Tuesday, 22 April 2025
POLITICS

ศปฉ.ปชป. รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียง ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2564 ช่วยได้แล้ว 90 ราย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 พรรคประชาธิปัตย์-- นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ได้ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล จากศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป) ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2564 ดังนี้

รับเรื่องไป 100 ราย
ช่วยเหลือไป  90 ราย 
--โรงพยาบาล 40 ราย (มีผู้ป่วยหนัก 2 ราย รอย้าย ICU)
--รอรถโรงพยาบาลมารับ 3 ราย
--มีรถมารับแล้ว 2 รายรอแจ้งพิกัดปลายทาง
--โรงพยาบาลสนาม 10 ราย
--Hospitel  35 ราย (ส่งแล้ว 23 อยู่ระหว่างรอรถมารับ 12 ราย)
ทั้งนี้ กลุ่มที่ช่วยได้มากที่สุดช่วง 1-2 วันนี้คือคลัสเตอร์ใหม่ที่ลาดปลาเค้า ที่พบผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหลายรายจากการตรวจเชิงรุก ซึ่งทีมงานของศูนย์ฯ ได้ประสาน Hospitel ให้แล้วเป็นแบบกลุ่มใหญ่ อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารและส่งผู้ติดเชื้อไปเข้ารับการรักษา

โดยเคสอื่น ๆ ที่เหลือขณะนี้พรรคได้รับข้อมูล ประสานงานกลับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกราย และส่งต่อข้อมูลไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดสรรตามมาตรการต่อไป

หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งผ่านมาที่ผู้ประสาน ศปฉ.ปชป ได้ที่กล่องข้อความใน       เฟซบุ๊ก facebook.com/DemocratPartyTH ทวิตเตอร์ twitter.com/democratTH หรือ BLUE HOUSE ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ และช่วยเหลือประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ 02 828 1010 

ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีจาก ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป) 

#ประชาธิปัตย์ #COVID19 #เราไม่ทิ้งกัน

“รองโฆษกรัฐบาล“ เผย รัฐบาล ไร้ขัดแย้ง ยัน รมต.เห็นด้วยโอนอำนาจ รมต.ให้ ”บิ๊กตู่” แก้โควิด

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบการกำหนดอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมาย ใน 31 พระราชบัญญัติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ใช่ควบรวมอำนาจของนายกรัฐมนตรีและไม่ได้ลดบทบาทของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนมีมติครม.ดังกล่าว ได้หารืออย่างรอบด้านอย่างรัดกุม เพื่อให้คำสั่งเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีการมอบอำนาจ 31 พ.ร.บ.ให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนเห็นด้วยว่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามีความคล่องตัวมากขึ้น ถือเป็นการลดช่องว่างในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

"ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ไม่ได้ต้องการรวบอำนาจ แต่เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน นายกฯ มีอำนาจเพียงการสั่งการตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนการดำเนินงาน ยังเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดใจว่า ไม่เคยรู้สึกว่านายกฯ รวบอำนาจแต่อย่างใด การทำงานร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เป็นไปด้วยดี มีการพูดคุยหารือกันโดยตลอด และยังจะทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ได้โดยเร็ว" นางสาวไตรศุลี กล่าว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงในที่ประชุมครม.ว่าการมอบอำนาจรัฐมนตรี เฉพาะส่วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการอื่น ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาทำงานความล่าช้ารวมถึงแก้ไขปัญหาข้อสั่งการข้ามกระทรวง ทั้งนี้ภาพรวมการทำงานของรัฐบาลมีเอกภาพ นายกฯและรัฐมนตรี ได้ประสานงานกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น จากข้อสั่งการตามระบบบริหารราชการ โทรศัพท์ และ แอปพลิเคชันไลน์ เป็นต้น ซึ่งการระดมทุกสรรพกำลังเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ให้ประเทศไทยผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากโดยเร็ว ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานของรัฐบาลมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนว่าแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาล จะช่วยให้สถานการณ์นี้คลี่คลายได้

กองทัพอากาศ เผย ก.ต่างประเทศ ประสานขอเครื่องแอร์บัสบินรับ ขรก.สถานทูต-นักเรียนไทยในอินเดียกลับรักษาตัว หลังมีผู้ติดเชื้อหลายราย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564  แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า กองทัพอากาศได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้เตรียมความพร้อมเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 15 หรือแอร์บัส A320  พร้อมเจ้าหน้าที่นักบิน แพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยทั้งหมดจะสวมชุดป้องกันพีพีอี เพื่อเดินทางไปรับคนไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 หลายรายที่ประเทศอินเดีย คาดว่าจะออกเดินทางได้จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน  6  ดอนเมือง ในวันที่ 1 พ.ค. แต่ทั้งนี้ต้องรอกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการแจ้งยืนยันอีกครั้ง

เนื่องจากกองทัพอากาศมีหน้าที่ดำเนินการตามที่มีการร้องขอให้ช่วยสนับสนุนเท่านั้น อย่างไรก็ตามทราบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทย ประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และนักเรียนไทย โดยก่อนหน้านั้นทางสถานทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี ได้ประสานมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ประสานกองทัพอากาศนำเครื่องบินไปรับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยประจำกรุงนิวเดลีที่ป่วยกลับมารักษาในประเทศไทย เนื่องจากมีเครื่องมือทางการแพทย์ และโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า โดยกองทัพอากาศจะดำเนินการเหมือนครั้งที่ผ่านมาที่เดินทางไปรับผู้ช่วยทูตทหารอากาศประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย พร้อมทั้งเตรียมแผนอพยพคนไทยไว้หากรัฐบาลสั่งการลงมา  

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการรักษาตัวของผู้ช่วยทูตทหารอากาศประจำกรุงนิวเดลีนั้น ล่าสุดทราบว่าอาการทรงตัว 

‘บิ๊กตู่’ยันพรรคร่วมแน่นแฟ้น พร้อมร่วมมือทำงานต่อ  ‘วอน’ ทุกฝ่ายให้กำลังบุคบากรทางการแพทย์ทุกคน 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตามที่สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงความแน่นแฟ้นของพรรคร่วมรัฐบาลหลังเกิดความระหองระแหงขึ้น ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความมุ่งมั่นในการที่จะร่วมมือกันทำงานและร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งหมดเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่า ขณะนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดยังทำงานด้วยความเข้มแข็ง

สำหรับสิ่งต่างๆในขณะนี้นั้นขอให้ประชาชนทุกคนได้ให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนหน้า ทุกคนและประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดูแลสุขภาพตัวเองและความร่วมมือกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงานที่บ้านหรือเวิร์คฟอร์มโฮม(wfh) การลดการเดินทางหรือการลดรวมกลุ่มกันด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอขอบคุณความร่วมมือของทุกคนและขอให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา โควิด-19 ในปัจจุบัน

ศบค.เผย ติดเชื้อ 1,583 ราย ตายเพิ่ม 15 ราย สะสม 203 ราย   กทม.ติดเชื้ออันดับหนึ่ง คืบหน้าฉัดวัคซีนกว่า1 ล้านโดส

วันที่ 30 เมษายน 2564 พญ.พรรณประภา ยงค์ ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,583 ราย จากระบบเฝ้าระวัง 1,366 ราย ตรวจพบจากการคัดกรองเชิงรุก 213 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย รวมติดเชื้อสะสม 65,153 ราย หายป่วยแล้ว 36,254 ราย เสียชีวิต 15คน รวมเสียชีวิตสะสม 203 ราย โดยการระบาดรอบเดือนเม.ยมีผู้ติดเชื้อสะสม 36,290 ราย เสียชีวิตสะสม 109 คน

โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด5 อันดับแรก คือ กทม.เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี ซึ่งกทม.วันนี้พบ 417 ราย สมุทรปราการ 138 รายชลบุรี 131 ราย เชียงใหม่ 66 ราย และนนทบุรี 50 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นชาย9ราย หญิง 6 ราย อยู่ในกทม. 9 ราย ชลบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครปฐม ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละหนึ่งราย เฉลี่ยอายุผู้เสียชีวิต 75 ปี มีโรคประจำตัว ที่เสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมองและอ้วน ปอดเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง 

โดยมีประวัติเสี่ยงคือสัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกที่ติดเชื้อในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน สัมผัสผู้ติดเชื้อสถานบันเทิงสัมผัส ดูแลผู้ป่วยติดเตียง และไม่ทราบประวัติ

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก ยืนยันสะสมทั่วโลกกว่า  151ล้านราย ติดเชื้อใหม่กว่า 8แสนรายเสียชีวิตกว่า 15,000 คน รวมสะสมเสียชีวิตกว่า 3 ล้านคน โดยสหรัฐอเมริกาอินเดียบราซิลฝรั่งเศสและรัสเซียมีผู้ติดเชื้อสะสมตามลำดับ

โดยฝั่งเอเชียพบว่าประเทศอินเดียมีผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงต่อเนื่องอยู่ที่กว่า 3 แสนรายต่อวันและต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่ประเทศมาเลเซียเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ต่อเนื่อง

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 29 เม.ย.2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 1,411,614 โดส เฉพาะวันที่ 29 เม.ย. 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน 
เข็มที่ 1 จำนวน 16,035 ราย
เข็มที่ 2 จำนวน 50,933 ราย

"ศรีสุวรรณ" จี้ กกต.สั่งเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนาหนองไผ่ให้เป็นโมฆะ เหตุพบผู้สมัครมีลักษณะต้องห้ามลงสมัครเหตุเคยถูกให้ออกจากราชการทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำไมจึงผ่านการสมัครรับเลือกตั้งได้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้มีคำสั่งหรือมีมติให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลนาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สรินทร์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ พร้อมต้องดำเนินคดีเอาผิดบุคคลดังกล่าว ด้วยเหตุพบข้อพิรุธเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาหนองไผ่ บางรายว่าอาจเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากความปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลนาหนองไผ่รายหนึ่งที่เป็น อดีตกำนัน และอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ได้กระทำความผิดวินัย และจ.สุรินทร์ ได้มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งมานานแล้ว อันเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในสมัยนั้น ได้พิจารณาและมีมติว่า บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองไผ่ โดย ป.ป.ป. ได้ลงมติในเรื่องดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจ.สุรินทร์ในฐานะผู้บังคับบัญชา  เพื่อดำเนินการทางวินัย ตาม มาตรา19 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ 2518 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ในสมัยนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อบุคคลดังกล่าว เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือ ถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ จึงถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 50(8) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ที่บัญญัติไว้ความว่า บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือ ถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

การที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบลตำบลนาหนองไผ่ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี และได้ออกหลักฐานการสมัครให้ด้วยนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายข้างต้นและหรือขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยชัดแจ้ง เพราะหลักฐานชี้ชัดว่าบุคคลดังกล่าวรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีคุณสมบัติจะลงสมัคร ทางเราจึงมายื่นคำร้องต่อ กกต. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

"แรมโบ้" ดีใจตรวจหาเชื้อโควิดไม่พบเชื้อ  กักตัวผ่านไปแล้ว 1 อาทิตย์ เมื่อครบ 14 วันผลเป็นปกติ กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม

 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ (29 เม.น.) ได้ไปตรวจผลหาเชื้อโควิดที่ สถาบันบำราศนราดูร ผลปรากฏว่าเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิดในร่างกาย เนื่องจากตนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว14 วันตามมาตรการของ ศบค.และสาธารณสุข หลังจากที่พนักงานขับรถ ติดเชื้อโควิดพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล


ทั้งนี้ ตนได้ตรวจหาเชื้อมาก่อนหน้านี้ เป็นระยะๆเพราะต้องทำงานใกล้ชิดกับมวลชน ที่เดินทางมายื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน1111 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงก่อนหน้านี้ และเมื่อทราบว่าพนักงานขับรถตนติดเชื้อโควิด ตนจึงได้ไปตรวจผลออกมาไม่พบเชื้อ อีกทั้งได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วครบสองเข็ม จึงมั่นใจว่า ภูมิต้านทานแข็งแกร่ง ยิ่งผลตรวจที่สถาบันฯเมื่อวานนี้ออกมาว่าไม่ติดเชื้อ ยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้น

"อย่างไรก็ดี ผมกักตัวมาแล้ว 7 วัน จะครบ 14 วัน ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ โดยจะไปตรวจครั้งสุดท้ายเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า ไม่ติดเชื้อโควิดอย่างแน่นอน และพร้อมจะกลับไปทำงานตามปกติเช่นเดิมต่อไป" นายเสกสกลกล่าว

สภาฯขานรับมาตรการเข้มป้องกันโควิด-19 ห้ามนั่งรับประทานอาหารร่วมกันภายในโรงอาหาร ใส่หน้ากากในรัฐสภา 100%  ลดเจ้าหน้าที่ทำงานเหลือไม่เกิน 30 % ส่วนวุฒิฯให้ขรก.ทำงานที่บ้านทั้งหมด ถึง 31 พ.ค. 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ปรับเพิ่มมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในรัฐสภา บริเวณโรงอาหาร ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกข้อกำหนด ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด เนื่องจากรัฐสภา ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้มีการนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน จึงได้นำโต๊ะและเก้าอี้ออกนอกพื้นที่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด และให้ข้าราชการ นำกลับไปทานส่วนตัวในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น เพื่อลดการรวมกลุ่มระหว่างการรับประทานอาหาร


ขณะเดียวกัน ยังคงเข้มงวดต่อบุคคลที่จะเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา โดยจะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายในรัฐสภา 100% นอกจากนั้นการใช้ลิฟท์โดยสารขึ้นลง จำกัดครั้งละไม่เกิน 6 คน เป็นต้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งงดการประชุมหลายคณะ เพื่อให้ความร่วมมือต่อการลดการแพร่ระบาดโควิด-19 และลดการรวมตัวของคนจำนวนมากเกินกว่า 20 คน ส่วนคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ได้สั่งงดการประชุมทั้งหมดออกไปก่อน

นอกจากนั้นขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯได้ปรับลดจำนวนข้าราชการ ให้มาปฏิบัติที่ในรัฐสภาไม่เกินร้อยละ 30 ส่วนอีกกว่าร้อยละ 70 ได้มีประกาศให้ข้าราชการปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อลดการรวมตัวกัน ส่วนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ประกาศให้ข้าราชการ ปฏิบัติงานจากที่บ้านทั้งหมด จนถึง 31 พ.ค.นี้

"กล้าเติมอิ่ม" กรณ์ ลุยช่วยผู้เดือดร้อนจากโควิด แจกข้าวกล่องพี่น้องฝั่งธนฯ พร้อมขยายผลทั่วกรุงเทพฯ 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ตามที่พรรคกล้าได้ระดมข้าว 2 ตัน ทำข้าวกล่อง 30,000 ชุดเพื่อแจกโรงพยาบาลสนาม โดยถือเป็นการช่วยคนได้สองต่อ ต่อแรกคือชาวนาที่ จ.มหาสารคาม ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และต่อที่สองคือ ข้าวกล้องอินทรีย์จะตกถึงมือผู้ป่วยและคนเดือดร้อน นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์ #กล้าสู้โควิด ช่วยผู้ป่วยหาเตียงสำเร็จไปแล้วว่า 70 เคส 

โดยเมื่อวันก่อนได้ทำข้าวกล่องแจกพี่น้องชุมชน “ยานนาวา-บางคอแหลม” และวานนี้ (29 เมษายน) ก็ไปแจกที่ที่ “ตลิ่งชัน-ภาษีเจริญ” กับผู้กล้าของเราคือ “หมอแม็พ” กันตพงศ์ ดีชัยยะ และจะกระจายไปทุก ๆ เขตทั่วกรุงเทพฯ 

สำคัญที่สุดขอขอบคุณเชฟอาสา เชฟแอ้ม นรี บุญยเกียรติ ขอบคุณหลายๆ ท่าน ที่ทยอยส่งวัตถุดิบมาให้ รวมไปถึง อาสาสมัครของแต่ละชุมชนนะครับ ในทุกวิกฤตเราจะเห็นความสวยงามแบบนี้ ก็คือความสามัคคีในการช่วยกันลงมือทำของคนไทย

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ทุกท่านสามารถมาลุย  “กล้าเติมอิ่ม” กับเราได้  3 วิธี คือ 1. ร้านอาหารใด ต้องการร่วมโครงการกับเรา ช่วยทำอาหารให้เรา เราจะยินดีมาก 2. ใครสนใจ สมทบวัตถุดิบในการทำอาหาร รวมถึงภาชนะรีไซเคิลได้ในการใส่ข้าวกล่อง inbox มาที่เพจ Korn Chatikavanij ได้เลย จะมีทีมงานติดต่อไป 3. สามารถสมทบทุนข้าวจากชาวนา ได้ที่ โครงการ เกษตรเข้มแข็ง >> เลขที่บัญชี 902-7-11390-2 ธนาคารกรุงเทพ ได้เช่นกัน

#คนละไม้คนละมือ #สู้โควิด
#การเมืองสร้างสรรค์ #ปฏิบัตินิยม
#พรรคกล้า #เรามาเพื่อลงมือทำ


 

“คสรท.-สรส.” ยื่น “บิ๊กตู่” รัฐบาล เยียวยาผู้ใช้แรงงาน เดือดร้อนจากโควิด-19 แนะ “เร่งจัดวัคซีน-ลดภาระค่าใช้จ่ายฯ”

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท. )และกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)นำโดย นายสาวิทย์  แก้วหวาน ประธาน คสรท.ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พ.ค.ของทุกปี 

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ได้ออกมาเรียกร้องถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ให้มีมาตรฐานมีหลักประกันมากขึ้น แต่ในสภาวะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ โควิด- 19 ที่ซ้ำเติมทำให้ผู้ใช้แรงงานลำบากยิ่งขึ้น แม้ปีนี้จำเป็นที่ต้องงดทำกิจกรรม แต่มีข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและคนทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยให้เร่งฉีดวัคนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว และเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงานในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย

ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการ การตรวจโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมและเป็นธรรม นอกจากนั้นให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์  ลดค่าเทอม เนื่องจากเรียนผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น โดยการเยียวยาช่วยเหลือต้องเท่าเทียมไม่ เลือกปฏิบัติ รวมถึงต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นต้น จากนั้นตัวแทนผู้ใช้แรงงานเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ  ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ต่อไป 

ป้องรายวัน! "แรมโบ้" วอน "ฝ่ายค้าน" หยุดโหนกระแส ไล่นายกฯ ”วอน” หยุดตีกินหาเสียงทางการเมือง

เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ว่าซึ่งแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังสูงอยู่ แต่ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชน รวมไปถึงการออกมาตรการต่างๆของทางภาครัฐ จึงทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองวันนี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ต้องรัดกุมเฝ้าระวังการ์ดตกไม่ได้ ขณะเดียวกันจากการที่ ศบค.  ได้ออกมากำหนดพื้นที่ควบคุม และมีมาตรการต่างๆเพื่มขึ้นและรัดกุมยิ่งขึ้นนั้น ก็มั่นใจว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 

“เชื่อว่าการที่สถานการณ์ค่อยๆดีขึ้นนั้นตามลำดับนั้น เกิดจากที่ ครม.ได้โอนอำนาจรัฐมนตรีให้กับนายกฯได้สั่งการต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาคล่องตัวและให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ฝ่ายค้านมองว่าการโอนอำนาจเป็นการยึดอำนาจรัฐมนตรี ฝ่ายค้านคิดแต่จะหาประเด็นมาโจมตีโดยที่ไม่ดูข้อเท็จจริง และการโอนอำนาจมาที่นายกฯ ก็เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา ที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีแบบนี้เพราะไม่สนใจว่าประชาชนจะเป็นอย่างไร  ถือว่าใช้ไม่ได้
ยืนยันว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว”

นายเสกสกล กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พรรคร่วมฝ่ายค้านหยุดเรื่องการเมืองไว้ มาหาเสียงตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ อย่าเอาความเดือดร้อนความเป็นความตายของประชาชน มาหากินบนความกระหายและกระสัน มีกิเลสตัณหาความอยากใคร่สูง กลับมามีอำนาจทางการเมืองของพวกตนเองโดยการไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออก ประชาชนเบื่อหน่ายเอือมระอา

" การที่ฝ่ายค้านออกมารุมโจมตีไล่นายกฯให้ออกจำตำแหน่ง และกล่าวหายึดอำนาจนั้น สก็ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่นายกฯตัดสินใจถูกต้องที่สุด เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว ทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตให้ประชาชนปลอดภัยสูงสุด การที่ฝ่ายค้านเล่นการเมืองเพื่อหวังโหน กระแสมากเกินไป ทำให้เห็นธาตุแท้ที่หวังล้มนายกฯเพื่อกลับมามีอำนาจเสียเอง ไม่คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก การที่ยอดรวมผู้ที่ติดเชื้อ ลดลงกว่าพันรายใน 2 วันนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่านายกฯและคณะทีมแพทย์ สาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันเดินมาถูกทางแล้ว มีแต่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่คอยจ้องฉวยโอกาสทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตน น่าอับอายละอายใจแทนคนไทยทั้งประเทศ" นายเสกสกลกล่าว

สสส. ย้ำ โควิด-19 แรงงาน ต้อง “ป้องกัน” ก่อน “รักษา”  เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดและแพร่เชื้อ เน้น กินอาหารดี มีกิจกรรมทางกาย ด้านสภาองค์การลูกจ้างฯ ประกาศ ผู้ใช้แรงงานติดโควิด-19 เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ประสานขอความช่วยเหลือได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดซ้ำและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง “ผู้ใช้แรงงาน” จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ทำให้ สสส. ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เรื่อง “Safety Thailand” และ “ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” เพื่อวางระบบบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพ เน้นให้แรงงานทุกคน “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย และได้รับบริการทางสุขภาพตามสิทธิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

“แรงงานทุกกลุ่มต้องมีสุขภาพดี รู้เท่าทันกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการสร้างเสริมและระบบบริการสุขภาพครอบคลุม ที่ผ่านมาพบว่า สถานประกอบการมีสิทธิสวัสดิการดูแลแรงงานไม่เหมือนกัน พบการเข้าไม่ถึงบริการของแรงงานนอกระบบ ขณะที่แรงงานขาดความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทำให้ สสส. ต้องเน้นส่งเสริมความรู้เชิงรุก ขับเคลื่อนสังคมแรงงานมีสุขภาวะดี ผ่านการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย สนับสนุนงานวิชาการด้วยการนำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง และผลกระทบต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควบคู่กับการทำสื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยมีภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานช่วยกระตุ้น หนุนเสริม”  นางภรณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาองค์การลูกจ้างฯ สานพลังกับ สสส.  พัฒนาต่อยอดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการป้องกันและรักษาสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้มากที่สุด ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง “ผู้ใช้แรงงาน” คือกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำอาชีพรับจ้างรายวัน แต่ละวันต้องเผชิญความเสี่ยงมากมายในชีวิต ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เผชิญกับผู้คนจำนวนมาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงได้ไม่ง่ายเหมือนคนทั่วไป สะท้อนชัดเจนว่าสิทธิสวัสดิการทางสุขภาพแรงงานจำเป็นและสำคัญ

“โควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ  จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน ปรับแนวทางการจ้างงานให้เลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้มากที่สุด แรงงานทุกคนต้องดูแลตัวเองสวมหน้ากาก 100% หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ส่วนแรงงานที่เจ็บป่วยจากโรคประจำตัว หรือติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ สามารถประสานของความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 0-2755-2165 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506” นายมนัส กล่าว

'พลังประชารัฐ' เปิดศูนย์ช่วยเหลือ ปชช.เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข สายด่วน 02-939-1111 ระดมทีมงานรับเรื่อง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ เร่งส่งต่อผู้ป่วย ถึงมือแพทย์ จำกัดวงแพร่เชื้อโควิด -19

วันนี้ 29 เมษายน 2564  พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวเปิด "ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ Call center ศปฉ.พปชร." ณ ที่ทำการพรรค ร่วมกับหัวหน้าศูนย์ภาค ทั้ง 10 ภาคพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ เพื่อบูรณาการให้บริการประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขรวดเร็วในภาวะ การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ ศปฉ.พปชร. เป็นประธานเปิดศูนย์ พร้อมนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้อำนวยการพรรค นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรค  นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.เขต 30 ในฐานะหัวหน้าภาคกทม. และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.เขต 9

ร้อยเอกธรรมนัส  กล่าวว่าวันนี้ได้ทำการเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ ศปฉ.พปชร. จำนวน 10 ภาค อย่างเป็นทางการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแนวทางในการจำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่เน้นย้ำให้การดูแลประชาชนให้ได้ทั่วถึงมากที่สุด

ทั้งนี้การเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ของพรรค เรามีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมในการดูแลประชาชนในทุกพื้นที่จึงมอบหมายให้ศูนย์ภาคที่มีอยู่ทั้ง 10 แห่ง เป็นศูนย์กลางรับเรื่อง และประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ โดยแต่ละภาคจะมีหัวหน้าศูนย์ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ทั้งการจัดเจ้าหน้าที่รับเรื่องจากประชาชน การบริหารข้อมูล เพื่อจัดส่งไปยังสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้การบริหารจัดการวิกฤต มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยทุกคน สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้โดยเร็ว รวมถึงรัฐบาลยังได้เร่งจัดหาวัคซีน เพื่อให้เพียงพอกับประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามมาตรฐานสาธารณสุขสากล” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว

นางสาวพัชรินทร์ ระบุว่าในส่วนการจัดตั้ง ศปฉ.พปชร. นับตั้งแต่ช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้เปิดดำเนินการร่วมกับศูนย์ภาคทั้ง 10 ภาค ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับ ส.ส.ในพื้นที่ ในการเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ พบว่าในพื้นที่ภาค1-9 ยังไม่พบปัญหาผู้ติดเชื้อมากนัก และไม่มีปัญหาการให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษา โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก

ด้านนายจักรพันธ์ กล่าวว่า กทม.ถือเป็นพื้นที่หัวใจของการแพร่ระบาด จะเห็นจากสถิติจาก ศบค. ที่รายงานการติดเชื้อในแต่ละวัน ขณะนี้เป็นผู้ป่วยจากกทม.ไม่ต่ำกว่า 50% ดังนั้นหากคุมการแพร่ระบาดในกทม.ได้ ตนเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้การควบคุมการระบาดระลอกนี้ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาส.ส.กทม.ทั้ง 12 คน ของพรรคพลังประชารัฐ ได้ประสานหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตหรือนอกเขตตนเองอยู่แล้ว โดยข้อมูลที่รวบรวมได้ตั้งแต่การเริ่มระบาดรอบนี้มีกรณีประสานโรงพยาบาลมารับ การส่งตรวจหาเชื้อ และการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้เนื่องจากสมาชิกหลักในครอบครัว ต้องเข้ารับการรักษาโควิด รวมมากกว่า 50 กรณี อย่างไรก็ตามแม้เจ้าหน้าที่ระดมสรรพกำลังแล้ว ในข้อเท็จจริง ก็ปรากฏว่ายังมีกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ ดังนั้น ศปฉ.พปชร. นี้ ก็จะสามารถเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยขั้นตอนการทำงานของศูนย์นั้น ท่านสามารถติดต่อมาที่หมายเลข 02 -939-1111  ซึ่งจัดรองรับไว้ 30 คู่สาย ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-21.00น. รวมถึงประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือผ่านการ Inbox มาในเพจ Facebook ของพรรคได้ที่ https://www.facebook.com/PPRPThailand/ พร้อมแจ้งรายละเอียด เราจะมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และเร่งนำข้อมูลส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือศูนย์ภาคทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินงาน ประสานงานจัดส่งผู้ป่วยเข้าสู่การบริการสาธารณสุขโดยเร็ว

สำหรับหัวหน้าศูนย์ภาคของพรรค จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ภาค 1 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 2 หัวหน้าภาค ภาค 2 นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค 3 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 7 หัวหน้าภาค ภาค 4 นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าภาค ภาค 5 นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 6 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 7 นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 8 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค 9 นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค กทม. นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. เขต 30 หัวหน้าภาค


https://www.facebook.com/493026767870664/posts/1136918370148164/

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ โดดป้อง ‘เสี่ยหนู’ เปรียบดังยืนโดดเดี่ยวท่ามกลางหมู่บ้านกระสุนตก ฝาก ‘บิ๊กตู่’ มองให้ดี ในสงครามโควิด ใครเป็นขุนศึกร่วมรบ - รับหอกดาบแทน ถ้าไม่ใช่ ‘อนุทิน’!

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

นาทีนี้ “ชายเดียว” ที่ยืน “โดดเดี่ยว” ในหมู่บ้านกระสุนตก คงหนีไม่พ้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ที่โดนจัดหนัก จัดเต็ม ถูกจับเป็น “แพะ” บูชายัญ จากสถานการณ์โควิด-19 ทันทีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อดีดขึ้นไปถึงพันจนทะลุสองพันกว่า บาปทุกอย่างก็ตกอยู่ที่ “เสี่ยหนู” ทั้ง ๆ ที่เมื่อมีการระบาดในสถานบันเทิงรอบนี้ กระทรวงหมอ ก็เสนอมาตรการป้องกัน และคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ว่าหากไม่มีการจัดการใด ๆ หลังสงกรานต์จะเกิดอะไรขึ้นเอาไว้แล้ว

ทว่า เหตุผลทาง “เศรษฐกิจ” นำ “สุขภาพ” ดังนั้น ในเวลาที่คนทั่วไปกำลังพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ภายใต้การนำของ “หมอหนู” จึงต้องทำงานที่ “หนัก” อยู่แล้ว ให้ “หนักขึ้นไปอีก” เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น วัคซีนก็ยังต้องหา วางแผนการฉีด เตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ จนเมื่อเกิดภาวะ “ฝีแตก” ผู้ติดเชื้อสูงสุดเกือบเหยียบ 3 พัน มีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เตียง มีผู้เสียชีวิต คนบางกลุ่มก็ชี้ว่า เป็นความผิดของ “อนุทิน” ระดมทำแคมเปญลงชื่อขับไล่พ้นจาก “เก้าอี้” เพื่อระบายอารมณ์ และหวังผลทางการเมือง

ปัญหาการจัดส่งผู้ป่วย การจัดหาเตียง “มีจริง” ตัว “เสี่ยหนู” ก็ยอมรับ และแก้ไขด้วยการตั้งศูนย์แรกรับ ส่งต่อผู้ป่วย แบบไม่ปริปากถึงเรื่องราวเชิงลึกใด ๆ แม้เห็นกันชัด ๆ อยู่แล้วว่า “ปัญหานี้” เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ กทม. ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจเต็มของสธ. ถามว่า 76 จังหวัด ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำไมไม่มีปัญหาแบบนี้ คำตอบจึงอยู่ในคำถาม ที่ผ่านมาสิ่งที่ “เสี่ยหนู” ทำ คงไม่ได้ดีที่สุด ถูกใจทุกคนที่สุด แต่การทำงานที่ผนึกกับทีม สธ. จนทำให้ไทยประคับประคองสถานการณ์สู้กับโควิด -19 มาได้จนถึงวันนี้

การจัดหาวัคซีนซิโนแวค ด้วยคอนเน็คชั่นส่วนตัว เต็มใจควักกระเป๋า ถ้าจะทำให้จัดส่งเร็วขึ้น การวางแผนจัดหาวัคซีน ที่ไทยไม่เข้าร่วมโคแวค ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่าโคแวค ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามที่ตกลงไว้ แต่ไทยมีสยามไบโอไซแอนท์ ที่ผลิตวัคซีนได้ภายในประเทศของเราเอง ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีอยู่ในสต็อก คน ๆ นี้ ไม่มี “เครดิต” เลยหรือ

ส่วนการที่ “นายกลุงตู่” ใช้วิธีพิเศษ รวบอำนาจจากหลายกระทรวง และตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ เพื่อมาทำเรื่อง โควิด-19 ก็ไม่ใช่เครื่องหมายที่จะมาตีตราว่า “เสี่ยหนู” กับ กระทรวงหมอจัดการไม่ได้ เพราะถ้ามองให้ดี ๆ จะเห็น “ชัดในชัด” ว่าไม่มีอะไร “ใหม่” ทั้งการหาวัคซีน การฉีดวัคซีน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ สธ. วางแผนไว้ทั้งสิ้น สิ่งที่ “นายก” ทำคือการบริหารอารมณ์ ความรู้สึกของภาคเอกชน ให้คนมีความคิดเห็นได้มีพื้นที่แสดงออก มีส่วนร่วมในการทำงาน

แค่อยากฝากถึง “บิ๊กตู่” ว่าในการศึกโควิด-19 ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ใครคือขุนศึกร่วมรบ ก็เห็นมีแต่ “รองนายกหนูเพียงหนึ่งเดียว” ที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ออกมา “ไฟท์” กับทุกเหตุการณ์ ฟาดกับฝ่ายตรงข้าม รับหอกรับดาบให้ลุงอย่างไม่เกรงสิ่งใด คำตอบชัดคือ “เสี่ยหนู” เวลานี้รัฐบาลควรเป็นหนึ่งเดียว อย่าให้ผู้ไม่หวังดีที่คอยเป่าขนหาแผล คิดว่าเจอรอยแยก แล้วปั่นให้ปริแตก “คนที่มีใจจริง” ไม่ใช่คนที่ออกฉาก แล้วมีแต่คำพูดที่สวยหรู แต่คือคนไม่ฆ่าน้อง ที่ทำงานใต้บังคับบัญชา ไม่ฟ้องนาย ที่เป็นผู้นำทีม ไม่ขายเพื่อน ที่ต้องทำงานร่วมกัน

#คนภูมิใจไทย

#พรรคภูมิใจไทย

เปิด 5 มาตรการ ศบค.ยกระดับ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม งดเดินทางออกนอกพื้นที่ ห้ามกินในร้าน ตรึงเวลา 14 วัน ยันไม่ใช่เคอร์ฟิว

เปิด 5 มาตรการ ศบค.ยกระดับ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม งดเดินทางออกนอกพื้นที่ ห้ามกินในร้าน ตรึงเวลา 14 วัน ยันไม่ใช่เคอร์ฟิว ให้มีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2564

วันที่ 29 เม.ย. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงผลการประชุมศปก.ศบค.ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดว่า โดยที่ประชุมพิจารณายกระดับการดูแลจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 ด้วยการยกระดับ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ

โดยมาตรการสำคัญสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 6 จังหวัดคือ

1.) ให้พื้นที่กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2.) ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน

3.) มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดยกระดับมาตรการควบคุมบูรณาการขึ้นเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(3.1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดบริการได้ถึง 21.00 น.

(3.2) สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนสให้ปิดบริการ ยกเว้นสถานที่ใช้เป็นเอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ่ง เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และสามารถจัดแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม

(3.3) ห้าง ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่คล้ายกัน ให้เปิดได้ตามปกติ จนถึง 21.00 น.ยกเว้นส่วนตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุกที่งดบริการ

(4.) ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดปกติ แต่ไม่เกิน 21.00 น. ส่วนร้านเปิด 24 ช.ม. ให้เปิดเวลา 04.00 น.

(5.) การงดการเดินทางอออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น

โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2564 ซึ่งยืนยันไม่ได้เป็นการประกาศใช้เคอร์ฟิว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top