Saturday, 12 July 2025
ECONBIZ NEWS

'ดร.ก้องเกียรติ' ชี้!! 'ธุรกิจคาร์บอนต่ำ' โอกาสทองของ SME 'ลดต้นทุน-สร้างรายได้-ช่วยรักษ์โลก' เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด ในประเด็น 'ความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจคาร์บอนต่ำ' โดย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า...

ธุรกิจคาร์บอนต่ำ หมายถึง ธุรกิจที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ในปริมาณต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับท้องตลาดที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น...

ถ้าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ส่งออก เช่น ลำไย กระบวนการอบลำไยหลัก ๆ ก็ต้องมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวนมากอยู่แล้ว เนื่องจากมันมีการบ่มแก๊ส แต่ถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการอบลำไยของเราไม่ให้ใช้แก๊สหรือใช้วิธีการอื่น ๆ แทน เพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ก็จะทำให้มีความต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่พอเทียบวัดจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว ของเราก็จะมีปริมาณที่ต่ำกว่า และก็เรียกได้ว่าเป็น ธุรกิจคาร์บอนต่ำไปโดยปริยาย

เมื่อถามว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ SME มีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกร้อนด้วยหรือไม่อย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ 

1.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น การใช้เชื้อเพลิงในการดำเนินธุรกิจ 

2.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อม เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โรงไฟฟ้า 

3.การดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จัดจ้าง ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย การบริการ ล้วนเกี่ยวข้อง 

ซึ่ง ผู้ประกอบการ SME เป็นผู้ซัปพลาย (Supply) ให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่โดยตรง ทำให้มีความผูกพันกันเป็นห่วงโซ่ 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ของประเทศไทยมีจำนวนกว่า 95% สร้างการจ้างงานกว่า 50% แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการ SME ร่วมแรงร่วมใจกันลดโลกร้อน ก็จะได้รับประโยชน์คืนกลับมามากมาย ดังนี้...

1.สามารถลดพลังงานที่ใช้และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ 
2.สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้กลับมาหรือใช้ในองค์กร 
3.เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าคุณภาพสูงได้ ซึ่งเป็นตลาดใหม่เรียกว่า Green Market Sector 

ทั้งนี้ การทำธุรกิจคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการ SME มีวิธีการและรายละเอียดมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไปพร้อมกับการหยุดสภาวะโลกเดือดด้วยการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำร่วมกับการสร้างโอกาสใหม่ของธุรกิจด้วยคาร์บอนเครดิต บรรยายโดย ดร.ก้องเกียรติ สุริเย วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เวลา 13.00-16.30 น. โดยสามารถลงทะเบียนผ่านลิงก์เพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ https://bit.ly/45fVVxL 'โอกาสทองของ SME ที่ไม่ควรพลาด'

‘CNBC’ เผย รายงานผลสำรวจ ‘ไทย’ ติดอันดับ ประเทศที่ต่างชาติ อยากย้ายมาอยู่ ชี้!! มีความสุขที่ได้ ‘มาอาศัย-มาทำงาน’ วัดจากค่าครองชีพที่ต่ำ แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

(6 ก.ค.67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน ผลสำรวจล่าสุดจาก Expat Insider ของ InterNations ซึ่งเป็นชุมชนระดับโลกสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ระบุว่า ‘ปานามา’ เป็นประเทศที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานมีความสุขที่สุดในโลก

ผลสำรวจฉบับนี้ได้ทำการสำรวจชาวต่างชาติจาก 53 ประเทศ จำนวนกว่า 12,500 คนในเดือนก.พ. เกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ พบว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่กว่า 82% มีความพอใจกับการใช้ชีวิตในปานามา เพราะค่าครองชีพต่ำ และกว่า 71% พอใจกับการได้รับค่าครองชีพอย่างยุติธรรม รวมไปถึงเหตุผลทางด้านการเงินเพื่อเกษียณอายุ หรือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ การย้ายไปอยู่ปานามาในฐานะชาวต่างชาตินั้นง่าย ทั้งการหาที่อยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายที่ราคาไม่แพงอีกด้วย และชื่นชอบอากาศเขตร้อนของปานามา ซึ่งเป็นทางเลือกในการพักผ่อนทั้งชายหาด ภูเขา และป่าฝน

รายงานของ InterNations จัดอันดับ 53 ประเทศทั่วโลกจากเรื่องคุณภาพชีวิต ความสะดวกของที่อยู่อาศัย การทำงานในต่างประเทศ การเงินส่วนบุคคล และ ‘สิ่งจำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ’ ซึ่งครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การบริหาร ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับ ‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 6 จาก 10 ประเทศที่ชาวต่างชาติมีความสุขที่สุดจากการเข้ามาอาศัยและทำงาน 
1. ปานามา
2. เม็กซิโก
3. อินโดนีเซีย
4. สเปน
5. โคลอมเบีย
6. ประเทศไทย
7. บราซิล
8. เวียดนาม
9. ฟิลิปปินส์
10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

‘นายกฯ เศรษฐา’ หารือ ‘ผู้บริหาร BYD’ กำชับส่งเสริมผู้ผลิตไทยและกำหนดราคาให้เหมาะสม

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค. 67) ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายหวัง ชวนฟู (Mr. Wang Chuanfu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีวายดี จำกัด (BYD) โดยภายหลังการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่บริษัทฯ เห็นศักยภาพ เลือกลงทุนในประเทศไทยซึ่งจะเป็นการเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ และได้กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้

1. ขอให้บริษัทคำนึงถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ใช้ Supply Chain ในประเทศไทยมากที่สุด

2. ขอให้บริษัทผลิตเต็มจำนวน Capacity ตามที่ได้ตกลงกันไว้ 

3.การบริหารความคาดหวังของผู้บริโภคในด้านราคาเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้พิจารณาการคุ้มครองผู้บริโภคไทย อย่างเหมาะสม

นายหวัง ชวนฟู กล่าวว่า ขอบคุณคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง โดยบริษัท BYD ให้ความสำคัญกับตลาดไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยทางบริษัทฯ ได้ใช้ Supply Chain จากประเทศไทยมากกว่าข้อบังคับ และมีการผลิตชิ้นส่วนหลายตัวในประเทศไทย และนำการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มาผลิตในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของโรงงาน BYD ในประเทศไทยคือ 1.5 แสนคันต่อปี

โดยจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อผลิตอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ นอกจากขายในประเทศไทย บริษัทฯ มีนโยบายที่จะส่งออกขายในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย 

ในส่วนของการกำหนดราคารถยนต์นั้น บริษัทฯ รับปากนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ คือปรับราคาในอนาคตให้มีรูปแบบและความถี่ที่เหมาะสม ให้ตลาดปรับตัวได้ทัน รวมทั้ง สัญญาที่จะหามาตรการในการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

โดยในโอกาสนี้ บริษัทฯ ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และเป็นตลาดที่พร้อมเติบโต จึงพร้อมขยายการลงทุน รับพนักงานเพิ่ม และพร้อมอบรมพนักงานด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยขอเชิญนายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่บริษัทฯ ในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีเห็นเหมาะสม

'ดร.สุวินัย' เผย!! วิกฤตการณ์ฐานรากเมืองไทย 'กับดักหนี้-ขาดสภาพคล่อง' ทำศก.ไทยฟื้นตัวยาก

(5 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤตฐานราก, Balance Sheet Recession และกลุ่ม ALICE’ โดยระบุว่า…

‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน

ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน

Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก

สภาพของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ กำลังตกลงอยู่ในกับดักหนี้สินที่มูลค่าหนี้รวมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งทรัพย์สินมูลค่ากลับลดลงเรื่อย ๆ

ในสภาพ Balance Sheet Recession นโยบายการเงิน โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหากับดักหนี้ เพราะต่อให้ดอกเบี้ยถูกลง คนก็ไม่ค่อยกู้เพราะลำพังแค่หนี้เดิมก็อ่วมจะแย่อยู่เเล้ว ...ที่สำคัญแบงก์เองก็ไม่อยากปล่อยกู้ให้ครัวเรือนที่แบกหนี้หนักอยู่แล้ว

‘วิกฤติฐานราก’ รอบนี้จึงไม่เหมือน ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ในปี พ.ศ. 2540 ตรงที่รอบนั้นมันไปพังที่สถาบันการเงินเป็นหลัก กระทบกับคนรวยเป็นหลัก มันเจ็บหนักก็จริงแต่จบแค่นั้น

ส่วนครั้งนี้มันคือความฝืดเคืองขาดสภาพคล่องในวงกว้าง ในภาคครัวเรือนที่ต้องเติมรายได้เพื่อลดหนี้แก้หนี้ให้ได้ ว่าแต่ว่าหน้าตาตัวตนที่แท้จริงของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ เป็นอย่างไร?

คำตอบก็คือ ครัวเรือนไทยกลุ่มนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

การจำแนกตัวตนของกลุ่มชนชั้นกลางไทยที่วัดตามระดับรายได้

● ในปัจจุบัน การอยู่เหนือระดับเส้นความยากจน คือการมีรายได้ตั้งแต่เดือนละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป 

● ครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหมื่นนั้น จะอยู่แบบเดือนไม่ชนครึ่งเดือน คือมีรายจ่ายสูงถึง 147% ของรายได้

โดยที่ยอดจ่ายเงินกู้ตกอีกเดือนละ 29% รวมกันคือรายจ่าย 176% ของรายได้ แสดงว่าครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องกู้มาโปะ 70%-80% ของรายได้ทบเข้าไปทุกเดือน

● ครัวเรือนที่มีรายได้เดือนละตั้งแต่ 1-2 หมื่นก็ไม่ได้ต่างกันนักคือ มีรายจ่าย 103% กับยอดจ่ายเงินกู้อีก 18% รวมมีค่าใช้จ่ายเป็น 121% ของรายได้ ครัวเรือนกลุ่มนี้ก็ต้องกู้มาโปะทุกเดือนเช่นกัน

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 2-3 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายกินอยู่บวกจ่ายเงินกู้ 112% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 3-5 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายอยู่กินบวกจ่ายเงินกู้ 106% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 5 หมื่น - 1 แสนต่อเดือนถึงเริ่มจะมีรายได้เกินค่ากินอยู่จ่ายหนี้ อยู่ที่ 97% ของรายได้ คือมีรายได้ปริ่ม ๆ ไม่ต้องพึ่งเงินกู้มาโปะค่ากินอยู่ แต่แทบไม่มีเงินออม

● มีเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้เกินแสนบาทต่อเดือนเท่านั้นที่มีเหลือเก็บจริง ๆ คือมีค่ากินอยู่ อยู่ที่ 66% ของรายได้

● ซึ่งกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลาง ตั้งแต่ 1-5 หมื่น ที่รายได้พ้นเส้นความยากจน แต่มีไม่พอจะชนเดือนนั้น เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

ซึ่งกลุ่ม ALICE นี้มีจำนวน 17.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนถึง 72% ของประชากรประเทศไทย

สั้น ๆ มีผู้คนราว 3 ใน 4 ของประเทศนี้ ที่ต้องกู้มากินมาใช้เพิ่มขึ้นทุกเดือน เพียงเพื่อจะอยู่รอด 

หนี้ครัวเรือนในประเทศนี้จึงทะลุ 90% GDP มิหนำซ้ำในปัจจุบันสถาบันการเงินได้หยุดไม่ให้สินเชื่อกับ ALICE เพิ่มอีกแล้วด้วย

● เมื่อเอาภาพนี้ไปมองคู่กับสัดส่วนของ GDP ไทยและ สัดส่วนแรงงาน มันจะเห็นอะไรชัดขึ้น

กล่าวคือสัดส่วนของ GDP ไทยในตอนนี้คือ ภาคอสังหา 5%, เกษตร 9%, พาณิชย์ 16%, อุตสาหกรรม 30% และ บริการ 40% ของ GDP ตามลำดับ

ในขณะที่การจ้างงานราว 30% อยู่ภาคเกษตร, 20% อยู่ภาคอุตสาหกรรม และ อยู่ภาคบริการราวครึ่งหนึ่ง 50%

แสดงว่า 9% ของ GDP ในภาคการเกษตรนี้ต้องเอามาเลี้ยงคนทำงาน 30% ในภาคเกษตร นี่ยังไม่ต้องพูดถึงส่วนที่มันเข้ากระเป๋าทุนผูกขาดทางการเกษตร ถ้าหักส่วนนี้ออก มันจะเหลือถึงคน 30% ในภาคเกษตรจริง ๆ สักเท่าไร

● อสังหา 5% นั้นมันคงเอาไปรวมกับ 30% อุตสาหกรรม เป็น 35% ของ GDP เทียบกับจำนวนหนุ่มสาวโรงงาน 20%ในภาคอุตสาหกรรม มันก็ยังดูได้สัดส่วน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะตายของประเทศไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนจีนที่กำลังเข้ามาฮุบกลืนธุรกิจอุตสาหกรรมของไทย... จะอุ้มชูคนกลุ่มนี้ได้นานแค่ไหน?

● หรือจะให้ 50% ของ GDP จากภาคบริการและท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันก็จ้างงานแบกคนอยู่ 40% ของ GDP อยู่แล้ว ...จะต้องแบกรับภาระส่วนที่เหลือไปทั้งหมดอีกหรือ?

● สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 นั้น ผู้คนที่เผชิญมรสุม เขายังมีบ้าน มีชนบท มีนา มีไร่ ให้กลับ แต่คนพ.ศ. 2567 ที่กำลังเผชิญกับ ‘วิกฤติฐานราก’ หรือ Balance Sheet Recession อยู่ตอนนี้ โดยที่ภาคเกษตร 9% ของ GDP อุ้ม 30% ของแรงงานในภาคเกษตรอยู่แล้ว ภาคเกษตรที่หลังแอ่นอยู่แล้วจะรองรับพวก ALICE ให้กลับอยู่ด้วยอีกได้หรือเปล่า?

~ สุวินัย ภรณวลัย และเต่า วรเดช

‘กรมการแพทย์แผนไทยฯ’ หนุนเกษตรกรปลูก ‘มะระขี้นก’ ‘ขายผลสด-แปรรูป’ รับเทรนด์รักสุขภาพ สร้างรายได้เข้าประเทศ

(5 ก.ค. 67) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ที่ได้มีการประกาศสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 

‘มะระขี้นก’ ซึ่งเป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions มีตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยส่งออกมะระขี้นกเพียง 18 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของมะระขี้นกในตลาดโลกสามารถจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรมากขึ้นจึงทำให้มะระขี้นก เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รักสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลก 

ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สาเกต 101 ของมะระขี้นกขึ้นใหม่เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้น เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งมีการนำร่องให้เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามนำไปขยายพันธุ์ปลูกและเกิดการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ทางด้าน ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำโมเดล การเกษตรต้นน้ำมูลค่าสูงของมะระขี้นก เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยเป็นการพัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก เพื่อให้ได้สารสำคัญคือ Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และสามารถให้สาร Charantin มากกว่าเดิม ประมาณ 2 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคามะระขี้นกเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการยกระดับรายได้ของคนในจังหวัด สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก 

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ มะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส เป็นต้น เป็นการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูงสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ที่มีความมุ่งมั่นในการผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเปลี่ยนเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพร เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรไทย

การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด ‘นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก’ ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2567 ฮอลล์ 11 - 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานจะมีการจัดแสดงสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ ‘มะระขี้นก’ พร้อมนิทรรศการและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับมะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้สาร Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมและงานวิจัยล่าสุด รวมถึงกิจกรรมการสาธิตการปลูกและ แปรรูปสมุนไพร ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วยสมุนไพรไทย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

>> โทร. 0-2591-7007
>> อินสตาแกรม, TIKTOK, Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ
>> Website: https://natherbexpo.dtam.moph.go.th
>> Line ID  : @DTAM

‘All Connex’ เผยโฉม!! ‘Roboraptor’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย 'เฝ้าบ้าน-ร้าน-สแกนโจร-ติดต่อตำรวจ' พร้อมขายทั่วโลกปลายปี 67

(5 ก.ค.67) รายงานข่าวระบุว่า All Connex ผู้พัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เตรียมเปิดขายหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยที่เหมาะสำหรับใช้เฝ้ากิจการห้างร้าน และบ้าน โดยมีคุณสมบัติเหนือกว่ามนุษย์ ด้วยกล้องจับภาพคุณภาพสูง, ฟีเจอร์ที่สามารถตรวจจับบุคคลต้องสงสัยที่มีหมายจับ, ระบบแจ้งเตือนไปยังสถานีตำรวจในกรณีเกิดเหตุ, ระบบสแกนตรวจจับอาวุธปืน และสัญญาณเตือนภัยเป็นต้น

โดยเจ้า Roboraptor มีลักษณะคล้ายๆ สุนัขตำรวจ แต่มีความแข็งแรงทนทานจากเหล็กกล้าและมีน้ำหนักราวๆ 20 กิโล เคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไวและ สามารถกระโดดได้สูงไม่ต่างจากสุนัข

โดย All Connex เป็นแบรนด์แรกของโลกที่เปิดขายหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย โดยจะขายผ่านเว็บไซต์ โดยระบบบล็อกเชน

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ทางออกเศรษฐกิจไทย หากไม่ปรับโครงสร้างใหญ่ หมดสิทธิโตเกิน 3%

(5 ก.ค. 67) เพจ ‘Salika’ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการหาทางออกให้กับทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุแบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 66-71 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 คือ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%

การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ขณะที่การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

'คกก.' ไฟเขียว!! ขายเหล้า 5 วันพระใหญ่ ใน 6 สนามบินได้ เชื่อ!! กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน 'สถานีรถไฟ-ในขบวน' รอพิจารณา

(5 ก.ค. 67) คกก. นโยบายฯ เห็นชอบ ให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันห้ามขายได้ ส่วนสถานีรถไฟให้ทบทวนมาตรการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง

คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ประชุมเข้มเรื่องการขอยกเว้นสำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันห้ามขาย ณ ท่าอากาศยาน และพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567โดยมี นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ซึ่งระยะเวลาในการออกประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 หลังจากนี้จะต้องนำไปแจ้งเวียนประเทศสมาชิก WTO อย่างน้อย 60 วัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหาในร่างประกาศมีผลบังคับใช้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ จำเป็นต้องพิจารณาร่างประกาศด้วยความละเอียดรอบคอบ มีหลักฐานทางวิชาการและวิทยาศาสตร์สนับสนุนด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันห้ามขาย ณ ท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ให้ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ ในอาคารอากาศยานนานาชาติ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นได้ให้ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับ รฟท.หารือแนวทางและมาตรการควบคุมป้องกันด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยว และร่างกฎหมายส่งให้ คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ยังได้มีมติเห็นชอบ ร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดหาหรือจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องการเข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อการเลิกดื่ม สามารถเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา และเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น ‘วันงดดื่มสุราแห่งชาติ’ ในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2567 ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณลานหน้าห้อง MCC Hall ชั้น 4 เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี ภายใต้ธีมงาน ‘หยุดเหล้า หยุดอันตรายต่อผู้อื่น (Stop Alcohol Stop Harm to Other) ’ โดยมุ่งเน้นรณรงค์ในกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้หญิง เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงอันตรายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกระตุ้นให้เกิดการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมมีกิจกรรม ‘เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา’ ด้วยการลงนาม ผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์www.noalcohol.ddc.moph.go.th เพื่อร่วมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน นำสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต”

'พีระพันธุ์' ชี้!! ทิศทางพลังงานไทยระยะยาว ยืนยัน!! ต้องมุ่ง 'Net Zero-ราคาเป็นธรรม'

(5 ก.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 20 (วพน.20) โดยระบุว่า ในระยะยาวทิศทางพลังงานของประเทศยังคงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 

และ Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน การแก้กฎหมายให้ราคาพลังงาน มีความยุติธรรม ประชาชนเข้าถึงได้ 

ทั้งนี้ พลังงานมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ซึ่งปัจจุบันการใช้พลังงานทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ยังคงเผชิญกับวิกฤตด้านราคาพลังงาน ทั้งจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติ

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญกระทบข้อจำกัดในการผลิตและจัดหาพลังงาน และการเข้าถึงพลังงาน 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นภาวะโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญและเร่งการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการและใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เป็นวาระสำคัญของโลกที่ครอบคลุมใน 3 มิติ ประกอบด้วย 

- Security คือมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ

- Affordability คือราคาพลังงานที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม 

- Environment คือพลังงานที่ใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

"วาระดังกล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้โดยร่วมสนับสนุนนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เพื่อมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤต" 

'แบงก์ชาติ' เผย!! สาเหตุ 'เศรษฐกิจไทย' ทำไมฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน 'พึ่งท่องเที่ยว-ภาคบริการมาก' ส่วนภาคการผลิตก็ต้องเจอจีน

(4 ก.ค. 67) Brand Inside เผยถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน จากคำกล่าวของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า...

"เศรษฐกิจตอนนี้ ภาพที่อาจจะคลาดเคลื่อน ที่จะเห็นบ่อย ที่ว่า ธปท. มองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่เห็นความลำบากของคน มองแต่ตัวเลข ไม่รู้สึกสิ่งที่หลายกลุ่มเผชิญกันอยู่ เราก็ทราบดีว่า ศก. ไม่ได้ดีขนาดนั้น ศก. ฟื้นช้า...

"ศก. ฟื้นตัวในแง่ของภาพรวมโดยเฉลี่ยของคน ในแง่ของตัวเลข ไม่ว่าจะ GDP หรืออะไร แต่เราเข้าใจดีในการฟื้นตัวในตัวเลขรวม ตัวเลขเฉลี่ย มันซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย หลายกลุ่มด้วยกัน...

"ถ้าดูตัวเลขผ่าน ๆ ผิว ๆ รายได้เขาฟื้นแล้ว แต่จริง ๆ มันเป็นตัวเลขที่ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ประชาชน กลุ่มอาชีพอิสระ...

"แม้รายได้กลับมา แต่มีหลุมรายได้มหาศาลระหว่างทาง รายได้หายไป จากปกติที่ควรจะได้ เขามีหลุมรายได้ ตัวเลขไม่สะท้อนความลำบากของประชาชน...

"ภาคการผลิต ทำไมประเทศไทยฟื้นช้ากว่าชาวบ้าน เพราะเราพึ่งพาท่องเที่ยวเยอะ เราพึ่งภาคบริการเยอะและท่องเที่ยวมาก ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น...

"ภาคการผลิต พวกส่งออก Sector สำคัญ ๆ เจอโครงสร้างที่หนักขึ้น Landscape การแข่งขันเปลี่ยนไปด้วย หลายเซคเตอร์เจอการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าก่อนเยอะ โดยเฉพาะจากจีน"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top