Friday, 29 March 2024
วิเคราะห์การเมือง

ศึกเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ ครั้งหน้าส่อแววระอุ หลัง ‘นายหัวสิทธิ์’ ซบ ‘รทสช.’ ชิงเก้าอี้ ส.ส.โซนชะอวด

นายหัวสิทธิ์ ประกาศแล้วเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.โซนชะอวด-จุฬาภรณ์ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยประกาศเจตนารมณ์ออกมาแล้ว

พี่น้องครับเรามาร่วมกันตามหาโอกาสที่สูญเสียไป กันนะครับ

ผมขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกบนถนนสายการเมือง ที่อาสาเข้ามาทำงาน เพื่อการรับใช้ประชาชน ด้วยเจตนาและอุดมการณ์ สำนึกรักบ้านเกิด เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน

นายสิทธิรัก ทิพย์อักษร (นายหัวสิทธิ์) ผู้เสนอตัว ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) พรรครวมไทยสร้างชาติ เขตอำเภอชะอวด อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอไกล้เคียง (เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ) จังหวัดนครศรีธรรมราช

'กรณ์' เปิดตัว 'จูรี' ลงเขต 2 สงขลา แต่ตัวเต็งยังเป็น 'ภูมิใจไทย-ปชป.-พปชร.'

เมื่อวานนี้ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้เปิดตัวผู้สมัคร 4 เขตของสงขลา แต่ที่น่าสนใจคือเขต 2 ส่ง ‘จูรี นุ่มแก้ว’ หรือจูรี แหลงเล่า ดาวติ๊กต๊อก อดีตผู้ประกาศข่าวทีวีช่องหนึ่ง

จูรีเป็นคนระโนด จ.สงขลา ที่เริ่มมีชื่อเสียงจากการทำติ๊กต๊อก แนวเสียงสาวประเภทสอง ใช้สำเนียงใต้สไตล์ชาวบ้าน ที่ผันตัวเองมาจากคนอ่านข่าว จัดรายการข่าว

หลังตัดสินใจลงเล่นการเมืองได้มอบหมายให้ ‘แสงทอง นครศรี’ หรือ ‘แสงทอง อโนทัย’ นักร้องดังภาคใต้ทำเพลงให้เรียบร้อยแล้ว

กล่าวถึงเขต 2 สงขลา อันเป็นโซนเมืองของหาดใหญ่ เจ้าของพื้นที่คือ ศาสตรา ศรีปาน จากพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การสนับสนุนของพันเอก (พิเศษ) สุชาติ จันทรโชติกุล เป็นเด็กรุ่นใหม่ ขยันลงพื้นที่ เลือกตั้งครั้งหน้าย้ายตาม ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

เดิมคู่แข่งสำคัญของศาสตรา น่าจะเป็นทนายหมู ‘ฉัตรชัย ชูแก้ว’ จากพรรคภูมิใจไทย แต่จู่ ๆ ทนายหมูมาเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ทั้ง ๆ ที่กำลังเป็นดาวรุ่ง พรรคภูมิใจไทยจึงหันหน้าไปมอง ‘เจษฎาพงศ์ ชูแก้ว’ น้องชายทนายหมู ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ 

พรรคประชาธิปัตย์ก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องกลับมาทวงคืนพื้นที่โซนเมืองหาดใหญ่ให้ได้ ส่ง ‘นิพัฒน์ อุดมอักษร’ เลขานุการนายกฯอบจ.สงขลาลงชิง ว่ากันว่า นิพัฒน์เป็นเด็กข้างแคร่ของ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นิพนธ์หวังปั้นให้แจ้งเกิดเช่นกัน

สนามเลือกตั้งสตูล 2 เก้าอี้ ส่อเค้าเดือด ประชาธิปัตย์ส่งหน้าใหม่ ‘ปลัดซอบรี-กำนันเกตุชาติ’ ลงทวงแชมป์คืนจากภูมิใจไทย

เมื่อวานเจอ ‘กำนันเกตุชาติ เกษา’ ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ลูกสาวพี่อ๊อดบ้านสวน ปทุมธานี ซึ่งมาจัดงานเลี้ยงย่านพระราม 9 ได้เจอกับกำนันเกตุชาติ

กล่าวสำหรับกำนันเกตุชาติ ผมไม่เคยรู้จัก หรือพบเจอมาก่อน แต่จากการบอกกล่าวทราบว่า เป็นคนกว้างขวางพอได้ ในจังหวัดสตูล

กำนันเกตุชาติเคยลงสมัครชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.สตูล แต่คะแนนแพ้ ‘สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์’ นายกฯ อบจ.สตูล สมัย 2 แต่ยังมุ่งมั่นเดินหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด

ปัจจุบันกำนันเกตุชาติเป็นที่ปรึกษาท่านประธานรัฐสภา ‘ชวน หลีกภัย’ ทำงานใกล้ชิดท่านชวนมาตลอด เป็นกำนันมา 29 ปี

"ผมตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สตูล เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การสนับสนุนของพี่นิพนธ์ บุญญามณี และท่านประธานชวน หลีกภัย ทั้งสองท่านเมตตา และเอ็นดูผมเหมือนลูกเหมือนหลาน ให้คำปรึกษา ชี้แนะตลอด"

กล่าวสำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 สตูล ทุกวันนี้ ‘วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์’ (โกแพ) เป็น ส.ส.อยู่ในนามพรรคภูมิใจไทย ถ้าเป็นอย่างนี้ กำนันเกตุชาติก็ต้องไปสู้กับโกแพนั้นเอง อาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อกำนันเกตุชาติลงลุยสนามเลือกตั้ง ส.ส.และชนกับโกแพ สนามนี้ก็จะไม่ธรรมดา กระแสพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้ และทั่วประเทศกำลังดี มี ส.ส.ไหลเข้าจากแรงดูดค่อนข้างมาก แต่กำนันเกตุชาติ ได้ใช้ตำแหน่งนักปกครองช่วยเหลือประชาชนในนามส่วนตัวมามาก และยาวนาน เป็นที่รู้จักกันของพี่น้องชาวสตูล ก็พอจะฟัดเหวี่ยงกันได้

'หมอวรงค์' ผวา!! ประชาธิปไตยเงินสด จำยอม หากคนไทยยังไม่เป็นตัวของตัวเอง

ผมเองเขียนเรื่อง 'ประชาธิปไตยเงินสด' มาหลายครั้ง ไม่ต้องการให้นักการเมืองเอาเงินมาฟาดหัวประชาชน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแทนประชาชน

แต่ยิ่งเขียนดูเหมือนกระแสเงินสดหมุนเวียนในแวดวงการเมืองจะเพิ่มตัวเลขขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 5 ล้าน เป็นสิบล้าน ยี่สิบล้าน วันนี้พูดถึงตัวเลข 30 ล้าน/เขตกันแล้ว ซึ่งเป็นการพูดที่ดูหมิ่นดูแคลนประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง และนั่นคือ ต้นเหตุของปัญหา 'วงจรอุบาทว์' ในการเมืองไทย

แอบชื่นชมการต่อสู้ของ 'หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม' มาพอสมควร แต่นานๆ จะกล่าวถึงสักครั้ง วันนี้แอบไปส่องเฟซบุ๊กของหมอรวงค์ เขียนตรงใจกับที่ผมคิด จึงขออนุญาตนำมาสื่อสารต่อ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ประชาธิปไตยเงินสด' โดยระบุว่า...

การที่ ส.ส.ลาออก ย้ายพรรค มีการควบรวมพรรคกันจำนวนมากช่วงนี้ ทำให้นึกถึงการเมืองที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยเงินสด หรือ Cash Democracy หรือ cash politics’ ทุกอย่างอยู่ที่ข้อตกลงเรื่องตัวเลขเงินสด

เหตุการณ์ทำนองนี้ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นมาตลอด ในระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ เพราะอำนาจต่อรอง จะไปอยู่ที่ตัว ส.ส. มุ้ง บ้านใหญ่ และเงินจะมีอิทธิพลสูงมาก ไม่ใช่อุดมการณ์

ดังนั้นประชาธิปไตยเงินสด ซึ่งแหล่งเงินที่มา ก็มาจาก 'ทุนสีเทา' ทั้งหวย บ่อน ยา น้ำมันเถื่อน ตลอดจนเงินที่เกิดจากการโกง ทุจริตคอร์รัปชัน เรียกรับและต่อรอง ของผู้มีอำนาจ ประชาชนต้องไม่มองว่า เหตุนี้เป็นเรื่องปกติ แต่เป็นสิ่งเลวร้าย ที่ทำลายประชาธิปไตย

เพราะสุดท้ายประชาธิปไตยเงินสด ก็จะยิ่งนำพาประเทศ เข้าสู่วังวน วงจรอุบาทว์ การทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความขัดแย้ง เพราะผลประโยชน์ จะหนักยิ่งกว่ายุคแจกกล้วย และเป็นตัวทำลายประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้าประเทศมีปัญหา เพราะประชาธิปไตยเงินสด ให้จำรัฐสภาชุดนี้ไว้ เพราะเป็นผู้ผ่านกติกาการเลือกตั้งแบบนี้ กลับมาใช้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ระบบนี้เคยสร้างปัญหาให้ประเทศมาแล้ว

พรรคไทยภักดี ยืนยันมาหลายรอบแล้วว่า เราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเงินสด ไม่ยุบ ไม่รวม พร้อมที่จะต่อสู้กับทุนสีเทา การทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเราเชื่อว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่อยากเห็นพรรคการเมืองสักพรรค ยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

สิ้น ‘ทนายหมู’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สงขลา ส่งให้ ‘ประชาธิปัตย์’ มีหวังทวงคืนพื้นที่

ช็อคการเมืองสงขลา ‘ทนายหมู’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พรรคภูมิใจไทย เสียชีวิตกะทันหัน เผยเป็นเต็งหนึ่งปักธงรบสงขลา ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า ยกทัพลงใต้สุดเซอร์ไพรส์ ส่ง ‘จุรี ดาวติ๊กต็อก’ ชิงเก้าอี้เขต 2

พรรคภูมิใจไทยต้องสูญเสียผู้สมัครคนสำคัญของพรรคในการเลือกตั้ง คือ นายฉัตรชัย ชูแก้ว หรือ ทนายหมู ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พรรคภูมิใจไทย ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

นายฉัตรชัย ชูแก้ว หรือ ทนายหมู อายุ 51 ปี เป็นนักการเมืองอนาคตไกล ที่พรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือให้ลงเขต 2 สงขลา อย่างมีความหวังเต็มเปี่ยมในการเพิ่มเก้าอี้พรรค จากที่มีส.ส.เขตเดียวคือเขต 7 ที่มีนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ยืนหนึ่ง และในการเลือกตั้งรอบใหม่ นายอนุทิน ชาญญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคฯซึ่งเคยประกาศบนเวทีเมื่อครั้งนำทัพเปิดตัว ‘8 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย’ พร้อมวลีเด็ด ‘ตอกเสาเข็มที่สงขลา’ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนคู่แข่งทางการเมืองแน่นอนว่า มีพรรคประชาธิปัตย์เจ้าถิ่นเป็นตัวยืนอยู่แล้ว ส่งนิพัฒน์ อุดมอักษร หลานฝ่ายภรรยาของนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ลงแข่งขัน

พรรคชาติพัฒนากล้า นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค ,นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และคณะผู้บริหารพรรค เตรียมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลาจำนวน 3 เขต วันที่ 17 ธ.ค.นี้

โดยเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นตัวพลิกเกมด้วยการเปิดตัวสุดเซอร์ไพรส์ส่งนายตรัย นุ่มแก้ว หรือ จุรี นุ่มแก้ว (แหลงเล่า) ดาวติ๊กต็อกชื่อดังชิงเก้าอี้เขต 2 สงขลา ทำให้สนามนี้มีโอกาสพลิกผันที่พรรคการเมืองใหม่ในสายตาคนสงขลาจะหันมาพิจารณา โดยมี ‘จุรี’ เป็นตัวชูโรงแหวกทางให้คนรุ่นใหม่ พรรคใหม่ได้แจ้งเกิด เนื่องจากตัว ‘จุรี’ มีแฟนคลับมากไม่น้อยในโลกโซเชี่ยล ถือเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวที่ผันตัวเองมาสู่โลกโซเชียลและประสบความสำเร็จ กำลังก้าวเข้าสู่วงการการเมือง

'เจือ ราชสีห์' ซบ 'รวมไทยสร้างชาติ' บู๊เขต 1 สงขลา เผชิญหน้า 'สรรเพชญ' ลูกชาย 'นิพนธ์ บุญญามณี'

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า 'เจือ ราชสีห์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัดสินใจย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากมีปัญหาพื้นที่เลือกตั้งทับซ้อนกับ 'สรรเพชญ บุญญามณี' จากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะลงเขต 1 สงขลา ในนามพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

กล่าวสำหรับเจือ ราชสีห์ เคยเป็น ส.ส.เขต 1 ในนามประชาธิปัตย์มา 4 สมัย แต่การเลือกตั้งครั้งปี 62 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง 'เพชญ' ลูกชายของนิพนธ์ บุญญามณี ลงสมัครแทนตามผลโพล 'เจือ' จึงต้องไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อแบบ 'ไม่เต็มใจ' และผลการเลือกตั้ง 'เจือ' ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. จนกระทั่งเพิ่งจะได้รับเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.หลังจาก ส.ส.บางคนลาออก เท่ากับว่าสมัยนี้เจือได้เป็น ส.ส.แค่ 4-5 เดือนเท่านั้น

เมื่อเขตเลือกตั้งทับซ้อนกัน และเจือยังยืนยันจะลงระบบเขต เนื่องจากบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าลำดับเกิน 20 ก็คงยากที่จะได้รับเลือกเป็นเป็น ส.ส. ซึ่งคราวที่แล้วเจืออยู่ลำดับที่ 27 ถ้ายังอยู่ลำดับเดิม หรือขยับมา 20-25 ก็เป็นลำดับที่ไม่ได้ จึงย้ายไปลงระบบเขตของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ถ้าเป็นอย่างนี้ 'เจือ' ก็ต้องไปสู้กับ 'เพชญ' ซึ่งมีฐานะเป็นหลาน (ลูกของเพื่อน) ฤๅการเมืองก็ต้องไปว่ากันในสนามเลือกตั้ง ประชาชนจะเป็นคนติดสิน

ปชป.รอวันฟื้น!! เชื่อ! จะกู้วิกฤตศรัทธาคืนมาได้อีกครั้ง แม้กระแสนิยม ‘หัวหน้าพรรค’ ตกต่ำสุดขีด

เมื่อพลพรรคประชาธิปัตย์สามัคคีกันลุกขึ้นสู้ “เขาจะกลับมาฟื้นตัวเสมอ”

แม้มีคนกล่าวว่า สถานการณ์เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำสุดขีดแล้ว ตายแล้ว ไปที่ไหนก็กระแสไม่ค่อยจะมี อันเป็นการสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้มาพียง 52 ที่นั่งจากที่เคยได้เกิน 100 มาแล้ว แถมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ ไม่มี ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ภาคใต้รังของประชาธิปัตย์ก็ได้มาแค่ 21 ที่นั่ง อันเกิดจากคำพูดเพียงประโยคเดียวของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น “ไม่เอาประยุทธ์” ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคงคิดว่าเป็นวรรคทองที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งได้ อันอาจจะเกิดจากการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ว่า คนไทยไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาประยุทธ์แล้ว

แต่วรรคทองดังกล่าวกลับเป็นหอกกลับมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์จนถึงทุกวันนี้ และหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็นำทีมร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จนถึงทุกวันนี้ อภิสิทธิ์รับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจาก ส.ส. และมี 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

นั้นคือประเด็น และเหตุผลที่คิดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ คนไม่เลือกแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับไปมองในอดีตพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเจอประสบการณ์ตกต่ำมาแล้วหลายครั้ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กลับมาสามัคคีกัน สร้างเนื้อตั้งตัวใหม่ ประชาธิปัตย์ก็จะกลับมาฟื้นเหมือนเดิน

ย้อนกลับไปเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นโดยบุคคลคณะหนึ่ง มี 'ควง อภัยวงศ์' เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศเจตนารมณ์ และจุดยืนชัดเจน 10 ข้อ ที่โดดเด่น เช่น ไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารในท้องถิ่น อันถือเป็นนโยบายที่ก้าวหน้า และทันสมัยที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์ก้าวเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ล้มแล้วลุกตามสถานการณ์ทางการเมือง

จนถึงปี 2522 ผลการเลือกตั้งไม่น่าเป็นที่พอใจนัก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตกต่ำ ผลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครพรรคประชาธิปัตย์ได้มาเพียง 1 คน คือ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ในเวลานั้นรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่กอบกู้พรรค พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - 2525 หลังหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระแสความนิยมตกต่ำอย่างรุนแรงและสมาชิกในพรรคเกิดความแตกแยกกัน 

พันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ เป็นนักกฎหมาย เป็นนักการทูต เป็นนักการเมืองที่ฉะฉานนักข่าวถ้าไม่แน่จริง ไม่ชัดเจนในประเด็น ไปถาม พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ จะถูกย้อนถามกลับมา ทำเอา “นักข่าวก็ไปไม่เป็น” เหมือนกัน สมัยนั้นต้องระดับ 'สุทธิชัย หยุ่น' ถึงจะเอาอยู่ แต่ก็ถูกพันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ ถามย้อนกลับเอาไม่น้อยเหมือนกัน แต่ด้วยความเขี้ยวของสุทธิ หยุ่น ก็ถือว่า 'เอาอยู่' 

พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ต้องเข้ารับภาระในตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เพื่อประคองพรรคให้อยู่รอดต่อไปได้

กล่าวกันว่า พันเอก (พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการบริหารที่ยาก เป็นการบริหารท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับอีกขั้วการเมืองในพรรค คือขั้วของ 'พิชัย รัตตกุล' ซึ่งในขณะนั้นนายพิชัยเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ด้วย เนื่องจากมีสภาพเหมือนคู่แข่งกัน ในการทำงานระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่คนละรัฐบาล และต่างขั้วกัน โดยกล่าวกันในวงสนทนาว่า ถ้ามีผู้ใดถามถึง พิชัย กล่าวกันว่า พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ จะตอบเสมอ ๆ ว่า "ไม่รู้จักคน ๆนี้”

หมดยุคของพันเอก(พิเศษ) ในปี 2525 พิชัย รัตตกุล ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ นำพาพรรคให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยผลการเลือกตั้งที่คว้าชัยมาถึงหลัก 100 ที่นั่ง ถือว่า พรรคประชาธิปัตย์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่พิชัยก็ก้าวพลาดจนได้ เมื่อนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่กลับไม่ทำตามข้อตกลงกับกลุ่ม 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับกลุ่ม ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นอีกครั้งสะสมมาเรื่อย ๆ จนมาแตกหักในวันที่ 10 มกราคม 2530 อันเป็นวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรค มีการแข่งขันกันสองขั้ว ขั้วหนึ่งมี 'ชวน หลีกภัย' เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค อีกขั้ว มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์' ลงชิง ต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุน อันนำมาซึ่ง 'กบฏ 10 มกรา' แถลงข่าวไล่เตะ ไล่ถีบกันรายวัน

'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' เปิดศึกนครศรีธรรมราช ฟาก 'พปชร.' หวั่น!! รทสช.แย่งแชร์ หลังบิ๊กตู่ซบ

นาทีนี้ คงต้องมาเป่านกหวีดเช็คความพร้อม สนามเลือกตั้งเมืองคอนกันสักเล็กน้อย หลังจากสนามนี้ 'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' พร้อมเปิดศึกกันเต็มอัตรา ส่วน พลังประชารัฐ อาจจะอ้อแอ้ เมื่อลุงตู่มาร่วมทัพรวมไทยสร้างชาติ จนทำให้พรรคคึกคักขึ้น

ย้อนความไปเมื่อพลันที่พรรคภูมิใจไทย เปิดตัว 8 ผู้สมัครนครศรีธรรมราช พร้อมประกาศลั่นพร้อมสู้ทั้ง 9 เขต หวังปักธงอย่างน้อย 3 เขต ทำให้ต้องมาเช็กสนามกันอีกรอบ เพื่อสำรวจความพร้อมของแต่ละพรรค    

เพราะนาทีนี้ "นครศรีธรรมราชไม่เงียบนะ" เป็นคำตอบยืนยันมาจาก 'แทน-ชัยชนะ เดชเดโช' ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวผู้สมัครไปแล้ว 8 เขตเช่นกัน

8 คนที่ประชาธิปัตย์ได้ตัวผู้สมัครแล้วนั้นเป็นทั้งคนหน้าเก่าและหน้าใหม่ ได้แก่…

- นายราชิต สุดพุ่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

- นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ที่ปรึกษารมช.พาณิชย์

- น.ส.อวยพรศรี เชาวลิต สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช 3 สมัย

- ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ อดีตรองนายกอบจ.นครศรีธรรมราช

- นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 5 สมัย

- นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย และอดีตรมช.ศึกษาธิการ

- นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

- น.ส.ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ บุตรสาวของนายชินวรณ์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

โซนหัวไทร, ชะอวด, เชียรใหญ่ ทำโพลเสร็จพบ  'ยุทธการ' ชนะ 'พงศ์สิน เสนพงศ์' น้องชายของเทพไท เสนพงษ์ โดย ยุทธการ รัตนมาศ เป็นอดีตรองนายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นป้ายแนะนำตัวเต็มเขตเลือกตั้งแล้ว ส่วนพงศ์สินเคยลงสมัครเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม เขต 3 ซึ่งก็คือพื้นที่โซนนี้แหละ แต่แพ้ให้กับอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่ง ก็จำเป็นต้องหาที่ยืนใหม่ สุดท้ายก็ไปลงที่รวมไทยสร้างชาติ

ไม่ว่าจะเป็นพงศ์สิน หรือยุทธการ ในมุมมองของ #นายหัวไทร เชื่อว่า มีฐานเสียงเดียวกัน คือโซนชะอวด ฐานเสียงโซนหัวไทรจะเบาบางทั้งคู่

"เรามีวิธีในการเรียกคะแนนจากประชาชน ขอให้สนามเลือกตั้งเปิดก่อน" เป็นคำยืนยันจาก 'ชัยชนะ'

'แทน-ชัยชนะ' ยังเชื่อมั่นอีกว่า เลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนพรรคประชาธิปัตย์จะชนะยกจังหวัด 9 ที่นั่ง ส่วน 'ภูมิใจไทย' คงสู้เต็มที่ทุกเขต แต่หากยืนอยู่บนความเป็นจริง ขอส่วนแบ่งไม่น้อยกว่า 3 เขต

การที่ภูมิใจไทย หวัง 3 เขต แปลความได้ว่าจะต้องไปแบ่งมาจากประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ เพราะภูมิใจไทยไม่มี ส.ส.นครศรีธรรมราชมาก่อน เหลืออีก 6 เขต ประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐก็ต้องไปสู้ส่วนแบ่งกัน ซึ่งดูจากเนื้อผ้าแล้ว เชื่อว่าพลังประชารัฐจะได้น้อยกว่าเดิม เพราะ 'สายัณห์ ยุติธรรม' ไปกับลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชัดเจนแล้วว่า จะไปรวมไทยสร้างชาติ ก็จะเหลือ ส.ส.เก่าพลังประชารัฐที่ปักหลักสู้อยู่กับพรรคเดิม คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ที่จะต้องประดาบกันหนักกับ 'ราชิต สุดพุ่ม' อดีตผู้ว่าฯปัตตานี ที่ผันตัวเองมาใส่เสื้อสีฟ้าประชาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่หมูในอวยแน่นอน

ส่วนตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย อย่าง 'ผู้การฯ ติ๊ก' ก็จะมาแย่งคะแนนไปได้ไม่น้อยกับเครือข่ายศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมะ ที่ทุกวันนี้ผู้การฯ ติ๊กนั่งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมะอยู่ด้วย ทราบว่า หลังจากลงคลุกพื้นที่ขยันเดินพบปะ คะแนนตีตื้นขึ้นมาไล่บี้ 'รงค์-ราชิต' แล้ว ราชิตก็พยายามตีโอมล้อม 'ป่าล้อมเมือง' เข้ามาประชิตรั้ว ดร.รงค์แล้ว อยู่ที่ว่า ดร.รงค์ยังจะลงเขตเหมือนเดิม หรือขึ้นบัญชีรายชื่อ ปัญหาของ ดร.รงค์ คือ คนใกล้ตัวลงแข่งหมด

ด้าน อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สองปีกับการเป็นผู้แทนยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ ‘ทุกคะแนนไม่สูญเปล่า’ เครือข่ายเพื่อนฝูง-ญาติพี่น้องเยอะ ช่วยได้มาก แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยช่วยให้ชนะการเลือกตั้งกระจัดกระจายกันไปหมดแล้ว คงทำให้อาญาสิทธิ์มีปัญหาบ้าง และให้จับตาคนใกล้ตัวอย่างนายหัวอาจจะลงแข่งกับอาญาสิทธิ์ด้วย ซึ่งคงจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนายหัวคือผู้เกื้อหนุนอาญาสิทธิ์มาก่อน

‘ประชาธิปัตย์’ รุกหนัก!! ใส่ใจชายแดนใต้ เรียกกระแส คืนศรัทธา ปูพื้นใหม่สู้ศึกเลือกตั้ง

การที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมงานไปเยือนประเทศมาเลเซีย และได้พบกับกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองในการรุกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลุ่มนักธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้ง 100% เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยทำธุรกิจประสบความสำเร็จส่งเงินกลับเข้ามายังประเทศไทยมหาศาล

ยิ่งเมื่อประชาธิปัตย์ตั้งธงว่า จะต้องทวงคืนสนามเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ด้วยแล้ว การลุยเข้าไปพบปะชาวไทยในมาเลเซีย จึงถือว่าเป็นการรุกที่ ‘เข้าเป้า’ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขายังมีญาติพี่น้องอีกจำนวนมากอาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไปมาหาสู่กันอยู่ ถือว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ และในช่วงหลังขาดการเอาใจใส่ดูแล

ทั้งนี้ ร้านอาหารต้มยำกุ้ง นั้น ถือว่าประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่แตกต่างจากที่อื่น ๆ ทั่วโลก และการที่ นิพนธ์ ได้ไปพบกับ Ukhuwah Mr. Johari Bin Ahmad รวมถึงกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์พร้อมรับหนังสือร้องเรียน จนพบว่า ปัจจุบันการมาทำงานในประเทศมาเลเซียของกลุ่มคนไทยนั้นมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องการให้รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไทยที่มาทำงานที่นี่ โดยทาง กลุ่มฯ ได้ร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่องดังนี้...

- การแจ้งเกิด-แจ้งตายที่ปัจจุบันมีรายละเอียดและขั้นตอนการทํางานที่ยุ่งยาก และหลายขั้นตอน
- การอํานวยความสะดวกในการออกใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย
- การอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง(Passport) ให้กับคนไทยที่เดินทาง มาทํางาน ให้สามารถต่ออายุ/ทำใหม่ได้ที่สถานทูตฯ 
- การกำหนดรายละเอียดการออกใบอนุญาตให้เข้ามาทํางานในประเทศมาเลเซีย (Work Permit) โดยกำหนดประเภทแรงงาน/ราคา
- การส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันกีฬา และกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของคนไทยที่เดินทาง มาทํางานในประเทศมาเลเซีย 
- การจัดหาครูผู้สอนและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กที่ครอบครัวพามาพักอาศัย หรือ ที่แม่คนไทยคลอดในประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันเด็กที่เดินทางมากับผู้ปกครองนั้นไม่สามารถสื่อสารและใช้ภาษาไทยได้ 

นิพนธ์ รับปากว่าจะหาช่องทางในการช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะกลุ่มคนที่ร้องขอมานั้นก็ถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน โดยรายละเอียดต่าง ๆ นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าบางอย่างสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างการจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คนไทยในต่างแดนได้รู้จักกันมากขึ้น สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในเรื่องต่าง ๆ ส่วนในเรื่องพาสปอร์ต และใบอนุญาตการทำงานต้องมีการประสานกับกระทรวงต่างประเทศ และทางการมาเลเซีย ต่อไป ซึ่งจะรับไปดำเนินการต่อรวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ตามที่กลุ่มฯ ได้ร้องขอมา ซึ่งต้องถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำรายได้เข้าประเทศและหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ของเราส่วนหนึ่งด้วย

ถ้านิพนธ์ดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ กระแสแสปากต่อปากก็จะมาถึงหูของญาติพี่น้องในเมืองไทย และจะเป็นพลังดูดเสียงมาสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้ไม่น้อย

ทั้งนี้ หากกล่าวสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถือเป็นการต่อสู้กันเข้มข้นระหว่างพรรคประชาชาติ ของวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค / พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยยึดครองสนามนี้มาก่อน พรรคพลังประชารัฐ / พรรคภูมิใจไทย โดยจะมีพรรคสร้างอนาคตไทย แทรกมาบ้างในเขตเลือกของ ‘วัชระ ยาวอหะซัน’ ที่ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ไปสังกัดพรรคสมคิด ซึ่งวัชระ เป็นทายาททางการเมืองของ ‘กูเซ็ง ยาวอหะซัน’ นายกฯอบจ.นราธิวาส

รู้จัก ‘สุนทร ปานแสงทอง’ รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง จากโควตาบ้านใหญ่สมุทรปราการ

รู้จัก ‘สุนทร ปานแสงทอง’ รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง จากโควตาบ้านใหญ่สมุทรปราการ

‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้ง นายสุนทร ปานแสงทอง เป็นรัฐมนตรีช่วย (รมช.) ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่ามกลางเสียงถามอื้ออึงว่า ‘สุนทร ปานแสงทอง’ เป็นใคร มาจากไหน

หลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณปรับ ครม.ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กลุ่มปากน้ำได้โควตารัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และส่งชื่อไปให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ‘เป็นผู้ชาย และเป็นคนนอก’

รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงคนนี้ มีตำแห่นงทางการเมืองก่อนหน้านี้ เป็น รองนายก อบจ.สมุทรปราการ ที่มี ‘ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย’ เป็นนายกฯ อบจ. ภายใต้การสนับสนุนของ ‘ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ บ้านใหญ่ปากน้ำ

ตามประวัติไม่เคยผ่านการเป็น ส.ส.มาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ข้องแวะเพียงแค่การเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ เมื่อปี 2548 ให้กับ ‘พรรคมหาชน’ และเป็นผู้สมัครเขต 4 สมุทรปราการ ในนามพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 เท่านั้น

ในทางการเมือง ถือเป็นคนที่มีโปรไฟล์ชัด มาจากบ้านใหญ่ อัศวเหม 

ซึ่งเรื่องนี้ สอดคล้องกับที่เจ้าตัวออกมาขอบคุณ หลังได้รับโปรดเกล้าฯ

“ขอบคุณกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ที่นำโดย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ที่สนับสนุนการทำงานและผลักดัน ให้รับหน้าที่ในตำแหน่ง”

ดังนั้น เมื่อ นายชนม์สวัสดิ์ สนับสนุน โควตานี้ก็ถือเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ตามที่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ เคยรับปากกับ ‘กลุ่มปากน้ำ’ ไว้

ทั้งนี้ หากจำกันได้ การรับปากดังกล่าว เกิดขึ้นจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบที่ผ่านมา ที่ ส.ส.กลุ่มปากน้ำไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6 ส.ส.กลุ่มปากน้ำ อันประกอบด้วย นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับอีก 5 ส.ส.สมุทรปราการ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก, นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ, น.ส.ภริม พูลเจริญ, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ออกมาเขย่าเก้าอี้ ‘มท.1’ ของ ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้เสียวสันหลังวาบ

ด้วยการโหวตสวนมติพรรคตัวเอง ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มานั่งในตำแหน่ง มท.1 แทนด้วย

โดย นายกรุงศรีวิไล เรียกการโหวตสวนในคราวนั้นว่า เป็นการกระตุกหนวดเสือ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top