คุณอาร์ต ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล | Click on Clever EP.13

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.13
ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล (คุณอาร์ต) คณบดี วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

Q: จุดเริ่มต้นการศึกษา จากวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ความสนใจด้านศาสนศึกษา 

A: ตอนเรียนอยู่ที่เตรียมอุดมศึกษา ผมได้แบ่งเวลาทั้งในด้านการเรียนและการทำกิจกรรม ผมแบ่งเวลามาอ่านหนังสือทุกวัน กระทั่งสามารถอ่านเนื้อหาของม. 6 จบหมดตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นม. 5 จึงได้มีโอกาสสอบเทียบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในสมัยนั้นคณะวิศวกรรมมีความโด่งดังมาก คิดว่าจบไปน่าจะมีหน้าที่การงานที่ดี จึงได้เลือกเรียนคณะนี้ หลังจบจากวิศวกรรมโยธาที่จุฬาฯ มา ได้ทำงานในสายของวิศวกรรมประมาณปีครึ่ง 

ในส่วนเรื่องของศาสนานั้นมีความสนใจมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย โดยส่วนตัวมีความชื่นชอบในการอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา และช่วงตอนที่เรียนวิศวกรรมก็ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาด้วย 

หลังจากนั้นมีความสนใจในการศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ในตอนแรกอยากเรียนเกี่ยวกับ MBA การจัดการ การบริหาร แต่ก่อนที่จะเรียนได้มีการเรียนปูพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อน และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญาตะวันตก ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชอบเกี่ยวกับด้านศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเรียนศาสนาไม่ได้จบมาเพื่อเป็นนักบวช แต่การเรียนศาสนาเป็นการเรียนเพื่อทำความเข้าใจคน ทั้งในเรื่องของจิตใจ พฤติกรรม วัฒนธรรมของแต่ละบุคคล สังคมต่าง ๆ เลยตัดสินใจที่จะเรียนปริญญาโทในด้านศาสนา ซึ่งในตอนแรกเรียนปริญญาโทที่ King's College London แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีอุปสรรคทางภาษาอังกฤษ

โดยอาจารย์ก็ได้พูดกับผมว่า “กลับไปทำงานวิศวะดีกว่า” แต่สุดท้ายผมก็ไม่ยอมแพ้ ฝึกภาษาอังกฤษใหม่หมด โดยฝึกภาษาจากการอ่านหนังสือทุกหมวด ฝึกเขียนภาษาอังกฤษทุกวัน ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ใช้เวลาในกับภาษาอังกฤษกับมัน ถ้าเราจะตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง วันนี้เรายังไม่เก่งไม่เป็นไร ขอให้เราพยายาม ตั้งใจ มีวินัยในความตั้งใจของเรา วันหนึ่งเราก็จะทำได้ 

หลังจากนั้นก็เข้าเรียนปริญญาโท (MA in the Study of Religions, School of Oriental and African Studies (University of London) จนสามารถจบมาด้วยคะแนนสูงสุดของภาควิชา หลังจากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยในการเรียนต่อปริญญาเอก และในระหว่างการเรียน ผมอยากมีประสบการณ์ในด้านศาสนาเพิ่มเติม เลยเริ่มฝึกสอนที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) วิชาที่ฝึกสอนจะเป็นแนวทางในการศึกษาทางด้านศาสนา ทฤษฎี ปรัชญาเบื้องต้น เป็นต้น ได้ฝึกสอนเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นก็เรียนจบปริญญาเอกและเริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับคัมภีร์ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ

 

Q: ทำไมถึงมีความสนใจ หรือ มีอะไรที่ทำให้รู้สึกชื่นชอบในเรื่องของศาสนา
A: ในช่วงมัธยมปลายเรียนสายวิทย์ – คณิต มาก็ได้เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่พอได้มาอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาก็ทำให้ผมเข้าใจอีกมิติหนึ่ง ได้เปิดโลกมิติทางจิตใจ ได้ศึกษากรอบความคิดอีกด้านหนึ่ง ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ได้ ศาสนามีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ในโลก เช่น เรื่องความเชื่อ ความคิด กลายมาเป็นพฤติกรรมของคน ถึงแม้บางคนจะไม่นับถือศาสนาแต่สุดท้ายศาสนาก็จะมีอิทธิพลบางอย่างที่ส่งผลในด้านของพฤติกรรมคน ๆ นั้นอย่างไม่รู้ตัว ทำให้รู้สึกสนใจในเรื่องศาสนาเป็นพิเศษ

Q: แก่นแท้ของศาสนาในความคิด ดร.อาร์ตคืออะไร  
A: จากที่ได้ศึกษามา ในความคิด คนส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้เชื่อในเรื่องศาสนา คนเหล่านั้นก็จะมีความเชื่อบางอย่าง เช่น ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า ศาสนาพุทธก็จะมีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม โดยอย่างแรกคำสอนของแต่ละศาสนาทำให้คนเรามองในเรื่องของการทำความดี อย่างที่สองเป็นกระบวนการในเรื่องของการพัฒนาจิตใจและการพัฒนาตัวเอง ในปัจจุบันมีคนพูดถึง Growth Mindset อย่าง ทัศนคติเชิงบวก ความคิด จริง ๆ เป็นภาพสะท้อนออกมา ถ้าเราได้เรียนในเรื่องของศาสนาจะมีความรู้หลายอย่างมาก ทำให้เรามารถพัฒนาตัวเราเองได้ดีหลาย ๆ เรื่อง ยิ่งเราเรียนรู้ศาสนา เข้าใจสังคมที่มีความหลากหลาย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตกับผู้คนที่มีความเชื่อที่ความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคืออยากทำให้สังคมดีขึ้น สุดท้ายแล้วศาสนาก็จะสอนให้เราตั้งเป้าหมาย มองโลกในแง่บวก พัฒนาตัวเองให้ไปสู่จุดที่เราต้องการได้ 

Q: ศาสนากับวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ 
A: เหมือนเป็นโลกคู่ขนาน วิทยาศาสตร์เป็นเหมือนกายภาพ แต่ศาสนาเป็นเหมือนองค์ความรู้ เป็นความรู้ที่พัฒนาทางด้านจิตใจและพฤติกรรม ที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินว่าโลกของเราเรียนวิทยาศาสตร์มาก จริง ๆ แล้วคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขามีทักษะในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจ คิดบวก มีการพัฒนาศักยภาพ ยิ่งเราสามารถพัฒนาตัวเองได้เท่าไร เราจะยิ่งประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น 

Q: คัมภีร์ใบลานคืออะไร? และมีการศึกษาอย่างไร 
A: ในช่วงที่ได้เรียนปริญญาโท การเรียนจะเน้นการอ่านหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาทำวิจัย เราจะต้องสืบค้นจากข้อมูลปฐมภูมิ หลาย ๆ คนก็อาจจะรู้จักศิลาจารึกซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิทางด้านประวัติศาสตร์ แต่รายละเอียดจะไม่ค่อยมาก แต่คัมภีร์ใบลานจะมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น จะมีศาสตร์มากมาย เช่น ตำรายา คณิตศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิด เป็นองค์ความรู้ทั่วโลกที่บางคัมภีร์มีอายุเป็นพันกว่าปี เป็นสิ่งที่ผมสนใจ เมื่อก่อนด้านตะวันตก จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สมัยก่อนในเอเชียก็มีศาสตร์ความรู้ไม่แพ้กัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ออกมา ยังอยู่ในรูปแบบของการใช้เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน หรือสมุดไทย สมุดข่อย ทางด้านตะวันตกมีความชื่นชอบในศาสตร์ความรู้พวกนี้มาก มีการวิจัยและเก็บรักษาอย่างดี แต่ในประเทศไทยไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง และผมเชื่อว่าคัมภีร์ใบลานสามารถต่อยอดความรู้ การศึกษาในแต่ละด้านได้ 

ส่วนในเรื่องของการศึกษาคัมภีร์ใบลาน ผมจะเข้าไปในพื้นที่ ๆ มีคัมภีร์ใบลาน จัดทำบัญชีรายชื่อ ทำผังข้อมูล ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ และนำข้อมูลในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีภาษาต่าง ๆ มากมาย มีทั้งอักษรขอม ภาษาไทย ภาษาล้านนา ภาษาพม่า ใช้เวลาในการศึกษาค่อนข้างนาน และนำข้อมูลมารวมกัน เพื่อทำเป็นผลงานวิจัยออกมา 

Q: องค์ความรู้ที่ได้จากคัมภีร์ใบลานเป็นองค์ความรู้อะไรบ้าง 
A: องค์ความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากคัมภีร์ใบลานมีทั้งข้อมูลทางกายภาพ มีตั้งแต่ การบันทึกวัฒนธรรม อารยธรรมทางประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ อย่างพงศาวดารบางส่วนก็เป็นข้อมูลที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นการถอดข้อมูลมาจากคัมภีร์ใบลาน ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับทางด้านประวัติศาสตร์ ข้อมูลทางด้านกฎหมาย ข้อมูลเลขคณิตศาสตร์ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ ในสมัยก่อนคัมภีร์ใบลานจะมีการบันทึกข้อมูลพวกนี้เอาไว้ ถ้าในเรื่องของศาสนาและความเชื่อ มีการบันทึกคำสอนและวิธีการปฏิบัติ ของหลาย ๆ ศาสนา และมีการเล่าถึงข้อมูลสำคัญ อย่างเช่นพระมหาเถรในอดีต และความสำคัญในการเผยแพร่ศาสนา ยกตัวอย่างเช่น พระไตรปิฎกที่เราได้อ่านได้ศึกษากันก็ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่เราได้มาจากคีมภีร์ใบลานเหมือนกัน ดังนั้นคัมภีร์ใบลานถือว่าเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่มีความสำคัญอย่างมาก 

Q: การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านคัมภีร์ใบลานและวิชาศาสนศึกษา มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของทุก ๆ คนอย่างไร 
A:  ในมุมมองส่วนตัวคิดว่ามีความสำคัญมาก ๆ การเรียนในเรื่องของความเชื่อและความคิดของแต่ละคนนั้น สุดท้ายแล้วจะทำให้เราเข้าใจในพฤติกรรมของคน อย่างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยก่อนทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนในอดีตถึงตัดสินใจทำสิ่ง ๆ นั้น หรือ ตัดสินใจแบบนั้น เพราะมีความเชื่อ หรือ ความคิดอย่างไร ส่งผลต่อมาอย่างไร การที่เราเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของคนปัจจุบันอีกด้วย 

จริง ๆ แล้วคนที่จบในเรื่องของศาสนศึกษาในต่างประเทศสามารถทำงานได้หลายรูปแบบ การเรียนจบทางด้านศาสนศึกษาไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือความคิดอย่างไร พอเรียนจบแล้วจะสามารถเปิดโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถให้เกียรติและยอมรับสังคมที่เป็นอยู่ให้ได้ พฤติกรรมของคนในหลาย ๆ เชื้อชาติ หลาย ๆ ศาสนา คนที่จบในเรื่องของศาสนศึกษาก็จะสามารถปรับตัวและทำความเข้าใจกับคนในสังคมใหม่ ๆ ได้ ไปทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพ บางครั้งองค์กรหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่สำคัญหลาย ๆ ที่ถึงเปิดรับคนที่จบในสาขานี้ เพราะองค์กรเหล่านั้นต้องการคนทำงานที่เข้าใจคน เพราะการสื่อสารและการเข้าใจคนแบบเข้าใจจริง ๆ  จะมีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ทำให้งานหลาย ๆ อย่างสามารถขับเคลื่อนและดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว 

Q: หลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับเรื่องของศาสนศึกษาเป็นอย่างไร 
A: จากประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานวิจัยคัมภีร์ใบลาน ในประเทศไทยลักษณะการสอนจะครอบคลุมหมด การเรียนจะเป็นในเชิงกว้าง  ไม่ว่าจะถามเรื่องอะไรก็สามารถตอบได้ แต่ที่ต่างประเทศจะเน้นการเรียนไปในทางเดียว เจาะลึกในประเด็นมากกว่า คนที่เรียนแล้วจบมาจะเก่งเฉพาะทางในด้านนั้น ๆ บางคนเก่งเรื่องศาสนา จิตวิทยา ข้อดีของการเรียนในต่างประเทศคือการเรียนจะมุ่งเน้น โฟกัสไปที่จุด ๆ นั้น คิดทุกอย่างให้เป็นระบบ ตั้งคำถาม บางเรื่องหรือบางอย่างจะเป็นในเรื่องของความเชื่อที่เราเชื่อมาตั้งแต่ต้น ในต่างประเทศจะถูกฝึกให้ตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดเป็นความจริงหรือไม่ จะเรียนในแบบการมอง 2 ด้านตลอด ถูกเพราะอะไร ไม่ถูกเพราะอะไร และสุดท้ายสิ่งที่เราเรียนรู้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร อย่างเช่นทฤษฎีจิตวิยาของฟรอยด์ ฟรอยด์ได้พูดถึงบทบาทความสำคัญของจิตใต้สำนึก ชีวิตของคนแต่คนนั้นผ่านประสบการณ์ชีวิต ทั้งที่สมหวังและก็ไม่สมหวัง บางครั้งการไม่สมหวังในบางอย่างกลายเป็นบาดแผลลึก ๆ ในจิตใจ แล้วกลายเป็นปมของเรา สุดท้ายกลายเป็นจุดด้อยของเรา การเรียนในศาสนศึกษาจะสอนว่าถ้าเมื่อไรที่เราเข้าใจจุดด้อยของคนนั้น ๆ เราสามารถจะไปช่วยแก้ไขสิ่งที่เค้าผิดพลาด ทำให้คน ๆ นั้นสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย 

หลังจากที่ได้รับตำแหน่งคณบดีของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในภาคเรียนมีทั้งอาจารย์ที่เป็นชาวต่างประเทศและอาจารย์ไทย ถ้าเราสามารถพัฒนาปรับหลักสูตรให้เสริมจุดเด่นทั้ง 2 ด้าน มีความรู้ในด้านกว้างและมีการเจาะลึก ฝึกให้คิด รวมไปถึงทักษะใหม่ ๆ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงนวัตกรรม การคิดเชิงผู้ประกอบการ ได้เรียนรู้แบบผสมผสานกัน เมื่อจบไปแล้วก็สามารถทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศ ได้ทำงานในสิ่งที่อยากจะเป็น 

Q: ในวิทยาลัยศาสนศึกษามีกี่ระดับชั้นเรียน
A: ปัจจุบันมีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก หลักสูตรในปริญญาตรีก็จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ พอเรียนในระดับชั้นสูงขึ้นก็จะเรียนในการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงประยุกต์ ได้รับความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร ในปริญญาโทและปริญญาเอกจะมีการเรียนรู้หลักสูตรแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเจาะลึกเนื้อหาและประเด็นเชิงลึกมากยิ่งขึ้น มีการผลักดันการเรียนและการทำงานในต่างประเทศด้วย มีอาจารย์ในต่างประเทศมาบรรยายออนไลน์ในทุก ๆ เดือนเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาในต่างประเทศ

และในอนาคตอาจจะเปิดหลักสูตรที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วย โดยจะเริ่มเปิดประมาณปีหน้า เพราะการเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจและศาสนาเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อคนทั่วโลก ถ้าเราสามารถนำองค์ความรู้ไปสอนให้กับคนทั่วโลกได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับคนหลากหลาย

Q: มุมมองในเรื่องศาสนาของคนยุคใหม่ ที่เริ่มมีความห่างไกลกัน 
A: ถ้าเรามองเทรนด์ของโลก บทบาทของศาสนาเริ่มมีความลดลงอย่างมาก เพราะมีทฤษฎีวิทยาศาสตร์เข้ามา แต่ก่อนเมื่อประมาณ 200 – 300 ปีก่อนหน้านั้น ศาสนาเป็นศูนย์กลางทั้งในเรื่องของจิตใจ และ ความเชื่อ รวมไปถึงการสอนองค์ความรู้ต่าง ๆ อีกด้วย พอวิทยาศาสตร์เข้ามา คนเริ่มเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากกว่า บทบาทของศาสนาเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ พอมาถึงยุคในการล่าอาณานิคม ศาสนาก็เริ่มมีความเชื่อลดลงไปอีก พอมาถึงยุค 50 – 60 ปีที่แล้ว ยุคโลกาภิวัตน์โดยรวมคนให้ความสำคัญกับศาสนาลดน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสนามีความสำคัญอยู่มาก คนในยุคโลกาภิวัตน์
เริ่มมีการแลกเปลี่ยนศาสนากัน แลกเปลี่ยนเรื่ององค์ความรู้และความเชื่อ พอมาถึงยุค 20 – 30 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มยอมรับคำสอนของศาสนาโดยไม่ต้องบอกว่าตัวเองนับถือศาสนาอะไร แต่เลือกที่จะเชื่อและประยุกต์ใช้ในหลักคำสอนที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า 

พอมาถึงในยุคปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ คนเริ่มเลือกรับสื่อที่จะมาประยุกต์ใช้กับลักษณะของศาสนาที่มีความเฉพาะตน สุดท้ายแล้วผู้คนอาจจะมีความเชื่อในศาสนาอีกแบบหนึ่ง ในบัตรประชาชนเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ทิศทางโดยภาครวม แม้ภาครวมของคริสต์และอิสลามจะมีช่วงขาลง แต่ศาสนาพุทธในตะวันตกกลับมีคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในหลายประเทศอย่างออสเตรเลียและอังกฤษยังขาดครูสอนด้านศาสนาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยซ้ำ 

Q: มีภาพฝันอยากให้วิชาศาสนาจรรโลงคนอย่างไรบ้าง
A: การที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจ มีประโยชน์มาก ๆ ถ้าเราได้เรียน ค่อย ๆ เจาะลึกไปเรื่อย ๆ อย่างข้อแรก ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของคนและวัฒนธรรมมากขึ้น ต่อมาได้ใช้ความรู้ที่ได้นำไปพัฒนาตนเองและทรัพยากรมนุษย์ด้วย อีกทั้งได้นำความรู้ทางด้านจิตวิทยาไปช่วยบุคคล ซึ่งความเป็นจริงแล้วเรื่องราวในสังคมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศาสนาทั้งสิ้น เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนศาสนศึกษาไปประยุกต์ใช้พัฒนาให้เกิดประโชยน์สูงสุด และสุดท้ายเราทุกคนมีคุณค่ามาก ๆ ในตัวของตัวเอง ถ้าได้เรียนรู้เรื่องของจิตใจและนำไปประยุกต์ใช้ เราจะมีบทบาทสำคัญในการมองเห็นคุณค่าของคนและดึงศักยภาพของคนมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป 

.

\

.

.