Wednesday, 9 July 2025
ECONBIZ NEWS

CHANGAN เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชน EV  คาด!! ดีลในประเทศเบื้องต้น 3,600 ล้านบาท จาก 67 บริษัท

(6 มิ.ย.67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 บีโอไอ และบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ได้ร่วมกันจัดงาน ‘CHANGAN Sourcing Day’ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ สำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ฉางอาน จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ Interior and Exterior Group, Stamping Group, Sealing and Sound Absorption Group, Aluminum Die-Casting Group, Suspension System Group และ Electrical Parts Group โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานเพื่อรับฟังนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนและหลักเกณฑ์การเข้ามาเป็น Supplier ของบริษัท จำนวนกว่า 400 คน จาก 233 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเจรจาธุรกิจในครั้งนี้จำนวน 78 คู่ ครอบคลุมชิ้นส่วนหลักๆ ตามความต้องการของฉางอาน เช่น High Voltage Harness, Outside Door Handle, E-Drive, Cross Car Beam (Die Casting), Intelligent Thermal, Outside Door mirror และ Headlining/Carpet ซึ่งจากการประเมินผลเบื้องต้น พบว่าการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ จะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 3,600 ล้านบาท จาก 67 บริษัท

ทั้งนี้ ฉางอาน เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยานยนต์อันดับต้นๆ ของจีน มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์มากกว่า 40 ปี ยอดขายสะสมกว่า 26 ล้านคัน และในปี 2566 มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 2.55 ล้านคัน อีกทั้งเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม โดยมีบุคลากรในทีมวิจัยและพัฒนากว่า 18,000 คน เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ฉางอาน ได้ประกาศแผนสร้างฐานการผลิตในไทย โดยมีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาแห่งแรกของบริษัทที่อยู่นอกประเทศจีน และเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ โรงงานจะตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง กำลังการผลิตรวม 100,000 คันต่อปี และจ้างงานกว่า 2,000 คน โดยได้วางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในช่วงต้นปี 2568 นี้ 

‘ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG และ BMW ได้ทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 42,000 ล้านบาท โดยการจัดงาน CHANGAN Sourcing Day ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใน Tier ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดซื้อชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต หรือการร่วมมือเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งบริษัท ฉางอาน ได้แสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากถึงร้อยละ 60 ภายในปีแรก และจะเพิ่มถึงร้อยละ 80 ภายใน 5 ปีอีกด้วย’ นายนฤตม์ กล่าว

'สุริยะ' แง้มข่าวดี 'ดูไบ พอร์ต เวิลด์' สนลุยแลนด์บริดจ์-ปธ.จ่อบินมาดูงานเอง พร้อมเผย!! หากร่างกม.แล้วเสร็จ เปิดประมูลโครงการได้ปลายปี 68 

(6 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า ได้เข้าพบหารือกับบริษัทประธานบริษัท 'ดูไบ พอร์ต เวิลด์' ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก มีธุรกิจเรือเดินสมุทรถึง 1,700 ลำ และบริหารท่าเรือในหลาย 10 ประเทศ   ซึ่งบริษัทดังกล่าวแสดงความสนใจที่อยากมาลงทุนในประเทศไทย โดยจะเดินทางมาประเทศไทยภายในเดือนนี้ ขณะนี้กำลังเคลียร์ตารางงานอยู่ 

ส่วนความพร้อมของประเทศไทยในโครงการนี้ยืนยันว่า ในแง่การศึกษาเบื้องต้นค่อนข้างชัดเจนว่ามีประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศไทย โดยดูจากการที่มีบริษัทในต่างประเทศที่รัฐบาลได้ชักชวนก็ให้ความสนใจ แต่โครงการนี้สำคัญที่สุด คือภาคเอกชน ที่จะตัดสินใจในการลงทุน ว่าโครงการนี้จะเดินต่อไปได้หรือไม่ แต่เท่าที่พูดคุยบริษัทชั้นนำ จากกรุงโรม อิตาลี, ดูไบ และจีน มีบริษัทชั้นนำให้ความสนใจในโครงการนี้ จึงมั่นใจว่าโครงการนี้เกิดขึ้นแน่   

ทั้งนี้การเดินสายโรดโชว์แต่ละประเทศถือว่าสิ้นสุดแล้ว และเตรียมความคิดเห็นที่เดินทางไปแต่ละประเทศ มาลงในรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. หรือ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ ก่อนนำเสนอสู่ ครม. และนำเข้าสู่สภาได้ในสมัยประชุมสภาสามัญนี้  

ทั้งนี้นายสุริยะ ยืนยัน เมื่อ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ แล้วเสร็จ จะสามารถเปิดประมูลโครงการได้ ในปลายปี 2568 

‘รัดเกล้า’ เผย ‘ครม.’ เห็นชอบมติเอเปกพัฒนาท่องเที่ยวใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ พร้อมหนุน ‘ท่องเที่ยวใส่ใจธรรมชาติ’ หวังดัน ‘ท่องเที่ยวไทย’ สู่เวทีระดับโลก

(6 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2567 สาธารณรัฐเปรู ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับทราบและรับรองผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเอเปก ปี พ.ศ. 2563-2567 รวมทั้งมอบนโยบาย และกำหนดทิศทางการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในการประชุมจะได้ร่วมกันรับรองร่างเอกสาร 3 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (4 มิ.ย. 2567) ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติแล้ว ได้แก่

1.ร่างถ้อยแถลงการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 12 
2.ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายหลักการในการป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 
และ 3.ร่างแนวคิดโครงการแพลตฟอร์มเอเปกเพื่อเผยแพร่โอกาสความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ในขณะที่ ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นโครงการวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยสาธารณรัฐเปรู ซึ่งได้ระบุเกี่ยวกับปัญหาของการทำอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขยะอาหารในภาคการท่องเที่ยว และได้มีข้อเสนอแนะ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนหลักการของเอเปกให้เป็นรูปธรรม และร่างแนวคิดโครงการฯ ที่มีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภาคการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน การถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนโอกาสด้านความร่วมมือที่มีอยู่ และการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ร่างเอกสารฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นการแสดงถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนบทบาทเด่นของประเทศไทยในเวทีนานาชาติด้วย

“โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวในหลายทิศทาง ทั้งแนวความคิดที่มีต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และใส่ใจรับผิดชอบ และรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักของการประชุมนี้ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมเดินหน้ากับเอเปกส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณี สร้างงาน กระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่น” นางรัดเกล้ากล่าว

'รัฐบาล' ปลื้ม!! 5 เดือน ต่างชาติเที่ยวไทยแตะ ‘14 ล้านคน’ สูงกว่าปีก่อน 38% ตอกย้ำ!! IGNITE Thailand ศูนย์กลางท่องเที่ยวแห่งภูมิภาค สัมฤทธิ์ผล

(6 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ต่อยอดการผลักดันไทยตามวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ให้เป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ยืนยันด้วยสถิติ 5 เดือน 1 ม.ค. - 31 พ.ค.ชาวต่างชาติเดินทางมาไทยแล้ว กว่า 14 ล้าน 7 แสนคน 

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวและเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย หรือ IGNITE TOURISM THAILAND: TAT Skill Factory ในวันที่ 15 - 16 มิ.ย.นี้ ครอบคลุมเนื้อหาด้านการให้บริการด้วยความเป็นไทย การใช้ภาษาอังกฤษในงานบริการ และการจัดการความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ แรงงานด้านการให้บริการในภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และทักษะด้านความเป็นเลิศในการบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล 

นายชัย กล่าวว่า สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 5 เดือนแรก ระหว่าง 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2567 พบว่า 5 เดือนแรกของปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14,760,911 คน สร้างรายได้ 701,429 ล้านบาท หรือเมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2566) เท่ากับมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 จีน 2,911,370 คน อันดับ 2 มาเลเซีย 2,012,406 คน อันดับ 3 รัสเซีย 848,473 คน อันดับ 4 อินเดีย 842,580 คน และอันดับ 5 เกาหลีใต้ 803,574 คน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือตลอดทั้งปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมรวมกว่า 35 ล้านคน

‘นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถดึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทยได้เพิ่มอีก ทั้งจากการประเมินสถานการณ์ การทำงาน และกำหนด พัฒนาแผนการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้ง การร่วมกันจัดอบรมพัฒนาบุคลากร ซึ่งล้วนเป็นความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พร้อมขับเคลื่อนไทยให้เป็น Tourism Hub และจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยยังมีแผนจะจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้และปีหน้าเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว’ นายชัย กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เกาะติดมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อช่วยยกระดับทุนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นั้น ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังต่อไปนี้

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ เพื่อส่งเสริมตลาดการซื้อขายศิลปะ ซึ่งจะทำให้ศิลปินในประเทศไทยผลิตงานศิลปะเพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมการจัดแสดงงานศิลปะในประเทศไทย อันจะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น จึงเสนอให้ผู้มีเงินได้แต่ไปรวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้องานศิลปะด้านจิตรกรรมหรือประติมากรรมในราชอาณาจักร ในลักษณะการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้องานศิลปะดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทในปีภาษี สำหรับการซื้องานศิลปะตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ศิลปินในการสร้างงานศิลปะ และส่งเสริมงานศิลปะของศิลปินไทย จึงเห็นควรบรรเทาภาระภาษีให้แก่ศิลปินในประเทศไทย โดยเสนอให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรที่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระประณีตศิลปกรรม สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60 เป็นการถาวร โดยไม่กำหนดประเภทศิลปิน

3. มาตรการลดหรือยกเว้นอากรขาเข้างานศิลปะ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนในการผลิตงานศิลปะ และลดต้นทุนในการนำเข้างานศิลปะเพื่อนำมาจัดแสดงงานศิลปะระดับประเทศและระดับนานาชาติในประเทศไทย จึงเสนอให้มีการลดหรือยกเว้นอัตราอากรสำหรับงานศิลปะ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนการจัดกิจกรรมสำหรับรถยนต์โบราณ เช่น การประกวดรถยนต์โบราณ การจัดแสดงนิทรรศการรถยนต์โบราณ การจัดขบวนคาราวานรถยนต์โบราณ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตหรือบูรณะ (Restoration) รถยนต์โบราณในประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย จึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้ารถยนต์โบราณ (Classic Cars) และมีการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้ารถยนต์โบราณเฉพาะรถยนต์นั่งเท่านั้น (ไม่รวมถึงรถจักรยานยนต์และรถอื่น ๆ)

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรการอย่างรอบคอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

'วีระศักดิ์' มั่นใจ!! พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 อยู่หมัด คาด!! มีผลบังคับใช้ 'วันอากาศสะอาดสากล' 7 ก.ย.นี้

(5 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระประเทศไทย..วาระโลก : แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ลดโลกเดือด’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ร่วมชมบูธนิทรรศการของภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมโดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนหรือคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติเป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึงระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเร่งพิจารณา

‘พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารจัดการเชิงพื้นที่กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดนมีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วนขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ ในไตรมาส 4 ปีนี้เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย’ นายจักรพล กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าจากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ มีผู้ป่วยฯ มากกว่า 400,000 คน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษPM2.5สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ(NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง ‘การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม’ เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)

‘สสส.มุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยการเสนอนโยบาย สร้างสรรค์งานวิชาการ เสริมหนุนประชาสังคม และสื่อสารสังคมมีผลงานที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.), เสริมหนุนเครือข่ายสภาลมหายใจ 15จังหวัดสานพลังภาครัฐ ท้องถิ่นเอกชน ประชาสังคม ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน, สร้างโมเดลต้นแบบ Low Emission Zoneใน 5 เขตของกรุงเทพฯ, จัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ก้าวกระโดดไปมากกว่า 600 โรงเรียน,จัดทำต้นแบบห้องปลอดฝุ่น1,000 ห้องทั่วประเทศ, จัดเวทีวิชาการระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM 2.5 เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สรุปข้อเสนอและนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ 1 ใน 7 ร่างที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการนับเป็นข่าวดีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ที่มีสาระสำคัญในการกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ’ นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด วุฒิสภากล่าวว่าเมื่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายลูก ระเบียบ มาตรการต่างๆ ซึ่งจะเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีการเผาใหญ่ที่สุด อยู่ในเขตป่า 64%โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ รองลงมาคือพื้นที่การเกษตร 26.8% โดยเฉพาะนาข้าว ที่มีการเผาฟางช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวทั้งที่สามารถใช้ปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นชีวมวลได้จึงต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแปรรูป การขนส่ง และการตลาด ซึ่งจะช่วยลดการเผาได้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อนเกินกำลังกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายเครื่องมือ ไม่สามารถจัดการได้เฉพาะในช่วงฤดูฝุ่น 3 เดือนแต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ด้วยสูตร 8-3-1 คือ 8 เดือนช่วงดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขออกแบบกลไก วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ลดการเผา 3 เดือนช่วงเผชิญเหตุ การเฝ้าระวังจุดความร้อน การบังคับใช้กฎหมาย และ 1 เดือนช่วงฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เชื่อว่า พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงาน ระบบงบประมาณ ลดปัญหาความล่าช้า โดยหวังว่าวันที่ 7 ก.ย. ‘วันอากาศสะอาดสากล’  พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว

'นายกฯ' ส่งไม้ต่อ 'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับท่องเที่ยว ช่วงไตรมาส 4 ผุดเส้นทางรถไฟเที่ยวพิเศษ เจาะกลุ่มมุ่ง 'วัฒนธรรม-ธรรมชาติ'

(5 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง หารือร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากออกมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวแล้ว ได้เตรียมพร้อมเรื่องการเดินทางต่อ โดยบ่ายวันเดียวกันนี้ มีการหารือหลายเรื่อง โดยเรื่องแรกหารือกับทั้งกระทรวงคมนาคม การท่าอากาศยานไทย (AOT), การบินไทย, เวียตเจ็ทแอร์ไลน์ และการรถไฟฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง Low Season เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบริหารทั้งจำนวนเครื่องบิน และเที่ยวบินให้เพียงพอ รวมไปถึงให้ทาง AOT เตรียมพร้อมรองรับสายการบิน ตลอดจนนักท่องเที่ยว นักเดินทางที่เพิ่มขึ้นด้วย

"ผมได้สั่งการให้การรถไฟฯ เพิ่มเส้นทางการเดินรถไฟใหม่ ๆ ตลอดจนจัดรถไฟเที่ยวพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมของไทย หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เสน่ห์ของการเดินทางโดยรถไฟน่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกเยอะเลยครับ" นายกฯ กล่าว

‘กฟผ.’ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วน ‘พลังงานสะอาด’ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จับมือ ‘IHI Corporation’ แลกเปลี่ยนความรู้ รุกใช้เชื้อเพลิงชีวมวล-ถ่านหิน

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท IHI Corporation ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง พร้อมทั้งประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets เพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล อัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ Mr. Shinichi Kihara (ชินอิจิ คิฮารา), Director General of Agency for Natural Resources and Energy, Ministry of Economy, Trade and Industry of Japan (อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น) เป็นสักขีพยาน ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ด้าน นายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดในทุกมิติ

โดยร่วมกับบริษัท IHI Corporation บริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้า ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ รวมทั้งศึกษาแนวทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีในการออกแบบโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (wood pellets) การประเมินและเลือกรูปแบบของโรงงานผลิตที่เหมาะสม การประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets รวมถึงมีการทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล อัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ

‘กฟผ.’ จับมือ ‘มิตซูบิชิฯ’ พัฒนาไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้าร่วมก๊าซธรรมชาติ หวังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด - ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2065

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue : 6th JTEPD) ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือ และนำเสนอโครงการ แนวทางนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ ในงานประชุมครั้งนี้ กฟผ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ เพื่อร่วมศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสำหรับกังหันก๊าซ (Gas Turbine) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเปลี่ยนด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ ในการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพัฒนาพลังงานและแนวทางส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนของประเทศไทย ที่ริเริ่มนำเชื้อเพลิงทางเลือกและเชื้อเพลิงสะอาดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและแผนพัฒนาโครงการไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทำไม 'ไทย' ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่ยัง 'ผลิตได้-ส่งออกด้วย'

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน ได้เผยแพร่บทความ ‘เขียนเล่าข่าว EP. 55 - ทำไมไทยยังต้องนำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตน้ำมันได้เองและมีน้ำมันส่งออก’ โดยระบุข้อความว่า…

คำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ซึ่งยังมีคนสงสัยและดูเหมือนจะยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในใจสักที ว่าทำไมเราต้องนำเข้าน้ำมัน และทำไมถึงไม่สามารถขายน้ำมันในราคาถูกให้คนในประเทศใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่ในประเทศตัวเอง แถมยังมีการส่งออกอีกด้วย

คำตอบที่พยายามจะอธิบายให้คนที่ยังมีความสงสัยได้เกิดความกระจ่างในใจ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในต่างประเทศมาใช้ ก็เพราะแหล่งน้ำมันที่เรามีอยู่ในประเทศนั้นผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

ส่วนการที่เรามีน้ำมันส่งออกด้วยนั้น ก็เป็นน้ำมันจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในประเทศ ที่คุณภาพไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ เพราะมีสารปนเปื้อนสูง และส่วนที่สอง คือน้ำมันสำเร็จรูป ที่โรงกลั่นน้ำมันกลั่นออกมามากเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ในปี 2566 ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ทำได้ประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเติมความต้องการอีกประมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในประเทศในปี 2566 นั้น มีกำลังผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน (น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดิบที่นำเข้า) ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ก็ได้ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาจากโรงกลั่นในประเทศเพื่อมาใช้ อีกประมาณเฉลี่ย 9 ล้านลิตร/วัน

โดยสรุป ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นน้ำมันดิบส่วนที่ขาดจึงต้องมีการนำเข้าอีกกว่า 90% โดยประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ออสเตรเลีย อีกรวม 24%

การที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นทำให้การกำหนดราคาขายต้องอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายในประเทศก็จะปรับลดลงด้วย เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงแบบเรียลไทม์ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยอีกหลายประการ เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านจะมีข้อมูลและความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top