Thursday, 18 April 2024
IDOL

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว" EP.2

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"  

EP.2 ทำไม ใครๆ ก็อยากเข้าเตรียมอุดมฯ

????พบ (พี่อ๊อด) กิตติเชษฐ์ เกื้อมา วิทยากร

????(กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา ผู้ดำเนินรายการ

????น้องน้ำฟ้า ช่วง 'Easy English with น้ำฟ้า' ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว 

⏰วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม เวลา 2 ทุ่มตรง !

ติดตามรายการที่ช่อง THE STUDY TIMES
????Facebook : https://www.facebook.com/thestudytimes/
????YouTube : https://youtube.com/channel/UC2Sf0rVFuuSU2aQ5ioU34Lg
????TikTok : https://www.tiktok.com/@thestudytimes

.

พิพิชชญะ ศรีดำ (น้องสไปรท์) | Click on Clever EP.15

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.15 
พิพิชชญะ ศรีดำ (น้องสไปรท์) นักเรียน Year 9 โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่
เด็กไทยอายุน้อยที่สุด คว้าเหรียญทอง คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IMO 2021)

อัจฉริยะอายุน้อย เหรียญทองคณิตศาสตร์ระดับโลก พรสวรรค์ ที่มาพร้อม พรแสวง ร่วมค้นหาเคล็ดลับความเก่ง! 

Q: รู้สึกยังไงบ้างที่กลายเป็นเด็กไทยที่อายุน้อยที่สุด ที่คว้าเหรียญทอง คณิตศาสตร์โอลิมปิก เวทีระดับโลก

A: ก็รู้สึกภูมิใจที่ทำได้ตามที่ตั้งไว้ แต่ว่าส่วนนึงผมรู้สึกว่ามันก็เป็นโชคด้วย เพราะคะแนนผมก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก จริงๆ ทุกคนก็เก่งเท่าๆ กันครับ บางทีมันก็อยู่ที่ว่าข้อสอบที่เราเกร็งมากับที่ออกตรงกันหรือเปล่า 

Q: เดินสายแข่งขันทางวิชาการตั้งแต่เด็ก เพราะความชอบ?

A: ตอนประมาณป.2 โรงเรียนได้มีโอกาสเชิญผมไปลองแข่งขันสนามหนึ่งของสสวท. ผมรู้สึกว่ามันก็สนุกดีเวลาที่ได้ทำโจทย์ ผมก็เดินสายนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น 

Q: ทำไมรู้สึกสนุกกับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เห็นเสน่ห์อะไร?

A: ผมรู้สึกว่าโจทย์มันแต่งยังไงก็ได้ พอมันพลิกแพลงอะไรนิดนึงแล้วมันดูน่าสนใจ บางทีน่าค้นหา คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่คำตอบแทบจะมีตายตัวเลย แต่ตัววิธีการที่จะได้มาซึ่งคำตอบนั้นบางทีมันก็ต้องใช้ไอเดียที่น่าสนใจ การที่จะได้มาซึ่งไอเดียนั้นก็เป็นขั้นตอนที่สนุก บางทียิ่งยากก็ยิ่งสนุก ผมก็งงตัวเองเหมือนกัน 

Q: วิถีชีวิตของเด็กสายแข่งขันคณิตศาสตร์?

A: หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง นอนไป 8 เหลือ 16 ผมก็จะแบ่งเวลาออกมาเป็น 8 กับ 8 เอาไปพัฒนาตัวเองในรายวิชาคณิตศาสตร์ อีกส่วนจะเอาไปทำกิจกรรม ตั้งแต่เช้ามาผมก็จะเริ่มเรียนก่อน พอรู้สึกว่ามันเริ่มเครียดแล้ว ผมก็จะไปพัก อาจจะไปทานข้าวหรือเตะบอล จากนั้นก็มาพัฒนาต่อ สลับกันไปเรื่อยๆ ครับ บางทีมันก็ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น มียืดหยุ่นได้บ้าง 

Q: การวางตารางชีวิตแบบนี้ได้มาจากไหน?

A: หลักๆ ก็ได้มาจากคุณพ่อครับ คุณพ่อชอบแบ่งตารางเวลาและเน้นย้ำเรื่องเวลาอยู่เสมอ เขาจะย้ำว่า ในหนึ่งวันแต่ละคนมีเวลาเท่ากัน เราก็ใช้เวลาให้มันคุ้มค่า หากเราแบ่งเวลาจะเป็นตัวช่วยให้เรามีวินัยและทำให้เรารู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร เพื่อไม่หลุดออกจากลู่ทางไปครับ เพราะหากเราไม่มีตรงนี้ เราก็จะไม่รู้ว่าวันนี้เราได้แบ่งเวลาไปยังไงบ้าง บางทีอาจพัฒนาได้ไม่ครบ

Q: ได้ข่าวว่าชอบออกกำลังกาย การออกกำลังกายพัฒนาเราอย่างไรบ้าง?

A: ช่วงเย็นๆ ประมาณ 5-6 โมงก็มีเตะบอลหน้าบ้านครับ บางครั้งก็เล่นบาสกับครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่โรงเรียนก็ชวนกันไป แล้วก็ปั่นจักรยานครับ หลักๆ ก็มีเท่านี้ 

การออกกำลังกายทำให้เราผ่อนคลาย บางทีถ้าทำโจทย์คณิตศาสตร์เยอะๆ อาจจะมีความเครียด พอไปออกกำลังกายแล้วรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้อาจจะช่วยให้เรามีไหวพริบมากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเกี่ยวกันหรือเปล่า แต่บางทีที่เราเล่นบอลเล่นบาสมันก็ต้องใช้ไหวพริบ ซึ่งตรงนี้ก็จะมาช่วยในการฝึกแก้โจทย์ด้วย

Q: เมื่อต้องแข่งขัน รู้สึกเครียดและกดดันไหม? บริหารจัดการความกดดันอย่างไร?

A: จริงๆ ก็มีเครียดเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากการมองโจทย์คณิตศาสตร์ว่าน่าเบื่อ เครียด มองให้มันสนุก แล้วเอนจอยไปกับมัน จะช่วยลดความเครียดได้ระดับนึงครับ ผมชอบไปหาโจทย์ที่ท้าทายเอามาทำ บางทีก็คิดไม่ออก แต่ผมก็สอนตัวผมเอง รู้สึกว่าถ้าเกิดมันยิ่งยากก็ยิ่งท้าทาย ยิ่งสนุก

ถ้าเป็นในห้องสอบแล้วทำไม่ได้ผมก็เครียดอยู่ครับ แต่ถ้ามาฝึกทำแบบนี้ เวลามันมีเหลือเฟือ บางโจทย์ผมก็ใช้เวลา 2-3 วันในการคิดก็มี แต่ถ้ามันคิดไม่ออกแล้วจริงๆ ผมแนะนำว่าให้ดูเฉลยดีกว่า มันจะได้ไอเดียใหม่ๆ ไปทำโจทย์ข้ออื่นด้วย

Q: คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนอย่างไรบ้าง?

A: คุณพ่อคุณแม่ก็จะช่วยหาสนามสอบหรือบางทีก็จะช่วยหาข้อสอบที่น่าสนใจมาให้ผมลองทำ แล้วก็ช่วยไกด์แนวทางที่จะไปถึงจุดที่ผมต้องการ ผมรู้สึกว่าการที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกอะไรประมาณนี้ก็เป็นเกียรติที่น่าชื่นชม ผมก็เลยตั้งไว้

Q: คติประจำใจ “I would like to say every moment counts for you, so make the time that you spend for your dreams a very special moment, make sure that you do something that you’ll be happy with when you go back and look at yourself” – Jennie Kim I BLACKPINK บ่งบอกถึงความคิด ตัวตนของตัวเองอย่างไร?

A: สรุปง่ายๆ ก็คือ เราทำสิ่งที่เราต้องการ และจงระลึกไว้ว่า อย่าใช้เวลาให้มันสิ้นเปลือง เราใช้เวลากับสิ่งที่จะพัฒนาตัวเราให้ไปถึงจุดนั้น เพื่อที่ว่าในอนาคตเรามองกลับมาที่ตัวเราในวันนี้ เราจะไม่เสียดายทีหลังครับ 

Q: นิยามความสุขที่เราได้เจอกับสิ่งที่รักอย่างคณิตศาสตร์

A: ความสุขมันก็เหมือนกับ เวลาผมทำโจทย์คณิตศาสตร์แล้วบางทีทำไม่ได้ มันก็ยิ่งท้าทาย เหมือนติดกับมันไปแล้ว เอาออกจากหัวไม่ได้ มันก็กลายเป็นความสุข

Q: คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงไหมเวลาทำโจทย์หนักๆ ให้บาลานซ์ชีวิตด้านอื่นอย่างไรบ้าง?

A: จริงๆ ก็มีมาบอกให้บาลานซ์เรื่องการทำโจทย์และเรื่องการไปทำกิจกรรมอย่างอื่น บางทีเขาก็จับเวลาแล้วหาเวลาพาครอบครัวไปทำกิจกรรมด้วยกัน ตรงนี้ก็ช่วยพักผ่อนสมอง ทำให้ไม่เครียดมาก

Q: การเรียนในโรงเรียนอินเตอร์กับโรงเรียนไทยแตกต่างกันอย่างไร?

A: โรงเรียนอินเตอร์จะให้สิทธิในการเลือกมากกว่า ถ้าเราถนัดอันนี้ เขาก็จะส่งเสริมด้านนี้โดยเฉพาะ หรือถ้าเกิดเราไม่ถนัดด้านนี้ คุณครูก็จะเทคแคร์เราโดยเฉพาะ อาจจะมากกว่าเพื่อนคนอื่น ส่วนโรงเรียนไทยบางทีเด็กเยอะ เขาก็จะดูเป็นภาพรวมไป เช่น ทั้งห้องดูเกรดโดยรวมแล้วอ่อนวิชานี้ ก็จะไปส่งเสริมวิชานี้


Q: มีงานอดิเรกไหม

A: ส่วนใหญ่ก็ฟังเพลงครับ เวลาว่างๆ ผมก็หาเพลงในยูทูปฟัง ผมชอบฟังเพลงเกาหลีครับ ฟังไม่ออกผมก็เลยชอบฟัง รู้สึกมันน่าสนใจ ถ้าฟังออกเดี๋ยวเราจะมีความรู้สึกร่วมไปกับมัน พอฟังไม่ออกก็ไหลไปตามเนื้อ 

Q: มีความฝันไหม ได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการแล้ว หลังจากนี้จะยังคงอยู่ในเส้นทางการแข่งขันวิชาการต่อไปไหม?

A: ที่ผมคิดไว้ก็จะไปแข่งรายการนี้อีก 1 ปีครับ จากนั้นผมก็อาจจะลองใช้ชีวิตดูครับ หาประสบการณ์ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนี้ที่เล็งไว้อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ อย่างอเมริกา มหาลัยในฝันก็ Stanford MIT อยากไปเรียนด้านเทคโนโลยี รู้สึกว่ามันก้าวหน้าดี ที่ผมสนใจก็มี อีลอน มัสก์ กับ สตีฟ จอบส์ เขาพัฒนาเหมือนรับช่วงต่อจากเทคโนโลยีและพัฒนาให้มันไปได้ไกลกว่าเดิม ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ 

Q: มีบทความ เว็บไซต์ หรือหนังสืออะไรที่อยากแนะนำไหม?

A: หนังสือที่ผมชอบก็จะเป็น ซีรีย์ของเซเปียนส์ ผมว่ามันบอกกล่าวเกี่ยวกับตัวมนุษย์ได้ดีครับ บางทีเราอาจจะไปสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีได้พอกับความต้องการ  

Q: ฝากคำแนะนำสำหรับเพื่อนๆ น้องๆ ในการเตรียมตัวที่จะไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก

A: พูดถึงเรื่องการคิดก่อนแล้วกันนะครับ อันดับแรกคืออย่าไปกลัวโจทย์ ผมเห็นเด็กหลายคนเวลาเห็นโจทย์มาจากสนามนี้คิดว่ามันต้องยาก เราไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้น เราแค่ทำมัน แล้วก็หวังว่ามันจะทำออก ให้เราตั้งเป้าไว้สูง เพราะการที่เราตั้งเป้าไว้ที่จุดนึงเนี่ย เราไม่มีทางไปเกินเพดานเป้านั้นแน่นอน อาจจะตกลงมานิดหน่อย ถ้าเกิดเราอยากได้เลเวล 3 ให้ตั้งเป้าไว้เลเวล 4 เลเวล 5 ไปเลยก็ได้ 

ใช้เวลาเตรียมตัวจริงๆ สองปีครับ ตามขั้นตอนปกติ แต่ถ้าเรามีการตกรอบ อาจจะต้องไปวนใหม่อีกปีนึง ซึ่งการที่จะป้องกันตรงนี้ได้ เราก็ต้องทำโจทย์เยอะพอสมควร เพื่อให้มีประสบการณ์ของโจทย์ที่หลากหลาย เวลาเจอโจทย์อะไรเราก็จะได้มีไอเดียที่จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อครับ 

Q: เวลาผิดหวัง ให้กำลังใจตัวเองอย่างไร?

A: ถ้าผมผิดหวัง ผมก็จะพยายามลืมเรื่องนั้นไปครับ เพราะถ้าเราไปจมอยู่กับตรงนั้น มันก็จะยิ่งเศร้า ผมก็อาจจะไปหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำเพื่อปลอบใจตัวเอง อย่างเช่นเล่นกีฬา แล้วค่อยกลับมาทำโจทย์ใหม่ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น 

.

.

.

.

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว" EP.1

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"  

EP.1 เจาะลึก เข้า “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” สุดยอดเด็กวิทย์ของไทย

????พบ (พี่อ๊อด) กิตติเชษฐ์ เกื้อมา วิทยากร

????(กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา ผู้ดำเนินรายการ

????น้องชมพู่ ช่วง 'ลมตะวันออก' ความรู้ดีดีและข่าวสาร จาก โลกตะวันออก 

⏰วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม เวลา 2 ทุ่มตรง !

ติดตามรายการที่ช่อง THE STUDY TIMES
????Facebook : https://www.facebook.com/thestudytimes/
????YouTube : https://youtube.com/channel/UC2Sf0rVFuuSU2aQ5ioU34Lg
????TikTok : https://www.tiktok.com/@thestudytimes

.

.

????พบกับรายการใหม่ "คุยกับพี่อ๊อด" คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว

????พบกับรายการใหม่ "คุยกับพี่อ๊อด"

"คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"

✨พูดคุยกับ 'พี่อ๊อด' วิทยากรด้านการศึกษา เผยเทคนิคพิชิตโรงเรียนดัง ในช่วง “คุยกับพี่อ๊อด” 

♦️ พบน้องชมพู่ ช่วง'ลมตะวันออก' ความรู้ดีดีและข่าวสาร จาก โลกตะวันออก ทุกวันเสาร์ต้นรายการ

♦️พบน้องน้ำฟ้า ช่วง 'Easy English with น้ำฟ้า' ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว ทุกวันอาทิตย์ต้นรายการ 

✔️ เริ่มตอนแรก 
????เสาร์ที่ 21 ส.ค.64    
EP.1  เจาะลึก เข้า“โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” สุดยอดเด็กวิทย์ของไทย

????อาทิตย์ที่ 22 ส.ค.64
EP.2  ทำไม ใครๆ ก็อยากเข้าเตรียมอุดมฯ

????ดำเนินรายการโดย (กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา
.
⏰ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 2 ทุ่มตรง 

????ช่องทางรับชม 
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES

นนร.พีรวัส ชูศักดิ์ (ลัคกี้) | Click on Clever EP.14

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.14
นนร.พีรวัส ชูศักดิ์ (ลัคกี้) นักเรียนนายร้อย จปร. ได้รับทุนกองทัพบกศึกษาต่อ “West Point” สหรัฐอเมริกา โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ดีที่สุดในโลก

เจาะลึก!!! นักเรียนทหารยุคใหม่ ที่ 1 จปร. คว้าทุนเรียนต่อ “WEST POINT” สหรัฐอเมริกา วางแผนมั่นคง ในอาชีพและการเงิน

Q: แนะนำตัวหน่อยค่ะ

A:  ผมชื่อ พีรวัส ชูศักดิ์ อายุ 18 ปี เป็นนักเรียนนายร้อย อยู่ชั้นปีที่ 1 กำลังจะไปเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยที่อเมริกาครับ

Q: ที่ 1 สอบเข้า จปร. มีเคล็ดลับการ “สอบเข้าเตรียมทหาร” อย่างไร ?

A: เตรียมทหารจะมีการสอบทั้งหมด 4 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ผมก็ไปสอบทั้ง 4 เหล่าเลยครับ การสอบจะมีสองรอบ รอบแรกเป็นรอบวิชาการ โดยจะคัดคนมาก่อน จากนั้นคนที่เข้าเกณฑ์จะได้เข้ามาสอบรองสอง ซึ่งเป็นรอบทดสอบร่างกาย ตอนปีผมที่สมัครก็มีมาสอบเป็นหมื่นเลยนะครับ ของทหารบกรับแค่ประมาณ 290 คน สำหรับการสอบรอบแรกจะเป็นการแยกสอบ ให้โอกาสทุกคนในการเลือกเหล่า ส่วนในรอบสองจะเลือกได้แค่เหล่าเดียว 

สอบรอบแรกเป็นรอบวิชาการ มีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อังกฤษ ไทย สังคม ตอนแรกผมได้ที่ 2 ครับ แต่พอมารอบทดสอบร่างกายเขาเอาคะแนนมาคิดด้วย พอรวมแล้วก็ได้ที่ 1 ของทหารบกครับ ส่วนของเหล่าอื่นในรอบวิชาการ สอบทหารอากาศได้ที่ 2 ตำรวจที่ 2 ทหารเรือที่ 7 ครับ

ข้อสอบใช้ความรู้ของ ม.ต้น และ ม.4 เพราะเขาให้เกณฑ์สอบได้ตั้งแต่ ม.4 ขึ้นไป ผมอยู่ม.4 ก็ไปสอบ ผมไปศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไปซื้อหนังสือแนวข้อสอบเก่าๆ ของเตรียมทหารมา แล้วก็มีเรียนพิเศษที่ต่างๆ เตรียมตัวพอสมควร หลายเดือนอยู่เหมือนกัน  

ของโรงเรียนทหารจะไม่เหมือนสอบเข้าโรงเรียนต่างๆ ตรงที่มันจะมีทดสอบร่างกายด้วยครับ ซึ่งก็มีผลต่ออันดับและการสอบเข้า เหมือนเพื่อนผมคนนึงตอนสอบเข้าได้อันดับท้ายๆ ที่เขาจะเรียก แต่สุดท้ายเขาสอบเข้าได้แซงคนอื่น เพราะคะแนนร่างกายเขาได้เต็ม ระหว่างที่ผมเตรียมตัวเพื่อที่จะสอบเข้านะครับ แน่นอนว่าต้องทำโจทย์ด้านวิชาการอยู่แล้ว ทำไปเรื่อยๆ สอบถามรุ่นพี่ถึงเทคนิค และอย่าลืมเรื่องร่างกาย ผมก็วิ่งทุกวัน มีทดสอบดึงข้อ อันหลักเลย กระโดดไกล วิ่งเก็บของ ว่ายน้ำ อะไรแบบนี้ครับ

Q: ก่อนสอบ มีตารางการเตรียมตัวทั้งด้านร่างกายและวิชาการในหนึ่งวันอย่างไรบ้าง?

A: การเตรียมตัวส่วนใหญ่ผมจะทำพวกออกกำลังกายช่วงเย็น เพราะผมมีนิสัยอย่างนึงคือถ้าเหนื่อยจะไม่อยากอ่านหนังสือ ช่วงเช้าบ่ายก็จะอ่านหนังสือ ทำโจทย์เต็มที่เลย พอตอนเย็นก็ไปเน้นกับการออกกำลังกาย ต้องมี Passion ในตัวเอง อยากที่จะสอบเข้าได้ อยากที่จะทำได้ดี มันก็จะมีแรงกระตุ้นตัวเองว่าวันนี้ต้องอ่านหนังสือ วันนี้ต้องออกกำลังกาย 

แต่ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ครอบครัวสนับสนุน เวลาที่ผมมีความรู้สึกว่าวันนี้ไม่อยากอ่านแล้ว พ่อแม่ก็จะคอยมาปราม แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองด้วย เพราะยังไงพ่อแม่คุมเราไม่ได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว 

Q: คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อยากสอบเข้าเตรียมทหาร

A: สำหรับผมยิ่งเตรียมตัวนานยิ่งมีประโยชน์ครับ มันจะมีพวกค่ายติวต่างๆ เกี่ยวกับเตรียมทหาร พวกนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะอาจารย์ที่สอนเหล่านี้เขาสอนมาหลายรุ่นแล้ว เขามีเทคนิคในการแชร์อะไรต่างๆ ให้เราประสบความสำเร็จในการสอบครับ ในการอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่เกณฑ์คะแนนสอบวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์จะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าวิชาไทยสังคม ผมก็เน้นพวกนี้มากกว่า แล้วก็วิชาภาษาอังกฤษที่เรียกว่าเป็นวิชาจำเหมือนไทยสังคม แต่ให้คะแนนที่มากกว่า ก็ควรจะเน้นเรื่องภาษาอังกฤษด้วยครับ

Q: ตั้งเป้าจะชิงทุนไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่วันแรกที่สอบติดเตรียมทหาร เล่าให้ฟังถึงความ “แน่วแน่” เรื่องนี้หน่อยค่ะ

A: จริงๆ ผมเชื่อว่าเป็นความฝันของใครหลายคนนะครับที่อยากจะไปเรียนต่อเมืองนอก พ่อผมก็เห็นแล้วว่ามันมีโอกาส จะมีทุนไหนที่ได้ไปเรียนอเมริกาฟรี แล้วก็มีเงินเดือนให้ด้วยระหว่างเรียน ไม่ใช่โอกาสที่หาง่ายๆ แล้ววิชาชีพทหารก็เป็นวิชาชีพที่คุณพ่อทำ ตอนผมเด็กๆ ครอบครัวก็อาศัยอยู่ในค่ายทหารอยู่แล้ว เป็นอาชีพที่คุ้นเคยครับ ผมก็เลยไม่มีปัญหากับเรื่องนี้เท่าไหร่ เป็นโอกาสนึงในชีวิตที่จะได้ไปเมืองนอก ถ้าเกิดมีก็ควรจะคว้าเอาไว้ และตอนสอบเข้าผมสอบได้ที่ 1 ด้วยครับ คิดว่ามีโอกาสสูงที่ผมจะได้ไป มันเป็นโอกาสอ่ะครับ

Q: เทคนิคการชิงทุนเรียนต่อ WEST POINT

A: คือต้องบอกไว้ก่อนว่า WEST POINT ไม่ได้เปิดทุกปีนะครับ ในโรงเรียนจะมีคนไทยได้แค่ 4 คน หากรุ่นผมมีคนครบ 4 คนแล้ว ถึงผมจะได้ไปเรียนอเมริกา แต่ผมต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยทหารที่อื่น ซึ่งปีผมจะมีรุ่นพี่ที่จบ WEST POINT สองคนพอดี และรุ่นผมได้ไปอเมริกาสองคนเหมือนกัน เรียกว่าโชคดีครับที่ได้ไป แต่ไม่ใช่ว่าได้ทุนแล้วจะได้ไปนะครับ ต้องมีการทดสอบร่างกายของทางอเมริกา มีเกณฑ์คะแนนสอบ IELTS SAT รวมทั้งการเขียน Essay ถึงเขา ถึงจะได้รับคัดเลือกไป 

ในการสอบไปเมืองนอกจริงๆ ไม่ได้มีแค่อเมริกา ปีผมมี 7 ทุน คือ อเมริกา 2 ทุน เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน รัสเซีย และออสเตรเลียเกณฑ์บางปีจะแตกต่างต่างกัน ของปีผมจะเอาเกรดจากเตรียมทหารมาเป็น 50% อีก 50% แบ่งเป็นทดสอบร่างกาย 20% คะแนนวิชาการอีก 20% และสัมภาษณ์อีก 10% ครับ 

ซึ่งจะมีชาเลนจ์อย่างนึงที่เรียกว่า การสอบ ALCPT หรือ American Language Course Placement Test  เต็ม 100 คะแนน หากได้ไม่ถึง 70 คะแนน ไม่มีสิทธิ์ไปเมืองนอก แต่ถ้าเกิน 70 แต่ไม่ถึง 80 คะแนน ไม่มีโอกาสได้ไปอเมริกากับออสเตรเลีย สุดท้ายถึงอันดับจะดีแต่ถ้าคะแนนภาษาอังกฤษไม่ถึงเขาก็ไม่ให้คุณไป ผมได้ 91 คะแนนครับ 

Q: เตรียมตัวอย่างไรบ้าง ตั้งใจเรียนขนาดไหน?

A: ในการเรียนของทหารก็เหนื่อยอยู่แล้ว เพราะฝึกทุกวัน มันก็ต้องมีวินัยในตัวเองว่าเวลาเหนื่อยอย่าไปหลับในห้องเรียน เป็นปัญหาอยู่ เพราะฝึก มีวิ่ง มีออกกำลังกายทุกวัน เหนื่อยเป็นธรรมดา แล้วก็ต้องแบ่งเวลามาอ่านหนังสือเองด้วย เขาจะมีเวลาตอนกลางคืนให้อ่านหนังสือ ถ้าตั้งใจจริงๆ ก็ต้องอ่านหนังสือครับ ต้องสู้กับตัวเองทั้งด้านความเหนื่อย ความง่วง และต้องมีความตั้งใจด้วยครับ 

Q: การตั้งเป้าหมายสำคัญอย่างไร?

A: มันทำให้เราเห็นปลายทางอ่ะครับ เหมือนคนไม่มีเป้าเขาก็ไม่รู้ว่าจะตั้งใจเรียนไปเพื่ออะไรใช่ไหม อาจจะคิดแค่ว่าเรียนให้ไม่ซ้ำชั้นหรือเปล่า แล้วแต่คนครับ แต่สำหรับผมเหมือนกับนักเรียน ม.ปลายธรรมดาที่เห็นเป้าหมายก็ต้องพยายามอ่านหนังสือ พยายามกระตุ้นตัวเอง ของผมก็คล้ายๆ กัน คือผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากไปเมืองนอก ก็ไปถามรุ่นพี่ว่ามีหลักเกณฑ์ยังไง ทำคะแนนอย่างไรบ้าง ต้องเตรียมตัวทั้งด้านวิชาการและด้านร่างกาย อย่าละเลยครับ 

Q: โรงเรียนทหารสอนอะไรบ้าง?

A: ที่เห็นชัดสุดคือการพึ่งพาตัวเองครับ เพราะการไปเรียนทหารเราต้องไปอยู่ที่โรงเรียนประจำ บางเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้กลับ เราอยู่ด้วยตัวเอง ไม่มีพ่อแม่ อีกเรื่องคือการมีระเบียบวินัย ซึ่งตอนปีหนึ่งทุกเช้าจะมีการตรวจโรงนอน ต้องพับผ้าห่ม ดึงเตียงให้ตึง เหมือนเป็นการฝึกให้โอเวอร์ไปเลย พอโตขึ้นมาจริงๆ มันติดเป็นนิสัย ชีวิตปกติเราก็คงไม่ตึงขนาดนั้นอยู่แล้ว แต่ก็เป็นนิสัยเรา พอเราห่างหายไปอยู่บ้าน ยังไงเราก็จัดเตียงอยู่ดี 

Q: ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ เรียนโรงเรียนทหาร ผสมผสานความเป็นคนรุ่นใหม่กับกฎระเบียบและวิธีคิดแบบทหาร อย่างไร?

A: โรงเรียนเตรียมทหารมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปทุกรุ่น รุ่นพี่ของผมเวลาสอนอะไรเขาจะพูดเสมอว่า อะไรที่ดีก็เก็บไปคิดไว้ และให้สืบต่อรุ่นต่อไป แต่อะไรที่ไม่ดี ก็ให้เก็บไว้เหมือนกัน แต่อย่าไปทำรุ่นต่อไป ทุกคนมีข้อดีข้อเสียของตัวเองอยู่แล้ว เราก็แค่เก็บข้อดีเขามาทำต่อ เห็นข้อเสียมาก็เก็บไว้เป็นข้อคิด และไม่ไปทำต่อแค่นั้นเอง 

เรื่องที่เห็นชัดที่สุดของผม ตอนอยู่ปี 1 เตรียมทหาร โทรศัพท์คือห้ามเอาเข้ามาเลย เป็นเรื่องใหญ่พอตัว แต่พอผมมาอยู่ปี 2 เขาก็มีการอนุโลมให้น้องปี 1 ที่เข้ามาใหม่ หลังจากจบช่วงปรับตัวก็อนุญาตให้เอาเข้ามาได้ ถือเป็นการปรับตัวตามยุคสมัย เพราะถ้ายังจำกัดในเรื่องนี้อยู่ก็ค่อนข้างจะล้าสมัย

Q: งานอดิเรก ไลฟ์สไตล์ หรือความสนใจด้านอื่นๆ

A: ผมเล่นเปียโนตั้งแต่เด็ก ช่วงนี้ก็ยังฝึกบ้างให้พอเล่นได้ เพราะตั้งแต่เข้าเรียนเตรียมทหารไปผมก็ไม่ค่อยมีโอกาสเรื่องนี้เท่าไหร่ครับ พอช่วงนี้ได้กลับมาอยู่บ้านก็เล่นเปียโน ฝึกกีต้าร์นิดหน่อยครับ

Q: คาดหวังจากการไปเรียนต่างประเทศอย่างไรบ้าง?

A: คาดหวังนะครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศอเมริกาเจริญเป็นมหาอำนาจ ผมก็อยากจะรู้ว่า West Point มหาวิทยาลัยทหารที่ถูกเรียกว่าดีที่สุดในโลกมันเป็นยังไง แล้วสิ่งไหนที่สามารถนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้บ้าง สามารถมาพัฒนาให้เท่าทันเขาได้ แต่ไม่ใช่เอาของเขามาหมดเลย เพราะมีความต่างกันอยู่ ต้องมาปรับใช้เอาครับ

Q: เห็นว่ามีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย 

A: เป็นเรื่องตั้งแต่ตอนเด็กๆ ที่พ่อผมเป็นทหาร จะมีช่วงที่เขาตำแหน่งดีๆ เงินเดือนสูง เขาจะชอบมาบ่นว่ารู้งี้น่าเอาไปทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ครอบครัวดีกว่านี้ ผมก็คิดว่าถ้าผมจะตามรอยพ่อ ผมควรจะมีความรู้เรื่องนี้บ้าง เพื่อมาจัดการด้านการเงิน จริงๆ เศรษฐศาสตร์สำคัญกับทุกอาชีพอยู่แล้ว เลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจควบคู่กับอาชีพทหาร หรือบางทีอาจจะมีโอกาสในการทำงานในอนาคต ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน ต้องรอดูครับ 

Q: มีความคาดหวัง ภาพฝันในอนาคตไหม?

A: เรื่องนี้ก็ยังตอบได้ไม่ชัดขนาดนั้น แต่ที่อยากทำจริงๆ ก็คือเอาความรู้ของอเมริกาที่เขาบอกว่าระบบดีมากขนาดนั้น จะสามารถมาปรับใช้ พัฒนากับระบบไทยเราได้ไหม เพราะมีรุ่นพี่หลายคนที่จบจากอเมริกาแล้วกลับมาที่โรงเรียนนายร้อยก็พยายามจะปรับปรุงเหมือนกัน ผมก็คิดว่ามันน่าสนใจที่จะเป็นคนส่วนหนึ่งที่จะมาปรับปรุงโรงเรียนที่ให้ทุนเราไปครับ

Q: ความภาคภูมิใจในการเป็นนักเรียนทหาร หรือ การเป็นทหารคืออะไร?

A: ความภาคภูมิใจในนักเรียนทหาร เรียกว่าเป็นสถาบันที่ผลิตนายทหารหลักของประเทศ ในการพัฒนาบ้านเมืองต่างๆ ถือว่าเป็นเกียรติครับ และเป็นระบบที่สอนให้ผมมีวินัยมากขึ้น พัฒนาให้ผมเป็นผมในวันนี้ โรงเรียนทหารสอนหลายอย่าง ทั้งการพัฒนาตัวเอง ภาวะผู้นำ การฝึกบุคลิกภาพ มารยาท ผมคิดว่าสอนผมมาเยอะมาก

.

.

.

.

"โปรแกรมเมอร์" เบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจยุคโซเชียลกับ คุณบิว อธิศนันท์ | Click on Crazy EP.1

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.1
คุณบิว อธิศนันท์ กีรติณัตินันท์
โปรแกรมเมอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนิวสเปคทีฟ กรุ๊ป 

Q : จุดเริ่มต้นของสายงานอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : คือจริงๆแล้วก็ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าตัวเองจะมาเป็นโปรแกรมเมอร์เพราะว่าเรียนจบบริหารธุรกิจนะคะในสายคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แล้วก็เรียนจบมาเนี่ยก็ทำงานในสายของแอดมิน เป็นคนคอยคีย์ข้อมูลเข้าระบบอะไรประมาณนี้ค่ะ

ทีนี้เนี่ยก็มีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระบบมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ยังไงก็เกิดจากการที่เราคีย์ข้อมูลเข้าระบบนี้แหละแล้วเรามีความรู้สึกว่าระบบเนี่ยถ้าเกิดว่ามีการเขียนโปรแกรมและไม่มีการคีย์ข้อมูลซ้ำๆเข้าไปแล้วสามารถที่จะดึงข้อมูลมาแล้วคีย์สต็อกได้เนี่ยมันน่าจะทำงานได้ง่ายมากขึ้นเราก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาก็เลยเดินเข้าไปคุยกับเจ้าของบริษัทว่าเราคิดว่าเราจะทำตรงนี้ให้ได้นะอย่างนั้นเราขอโอกาสว่าเราเป็นคนเขียนโปรแกรมได้ไหมก็ถือว่าเป็นงานที่เปิดทางให้เราได้ก้าวจากแอดมินทั่วไปมาเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นก็คือจุดเริ่มต้น

Q : ประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์มาทั้งหมดกี่ปี 

A : ประมาณ 17 ปีค่ะ 

Q : คำว่า “โปรแกรมเมอร์” คือในความหมายของคุณบิวคืออะไร

A : โปรแกรมเมอร์ หรือ Programmer developer ก็คือเป็นผู้พัฒนาเป็นผู้สร้างเป็นผู้คิดพัฒนาระบบขึ้นมา หลายคนที่ดูจากภายนอกเข้ามาอาจจะมองว่าต้องเก่งมากๆเลย จริงๆ แล้วเป็นงานที่ไม่สายเลยนะคะใช้ความคิดค่อนข้างมาก ระยะเวลาในการทำงานเนี่ยบางครั้งเนี่ยจะต้อง Coding ถึง 10 ชั่วโมงขึ้นไปโดยส่วนใหญ่โปรแกรมเมอร์เหมือนความคิดของเขาเนี่ยมันจะมีกระบวนการซึ่งเขาจะต้องเชื่อมต่อระบบในหัวตลอดเวลา หลาย ๆ คนเลยบอกว่าโปรแกรมเมอร์เข้าถึงยาก อาจจะเป็นเพราะการทำงานของแต่ละคน

Q : ทำไมถึงชื่นชอบในอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : จริง ๆ ทุก ๆ สายงานมีเสน่ห์เฉพาะตัวของมันไม่ว่าจะเป็นบัญชีหรือผู้สื่อข่าวก็จะมีความพิเศษเฉพาะของอาชีพนั้น ๆ แต่ในส่วนของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็มีเสน่ห์ของมันสิ่งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจคือเวลาที่ทำงานชิ้นหนึ่งของมาแล้วทำให้คนหรือบริษัทได้ใช้งานได้ง่ายขึ้นจากการที่เขาเคยอ่านต้องมานั่งคีย์ที่ระบบหลายขั้นตอน เราก็สามารถทำงานให้ระบบออกมาเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นคืออันนั้นคือความภูมิใจของโปรแกรมเมอร์ที่จะได้ทำงานออกไปแล้วให้คนที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นก็เหมือนเราทำงานให้มันน้อยลงพยายามลดขั้นตอนในการทำงาน

Q : หลังจากได้ทำงาน “โปรแกรมเมอร์” รู้สึกว่าตัวเองมีการพัฒนาอะไรมากยิ่งขึ้น

A : หน้าที่ของโปรแกรมเมอร์เนี่ยเดิมทีต้องเป็นคนที่ออกแบบ สร้างและพัฒนาดูแลและ support โปรแกรมเมอร์เนี่ยจะต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ฉะนั้นเวลาที่เราได้รับงานมาเนี่ยเราก็ต้องมีการวางแผนก่อนบางครั้งโจทย์ที่ได้รับมาอย่างเช่นให้ทำระบบบัญชีอย่างล่าสุดที่เข้ามาอยู่ใน Newspective ทางบริษัทให้ทำเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับระบบบริหารธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะจบบริหารมาแต่เราก็ไม่รู้ระบบ PO เราไม่ได้รู้ระบบเกี่ยวกับบัญชี ตอนเราได้โจทย์มาว่าจะต้องทำโปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เพื่อที่จะทำให้คนใช้งานสามารถเปิด po ออนไลน์ได้สามารถที่จะเปิด invoice ออนไลน์ได้สามารถที่จะเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้ทุกอย่างเราก็ต้องทำการรีเซ็ตตัวเองก่อน การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยก็จะได้มีสะสมประสบการณ์จากการที่เราเขียนโปรแกรมเหล่านี้ การ Research ขั้นตอนกับเจ้าของโปรแกรมว่าต้องการอะไร เราก็เอากระบวนการทำงานของเขาเนี่ยมันคิดเป็นระบบแล้วก็เขียนโปรแกรมออกมาได้เรียนรู้ใหม่ตลอด 

Q : ถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเกิดปัญหาอย่างการติด Bugs มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร 

A : อย่างการเกิด Bugs จะเกิดหลังจากที่เราเขียนโปรแกรมเสร็จแล้วก็คือหลังจากที่ User เข้ามาทำการทดลองใช้งาน บางครั้งโปรแกรมเขียนจะไม่เจอปัญหา แต่คนอื่นจะมาเจอปัญหาที่ว่าในขณะการใช้งานการแก้ไขปัญหาในเรื่องบางเรื่องไม่ต้องซีเรียสเลยเพราะว่าโปรแกรมเมอร์จะรู้แล้วว่าจะ Error โปรแกรมก็ต้องฟ้องว่า Error เพราะอะไรเกิดจากอะไรและข้อมูลของมาไม่ครบหรือเกิดจากการที่ข้อมูลค้างอยู่แล้วส่งไปไม่ได้อันนี้ก็คือเป็นหน้าที่เราที่เข้าไปแก้ไขแล้วก็ไปดูว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เกิดจากอะไรและเราก็ทำการแก้ไขให้สามารถทำงานได้เอง คือปัญหาเหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นของคู่กันกับโปรแกรมเมอร์อยู่แล้วซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยแล้วถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้มาหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว 

Q : ในการเป็นโปรแกรมเมอร์มาตลอด 17 ปี ส่วนไหนของการเขียนโปรแกรมยากที่สุด

A : สำหรับตัวเองไม่เคยมองว่าการเขียนโปรแกรมจะยาก แต่ความยากอาจจะเกิดจากการทำงานในสภาวะแวดล้อมและบุคคล ที่เราเลือกทำอาชีพนี้เพราะเราต้องการที่จะไม่ปะทะกับคนสักเท่าไหร่เวลาเราเขียน Coding มีแค่เรากับ Code แล้วก็เรา คือเราคุยกับสิ่งที่เราจะสร้างโดยที่เราไม่ได้คุยกับคนข้างนอกเลยมันก็เลยกลายเป็นว่ามันเป็นการเขียนโค้ดมันเป็นการที่ดิ่งลงไปแล้วเราต้องใช้เวลาส่วนตัวของเราในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมาเอง ปัญหาของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็เลยกลายเป็นว่าเวลาที่มีการ Coding หรือว่าใช้สมาธิสูงในการเขียน สำหรับพี่เนี่ยมองว่าการเขียนโปรแกรมมันไม่ได้ยากเพราะว่าสุดท้ายแล้วการเขียนโปรแกรมอย่างมันจะมีทางออกของมันอยู่แล้วเราจะหาของมันไปจนแก้ปัญหานั้นได้แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ยากที่สุดก็คือภาวะของสภาพแวดล้อมของตัวเราและอารมณ์ของเราที่มีกับคนข้างนอกมากกว่า ทุก ๆ สายงานมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน 

การเขียนโปรแกรมไม่ใช่เป็นการเขียนให้มันจบ ให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่การเขียนโปรแกรมมันคือชีวิตของคนอื่นด้วยนะคือหนึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลต่างๆในการรั่วไหลในเรื่องของความปลอดภัยของระบบ ความคิดของเรามันมีหลายชั้นมาที่เราจะต้องต้องดูแล มันคืองานที่ล้ำค่ามากสำหรับตัวเรานะ คือเขียนงานหนึ่งเราเขียนเสร็จแล้วเนี่ยมันมีผลกระทบอะไรกับใครถ้าเกิดเขียนไปแล้วเนี่ยความปลอดภัยดีมากแค่ไหนเราก็ต้องดูในเรื่องนี้ด้วย 

Q : จุดไหนที่คุณบิวคิดว่า การเขียนโปรแกรมจะต้องคำนึงในเรื่องของความปลอดภัยของคนอื่น ด้วยนอกจากระบบ 

A : จากการเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ด้วยความที่เป็นระบบโรงพยาบาลจะเชื่อมโยงหมดทุกจุดตั้งแต่คนไข้ หมอ ยา คือหนึ่งเป็นความลับของคนไข้ สองเป็นความปลอดภัยของคนไข้อย่างการเขียนระบบถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานไม่ละเอียด ไม่คิดให้ถี่ถ้วนผลที่ตามมา ไม่ใช่แค่ระบบผิดพลาดแต่มันหมายถึงชีวิตคน ๆ หนึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนของเวลาทำงานเลยค่อนข้างที่จะละเอียดและระวังในเรื่องนี้พอสมควร ก็ต้องขอบคุณโรงพยาบาลหัวเฉียวด้วย 

ถ้าเกิดข้อผิดพลาดไปคือชีวิตคนหนึ่งเลยถ้าเราคิดผิดระบบผิดไปเราไปแจ้งคนไข้ก็ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่คนใช้โปรแกรม แต่เป็นคนออกแบบโครงสร้างและประมวลผลออกมา ถ้าสมมุติว่าเราเขียนระบบใดระบบหนึ่งแล้วเราเขียนด้วยความที่ไม่ตั้งใจ ไม่ตรวจสอบให้มันถี่ถ้วนก่อนแล้วพอคนใช้งาน ปรากฏว่าเราผิดแค่ตัวอักษรเดียวมันอาจจะทำให้ผลของคนไข้คนนั้นผิดไปหรือไปดึงของคนอื่นมาใส่อีกคนนึง การรักษาก็จะไม่ถูกต้อง

การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยสำหรับพี่ถือว่าเป็นอาชีพที่ทรงคุณค่าเหมือนกันนะเพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ทำงานแล้วจบ ในทุก ๆ กระบวนการมีความสำคัญอยู่ในทุกขั้นตอน ความยากง่ายขึ้นอยู่ขึ้นอยู่กับโจทย์กับองค์กรที่เราทำงานอยู่ องค์กรที่เราทำงานด้วยต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูลของคนทุกคน อย่างในโรงพยาบาลด้วยความที่ระบบมันใหญ่มากคือมีทั้งข้อมูลของผู้ป่วยข้อมูล ยา และข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่จะต้องเก็บถึง 10 ปีอย่างนี้ฉะนั้นถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเราทำผิดก็อาจจะทำให้คนไข้คนนั้นได้รับยาผิดไปก็ได้

นี่คือสิ่งที่เราต้องคำนึงเหมือนกันระบบทั่วไปทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากคือการขายของออนไลน์ถ้าเราเปลี่ยนระบบเช่นเราดึงข้อมูลผิดชื่อ นามสกุล ลูกค้าสั่งของชิ้นนี้แล้วปรากฏว่าเราเขียนผิดไปดึงอีกคนหนึ่งมาซึ่งไม่ใช่สินค้าของคนนี้แล้วส่งผิดคน คือความเสียหายมันไม่ได้มันเกิดแค่ที่บริษัทอย่างเดียว โปรแกรมก็ผิดด้วย โปรแกรมเมอร์จึงต้องมีละเอียด ถี่ถ้วน 

Q : ตอนนี้เป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับทาง Newspective Group  เป็นอย่างไรบ้าง 

A :  ก็หลังจากที่ออกจากหัวเฉียวมาก็มาร่วมงานกับทาง Newspective Group งานแรกเลยที่เข้ามาทำระบบในเรื่องของระบบบริหารทั่วไป แต่ว่าก็มีโครงการสตาร์ทอัพเข้ามาส่งเข้าประกวดซึ่งตอนนั้นเนี่ยไม่ได้คิดอะไรมากก็สั่งอะไรให้ทำก็ทำ ตามที่เขา Request มาแต่ว่าสิ่งที่เป็นแรงกดดันจากงานนี้คือระยะเวลามันสั้นมากคือต้องเสร็จภายใน 20 วันในใจคิดว่าจะทำได้ไหมแต่ทางผู้ใหญ่บอกว่าถ้าทำได้องค์กรเราจะดียิ่งขึ้น เราก็เลยมองว่าถ้าเกิดอะไรที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เราก็พร้อมที่จะลุยอันนี้ก็คือเป็นนิสัยของเราก็เห็นว่าช่วยคนอื่นได้ด้วย 

เราไม่เคยประกวด การแข่งขันอะไรแบบนี้เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกแล้วก็ได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของการประกวด บริษัทสตาร์ทอัพลงประกวดเยอะ ทำให้เห็นว่าคนไทยเนี่ยเก่งเยอะมากแต่แค่ว่าเราแค่ไม่มีโอกาสให้ได้นำเสนอในสิ่งที่เราคิดแค่นั้นเอง จริง ๆ มันไม่ใช่ผลงานของพี่ทั้งหมดพี่เป็นเพียงคนเขียนโปรแกรมตามที่เราได้รับมอบหมายมา ทางทีมช่วยกันไม่ว่าจะเป็นทีมการตลาดและคิดระบบเราก็ทำตามโจทย์ว่าระบบอยากได้อะไรเราก็ทำตามเงื่อนไขนั้นให้สำเร็จ

Q : เว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES เว็บไซต์ที่คุณบิวเขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง 

A : ใช่ค่ะ เป็นคนทำคนเดียว โจทย์คือเว็บไซต์สำนักข่าวต้องขึ้นภายใน 1 เดือน ซึ่งเว็บไซต์นี้ก็ถือว่ายากพอสมควร ปัจจุบันสายอาชีพนี้มีความแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็คือว่าสมัยที่พี่ทำงานเนี่ยคือเขาเรียกว่าเป็นลักษณะของการเขียนคนเดียวออกแบบคนเดียว หลังๆมาช่วง 5 ปีหลังมานี้เป็นลักษณะของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีการแบ่งงานกันทำ แต่อย่างในเว็บไซต์นี้ค่อนข้างกดดัน เพราะทำเองคนเดียว ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะต้องเจองานที่เรากลัวจะทำไม่ทันถือว่าเป็นความท้าทายตัวเองด้วยเหมือนกัน

Q : เป็นโปรแกรมเมอร์จำเป็นต้องเรียนเก่งจริงหรือ ?

A : ตอนที่พี่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เกรดเฉลี่ยแค่ 1.88 เอง ในช่วงตอนเรียนที่โรงเรียนก็ไม่สนใจเรียนคือเรียกว่าติด 0 ติดรอด้วยซ้ำ เป็นเด็กฝ่ายกิจกรรม เมื่อก่อนอยู่วงโยธวาทิตของโรงเรียน ก่อนที่จะมาเข้าสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ในความฝันจริง ๆ คือการเป็นนักดนตรี สอบเข้าจุฬาได้ด้วยแต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านเนี่ยไม่ได้ ก็เลยมาเรียนสายบริหารคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

Q : อาชีพ “โปรแกรมเมอร์” อาชีพที่ไม่ตกงานในช่วงยุคโควิด-19

A : โปรแกรมเมอร์ถือได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ตกงานในยุคโควิด แล้วหลังจากนี้สายโปรแกรมเมอร์จะแรงขึ้นเรื่อยๆเพราะว่าทุกอย่างจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ทั้งหมดถ้าคุณอยากทำอะไรสักอย่างเช่นคุณจะเปิดร้านขายของออนไลน์ก็ต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์เหมือนกัน อีกทั้งการต่อยอดของสายอาชีพนี้เยอะมากเพราะเนื่องจากสายอาชีพนี้เป็นสายอาชีพที่ยังไงบริษัทหลายแห่งก็ต้องการขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นสามารถต่อยอดตัวของเขาเองได้

Q : ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ 

A : สำหรับพี่เนี่ยคืออันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากเป็นอะไร ซึ่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้โปรแกรมเมอร์เนี่ยใน YouTube หรือว่า Social Media ต่าง ๆ มีสอนเยอะมากแล้วก็โอกาสของเด็กยุคใหม่เนี่ยมีโอกาสพัฒนาเร็วแล้วก็มีข้อมูลค่อนข้างเยอะมากกว่ายุคพี่ กว่าพี่จะหาความรู้ได้เนี่ยคือพี่ต้องอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะเลยแล้วก็ในอินเทอร์เน็ตแทบจะไม่มีคนแชร์ข้อมูลเลยแต่ในปัจจุบันเนี่ยถ้าเกิดเราค้นพบตัวเองแล้วว่า เฮ้ย..ฉันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ ฉันมีความรักในเรื่องของโปรแกรมเมอร์แต่เราต้องชอบความเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วเราต้องถามตัวเองว่าเราสามารถที่จะนั่งเขียนโปรแกรมเนี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงได้ไหมด้วยโปรแกรมเมอร์เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งคืนหนึ่งการทำงานเนี่ยงานหนักในที่นี่คือใช้สมองเยอะสมาธิเยอะความกดดันเยอะ

อย่างความกดดันคือหนึ่งกดดันจากตัวเองแล้วกดดันจากเวลาที่เราได้รับงานมาอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเกิดว่าเราตอบโจทย์ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าเกิดเรารักในงานใดงานหนึ่งต่อให้งานนั้นยากมาก เราก็จะผ่านมันไปได้ถ้าเกิดว่าชอบจริง ๆ เหมือนตอนที่พี่เขียนโปรแกรมเพราะว่าพี่สามารถอยู่กับงานนี้ได้ เราสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน เหมือนเราพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ได้เพราะว่าเกิดจากที่เรารักมันถ้าเกิดเราตอบตัวเองว่าเราชอบงานนี้จริง ๆ เราก็ลุยเลยเพราะว่าพี่คิดว่าโปรแกรมเมอร์ไม่ยากแต่ว่าเราจะต้องฝึกเยอะ ๆ

ทุกวันนี้ที่พี่ยังมองว่าพี่ยังต้องพัฒนาอยู่ทุกวันเพราะเนื่องจากว่าระบบเนี่ยมันมีการพัฒนาทุกวันแล้วก็มีอะไรใหม่ๆมาตลอดคือการที่เป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยเราไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้เพราะว่าการเขียนโปรแกรมเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้เขียนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงมันไม่สามารถเอาสิ่งที่เรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาใช้กับวันนี้ได้แต่พื้นฐานมันยังคงเดิมอยู่แต่เราต้องรู้จักมันต้องมีการประยุกต์ใช้ให้มันแล้วแต่ยกเว้น Generation ที่มันพัฒนาไปนี่ก็คุยกับตัวเองว่าเอาจริงไหมเราเอาจริง ให้ลุยเลย แล้วสายงานนี้เนี่ยก็อย่างที่ทุกคนเห็นก็คือรายได้ดีแต่ก็แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่เราต้องรับผิดชอบอย่างมากเลยทีเดียว 
.

.

.

.

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES รายการ "Click on Crazy" ????

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES จ้าาาาา

???? รายการ "Click on Crazy"

"ระเบิดการเรียนรู้ คิดนอกกรอบ พัฒนาอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย "????

พูดคุยกับแขกรับเชิญสุดแสนจะไม่ธรรมดา ปลดปล่อย Passion สุด Crazy !!

พบพิธีกรน้องใหม่สุดน่ารักของเรา "แองจี้ THE STUDY TIMES" ????

ติดตาม Click on Crazy ได้ทาง

Facebook : THE STUDY TIMES

YouTube : THE STUDY TIMES

คุณอาร์ต ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล | Click on Clever EP.13

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.13
ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล (คุณอาร์ต) คณบดี วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

Q: จุดเริ่มต้นการศึกษา จากวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ความสนใจด้านศาสนศึกษา 

A: ตอนเรียนอยู่ที่เตรียมอุดมศึกษา ผมได้แบ่งเวลาทั้งในด้านการเรียนและการทำกิจกรรม ผมแบ่งเวลามาอ่านหนังสือทุกวัน กระทั่งสามารถอ่านเนื้อหาของม. 6 จบหมดตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นม. 5 จึงได้มีโอกาสสอบเทียบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในสมัยนั้นคณะวิศวกรรมมีความโด่งดังมาก คิดว่าจบไปน่าจะมีหน้าที่การงานที่ดี จึงได้เลือกเรียนคณะนี้ หลังจบจากวิศวกรรมโยธาที่จุฬาฯ มา ได้ทำงานในสายของวิศวกรรมประมาณปีครึ่ง 

ในส่วนเรื่องของศาสนานั้นมีความสนใจมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย โดยส่วนตัวมีความชื่นชอบในการอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา และช่วงตอนที่เรียนวิศวกรรมก็ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาด้วย 

หลังจากนั้นมีความสนใจในการศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ในตอนแรกอยากเรียนเกี่ยวกับ MBA การจัดการ การบริหาร แต่ก่อนที่จะเรียนได้มีการเรียนปูพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อน และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญาตะวันตก ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชอบเกี่ยวกับด้านศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเรียนศาสนาไม่ได้จบมาเพื่อเป็นนักบวช แต่การเรียนศาสนาเป็นการเรียนเพื่อทำความเข้าใจคน ทั้งในเรื่องของจิตใจ พฤติกรรม วัฒนธรรมของแต่ละบุคคล สังคมต่าง ๆ เลยตัดสินใจที่จะเรียนปริญญาโทในด้านศาสนา ซึ่งในตอนแรกเรียนปริญญาโทที่ King's College London แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีอุปสรรคทางภาษาอังกฤษ

โดยอาจารย์ก็ได้พูดกับผมว่า “กลับไปทำงานวิศวะดีกว่า” แต่สุดท้ายผมก็ไม่ยอมแพ้ ฝึกภาษาอังกฤษใหม่หมด โดยฝึกภาษาจากการอ่านหนังสือทุกหมวด ฝึกเขียนภาษาอังกฤษทุกวัน ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ใช้เวลาในกับภาษาอังกฤษกับมัน ถ้าเราจะตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง วันนี้เรายังไม่เก่งไม่เป็นไร ขอให้เราพยายาม ตั้งใจ มีวินัยในความตั้งใจของเรา วันหนึ่งเราก็จะทำได้ 

หลังจากนั้นก็เข้าเรียนปริญญาโท (MA in the Study of Religions, School of Oriental and African Studies (University of London) จนสามารถจบมาด้วยคะแนนสูงสุดของภาควิชา หลังจากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยในการเรียนต่อปริญญาเอก และในระหว่างการเรียน ผมอยากมีประสบการณ์ในด้านศาสนาเพิ่มเติม เลยเริ่มฝึกสอนที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) วิชาที่ฝึกสอนจะเป็นแนวทางในการศึกษาทางด้านศาสนา ทฤษฎี ปรัชญาเบื้องต้น เป็นต้น ได้ฝึกสอนเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นก็เรียนจบปริญญาเอกและเริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับคัมภีร์ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ

 

Q: ทำไมถึงมีความสนใจ หรือ มีอะไรที่ทำให้รู้สึกชื่นชอบในเรื่องของศาสนา
A: ในช่วงมัธยมปลายเรียนสายวิทย์ – คณิต มาก็ได้เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่พอได้มาอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาก็ทำให้ผมเข้าใจอีกมิติหนึ่ง ได้เปิดโลกมิติทางจิตใจ ได้ศึกษากรอบความคิดอีกด้านหนึ่ง ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ได้ ศาสนามีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ในโลก เช่น เรื่องความเชื่อ ความคิด กลายมาเป็นพฤติกรรมของคน ถึงแม้บางคนจะไม่นับถือศาสนาแต่สุดท้ายศาสนาก็จะมีอิทธิพลบางอย่างที่ส่งผลในด้านของพฤติกรรมคน ๆ นั้นอย่างไม่รู้ตัว ทำให้รู้สึกสนใจในเรื่องศาสนาเป็นพิเศษ

Q: แก่นแท้ของศาสนาในความคิด ดร.อาร์ตคืออะไร  
A: จากที่ได้ศึกษามา ในความคิด คนส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้เชื่อในเรื่องศาสนา คนเหล่านั้นก็จะมีความเชื่อบางอย่าง เช่น ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า ศาสนาพุทธก็จะมีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม โดยอย่างแรกคำสอนของแต่ละศาสนาทำให้คนเรามองในเรื่องของการทำความดี อย่างที่สองเป็นกระบวนการในเรื่องของการพัฒนาจิตใจและการพัฒนาตัวเอง ในปัจจุบันมีคนพูดถึง Growth Mindset อย่าง ทัศนคติเชิงบวก ความคิด จริง ๆ เป็นภาพสะท้อนออกมา ถ้าเราได้เรียนในเรื่องของศาสนาจะมีความรู้หลายอย่างมาก ทำให้เรามารถพัฒนาตัวเราเองได้ดีหลาย ๆ เรื่อง ยิ่งเราเรียนรู้ศาสนา เข้าใจสังคมที่มีความหลากหลาย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตกับผู้คนที่มีความเชื่อที่ความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคืออยากทำให้สังคมดีขึ้น สุดท้ายแล้วศาสนาก็จะสอนให้เราตั้งเป้าหมาย มองโลกในแง่บวก พัฒนาตัวเองให้ไปสู่จุดที่เราต้องการได้ 

Q: ศาสนากับวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ 
A: เหมือนเป็นโลกคู่ขนาน วิทยาศาสตร์เป็นเหมือนกายภาพ แต่ศาสนาเป็นเหมือนองค์ความรู้ เป็นความรู้ที่พัฒนาทางด้านจิตใจและพฤติกรรม ที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินว่าโลกของเราเรียนวิทยาศาสตร์มาก จริง ๆ แล้วคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขามีทักษะในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจ คิดบวก มีการพัฒนาศักยภาพ ยิ่งเราสามารถพัฒนาตัวเองได้เท่าไร เราจะยิ่งประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น 

Q: คัมภีร์ใบลานคืออะไร? และมีการศึกษาอย่างไร 
A: ในช่วงที่ได้เรียนปริญญาโท การเรียนจะเน้นการอ่านหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาทำวิจัย เราจะต้องสืบค้นจากข้อมูลปฐมภูมิ หลาย ๆ คนก็อาจจะรู้จักศิลาจารึกซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิทางด้านประวัติศาสตร์ แต่รายละเอียดจะไม่ค่อยมาก แต่คัมภีร์ใบลานจะมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น จะมีศาสตร์มากมาย เช่น ตำรายา คณิตศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิด เป็นองค์ความรู้ทั่วโลกที่บางคัมภีร์มีอายุเป็นพันกว่าปี เป็นสิ่งที่ผมสนใจ เมื่อก่อนด้านตะวันตก จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สมัยก่อนในเอเชียก็มีศาสตร์ความรู้ไม่แพ้กัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ออกมา ยังอยู่ในรูปแบบของการใช้เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน หรือสมุดไทย สมุดข่อย ทางด้านตะวันตกมีความชื่นชอบในศาสตร์ความรู้พวกนี้มาก มีการวิจัยและเก็บรักษาอย่างดี แต่ในประเทศไทยไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง และผมเชื่อว่าคัมภีร์ใบลานสามารถต่อยอดความรู้ การศึกษาในแต่ละด้านได้ 

ส่วนในเรื่องของการศึกษาคัมภีร์ใบลาน ผมจะเข้าไปในพื้นที่ ๆ มีคัมภีร์ใบลาน จัดทำบัญชีรายชื่อ ทำผังข้อมูล ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ และนำข้อมูลในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีภาษาต่าง ๆ มากมาย มีทั้งอักษรขอม ภาษาไทย ภาษาล้านนา ภาษาพม่า ใช้เวลาในการศึกษาค่อนข้างนาน และนำข้อมูลมารวมกัน เพื่อทำเป็นผลงานวิจัยออกมา 

Q: องค์ความรู้ที่ได้จากคัมภีร์ใบลานเป็นองค์ความรู้อะไรบ้าง 
A: องค์ความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากคัมภีร์ใบลานมีทั้งข้อมูลทางกายภาพ มีตั้งแต่ การบันทึกวัฒนธรรม อารยธรรมทางประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ อย่างพงศาวดารบางส่วนก็เป็นข้อมูลที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นการถอดข้อมูลมาจากคัมภีร์ใบลาน ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับทางด้านประวัติศาสตร์ ข้อมูลทางด้านกฎหมาย ข้อมูลเลขคณิตศาสตร์ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ ในสมัยก่อนคัมภีร์ใบลานจะมีการบันทึกข้อมูลพวกนี้เอาไว้ ถ้าในเรื่องของศาสนาและความเชื่อ มีการบันทึกคำสอนและวิธีการปฏิบัติ ของหลาย ๆ ศาสนา และมีการเล่าถึงข้อมูลสำคัญ อย่างเช่นพระมหาเถรในอดีต และความสำคัญในการเผยแพร่ศาสนา ยกตัวอย่างเช่น พระไตรปิฎกที่เราได้อ่านได้ศึกษากันก็ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่เราได้มาจากคีมภีร์ใบลานเหมือนกัน ดังนั้นคัมภีร์ใบลานถือว่าเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่มีความสำคัญอย่างมาก 

Q: การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านคัมภีร์ใบลานและวิชาศาสนศึกษา มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของทุก ๆ คนอย่างไร 
A:  ในมุมมองส่วนตัวคิดว่ามีความสำคัญมาก ๆ การเรียนในเรื่องของความเชื่อและความคิดของแต่ละคนนั้น สุดท้ายแล้วจะทำให้เราเข้าใจในพฤติกรรมของคน อย่างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยก่อนทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนในอดีตถึงตัดสินใจทำสิ่ง ๆ นั้น หรือ ตัดสินใจแบบนั้น เพราะมีความเชื่อ หรือ ความคิดอย่างไร ส่งผลต่อมาอย่างไร การที่เราเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของคนปัจจุบันอีกด้วย 

จริง ๆ แล้วคนที่จบในเรื่องของศาสนศึกษาในต่างประเทศสามารถทำงานได้หลายรูปแบบ การเรียนจบทางด้านศาสนศึกษาไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือความคิดอย่างไร พอเรียนจบแล้วจะสามารถเปิดโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถให้เกียรติและยอมรับสังคมที่เป็นอยู่ให้ได้ พฤติกรรมของคนในหลาย ๆ เชื้อชาติ หลาย ๆ ศาสนา คนที่จบในเรื่องของศาสนศึกษาก็จะสามารถปรับตัวและทำความเข้าใจกับคนในสังคมใหม่ ๆ ได้ ไปทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพ บางครั้งองค์กรหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่สำคัญหลาย ๆ ที่ถึงเปิดรับคนที่จบในสาขานี้ เพราะองค์กรเหล่านั้นต้องการคนทำงานที่เข้าใจคน เพราะการสื่อสารและการเข้าใจคนแบบเข้าใจจริง ๆ  จะมีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ทำให้งานหลาย ๆ อย่างสามารถขับเคลื่อนและดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว 

Q: หลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับเรื่องของศาสนศึกษาเป็นอย่างไร 
A: จากประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานวิจัยคัมภีร์ใบลาน ในประเทศไทยลักษณะการสอนจะครอบคลุมหมด การเรียนจะเป็นในเชิงกว้าง  ไม่ว่าจะถามเรื่องอะไรก็สามารถตอบได้ แต่ที่ต่างประเทศจะเน้นการเรียนไปในทางเดียว เจาะลึกในประเด็นมากกว่า คนที่เรียนแล้วจบมาจะเก่งเฉพาะทางในด้านนั้น ๆ บางคนเก่งเรื่องศาสนา จิตวิทยา ข้อดีของการเรียนในต่างประเทศคือการเรียนจะมุ่งเน้น โฟกัสไปที่จุด ๆ นั้น คิดทุกอย่างให้เป็นระบบ ตั้งคำถาม บางเรื่องหรือบางอย่างจะเป็นในเรื่องของความเชื่อที่เราเชื่อมาตั้งแต่ต้น ในต่างประเทศจะถูกฝึกให้ตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดเป็นความจริงหรือไม่ จะเรียนในแบบการมอง 2 ด้านตลอด ถูกเพราะอะไร ไม่ถูกเพราะอะไร และสุดท้ายสิ่งที่เราเรียนรู้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร อย่างเช่นทฤษฎีจิตวิยาของฟรอยด์ ฟรอยด์ได้พูดถึงบทบาทความสำคัญของจิตใต้สำนึก ชีวิตของคนแต่คนนั้นผ่านประสบการณ์ชีวิต ทั้งที่สมหวังและก็ไม่สมหวัง บางครั้งการไม่สมหวังในบางอย่างกลายเป็นบาดแผลลึก ๆ ในจิตใจ แล้วกลายเป็นปมของเรา สุดท้ายกลายเป็นจุดด้อยของเรา การเรียนในศาสนศึกษาจะสอนว่าถ้าเมื่อไรที่เราเข้าใจจุดด้อยของคนนั้น ๆ เราสามารถจะไปช่วยแก้ไขสิ่งที่เค้าผิดพลาด ทำให้คน ๆ นั้นสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย 

หลังจากที่ได้รับตำแหน่งคณบดีของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในภาคเรียนมีทั้งอาจารย์ที่เป็นชาวต่างประเทศและอาจารย์ไทย ถ้าเราสามารถพัฒนาปรับหลักสูตรให้เสริมจุดเด่นทั้ง 2 ด้าน มีความรู้ในด้านกว้างและมีการเจาะลึก ฝึกให้คิด รวมไปถึงทักษะใหม่ ๆ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงนวัตกรรม การคิดเชิงผู้ประกอบการ ได้เรียนรู้แบบผสมผสานกัน เมื่อจบไปแล้วก็สามารถทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศ ได้ทำงานในสิ่งที่อยากจะเป็น 

Q: ในวิทยาลัยศาสนศึกษามีกี่ระดับชั้นเรียน
A: ปัจจุบันมีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก หลักสูตรในปริญญาตรีก็จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ พอเรียนในระดับชั้นสูงขึ้นก็จะเรียนในการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงประยุกต์ ได้รับความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร ในปริญญาโทและปริญญาเอกจะมีการเรียนรู้หลักสูตรแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเจาะลึกเนื้อหาและประเด็นเชิงลึกมากยิ่งขึ้น มีการผลักดันการเรียนและการทำงานในต่างประเทศด้วย มีอาจารย์ในต่างประเทศมาบรรยายออนไลน์ในทุก ๆ เดือนเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาในต่างประเทศ

และในอนาคตอาจจะเปิดหลักสูตรที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วย โดยจะเริ่มเปิดประมาณปีหน้า เพราะการเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจและศาสนาเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อคนทั่วโลก ถ้าเราสามารถนำองค์ความรู้ไปสอนให้กับคนทั่วโลกได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับคนหลากหลาย

Q: มุมมองในเรื่องศาสนาของคนยุคใหม่ ที่เริ่มมีความห่างไกลกัน 
A: ถ้าเรามองเทรนด์ของโลก บทบาทของศาสนาเริ่มมีความลดลงอย่างมาก เพราะมีทฤษฎีวิทยาศาสตร์เข้ามา แต่ก่อนเมื่อประมาณ 200 – 300 ปีก่อนหน้านั้น ศาสนาเป็นศูนย์กลางทั้งในเรื่องของจิตใจ และ ความเชื่อ รวมไปถึงการสอนองค์ความรู้ต่าง ๆ อีกด้วย พอวิทยาศาสตร์เข้ามา คนเริ่มเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากกว่า บทบาทของศาสนาเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ พอมาถึงยุคในการล่าอาณานิคม ศาสนาก็เริ่มมีความเชื่อลดลงไปอีก พอมาถึงยุค 50 – 60 ปีที่แล้ว ยุคโลกาภิวัตน์โดยรวมคนให้ความสำคัญกับศาสนาลดน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสนามีความสำคัญอยู่มาก คนในยุคโลกาภิวัตน์
เริ่มมีการแลกเปลี่ยนศาสนากัน แลกเปลี่ยนเรื่ององค์ความรู้และความเชื่อ พอมาถึงยุค 20 – 30 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มยอมรับคำสอนของศาสนาโดยไม่ต้องบอกว่าตัวเองนับถือศาสนาอะไร แต่เลือกที่จะเชื่อและประยุกต์ใช้ในหลักคำสอนที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า 

พอมาถึงในยุคปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ คนเริ่มเลือกรับสื่อที่จะมาประยุกต์ใช้กับลักษณะของศาสนาที่มีความเฉพาะตน สุดท้ายแล้วผู้คนอาจจะมีความเชื่อในศาสนาอีกแบบหนึ่ง ในบัตรประชาชนเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ทิศทางโดยภาครวม แม้ภาครวมของคริสต์และอิสลามจะมีช่วงขาลง แต่ศาสนาพุทธในตะวันตกกลับมีคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในหลายประเทศอย่างออสเตรเลียและอังกฤษยังขาดครูสอนด้านศาสนาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยซ้ำ 

Q: มีภาพฝันอยากให้วิชาศาสนาจรรโลงคนอย่างไรบ้าง
A: การที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจ มีประโยชน์มาก ๆ ถ้าเราได้เรียน ค่อย ๆ เจาะลึกไปเรื่อย ๆ อย่างข้อแรก ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของคนและวัฒนธรรมมากขึ้น ต่อมาได้ใช้ความรู้ที่ได้นำไปพัฒนาตนเองและทรัพยากรมนุษย์ด้วย อีกทั้งได้นำความรู้ทางด้านจิตวิทยาไปช่วยบุคคล ซึ่งความเป็นจริงแล้วเรื่องราวในสังคมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศาสนาทั้งสิ้น เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนศาสนศึกษาไปประยุกต์ใช้พัฒนาให้เกิดประโชยน์สูงสุด และสุดท้ายเราทุกคนมีคุณค่ามาก ๆ ในตัวของตัวเอง ถ้าได้เรียนรู้เรื่องของจิตใจและนำไปประยุกต์ใช้ เราจะมีบทบาทสำคัญในการมองเห็นคุณค่าของคนและดึงศักยภาพของคนมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป 

.

\

.

.

ทั้งสวยและมากความสามารถสมเป็นตัวอย่างไอดอลที่ใคร ๆ ต่างนับเป็นต้นแบบอย่าง สาว”เฌอปราง BNK48” ที่เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษาของสาว เฌอปราง BNK48 หรือ เฌอปราง อารีย์กุล นั้นจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนรุ่งอรุณหลังจากนั้นได้ศึกษาต่อใน สาขาวิชาเคมี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล 

และในช่วงปีสองและสาม เฌอปรางได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิจัย โดยในปี พ.ศ. 2560 เฌอปรางได้ร่วมงานวิจัยเรื่อง "การทดลองขวดสีน้ำเงิน" จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Royal Society Open Science ของสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน และสาวเฌอปรางได้ศึกษาจนจบในระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.46

นอกจากการเรียนที่เก่งแล้ว เฌอปรางยังเป็นสมาชิกวงสุดฮอตอย่าง BNK48 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าวงไอดอลหญิง โดยมีฉายาว่า “แคปเฌอ” ซึ่งมาจากคำว่า แคป ของ Captain และชื่อเฌอ จากเฌอปราง และเฌอปรางก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าแฟนคลับสร้าง “ห้องสมุดเฌอปราง” โดยการนำเงินที่ได้ มาจากการนำการ์ของ เฌอปราง มาขาย และได้ในราคาสูงถึง 666,000 บาท มาเป็นทุนในการสร้างห้องสมุดและจะตั้งชื่อห้องสมุดว่า “เฌอปราง” ในฐานะที่เฌอปรางเป็นไอดอลด้านการศึกษา อีกด้วย

นอกจากจะสวยและเรียนเก่งขนาดนี้แล้ว ยังถือได้ว่าสาวเฌอปรางเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาให้กับเหล่าแฟนคลับและผู้ที่ติดตามเธออีกด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนแต่ยังเป็นเรื่องของการทำความดี ตอบแทนสังคมอีกด้วย 


ที่มา 
https://www.sanook.com/campus/1401791/

Click on Clever โฉมใหม่‼️ เวลาดีๆ ที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันกับ Guest ที่โดดเด่น และเรื่องราวชีวิตของเขา

????Click on Clever โฉมใหม่‼️ เวลาดีๆ ที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันกับ Guest ที่โดดเด่น และเรื่องราวชีวิตของเขา

????เก่งจริง เจ๋งจริง โปรดติดตาม!!

✅โดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES 

????ช่องทางรับชม
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top