Saturday, 20 April 2024
IMPACT

กระทรวงการคลัง ผนึกกำลังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดันนโยบาย ‘Made in Thailand’ สนับสนุนหน่วยงานรัฐซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ เปิดโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้มากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้

ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกาศเป็นกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประเมินว่า จากกฎกระทรวงฉบับนี้ที่สนับสนุนหน่วยงานให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย คือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขาย และหน่วยงานภาครัฐได้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยตามที่ต้องการ ภาครัฐมั่นใจว่าการสนับสนุนครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่เอสเอ็มอี เข้มแข็งขึ้น จากยอดการซื้อจากภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการยกระดับเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดภาระด้านการเงินที่ต้องนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ

สำหรับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand ได้กำหนดสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% โดยคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand จะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือต่างประเทศ ที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการจดทะเบียน มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องในประเทศไทย และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

หากสินค้าใดที่ผ่านการรับรองจะได้รับเอกสารรับรองที่ ส.อ.ท. ออกให้แก่ผู้ประกอบการนำ ไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า Made in Thailand กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางอย่างเป็นระบบ

สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์

รวมถึงจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐให้เข้าใจในกฎกระทรวงฉบับใหม่และการนำสินค้า Made in Thailand ไปเสนอต่อภาครัฐด้วย ตั้งเป้าหมายในปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า

เอกชนเริ่มทนไม่ไหว วอนรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนโควิด พร้อมมีแผนดำเนินงานอย่างชัดเจน หลังพบวัคซีนโควิด อืดเป็นเรือเกลือ ลั่นบริษัทเอกชนยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางรอดเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด เรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญต่อการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แต่ไทยเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนได้เพียงแค่ 40,000 โดสในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแผนกระจายของรัฐบาล ทราบว่า ได้ทำสัญญาซื้อไปแล้ว 60 ล้านโดส แต่จะเริ่มฉีดให้กับคนไทยได้อย่างเต็มที่เดือนละ 10 ล้านโดสเริ่มเดือน มิ.ย.64 นั้น ถือว่า ล่าช้ามาก

ทั้งนี้หอการค้าไทยเสนอ 4 แนวทาง คือ

1.)การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยในภาคธุรกิจนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการที่ต้องมีการติดต่อทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้น ๆ

2.) รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.) เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว โดยเอกชนสามารถร่วมทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และบริษัทที่มีกำลังก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

และ 4.) การสื่อสารสร้างความมั่นใจ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น

กรมการจัดหางาน เผยข่าวดี แรงงานไทยเดินทางทำงานไต้หวัน ไม่ต้องจ่ายเงินค่ากักตัว 14 วัน เตือนอย่าหลงเชื่อ จ่ายเงินคนแอบอ้าง

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ล่าสุดกระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้กำหนดให้นายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่ากักตัวให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางไปทำงานไต้หวัน โดยนายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดเตรียมสถานที่กักตัว ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ค่าพาหนะรับ-ส่งจากสนามบินถึงที่พัก

นอกจากนี้ทางการยังกำหนดให้จัดห้องพักให้แรงงานห้องละ 1 คน หากไม่สามารถทำได้จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม 1.5 เมตร และต้องสวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ทั้งนี้หลังจากกักตัวครบ 14 วัน นายจ้าง/บริษัทจัดหางานต้องจัดหารถรับ - ส่งแรงงานไทยเดินทางไปตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลตามที่ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันกำหนด โดยศูนย์ฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค ในส่วนของค่าจ้างระหว่างกักตัว นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันเอง

หากนายจ้างไม่รับผิดชอบ ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้จากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน เฉพาะวันทำงานปกติ โดยมีกำหนดยื่นภายใน 2 ปี หลังสิ้นสุดการกักตัว ยกเว้นผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 17 มีนาคม 2563 และเดินทางกลับมาทำงานที่ไต้หวันอีกครั้ง จะไม่มีสิทธิยื่นขอเงินชดเชยดังกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน/คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานไต้หวันระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ใดเป็นค่ากักตัว 14 วัน และเลือกเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่

1.) บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2.) กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง)

3.) นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ

4.) นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ

5.) คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการตามมาตรฐานที่พึ่งมี และป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการไปทำงานในต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-245-6708-9 ในวันและเวลาราชการ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเสนอศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 เม.ย. 64 ลดเวลากักตัวคนฉีดวัคซีนแล้วเหลือ 7 วัน ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดกัก 10 วัน นำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี และพังงา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้พิจารณาเกี่ยวกับการลดจำนวนวันกักตัวท่องเที่ยวต่างชาติจาก 14 วัน แยกเป็น

1.) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก เข้ากักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอเรีย ควอรันทีน เพียง 7 วัน แต่ไม่ต้องอยู่เฉพาะในห้องพัก สามารถออกมาทำกิจกรรมภายในบริเวณที่กำหนดได้ แล้วค่อยสวอปหาเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ถ้าไม่เจอเชื้อถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้

2.) นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก แล้วเข้ากักตัว 10 วัน ก่อนสวอปเชื้ออีกครั้ง จากนั้นถึงจะสามารถท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะออกไทม์ไลน์อย่างชัดเจนว่าทุก ๆ 2 เดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 64 จะผ่อนปรนได้ขนาดไหนและอย่างไร โดยนำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา และจอมเทียน) และพังงา (เขาหลัก) ที่เพิ่งเพิ่มมาล่าสุด เนื่องจากมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน

‘จุรินทร์’ เตรียม "ลงนามข้อตกลงขายข้าว 1 ล้านตันต่อปี" หลังครม.อนุมัติร่าง MOU การค้าข้าว ไทย - อินโดนีเซีย เพิ่มโอกาสส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอินโด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำ MOU ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ของไทย กับ กระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์ขอจัดทำ MOU และได้ประชุมหารือประเด็นดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 โดยสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อขายข้าวปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเจรจาและทำสัญญากันต่อไป โดยที่ MOU ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี

"รัฐบาลอินโดนีเซียขอทำ MOU โดยเป็นข้าว 15% - 25% กับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสำรองข้าว เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (self-sufficiency policy) ส่งเสริมการปลูกข้าวภายในประเทศ เพื่อให้เพียงพอและนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่ในบางปีอินโดนีเซียประสบปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อบริโภคและเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ "

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การทำข้อตกลง หรือ MOU ดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางการค้าข้าวอันดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย

ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวไป อินโดนีเซีย ปริมาณ 89,406 ตัน มูลค่า 2,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 46.23

ญี่ปุ่นจ่อพัฒนา ‘Gatebox’ เพื่อนสาวเสมือนจริง ขนาดเท่าคน ตอบโจทย์คนเหงา = ธุรกิจบริการ คาดเปิดขายช่วงแรกให้ฟากธุรกิจก่อน แต่ก็อาจจะขายให้คนทั่วไปด้วย

เว็บไซต์ SoraNews24 นำเสนอข่าวว่า Gatebox หรือเพื่อนสาวเสมือนกำลังจะถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่เท่าขนาดคนจริง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Gatebox บริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า Gatebox หรือ ‘อุปกรณ์อัญเชิญตัวละคร’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเครื่องชงกาแฟขนาดกะทัดรัด สามารถตั้งบนโต๊ะทำงานของคุณได้ โดย GateBox จะสร้างภาพ 3 มิติของตัวละครที่คุณชอบ มาคอยดูแลและให้กำลังใจคุณ (ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่ม ๆ) ในทุก ๆ วัน เช่น ปลุกคุณในตอนเช้า เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และสามารถสนทนาโต้ตอบกับคุณได้ตลอดทั้งวัน

ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ GateBox ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และล่าสุดทางบริษัทฯ มีแผนจะเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของ Gatebox ที่ใช้ชื่อว่า ‘Gatebox Grande’ ซึ่งเป็น Gate box ที่เพิ่มขนาดขึ้น ให้มีความสูงราว 165 เซนติเมตร หรือเท่าขนาดคนจริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของ Gatebox Grande ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gatebox รุ่นเดิม โดยมีระบบแสดงผลขนาดใหญ่ และมีขนาดเครื่องที่สูงราว 2 เมตร น่าจะเหมาะกับภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ต้อนรับเสมือนจริง เช่น ติดตั้งในร้านค้า สถานบันเทิง พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดงานต่างๆ และธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันดับแรก

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดขายให้กับคนทั่วไปที่มีกำลังทรัพย์และพื้นที่เหลือเฟือ (ภายในอพาร์ตเมนต์ของคนโสด) เพราะคาดว่าจะมีราคาที่สูงมากเช่นกัน (ราคารุ่นแรกร่วม 5 หมื่นบาท)

สำหรับ Gatebox เวอร์ชั่นก่อนหน้าไซส์ จะเป็นตัวการ์ตูนสาวที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในแท่งแก้ว สามารถโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี AI ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมประจำวันของเรา รวมถึงตัวเสื้อผ้าที่สวมใส่ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาในแต่ละวันได้เองอัตโนมัติ แถมยังสามารถรายงานสภาพอากาศ, เป็นนาฬิกาปลุก และควบคุมการเปิดปิดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านตามเวลาที่กำหนด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้คุณสามารถติดต่อสื่อสารกับ Gatebox ได้เหมือนมีเพื่อนสาวจริง ๆ แม้จะอยู่นอกบ้าน ซึ่งจะคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและอยู่ข้าง ๆ คุณในทุกช่วงเวลา

ส่วน GateboxGrande ก็มีความสามารถคล้ายกัน เช่น สามารถตรวจจับมนุษย์ได้และตัวละครสามารถตอบโต้กับผู้คนได้ เช่น กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนเมื่อพวกเขาเข้าใกล้ และขอบคุณพวกเขาเมื่อพวกเขาออกจากร้านไป เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามีตัวละครอยู่จริง ไม่ใช่แค่วิดีโอที่ถูกบันทึกไว้


ที่มา : 

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6096297

https://soranews24.com/2021/03/08/virtual-anime-wife-gadgets-go-life-size-with-gatebox-grande

รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ กลางปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 - 80 สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย

โดย คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น สสว. จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service: BDS) โดยสสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลง ซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

ดาราสาว ‘พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช’ ดาราสาว พร้อมมารดาและพี่ชาย ย่องพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ รับทราบ 3 ข้อกล่าวหา คดีฉ้อโกงประชาชน ปมแชร์ Forex-3D แล้ว ด้านดีเอสไอ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับหมายเรียกเข้าพบ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

ในวันนี้ (วันพุธที่ 3 มีนาคม 2564) นายสรายุทธ ไชยเดช นางสรินยา ไชยเดช และนางสาวสาวิกา หรือ พิ้งค์กี้ ไชยเดช ได้เข้าพบนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คดีแชร์ลูกโซ่ Forex-3D ณ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีพิเศษที่ 153/2562 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

กรณีดังกล่าว นายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ร่วมกันหลอกลวงโดยการโฆษณาชักชวนต่อประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุน ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.forex-3D.com และแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ค ในชื่อบัญชี “Apiruk Krub” “Apiruk Kothi” และ “Forex-3D” โดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ (Forex) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 - 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงิน และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งการโฆษณาชักชวนหลอกลวงประชาชนของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก เป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ (Forex) ตามที่กล่าวอ้าง แต่มีลักษณะนำเงินจากประชาชนที่ลงทุนรายนั้นหรือรายอื่นมาหมุนเวียนจ่ายแก่ประชาชนผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมเงินรายอื่น เป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก โดยปรากฏผู้เสียหายในสำนวน จำนวน 9,692 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908,113,421.92 บาท

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “ในวันนี้ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ตนมาติดตามความคืบหน้าในการสอบสวนคดี Forex-3D เนื่องจากคดีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก ประชาชนให้ความสนใจติดตามคดีดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวง โดยการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก เดินทางเข้าร้องเรียนผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม”

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวต่อว่า “ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าในห้วงนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายราย โดยในวันนี้ ได้มีการเรียก นางสาวสาวิกา หรือพิ้งค์กี้ ไชยเดช ดาราสาวที่มีชื่อเสียง นางสรินยา ไชยเดช มารดา และนายสรายุทธ ไชยเดช พี่ชาย เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนฯ ของดีเอสไอ ทั้งนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม จะดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับหมายเรียกเข้าพบ และขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย”

กระทรวงคมนาคม ดันแลนด์บริดจ์ ชุมพร - ระนอง มูลค่าลงทุนแสนล้านบาท เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร พร้อมเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ 2 มหาสมุทร ทั้งมหาสมุทรอินเดีย และ มหาสมุทรแปซิฟิก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เป็นการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565

สำหรับโครงการนี้ กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และรถไฟทางคู่ รวมทั้งวางระบบการขนส่งทางท่อ โดยทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่

ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน โดยประมาณการวงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติฉีดวัคซีนเดินทางเข้าประเทศ ฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คาดเริ่มเปิดรับได้ตั้งแต่ไตรมาส 3

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยว ได้สั่งให้ ททท. ทำแผนในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3

ล่าสุด ททท.ได้สั่งให้ทุกสำนักงานต่างประเทศของ ททท.แจ้งข้อมูลและสถานการณ์ของประเทศต้นทางทุก 2 สัปดาห์ ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าใด รวมถึงแนวทางการเปิดประเทศว่าประเทศที่ดูแลนั้นมีนโยบายเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ เพื่อให้ ททท. กำหนดแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมาย

นายฉัตรทันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ททท.ได้หารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ถึงแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปดูแนวทางและเตรียมทำแผนออกมาโดยเร็ว เพื่อให้ ททท. กลับไปวางแผนดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เร็วมากขึ้น พร้อมทั้งจะได้ไปหารือกับเอกชนภาคการท่องเที่ยว เพื่อออกแพ็คเกจท่องเที่ยว ให้ตรงกับตลาดนักท่องเที่ยวได้ด้วย

ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางเอาไว้ 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรก คือ แนวทางการดึงนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มคณะ จะเดินทางเข้ามาได้หรือไม่ และต้องมีเอกสารอะไรประกอบบ้าง ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีการฉีด ตัวอย่างที่สอง คือ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทางที่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว จะเข้ามาได้อย่างไร และตัวอย่างสุดท้าย คือ กรณีที่ทั้งประเทศไทย และประเทศต้นทางมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว คนที่เดินทางเจ้ามาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุข จะสรุปมาอีกครั้ง

“การดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากนี้เป็นต้นไป จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ คนฉีดวัคซีนมาก่อนให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เช่น เข้าได้อย่างไร ต้องกักตัวกี่วัน ใช้เอกสารอะไร ใช้ประกันอะไรหรือไม่ เป็นสิ่งที่ ททท. ถามไปแล้ว และรอสาธารณสุขตอบกลับมา”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top