เงินกู้เงินออนไลน์ มาแรง!! จับกระแส P2P Lending สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล ทางเลือกใหม่ ‘ผู้ประกอบการ - นักลงทุน’ ในโลกการเงินยุคดิจิทัล

ความก้าวหน้าของธุรกิจ FinTech ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกรรมสินเชื่อ ที่จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องไปยื่นขอกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถจัดหาเงินจากนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์มทางการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ (Matchmaker) ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ P2P Lending (peer-to-peer lending) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยดอกเบี้ยต่ำลง สะดวกรวดเร็วในการอนุมัติรายการ ลดต้นทุนในการดำเนินการ และในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินน้อยก็สามารถเลือกลงทุนและรับผลตอบแทนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจและเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) ที่ถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุให้ผู้กู้ P2P Lending ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่ออุปโภคบริโภค สามารถยื่นขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 1.5 - 5 เท่าของรายได้ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนผู้ให้กู้อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 500,000 บาทต่อปี หรือผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน มีเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี บวกด้วยค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม (ถ้ามี)

ทั้งนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ธปท. อนุญาตให้มีการทดสอบระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลในวงจำกัดภายใต้ Regulatory Sandbox ขึ้นใน 3 บริษัทผู้ให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้างต่อไป

โดย 3 บริษัทผู้ให้บริการดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด (https://www.deepsparkspeerlending.ai/) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน LoanDD บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด (https://www.nestifly.com) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Share Loan by NestiFly และบริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จํากัด (https://www.peerpower.co.th) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Peerpower

จากความสำเร็จของฟินเทคสตาร์ทอัพในธุรกิจ P2P lending ทั่วโลก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ในปี 2564 นี้ จะเกิดกระแส P2P lending ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ และในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของสินเชื่อ P2P lending ที่ผู้กู้ยังคงต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน และผู้ให้กู้จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงสืบเนื่องจากการลงทุนที่จะไม่ได้รับการชำระหนี้จากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ และไม่สามารถยกเลิกหรือเรียกคืนเงินได้ก่อนสัญญาครบกำหนดนั้น อาจเป็นเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของ P2P lending ได้ในคราวเดียวกัน


ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)