ครม.คลอด 2 มาตรการ 3.5 แสนล้านบาท ต่อลมหายใจธุรกิจ คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย พร้อมสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวม 2 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย และสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง

มาตรการแรก กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.64 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก

ขณะเดียวกันในการดำเนินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูครั้งนี้ยังกำหนดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อครั้งนี้เป็นการชั่วคราวได้ด้วย จากเดิมจะช่วยค้ำประกันให้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้

ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ กำหนดให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อเอามาชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิมกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเอาทรัพย์สินมาวางไว้กำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ก่อนเดือนธ.ค.62 และถ้าเจ้าของทรัพย์สินต้องการจะทำธุรกิจต่อก็สามารถเช่าทรัพย์สินนี้ได้ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็สามารถมาซื้อคืนทรัพย์สินได้โดยมีข้อตกลงว่าไม่มีการเอากำไรมาก