ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่ การพัฒนาบัณฑิตในยุค Disruptive

กลไกการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนการศึกษาแห่งชาติ (2560 - 2579) ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีเป้าหมายของคุณลักษณะของคนไทย 4.0 ต้องเป็นคนไทยที่มีความรู้ มีทักษะและความสามารถสูง มีจิตสาธารณะรับผิดชอบต่อสังคม เป็นคนไทยที่เท่าทันดิจิทัล และเป็นคนไทยที่มีความเป็นสากล

ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม การพัฒนาและรักษากลุ่มผู้มีความสามารถสูง ที่เน้นเรื่องของคุณภาพการศึกษา และการศึกษาทุกช่วงวัย สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรม อันประกอบด้วย การสร้างพลเมืองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การปฏิรูปการจัดทำหลักสูตร การปฏิรูปอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา การปฏิรูปกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวิจัย การกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา อันเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งของสังคม ความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร จากปัญหาในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รวมถึงการกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตบัณฑิต โดยจะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีความทันสมัย มีการบูรณาการการเรียนการสอนที่หลากหลายศาสตร์

รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อันจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความพร้อมในหลากหลายด้านเพื่อการประกอบอาชีพยุคใหม่ การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ ตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วย การปฏิรูปการจัดทำหลักสูตร การปฏิรูปอาจารย์ การปฏิรูปกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวิจัย การส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการกระจายโอกาสทางการศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหลักสูตรหนึ่ง ที่มีความยึดหยุ่นต่อการจัดการศึกษา นอกจากจะเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตรแล้ว ยังได้มีการออกแบบการเรียนการสอนเป็นแบบชุดวิชา (module) ซึ่งเป็นการเรียนระยะสั้นใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) ในแต่ละชุดวิชามีลักษณะเป็นวิชาชีพที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เทียบเท่ากับ 20 หน่วยกิต ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรในชุดวิชาที่เลือกเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (start-up) ได้

เนื่องจากการเรียนการสอนในแต่ละชุดวิชาเน้นการปฏิบัติจริงในพื้นที่และการปฏิบัติร่วมกับสถานประกอบการการ (work integrated learning) รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างคนไทย 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การ Re-skill & Up-skill และการสร้าง New Skill ใหม่ ให้กับผู้เรียนได้ อันจะเป็นอาชีพได้ ซึ่งจะนำเสนอการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาคน ในรูปแบบ Non Degree สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่อไป


ที่มา : https://sis.ku.ac.th/