Monday, 20 May 2024
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ - สสจ.กาฬสินธุ์ มอบรถรับส่งผู้ป่วยโควิด ด้านที่ปรึกษารมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปล่อยขบวนรถรับ-ส่งผู้ป่วย 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ด้านที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสะพานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่สถานการณ์โรคพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 142 ราย ยอดสะสม 3,381 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ลานสนามกีฬากลาง จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ ดร.สม นาสะอ้าน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นายยุทธพล ภูเลื่อน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันปล่อยขบวนรถพยาบาลรับ-ส่ง ผู้ป่วย โดยงบเงินกู้โควิด-19 จากรัฐบาล จำนวน 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19

นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รถรับ-ส่งผู้ป่วย หรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ทั้ง 16 คันดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ในงบเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกมลาไสย เขาวง คำม่วง ดอนจาน ท่าคันโท นาคู นามน ยางตลาด ร่องคำ สมเด็จ สหัสขันธ์ สามชัย หนองกุงศรี ห้วยผึ้ง ห้วยเม็ก แห่งละ 1 คัน และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จำนวน 2 คัน ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้บริการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหลัก  และในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็จะให้บริการสำหรับรับส่งผู้ป่วยทั่วไป

นพ.อภิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังน่าเป็นห่วง มีจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย เนื่องจากยังมีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และแจ้งความประสงค์ขอรับการรักษาที่ภูมิลำเนา ดังนั้น รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อใช้สำหรับรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 จึงสำคัญและจำเป็น โดยอุปกรณ์ภายใน จะเป็นส่วนประกอบสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ มีระบบห้องความดันลบ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ด้านนายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ หรือเลขาบัส เลขานุการนายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางมัลลิกา แสนภักดี ประธานนักบริหารระดับสูงธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) ร่วมเป็นสะพานบุญ ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ (FHNC) จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 220,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยมีนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร่วมรับมอบ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมอบสนับสนุนค่าน้ำมันจำนวน 10,000 บาท แก่สมาคมเมตตาธรรมทิพยสถานกาฬสินธุ์ เพื่อใช้เป็นค่าน้ำมันในการรับส่งผู้ป่วยกลับมารักษาที่บ้าน และร่วมกับนายประภาส ยงคะวิสัย มอบน้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก น้ำดื่ม และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับมูลนิธิใจถึงใจกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภาคกิจช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นสูงอีก 142  ราย เป็นผู้ป่วยขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 44 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อจากต่างจังหวัดตรวจพบระหว่างกักตัว 82 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 16 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,381 ราย กำลังรักษา 1,959 ราย รักษาหายแล้ว 1,407 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น – สั่งปิดตลาดสดศรีเมืองทอง เพิ่มอีก 7 วัน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อเชื่อโยงคลัสเตอร์หลายจังหวัด พร้อมสั่งปรับปรุงตลาดให้ถูกสุขอนามัยฝ่าฝืนเอาผิดตามกฎหมาย ขณะที่ อบจ.ขอนแก่น จัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทยชุดแรก 30,000 โดส

เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 2 ส.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ประชุมร่วมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ประชุมวันนี้ได้มีข้อสรุปและมีมติร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในการที่จะมีประกาศคำสั่งจังหวัดเพิ่มเติมให้สอดรับกับการที่ ศบค.ปรับให้ขอนแก่น จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดสีแดง โดยเฉพาะกับการกำหนดจำนวนบุคลที่จะเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งการตั้ง รพ.สนาม ที่เรือนจำ อ.พล ภายใต้การกำกับและควบคุมของกรมราชทัณฑ์และ รพ.พล การกำหนดจุดตรวจการเข้าและออกเมือง จากเดิมกำหนดจุดตรวจที่ด่านนาโน อ.บ้านไผ่ ให้เป็น ด่านตรวจ อ.พล การผ่อนผันการเดินทางของ สส.และ สว. ที่ต้องเดินทางไปปฎิบัติงานและประชุมในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม การขยายระยะเวลาการสอบของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยในการจัดการสอบกลุ่มข้าราชการพิเศษ จากเดิม กำหนดการสอบ ส.ค. ไปเป็นเดือน ก.ย.

“วันนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ อบจ.ขอนแก่น จัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ตามระเบียบของสภากาชาดไทย เบื้องต้น 30,000 โดส สำหรับการฉีดให้กับชาวขอนแก่นกลุ่มเป้าหมาย 15,000 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท โดยในการพิจารณารายชื่อของผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นมอบหมายให้ สสจ.ขอนแก่น ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและขอนแก่นพร้อมเป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อมีติเป็นเอกฉันท์ก็จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกับ อบจ.ดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่สภากาชาดไทยกำหนดไว้ต่อไป”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมยังมีมติในการขยายระยะเวลาการปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชน ไปจนกว่าสถานการฯจะคลี่คลาย รวมทั้งการมีคำสั่งปิดตลาดศรีเมืองทองออกไปอีก 7 วัน จากเดิมครบกำหนดสั่งปิดในวันที่ 5 ส.ค. เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่พบการแพร่เชื้อในกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า และขณะนี้การสอบสวนโรคยังคงพบว่าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อของตลาดแห่งนี้ยังคงเชื่อมโยงไปในกลุ่มตลาดของอีกหลายจังหวัด ทำให้ที่ประชุมจึงมีคำสั่งปิดตลาดต่อไปอีกและให้มีการจัดระบบด้านสุขอนามัย ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด หากฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที อย่างไรก็ตามขณะนี้การขาดเครื่องพ่นออกชิเจนแบบไฮโฟ ในการใช้ในการรักษาผู้ป่วยในภาพรวมยังคงขาดแคลนอยู่ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าต้องใช้เครื่องดังกล่าวในการรักษาประมาณ 110 เครื่องดังนั้น นอกจากการประสานงานร่วม อบจ.ขอนแก่น,เทศบาลนครขอนแก่นแล้ว ยังคงขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในการขอรับการสนับสนุนเครื่องพ่นออกซิเจนดังกล่าวอย่างเร่งด่วนในระยะนี้

สุรินทร์ - มณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมจัดกิจกรรม “สุรินทร์รวมใจปันสุข แด่ผู้ประสบภัยโรคโควิค-19”

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 มณฑลทหารบกที่ 25 โดย พลตรีสาธิต เกิดโภค ร่วมกับ จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กองกำลังสุรนารี ตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ โดย พลตำรวจตรี ชาญชัย พงษ์พิชิตกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ หอการค้าจังหวัดสุรินทร์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ร่วมจัดงาน “สุรินทร์รวมใจปันสุข”ได้จัดทำอาหารกล่อง ถุงยังชีพและน้ำดื่ม ไปมอบให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค covid-19 ตลอดจนจะขยายพื้นที่ออกไปยังต่างอำเภอ ตลอด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค. 64

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค จากผู้มีเมตรตาร่วมบริจาคในครั้งนี้ ให้กับตัวแทนชุมชนเพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนชนผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน ในครั้งนี้ด้วย โดยมีส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กร มูลนิธิฯต่าง ๆ ร่วมในครั้งนี้ด้วยความรัก และสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อยามทุกคนประสบกับวิกฤติด้วยกัน คนสุรินทร์ย่อมไม่ทิ้งกัน โดยระดมเงินทุนจากผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงาน เริ่มต้นที่หนึ่งล้านบาท เพื่อปันสุขให้ชาวสุรินทร์ โดยจะร่วมกันประกอบอาหารและบรรจุกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาขอรับ ณ  บริเวณหอประชุม อบจ.สุรินทร์ และจะทยอยแจกจ่ายไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

 โดยมีรถประกอบอาหารจากมณฑลทหารบกที่ 25 จำนวน 2 คัน มาร่วมประกอบอาหารเมนูเด็ดคือข้าวผัดใบกะเพราทั้งหมู ทั้งไก่ และเมนูอื่น ๆ อีกอย่างหลากหลาย ซึ่งจะ Kick Off ชุมชนแรกในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  ตั้งแต่วันนี้( 28  กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป ส่วนพื้นที่อื่นจะทยอยดำเนินการไปจนถึง 12 สิงหาคม 2564  นี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฏาคม 2564 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประกอบกับเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและประชาชนทุกภาคส่วนในจังหวัดสุรินทร์ จัดตั้งศูนย์บรรเทาความเดือดร้อนและครัวสนาม ณ บริเวณหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และได้เปิดรับบริจาคจากผู้ที่มีจิตเมตตาเพิ่มเติมเพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือชาวสุรินทร์ ในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ - โควิดดับอีก 3 ป่วยเพิ่ม 202 ราย เร่งตั้งรพ.สนามชุมชนตำบล รองรับผู้ป่วย

สถานการณ์โรคโควิด-19ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ 202 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ สั่งเตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลทุกตำบลรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขอเดินทางกลับมารักษาที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 202 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 2,613 ราย กำลังรักษาอยู่ 1,578 ราย รักษาหายแล้ว 1,021 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รายแรกเป็นเพศชาย อายุ 48 ปี ชาว อ.กุฉินารายณ์ รายที่ 2 เพศชาย อายุ 53 ปี ชาว อ.หนองกุงศรี และรายที่ 3 เพศเพศหญิง อายุ 37 ปี ชาว อ.สมเด็จ โดยทั้ง 3 ราย มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด-19 และระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเจ้าหน้าที่และญาติได้ทำพิธีฌาปนกิจตามประเพณีแบบเรียบง่าย และตามมาตรการขั้นตอน ทั้งนี้ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย

ขณะที่นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงลงพื้นที่ดูแลความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล (Community Isolation) หลังจากมีนโยบายให้ทุกตำบลในจังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โดยจุดแรกที่บริเวณสมอทอง รีสอร์ท เทศบาลตำบลภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์  ที่ได้ปรับสถานที่จากจุดพักคอยเป็นโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล โดยเป็นการให้บริการสาธารณาสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19  ที่มีอาการไม่หนัก หรืออยู่ในระดับสีเขียว และสำหรับผู้ป่วยที่รอการพักฟื้นเพื่อเฝ้าดูอาการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งจะมีการตรวจเช็คอาการผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เบื้องต้นสามารถรับผู้ป่วยได้เตียง 10 เตียง และอยู่ระหว่างการจัดสถานที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้แต่ละตำบลจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลในทุกตำบล อย่างน้อยให้ได้ตำบลละ 20-30 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่อำเภอนามน จ.กาฬสินธุ์ได้มีการยกระดับจากศูนย์พักคอย เป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย โควิด-19 โดยนางสาวอ้อมอารีย์  ยี่วาศรี นายอำเภอนามนได้ให้ทุกตำบลเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล ให้ได้ประมาณ 20-50 เตียง ซึ่ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ทั้งภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สุรินทร์ - พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการ ‘รถ Mobile…พาณิซย์ลดราคา!’ ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดสุรินทร์

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานปล่อยขบวนรถ โครงการรถ Mobile...พาณิซย์ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พันเอกชินวิช  เจริญพิบูลย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกิจกรรม และมี นายสิทธิศักดิ์  พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน  จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ขยายระบาดโรคออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางส่วนปิดตัวลง ทำให้เกิดการว่างงาน การบริโภคครัวเรือนหยุดชะงัก เนื่องจากประชาชนเกิดความหวาดระแวงในการออกนอกพื้นที่ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ โดยงดออกนอกเคหะสถาน และมาตรการ Work from Home

ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รองรัฐนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการ รถ Mobile...พณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ จำนวน 161.3240 ล้านบาทจากงบประมาณเงินกู้ ให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ดำเนินโครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขึ้น  เพื่อช่วยประชาชนในพื้นที่ของทุกจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการ 1 เดือน

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าเกษตร/ชุมชนที่ได้รับกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่านรถ Mobile เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าครองชีพ ตลอดจนเป็นการลดความเสี่ยงจากการเดินทางไป จับจ่ายสินค้าให้แก่ประชาชนในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งยังเป็นการกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกร เกิดการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สำหรับจังหวัดสุรินทร์ มีเป้าหมาย จำนวนรถ Mobile จำนวน 12 คัน ครอบคลุมทั้ง 17 อำเภอ 159 ตำบล รวมทั้งหมด 720 จุด (คันละ 2 จุดต่อวัน) ในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคไป จำหน่ายให้กับประชาชนในราคาประหยัดที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ประมาณ 10-40 % อาทิเช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระปอง น้ำตาลทราย บะหมี่ถึงสำเร็จรูป

โดยเริ่มวิ่งไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 และจะสิ้นสุดในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 สำหรับโครงการนี้ ได้รับความ ร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างดี โดยเฉพาะท่านนายอำเภอทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อำนวยความสะดวกในการกำหนดจุดจำหน่าย การประชาสัมพันธ์ การจัดส่งเจ้าหน้าไปอำนวยความสะดวก และการกำกับดูแลตามมาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์อย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

นครพนม - ทบ.นำเครื่องบินลำเลียง 295 ส่งผู้ป่วยโควิด ถึงภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 พร้อมด้วย นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสมชัย นำโชคประเสริฐ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครพนม นายแพทย์ขวัญชัย ประเสริฐยิ่ง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเตรียมสถานที่บริเวณท่าอากาศยานนครพนมและศูนย์พักคอยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับช่วงต่อจากกองทัพบกที่ได้ให้การสนับสนุนเครื่องบินลำเลียง 295 ส่งผู้ป่วยโควิด – 19 กลับบ้านที่นครพนม ซึ่งในวันนี้เป็นเที่ยวบินแรกที่นำส่งผู้ป่วยที่นครพนม

พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทีมแพทย์ต้องรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่อนข้างที่จะมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากร ดังนั้นจึงได้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของในแต่ละจังหวัดเพื่อแบ่งเบาภาระ ซึ่งทางรัฐบาลและกองทัพบก ได้มีความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับสู่ภูมิลำเนา และที่ผ่านมาก็มีทั้งการเตรียมการในการจัดขบวนยานพาหนะนับ 100 คัน ไว้ที่กองทัพภาคที่ 2 และมีการขนย้ายมาบ้างแล้วในทางรถยนต์ ส่วนทางรถไฟในปัจจุบันก็มีการเตรียมแผนเช่นเดียวกัน แม้จะมีการเลื่อนไปเมื่อในเมื่อวานแต่วันนี้ก็ดำเนินการแล้วเหมือนกัน

ในส่วนของจังหวัดนครพนมซึ่งมีระยะทางที่ไกลและผู้ป่วยมีความจำเป็นเร่งด่วนทางกองทัพบก ก็ได้มีการสนับสนุนเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใช้งานทั่วไป เพื่อขนย้ายพี่น้องประชาชนที่พบเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนา ซึ่งเดิมทีจะมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิดทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบิน เกิดความไม่ปลอดภัย จึงยังไม่ได้นำส่งผู้ป่วย แต่ในวันนี้ที่สภาพอากาศพร้อมจึงได้นำผู้ป่วยบินกลับภูมิลำเนา จำนวน 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวแรกในเวลา 11:30 น จำนวน 18 คน เที่ยวบินที่ 2 เวลา 15.30 น. อีก 20 คน

ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมบูรณาการในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ท่าอากาศยานนครพนมที่ได้สนับสนุนพื้นที่ในการลงจอดของเครื่องบิน หน่วยงานสาธารณสุขที่สนับสนุนบุคลากรในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วย โดยทางมณฑลทหารบกที่ 210 จะดำเนินการลำเลียงผู้ป่วยจากสนามบินไปยังจุดพักคอยเพื่อคัดกรองผู้ป่วยก่อนนำส่งต่อไปยังจุดรักษาต่าง ๆ ตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม ในส่วนของค่ายพระยอดเมืองขวางก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดสถานที่เพื่อรองรับเป็นลักษณะของโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกันหากโรงพยาบาลฝ่ายพลเรือนมีเตียงไม่เพียงพอ ซึ่งก็อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลค่ายพระยอดเมืองขวาง ที่เมื่อมีผู้ป่วยเข้าไปในค่ายแล้วทางค่ายจะมีมาตรการที่เข้มงวดและเข้มข้นในการที่จะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่ชุมชนและพื้นที่

ขอให้ทุกคนมีความมั่นใจในแนวทางการปฏิบัติว่าทางค่ายพระยอดเมืองขวางมีความพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยที่จะช่วยแบ่งเบาภาระและพร้อมในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผู้สื่อข่าวนครพนม

ชัยภูมิ – อินทผาลัมดั้มราคาสุด ๆ จากโลละ 400 เหลือ 200 บาท สู้ภัยโควิดเราต้องรอด

เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ประสบปัญหาผลผลิตอินทผาลัมในไร่ที่กำลังแก่จัดออกสู่ผู้บริโภค ผู้บริโภคน้อยลง ยอมดั้มราคาลงสุด ๆ จากทุกปีขายกิโลกรัมละ 400 บาท เหลือขายในราคากิโลกรัมละเพียง 200 บาท รับประกันสดจากสวนระดับพรีเมี่ยม สู้ภัยโควิด-19 เราต้องรอดไปกัน

วันนี้(29ก.ค.64) นายสุริยา มาทน  (โจ)อายุ 43 ปี เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม ไร่แม่ถวิล บ้านเลขที่ 19 หมู่6 บ้านแจ้งใหญ่ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้นำชมสวนอินทผาลัมในไร่ของตนเองจำนวน 65 ต้น หลังจากกลับจากทำงานที่ต่างประเทศ ได้กลับมาประเทศไทย ได้ทำการเกษตรปลูกอินทผาลัม สายพันธุ์ต่าง ๆ เมื่อ 4 ปีก่อน และเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ผลผลิตอินทผาลัมที่ปลูกเริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณ 3 ตัน นำออกขายกิโลกรัมละ 400 บาท มีรายได้หักค่าใช้จ่ายจากการขายอินทผาลัมหลักแสนบาท 

ในปีนี้อินทผาลัม คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 3 ตันเช่นเดิม แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังดียังพอมีรายได้จากการขายอินทผาลัม มีรายได้พอเลี้ยงชีพครอบครัวได้บ้าง แต่ต้องยอมรับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลอินทผาลัมในไร่มียอดขายลดลงมากกว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำนวนมาก ในไร่สวนอินทผาลัมของตนเอง จะขายทั้งผลอินทผาลัมกินสด และน้ำสกัดอินทผาลัมแช่เย็น ส่วนไร่อินทผาลัมที่นี่จะใช้ปุ๋ยขี่ไก่บำรุงดิน ทำให้ผลอินทผาลัมที่นี่ได้ผลลูกมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง ฉ่ำน้ำ และเปลือกไม่แข็ง ส่วนน้ำสกัดอินทผาลัมแช่เย็น ไม่มีการใส่น้ำตาล แต่จะมีความหอมหวานตามธรรมชาติผลอินทผาลัม คลายผลละมุดแต่มีเอกลักษณ์ของผลอินทผาลัม หลังโควิด-19ระบาดลูกค้าน้อยลงหายไปมากกว่าครึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอินผาลัมได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาก ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ไม่ว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มกำลัง ขจัดความเมื่อยล้า ช่วยดับความหนาวเย็นแล้ว เมื่อร่างกายมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หากรับประทานอินทผาลัมภายในครึ่งชั่วโมงก็จะทำให้ร่างกายกลับมามีกำลังเหมือนเดิม และอื่น ๆ มากมาย

นายสุริยา มาทน (โจ) อายุ 43 ปี เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม แม่ถวิล บอกว่าขณะนี้ผลอินทผาลัมในไร่กำลังออกผลแก่ พร้อมออกสู่ตลาด หลังโควิด-19ระบาด ขณะนี้ยอมลดราคาลงแบบสุด ๆ จากกิโลกรัมละ 400 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 200 บาท และที่สำคัญต้องยอมลดราคาจากกำไร มาเป็นราคาต้นทุน เพื่อให้คนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารด้วย

นอกจากนั้น อินทผาลัมในไร่ช่วงนี้ได้เปิดร้านขายผลอินทผาลัมที่ถนนหมายเลข 201 ถนนชัยภูมิ- สีคิ้ว ทางออกไปยัง กทม. เลยปั้ม ปตท.ประมาณ 500 เมตร โดยจำหน่ายอินทผาลัมสดจากสวนของตนในราคากิโลละ 200 บาทเท่านั้น รวมทั้งสินค้าทางการเกษตรอื่น ๆ ตามฤดูกาลด้วย มีผลผลิตทางการเกษตร ไร่แม่ถวิล อินทผาลัม สดจากสวนระดับพรีเมี่ยม ราคาถูกสุด ๆ ราคาต้นทุนได้ทุกวัน และสามารถติดต่อสอบถามหรือสั่งจองได้ที่ คุณโจ เบอร์โทรศัพท์ 06 3929 9223 หรือ เฟซบุ๊ก “คุณโจ มาทน” https://www.facebook.com/jo.mathon ระยะทางห่างจากตัวอำเภอหนองบัวระเหว ประมาณ 14 กม. รับรองไม่ผิดหวัง

อุบลราชธานี - แท็กซี่อุบลฯ นำรถแท็กซี่ เป็นแกลลอรี่เทียนพรรษาเคลื่อนที่ "คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม" หวังสร้างการรับรู้เพิ่ม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานับเป็นครั้งแรก

นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานที่ปรึกษาสภาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทแท็กซี่สหการอุบลฯ นำรถแท็กซี่จำนวนมาก มาทำเป็น Gallery เทียนพรรษาสวยงามเคลื่อนที่ พร้อมข้อความป้ายซีทรูกระจกด้านหลังระบุ คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม การมีส่วนร่วมของรถแท็กซี่ และเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป 

โดยได้ดำเนินการเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ แท็กซี่อุบล ได้พร้อมใจกันทำสติกเกอร์ Gallery เทียนพรรษา ติดไว้ที่ประตูรถด้านหลังซ้าย-ขวา รวมทั้งกระจกด้านหลังแท็กซี่โดยเขียนข้อความในป้ายซีทรูว่า “คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม" ทั้งนี้เพื่อ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ต้นเทียนพรรษาอุบล ผ่านรถแท็กซี่ ซึ่งป้ายสติกเกอร์ดังกล่าว จะทำให้ผู้โดยสารรถแท็กซี่หรือนักท่องเที่ยว มาใช้บริการรถแท็กซี่ได้รับรู้ถึงต้นเทียนพรรษาที่สวยงามและการมีส่วนร่วมภาคภูมิใจ ในงานเทศกาลเทียนพรรษาอุบลราชธานีช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

คาดว่าสติกเกอร์ดังกล่าว จะอยู่นานมากกว่า 3 เดือนแน่นอน เป็นความภาคภูมิใจและการมีส่วนร่วมของแท็กซี่อุบลราชธานี ที่พร้อมใจกันทำสติกเกอร์ติดบนรถแท็กซี่ โดยสมัครใจและไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  เอกชัย โปธา รายงาน

อุดรธานี – ทหารเตรียมพร้อม ช่วยผู้ป่วยติดโควิด-19 พร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชน

พันโท เศรษฐสิทธิ์ พวงบานเย็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ได้ตรวจสภาพความพร้อมของกองร้อยช่วยเหลือประชาชน หมวดสารวัตรทหาร และชุดเผชิญเหตุหมวดเสนารักษ์ของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 บริเวณหน้ากองบังคับการกองพันทหารราบที่  1 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

โดยทำการฝึกเตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับชุดปฏิบัติการให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัย และเป็นชุดเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ให้เกิดความชำนาญของกำลังพล ในการใช้ยุทโธปกรณ์ และเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างปลอดภัยทั้งผู้ให้การช่วยเหลือ และผู้ได้รับการช่วยเหลือ

จากการตรวจความพร้อมในครั้งนี้ ทำให้หน่วยมีความพร้อมด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ความชำนาญของกำลังพลเพิ่มมากขึ้น และสามารถปฏิบัติภารกิจได้เมื่อได้รับการประสานหรือเมื่อได้รับคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่


ภาพ/ข่าว  จ.ส.อ.กฤษฎา มณีใส กรมทหารราบที่ 13

ยโสธร – หมอทวีศิลป์ เยี่ยมศูนย์พักคอยพร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.20 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 10 เดินทางมาเพื่อตรวจเยี่ยม ศูนย์พักคอย อ.เมืองยโสธร ซึ่งตั้งอยู่ที่ ค่ายลูกเสือจังหวัดยโสธร (เมืองยศ) บ้านเดิด หมู่ 1 ถนนแจ้งสนิท ตำบลเดิด อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีนายอภิรัตน์ ป้องกัน นายอำเภอเมืองยโสธร พร้อมด้วยนายวิทยา เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร นายเสน่ห์ แสนจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลเดิด อสม. ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเดิดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับ

สำหรับศูนย์พักคอย CI ( Community Isolation ) อ.เมืองยโสธร ซึ่งจะใช้รับผู้ป่วยโควิดตามมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษาตัวยังภูมิลำเนาของอำเภอเมืองยโสธร โดยจะรับผู้ป่วยที่กลับจากพื้นที่สีแดงเข้มที่อยากกลับบ้านและมีภูมิลำเนาในเขตอำเภอเมืองยโสธร มาพักคอยเพื่อรอส่งต่อโรงพยาบาลหลักหรือโรงพยาบาลสนามต่อไป

ภายหลังการตรวจเยี่ยม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ได้กล่าวชื่นชมความพร้อมของสถานที่ ขอบคุณความร่วมมือของพลังท้องถิ่นทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทจัดเตรียมรับพี่น้องกลับบ้าน ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลยโสธรเพื่อบรรยายสรุปการเดินทางมาตรวจเยี่ยมจังหวัดยโสธรในวันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top