Thursday, 9 May 2024
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ – มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัย 144,000 ชิ้น ให้กับประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 กันยายน 2564  ที่ห้องเจ้าเมือง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัยให้กับนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  จำนวน 2,880 กล่อง  กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธี     

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ  หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภก" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นไปได้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ 13 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 41 ราย เป็นผู้ติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 5 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 22 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 14 ราย และหายป่วย 21 ราย โดยมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,278 ราย รักษาหายแล้ว 6,516 ราย กำลังรักษาอยู่ 715 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

อุดรธานี - กองทัพอากาศสิงคโปร์ ร่วมกับ กองบิน 23 มอบชุด PPE จำนวน 1,000 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 9 กันยายน 2564 นาวาอากาศเอก กษิดิ์เดช แม้นสงวน รองผู้บังคับการกองบิน 23 นาวาอากาศโท รักพงศ์ เถื่อนนาดี หัวหน้าแผนกยุทธการ กองบิน 23 พร้อมด้วย นาวาอากาศโท เดเร็ก ชาน หัวหน้าหน่วยบินแยกกองทัพอากาศสิงคโปร์ และคณะข้าราชการกองบิน 23 ข้าราชการกองทัพอากาศสิงคโปร์ ร่วมมอบชุด PPE จำนวน 1,000 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ด้วยความห่วงใย และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด -19

ในการนี้ นายแพทย์ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้รับมอบ โดยมี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมรับมอบ และได้กล่าวขอบคุณทางกองทัพอากาศสิงคโปร์และกองบิน 23 ที่นำชุด PPE มามอบให้ในครั้งนี้ ซึ่งหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก ก็เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานี ถึงแม้ว่าทุกภาคส่วนจะให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีสำรองไว้ถือว่าเป็นการดีที่สุด เป็นการสร้างความอุ่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์

อุดรธานี - “โจ๊ก” ที่ปรึกษา สบ.9 ชมโรงพักอุดรฯ ขับเคลื่อน SMART SAFTY ZONE ตรงจุดดึงท้องถิ่นร่วมมือได้ดีทำให้อาชญากรรมลดลง

วันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น.  พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ. 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจ ตามโครงการ SMART SAFTY ZONE  “เมืองอัจฉริยะ” อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน  สภ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นสถานีหนึ่งนำร่องใน 15 สถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี ,นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี, นายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี ,พล.ต.ต.วรัตน์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รอง ผบช.ภ.4 ,พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี ,พ.ต.อ.อารี สินธุรา ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี, พ.ต.ท.พัฒนวงศ์ จันทร์พล รอง ผกก.ป.สภ.เมืองอุดรธานี และตัวแทนจาก มทบ.24 กอ.รมน. และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ เข้าร่วมประชุมที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ เทศบาลนครอุดรธานี

พ.ต.อ.อารี สินธุรา ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี กล่าวว่า สภ.เมืองอุดรธานี ได้รับคัดเลือกจากตำรวจภูธรภาค 4 ให้เป็นสถานีนำร่องตามโครงการ  SMART SAFTY ZONE  ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้เลือกพื้นที่ย่านศูนย์การค้าให้เป็นพื้นที่ “อุดรเซฟตี้โซ” มีพื้นที่ 4.3 ตร.กม. ทิศเหนือจดกับ ถนนวัฒนานุวงศ์ ทิศใต้จดกับถนนโพศรี ทิศตะวันออกจดกับ ถนนทองใหญ่ ถนนเลียบทางรถไฟ และทิศตะวันตกจดกับถนนฑีฆธนานนท์ และถนนประจักษ์ศิลปาคม  ซึ่งเป็นพื้นที่จุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม มีตลาดยูดีทาวน์, เซ็นทรัล, ตลาดเซ็นเตอร์พ้อยท์, ตลาดนัดรถไฟ, ตลาด ปรีชา, สถานีรถไฟ, รพ.กรุงเทพ, ซอยสัมพันธมิตร และ โรงเรียน เทศบาล 7 ถนนประจักษ์ศิลปาคม

โดยสร้างเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม มีการดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง สร้างเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยอาชญากรรม การปรับปรุงสภาพแวดล้อม กำหนดแผนป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก การตรวจพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการ เพื่อยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ยกระดับการทำงานของตำรวจตามกรอบความคิดเรื่องราชการ 4.0 และก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล  ซึ่งมีกล้องวงจรปิดของภาครัฐและเอกชนตามเส้นทาง และที่สาธารณะ 83 ตัว  เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังสถานีตำรวจ  ติดเสาไฟฟ้าส่องสว่างตามเส้นทางหลัก 128 ต้น และปรับภูมิทัศน์จุดเลี่ยง ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิดเพิ่ม และตัดกิ่งต้นไม้ให้โล่งโปร่งมองเห็นได้

โดยได้ทำการทาสีตีเส้นจราจรให้เห็นเด่นชัดบนถนน ปิดอาคารร้างไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากร ซึ่งได้สร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน  ด้วยการติดตั้งตู้แจ้งเหตุ ปล่อยแถวสายตรวจรถจักรยานยนต์ 191 และสายตรวจเดินเท้า บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ตลาดรถไฟ เมื่อได้รับแจ้งเหตุต้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ทันท่วงที ใช้เครื่องมือพร้อมตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีจากกล้องวงจรปิดควบคู่กันไป มีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน บินหาคนร้ายที่ก่อเหตุ ทำให้ประชาชนอุ่นใจ รับรู้ เข้าใจ และให้ความร่วมมือ มากยิ่งขึ้น หลังจากทำโครงการได้ 3 เดือน จากสถิติพบว่าการแจ้งเหตุอาชญากรรมลดลง อย่างเห็นได้ชัด

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9)  กล่าวว่า โครงการ SMART SAFETY ZONE  มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากอาชญากรรม จัดระบบการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ขอชื่นชมตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี  ได้ขับเคลื่อน โครงการ SMART SAFETY ZONE ได้เป็นอย่างดีในอันดับต้น ที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย ทั้งองค์การส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการป้องกันอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี เป็นการป้องกันมากกว่าการปราบปราม ซึ่งเป็นการตอบโจษและถูกใจประชาชนที่สุด

จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้า สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ที่ชั้นล่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี  จากนั้นเดินทางไปประชาสัมพันธ์โครงการพร้อมกับแจกหน้ากากอนามัยผู้ประกอบการ และประชาชนที่ศูนย์อาหาร ภายในศูนย์การค้ายูดีทาวน์  เสร็จแล้วเดินทางดูศูนย์ควบคุมสั่งการอุดรเซฟซี้โซน งานสืบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นศูนย์รวมกล้องวงจรปิดภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล  กล่าวต่อว่า โครงการ SMART SAFETY ZONE เป็นโครงการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นผู้ริเริ่ม และนำร่อง ใน 15 สถานีตำรวจ หนึ่งในนั้นคือ สภ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี วันนี้ได้รับมอบหมายให้มาตรวจเยี่ยม ติดตามผล จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ SMART SAFETY ZONE อาชญกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งลัก วิ่ง ชิง ปล้น และเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ  ตัวเลขเหล่านี้เป็นสถิติชี้วัดความเดือดร้อนของประชาชน ความต้องการของประชาชน โครงการ SMART SAFETY ZONE เป็นการป้องกันนำการปราบปราม ป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ซึ่งตรงใจประชาชนมาก ความเสียหายไม่เกิด ประชาชนไม่ล้นคุก เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างท่องแท้

ที่ปรึกษา (สบ. 9)  กล่าวว่า ภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาทุกส่วนในจังหวัดแล้ว โดยเฉพาะในใจกลางเมือง จะเห็นภาพทุกจุด และยังเชื่อมโยงกับกล้องวงจรปิดของเอกชนด้วย มีการดึงกล้องจากบ้านเรือนประชาชนมาที่สถานีตำรวจ ตำรวจกำลังมีน้อย จึงต้องร่วมกับประชาชนทำให้ตำรวจมีกำลังมาก นายก อบจ. ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ยังเพิ่มกล้องให้อีก นับวันยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้น  ผบ.ตร.จะนำการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายโครงการออกไปอีก ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนทั้งสิ้น

จากลงพื้นที่อุดรธานี รู้สึกพึงพอใจ ซึ่งจะได้นำเรียนท่าน ผบ.ตร. เพื่อให้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งอนาคตข้างหน้าจะเพิ่มอีก 15 จังหวัด เพราะมีงบประมาณจำกัด แต่ได้ความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หากตำรวจทำจริงก็ยิ่งอยากจะให้งบประมาณ กำลังอยู่ที่ตำรวจ ให้ตำรวจไปทำงาน ท้องถิ่นจะได้ปลอดภัยดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

ชัยภูมิ – ผู้ว่าฯสั่งจับตา เตือนประชาชนทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดไปจนถึง 11 ก.ย. นี้ หลังฝนเริ่มตกหนักต่อเนื่องแล้วหลายพื้นที่ บริเวณลำชีน้ำเริ่มหนุนสูง รวมทั้งเขื่อนลำปะทาวใกล้เต็มเริ่มปล่อยระบายน้ำออกนอกเขื่อนแล้ว!

( 8 ก.ย.64 ) ขณะที่ จ.ชัยภูมิ นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ( ผวจ.ชัยภูมิ) ประกาศแจ้งเตือนประชาชน พร้อมสั่งแจ้งผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยงใกล้เชิงเขา อยู่ใกล้ริมตลิ่งลำน้ำชี และเขื่อนปล่อยน้ำไหลผ่าน  ให้เตรียมความพร้อมช่วยกันเฝ้าระวังในช่วงระหว่าง 7- 11 ก.ย.64 นี้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และ จ.ชัยภูมิ จะเกิดฝนตกหนักฟ้าคะนอง เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ทุกพื้นที่

ซึ่งหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่มาต่อเนื่องตั้งแต่วานนี้ (7 ก.ย.64)ที่ผ่านมา ซึ่ง จ.ชัยภูมิ เป็นจังหวัดเป็นแหล่งจุดต้นกำเนิดแม่น้ำชี ที่จะไหลผ่านไปเกือบทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ล่าสุดเริ่มทำให้มีน้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำแม่น้ำชีเริ่มหนุนสูงใกล้ล้นตลิ่งอีกไม่ถึง 1 เมตร แล้วหลายพื้นที่ผ่านลงมาจาก อ.หนองบัวแดง,อ.หนองบัวระเหว,อ.บ้านเขว้า,อ.จัตุรัส และผ่านมาเชื่อมในเขต อ.เมืองชัยภูมิ บางส่วนในเขตตำบลบ้านค่ายและตำบลบุงคล้า ติดรอยต่อเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ  ก่อนที่จะไหลผ่านไปยังพื้นที่ อ.เนินสง่า,คอนสวรรค์ และเชื่อมไหลผ่านออกต่อไปยังจังหวัดขอนแก่น ต่อไป

รวมทั้งในส่วนของเขื่อนลำปะทาวตอนบน และตอนล่าง ความจุรวมกว่า 60 ล้าน ลบ.ม.ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา อยู่รอยต่อของ 2 อำเภอเขต อ.เมืองชัยภูมิ และ อ.แก้งคร้อ ที่จะมีเส้นทางน้ำไหลผ่าน ลงมาในโซนเศรษฐกิจตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ด้วยทั้งหมดในขณะนี้เกิดฝนตกตกเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำใกล้เต็มเขื่อนลำปะทาวทั้ง 2 แห่งแล้ว ซึ่งทางเขื่อนลำปะทาวก็ได้เริ่มเตรียมแผนรับมือด้วยการทยอยปล่อยระบายน้ำออกมาจากเขื่อนลำปะทาวตอนล่างอย่างต่อเนื่องในขณะนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดน้ำป่าหลากล้นเขื่อนได้

ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ จึงขอแจ้งประกาศเตือนประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว ช่วยกันเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ในช่วงตั้งแต่ 7- 11 ก.ย.64 นี้ จ.ชัยภูมิ ยังจะเกิดฝนฟ้าคะนองตกหนัก  และเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าหลากได้ ควรที่การเตรียมตัวให้พร้อมในการติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ใกล้ตัวเอง เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ของมีค่าที่จำเป็นและพร้อมเตรียมอพยพออกจากพื้นที่มาอยู่ในที่ปลอดภัยที่แต่ละพื้นที่ต้องมีการจัดเตรียมรองรับไว้ได้ทันทีในช่วงนี้ด้วย

ร้อยเอ็ด - สั่งทิ้งทวน...แลนด์มาร์คแห่งใหญ่! พ่อเมืองร้อยเอ็ดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อประโยชน์สาธารณะ

เมื่อเวลา 09.00 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระพรหมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย , พระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดจะเอาวาดวัดบ้านเปลือยใหญ่ , พระราชปริยัติวิมล เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) , พระญาณวิลาศ รองเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) , นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด , นายสมชัย คล้ายทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากการประชุมฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 เรื่องการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำจังหวัด มีมติที่ประชุมเห็นชอบการก่อสร้างพระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด และผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด คำสั่งจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ 2703/2564 ประกอบกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ควรมีการจัดตั้งพุทธศาสนสถาน ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับพุทธมณฑลในส่วนภูมิภาคให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนสาธารณะ ที่สงบ ร่มรื่น ราษฎรสามารถใช้ออกกำลังกายได้ ประกอบพิธีทางศาสนา ประชุมปรึกษาเรื่องทางศาสนา และใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมได้

จังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้กำหนดให้มีการประชุมขึ้นในครั้งนี้โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาในวาระสำคัญ ดังนี้

1. หารือถึงปัญหาการขับเคลื่อนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการแก้ไข

2. การมอบหมายภารกิจที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการขับเคลื่อนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนแม่บท ด้านการจัดทำแบบแปลนและรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การขอใช้พื้นที่อ่างธวัชชัยเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด การนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดท่านใหม่ที่มารับหน้าที่ให้รับทราบเรื่องการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย

3. การจัดหางบประมาณในการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด

4. การเตรียมจัดทำแผนเพื่อบูรณาการกับแผนพัฒนาจังหวัด 

ทั้งนี้ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อ่างเก็บน้ำธวัชชัย เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมให้จัดทำผังการพัฒนาเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง พร้อมย้ำว่าการพัฒนาของจังหวัดร้อยเอ็ดควรเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยควรทำเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะการดูแลผู้สูงวัย เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีศักยภาพด้านการสาธารณสุข พร้อมทั้งต้องพัฒนาพื้นที่โดยรอบควบคู่ไปกับการสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด


ภาพ/ข่าว  โกสิทธิ์ / ร้อยเอ็ด(ห)

หนองบัวลำภู - สนง.เกษตรหนองบัวลำภู ทำโครงการสมุนไพรต้านภัยโควิด-19 ผลิตฟ้าทะลายโจรแจกเกษตรกรกว่า 2 หมื่นต้น พร้อมสนับสนุนผลิตเชิงการค้า

นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จากการที่ได้เกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 220 ล้านคน คร่าชีวิตผู้คนกว่า 4.5 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 12,000 คน และยังส่งผลทางเศรษฐกิจมหาศาลยากที่จะประเมิน ในประเทศไทยได้มีการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคดังกล่าวปรากฏว่าหายขาดไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอจัดทำโครงการสมุนไพรต้านภัยโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1 ผลิตฟ้าทะลายโจรแจกเกษตรกรและประชาชนทั่วไป

2 ส่งเสริมเกษตรกรผลิตฟ้าทะลายโจรเชิงการค้าเชิงการค้า

โดยมีเป้าหมายผลิตฟ้าทะลายโจรภายในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 20,000 ต้นโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

1.ผลิตแปลงแม่พันธุ์โดยรวบรวมต้นพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆไม่น้อยกว่า 3,000ต้น

2.ขยายพันธุ์แก่เกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู

3 ส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจจะปลูกเป็นการค้าโดยเน้นเป็นกลุ่ม เช่นวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่  โดยจะสนับสนุนความรู้วิชาการ กระบวนการผลิต และส่งเสริมด้านการตลาดด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจากอดีตราคาซื้อขายตันละประมาณ 20,000 บาทเศษ ขณะนี้ได้ขยับตัวสูงขึ้นอีกกว่าเท่าตัวและยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรที่จะปลูกฟ้าทะลายโจรสร้างรายได้โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในแต่ละสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ทุกระดับ จะช่วยกันนำดินกรอกถุงดำและทยอยตัดชำต้นฟ้าทะลายโจรเป็นระยะ ๆ แล้วจะทยอยทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์คาดว่าจะเริ่มแจกเกษตรกรได้ราวเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

ดังนั้น เกษตรกรกลุ่มพืชสมุนไพร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือแปลงใหญ่ กลุ่มใด สนใจจะปลูกฟ้าทะลายโจรเชิงการค้าขอให้สมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภูหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ 042-313301 , 042-316788


ภาพ / นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เจ้าพนักงานธุรการ คนงาน พนักงานขับรถยนต์ ร่วมกันผลิตขยายพันธุ์ฟ้าทะลายโจร

กาฬสินธุ์ – หมอใหญ่เตือน! เปิบเนื้อหมูดิบ เสี่ยงป่วยโรคหูดับเสียชีวิต แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต หลังพบโรคหูดับในภาคเหนือ แต่ยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และในกลุ่มผู้นิยมบริโภคเนื้อสุกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้บริโภคเนื้อสุกรหลายรายมีความกังวล ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดเหมือนโรคลัมปี สกิน ในโค หรือโรคเพิร์ส ในสุกรในพื้นที่หรือไม่ หลังพบมีการแพร่ระบาดของโรคหูดับ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และพบว่ามีผู้ป่วยหลายรายได้รับเชื้อ มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทางด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต และควรนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีการเกิดโรคหูดับในบางจังหวัดเขตภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีทั้งผู้ได้รับเชื้อและเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการบริโภคเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ทั้งนี้ อาจจะมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสุกรดิบ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อดังกล่าว ทั้งนี้ โรคหูดับหรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทาง คือการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องในสุกร หรือเลือด ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ปิ้งย่างที่ไม่สุก นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือสุกรที่เป็นโรค

นายแพทย์อภิชัย กล่าวอีกว่า เชื้อดังกล่าว ที่ปกติจะอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว โดยฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวน และทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้สุกรป่วยและตายได้ เมื่อนำเนื้อสุกรที่ตายด้วยโรคดังกล่าวมาบริโภคโดยไม่ผ่านการปรุงสุก จึงทำให้เชื่อเข้าสู่ร่างกายและเจ็บป่วย ในรายที่อาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้

“อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 3 วันจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งหูหนวก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และอาจชีวิตในเวลาต่อมา” นายแพทย์อภิชัยกล่าว

นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ไม่มีประวัติพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ อาจจะมีผลมีจากชาว จ.กาฬสินธุ์ ไม่นิยมบริโภคเนื้อสุกรดิบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและไม่เกิดความกังวลในการบริโภคเนื้อสุกร จึงขอประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัยก็จะไม่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อพยาธิ โรคท้องร่วง และป่วยโรคหูดับเสียชีวิตดังกล่าว

ขอนแก่น - "ทม.ศิลา" มอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดโควิด-19 เพื่อใช้ชีวิตกลับเป็นปกติในสังคมต่อไป

รองนายกฯ พร้อมประธานสภาฯ ทม.ศิลา พร้อมด้วยผญบ.อสม.บ้านหนองกุง ร่วมมอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วพร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา ,นายสุริยนต์ ติวเฮือง ประธานสภาเทศบาลเมืองศิลา พร้อมด้วยผญบ.,อสม.บ้านหนองกุง ม.2  ม.17 ลงพื้นที่ เยี่ยมและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้ว พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิค -19 ที่ได้ทำการรักษาจนหายดี แล้วมารับมอบ

นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา กล่าวว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยต้องปรับตัวต่อมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันตนเองและการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ขณะที่ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ศิลา ซึ่งในการลงพื้นที่ในวันนี้จึงเป็นการติดตามและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วให้พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคม ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ประมาท โดยสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเป็นประจำ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากทุกคนร่วมมือกัน มั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน

สุรินทร์ - บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ร่วมทำดีกับโครงการ “แยกขวดช่วยหมอ” เพื่อผลิตชุด PPE สู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายพัฒน์  เสถียรถิระกุล และนางสาววัชรนันท์  พิริยพูล ผู้บริหารรุ่นใหม่จาก KI Sugar Group (บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการมอบขวด PET จำนวน 130 กิโลกรัม ให้กับ PTT GC (YOUเทิร์น) และสนับสนุนทุน 100,000 บาท ให้กับมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล

โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพ.นิติพันธ์  จีระแพทย์ นายกสมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเป็นผู้รับมอบ เพื่อรวบรวมขวด PET นำไปผลิตเป็นชุด PPE ใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และนำไปบริจาคในพื้นที่ที่ขาดแคลนต่อไป  “โครงการแยกขวดช่วยหมอ” เป็นภารกิจระดมขวด PET เพื่อนำไปผลิตเป็นชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดำเนินการโดย YOUเทิร์น by PTT GC นำขวด PET ไปแปรรูปเป็นเส้นใย ถักทอเป็นผืนผ้าแล้วเคลือบสะท้อนน้ำ และมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล จัดสรรทุนในการตัดเย็บเป็นชุด PPE สำเร็จรูป ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ – ส่งเสบียงช่วยหมู่บ้านล็อกดาวน์ คลัสเตอร์งานวันเกิดติดเชื้อโควิด 29 ราย

“วิรัช พิมพะนิตย์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ นำถุงยังชีพปันน้ำใจสู้ภัยโควิดมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ที่บ้านเหล่าสูง ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หลังพบคลัสเตอร์งานวันเกิด มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน 29 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน และต้องสั่งล็อกดาวน์ทั้งหมู่บ้าน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 กันยายน 2564 ที่บริเวณจุดคัดกรองทางเข้าบ้านเหล่าสูง ม.4 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์  รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย จำนวน 200 ชุด ไปมอบให้กับประชาชนบ้านเหล่าสูง ม. 4 ต.ห้วยโพธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 หลังพบคลัสเตอร์หญิงสาวรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีการจัดงานวันเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านจำนวน 29 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน ทำให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปิดหมู่บ้าน ตั้งจุดคัดกรอง 250 หลังคาเรือน ห้ามเข้า-ออกโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยมีนายสุนทร เจริญพันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยโพธิ์ นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ นายอำนวย ศรีแพงมล ผู้ใหญ่บ้านเหล่าสูง พร้อมด้วย อสม.ร่วมรับมอบ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นการเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่บ้านเหล่าสูง ซึ่งมีอยู่กว่า 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากต้องปิดหมู่บ้าน พร้อมให้กำลังใจผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าประจำจุดคัดกรอง ทั้งนี้อยากฝากถึงทุกคนให้ช่วยกัน อย่าได้รังเกียจกันและกัน เพราะไม่มีใครอยากติดเชื้อ และอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ต่อสู้โรคโควิด-19 และให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันให้ได้

นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีกลุ่มคลัสเตอร์โควิด-19 การจัดงานวันเกิด ทำให้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 29 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวมจำนวน 13 ครัวเรือน ทำให้ทางผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมร่วมกันและมีมติปิดหมู่บ้าน พร้อมทั้งตั้งด่านคัดกรองการเข้า-ออก โดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อไปยังพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามสำหรับการปิดหมู่บ้านนั้น ประชาชนทั้ง 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นบ้างแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 13 ครัวเรือนก็ได้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษฺ  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top