Monday, 7 July 2025
POLITICS

‘พีระพันธุ์’ เผยเสนอชื่อ ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ ให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ในโควตา ‘รทสช.’ ‘เศรษฐา’ รับพิจารณา แต่ว่า!! ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีทางการเมืองก่อน

(12 ส.ค. 67) ที่ท้องสนามหลวง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ปรับ ครม.) ในส่วนของพรรค รทสช. ยังเหมือนเดิมหรือไม่ ที่เสนอให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ยังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ นายพีระพันธุ์ พยักหน้ารับ 

ส่วนที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หารือช่วงเย็นวันนี้ (12 ส.ค. 67) นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยเรื่องเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรค รทสช. ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร นายพีระพันธุ์ ตอบว่า “ยังเหมือนเดิมคือต้องดูข้อกฎหมายก่อน”

ก่อนหน้านั้น (เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงการเชิญพรรคร่วมรัฐบาล ประชุมในช่วงเย็นวันที่ 12 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เป็นการพบปะกันปกติเดือนละครั้ง เป็นการพูดคุยกันตามปกติ สอบถามในเรื่องของการทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของวาระสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึง ครม.

เมื่อถามว่าเป็นการนัดเพื่อส่งรายชื่อการปรับ ครม. หรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมการหารือ และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากเป็นเพียงเรื่องการประสานงานที่ตนทำหน้าที่ เป็นการพูดคุยกันเฉพาะหัวหน้าพรรคและผู้แทนพรรคเท่านั้น ถือเป็นวาระปกติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ  ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กรณีโควตาพรรคที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง หากมีการปรับ ครม. พรรคขอเสนอ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรค เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่า ตนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ แต่เรื่องยังไม่ถึงมือ 

ตอนนี้เดือนสิงหาคม คิดว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการเยอะไปหมด จริงๆ แล้วต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อนดีกว่า ให้หลายเรื่องมันจบไปก่อนดีกว่ามั้ง แต่แน่นอนถ้าเกิดพรรคร่วมรัฐบาลเสนอมาเราก็ต้องพิจารณา แต่ว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะยังมีเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อน

‘ผู้กำกับ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ชี้!! เหตุการณ์ 2475 ถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือยุยงปลุกปั่นให้คนผิดใจกัน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านประวัติศาสตร์ และยังแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 ที่ผ่านการศึกษาและค้นคว้าแจกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและบิดเบือน

โดยบางช่วงบางตอน นายวิวัธน์ได้กล่าวว่า “ทุกวันนี้เหตุการณ์ 2475 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้คนแตกแยกกัน ต่างคนต่างเล่าในมุมที่แตกต่าง และนำมาปลุกปั่นทำให้คนตีกัน จากเหตุเพราะความเห็นต่าง”

‘เพื่อไทย’ เตรียมคุย ‘พปชร.’ สัปดาห์หน้า ศึกเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก ‘สรวงศ์’ ลั่น!! หากส่งแล้ว ก็ต้องสู้เต็มที่ มั่นใจ!! คว้าเก้าอี้ได้แน่

(11 ส.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคนลงเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ว่า ตอนนี้ทางพรรคเพื่อไทยได้ถามไปยังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่ามีความพร้อมหรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงเป็นพรรคอันดับ 2 ในพื้นที่ดังกล่าว

นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการพูดคุยกัน เพราะยังไม่มีการเคาะวันสมัครรับเลือกตั้งออกมาว่าจะเป็นเมื่อไหร่ โดยจะพูดคุยกันภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่า หากส่งลงในนามของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถชิงเก้าอี้ได้ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรามั่นใจ หากตัดสินใจที่จะส่งแล้วก็ต้องสู้เต็มที่ ซึ่งเบื้องต้นพรรค เพื่อไทยก็ได้สอบถามไปยังผู้สมัครที่เคยลงสมัคร และได้พูดคุยกันแล้วว่าในพื้นที่พร้อมหรือไม่ และพร้อมขนาดไหน แต่ยังไม่ได้คำตอบ

‘วิสุทธิ์’ รับโควตา ‘รองประธานฯ คนที่ 1’ เป็นของ ‘ภูมิใจไทย’ ‘เพื่อไทย’ ไม่ส่งใครไปแย่ง ชี้!! ‘พิเชษฐ์’ ไม่ขอสลับ-ไม่ขอลาออก

(11 ส.ค. 67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงโควตาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ว่า โควตาดังกล่าวเป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้แจ้งมาว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งใครไปชิงตำแหน่งนี้ และไม่จำเป็นต้องสลับตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่1กับรองประธานสภาฯคนที่ 2 ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย เพราะนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พรรคเพื่อไทย ไม่ขอสลับ และไม่ขอลาออกจากตำแหน่ง ตอนนี้โควตารองประธานสภาฯคนที่1 เป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ต้องรอการหารือวิปรัฐบาล ในวันที่ 13 ส.ค อีกครั้ง

"มั่นใจไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน การเป็นรองประธานสภาคนที่ 1หรือคนที่ 2 ไม่ต่างกัน เท่าเทียมกัน การทำงานใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่สำนักงานที่อยู่ในความดูแลที่ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมอบให้ใครดูแลงานด้านไหน  ไม่มีการก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เชื่อมั่นการทำงานจะเป็นไปด้วยความราบรื่น" นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาปรับโควตาตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร หลังจากเสียงสส.ของพรรคประชาชนลดลง 5 เสียงนั้น ส่วนตัวเห็นว่า จำนวนสส.ของพรรคประชาชนที่หายไป 5 คน ลดลงแค่เล็กน้อย ดูแล้วคงยากที่จะให้มาสลับตำแหน่งกันใหม่ อัตราส่วนยังคงใกล้เคียงของเดิมอยู่ คงไม่ถึงขั้นมีผลกระทบให้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญของพรรคประชาชนต้องมาทบทวนกันใหม่ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของตนเท่านั้น จะต้องมาคุยกันในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 13 ส.ค.ก่อน พรรคร่วมรัฐบาลอื่น อาจเห็นไม่เหมือนตนก็ได้ เราทำงานในนามพรรคร่วมรัฐบาล ต้องรับฟังความเห็นร่วมกัน

ส่วนกรณีพรรคประชาชนมีผู้สมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 20 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่วันนั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้รู้สึกหนักใจ เอฟซีของใครก็ย่อมสนับสนุนพรรคของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน การที่พรรคประชาชนประกาศความเชื่อมั่นจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งปี 2570นั้น ก็ต้องดูถึงเวลาจะทำได้จริงหรือไม่ เหลือเวลาอีก 3 ปี สถานการณ์ในอนาคตคาดการณ์ไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจในนโยบายและการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและเสียงตอบรับจากประชาชนในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยเฉพาะขณะนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตใกล้จะแจกเงินถึงมือประชาชนในปลายปี ทำให้เสียงตอบรับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดีขึ้นมาก รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรหลายอย่างก็ดีขึ้น ทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยกลับมาดีขึ้นอย่างมาก

‘พรรคประชาชน’ เคาะส่ง ‘โฟล์ค ณฐชนน’ ชิงเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกแทน ‘หมออ๋อง’ เผย!! มีความมั่นใจในอุดมการณ์ที่ชัดเจน พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

(11 ส.ค. 67) นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติส่ง นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค รับสมัครเลือกตั้งซ่อมสส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างลง  

“นายณฐชนน เป็นเจ้าของธุรกิจ และร่วมทำงานการเมืองกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาตลอด โดยพรรคประชาชนมีความมั่นใจในอุดมการณ์และจุดยืนของนายณฐชนน เพราะมีความชัดเจนและทำงานใกล้ชิดกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยเฉพาะงานพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแทนหมออ๋อง" นายศรายุทธิ์ กล่าว

ทางด้านประวัติของ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ นั้นได้จบการศึกษาจาก โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  ปี 2551 และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิติศาสตร์ ปี 2556

ประกอบธุรกิจส่วนตัว หจก.พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา อดีตประธาน YEC หอการค้า จังหวัดพิษณุโลก อดีตประธาน Young FTI สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ผู้ชำนาญการประจำตัว สส.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา คณะทำงานประจำตัวรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ตำแหน่งนักวิชาการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหารประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

‘เทพไท’ ชี้!! พรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ จุดยืนชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียง มอง!! พรรคประชาชน ไม่ลดเพดาน ม.112 ต้องรับความเสี่ยง เคลื่อนไหวอย่างมีบทเรียน

(11 ส.ค. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่าพรรคการเมืองต้องแข่งกันที่อุดมการณ์

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกลไปแล้ว ได้ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไป 10 คน ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล เหลืออยู่ 143 คน และได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ทั้งชื่อของพรรค โลโก้ตราสัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ ประกาศเดินหน้านโยบายแบบไม่ลดเพดานลง แต่ได้เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้ศรัทธาต่ออุดมการณ์พรรคได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหลายหมื่นคน และมียอดเงินบริจาคภายในเวลา 9 ชั่วโมง ยอดบริจาคหลัก10ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสความศรัทธาอย่างแท้จริง

ผมในฐานะนักการเมืองอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ได้หันมาต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องจุดยืน อุดมการณ์และนโยบาย มากกว่าเรื่องการหาประโยชน์ สะสมทุนเพื่อซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากพรรคการเมืองมีจุดยืน อุดมการณ์ถูกใจประชาชนแล้ว สามารถเรียกคะแนนนิยมและศรัทธาจากประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียงเลย

ในอดีตที่ผ่านมาผมได้ตัดสินใจเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องหลักการประชาธิปไตย เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา มีความซื่อสัตย์และเป็นมืออาชีพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน ไม่ใช้เงินซื้อเสียง และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นอุดมการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์ไปทั้งหมด จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมากที่สุดในยุคนี้

ส่วนพรรคประชาชนที่ประกาศไม่ลดเพดานการแก้ไขมาตรา112 ก็เป็นจุดขายหนึ่งของพรรค ที่ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากถึง 14 ล้านคน เป็นนโยบายที่พรรคประชาชนต้องรับความเสี่ยงทางการเมือง ต้องสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการยุบพรรคเป็นครั้งที่3 และเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาชน ที่จะเสนอนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ของพรรคต่อสาธารณชน เพราะผู้ที่ตัดสินใจแท้จริง คือคนไทยทั้งประเทศ ว่าเห็นด้วยหรือยอมรับต่อนโยบายของพรรคประชาชนหรือไม่

ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับ เลือกพรรคประชาชนเป็นเสียงข้างมาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อย่าใช้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงกันอีก

‘หมอวรงค์’ เดินหน้าเสนอให้ยุบ ‘พรรคประชาชน’ หลังพบหลักฐานสำคัญ ชี้!! ‘ถิ่นกาขาว’ มีสาขาไม่ครบ เป็นพรรคที่สิ้นสภาพ เอามาดำเนินการไม่ได้

(11 ส.ค. 67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ... 

#ทำไมต้องเสนอยุบพรรคประชาชน

ตามที่สื่อเสนอข่าวว่า พรรคประชาชนเกิดจาก การที่นำพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มาเปลี่ยนชื่อพรรค เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

จากการตรวจสอบผ่านเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิด ของพรรคประชาชน มีสาขาพรรค3สาขา ภาคเหนือ 2สาขา และภาคกลาง 1 สาขา ไม่มีสาขาภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กฎหมายพรรคการเมือง กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพ ถ้ามีสาขาพรรคการเมือง เหลือไม่ถึงภาคละ1สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน1ปี นั่นหมายความว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ต้องมีสาขาครบทั้ง4ภาค ห้ามขาดหายไปติดต่อกัน1ปี ถ้าไม่ครบพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องสิ้นสภาพ

ข้อมูลหน้าเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียงแค่ 2ภาค ซึ่งไม่ครบ4ภาค และจัดตั้งตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความโปร่งใส กกต.ต้องตรวจสอบและชี้แจง ให้ประชาชนได้รับทราบ รายละเอียดการมีสาขาในแต่ละปี

ถ้าพรรคถิ่นกาขาวมีสาขาไม่ครบ4ภาค ติดต่อกัน1ปี จะเข้าข่ายการสิ้นสภาพของพรรคตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าพรรคประชาชน จะไม่สามารถนำพรรคที่สิ้นสภาพ มาดำเนินการเปลี่ยนชื่อพรรคได้

พรรคไทยภักดีจะไปยื่นเรื่องดังกล่าว ให้กกต.ตรวจสอบ และดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์ให้ความรู้ ม.112 ย้ำชัด!! กฎหมายนี้ แก้ไขได้ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

(11 ส.ค. 67) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ...

มาตรา 112 กับระบบปกครอง และ สถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ผมพยายามเขียนให้อ่านง่าย โดยยึดหลักกฎหมายและหลักระบอบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองด้วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงระบบการปกครองกัน

ใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรแสดงความเห็นในที่นี้ (เพราะความเห็นที่ปราศจากความรู้) อาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทางที่ดีอ่านอย่างเดียวจะดีกว่า

คำถามแรก: คือ มาตรา 112 แก้ไขได้หรือไม่

ตอบ: แก้ไขได้ เพราะตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2500 มาตรา 112 ก็เคยแก้ไขมาแล้ว คือ แก้ไขตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

คำถามที่สอง: การแก้ไขมาตรา 112 แก้ให้โทษหนักขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’ / หรือ แก้ให้โทษน้อยลงได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’

มาตรา 112 แก้ได้ ทั้งแก้ให้โทษสูงขึ้นหรือน้อยลง แล้วแต่ดุลพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เราเลือกเข้าไป

คำถามต่อไป คือ เมื่อแก้ไขได้ ทำไมพรรคการเมืองที่ทำการแก้ไข จึงถูกยุบพรรคคำถามนี้ ไว้ตอบตอนต่อไปครับ/

‘ผู้กำกับ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เผยเหตุผลที่ไม่มีหนังเกี่ยวกับ 2475 เพราะหากเล่าตรงไปตรงมา จะมีคนเจ็บและเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านประวัติศาสตร์ และยังแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 ที่ผ่านการศึกษาและค้นคว้าแจกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและบิดเบือน

โดยบางช่วงบางตอน นายวิวัธน์ได้กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการสร้างหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 เลย เพราะถ้าเล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมาเกินไป จะทำให้มีคนเจ็บ และเดือดร้อน”

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

‘ประชาชน’ หวั่นนำคำว่า ‘ประชาชน’ ไปแอบอ้าง ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ร่วมเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ แชร์ข้อความ ย้ำ!! จุดยืน ไม่ร่วมล้มล้างการปกครอง

(10 ส.ค.67) จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้สส.จำนวน 143 คนของพรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดพรรคใหม่ ในชื่อพรรคว่า ‘พรรคประชาชน’ โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันยังคงยึดมั่นอุดมการณ์เดิมของพรรคก้าวไกล และจะเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ โดยชาวเน็ตมีการแชร์ต่อข้อความที่ว่า ข้าพเจ้า ขอประกาศ ณ ที่นี่ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ของพรรคประชาชน ไม่ได้รวมถึงข้าพเจ้าและครอบครัว แต่อย่างใด

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกนำไปแอบอ้างในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในอนาคต

‘ชัยชนะ’ ยันทำงานฝ่ายค้านร่วม ‘พรรคประชาชน’ ได้เหมือนเดิม ไร้ปัญหา แต่หากยังเดินหน้าแก้ ม.112 ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ชัดเจน!! ไม่สนับสนุน

(10 ส.ค.67) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านก็ทำร่วมกันตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าวิกฤติการเมืองมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะเห็นว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกลไม่มีเลย ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างเรายังทำงานกันเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าการที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน จะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนายณัฐพงษ์ เราก็ได้ทำงานร่วมกันมา ตั้งแต่การทำงานในวิปฝ่ายค้าน และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งนายณัฐพงษ์ก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันก็ไม่ได้ติดขัดอะไร และนายณัฐพงษ์ ก็เป็นคนที่ความสามารถ และมีบทบาทในสภาฯอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร นายชัยชนะกล่าวว่า เรื่อง มาตรา 112 ถือเป็นสิทธิของพรรคเขา ที่เขาจะเดินหน้าในจุดยืนของเขา แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรายืนยันอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายถ้าไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนับสนุนอยู่แล้ว

“วันนี้ทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะเห็นชอบด้วยทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องไหนที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ไม่เห็นด้วย เช่นกฎหมายที่เสนอให้เปิดร้านเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย เราก็โหวตไม่เห็นด้วย แต่เรื่องหลักการทำงานขับเคลื่อนฯ ต้องทำร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

เหตุผลชัดๆ ที่ 'ก้าวไกล' ต้องถูกยุบพรรค แบบไม่ต้องไปเสียเวลาโทษศาลฯ แม้ถนัดรักษาฐานเสียง แต่ยังอ่อนหัดในเชิง 'นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์'

(10 ส.ค.67) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nitipat Bhandhumachinda’ ระบุว่า...

แม้จะมีกระแสโจมตีศาลรัฐธรรมนูญในบริบทของการตัดสินยุบพรรคการเมืองนั้น

แต่ประโยคที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายพรรคกรณีแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ที่กล่าวถึงแนวทางของพรรคที่ยืนยันจะแก้ไขมาตราดังกล่าวโดยกล่าวหลักการในอนาคตของพรรคว่า "วิธีการปฏิบัติ เราไม่ประมาท เราต้องกลับมาทบทวนเรียนรู้ในส่วนคำตัดสินศาล และประเด็นกฎหมายต่างๆ"

ซึ่งก็ตีความหมายใต้ช่องไฟ ได้ชัดเจนว่า ที่พรรคตนโดนยุบนั้น ไม่ได้มาจากฝีมือใคร แต่มาจากเหตุผลเดียวคือ...

อ่อนอิ๊บอ๋ายในเชิงนิติศาสตร์

ก็ไม่ต่างจากตอนที่เสียเหลี่ยมโดนพรรคเพื่อไทย หลอกให้หลุดไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ด้วยเหตุผลเดียวเลยเช่นกันคือ

กระจอกฉัดๆ ในเชิงรัฐศาสตร์

ส่วนที่ยังสามารถรักษาฐานเสียงของตนไว้ได้ ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยว่า...

พรรคที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยต่ำกว่าสี่สิบปี

นอกจากพรรคนี้

แล้วมีพรรคไหนอีกไหมหละครับ

‘สมชัย’ แจงใช้ชื่อ ‘พรรคประชาชน’ ได้ เพราะชื่อนี้ไม่มีใครใช้มาเกิน 20 ปีแล้ว ส่วนเงินของ ‘พรรคก้าวไกล’ จะถูกโยกไปให้ ‘มูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว’

(10 ส.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ปั่นไปไหน - สมชัย ศรีสุทธิยากร’ โดยมีข้อความระบุว่า ...

มีคำถามมากมายจากสื่อมาที่ผม ขอตอบทีเดียว (ทำไมไม่รู้จักไปถาม กกต.)

1. ใช้ชื่อพรรคประชาชนได้ไหม เคยเป็นชื่อพรรคการเมืองที่เลิกไปแล้วในอดีต : ทำได้ครับ หากชื่อพรรคนั้นเลิกใช้เกิน 20 ปีไปแล้ว (มาตรา 10 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง)
2. โลโก้ สามเหลี่ยมหัวคว่ำ คล้ายพรรคเดิมทำได้ไหม : นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขา กกต.) จะเป็นผู้พิจารณา หากเห็นว่า คล้ายหรือพ้อง ก็จะสั่งให้มีการแก้ไข (มาตรา 18 วรรคสาม พ.ร.ป.พรรค ฯ)

3. ทำไม กรรมการบริหารพรรคมีแค่ 5 คน : จำนวนต่ำสุดที่ระบุในกฎหมายพรรคการเมืองคือ 5 คน แต่ต้องสอดคล้องกับข้อบังคับพรรคด้วย (มาตรา 21 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรค ฯ)
4. ค่าสมาชิกตลอดชีพ เมื่อก่อน 2,000 ตอนนี้ ทำไมแค่ 500 บาท : มีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ลดค่าสมาชิก รายปีเป็นไม่น้อยกว่า 20 ปี ตลอดชีพ ไม่น้อยกว่า 200 บาท แต่ต้องให้สอดคล้องกับข้อบังคับพรรค (มาตรา 15(15) และวรรคสี่ ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

5. การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค โลโก้พรรค กรรมการบริหารพรรค ทำได้ทันทีหลังมีมติที่ประชุมใหญ่หรือ ไม่ต้องรอให้ กกต. ให้ความเห็นชอบหรือ : กม.ใหม่ มีผลนับแต่วันประชุม แจ้ง กกต.เพื่อทราบเท่านั้น แต่หาก กกต.ตรวจพบภายหลังว่า ไม่เป็นไปตาม กม. ผลการประชุมจะเป็นโมฆะ ต้องจัดประชุมใหม่
6. ทรัพย์สินและเงินในบัญชีของพรรคก้าวไกล หลังจากถูกยุบแล้วไปไหน : กก.บริหารพรรคชุดเดิมต้องส่งรายงานการเงินต่อ กกต.ภายใน 30 วัน หลังจากนั้น สตง. จะตรวจสอบความถูกต้องใน 180 วัน เหลือเท่าไร เป็นขององค์กรสาธารณกุศลที่ระบุในข้อบังคับพรรค สำหรับพรรคก้าวไกล ระบุให้เป็นของมูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว ครับ

'อ.หริรักษ์' ชี้!! หากกฎหมายยุบพรรคการเมืองเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไข 112 ตามมุม 44 สส. ก็เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของสส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ
1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา
2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีความผิด
3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง
5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้

การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top