ก๊อป MV : ‘แรงบันดาลใจ’ หรือ ‘ลอกเลียนแบบ’

เมื่อวันก่อนผมไปจัดวงเสวนาในคลับเฮาส์ (Clubhouse) พูดคุยกับช่างภาพและผู้ผลิตคอนเทนต์เรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และช่วงท้ายก็เปิดโอกาสให้คนฟังได้ขึ้นมาสอบถามกันได้แบบสดๆ

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ คือ “การถ่ายมิวสิควิดีโอ หรือ MV แล้วมีฉากต่างๆ คล้ายกับ MV ของคนอื่น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่”

ตอนที่ผมและผู้ร่วมวงเสวนาตอบคำถามนี้ไป ก็สงสัยว่าทำไมมีคนสนใจถามเรื่องการก๊อป MV หลายคน จนกระทั่งหลังจบวงเสวนาในคลับเฮาส์ เพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งข้อความมาบอกผมหลังไมค์ว่า เรื่องก๊อป MV นี้ กำลังเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียเลย น่าเอามาเขียนอธิบายแบบง่ายๆ ให้คนนอกคลับเฮาส์ได้เข้าใจกันได้ด้วย

ผมก็เลยหยิบเรื่องก๊อป MV กับกฎหมายลิขสิทธิ์มาเขียนเป็นประเดิมในคอลัมน์ของผมเสียเลย

ก่อนที่เราจะบอกว่า MV ที่ทำเลียนแบบนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่างานอันมีลิขสิทธิ์นั้นหมายถึงงานแบบใดบ้าง และกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง MV นั้นอย่างไร

โดยหลักการการสำคัญของงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งของไทยและสากลมี 2 ข้อที่เหมือนกัน คือ หนึ่ง งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (Originality) และ สอง งานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด (Ex-pression of idea)

มาว่ากันที่หลักการแรกกันก่อน ที่บอกว่างานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง อธิบายแบบง่าย ๆ คือ งานนั้นจะต้องเกิดจากความคิดของตนเอง แต่ก็ไม่จำเป็นว่างานนั้นจะต้องเป็นสิ่งใหม่ หรือไม่เคยมีมาก่อนในโลก เพียงแต่ผู้สร้างสรรค์งานนั้นจะต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ทักษะ สติปัญญาของผู้สร้างสรรค์ลงไปในงานดังกล่าวพอสมควรด้วย

ตัวอย่างเช่น เราเห็นภาพถ่ายที่จุดชมวิวแห่งหนึ่งสวยมาก เราก็อาจจะได้แรงบันดาลใจให้ไปถ่ายภาพนั้นออกมาเหมือนกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้ถ่ายภาพจุดชมวิวนั้นเป็นคนแรก แต่เราก็ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการลงมือลงแรงไปที่จุดชมวิวนั้น และกดชัตเตอร์ถ่ายรูปออกมา แบบนี้เราก็ได้รับความคุ้มครองในส่วนของภาพที่เราถ่าย แม้ว่าภาพนั้นจะคล้ายกับภาพจุดชมวิวที่คนอื่นถ่ายก่อนหน้านี้

แต่ถ้าเราเห็นรูปจุดชมวิวของคนอื่นสวย แล้วเราสแกนภาพของเขามาเข้าในคอมพิวเตอร์ของเราเอง แบบนี้จะไม่ถือว่าภาพที่เราสแกนนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของเรานะครับ เพราะเป็นการที่เราไปทำซ้ำหรือก๊อปปี้ของคนอื่นมา ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์แต่อย่างใด

ส่วนหลักการที่สองที่บอกว่างานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด หรือ Expression of idea ขอให้สังเกตให้ดี ๆ ว่าหลักการนี้คุ้มครองเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิด แต่ไม่ได้คุ้มครอง ความคิด หรือ idea นะครับ

แปลว่าสิ่งที่เราแค่คิด แต่ไม่ได้แสดงให้มันออกมาเป็นผลงาน ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

เช่น เราคิดว่าจะแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่งซึ่งใหม่มาก เป็นความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ ต่อมาเราไปเล่าไอเดียนี้ให้คนอื่นฟัง ปรากฏว่าคนที่ฟังไปนั้นเอาไอเดียของเราไปแต่งเพลงออกมาในแบบที่เราคิด แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์ของเราแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เราคิด หรือ ไอเดียของเรานั้นยังไม่ถูกแสดงออกมาเราจึงไม่มีลิขสิทธิ์ในไอเดียดังกล่าว

แต่ถ้าเราแต่งเพลงความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีคนมาเอาเนื้อร้องของเราไปดัดแปลง แบบนี้ก็จะถือว่าคนที่เอาเพลงของเราไปดัดแปลงนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ของเรา เพราะได้ลงมือสร้างสรรค์เพลงนั้นออกมาจากความคิดของเราแล้ว

พอเข้าใจหลักการของงานที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วใช่ไหมครับว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองงานสร้างสรรค์แบบใด

คำถามถัดมา คือ หากงานสร้างสรรค์นั้น เกิดไปเหมือนหรือคล้ายกับงานของคนอื่นละ แบบนี้จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเขาหรือไม่ ในเรื่องนี้ก็มักจะมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นการก๊อปปี้งานผิดลิขสิทธิ์แน่ ๆ แต่อีกฝ่ายก็อาจจะบอกว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไหน เขาแต่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแค่นั้นเอง

การที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้ ผมอยากให้ย้อนไปอ่านหลักการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดที่ผมอธิบายไปแล้วซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์บ้านเราที่บัญญัติไว้ว่า

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

แปลว่ากฎหมายไม่ได้สนใจว่าความคิดที่เรานำมาสร้างสรรค์นั้นจะมาจากไหน ผู้ที่สร้างสรรค์อาจใช้ความคิดของคนอื่นมาจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานของตนเอง หรือใช้งานสร้างสรรค์ของคนอื่นมาเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองก็ได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักสากลที่ใช้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยเท่านั้น

ทีนี้ ถ้าเราจะพิจารณาถึงกรณีที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียว่า MV นั้นเป็นการลอกเลียกแบบหรือได้แรงบันดาลใจ

เราจะใช้อารมณ์หรือกระแสสังคมเป็นตัวตัดสินไม่ได้ เราจะต้องใช้หลักการตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ผมอธิบายไว้แล้วมาปรับเข้ากับเหตุการณ์นี้ โดยพิจารณาว่าสิ่งที่ MV ที่ถูกกล่าวหาว่าก๊อปนั้น เป็นการทำซ้ำหรือดัดงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นหรือไม่ เช่น เขาเอาเนื้อร้อง ทำนอง หรือเนื้อเรื่องใน MV ต้นฉบับมาเกือบทั้งหมด ซึ่งแบบนี้ MV ที่ก๊อปมาก็จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่สร้างสรรค์ MV ต้นฉบับแน่นอน

แต่ถ้าการก๊อปนั้นเป็นเพียงแต่การเอาความคิด หรือ idea การถ่าย MV บางช่วงบางตอนมาจาก MV ต้นฉบับ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เขาก็อาจจะโต้แย้งได้ว่า MV ของเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบนะ เขาเพียงแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากไอเดียของ MV ต้นฉบับ ซึ่งทำให้เราก็อาจจะไม่สามารถเอาผิดเขาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ในส่วนของเคสที่เป็นประเด็นนี้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครถูก ใครผิดก็คงต้องรอให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพราะแต่ละคดีมันมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ผมเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงจากที่มีคนมาถามใน Clubhouse เท่านั้นคงไม่สามารถฟันธงให้ได้

สุดท้ายนี้ ในฐานะนักกฎหมายผมก็อยากฝากไว้ว่า แม้บางเรื่องที่เราทำไปนั้นอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะอาจส่งผลต่อชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ได้ การสื่อสารที่ดีและจริงใจ จะช่วยรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีกว่าการตอบแบบแข็งกร้าว และในส่วนของกองเชียร์เอง ก็ต้องระมัดระวังการพูดจาหรือแสดงความเห็นไม่ให้เกินเลย เพราะมิเช่นนั้นแล้วเราอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทเสียเอง

***พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง