Monday, 20 May 2024
อีสานไทม์

สุรินทร์ - ร.23 พัน.3 จัดกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ชุมชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองง จังหวัดสุรินทร์  พันโท พงษ์พัฒน์  เตือนขุนทด ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 ได้มอบหมายให้ ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จัดชุด Army Delivery จำนวน 3 คัน ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" โดยการนำข้าวกล่อง จำนวน 30 กล่อง, น้ำดื่ม และ หน้ากากอนามัย

ออกแจกจ่ายให้ประชาชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน บ้านเฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ 21 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ในการช่วยเหลือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ

ขอนแก่น - โควิดระบาด ชาวบ้านแห่ซื้อฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว เกลี้ยงแผงทุกร้านขายยา พบของขาดมานานหลายเดือนแล้ว

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจร้านขายยาแผนปัจจุบัน ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น หลังพบว่ามีประชาชนจำนวนมากพากันมาเลือกซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว แบบแคปซูล กันอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปรับประทานป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อในเขต จ.ขอนแก่น พบผู้ป่วยมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะที่ร้านยาธงดีเภสัช ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.ศรีธาตุประชาสันติ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบว่ามีประชาชนมาสอบถามและซื้อยาฟ้าทะลายโจรและยากลุ่มต้านไวรัสกันตลอดทั้งวัน

เภสัชกรธง ดีมาก เจ้าของร้านขายยาธงดีเภสัช กล่าวว่า ยอมรับว่าฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลขายหมดได้ประมาณ 3 สัปดาห์แล้ว ส่วนยาเขียวตราใบโพธิ์ และกระชายขาวนั้นขาดตลาดมานานกว่า 4 เดือนแล้วเช่นกัน ซึ่งเมื่อลูกค้าเข้ามาสอบถามก็จะแนะนำในส่วนของสมุนไพรทางเลือกอื่น ๆ ขณะที่จากการสอบถามลูกค้าที่มาซื้อนั้นพบว่าเป็นลูกค้าจากต่างอำเภอที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แวะเข้ามาถามซื้อฟ้าทะลายโจร และกลุ่มยาต้านไวรัส เพื่อซื้อส่งไปให้ลูก หลาน รวมทั้งญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพราะได้รับการประสานจากญาติว่ากลุ่มยาเหล่านี้หาซื้อไม่ได้แล้ว

"ยังมีกลุ่มยาที่ประชาชนเข้ามาถามหาเพิ่มเติม คือยากลุ่มต้านเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ก่อนหน้านี้พบว่ามีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างมาก ที่เป็นสูตรในการรักษาโควิด แบบประคับประคอง เพราะลูกค้าบางรายอาจจะเตรียมไว้เผื่อในอนาคตหากต้องติดโควิด แล้วโรงพยาบาลสนามเต็ม ก็จะได้มีการรักษาตัวเองไปก่อน รวมไปถึงกลุ่มยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลมในกรณีที่เชื้อลงปอด และยังมีกลุ่มยาลดไข้และสมุนไพรทางเลือกอื่น ๆ ที่ลูกค้าแวะมาเลือกซื้ออยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามหากในกรณีที่ฟ้าทะลายโจรขาดตลาด และลูกค้ามาสอบถามก็จะแนะนำขมิ้นชันวิตามินซี รวมทั้งสเปรย์พ่นคอ ที่ช่วยต้านเชื้อไวรัสเชื่แแบคทีเรียและเชื้อราได้อีกด้วย"

เภสัชกรธง กล่าวต่ออีกว่า ร้านมีการปรับตัวในการขายเยอะขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการขายยาผ่านช่องหน้าต่าง ปิดประตูไม่ให้ลูกค้าเข้ามาภายในบริเวณร้าน มีพัดลมดูดดอากาศให้อากาศหมุนเวียนตลอดเวลา อีกทั้งมีการเขียนป้ายไฟบริเวณด้านหน้าร้าน ว่าจ่ายยาผ่านช่องรบกวนให้ลูกค้ากดกริ่งเรียกเภสัชกร นอกจากนี้ยังมีการจัดส่วนของยาให้เหมาะในการจ่ายได้ทันที และในของเภสัชกรเองก็จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยสวมทับด้วยเฟสชิวอีกชั้น นอกจากนี้ยังมีการขายยาผ่านช่องทางไลน์เป็นเทเลฟาร์มาซี มีการปรึกษาเภสัชกรทางวิดีโอคอลก่อนซื้อยา หลังจากนั้นให้ลูกค้าโอนเงินให้ร้านยา และจัดส่งด้วย Grab เพื่อความปลอดภัย ลดการเดินทางออกจากบ้านที่จะเสี่ยงติดเชื้ออีกด้วย

กาฬสินธุ์ – เปิด รพ.สนามสหัสขันธ์ อุปถัมภ์โดยคณะสงฆ์ กว่า 500,000 บาท พร้อมเปิดบริจาคสิ่งของจำเป็นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19

อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดโรงพยาบาลสนาม 50 เตียงรักษา 30 เตียงพักคอย พร้อมรับคนสหัสขันธ์กลับบ้านปลอดภัย อุปถัมภ์ก่อสร้างปรับปรุงโดยคณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ มูลค่ากว่า 500,000  บาท พร้อมเปิดรับบริจาคสิ่งของจำเป็นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เล็งปรับ LQ เป็นพื้นที่นอนรอเตียงรักษา 8 ตำบล

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณหอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน 904 ,พระอาจารย์ณรงค์ ชยุมงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) ,นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์,นายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผอ.รพ.สหัสขันธ์ พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน อปท. 8 แห่ง พื้นที่ อ.สหัสขันธ์ คณะแพทย์ พยาบาล รพ.สหัสขันธ์  ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ เพื่อเตรียมรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นคน อ.สหัสขันธ์ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 22 คน จากจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 62 คน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

โดยผู้มีจิตศรัทธา ได้นำสิ่งของที่จำเป็นมอบให้กับ รพ.สนาม ทั้งน้ำดื่ม ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร พัดลม เครื่องนอน ข้าวสาร อาหารแห้ง และเงินสด โดยโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการอุปถัมภ์โดยพระเทพมงคลวชิรมุณี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์ มอบเงินให้กับคณะกรรมการเป็นเงิน 505,237 บาท นอกจากนี้ พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต ยังมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศ ที่โอนเงินผ่านบัญชีสาธารณกุศลอ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงพื้นที่ รพ.สนาม รวมถึงการควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด มีพระครูสิริพัฒนนิเทศก์ เจ้าอาวาสวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ควบคุมดูแลและนำเครื่องจักรเข้าปฏิบัติการทั้งหมด ส่วนเตียง รพ.สนาม นายอำเภอสหัสขันธ์ ได้ระดมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างเตียงจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทดแทนในช่วงที่เตียงขาดแคลนและราคาสูง

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเมตตาจากคณะสงฆ์ เป็นที่ปรึกษาในการเริ่มต้นของโรงพยาบาลสนาม  โดยใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ และพื้นที่บริเวณโดยรอบ ติดกับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ ไม่น้อยกว่า 50 คน มีศูนย์พักคอยอีก 30 เตียง ที่มอบหมายให้ทางนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสหัสขันธ์  พร้อมทีแพทย์พยาบาล และนายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุขอำเภอสหัสขันธ์ จัดการภายในโรงพยาบาลสนามฯ เบื้องต้นมีคนสหัสขันธ์ยืนยันติดเชื้อแล้วจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด แจ้งกลับมารักษากว่า 30 คน ทั้งนี้ได้สั่ง LQ ของ อปท. ทุกแห่ง เตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชม.

“ส่วนลำดับขั้นตอนของโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผอ.รพ.สหัสขันธ์ และเป็นผอ.รพ.สนามฯ เมื่อผู้ป่วยมีความประสงค์จะเข้ามารักษา เบื้องต้นต้องเข้ารับการตรวจและยืนยันผลก่อน จากนั้นจะนำผู้ป่วยที่มีผลยืนยันเข้ารับการรักษาตามลำดับ ทั้งการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด เมื่อเข้าโรงพยาบาลสนามจะต้องเปลี่ยนชุดในชุดคนไข้ของ รพ.สนามที่เตรียมไว้ ซึ่งภายในโรงพยาบาลสนามจะมีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ทุกมุมกว่า 18 ตัว รอบนอกมีกำลังเจ้าหน้าที่ อส. ชรบ. อปพร. จากทุกตำบล มาอยู่เฝ้าเวรยามแบ่งกำลังวันละ 3 ผลัด มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสหัสขันธ์ เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยอีกชั้น ทั้งนี้ยังมี 8 อปท. ให้ความร่วมมือในการเตรียม LQ บุคลากร งบประมาณ เป็นความสามัคคีในพื้นที่เพื่อเอาชนะไวรัสโควิด-19 สร้างความปลอดภัยใน อ.สหัสขันธ์อย่างเข้มแข็ง” นายอำเภอสหัสขันธ์กล่าว


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น - สสจ. ย้ำชัด บุคลากรด่านหน้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน เร่งสำรวจผู้ที่ตกหล่น ฉีดให้ครบภายในเดือนนี้ วอนทุกคนเห็นใจตามการจัดสรรวัคซีนมาจากส่วนกลาง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า รพ.น้ำพอง และสำนักงานสาธารณสุข อ.น้ำพอง ได้สรุปรายงานและชี้แจงเหตุการณ์ กลุ่ม อสม. ในเขต อ.น้ำพอง ได้รวมตัวกันประท้วงและต่อว่าการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเขต อ.น้ำพอง จนทำให้ อสม. บ.น้ำพอง เกือบ 60 คนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งที่เป็นบุคลากรด่านหน้า ตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายแล้ว โดย นายอำเภอน้ำพอง,รพ.น้ำพอง,สำนักงานสาธารณสุข อ.น้ำพอง,สภ.น้ำพอง และ ชมรม อสม.อ.น้ำพอง ได้มีการประชุมและหารือกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าเกิดจากการสำรวจ ในระบบต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคณะทำงานได้หารือร่วมกันใหม่ทั้งหมดจนได้ข้อยุติ คือการสำรวจรายชื่อ อสม.ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนใหม่หมดทั้งอำเภอ เพื่อเข้าสู่แผนการฉีดวัคซีนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.

" ผมย้ำว่าบุคลากรด่านหน้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ขอแค่ทุกท่านดำเนินการตามที่ สสจ.หรือ ทีมแพทย์กำหนด ขณะที่ตัวแปรที่สำคัญคือการได้รับการจัดสรรวัคซีน จากส่วนกลาง ตามที่ได้รับการจัดสรรมาในแต่ละรอบ แต่เมื่อทางจังหวัดได้รับมาเท่าใดนั้น ก็มีการจัดส่งกระจายไปในพื้นที่ทุกอำเภอท่านพี่ ดังนั้น กล่ม อสม. ในเขต อ.น้ำพอง รวมกว่า 60 คนนั้น จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ก.ค.นี้"

นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า อสม.จัดเป็นบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญที่ทำงานร่วมกันกับ ฝ่ายสาธารณสุขในทุกเรื่องโดยเฉพาะกับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ที่ อสม.ทำงานอย่างหนักทุกวัน ดังนั้นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฎิบัติงาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันและร่วมมือกัน ให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่เพื่อที่เราจะก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

ขอนแก่น - เร่งสร้าง รพ.สนาม แห่งที่ 4 และ 5 รับมือภาวะผู้ป่วยล้นเตียง พร้อมสั่งปิดร้านเกม-อินเตอร์เนต -โรงหนัง -ร้านอาหาร ตามเวลาที่กำหนด หลัง ศบค.กำหนด ให้เป็นพื้นที่สีแดง ต้องคุมเขัมทุกมาตรการ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 ก.ค.2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 ภายในสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ครั้วที่ 28/2564 เพื่อประเมินและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ ศบค.ได้กำหนดให้ขอนแก่นเป็นพื้นที่ควบคุมสีแดง จากสถานการการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งจังหวัดได้มีมติในการปิดโรงภาพยนต์เป็นเวลา 14 วัน ขณะที่ร้านเกม ร้านอินเตอร์เนต มีคำสั่งปิดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่ร้านอาหารงดการจำหน่ายตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังคงมีคำสั่งเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ของพรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ออกไปเป็น เดือน ธ.ค.

"การจำกัดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่นั้นชัดเจนว่าตอนนี้เรามีจุดตรวจ เข้าเมือง ทั้งสิ้น 3 จุด คือที่ อ.บ้านไผ่ อ.ชุมแพ และที่ด่านตรวจเขตเมืองที่บริเวณสวนสาธารณะประตูเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบรถทุกคันโดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ รถที่มีป้ายทะเบียนต่างจังหวัด เช่นเดียวกันกับด่านตรวจหลักที่สนามบิน,สถานีขนส่งและสถานีรถไฟ จะตรวจเข้มทุกคนที่เดินเข้ามาในเขตจังหวัด โดยขอให้เตรียมเอกสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วยเอกสารการยืนยันฉีดวัคซีนชิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 28 วัน หรือการฉีดวัคชีนแอสตร้าเชเนก้า 1 เข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 28 วัน และมีผลตรวจโควิดมาแล้วไม่เกิน 72 ชม."

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นท่มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดเกิดจากการรับเชื้อมาจากต่างพื้นที่โดยที่ยังคงไม่มีการติดเชื้อภายในเขตจังหวัด ซึ่งในการประชุมได้มีมติ ตั้งโฮสพิเทล เพิ่มเติม คือที่โรงแรมโฆษะ และ โรงแรม กรีนโฮเต็ล ในการกำกับดูแลของ รพ.ราชพฤกษ์ รวมทั้งการตั้ง รพ.สนาม แห่งที่ 4 ที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อ.น้ำพอง  และ รพ.สนาม แห่งที่ 5 ที่ บ.กระทิงแดงจำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชน ที่ ตั้งอยู่ที่ อ.อุบลรัตน์ ที่ได้มีการเสนอตัวขึ้นมา เนื่องจากขณะนีเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด ของ รพ.ฯ ต่าง ๆ ใกล้เต็มจำนวน ซึ่งคณะทำงานจะลงพื้นที่ประเมินและจัดตั้ง ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเข้มงวดต่อไป

กาฬสินธุ์ - เปิดรพ.สนามแห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19 คืนถิ่น หลังพบประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนาจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม จ.กาฬสินธุ์ แห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี ซึ่งใช้บริเวณพื้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองกุงศรี เพื่อรองรับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนา สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเพิ่มได้อีก 100 เตียง โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พ่อค้า และประชาชนเข้าร่วมและมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางขอกลับมารักษาในภูมิลำเนาจำนวนมาก ทั้งนี้ปัจจุบันอำเภอหนองกุงศรีพบผู้ติดเชื้อหลายสิบรายอยู่ระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลแม่ข่าย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่ดูแลที่ศูนย์กักกันตำบลอีกจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างขอกลับมารักษาอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดโรงพยาบาลสนามอำเภอขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่ขอเดินทางกลับมารักษา

โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพที่ 7 ใช้เป็นสถานที่ในการดูแล รักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยกลุ่มระดับสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อยภายในระยะเวลา 14 วัน หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายจากโรค และหากในระหว่างรักษาผู้ติดเชื้อมีการวิกฤติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเตียงสูงสุด 100 เตียง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ อป.พร.ชรบ.และบุคลากรทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ขอนแก่น - พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 104 ราย ทำให้ยอดรวมสะสมของการระบาดระลอก 3 ทะลุ 1,614 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯสั่งเข้มทุกมาตรการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเข้มงวด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 ก.ค.2564 ที่สถานีรถไฟขอนแก่น นายพิชัย วันตา ป้องกันจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และนายศักดิ์นรินทร์ แสงอรุณ นายสถานีรถไฟขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายการสาธารณสุข จากสำนักงานสาธรณสุข จ.ขอนแก่น ,เทศบาลนครขอนแก่น,ฝ่ายปกครองและการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมากับขบวนรถไฟท้องถิ่นขบวนที่ 412 ชุมทางแก่งคอย จ.สระบุรี-ขอนแก่น ตามาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดนิทางมากับระบบขนส่งมวลชน โดยที่สถานีรถไฟขอนแกน ได้กำหนดจุดการลงจากรถ จากบริเวณชานชาลาชั้น 2 มายังอาคารผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 เพียง 1 ช่องทางยกเว้นผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่สามารถใช้ลิฟต์ขนส่งได้ ซึ่งเมื่อทุกคนลงมาถึง ชั้น 1 จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจคัดกรองเบื้อต้นจากเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการลงประวัติการเดินทางผ่านคิวอาร์โค้ดไทยชนะ และการลงทะเบียนผ่านระบบที่จังหวัดกำหนด เพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจติดตามผู้ที่เดินทาเข่ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น อย่างเข้มงวด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในวันนี้ขอนแก่น มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 104 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมจากการระบาดระลอกที่ 3 จำนวนทั้งสิ้น 1,614 ราย ในจำนวนนี้ยังคงอยู่ในการรักษาของโรงพยาบาลต่าง ๆ 896 ราย รักษาหายขาดและแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ 709 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 9 ราย ดังนั้นทุกมาตรการที่ รัฐบาล,ศบค.และจังหวัดกำหนดจะต้องดำเนินการไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่ด่านตรวจหลัดของจังหวัดที่ อ.บ้านไผ่ และ อ.ชุมแพ จะทำการตรวจคัดกรองและตรวจสอบเอกสารประจำตัวของแต่ละคนว่ามีการดำเนินการตามประกาศ หรือได้รับวัคซีน หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงตามที่ ศบค.กำหนดอย่างไร รวมไปถึงที่สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และสนามบิน ที่เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบการเดินทางเข้าและออกจังหวัดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องต่อไป

“ขณะนี้การเดินทางด้วยขบวนรถไฟโดยสารที่ต้องจอดที่สถานีรถไฟขอนแกน คงเหลือเพียง 3 ขบวนต่อวันเท่านั้น ซึ่งจะมีผู้โดยสารลงที่สถานีขอนแก่นประมาณ 10-15 คน ต่อเที่ยวรถ ขณะที่การลงรถตามสถานีรถไฟระดับอำเภอมาตรการตรวจคัดกรองและตรวจสอบการเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง จะสนธิกำลังร่วมฝ่ายสาธารณสุข ตำรวจและ อปท.ในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด ขณะที่หากพบผู้โดยสารมีไข้สูง หรือเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง เจ้าพนักงานประจำขบวนรถไฟจะประเมินสถานการณ์ และประสานงานร่วมสถานีปลายทางหรือสถานีรถไฟต่อไปในการจัดระบบรับผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ตามขั้นตอนที่ต้องปฎิบัติอย่างรัดกุมแล้ว”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอความร่วมมือทุกคนได้ช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งข้อมูลการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งของ ศบค. และจังหวัด เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบและอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและสีแดงเข้ม หรือสีแดง จะต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ เพื่อที่จะสามารถตรวจติดตามสถานการณ์ หรือเข้ารับการควบคุมโรคหรือเข้ารับการรักษาตามที่จังหวัดได้กำหนดแนวทางหรือดำเนินการอยู่ในขณะนี้หากพบว่าฝืน ซึ่งนอกจากจะต้องมีความผิดแล้ว ทั้งครอบครัวก็จะต้องเข้ารับการกักตัวที่ กองร้อย อส.ที่ 1 ขอนแก่น ทันทีโดยไม่มีละเว้น

บึงกาฬ - มท.2 มอบหน้ากาก 1.4 ล้านชิ้น ให้ทุกครอบครัวป้องกันโควิด-19

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 18 ก.ค. ที่บริเวณโถงด้านหน้าศาลากลาง จ.บึงกาฬ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เดินทางมาเป็นผู้แทนในการมอบหน้ากากอนามัยให้กับจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 1,400,000 ชิ้น โดยมีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกครัวเรือน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบน้ำใจ และความปรารถนาดีให้ชาวบึงกาฬได้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จ.บึงกาฬ ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมดูแลได้ มีผู้ติดเชื้อเข้ามาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อคนไม่สบายใจเกิดเจ็บไข้ขึ้นมา ตามปกติก็ต้องการกลับไปรักษาตัวที่บ้าน จึงไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร ทางจังหวัดบึงกาฬก็มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะรองรับพี่น้องของเราซึ่งต้องการจะกลับมารักษาตัวที่บ้าน พร้อมจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน แต่ก็ต้องขอความร่วมมือว่า ผู้ที่จะกลับมาก็ต้องแจ้งให้กับผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ทราบก่อน เป็นข้อมูลว่ามีใครบ้างที่เข้าออกในพื้นที่ เพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สำหรับหน้ากากอนามัยที่ได้นำมามอบให้กับพี่น้องชาวบึงกาฬในวันนี้ ตนได้แจ้งข่าวกับเพื่อนและคนที่รู้จักว่าต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบความห่วงใยและความปรารถนาดีให้แก่ชาวจังหวัดบึงกาฬทุกคน เป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเมื่อทุกคนทราบข่าวก็ต้องการร่วมในธารน้ำใจนี้ จึงเกิดเป็นการส่งมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 1,400,000 ชิ้นให้กับชาว จ.บึงกาฬ

สำหรับหน้ากากอนามัยจำนวน 1,400,000 ชิ้น จะถูกกระจายให้แต่ละอำเภอ ดังนี้ อ.เมืองบึงกาฬ 340,000 ชิ้น/ อ.พรเจริญ 140,000 ชิ้น/ อ.โซ่พิสัย 230,000 ชิ้น/ อ.เซกา 285,000 ชิ้น/ อ.ปากคาด 120,000 ชิ้น/ อ.บึงโขงหลง 115,000 ชิ้น/ อ.ศรีวิไล 125,000 ชิ้น และอ.บุ่งคล้า 45,000 ชิ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ยังได้กล่าวให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่กำลังทำงานอย่างหนักกับภารกิจควบคุมโรค และประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการที่คนไทยเรามีน้ำใจให้แก่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร พรมจันทร์ / บึงกาฬ

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น – บุคลากรทางการแพทย์นับหมื่นคน เตรียมบูสเตอร์วัคซีนต้นเดือน ส.ค. ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามกำหนด ไม่สลับสูตร แม้หลายคนจะขอยกเลิกการฉีดก็ตาม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 ก.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการของการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับบุลากรทางการแพทย์ ที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มด่านหน้าของการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19  โดยที่เข็มแรกที่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดนั้นคือในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งแผนการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ขอนแก่นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 22,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้กับแต่ละจังหวัด ตามแนวทางการที่กำหนดโดยมี แผนการกระตุ้นที่ชัดเจนคือการใช้แอสตร้าเซเนเก้าบูสอีก 1 เข็ม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ซึ่งทุกคนที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว2 เข็มจะต้องเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ถึจะสามารถเข้ารับการบูสเตอร์โดสได้

“ขณะนี้ขอนแก่นได้เตรียมวัคซีนชิโนแวค 1 คนต่อ 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจพบว่าหลายคนยังคงยืนยันขอรับการฉีดตามแผนเดิม ดังนั้นการบริหรจัดการวัคซีนในจังหวัด ที่กำหนดไว้คือภายในเดือน ก.ย. คนขอนแก่นจะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมประชากรร้อยละ 70จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่สิ่งที่พบในขณะนี้คือ เริ่มมีการขอผลัดหรือขอเลื่อนการรับวัคซีนออกไป โดยเฉพาะกับการรับวัคซีนชิโนแวคเข็มที่ 1ดังนั้นทีมแพทย์จะต้องแนะนำและทำความเข้าใจกับประชาชนตามแผนงานที่กำหนด คือการให้ผู้ที่ได้รับการยืนยันการเข้ารับวัคซีนได้เข้ารับวัคซีนตามที่กำหนด  คือรับวัคซีนชิโนแวค เข็มที่ 1 เมื่อครบ 3 สัปดาห์ก็ให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามที่กำหนด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”

นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากทุกคนยอมรับเฉพาะแนวทางการฉีดชิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ก็จะทำให้วัคซีนชิโนแวคจะเหลือ ได้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันนี้ขอนแก่นมีวัคซีนชิโนแวคอยู่ประมาณ 10,000  โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่จะเตรียมสำหรับการฉีดให้กับเข็มที่  2 ที่จะเข้าสู่ช่วงการฉีดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. อีกทั้งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนอีกประมาณ 22,000 โดส ในระยะนี้ หากนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 1 อย่างเดียว ก็ยังไม่ทราบว่าหากนำแอสตร้าเซเนก้า มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้นั้น จะทำอย่างไร และบางคนก็ปฎิเสธที่จะรับชิโนแวคทั้ง 2 เข็ม ซึ่งก็มีเกิดขึ้นแล้ว เช่นกัน

“ดังนั้นหน่วยบริการวัคซีนของทุกพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจ ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดวันนี้ คือวัคซีนทุกคนจะต้องได้รับได้เร็วที่สุด และปฎิบัติตัวด้วยความเข้าใจดำเนินการตามแผนงานที่ฝ่ายสาธารณสุขและแพทย์กำหนด  การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ไม่มีการป้องกันเป็นิส่งที่ไม่สมควรทำ อย่างไรก็ตามสำหรับการบูสเตอร์วัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดหากนับรวมระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 และระห่างในภาพรวมนั้น ชุดแรกที่จะได้รับการบูสเตอร์วัคซีนก็จะสามารถเข้ารับการฉีดได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top