Wednesday, 9 July 2025
NEWS FEED

“บิ๊กบี้” สั่งระดมยุทโธปกรณ์เข้าดูแลประชาชน รับมือสถานการณ์น้ำ เน้นความปลอดภัยภายใต้มาตรการป้องกันโควิด 

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิงศิริจันทร์ บาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เรียกประชุมด้วยระบบออนไลน์กับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกกองทัพภาคเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์อุทกภัย และการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทัพบกส่วนกลางไปยังพื้นที่ประสบภัย 

โดยเฉพาะการระดมทรัพยากร และยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกเพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มศักยภาพอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ทุกกองทัพภาคประสานงานร่วมกับทุกภาคส่วน เตรียมแผนรับมืออุทกภัยไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะประเมินว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้นไปจนถึงเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งการเตรียมการที่รัดกุม ทันต่อสถานการณ์ จะทำให้การดูแลประชาชนของกองทัพบกเป็นไปอย่างทั่วถึง และตรงตามนโยบายของรัฐบาล 
 
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า การเรียกประชุมในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ขอบคุณทุกหน่วยที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างทุ่มเท กำชับให้กําลังพลที่ปฏิบัติงานต้องตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ประสบภัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วย ผู้พิการ หรือคนชรา ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ย้ำให้หน่วยจัดลำดับพื้นที่ในการช่วยเหลือ จัดสรรกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ไหนที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งทำการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว การทำงานทุกส่วนให้ประสานกับส่วนราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด 
 
“ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ระดมยุทโธปกรณ์จากหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกทุกหน่วย ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการช่วยเหลืออุทกภัยได้ โดยเฉพาะเครื่องมือช่างและยานพาหนะสายขนส่ง มาเพิ่มเติมให้กับหน่วยในพื้นที่น้ำท่วมได้ใช้งาน อาทิ สะพานเครื่องหนุนลอยพับได้แบบ 79A (Ribbon Bridge) จากกรมการทหารช่าง เพื่อจัดตั้งเป็นแพลอยน้ำขนาดใหญ่ เป็นตำบลรวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์”รองโฆษกกองทัพบก กล่าว

เดินหน้า! “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปฏิรูปภาคเกษตร “อลงกรณ์” ขับเคลื่อน 16 วาระคานงัด (Transformation Agenda)สร้างจุดเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีหวังพลิกโฉมเกษตรประเทศไทย 77 จังหวัด!!

วันนี้ 27 ก.ย. 64 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมแห่งชาติ (Agritech and Innovation Center : AIC)

พร้อมด้วย นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ประธานอนุกรรมการ ประธานศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัด หน่วยงานภาครัฐ หอการค้าและภาคีเครือข่ายเกษตรกร ที่เกี่ยวข้อง กว่า 300 ราย ร่วมกันประชุมหารือขับเคลื่อนคณะกรรมการ ซึ่งในที่ประชุมได้มีประเด็นสำคัญในการติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ด้านการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech อนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ อนุกรรมการขับเคลื่อนด้าน E-Commerce อนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness)

การจัดทำแผนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2564 และ 2565 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือโดยศูนย์ AIC เชียงใหม่ แผนจังหวัดชลบุรี การขับเคลื่อนโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรเพชรบุรีโมเดล การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การนำเสนองานวิจัยด้านการเกษตรของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ที่เชื่อมโยงสู่ศูนย์ AIC และนำไปใช้ประโยชน์ สรุปผลการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ AIC ผลการสำรวจการรวบรวมข้อมูลปุ๋ย ข้าว สมุนไพร และโปรตีนทางเลือก ผลการสำรวจการคัดเลือกนวัตกรรมที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดำเนินการทางด้านธุรกิจ

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึง การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ให้เกิดความชัดเจนเชิงโครงสร้างระบบ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เน้นการทำงานที่รวดเร็ว และการนำไปใช้ประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ให้แก่ เกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน เชื่อมโยงกลไกการขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ขยายผลจากโครงการนำร่องสู่แพลตฟอร์มทั่วประเทศ(Pilot 2 Platform)ในการดำเนินงานต่อไป

พร้อมทั้งมอบ แนวทางการขับเคลื่อนฯ ตามยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินการบริการประชาชนและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาดตาม5ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร

นอกจากนี้นายอลงกรณ์ยังได้มอบหมายการทำงานในปีที่2ของศูนย์ AIC โดยมี 16 วาระสำคัญที่เรียกว่า”วาระคานงัด(Transformation Agenda)สร้างจุดเปลี่ยนมุ่งถ่ายทอด ต่อยอด เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการดังนี้

 1. คุณภาพและมาตรฐานเกษตร GAP GMP Organic Fair Trade

 2. ระบบตรวจสอบย้อนกลับ

 3. ระบบคิวอาร์โค้ดเกษตรกรและฟาร์มQR code Farm & Farmer

 4. ระบบศูนย์ข้อมูลและรัฐบาลเทคโนโลยี(Big Data & GovTech)จังหวัด & กลุ่มจังหวัด บริหาร&บริการ

 5. ตลาดกลางสินค้าเกษตรออนไลน์และออฟไลน์(Online Offline)

 6. โครงการ 1 จังหวัด 1 Startup & SMEเกษตร (อย่างน้อย) > Hachkaton

 7. โครงการ1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร(ศูนย์เกษตรอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร)

 8. โครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ เฟส 3 ผลไม้

 9. โครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank)

 10. โครงการชลประทานชุมชน

 11.  3 Zero Zero Kilometer Zero Waste Zero Food

 12. อาหารแห่งอนาคต เกษตรแห่งอนาคต(Future Food Future Crop)เช่นโปรตีนทางเลือกใหม่ สมุนไพร ไข่น้ำ

 13. โครงการวิจัย & พัฒนาในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

 14. แผนเกษตรอัจฉริยะปี 65-70 และแผนงานตามงบประมาณปี 2566

 15. โครงการเครื่องจักรกลเกษตร(Machinelization Policy)แปลงใหญ่

 16. การถ่ายทอด ต่อยอด เชื่อมโยง ร่วมมือ พัฒนา โดยการขับเคลื่อนภายใต้กลไกต่าง ๆ 

 

กรมชลฯ ประเมินสถานการณ์น้ำ 24 ชม.หลังฝนยังตกต่อเนื่อง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,111 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 25,180 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีก 26,970  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,952 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 13,223  ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนหลายแห่ง โดย กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ มอบเครื่องอุปโภคบริโภค และเงินช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิต

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นายพินัย ศรีพนาสณฑ์ ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ พร้อมด้วยนายรัชพร ประสงค์ทรัพย์ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ มอบเครื่องอุปโภคบริโภค  ประกอบด้วย ข้าวสาร ปลากระป๋อง  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำพริกสำเร็จรูป และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลตาลเดียว ตำบลวัดป่า ตำบลสักหลง และตำบลปากดก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 500 ชุด  พร้อมมอบเงินค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 1 รายๆ ละ 20,000 บาท  รวมมูลค่าทั้งสิ้น 195,000 บาท  (หนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยมี นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอหล่มสัก ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายธีระพันธุ์ ศรีวัฒนกุล รองนายกสมาคมกกไทร และคณะกรรมการ เป็นผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลือในพื้นที่และร่วมในพิธี ณ บริเวณสมาคมกกไทร (พ่งไล้ยี่จับเซียวเกาะ)  อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ 

และในวันเดียวกันนี้ ทีมบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย  นายสมบูลย์ ขวัญอ่วม หัวหน้าแผนกบรรเทาสาธารณภัย นำทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย พร้อมรถกู้ชีพ เรือท้องแบน อุปกรณ์การช่วยเหลือ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค รุดลงพื้นที่อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพื่อเข้าอพยพผู้ประสบภัย เคลื่อนย้ายผู้ป่วย และแจกจ่ายอาหารปรุงสุก พร้อมน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่าง ๆ ต่อไป

ส.ส. ก้าวไกล เสนอทบทวนแบนบุหรี่ไฟฟ้า หลังนิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายหนุนผู้สูบเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน

ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊คเสนอรัฐบาลทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ประเทศสูญเสียโอกาสหลายด้าน พร้อมระบุคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่รัฐสภาและทำเนียบเกินครึ่ง

ส.ส. วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวชื่อบัญชี “ วรภพ วิริยะโรจน์” ระบุว่าได้ย้ำกับรัฐบาลไปหลายครั้ง หลายโอกาสเพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการแบนบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากที่เพจดัง ดราม่า แอดดิค เสนอข่าวรัฐบาลนิวซีแลนด์ออกกฎหมายใหม่ สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า  

โดย ส.ส. วรภพ ระบุว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่มีการทบทวน คือ การปิดกั้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในมิติด้านสาธารณสุข และ เศรษฐกิจ ด้านเศรษฐกิจ คือ เสียโอกาสที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษี อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และโอกาสของทั้งเกษตรกรไร่ยาสูบและ ผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่อง” นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าที่รัฐสภาและทำเนียบก็มีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมาก “ถ้าจะจับคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าจริง นี่ ลองมาดูช่วงประชุมสภา / ทำเนียบฯ ดู ผมว่าจับได้เกินครึ่งแน่นอน” ส.ส. วรภพ ระบุในโพสต์

โพสต์ดังกล่าวมีเข้าเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมากอาทิเช่น 

“ขอบคุณครับที่เข้าใจเรื่องนี้และช่วยเป็นกระบอกเสียงครับ จริงๆการที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกร ไปจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภคเลยครับได้มากกว่าเสียหลายเท่า แต่เสียดายว่าฝ่ายที่ค้านจะโกหกยังไงก็ได้ออกสื่อ เพราะเสียงดังกว่าและมีหัวโขนสวมหลายใบ”  

 “ขอบคุณมากค่ะที่หยิบประเด็นนี้มาคุย เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่รัฐบาลต่างประเทศนั้นมองเห็นสุขภาพของประชากรสำคัญกว่ารายได้จากอุตสาหกรรมบุหรี่ และเปิดใจให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีวิทยาศาสตร์รับรองในการลดอันตรายจากบุหรี่มวน”

“ขอบคุณสส. ที่เอาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้านี้มาคุย ประเทศอื่นไม่แบน ไทยกลับแบน แต่ความย้อนแย้งคือใช้กันเกลื่อน”

นายกฯ เป็นประธานการประชุม ศบค. ขยายระยะเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีก 2 เดือน ถึง 30 พฤศจิกายนนี้ คงเคอร์ฟิวต่ออีก 15 วัน ลดเวลาเคอร์ฟิวเป็นระหว่าง 22.00 - 04.00 น.

วันนี้ (27 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 พฤศจิกายนนี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่ม 1 ต.ค. นี้ ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องไม่ประมาท ยังต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึง ติดตามการกระจายเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็จะขยายรูปแบบ Sandbox ในส่วนกิจการ/กิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้น อาทิ ปรับกิจกรรมภายในโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศต่อไป นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคแรงงานและภาคประชาชนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 มากขึ้น ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ สธ. ช่วยพิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิง/ศิลปินพื้นบ้าน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังดีใจที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันได้เกิน 1 ล้านโดส มั่นใจไทยมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยฝากให้ สธ. ช่วยดูแลการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับเด็กเล็กด้วย นายกรัฐมนตรียังรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวโดยจะเริ่ม 1 ตุลาคมนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนการช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ Pandemic สู่โรคประจำถิ่น Endemic ซึ่งต้องขอให้แต่ละฝ่ายถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงของการแพร่ระบาด เพื่อเป็นแนวทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย

"นทพ." ช่วยสธ.เดินหน้าฉีดวัคซีนบูสต์เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันรองรับเชื้อกลายพันธุ์

ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(นทพ.) พล.อ.นเรนทร์  สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) สั่งการให้สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (สสน.นทพ.) ดำเนินการ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่องทาง "นัดหมายผ่านองค์กร" ณ จุดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารอเนกประสงค์ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนนทบุรี แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วม อันเนื่องมาจากปรับเพิ่มปริมาณน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนนทบุรี แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วม อันเนื่องมาจากปรับเพิ่มปริมาณน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 - 1.00 เมตร ระหว่างวันที่ 26 - 29 กันยายน 2564

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้มีโทรสารด่วนที่สุดที่มท (กปภก) 0631 / ว 334 ลงวันที่ 26 กันยายน 2564 ได้รับการประสานจากกรมชลประทานแจ้งว่าช่วงที่ผ่านมามีฝนตกสะสมต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบนและกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 26 - 30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง

ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 - 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้การบริหารจัดการน้ำรวมทั้งตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่ง แต่ยังคงจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระหว่าง 2,400 - 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ห่วงใยประชาชน - ครอบครัวตำรวจ - ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ในหลายจังหวัด พร้อมสำรวจความเสียหายของสถานีตำรวจ บ้านพักราชการ

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุดีเปรสชั่น ฉบับที่ 1 ลง 23 ก.ย. 64 จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เคลื่อนตามแนวร่องมรสุม เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. 64 ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญ และมีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน รวมถึงข้าราชการตำรวจ และครอบครัวของข้าราชการตำรวจ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเช่นเดียวกัน โดยกำชับให้ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชา

 

องอาจ – ผู้การแต้ม ดึง “ศปฉ. ปชป.” ลุยตรวจ ATK ชุมชน หลักสี่ จตุจักร 

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศปฉ. ปชป. จัดกิจกรรม #ตรวจ(ATK)ก่อนติด ขึ้นที่แฟลตเคหะบางบัวซอยพหลโยธิน 49/1 เขตหลักสี่ จตุจักร โดยความร่วมมือจากโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ พร้อมด้วยทีมงาน ปชป. หลักสี่ จตุจักร นำโดย "ผู้การแต้ม" พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค เข้าร่วมด้วย ซึ่งมีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจเข้ารับการตรวจกว่า 400 ราย สำหรับในช่วงบ่ายจะได้ไปดำเนินกิจกรรมต่อที่ชุมชนนครหลวง ซ.เสือใหญ่ รัชดา 36 ต่อไป 

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังคงมีอยู่ แม้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อจะทยอยลดลงก็ตามทำให้ความต้องการในการช่วยเหลือเพื่อหาเตียงจึงน้อยลงตามไปด้วย ศปฉ. ปชป. จึงเห็นว่าควรมีบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen test kit (ATK) เพื่อเร่งคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และลดการแพร่กระจายเชื้อต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าว ศปฉ.ปชป. ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนอย่างน้อย 4 แห่ง ในกรณีที่พบผลการตรวจ ATK เป็นบวก โรงพยาบาลที่มาให้บริการจะเป็นผู้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการรักษาตัวต่อ พร้อมรับผู้ติดเชื้อเข้าไปดูแลใน Hospitel ต่อไป อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พรรคได้มีการจัดตรวจเชิงรุก ATK ให้แล้วในเขตต่าง ๆ หลายพื้นที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพี่น้องประชาชนภายใต้สถานการณ์วิกฤตอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top