางเพศ ซึ่งได้รับการเสริมด้วยกระแสด้านสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านสงครามเวียดนาม

Don't agonize, ORGANIZE! อย่าโอดครวญด้วยความทรมาน แต่ลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990s สตรีในสหรัฐอเมริกา มีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้นจากกฎหมายที่ให้ความคุมครองแก่สตรีเพิ่มขึ้นในหลายมิติ เช่นสิทธิเกี่ยวกับการลางานโดยได้ค่าจ้างช่วงตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการป่วยและลาคลอด การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในช่วงที่สตรีมีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้สตรี ได้สร้าง อัตลักษณ์ของตนเอง พัฒนาความเป็นปัจเจกบุคคล และแนวคิดนอกกรอบ โดยไม่ต้องหวั่นกระแสสังคมอย่างที่เป็นมาก

การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน และกระแสในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการต่อสู้เรื่องการโดนรังแกทางเพศ ที่โยงไปถึงการใช้อำนาจของผู้ชายในด้านอาชีพ เช่นกระแส MeToo และยังเกิดการโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม ว่าเป็น White Feminism หรือ “สตรีผิวขาวนิยม” เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสตรีผิวดำ และเชื้อชาติอื่น ๆ

บ่อยครั้งการเคลื่อนไหวทั้งในการรณรงค์และโดยพฤติกรรมส่วนตัวของผู้หญิง มีการแสดงออกอย่างก้าวร้าว จนเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า สตรีนิยมไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว พร้อมชนกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนคนทั่วไปบางครั้งเข้าใจว่า คนเหล่านี้เป็นทอม หรือเลสเบี้ยน หรือเกลียดผู้ชาย

การแสวงหาความเท่าเทียมยังคงมีอยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทุกกลุ่มจึงมีการใช้คำว่า LGBTQ และเป็นสิ่งที่ยังต้องมีต่อไป เพื่อปรับทัศนะของผู้คนในสังคม

กาลเวลาผ่านมา ในหลายประเทศทั่วโลก สตรีมีสิทธิในการศึกษา ได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย ได้รับตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาลและบริษัท สตรีได้เป็นผู้นำประเทศมากมาย ทั้งในศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล อังกฤษ เยอรมันนี นิวซีแลนด์ ฯลฯ ศักยภาพเหล่านี้ ยืนยันว่าสังคมไม่ได้คิดว่าผู้หญิงด้อยกว่าเพศชายหรือเพศอื่น ๆ และได้สร้าง "พลัง" และ "ศักดิ์ศรี" ให้กับผู้หญิงโดยรวม ยืนยันสถานภาพความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับเพศชาย

เมื่อมีพลังและศักดิ์ศรีแล้ว การเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยม ก็ต้องทำในสิ่งที่เพิ่มพลังและศักดิ์ศรีแก่สตรีเพศ ดังจะเห็นว่า female empowerment หรือการสร้างพลังให้แก่สตรี นอกเหนือจากด้านกฎหมายแล้ว ยังพัฒนาโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโตและมีบทบาทสำคัญในทุกมิติของสังคม

ไม่ว่าจะอ้าง แนวคิดสตรีนิยมเชิงทฤษฎี แบบ มาร์กซิสต์ เฟมินิสม์ (Marxist Feminism) โซเชียลลิสต์ เฟมินิสม์ (Socialist Feminism) คัลเจอรัล เฟมินิสม์ (Cultural Feminism) หรือ อินเตอร์เซคชันแนล เฟมินิสม์ (Intersectional Feminism) ต้องไม่ทำการเหยียด ความเป็นมนุษย์ผู้หญิง

มาร์กซิสต์ เฟมินิสท์ เป็นแนวปรัชญาที่แตกมาจากเฟมินิสซึม โดยผสมทฤษฏีของมาร์กซิสต์เข้าไว้ เช่นการวิเคราะห์มิติที่สตรีถูกกีดกันในระบบทุนนิยม และการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ส่วนสตรีนิยมแบบสังคมนิยมนั้นต่อยอดจากแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เฟมินิสต์เรื่องระบบทุนนิยมที่กดขี่สตรีเพศ และอ้างถึงทฤษฎีเฟมินิสต์ที่ว่าด้วยบทบาทของเพศสภาพ และสถานภาพที่ผู้ชายเป็นใหญ่

Cultural feminism มองสตรีเพศ โดยพิจารณา “ธรรมชาติของเพศหญิง และแก่นแท้ของความเป็นผู้หญิง โดยมีเจตนาที่จะประเมินคุณค่าและศักยภาพของสตรี และให้นิยามใหม่กับความเป็นผู้หญิง โดยแยกลักษณะของเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิด

Intersectional feminism ต้องการวิเคราะห์บทบาทของสตรีในกรอบของสังคมและการเมือง อันทำให้เกิดการกีดกัน และอภิสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับสตรีเพศ

การอ้างว่า การใช้ sex toy หรือการสนุกทางเพศอย่างสำส่อน ในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง คือ การเหยียด ลบหลู่ และด้อยค่าความเป็นสตรี อย่างชัดเจน เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้ชาย กะเทย LGBTQ ที่เป็นอารยชน ก็ไม่ทำ

แม้ว่าการกีดกัน หรือเหยียดสตรีเพศ ยังมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก แต่มนุษย์ที่ อยู่ร่วมสังคมกันโดยยึดถือในบรรทัดฐานอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงเพศสภาพ หรือเพศสภาวะเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องจริยธรรมและกาลเทศะ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสตรีเพศ ผู้หญิงไม่ว่าจะเก่งกาจเพียงใด หากไม่รู้จักกาลเทศะ ขาดจริยธรรม ย่อมไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมอารยะ ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมที่ไม่แยแสต่อจริยธรรมและกาลเทศะ ยังเป็นการ “ด้อยค่า” ให้กับสตรีเพศ

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และอิสระทางความคิด ไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายได้ ถ้าเน้นย้ำแต่เพียงความสนุกทางเพศ เวลาใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นิทรรศการของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่จัดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ก็ดูเหมือนจะเน้นแต่การสำรวจความเป็นผู้หญิง ผ่านเรื่องเซ็กส์และอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เชย ตกยุค เพราะสังคมปัจจุบัน ไม่ได้รังเกียจอวัยวะเพศหญิง โดยการตีตราให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสกปรกอย่างในอดีตอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แม้ว่าในบางสังคมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะมีการบัญญัติไว้ในความเชื่อทางศาสนา

การนำแนวคิด feminism มาอ้าง ต้องทบทวนให้รอบคอบก่อนพูด ก่อนตอบโต้ การแย้งกับค่านิยมของสังคมและเหตุผลขาดน้ำหนัก ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ ดูเป็นเรื่องตลก

ผู้หญิงเก่งในสังคมไทยมีมากมายทั้งในองค์กรของรัฐ และในบริษัทเอกชน และถ้าไม่ต้องการให้สังคมมองเห็นว่า สตรีผู้มีศักยภาพสูงเท่าเพศชาย หรือเหนือกว่าผู้ชายทั่วไป ต้องแสดงให้สังคมเห็นการเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้การสนับสนุนแก่เยาวชนหญิง ให้เกิดความมั่นใจในความเป็นเพศหญิงที่ไม่ได้ด้อยกว่าเพศชาติ ให้เกิดความมุ่งมั่น ผ่านความรู้สึกว่าเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพเช่นคนอื่น และจะได้รับความเกรงใจ และความนับถือจากสังคม ด้วยพฤติกรรมที่สังคมมองว่าเป็นคุณค่าที่ควรแก่การยกย่อง ไม่ใช่เพราะมีใจเสรี อยากทำอะไรก็ได้ไม่แคร์

Feminism ที่มีความจริงใจในการเคลื่อนไหวเพื่อให้สตรีเพศมีความเข้มแข็ง มีความสำคัญในสังคมทุกระดับ จะรู้แก่ใจว่า You are what you do การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ มีพื้นที่อีกมากไม่ใช่แค่บนเตียง