ประชาธิปไตยที่แท้จริง คืออะไร?

สภาพอากาศของเมืองไทยเพิ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้แล้ว แต่ที่ร้อนระอุมานานข้ามปี ก็คงเป็นสภาพการทางการเมืองของไทย ความเห็นต่างทางเมืองในครั้งนี้ดูสร้างความร้าวลึกให้สังคมไทย เพราะไม่เพียงสถาบันทางการเมืองเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าในการประท้วงในครั้งนี้ แต่เหมือนเป้าหมายของการใช้เสรีภาพนี้ทะลุเลยเถิดไปถึงสถาบันกษัตริย์ สะท้อนจากข้อเรียกร้องล่าสุดของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่มีการเปิดตัวกลุ่มใหม่ในนาม REDEM – ประชาชนสร้างตัว

โดย REDEM นี้ย่อมาจากคำว่า RESTART DEMOCRACY ซึ่งมีประโยคต่อท้ายตามมาติด ๆ ว่า “สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้งไปด้วยกัน”

ฟังแล้วก็สงสัยมีคำถามว่านี้ประชาธิปไตยของไทยเราตายไปแล้วหรือจึงต้องมีการเกิดใหม่ แล้วที่เลือกตั้งกันไปคืออะไรกัน…

กลับมาที่ข้อเลือกร้อง 3 ข้อที่กลุ่ม REDEM ระบุว่ากลุ่มตนขอประกาศข้อเรียกร้องที่มีฐานคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเปรียบเสมือนข้อตกลงร่วมกันหากต้องการต่อสู้ในการเคลื่อนไหวของมวลชนในชื่อ “REDEM” ซึ่งจะเป็นบันไดนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงที่แท้จริง ดังต่อไปนี้

1.) จำกัดอำนาจสถาบันฯ พอกันทีกับภาษีหลายหมื่นล้านบาทที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับสถาบันฯ ทุกๆ ปีในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงต้องอดมื้อกินมื้อ พอกันทีกับอำนาจที่มากล้นจนไม่อาจตรวจสอบได้

2.) ปลดแอกประชาธิปไตยขับไล่ทหารออกจากการเมือง “ไม่ใช่แค่พลเอกประยุทธ์” เพราะนี่คือเครือข่ายนายพลขนาดใหญ่ที่รวมหัวกันเพื่อกัดกินประเทศนี้

3.) ลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (ไม่ใช่สวัสดิการแบบชิงโชค) จัดสรรภาษีอย่างเป็นระบบ นำมาใช้กับการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดยันตาย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กลุ่ม REDEM ระบุว่านี่เป็น 3 ธงใหญ่ที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้จงได้

อ่านแล้วก็เกิดคำถามในนามของประชาชน เราก็ย่อมมีสิทธิที่จะตั้งถามกับกลุ่ม REDEM ที่ได้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร?

อย่างข้อแรก หากจำกัดอำนาจสถาบันฯ ได้ ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือ? และอำนาจที่ต้องการจำกัดนั้น คือ อำนาจเรื่องใด? มีวิธีการในการจำกัดอย่างไร?

ถ้าตั้งธงที่การจำกัดอำนาจของสถาบันฯ ชวนตั้งคำถามต่อว่า อย่างนั้นประเทศที่ยิ่งไม่มีสถาบันกษัตริย์เลยยิ่งจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่…

หันมองประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้วต้องเอียงคอสงสัยอีกว่า จริงหรือที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ หากจะอ้างว่าการจำกัดคือเพียงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็น่าตั้งคำถามต่อว่าการปฎิรูปสถาบันหลักของชาติที่มีความเชื่อมโยง ผูกพันกับสังคมและคนไทยมากกว่า 700 ปี นับตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงอยุธยา ไล่มาถึงกรุงธนบุรี จนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

เรื่องใหญ่เช่นนี้ ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ตลอดจนวิธีการที่ละมุนละม่อมเป็นไปอย่างสันติวิธีและไร้ความรุนแรงที่สุดหรือไม่ มิควรใช้การหักหาญด้วยความหยาบคายก้าวร้าวรุนแรงใช่หรือไม่ และประเด็นสำคัญมากคือต้องเป็นความต้องการร่วมกันหรือมติร่วมกันของมหาชน (Consensus) ทั้งประเทศหรือไม่ ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วอ้างว่าตนคือตัวแทนของประชาชนทั้งหมดทั้งมวล เพราะท่ามกลางเสียงทัดทานและความเห็นต่างที่จากปรากฎเป็นรอยแยก คงพอพิสูจน์ได้ว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากเหลือเกิน

ดังนั้นการที่กลุ่ม REDEM อ้างความต้องการของประชาชนนั้นมีชอบธรรมเพียงใด เป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงหรือไม่?

นอกจากนี้แล้วกลุ่ม REDEM ยังระบุความเชื่อโยงไปถึงภาษีและความอดมื้อกินมื้อของประชาชน โดยระบุจากข้อความที่ว่า…

“พอกันทีกับภาษีหลายหมื่นล้านบาทที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับสถาบันฯ ทุกๆ ปีในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงต้องอดมื้อกินมื้อ…”

ประโยคนี้ชวนงงหนักเพราะราวกับว่าเพราะรัฐนำเงินไปใช้จ่ายให้กับสถาบันฯ แต่ละเลยประชาชนจนประชาชนต้องอดมื้อกินมื้อ แถมระบุว่าเป็นประชาชนส่วนใหญ่ด้วยนะที่ต้องอดมื้อกินมื้อ (และสงสัยว่าเอาข้อมูลมาจากไหนว่าประชาชนส่วนใหญ่อดมื้อกินมื้อด้วย) อย่างนี้ถือเป็นเหมารวมกล่าวโทษต่อสถาบันฯอย่างไม่เป็นธรรมเกินไปหรือไม่

ต่อมาในข้อที่ 2 ใจความอยู่ที่การขับไล่ทหารออกจากการเมือง ข้อนี้ต้องพิจารณาออกใช้ชัดเจน ว่าทหารในที่นี้คือ บุคคลที่เป็นปัจเจกชน หรือ ทหารที่เป็นสถาบันทหาร เพราะในโครงสร้างในการบริหารราชการแผ่นดิน เห็นด้วยว่าสถาบันทหารมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตามภารกิจเพื่อการรักษาอธิปไตยของประเทศที่ แต่ไม่ควรข้ามเข้ามาในกลไกของวงอำนาจการบริหารประเทศทั้งในฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ

แต่หากทหารในที่นี้เป็นเพียงตัวบุคคลที่ต้องการเข้ามาเล่นการเมือง ก็ย่อมเป็นสิทธิของปัจเจกชนนั้น ๆ โดยหลักแห่งความเสมอภาคเสรีภาพนั้นเองว่า แม้จะเคยทำงานอาชีพใด ๆ หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถเข้ามาในตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะโดยแนวคิดของระบบประชาธิปไตยย่อมไม่มีใครควรกีดกั้นก่อนจากการเข้ามาเป็นนักการเมืองด้วย

แม้จะเคยมีอาชีพอะไรมาก่อน ไม่ว่าจะรับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน หรือ เกษตรกร ก็ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ามาสู่ภาคการเมืองใช่หรือไม่ เพราะทหารคนหนึ่ง ก็คือ ประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน และที่สำคัญหากเข้ามาตามกติกาของระบบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ทุกฝ่ายต้องยิ่งต้องเคารพกติกาด้วยเช่นกัน

ข้อสุดท้ายที่กลุ่ม REDEM เรียกร้อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จัดสรรภาษีอย่างเป็นระบบ นำมาใช้กับการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดยันตาย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเด็นนี้มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐต้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อมุ่งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การจัดสรรภาษีคือคำตอบสู่การสร้างรัฐสวัสดิการได้จริงหรือไม่

เพราะภาษีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการบริหารงานทางการคลังของประเทศเท่านั้น และก่อนที่จะพูดถึงการจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรมนั้น ขอชวนมาดูรายได้ภาครัฐกันสักหน่อยว่าไม่ได้มาจากภาษีทางตรงจากประชาชนเพียงทางเดียว ที่เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า ‘ภาษีกูๆ’ หรือภาษีประชาชนนั้น หมายถึงอะไร หากหมายถึงภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่ประชาชนต้องเสียให้แก่รัฐประจำทุกปี

โดยการจัดเก็บของกรมสรรพากรนั้น พบว่าข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าในช่วง ตุลาคม 2560 - พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมารัฐสามารถเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 222,853 ล้านบาท จากยอดรวมรายได้ที่จัดเก็บได้ คือ 2,450,000 ล้านบาทจากการจัดเก็บภาษีทั้งหมดของกรมสรรพกร กรมศุลกากร และรายได้จากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนร้อยละจะพบว่ารายได้ของรัฐที่จัดเก็บได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือประชาชนทั่วๆไปนั้นคิดเป็นเพียง 9.1% จากจำนวนเงินรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้ทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าใดๆ ในโลกล้วนมาจากเงินภาษีของตนนั้น อาจจะต้องคิดใหม่

นอกจากนี้ความจริงสำคัญคือการเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) นั้นต้องใช้เงินเยอะมาก ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนั้นเก็บภาษีได้เกือบ 50% ของ GDP ขณะที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่ถึง 20% ของ GDP แล้วเราจะมีรัฐสวัสดิการอย่างที่เหมือนเขาได้หรือไม่

และน่าตั้งคำถามว่าในการลดความเหลี่ยมล้ำในสังคมไทย เราจะจัดสรรภาษีเพียงอย่างเดียว หรือควรพิจารณากลไกอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบ การสนับสนุนการออมของประชาชน การพัฒนาบริการทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึง เป็นต้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เพียงแค่การจัดสรรภาษีตามที่กลุ่ม REDEM ระบุคงไม่สามารถนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าได้ เพราะยังมีองคาพยพอีกมากที่ต้องคำนึงถึงหรือไม่

ที่ตั้งคำถามทั้งหมดนี้มิใช่จะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง หรือสนับสนุนเผด็จการ หรือแม้แต่การกล่าวโทษกลุ่ม REDEM ผู้ประท้วงในทางกลับกันต้องขอบคุณที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามหรือทบทวนความเป็นไปในบ้านเมืองนี้

หากแต่เพียงอยากให้พวกเราร่วมด้วยช่วยกันคิดและดึงสติกันด้วยเหตุผลอย่างรอบด้านมากขึ้น ชวนทุกคนช่วยกันคิดว่าแทนที่จะหาว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร เราควรตั้งคำถามใหม่ว่าเราสามารถมีประชาธิปไตยหรือมีการปกครองในแบบที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยได้เองหรือไม่? อย่างไร?

เพราะแท้จริงแล้วประชาธิปไตยก็เป็นเพียงเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งที่นำประเทศไปสู่จุดหมาย คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุขใช่หรือไม่ อย่ามัวแต่เพ่งที่เครื่องมือจนละเลยจุดหมายของการปกครอง…เพราะนิ้วที่ชี้ไปที่ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่


อ้างอิงที่มา:

เยาวชนปลดแอก เปิดตัว REDEM ช่องทางออกแบบการเคลื่อนไหว บันไดสู่ ปชต. (matichon.co.th)

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 1/ (ตุลาคม 2560 - พฤษภาคม 2561) จัดทำโดย ส่วนนโยบายรายได้ส้านักนโยบายการคลัง ส้านักงานเศรษฐกิจการคลัง