Thursday, 2 May 2024
POLITICS NEWS

“นภาพร” เผย ฝ่ายค้านหารือ พ.ร.บ.ประชามติ 1 เม.ย. 64 ยัน เดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย ซัด รบ.ไม่เห็นความสำคัญปชช.เลย

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงประเด็นที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน มีเเนวโน้มว่าจะคว่ำ พ.ร.บ ประชามติ ว่าหลังจากที่ตนได้เห็นข่าวเเล้วมีความรู้สึกว่า ส.ว.เเละส.ส. ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้ฝ่ายค้านกระทำการในลักษณะใด ๆ เลย โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีการยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งหนึ่ง ตนเห็นว่าถ้ายังอยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เเต่ท่านไม่ทำประชามติหรือทำอะไรเลย ประเทศจะเดินต่อไปได้ยาก

 

นางสาวนภาพร กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ในขณะที่มีผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวในช่วงเเรกนั้น ส.ว. เห็นม็อบมีท่าทีจะจุดติด จึงเห็นด้วยให้มีการเเก้ไขรัฐธรรมนูญ เเต่พอเมื่อ ส.ว. เห็นว่าม็อบเริ่มจุดไม่ติดเเล้ว ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจำคุกเเละไม่ได้รับการประกันตัว ท่านกลับทำตัวเช่นนี้หรือ ส่วนประเด็นการทำประชามติ หากจะอ้างว่าเปลืองงบประมาณในการจัดทำประชามติคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากมองย้อนกลับว่าเรามีการประชุมศึกษาการเเก้ไขรัฐธรรมนูญไปตั้งกี่ครั้งเเล้ว ใช้งบประมาณไปเท่าไร เเต่สุดท้ายท่านทั้งหลายก็คว่ำ ท่านเสียดายเงินที่จะทำประชามติในอนาคต เเต่ท่านไม่เสียดายเงินตรงนี้บ้างหรือ หาก ส.ว. พูดเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการเข้าข้างตัวเองเกินไปหรือไม่”

 

นางสาวนภาพร กล่าวต่อว่า ในส่วนทางพรรคตนก็ยังคงเดินหน้าต่อ เพราะเป็นวิถีทางเเห่งประชาธิปไตยที่ฝ่ายเราเห็นว่าควรจะต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ให้บุคคลไม่กี่คนที่ใครเลือกมาก็ไม่รู้มาทำการตัดสินใจให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ซึ่งตนคิดว่าหากเป็นไปในลักษณะนี้ การเเก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการออกมาเย้ยประชาชนอย่างที่เป็นข่าว ตนจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จำการกระทำดังกล่าวไว้ให้ดี หากวันหนึ่งภาคประชาชนมีการรวมตัวขึ้นมาจากทุกกลุ่มสีเสื้อ เพราะในตอนนี้เริ่มมีการพูดคุยของหลายๆ ฝ่ายเเล้ว

 

เมื่อถามว่าทางออกในเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร นางสาวนภาพร กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ประเมินสถานการณ์อยู่ว่าอาจจะเเก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเเทน เเต่ก็มีบางท่านที่เห็นว่าหากทำในลักษณะนั้นก็อาจเข้าทางของฝ่ายเผด็จการได้ ซึ่งฝ่ายค้านก็จะมีการปรึกษาหารือทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญเเละประชามติในวันที่ 1 เม.ย. 2564 อีกครั้งหนึ่ง

‘บิ๊กตู่’ เตรียมนำ 4 รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ 27 มี.ค. นี้ พร้อมเล็งประเมินผลงานรัฐมนตรีทั้งคณะทุก 3 เดือน ลั่นถ้าผลงานไม่ดี มีสิทธิโดนเด้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ภายหลังโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีใหม่แล้ววานนี้ เบื้องต้นรับทราบว่าจะมีการเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯปฏิญาณตนในวันเสาร์ที่ 27 มี.ค.นี้ ซึ่งภายหลังเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯแล้วจะเรียกรัฐมนตรีใหม่มาหารือพูดคุยถึงการทำงานก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสลับตำแหน่งระหว่าง รมช.คมนาคมกับ รมช.พาณิชย์ ว่า เพื่อให้ทั้ง 2 กระทรวงขับเคลื่อนงานให้ดีและรวดเร็วขึ้น เพราะมีหลายอย่างที่ต้องทำ ยืนยันไม่ผิดหลักการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหากสลับปรับใครไป หากทำงานไม่ดี ก็จะถูกปรับออก ซึ่งงานของทั้ง 2 กระทรวง เป็นการสร้างโอกาสและให้ทุกคนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเร็วที่สุด มีรายได้ทางเศรษฐกิจและการขนส่งสินค้า ซึ่งวันนี้ต้องเร่งหารายได้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีการเปิดตลาดการค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถือว่ามีความสำคัญและเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดความทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรม เพราะขณะนี้สังคมมีปัญหาอุปสรรค เพราะมีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและทำผิดกฎหมาย การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวุฒิการศึกษาของรัฐมนตรีใหม่บางคนไม่ตรงกับกระทรวงที่ต้องบริหารงานนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในภาพรวมและจะให้แนวทางแต่ละกระทรวงไปปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติและกรอบการปฏิรูปการศึกษา

พร้อมยืนยันว่าทั้งหมดต้องถูกควบคุมการบริหารโดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และต้องผ่านกลไกของ ครม. ทั้งนี้จะมีการติดตามการทำงานและประเมินผลงานของรัฐมนตรีทั้งหมดทุก 3 เดือน และจะมีการพิจารณาปรับอยู่เสมอและเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

ป.ป.ส. ย้ำการขายทอดตลาด “แมว” ดำเนินการตามข้อกฎหมาย

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวถึงกรณี  ที่กระแสสังคมมีข้อห่วงใยถึงการขายทอดตลาดทรัพย์สินจากคดียาเสพติด ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ แมวสายพันธุ์ต่างประเทศ จำนวน 6 ตัว ที่เกิดจากการเข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหาเครือข่ายยาเสพติด “กุ๊ก ระยอง” ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้มีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบในเวลาต่อมานั้น 

 

ขอยืนยันว่าสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ในเรื่องของการเก็บรักษาและการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินในที่นี้เป็นทรัพย์สินที่ไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาหรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิต ประเภทสัตว์เลี้ยง และสัตว์ในภาคการเกษตร

 

นายวิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “สำหรับกรณีที่มีคำสั่งยึดและขายทอดตลาดแมวดังกล่าวนั้น ต้องนำเรียนว่า ขณะเข้าดำเนินการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้หลบหนีระหว่างการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ จึงได้ยึดอายัดทรัพย์สิน ได้แก่ บ้าน รถยนต์ รวมถึงแมวสายพันธุ์ต่างประเทศทั้ง 6 ตัวไว้ชั่วคราว สำหรับแมวนั้น ถือเป็นทรัพย์สินประเภทสิ่งมีชีวิตที่ไม่เหมาะสมในการเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการ หรือถ้าหน่วงช้าจะเสี่ยงต่อความเสียหาย ตามกฎหมายสามารถพิจารณานำมาขายทอดตลาดได้”

 

“ขอให้เข้าใจว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้เปิดให้ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาชี้แจงแสดงหลักฐานว่าเงินที่นำมาใช้ซื้อแมว เป็นเงินที่มาจากการค้ายาเสพติดหรือไม่ หากหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเงินที่มาจากการค้ายาเสพติด ก็จะมีคำสั่งยกเลิกการยึด แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็จะมีคำสั่งยึด/อายัดไว้ชั่วคราว แต่ยังเปิดโอกาสให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำเงินมาประกันราคาแมวไว้ก่อน และนำแมวไปดูแลเอง จนกว่าคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะวินิจฉัย ซึ่งหากผู้เกี่ยวข้องไม่นำเงินมาประกัน สำนักงาน ป.ป.ส. ก็ต้องยึดไว้ตามกฎหมาย และต้องดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป 

 

ตามกระบวนการทางกฎหมายทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ชั่วคราว เป็นการยึดไว้เพื่อตรวจสอบการได้มาว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งระหว่างตรวจสอบ กฎหมายได้กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ส. สามารถนำทรัพย์สินบางประเภทมาขายทอดตลาดได้ แต่ไม่สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปมอบให้ หรือยกให้กับหน่วยงานใด หรือองค์กรใดองค์หนึ่งได้ เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน ป.ป.ส.”   

 

โดยแมวทั้ง 6 ตัว สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานให้ปศุสัตว์จังหวัดเข้ามาตรวจสุขภาพแมวเป็นระยะๆ จนกว่า

จะดำเนินการขายทอดตลาด และให้แมวอยู่ในความดูแลของบุคคลที่มีความสามารถ และมีประสบการณ์ หรือบุคคลที่ญาติหรือผู้ใกล้ชิดของผู้ต้องหาไว้วางใจในการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม หลังจากยึดอายัดแมวทั้ง 6 ตัวไว้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีญาติหรือผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงแสดงหลักฐานว่าเงินที่ใช้ซื้อแมวมาจากการค้ายาเสพติดหรือไม่

 

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. จึงดำเนินการตามกระบวนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งหลังจากมีประกาศขายทอดตลาด จะมีการจัดทำการประเมินราคา กำหนดราคาขาย และดำเนินการขายซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 เมษายน 2564  ซึ่งทุกกระบวนการจะคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์เป็นสำคัญ ควบคู่กับไปกับการดำเนินการตามกฎหมาย

ศบค.แถลง ไทยพบผู้ติดเชื้อ 69 ราย สมุทรสาครพบผู้ป่วยเหลือหลักเดียว พร้อมเปิดเดินรถโดยสารเข้าออกจังหวัด คลัสเตอร์ศูนย์กักบางเขนคุมอยู่ ติงโรงงานขนมบางขุนเทียนหละหลวม ทั้งพบต่างด้าวหนีเข้าประเทศผิดกฎหมาย ต้องระดมตรวจจนท.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 61 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  44 ราย ในจำนวนนี้มาจาก กทม. 30 ราย ตาก 2 ราย นครปฐม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย สมุทรสาคร 6 ราย และหนองบัวลำภู 1 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน  17 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 28,346 ราย หายป่วยสะสม 26,873 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,381 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 92 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 124,790,051 ราย เสียชีวิตสะสม 2,745,386 ราย   

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาครวันนี้มีเพียง 9 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6 ราย ค้นหาเชิงรุก 3 คน โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ทาง จ.สมุทรสาครรายงานว่า วันนี้จะเป็นวันแรกที่เปิดให้มีการเดินรถโดยสาร เนื่องจากผู้ติดเชื้อเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว โดยจะมีการทำความสะอาดสถานีขนส่ง ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนหน้านี้ จ.สมุทรสาครจะไม่เปิดให้มีการเดินข้ามพื้นที่เข้าไปพัก แต่ตอนนี้สามารถเข้าพักได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การกระจายผู้ติดเชื้อเหลือใน จ.สมุทรสาคร วงเล็กลง กระจุกอยู่ตรงส่วนกลางใน อ.เมือง เฉพาะบางตำบล และพบผู้ติดเชื้อ 1-2% ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมป้องกันได้ 

 

นอกจากนี้ กรณีที่มีการพบผู้ติดเชื้อในโรงงานขนมที่บางขุนเทียน โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 17 ราย เป็นคนไทยและเมียนมา ผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบเนื่องจากเดินทางไปเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เมื่อตรวจพบจึงไปค้นหาเชิงรุกในโรงงานดังกล่าว จากการสอบสวนพบว่า โรงงานขนมแห่งนี้มีพื้นที่หน้าร้าน พื้นที่ภายในโรงงานมีการวางมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่หละหลวม ส่วนที่พักคนงาน เป็นอาคารพาณิชย์พัก 70 คน ไม่มีมาตรการป้องกันเลย เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงแพร่ไปยังคนอื่นได้ง่าย หลังจากนี้จึงอยากให้โรงงานต่างๆ ช่วยกันทบทวนมาตรการของตัวเอง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กทม.ได้เข้าไปดำเนินการทำความสะอาดในโรงงานดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่าสามารถรับประทานขนมได้

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรณีที่หลายคนตกใจตัวเลขผู้ติดเชื้อในศูนย์กักสวนพลูและบางเขน ที่ตัวเลขเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 พุ่งไปถึง 300 กว่ารายนั้น ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขระบุว่าอย่าดูตัวเลขที่สูง แต่ให้ดูมาตรการป้องกันและจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปยังชุมชน ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นแล้ว และวันนี้ตัวเลขเป็นศูนย์แล้ว 

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รายงานมายัง ศบค.ชุดเล็กว่า พื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์มีจุดผ่านแดนช่องทางธรรมชาติถึง 8 อำเภอ โดยวันที่ 3 มี.ค. 2564 มีผู้ข้ามแดนผิดกฎหมายจำนวน 33 คน และได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ถูกจับกุม แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ กระทั่งมีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 พบผู้ติดเชื้อ 4 คน ทำให้ต้องระดมกำลังตรวจเจ้าพนักงานที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ 70 กว่าคน และเข้าสู่มาตรการกักตัว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ข้ามแดนผิดกฎหมายจะจัดสถานที่กักตัวให้ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้อยู่ห่างจากชุมชน มีรั้วลวดหนาม แต่เมื่อเขากระทำผิด หลังจากการกักตัวแล้วจะต้องส่งตัวฟ้องตามกฎหมายและผลักดันกลับประเทศ

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดสที่จะได้มาในเดือน เม.ย.นั้น จะมีการกระจายไปใน 22 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดใน 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. อ.แม่สอด จ.ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี ส่วนที่สอง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ พังงา เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต  และส่วนที่สาม เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน 8 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี 

 

พญ.อภิสมัย ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ประชาชน เกิดความสงสัยว่าขณะนี้หลายพื้นที่มีการกระจายวัคซีนไปแล้ว บางคนฉีดเข็มแรก บางคนฉีดครบสองโดส หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าเราไม่ต้องป้องกัน ไม่ต้องระมัดระวังตัวเองเหมือนที่ผ่านมาได้หรือไม่ ผ่อนคลายมาตรการทำให้ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนจะมี โควิด-19 ได้หรือไม่ ว่า สิ่งที่สำคัญในการรายงานข่าวทุกๆวัน คือการรายงานถึงต่างประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วเกิน 300ล้านโดส รวมทั้งบางประเทศซึ่งมีหลายประเทศที่ฉีดครบสองโดสแล้วแต่เราก็ยังเห็นการรายงานตลอดเวลาว่ายอดผู้ติดเชื้อกลับไม่ได้ดูลดลงสักเท่าไหร่ 

 

โดยเราสามารถดูตัวอย่างจากทางกรมควบคุมโรคที่นำเสนอเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เราพบว่าหลายประเทศมีจุดอ่อน คือ มีการกำหนดมาตรการผ่อนคลายที่เร็วเกินไป ส่วนหนึ่งจะเห็นว่าไม่ได้มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา จึงเกิดการติดเชื้อมากยิ่งขึ้นแล้วจึงเริ่มกำหนดมาตรการ และอีกหลายพื้นที่ยังไม่ได้มีการกำหนดการยกเว้นการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น รัสเซีย ซึ่งเราจะเห็นว่ายังให้คนที่เดินทางมาจากยุโรปเดินทางเข้าออกรัสเซียซึ่งก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยาก และสิ่งที่สำคัญบางประเทศประชาชนไม่เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้แต่บางแห่งระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่นั้นอาจจะไม่มีการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับระบบการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลกเช่นนี้ 

 

ซึ่งถ้าดูแล้วระบบสาธารณสุขของประเทศไทยรวมถึงส่วนที่สำคัญที่เราได้เน้นย้ำกันมาโดยตลอดคือ บ้านเรามี อสม. ที่เดินพูดคุยได้ถึงบ้าน กรมควบคุมโรค ที่เดินทางกันอย่างเหน็ดเหนื่อย หากเราเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศต่าง ๆ ที่มีการฉีดวัคซีนกันแล้วก็อาจจะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวท่านเอง ว่า การฉีดวัคซีนครบแล้วเราควรดำเนินชีวิตแบบเว้นระยะห่าง สวม หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ไม่พูดคุยกันในสถานที่แออัดเกิน 5 นาที พยายามไม่ไปสัมผัส กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ ที่ยังต้องเน้นย้ำกันอยู่เสมอ และอาจจะเป็นนายจ้าง สถานประกอบการ แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข หมอฟัน เภสัชกร มีการรายงานชัดเจนว่าการที่บุคลากรเหล่านี้ให้ความสำคัญเมื่อมีคนมาทำฟันก็เตือนกันว่าอย่าลืมสวมหน้ากาก ซึ่งจะได้ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและได้รับการย้ำเตือนบ่อยๆจะได้ไม่เผลอลืม และทำให้ประเทศไทยได้นำตัวอย่างจากต่างประเทศมาเรียนรู้ จะได้ไม่ซ้ำรอย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วยอธิบายเหตุผลที่ ศบค. ตัดสินใจขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีกสองเดือน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า คำถามดังกล่าว ศบค. ต้องขออนุญาตถามกลับไปด้วยว่าหลายครั้งที่ได้ย้ำไปเสมอว่า เราต้องการเห็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การแถลงข่าวเพื่อรายงานข้อมูลทุกวันนี้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นข้อมูลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน ศบค. ชุดเล็กได้จากการร่วมแรงของทุกฝ่าย ประชุมกันทุกวันไม่มีวันหยุด ร่วมกันระหว่างทุกกระทรวงไม่มีเว้น และมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ก็รีบประชุมเพื่อให้มีการรายงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อสถานการณ์ที่เกิดตัวเลข มีคลัสเตอร์ มีกลุ่มก้อน มีการแพร่ระบาด มีสะเก็ดไฟจาก ตลาดที่สองไปตลาดที่สาม จังหวัดที่หนึ่งไปจังหวัดที่สอง สาม อย่างนี้ทำให้ ศบค. ก็มีความหนักใจ 

 

แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความเป็นห่วงทั้งประชาชน ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นผู้สัมผัสหรือเป็นผู้ติดเชื้อ แต่มีความเป็นห่วงบุคลากรที่ทำงานอยู่ด่านหน้าด้วย ดังนั้น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือช่วยให้สถานการณ์นั้นพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ช่วงที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่จะต้องลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ตรวจชุมชน หากไม่มีการบังคับใช้มาตรการ คนที่อยู่ในโรงงานหรือสถานประกอบการก็อาจจะไม่ได้เกิดความร่วมมือกันขนาดนี้ ต้องเรียนว่า ศบค. ไม่ได้ออกมาตรการที่มาจากศบค.เอง แต่เกิดจากการนำเสนอโดยบุคลากรผู้ที่ทำงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดเสนอมาว่าขอให้ยังคงมาตรการ ขอให้ยังมีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้เขาสามารถประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีการนำเสนอให้ออกมาตรการ ศบค. มีความหนักใจเพราะหลายคนก็เห็นว่าเราเป็นหน่วยงานที่บริหารความขัดแย้ง เช่นเมื่อครั้งที่พิจารณาว่าโรงเรียนจะเปิดได้หรือไม่ ก็มีความเห็นทั้งสองฝ่าย สงกรานต์จะจัดได้หรือไม่ ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น อย่างที่เรียนว่าการทำงานเพื่อที่จะเลือกทิศทางที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดสำหรับประชาชน การควบคุมโรคยังอยู่ในมาตรฐานที่ควบคุมได้ ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจ และสังคม การดำเนินชีวิตของประชาชนยังต้องทำได้ จึงต้องขอกำลังใจให้ศบค. ด้วยเช่นกัน

 

ท้ายนี้จึงขอฝากว่า สิ่งที่ทุกคนทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่องก็ยังขอความร่วมมือต่อไป อย่าเพิ่งเหนื่อยล้า เพราะไวรัสยังไม่หยุดพักกับเรา ขอความร่วมมืออดทนอีกสักนิดเพราะสถานการณ์กำลังดีขึ้น

‘ชวน’ ไม่เข้าใจ ‘วิษณุ’ บอกเปิดสภาสมัยวิสามัญ ถกร่างพ.ร.บ.ประชามติ เร็วเกินไป ทั้งที่หารือกันแล้วเห็นสอดคล้อง 7 - 8 เม.ย. เหมาะสม ยันกฎหมายนี้เป็นเรื่องด่วนของรัฐบาล ถ้าเปลี่ยนใจไม่เร่งพิจารณาก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล สภาไม่เกี่ยว

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.เวลา 13.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 7-8 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ เร็วเกินไป ว่า เรื่องนี้อยู่ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกมธ.ฯ ทราบว่าจะมีการประชุมในวันที่ 1 เม.ย. ก็จะเสร็จ

แต่ถ้ารอให้เสร็จแล้วทำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอาจจะไม่ทันในวันที่ 7-8 เม.ย. เพราะต้องมีระยะเวลาในการทำเรื่องทูลเกล้าฯ ซึ่งทางคณะกมธ.ฯให้การรับรองแล้วว่าพิจารณาเสร็จทัน อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายด่วนของรัฐบาล ไม่ใช่สภาฯเป็นผู้เสนอ

ซึ่งได้พูดคุยกับประธานกมธ.ฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายวิษณุ กันเบื้องต้นแล้วว่าจังหวะเวลาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าวันที่ 7 - 8 เม.ย. เหมาะสม เพราะหลังจากนี้จะเป็นวันหยุดยาวของสมาชิกรัฐสภา

“ผมไม่เข้าใจว่าเร็วเกินไปหมายถึงอะไร ถ้าไม่เร็วก็ต้องไปพิจารณาในสมัยสามัญเดือนพฤษภาคมเลย ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนก็พิจารณาแบบนั้นได้ แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเรื่องด่วนที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ” นายชวน กล่าว

เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายเป็นห่วงร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะเราทำหน้าที่ต่อฝ่ายที่เสนอกฎหมายมาให้ได้รับการพิจารณาตามวาระที่สภาดำเนินการ เพื่อไม่ให้กฎหมายค้างพิจารณา แต่การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญที่ผ่านมาก็เปิดมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้จบ แต่บังเอิญเกิดปัญหาขึ้นมาก็ต้องมาพิจารณาอีกรอบ

เมื่อถามอีกว่าถ้ามีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้กระบวนการพิจารณาสะดุดหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คนละเรื่องกัน การไปร้องศาลก็แล้วแต่สมาชิกหรือใครก็ตามที่จะไปร้อง แต่สภาฯมีหน้าที่กำหนดระยะเวลาโดยหารือกับทุกฝ่าย เพราะสภากำหนดเองไม่ได้ ถ้าเกิดรัฐบาลหรือฝ่ายอื่นไม่พร้อม หรือไม่ประสงค์จะเปิดประชุมก็เป็นสิทธิ์ เพราะผู้เสนอเปิดประชุมวิสามัญคือฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ

ดังนั้น จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไร หากรัฐบาลเปลี่ยนใจไม่เร่งเสนอกฎหมายก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล เราไม่มีปัญหาอะไร สภามีหน้าที่ดูแลนัดวันประชุมและกำหนดวาระให้ เพื่อให้เสร็จภารกิจเท่านั้น ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้แจ้งมายังสภาให้ยืนยันว่าติดปัญหาอย่างไร ซึ่งตนตอบไปแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องด่วน

“บิ๊กป้อม” เร่ง! ปรับปรุงกฎหมายปราบค้ามนุษย์ แก้ปม ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก-ค้าแรงงาน

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต่อเนื่องด้วยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับติดตามการดำเนินงาน โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมด้วย

 

โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินงานที่สำคัญ ในการเร่งทบทวนแก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551  ที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับการลดอุปสงค์การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก การบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบมากขึ้น  รวมทั้งการกำหนดให้มีแนวทางการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด เข้ากองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 

 

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน  พร้อมรับทราบความร่วมมือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กับออสเตรเลีย รวมทั้งความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ปี 63 ( Progress Report ) เพื่อประกอบการพิจารณาจัดระดับประเทศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จึงถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและความมุ่งมั่นร่วมกัน ที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ร่วมขับเคลื่อนเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มุ่งความยั่งยืน  จึงต้องพิจารณาให้รอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติ  โดยเฉพาะการป้องกันการล่อลวงการละเมิดทางเพศต่อกลุ่มเปราะบาง เด็กและสตรีในสื่อออนไลน์ 

 

รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มากขึ้น  ขอให้เร่งปรับปรุงกฎหมายที่ยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฉพาะมอบหมายให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ติดตามการลักลอบผู้โยกย้ายถิ่น และมอบสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ติดตามนำเงินที่ได้จากการยึดอายัดทรัพย์ไปเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกำชับ การบริหารจัดการกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุน ต้องให้โปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์  ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์ของการจัดทำรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ปี 63 และให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศควบคู่กันไป 

 

โดยเฉพาะความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา และ ไทย - ออสเตรเลีย  ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาปรับแผนปฏิบัติการ ปี 64 รองรับสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางสังคม เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคการปฏิบัติงาน พร้อมย้ำกับทุกส่วนราชการ เอาผิดเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง  

"วิษณุ" ชี้! อดใจรอดูท่าทีรัฐบาล อย่าเพิ่งวิจารณ์ไร้ความจริงใจ ยัน! มีเจตจำนงค์แก้รธน.แต่ไม่เคยบอกรื้อทั้งฉบับ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... จะเป็นอย่างไรต่อไป ว่า เป็นคนละเรื่องอย่ามาถามปนกัน ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา แต่ติดอยู่ในมาตรา 9 ถึงอย่างไรก็ต้องดำเนินการต่อไป แต่จะเดินอย่างไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และ กมธ. ซึ่งกำลังทำงานกันอยู่ หากทำเสร็จก็แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเพื่อนัดเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ส่วนจะเป็นวันใดก็แล้วแต่ 

 

โดยอยากให้ทางรัฐสภาช่วยยืนยันมาอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้รัฐสภาได้ทำหนังสือต้องการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เมษายน 2564 ซึ่งตนคิดว่าเร็วไปเพราะขณะที่มีหนังสือมา ยังไม่มีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะกำลังให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานไปที่รัฐสภาอยู่ โดยในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่วันที่ ก็ดำเนินไปไม่มีปัญหา  ส่วนจะติดอะไรหรือไม่  ตนไม่ทราบเพราะยังไม่เห็นว่าเขาแก้มาตราที่ต่อเนื่องจากมาตรา 9 อย่างไร ซึ่งก็ถามกันขึ้นมาว่า หากถลำลึกลงไปในทางที่เกิดปัญหายุ่งยากในการบังคับใช้  

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เช่นข้อความเกิดขัดแย้งกันและเกิดเป็นภาระของรัฐบาล ใครขออะไรมาก็ต้องทำประชามติทุกครั้งจะทำอย่างไร โดยตนก็ได้เสนอความเห็นไป ความเป็นจริงใครๆ ก็ทราบว่าเป็นกระบวนการธรรมดา กรณีเมื่อออกกฎหมายมาแล้ว มีความบกพร่องในการบังคับใช้ก็แก้เท่านั้นไม่มีปัญหา ส่วนจะแก้ช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ดำเนินการ ในอดีตก็เคยมี กรณีออกกฎหมายมาแล้ว อีก 7 วัน ก็แก้กฎหมายฉบับนั้นเลยก็มีหลายฉบับ และไม่เป็นเรื่องใหญ่โตเช่นเมื่อปี พ.ศ.2517 ได้ออกรัฐธรรมนูญมาลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แล้ว อีก 7 วันก็มาขอแก้เรื่องการสรรหาส.ว. เป็นต้น

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่มีใครเริ่มต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระบุในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกันก่อน ได้ความว่าอย่างไรก็กลับมาคุยกับรัฐบาลอีกครั้ง  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คือพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะเห็นไม่ตรงกันก็ให้คุยกันเสียก่อน นับหนึ่งตรงนั้นแล้วค่อยมาสองที่รัฐบาล แล้วค่อยมาคิดกันต่อไปว่ารัฐบาลจะมาเกี่ยวข้องขนาดไหนอย่างไรเพราะขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่าจะแก้อย่างไร 

 

ผู้สื่อข่าวถามกระแสข่าวหากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่านวาระ 3 และ ประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจะเสนอแก้ไขมาตรา 9 จะถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า  ก็ได้บอกไปแล้ว หากเกิดการบังคับใช้กฎหมาย หรือมีความผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้ 

 

 "บางครั้งผิดพลาดแล้วถวายขึ้นไป ก็ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ที่เรียกว่าวีโต้กลับมาด้วยซ้ำไปในสมัยรัฐบาลนายอานันท์  ปันยารชุน  เป็นนายกฯ ก็ได้ถวายและรับมาแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์มาแล้ว" นายวิษณุ กล่าว

 

 เมื่อถามย้ำว่าการที่รัฐบาลขอแก้ไขในมาตราที่แพ้โหวตในวาระ 2 จะถูกวิจารณ์มากหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ได้บอกว่าอยู่ดีๆ เพราะว่าแพ้โหวตแล้วมารับทำอะไรใหม่ แต่ต้องพบความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอื่นๆอีกหลายข้อ ขณะนี้ประเด็นว่าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็มีปัญหา เมื่อถามว่าปัญหาส่วนไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่บอกเพราะยังแก้ไขไม่ถึง โดยได้บอกไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาว่าแก้สิ่งเหล่านี้เสียอย่าให้เกิดปัญหา 

 

เมื่อถามว่าจะแก้ที่มาตรา 9 เป็นหลักหรือไม่ นายวิษณุ บอกว่าไม่ใช่เพราะมาตรา 9 ผ่านไปแล้วเป็นมาตราอื่นแทน เพียงแต่มาตรา 9 เป็นต้นเหตุให้แก้มาตรา 10-13 เกือบจะไม่ต้องกลับไปแก้มาตรา 9 ด้วยซ้ำ 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สังคมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล  นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่เป็นไร ก็วิจารณ์ไป คอยดูต่อไปอย่าเพิ่งวิจารณ์" เมื่อถามว่าเจตจำนงของรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่ นายิษณุ กล่าวว่า "เจตจำนงในการแก้ไขไม่ได้แปลว่าเป็นเจตจำนงแก้ไขทั้งฉบับ"   เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็คอยดูต่อไป

“วิษณุ” ขออย่าเพิ่งยี้ “ตรีนุช” ชี้! รมว.ศึกษา ไม่จำเป็นต้องเป็นครู  เพราะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แต่เป็นนักบริหาร

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง นางสาวตรีนุช เทียนทอง ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี รมว.ศึกษาธิการเป็นผู้หญิง ว่า ตนไม่แน่ใจ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านำคนจบการเศรษฐศาสตร์มาบริหารกระทรวงศึกษาธิการเหมาะสมหรือไม่นั้น อย่าไปพูดอย่างนั้นเลย รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค จึงต้องขอยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเป็น รมว.ยุติธรรม โดยโยกมาจากกระทรวงพลังงาน 

 

ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสในวันดังกล่าวว่า รัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติการ แต่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้นจะจบอะไรมาถือเป็นนักบริหาร ถ้าเป็นนักบริหารต้องบริหารได้ คือ บริหารคน บริหารเงิน บริหารงาน เขาไม่ได้ตั้งใจว่าหมอเท่านั้นที่ต้องเป็น รมว.สาธารณสุข ครูเท่านั้นต้องเป็น รมว.ศึกษาธิการ ทหารเท่านั้นต้องเป็น รมว.กลาโหม 

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไปดูในอดีต รมว.หลายกระทรวงที่เราอาจจะยี้เมื่อตอนเข้ามา แต่ต่อมากลายเป็น รมว.ที่ดีมาก หรือดีที่สุด เช่น พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และมาเป็น รมว.สาธารณสุข ใครๆ ก็แหย่เรียกหมอเสริฐทำนองว่ายี้ แต่ต่อมา พล.ต.อ.ประเสริฐเป็น รมว.สาธารณสุขที่ทำความเจริญให้กับกระทรวงมากที่สุด จนเป็นที่ร่ำลือถึงปัจจุบัน ดังนั้น อย่าไปสนใจเรื่องเช่นนี้ 

“เทพไท” หนุน ทำประชามติ ตั้ง สสร.ยกร่าง รธน.ใหม่ ตอบโจทย์กว่าแก้รายมาตรา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลถูกคว่ำไปในวาระ 3 แล้ว ก็มีแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบรายมาตรา และยังไม่ตกผลึกว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง

 

ถ้าหากพรรคการเมืองแต่ละพรรค ยังเห็นไม่ตรงกันในมาตราที่จะแก้ไข ก็จะยากที่จะประสบความสำเร็จได้ และไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.หรือไม่ เพราะเบื้องลึกของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่ได้ตกกระไดพลอยโจนตอนจัดตั้งรัฐบาล จึงได้เขียนนโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบาย 

 

แต่เมื่อดูท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ที่บอกว่า ถ้าอยากตัดวงจรสืบทอดอำนาจ ก็ไปแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน หรือแม้แต่พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นท่าทีของผู้มีอำนาจคนสำคัญในรัฐบาล ทำให้ความหวังของการแก้ไขรัฐธรรมนูญริบหรี่ ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย 

 

ส่วนตัวเห็นด้วยกับผลโพลที่ประชาชนต้องการให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 58%  เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะไม่ตอบโจทย์การเมืองของประเทศ เพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน  ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของ คสช. มาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการเมืองใหม่ทั้งหมด ย่อมมีผลดีกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 

 

ถ้าจะเปรียบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบ้าน จำเป็นต้องรื้อหมดทั้งหลัง เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบ้านที่มีฐานรากและโครงสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นเพียงการซ่อมแซมบ้าน ที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง อาจจะพังถล่มได้ในทันที

 

การเคลื่อนไหวให้มีแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้เกี้ยวหลังจากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในวาระ 3  ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลต้องจัดทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด

นายกฯประชุม ดิจิทัล ปัดตอบ นำ ครม.ใหม่ถวายสัตย์เมื่อไหร่

วันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564  โดยยังไม่ตอบว่าจะนำคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญานเมื่อไหร่  เพียงพยักหน้าทักทาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top