‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

การสร้างชาติ (Nation Building) หรือการสร้างรัฐ (State Building) คือกระบวนการสถาปนากฎระเบียบการปกครองโดยมีศูนย์กลางอำนาจ อันได้แก่รัฐบาลกลางซึ่งเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาเขตของรัฐชาติ มีอำนาจในการปกครองอาณาเขตและดูแลความเรียบร้อยของประชากรภายใต้กฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงสร้างระบบจัดเก็บภาษี และดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศ

แต่การสร้างชาติที่ผมจะนำมาเล่าในบทความนี้ไม่ใช่การสร้างชาติในเชิงหลักการแบบรัฐศาสตร์จ๋า ๆ หรอกครับ แต่จะพูดถึงการสร้างชาติในที่แง่ของ ‘การสร้างคนในชาติ’ หรือการสร้างมาตรฐานให้กับ ‘ประชากร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของรัฐชาติ (ประชากร ดินแดน รัฐบาล อำนาจอธิปไตย) เพื่อให้ประชากรในชาติมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการทำงานหนัก รวมถึงทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกันระหว่างคนในชาติ ด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นทั้งวิถีปฏิบัติและอัตลักษณ์ที่บ่งลักษณะและตัวตนของแต่ละชาติ

สำหรับวัฒนธรรมและระบบจารีตของประเทศจีนในปัจจุบันนั้น หลักๆ แล้วจะยึดตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อที่ว่าด้วย ‘ทฤษฎีการปกครองประเทศให้มีความสงบสุข ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน’ โดยเนื้อหาสำคัญของปรัชญาขงจื๊อที่ชาวจีนยึดถือในปัจจุบันคือเรื่องคุณธรรมเช่น ความเมตตากรุณา ความกตัญญู ขนบจารีตประเพณี ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ ฯลฯ

โดยคุณธรรมข้อที่ชาวจีนให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘ความกตัญญู’ ดังภาษิตจีนที่ว่า

“百善孝为先 - ไป๋ ซ่าน หลี่ เหวย เซียน”

“อันร้อยพันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก”

เพราะความกตัญญูคือคุณธรรมที่เป็นรากฐานค้ำจุนประเทศ หากขุนนางกตัญญูต่อจักรพรรดิที่กตัญญูต่อแผ่นดิน เช่นเดียวกับทหารที่จงรักภักดีต่อแม่ทัพ ประหนึ่งบุตรที่กตัญญูต่อบิดามารดา ประเทศชาติย่อมเปี่ยมไปด้วยความสงบสุข สันติ และมั่นคง ซึ่งก็จะวนมาสอดคล้องกับแนวคิดขงจื๊อที่ว่า “ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน”

หากเข้าใจตรงกันตามนี้ก็คงจะไม่แปลกใจหรอกครับ ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ดี จีนโพ้นทะเลก็ดี จะให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นตระกูล การใช้แซ่ (สกุล) นำหน้าชื่อเสมอ รวมถึงเผากระดาษหรือทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทุกครั้งที่ถึงวันตรุษจีน สารทจีน และเทศกาลเชงเม้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณธรรมความกตัญญูในจีนเคยถูกด้อยค่าลงในยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ ในช่วงปีค.ศ.1966 - 1976 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสิบปีที่สายสัมพันธ์ในครอบครัวชาวจีนเกิดความร้าวฉานมากที่สุด ด้วยแนวคิดปฏิวัติแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ – เหมาอิสต์ ที่เป็นกระแสแนวคิดใหม่ว่าด้วยสังคมอุดมคติที่มนุษย์ทุกคนต้องมีฐานะเท่าเทียมกัน เยาวชนถูกส่งเสริมให้ตั้งคำถาม จับผิด ตัดสิน และลงโทษบุพการี หากบุพการียังคงยึดถือจารีตเก่าที่โบราณคร่ำครึในสายตาของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นบรรยากาศที่ไร้ซึ่งความรัก ปราศจากซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว

เมื่อยุคปฏิวัติผ่านพ้นไป คณะผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาปกครองประเทศ เกิดการปฏิรูปเปิดประเทศ ภาครัฐดำเนินนโยบายค้าขายกับต่างประเทศเพื่อเพิ่มอัตราการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และลดความเข้มงวดในการยึดหลักการสังคมนิยมซ้ายสุดโต่ง พร้อมทั้งนำศีลธรรมและจารีตเก่าบางประการกลับมาเป็นหลักปฏิบัติและเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชากรในช่วงเวลานั้น

ความกตัญญูถูกชุบชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้งผ่านการ Propaganda ด้วยคำโปรยผ่านสื่อ ไม่ว่าจะทางวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี หรือแม้กระทั่งการนำคุณธรรมกตัญญูไปสร้างเป็นคอนเซปภาพยนตร์ เนื่องจากภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของคุณธรรมความกตัญญูว่าเป็น “แรงจูงใจ” ให้คนในชาติยึดถือคุณธรรมข้ออื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อเรามีจิตคิดกตัญญู เราจะขยันหมั่นเพียรทำงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงดูและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ จะไม่กระทำการทุจริตใด ๆ ที่จะเป็นการบ่อนทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล กลับกัน เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อแสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่ของเราอบรมบ่มเพาะเรามาเป็นอย่างดี สำหรับเยาวชนก็จะตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ

ซึ่งหากมองในมุมนักปกครอง ถ้าคนส่วนใหญ่ในชาติตั้งใจทำมาหากิน ตั้งใจเรียน ตั้งใจค้าขาย และตั้งใจบริหารกิจการ มันจะไม่ได้แค่หาเงินตอบแทนคุณหรือทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่มันยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลผลิตมวลรวมให้กับประเทศอีกด้วย ข้อนี้สิครับ ประโยชน์ที่แท้จริงของความกตัญญู ฮ่าฮ่า....

พอจะมองออกบ้างแล้วใช่ไหมครับ ว่าคุณธรรมความกตัญญูมีส่วนในการสร้างคน และสร้างชาติจีนขึ้นมาอย่างไร

จนเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ.2013 คุณธรรมความกตัญญูในจีนได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยสภาประชาชนได้ประกาศใช้ ‘กฎหมายกตัญญู’ (李道法 - หลี่เต้าฝ่า) ว่าด้วยข้อบังคับสำหรับสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างจากบ้านเกิดที่มีผู้สูงอายุ ต้องเดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ บริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ต้องยินยอมให้พนักงานลางานกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่

ซึ่งข้อกฎหมายมิได้มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนว่าต้องกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ปีละกี่หน ไม่กำหนดแม้กระทั่งโทษทางอาญาหากผู้ใดฝ่าฝืน แต่การวินิจฉัยทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งเคยเกิดกรณีที่คุณแม่วัยชราท่านหนึ่งได้ฟ้องร้องลูก ๆ ของตนเองด้วยข้อหาทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ยอมกลับบ้านมาดูแลอยู่เป็นเวลาหลายปี คดีความสิ้นสุดลงด้วยคำพิพากษาให้ลูกๆ จ่ายค่าบำรุงรักษา และกลับบ้านมาดูแลคุณแม่วัยชราทุก ๆ 2 เดือน ลองคิดดูสิครับ ว่ามันจะน่าอับอายแค่ไหน ถ้าเพื่อนร่วมงานของเรารู้ว่าเราถูกแม่ตัวเองฟ้องร้องในข้อหา ‘ทอดทิ้งมารดาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว’

หากมองเผิน ๆ อาจรู้สึกว่า ‘กฎหมายกตัญญู’ ช่างเป็นกฎหมายที่พิลึกพิลั่น แต่จริงๆ กฎหมายข้อนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของรัฐบาลจีนในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในมิติสุขภาพจิต มิติเศรษฐกิจ และมิติสังคม ที่หลังจากประกาศใช้ก็เกิดกระแสการกลับบ้านไปหาพ่อแม่ในเทศกาลวันหยุด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นานภาครัฐยังเพิ่งให้รางวัลและส่งเสริมให้คนทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทุกวันนี้เมื่อถึงช่วงเวลาก่อนจะเข้าสู่วันหยุดยาว สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวชาวจีนคือการวางแผนเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว

ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ “ความกตัญญู” อันมีส่วนไม่มากก็น้อยในการสร้างชาติจีนให้เกิดความสันติสุข มั่นคง และก้าวหน้า เป็นจารีตข้อสำคัญที่สุดที่ชาวจีนยังคงยึดถือมาจวบจนปัจจุบัน

ในวันที่จีนกำลังขยายฐานเศรษฐกิจ การค้าขาย และการเมืองจนกำลังจะขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในโลกยุคใหม่ คนจีนยังคงกตัญญู