Wednesday, 9 July 2025
ECONBIZ NEWS

'สุริยะ' แจงปมแนวคิด 'ซื้อคืนรถไฟฟ้า-ลุยจ้างเอกชนเดินรถ' หวังให้รัฐมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะ 20 บาทตลอดสาย

(26 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน ผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อ คืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในส่วนการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป อย่างไรก็ตาม จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถใน ส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน

“ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดย ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลถึงสภาพการจราจรในถนนตามแนวเส้นทางนั้น ๆ ก็จะติดขัดน้อยลง โดยผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ ผมอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว

‘รมว.สุชาติ’ กระตุ้น SMEs มอบรางวัลให้บุคคลต้นแบบ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เผย!! ‘ไทย’ มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในตลาดใหญ่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไกลทั่วโลก

(24 ส.ค. 67) ที่ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน 'Thailand Trade Exponential Fest 2024' ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ว่า “วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้มาเป็นประธานในการเปิดงาน 'Thailand Trade Exponential Fest 2024' ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจ SME มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งธุรกิจ SME คิดเป็น 99.5 เปอร์เซนต์ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด เป็นแหล่งรองรับการจ้างงานกว่า 70 เปอร์เซนต์ ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ"

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และทุกหน่วยงานในสังกัดมีหน้าที่ร่วมกันสนับสนุนและขับเคลื่อนการค้าให้เติบโต ช่วยแก้ไข ลดปัญหาและอุปสรรคให้ธุรกิจ SME โดยมีเป้าหมายหลักคือการผลักดันให้ธุรกิจ SME มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ โตขึ้นจาก 35.2 เปอร์เซนต์ เป็น 40 เปอร์เซนต์ ต่อ GDP ภายในปี 2570”

“ผู้ประกอบการ SME ไทยล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถมีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดใหญ่ได้ โดยการจัดงาน“Thailand Trade Exponential Fest 2024” ในวันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่  ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการให้คำปรึกษา SME โดยเป็นการรวมพลัง ติดอาวุธและสร้างโอกาสให้ SME ไทย เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ  จากวิทยากรชั้นนำของประเทศ อินฟลูเอนเซอร์ และ Key Opinion Leaders ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ธุรกิจไทยให้เติบโต และการจัดงานครั้งนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นแรงกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ SMEs ไทยสามารถสร้างธุรกิจให้เจริญก้าวไกลและสามารถส่งออกไกลไปทั่วโลก” นายสุชาติฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานนี้ ผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่ที่ประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจกว่า 20 ชีวิต, Soft power ของไทย 6 หนุ่ม วง PROXIE, โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ จากมันนีโค้ช, ศรุต ทับลอย Game Director ผู้สร้างเกม Home Sweet Home นักแสดงซีรีส์ที่มีกระแสที่โด่งดังไกลไปทั่วเอเชีย, เอิร์ท พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ, มิกซ์ สหภาพ วงศ์ราษฎร์ - จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ 'กางเกงแมวโคราช', ธีระพงศ์ ระบือธรรม ผู้ผลิตยาดมหงส์ไทย, ธี ศิวโรจณ์ คงสกุลผู้กำกับซีรีส์สืบสันดาน, แก๊ป ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล นักแสดงซีรีส์สืบสันดาน และทิป มัณฑิตา จินดา Founder & MD of Digital Tips ที่จะมาเป็น Expert ให้คำปรึกษา SME โดยเป็นการรวมพลัง ติดอาวุธและสร้างโอกาสให้ SME ไทย เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ITD ได้ถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับชมทั่วประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Hybrid Business Matching การนำเสนอสินค้าหรือแผนธุรกิจบนเวทีสดๆ และมีการจัดเตรียมผู้ซื้อที่เป็นนักธุรกิจจากต่างประเทศ เป็นหนึ่งใน Business Matching ที่ไม่ควรพลาด และ SME Virtual Clinic on Stage ที่ ITD ภูมิใจนำเสนอกับกิจกรรมที่ให้ผู้ประกอบการ SME ขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญผ่านแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere โดยหน้าบริเวณงานยังมีตัวอย่างแบรนด์สินค้า SMEs ที่ประสบความสำเร็จของออกบูธมากกว่า 20 ร้านค้าอีกด้วย

สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการเอฟซี ต้นแบบ 'สโมสรฟุตบอลสีเขียว'

THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ส.ค.67 ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต ถึงการรับมอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุต พริ้นท์ และเครื่องหมายรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในวงการกีฬาฟุตบอลไทย โดยมี 'สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี' เป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของไทยที่ได้การรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันวงการกีฬาให้ความสนใจในการลดโลกร้อนมากขึ้น เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นการจัดโอลิมปิกที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุด ประมาณ 1.75 ล้านตัน ในขณะที่การจัดโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.9 ล้านตัน การจัดโอลิมปิกที่รีโอเดจาเนโร ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 3.6 ล้านตัน และการจัดโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 3.4 ล้านตัน 

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกในปัจจุบัน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ได้ออกกฎ Cooling break หมายถึง การเล่นกีฬาฟุตบอลต้องพักเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดโอเวอร์ฮีท (Over heat) มากเกินไป เนื่องจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาที่วิ่งในสนามแล้วเป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด กว่า 50 คน 

ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิในสนามสูงถึง 32 องศาเซลเซียส นักกีฬาต้องหยุดพักก่อน เมื่ออุณหภูมิลดลงถึงจะเริ่มเกมแข่งขันได้ ซึ่งอาจทำให้ความนิยมของแฟนบอลลดลงเนื่องจากการแข่งขันไม่ต่อเนื่องและมีการหยุดพักบ่อยครั้ง แสดงถึงภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาในระดับโลกแล้ว 

ในส่วนของวงการฟุตบอลไทย คุณพีรพัฒน์ ถานิตย์ ประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรปราการ เอฟซี กล่าวถึง ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและแรงบันดาลใจในการสนับสนุนให้สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี เข้าสู่โครงการลดโลกร้อน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าสโมสรฟุตบอลกับการลดโลกร้อนห่างไกลกัน แต่จริงๆ แล้วมันใกล้กันมาก เพราะสมัยก่อนเวลาแข่งขันฟุตบอลมันไม่มีการหยุดแข่งขันระหว่างเกมเนื่องจากอากาศร้อน เลยได้ปรึกษากับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ว่าทางสโมสรฯ อยากเริ่มต้นลดโลกร้อนอย่างจริงจัง เพราะความร้อนสามารถคร่าชีวิตนักกีฬาได้ เนื่องจากการซ้อมฟุตบอลของไทย นิยมซ้อมในช่วงเวลา 3-4 โมงเย็น ซึ่งอากาศยังร้อนอยู่มาก เราเลยเริ่มต้นลดโลกร้อนง่ายๆ จากเสื้อกีฬาของสโมสรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล (Recycle) รวมถึงการติดแผงโซล่าเซลล์ (Solar cell) ในร้านอาหารบริเวณสนามซ้อมเพื่อประหยัดพลังงาน  หรือแม้แต่สนามหญ้าก็ใช้ปุ๋ยออร์แกนิก (Organic) ในการบำรุงรักษา รวมถึงรณรงค์การแยกขยะของแฟนบอลอีกด้วย 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลโดยทั่วไปจะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประมาณ 100 ตันต่อปี โดยสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลง 30% ในปี 2568 และปีถัดไปตั้งเป้าลดลง 60% จนกระทั่งเหลือศูนย์เลย สิ่งสำคัญจะทำให้กีฬาฟุตบอลยังคงอยู่กับเราต่อไป การสร้างน้ำใจนักกีฬา และเรื่องของสุขภาพของนักกีฬา เราต้องหาจุดสมดุลใหม่ให้กีฬากับโลกร้อนเดินไปด้วยกันได้ ไม่อยากให้เล่นกีฬาแล้วมีปัญหาเรื่องสุขภาพเนื่องจากอากาศและภาวะโลกร้อน เราต้องรีบดำเนินการตั้งแต่วันนี้ก่อนที่มันจะสายไป สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เอฟซี จึงกลายเป็นต้นแบบ 'สโมสรฟุตบอลสีเขียว' แห่งแรกของไทย นอกจาก 'ชัยชนะ' จะเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการ แต่สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้าม คือ น้ำใจนักกีฬาที่ควรมีให้กัน และการมีน้ำใจให้กับโลกใบนี้ด้วยครับ

‘Biotherm’ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ประกาศปิดเคาน์เตอร์ในห้างฯ อำลาตั้งแต่ 1 ต.ค.67 พร้อมขายออนไลน์วันสุดท้ายสิ้นปีนี้

(23 ส.ค.67) เพจ ‘Biotherm’ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชื่อดัง ได้ประกาศโดยระบุข้อความว่า “เรียน ลูกค้าไบโอเธิร์มที่น่ารักทุกท่าน เรามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทราบว่า แบรนด์ไบโอเธิร์ม ประเทศไทยจะปิดให้บริการในช่องทางห้างสรรพสินค้าเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไปเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก

สำหรับลูกค้าที่ยังคงต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา ช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ใน Lazada และ Line Official Biotherm Thailand จะยังเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

แบรนด์ไบโอเธิร์ม ประเทศไทย มีความซาบซึ้งในความรักและความผูกพัน ที่ลูกค้าทุกท่านมีให้กับแบรนด์ รวมถึงการสนับสนุนแบรนด์ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวขอบคุณทุกท่านจากใจ

สุดท้ายนี้ แบรนด์ไบโอเธิร์ม ประเทศไทย ขอลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน มีสุขภาพที่ดีและมีสุขภาพผิวที่ดีตลอดไป ด้วยรักและเคารพ ไบโอเธิร์ม ประเทศไทย”

‘ภาคเอกชน’ ยก!! 3 เรื่องเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ‘นายกฯ’ ‘สร้างความเชื่อมั่น - สร้างขีดความสามารถ SME - วางยุทธศาสตร์’

(23 ส.ค.67) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเข้าพบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ว่าจะมีนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น กลาง ยาว โดยจากการระดมความคิดจากเครือข่ายทั้งภาคเอกชนทั่วประเทศ มีทั้งหมด 3 เรื่องเร่งด่วน คือ

- เรื่องที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นกลางและระยะยาว
- เรื่องที่ 2 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SME เพราะ 90% ของสมาชิกเป็น SME ในจังหวัดต่าง ๆ
- เรื่องที่ 3 การวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ ขอเสนอ 5 แนวทาง คือ

1.การกระจายงบประมาณด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จัดทำงบประมาณปี 2568 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งจ่ายงบประมาณที่อยู่ในแต่ละพื้นที่

2.กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม โดยมุ่งไปยังกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะคนละครึ่ง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยการออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยผ่านมาตรการภาษีอื่น ๆ

3.มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้วยการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน และตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแต่ละประเภทให้ชัดเจน และให้สถาบันการเงินผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้าเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน รวมถึงการจัดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้รวดเร็ว โดยทำเป็น Supply Chain Financing

4.การกระจายอำนาจโดยออกมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม สำหรับการลงทุนในเมืองรองส่งเสริมการใช้ local content และสานต่อโครงการยกระดับเมืองสู่เมืองหลัก โดยมีเป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศ

5.ปรับปรุงระเบียบที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการแข่งขัน

มิสแกรนด์เตรียมเปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ก.ย.นี้ ขอเอี่ยวมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 21,000 ล้านบาท

THE STATES TIMES เจาะลึก 4 กลุ่มธุรกิจของ บมจ.มิสแกรนด์ฯ สร้างรายได้ 617.04 ล้านบาท ให้บริษัท ก่อนเปิดตัว ‘มาม่านางงาม’ 3 ก.ย. นี้

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค. 67) บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ได้แจ้งข่าวว่าจะมีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในวันที่ 3 กันยายน 2567 นี้ โดยแอบโปรยเล็ก ๆ ไว้ว่า “...บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าด้วยกลยุทธ์และรสชาติที่ไม่เหมือนใคร จะสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดได้ในระดับดี...”

THE STATES TIMES จะได้พาผู้อ่านสำรวจธุรกิจในมือของ MGI ที่ครั้งหนึ่งเคยทำหุ้นราคาพุ่งสูงถึง 50 บาท และมีรายงานว่าในปีงบประมาณ 2566 ทำรายได้รวมกว่า 617.04 ล้านบาท ว่าทำอะไรบ้าง

ธุรกิจของ MGI แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 

กลุ่มแรก PAGEANT
-ธุรกิจการจัดประกวดมิสแกรนด์ ที่มีลิขสิทธิ์การประกวดนางงาม 2 เวทีในมือ ได้แก่ Miss Grand Thailand และ Miss Grand International ในกลุ่มนี้ทำรายได้ให้บริษัท 85 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 TALENT
-ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน ที่มี Top 10 ของเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ปี 2022-2023 นอกจากนี้ยังมีศิลปินในสังกัดคนอื่น ๆ เช่น อิงฟ้า วราหะ, ชาล็อตต์ ออสติน, อุ้ม ทวีพร, มีนา ริณา, สแน็ก อัจฉรีย์, ไผ่หลิว กมลวลัย กลุ่มนี้ทำรายได้ 134 ล้านบาทให้บริษัท

กลุ่มที่ 3 MEDIA & X_PERIENCES 
-ธุรกิจสื่อและบันเทิง ที่มีธุรกิจ GRANDTV, GRAND CONCERT, GRAND FAN MEET, GRAND SPORT DAY, บ้านแกรนด์, GRAND SERIES, MGI HALL จากการแจ้งข่าวในตลาดหลักทรัพย์ของทางบริษัทชี้ให้เห็นว่าได้มีการจัด แกรนด์ คอนเสิร์ต อิน ยูเอสเอ ที่สามารถขายตั๋วในโซน V.I.P ได้ถึง 100% ในกลุ่มนี้ทำรายได้รวม 136 ล้านบาท  

กลุ่มที่ 4 COMMERCE
-ธุรกิจพาณิชย์ ที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในมือ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าและผิวกาย, ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล, ผลิตภัณฑ์น้ำหอม, ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์อาหารและเสริมอาหาร สำหรับกลุ่มนี้ทำรายได้สูงที่สุดถึง 254 ล้านบาท 

ในกลุ่มที่ 4 นี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดี เช่น น้ำพริกนางงาม, น้ำปลาร้าอิงฟ้า เป็นต้น 

ทั้งนี้ในตลาดเฉพาะอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพบว่าในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 21,000 ล้านบาท มีแบรนด์มาม่าเป็นเจ้าตลาดครอบครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 49.6%

‘EA’ เคลียร์หนี้ระยะสั้นได้ หลังผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A โหวตผ่าน 99% เผยรายได้ครึ่งปีแรกกว่า 1 หมื่น ลบ.พร้อมเดินหน้าหาแหล่งเงินทุนใหม่

แผนเคลียร์หนี้ชัด! ผลงานครึ่งแรกปี 67 มีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 1.43 พันล้านบาท ผู้ถือหุ้นกู้-สถาบันการเงิน เชื่อมั่นธุรกิจเดินหน้า ล่าสุดผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่น EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท โหวตหนุนด้วยเสียง 99.20% ยืดหนี้ออกไปอีก 9 เดือน 1 วัน รับดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 5% เพิ่มหลักประกัน หลังหุ้นกู้ รุ่น EA248A ได้รับการโหวตอนุมัติเมื่อวันที่ 9 ส.ค. และมติสถาบันการเงิน 9 แห่ง ปล่อยกู้รีไฟแนนซ์ เป็นเงินกู้ระยะเวลา 3 ปี พร้อมเดินหน้าหาแหล่งเงินทุนใหม่

(23 ส.ค. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 29 กันยายน 2567 โดยการประชุมในวันนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ต้องเลื่อนครั้งก่อนเหตุไม่ครบองค์ประชุม โดยในครั้งนี้ผู้ถือหุ้นกู้ 99.20% ได้ลงมติอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 9 เดือน 1 วัน และมีเพียง 0.80% ไม่เห็นด้วย

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) ของ EA กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศทั้ง 9 แห่งได้ยืนยันอนุมัติปล่อยเงินกู้ให้กลุ่ม EA จำนวน 8,000 ล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้จำนวน 2 รุ่นโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นก็ได้อนุมัติเลื่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนออกไปเช่นกัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ส่งผลให้ในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าบริษัทฯจะไม่มีปัญหาในด้านการจ่ายหนี้ ในขณะที่บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ ผู้บริหารชุดใหม่มั่นใจขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 รับรู้รายได้รวม 10,368.81 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท” 

บริษัทได้เปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการชำระหนี้หุ้นกู้และดอกเบี้ยมาจากกระแสเงินสดจากรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากเงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ (Strategic Partner) ที่สนใจร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่างๆ ของบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาทั้งจากนักลงทุนภายในและต่างประเทศ  และจากการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯให้กับนักลงทุนที่ให้ความสนใจรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) 

“บริษัทยังดำเนินธุรกิจตามปกติ มีกระแสเงินสดจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจไบโอดีเซล และจะเร่งเดินหน้าธุรกิจขนส่งเชิงพาณิชย์ ในการส่งมอบรถหัวลากไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า พร้อมผลักดันธุรกิจใหม่ น้ำมันอากาศยานยั่งยืน  (Sustainable Aviation Fuel : SAF) สนับสนุนธุรกิจขนส่งไร้มลพิษตามพันธกิจของบริษัท Mission No Emission” นายวสุกล่าวทิ้งท้าย

สุดยอด!! ไทยต่อยอด ‘น้ำมะพร้าว-เห็ดนางรมหลวง’ สู่ ‘หมูสับเทียม’ นวัตกรรมจากภาคธุรกิจ เตรียมเจาะตลาดอาหารแพลนต์เบส

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า… 

นางอรสา แสงทับทิม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงทับทิม อินเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกวุ้นเส้นน้ำมะพร้าว เปิดเผยถึงอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ได้เข้ามามีบทบาทสำหรับการเป็นอาหารทางเลือกของผู้บริโภคในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเนื้อสัตว์จากพืช หรือ อาหารแพลนต์เบส (Plant-Based) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีการรายงานข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยว่า ตลาดอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ล้านล้านบาทในปี 2570

บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมจากดีพร้อม (DIPROM) ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย RESHAPE THE FUTURE โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ต่อยอดจุดแข็งที่มีอย่าง ‘น้ำมะพร้าว’ เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบคุณภาพที่มีกว่าหมื่นไร่ ในจังหวัดสมุทรสงคราม มาพัฒนาเป็น ‘หมูสับเทียม’ แพลนต์เบส (Plant-Base) จากน้ำมะพร้าวและเห็ดนางรมหลวง

ที่ล่าสุดได้รับการจดสิทธิบัตร และผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารวีแกนจากประเทศอิตาลี และยังได้รับรางวัลเหรียญทอง อาหารแพลนต์เบส จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเรามีจำหน่ายแล้วทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา และนอร์เวย์

‘Hot Pot Buffet’ ประกาศอำลาลูกค้า ปิดตำนานบุฟเฟต์ชื่อดังอีกหนึ่งแบรนด์

(22 ส.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงาน เพจเฟซบุ๊ก Hot Pot Buffet ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ได้โพสต์ระบุว่า “Hotpot Buffet ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางร้านต้องขอปิดตำนาน Hotpot Buffet ไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ”

สำหรับร้าน HOT POT ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยชื่อร้านเดิมคือ ‘โคคาเฟรช สุกี้’ ก่อนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2555 ด้วยกระแสนิยมการรับประทานร้านอาหารบุฟเฟต์ชาบูปิ้งย่าง ส่งผลให้ปีแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ HOT POT มีจำนวนสาขามากถึง 117 สาขา ก่อนที่จะมีคู่แข่งธุรกิจเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ วิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้ HOT POT ทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไปหลายแห่ง โดยในปี 2555 เหลือสาขาทั้งหมด 33 สาขา

กระทั่งในปี 2567 เหลือเพียง 4 สาขา และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ก็ได้ประกาศอำลาลูกค้า ปิดตำนานบุฟเฟต์ดังไปอีกหนึ่งแบรนด์

'รมว.ปุ้ย' เร่งต่อยอดความร่วมมือญี่ปุ่น เกื้อหนุน 'สตาร์ทอัป-อุตฯ สีเขียว' พร้อมส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย

(22 ส.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อต่อยอดความร่วมมือ ที่มีต่อกันมายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัปสู่เวทีสากล รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเข้าร่วมงานนิทรรศการที่ประเทศญี่ปุ่น การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย และการจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย - ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและขยายช่องทางดำเนินธุรกิจร่วมกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ รวมถึงรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อสนับสนุนการเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืน อีกทั้งยังเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตสูง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) และอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล - สตาร์ตอัป, อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรม BCG โดยเฉพาะการรีไซเคิลและพลังงานทางเลือก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานร่วมกันได้ในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของจังหวัดไอจิ ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งด้านเทคโนโลยีอากาศยาน พลังงานทดแทน และสตาร์ตอัป ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องการเร่งต่อยอดและขยายความร่วมมือไปสู่การร่วมคิดและร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัปไทยแบบครบวงจรเข้าร่วมศูนย์สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัป STATION Ai ของจังหวัดไอจิ เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีระหว่างกัน 

นอกจากนี้ ทางจังหวัดไอจิ ยังได้กล่าวถึงการจัดงานนิทรรศการ AXIA EXPO 2025 (Aichi Transformation International Asia) และ Smart Manufacturing Summit 2025 ที่จังหวัดไอจิ ในเดือนมิถุนายนปี 2568 ภายใต้ธีมงานเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต (Smart Future Cities) นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม 5.0 (Innovation for Industry 5.0) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) พร้อมทั้งข้อเสนอพิเศษสำหรับผู้ประกอบการไทยในการออกบูธ และเข้าร่วมกิจกรรมย่อยในงานฯ 

ทั้งนี้ งานนิทรรศการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ที่ได้มีการกำหนดไว้ภายในปี 2593 (Carbon Neutrality 2050) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยเพื่อให้ภาคการผลิตมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ก่อนแล้ว 

ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมเพื่อแสดงผลงานและศักยภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลต่อไป

“ตั้งแต่ปี 2557 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจังหวัดไอจิ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อร่วมกันสนับสนุนและยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่นนั้น ทั้งสองหน่วยงานได้มีการประสานความร่วมมือและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นอย่างดี โดยปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี สำหรับความร่วมมือระหว่างกัน ดิฉันจึงขอใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ สำหรับความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด และขอให้ท่านยังคงที่จะสนับสนุนและสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของกันและกัน” 

"ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลยังคงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างสตาร์ตอัป ผ่านการบ่มเพาะและสนับสนุนแบบครบวงจรด้วยระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมั่นใจได้ว่า ศูนย์สนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัป STATION Ai ของจังหวัดไอจิ จะเป็นส่วนสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสตาร์ตอัป ของทั้ง 2 ประเทศ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังหวังว่าสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และจังหวัดไอจิ ที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ทศวรรษนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดไอจิ เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ที่จะเติบโตและก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนร่วมกัน" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top