Saturday, 29 June 2024
TODAY SPECIAL

28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ให้การถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 นับเป็นครั้งที่ 2 ในการเสด็จเยือนประเทศไทย

ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังพระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียงที่วัดไชยวัฒนาราม ทอดพระเนตรขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ยังได้เสด็จไปยังโรงเรียนสตรีวิทยา ในขณะที่เจ้าชายฟิลิปเสด็จไปวางพวงมาลาที่สุสานทหารสัมพันธมิตร ที่จังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยทั้งสองพระองค์และเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน จ. อยุธยา และ จ.เชียงใหม่

27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ไทยประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วงทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

วันนี้ เมื่อ 119 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ประกาศเลิกใช้ ‘เงินพดด้วง’ ทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สำหรับ ‘เงินพดด้วง’ ทางราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

วันนี้ เมื่อ 6 ปีก่อน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย และพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อให้พร้อมใช้ในพิธีจริง

นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างราชรถ ราชยานขึ้นมาใหม่ คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย รวมทั้งประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัย โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามาภิไธยในขณะนั้น) ทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ
 

25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม

วันนี้ เมื่อ 93 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชศาตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ (ตึก 1 คณะอักษรศาสตร์ปัจจุบัน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร-เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ

1.บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น)

2.บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479)

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานประกาศนียบัตร (ปริญญาบัตรในปัจจุบัน) แก่เวชบัณฑิตชั้นตรี จำนวน 29 คน ประกอบด้วยผู้สอบได้บัณฑิตชั้นตรีในปี 2471 จำนวน 18 คน และปี 2472 จำนวน 16 คน

โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ นับว่า เป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้น นับว่าเป็นวันสำคัญในประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่า ไม่ว่าประเทศใด ๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง ในประเทศสยามนี้ ต้องนับว่า การมหาวิทยาลัยยังล้าหลังอยู่มาก ที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยเหตุผลหลายประการคือ การที่จะตั้งมหาวิทยาลัยให้ใหญ่โตนั้น ถ้าเอาเงินถมลงไปก็อาจทำได้ แต่ถ้าวิชาที่สอนนั้นประชาชนยังไม่ต้องการ หรือสอนไปไม่เป็นประโยชน์ในทางอาชีพของเราแล้ว การที่จะตั้งเช่นนั้นก็หาเป็นประโยชน์"

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 78 ปีก่อน องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ‘กฎบัตรสหประชาชาติ’ (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ’ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมขุนพินิตประชานาถ’ บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ด้วยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า ‘พระปิยมหาราช’ หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น ‘วันปิยมหาราช’

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

วันนี้เมื่อ 67 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน

อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเสื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย 

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มาเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

ส่วนกิจการบ้านเมืองนั้นก็หวังว่า ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าบวชนี้คงไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดข้อง โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าก็ได้แต่งตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบสุขในกิจการบ้านเมืองของเราให้ดําเนินไปด้วยดีเถิด

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย ได้อภิบาลคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขสวัสดี ขอทุกๆ ท่านจงมีส่วนได้รับกุศลความดีงามอันจักพึงมีจากการที่ข้าพเจ้าเข้าอุปสมบทในพระศาสนาครั้งนี้โดยทั่วกัน เทอญ”

สำหรับพระราชพิธีทรงผนวชในครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจาก ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี เป็นต้น

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)

ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพในปี พ.ศ. 2538 รวมพระชนมายุ 95 พรรษา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’ ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาติมีมากมาย พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยตลอดมา รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ จึงได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันสำคัญของประเทศไทย ดังนี้

• วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 
ด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จย่า ทรงมีต่อประชาชนที่ได้พบเห็นในถิ่นทุรกันดารในเรื่องของโรคภัย คือ เรื่องโรคฟัน ถือเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดารและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ในปี พ.ศ. 2512 พระองค์จึงทรงจัดตั้ง ‘หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี’ (พอ.สว.) ขึ้น และทรงให้ทันตแพทย์ร่วมปฏิบัติงานในหน่วยแพทย์พอ.สว.นี้ รวมทั้งพระองค์ได้พระราชทานวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์และทันตบุคลากร ในปี พ.ศ.  2532 คณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมเด็จย่ามีพระมหากรุณาธิคุณ จึงกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ และพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น ‘พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย’

• วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
สืบเนื่องจากพระองค์ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและเวลาเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก และสมควรนำมาเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนและการปฏิบัติงานเพื่อสังคมส่วนรวม เมื่อปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ในปี 2542 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศพระนามให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ : การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

• วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ
วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ หรือ วันรักต้นไม้แห่งชาติ หรือ ‘วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ’ (National Annual Tree Care Day) ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของสมเด็จย่า ที่ทรงให้ความสำคัญการบำรุงรักษาต้นไม้และฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ’ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อสมเด็จย่า ที่ทรงงานพัฒนาชนบทโดยเฉพาะการฟื้นฟูสมดุลของธรรมชาติ

• วันพยาบาลแห่งชาติ 
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้ง โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร อ้างเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ซึ่งพร้อมใจลาออก) รัฐประหารครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยเหตุจากการเดินขบวนประท้วง การประท้วงการเลือกตั้งสกปรก และการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ทหาร

จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการไปอย่างราบรื่น ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ในนาม ‘คณะปฏิวัติ’ ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยอาศัยทั้งเหตุความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและที่สำคัญคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ภายหลังยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ม.17 ให้อำนาจนายกฯ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง

19 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เทิดพระเกียรติ ร.9 ‘พระบิดาเทคโนโลยีไทย’

วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย’

จุดเริ่มต้น วันเทคโนโลยีของไทย มาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานปฏิบัติการ และประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างมาก

การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยัง ยังทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top