"หัวใจวาย" มัจจุราชเงียบที่เกิดได้กับทุกคน

สัปดาห์ก่อน ข่าวการจากไปของ "ดีเอโก้ มาราโดน่า" นักฟุตบอลชื่อดัง ทำเอาผู้คนทั่วโลกใจหาย พร้อมกับต้องเหลียวกลับมาดูแลใส่ใจร่างกายตัวเอง เนื่องจากมาราโดน่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุ "หัวใจล้มเหลว" หรือ "ภาวะหัวใจวาย" ซึ่งในทางการแพทย์ ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้สูงอายุ แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่อายุน้อยได้เช่นกัน

The States Times LITE ชวนทุกคนมาเรียนรู้ภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเรา สัญญาณไหนที่ควรระวัง หรือทางไหนที่ควรหลีกเลี่ยง แม้แต่คุณเข้าข่ายภาวะสุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ตามไปเรียนรู้แบบง่าย ๆ กัน

หัวใจล้มเหลวคืออะไร?

มันคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เมื่อหัวใจอ่อนแรงไม่สามารถปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็จะเริ่ม "ขาดเลือด" หรือ "ไม่สามารถใช้เลือดได้" หรือ "ไม่สามารถนำเอาออกซิเจนในเลือดไปใช้งานได้" เหล่านี้จะนำไปสู่ "อาการวูบ" เป็นลม หรือถ้าหากขั้นรุนแรง คือปั๊มเลือดออกไม่ได้เลย จะกลายเป็นหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ 

.

คนอายุน้อยก็หัวใจล้มเหลวได้

เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ดูแลการรับประทานอาหาร เช่น นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ อาหารที่มีรสหวาน อาหารรสจัด รสเค็ม ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นพิษต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย และเร็วขึ้นกว่าเดิม แม้อายุจะยังน้อยอยู่ก็ตาม

สัญญาณแบบไหนที่เข้าข่ายหัวใจมีปัญหา?

สังเกตง่าย ๆ ว่า  จะออกแรงได้น้อยลง หรือเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าหนักมากกว่านั้น จะพบว่ามีอาการเหนื่อยแม้กระทั่งทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือประเภทรุนแรงมาก ๆ แม้กระทั่งนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ยังรู้สึกเหนื่อย นอนราบแล้วไอ ขาบวม น้ำหนักขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งหากพบอาการในลักษณะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจมีสิทธิ์หัวใจล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลันได้

.

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากภาวะหัวใจล้มเหลว

1.) "อย่า" ต่อไปนี้ให้ได้ อย่าให้อ้วน อย่าให้น้ำหนักเกิน อย่าให้ไขมันในเลือดสูง อย่าให้เป็นเบาหวาน อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า และอย่าเครียด

2.) การพักผ่อนที่เพียงพอ จะทำให้ห่างไกลทั้งจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคภัยต่าง ๆ ได้

3.) การออกกำลังกาย ยังเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน จะมากหรือน้อย ยังไงก็ควรต้องออกกำลังกาย

4.) เปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องใช้ร่างกายหนัก ๆ ประเภทอดนอนทำงานยันเช้า หรือนอนไม่เป็นเวลา อย่าคิดว่ายังอายุน้อยแล้วจะไม่ป่วย เพราะร่างกายถูกใช้งานหนักเกินความจำเป็น จะยิ่งทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ เหมือนรถที่ใช้งานตลอดเวลา ย่อมจะพังเร็วเป็นธรรมดา

.

ทั้งหมดเป็นที่มาที่ไปของภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว ซึ่งถึงที่สุด คงไม่มีอะไรดีไปกว่า การใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ ให้ความสำคัญกับมันบ้าง มิฉะนั้น เราอาจใช้งานมันได้ไม่นาน อันนั้นจะเรื่องใหญ่เอานะ รักอะไรไม่เท่า รักตัวเอง ใช้ชีวิต  รวมทั้งใช้ร่างกายกันด้วยความพอดีกันนะครับ 


อ้างอิง

https://www.phyathai.com/article_detail/

https://mgronline.com/goodhealth/detail/9590000066796