Tuesday, 18 June 2024
THE STATES TIMES TEAM

ทหารพราน เริ่มทยอยส่งกลับผู้อพยพแล้วบางส่วน โดยห้ามสื่อมวลชนเข้าพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 มีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านจากรัฐกะเหรี่ยง จำนวน 76 คน ได้อพยพมายังฝั่งไทย ก่อนถึงบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมี 16 ครอบครัว เป็นชาย 46 คน ผู้หญิง 30 คน ซึ่งเป็นเด็ก 15 คน  โดยทั้งหมดข้ามแม่น้ำสาละวิน มาถึงเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันที่ 29 มีนาคม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปตรวจสอบ โดยให้พักอยู่บริเวณจุดพักริมน้ำสาละวิน และมี อสม.เข้าไปคัดกรองโควิด-19 และจัดโซนที่พักอาศัยที่ปลอดภัยให้ไว้ชั่วคราว ก่อนมีนโยบายว่าดำเนินการอย่างไร

บรรดาสื่อมวลชนหลายสำนัก ทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ ได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าหาข้อเท็จจริงในจุดที่ชาวบ้านอพยพเข้ามาซึ่งต้องเดินทางโดยรถยนต์ผ่านบ้านแม่สามแลบ แต่ทหารพราน ทพ.36 ที่จุดตรวจบ้านแม่สามแลบ ไม่ให้สื่อมวลชนหรือบุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่ายังมีสถานการณ์ความมั่นคงและสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีการปิดสถานที่ท่องเที่ยว จึงไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปได้ รวมทั้งมีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงยังไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ ทำให้บรรดาสื่อมวลชนต้องนั่งรอกันอยู่ที่บ้านแม่สามแลบ

มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสถานการณ์ผู้อพยพจากค่ายอิตูท่า ที่อพยพมายังฝั่งไทย ที่ห้วยแม่สะเกิบ และสบเแงะ ตั้งแต่วันที่ 27-28 มีนาคม จำนวนกว่า 3,000 คน และได้มีการผลักดันกลับไปฝั่งศูนย์พักพิงอิตูท่า รัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่เย็นวันที่ 29 มีนาคมนั้น ในช่วงเข้าวันนี้ยังคงมีการผลักดันชาวบ้านกลับอย่างต่อเนื่อง โดยผู้อพยพได้ถ่ายภาพยืนยันการถูกบังคับส่งกลับไว้ โดยกลุ่มผู้อพยพที่จุดสบแงะ จำนวนกว่า 300 คน ได้กลับไปยังศูนย์พักพิงอูแวโกลเมื่อเช้านี้ ส่วนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอิตูท่า ได้ทยอยกลับไปเช่นกัน ในขณะที่เมื่อคืนกลุ่มที่กลับไปแล้ว ไม่กล้านอนในบ้าน เพราะยังหวาดกลัวเสียงระเบิดจากการโจมตีทางอากาศ จึงไปหลบอยู่ในป่ารอบ

ข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจากการถูกโจมตีของทหารพม่า ที่หมู่บ้านเดปุนุ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองพล 5 KNU จำนวน 6 คน ตั้งแต่คืนวันที่ 27 มีนาคม ได้เดินทางมาถึงที่บ้านแม่นือท่า ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน แล้ว กำลังขออนุญาตทหารไทย ล่องเรือในแม่น้ำสาละวิน เพื่อนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลในฝั่งไทย โดยล่าสุด มีผู้ลี้ภัยที่ถูกกับระเบิด ได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน กำลังประสานขอความช่วยเหลือในการนำมารักษาที่ฝั่งไทย ซึ่งมีสถานพยาบาลใกล้ที่สุด คือที่ โรงพยาบาลส่งเสริมส่วนตำบลแม่สามแลบ และมีท่าเรือนำส่ง และได้มีการประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือทางสาธารณสุขมาแล้ว

 


ภาพ/ข่าว  เกียรติศักดิ์  รักสัตย์ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน CR.ข้อมูล – ภาพจากสำนักข่าวชายขอบ)

กองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน บุกศาลากลางจังหวัด พบผู้ว่าฯ เอาจริง กลุ่มจาบจ้วงสถาบัน พร้อมส่งบันทึกลับรายชื่อ 5 นักวิชาการชื่อดัง มข. หนุนหลังกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขอนแก่น

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น ได้กลุ่มคนขอนแกนปกป้องสถาบันและกลุ่มกองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน ในเขต จ.ขอนแก่น จำนวนมาก พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลือง นำพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งธงชาติไทย รวมตัวกันร่วมร้องเพลงสดุดีจอมราชา พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ จำนวนมาก

น.ส.วรพรรณ  เบญจวรกุล แกนนำกลุ่มคนขอนแก่น ปกป้องสถาบัน กล่าวว่า การออกมารวมตัวกันครั้งนี้สำคัญที่สุดคือการยื่นจดหมายเปิดผลึกจากกองทัพประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และจากกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบัน ในการให้ทางจังหวัดในฐานะกำกับปกครองพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มงวดกับการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มที่แสดงออกถึงการใส่ร้าย จาบจ้วง ก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชัดเจน จากการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา

“ เรามีการเข้าพบกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขอนแกนแล้วเพื่อให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับกลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าว และวันนี้เรามาแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างสันติวิธีในการที่กลุ่มคนดังกล่าว โดยเฉพาะนักวิชาการ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความแตกแยกและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้เกิดการเข้าใจผิดอย่างมาก ถือเป็นบ่อนทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของความเป็นไทย และเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของชาติไทย "

ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขณะเดียวกันในการรวมตัวกันวันนี้ได้มีการส่งรายชื่อนักวิชาการ 5 คนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนการกระทำการดังกล่าวให้กับทางจังหวัดได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะที่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเปิดเผยว่า แนวร่วม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง จะออกมาเคลื่อนไหวนั้น ยอมรับว่าขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินหน้าไปด้วยความลำบาก ดังนั้นเมื่อกลุ่มดังกล่าวออกมาจะแสดงถึงความรุนแรงและก้าวร้าวและหวั่นจะเกิดจราจลหรือเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

ขณะที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ออกมาปกป้องสถาบัน และร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเอกสารที่ได้รับนั้นจะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ อย่างละเอียดต่อไป

Sukhothai Crafts and Folk Art “สังคโลกอาร์ต” แหล่งเรียนรู้การทำสังคโลกของคนรุ่นใหม่

สังคโลกของจังหวัดสุโขทัย ได้สืบทอดศิลปะและภูมิปัญญาการทำเครื่องสังคโลกมานานมากกว่า 700 ปี และยังเป็นสื่อของการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ถึงความเจริญและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสุโขทัยที่รุ่งเรือง จวบจนทุกวันนี้ การตกแต่งลวดลายบนสังคโลกเฉพาะของสุโขทัยคือเป็นรูปปลากา กงจักร และดอกไม้ จะเป็นสีเขียวและสีคราม เป็นสีนิยมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีต ในสีของเครื่องสังคโลกของสุโขทัย

และคุณครูผู้รักการเขียนลายสังคโลกด้วยมือ และผลิตชิ้นงานสังคโลก เซรามิคที่ชำนาญงานในด้านศิลปะลวดลายสังคโลก งานปั้น ขึ้นรูป จากงานดิน “ครูสาว” จันทรา อ่วมพรม อดีตอาจารย์แผนกศิลปกรรมเซรามิค ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัยมีลูกศิษย์มากมาย หลายต่อหลายรุ่น ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของร้าน "สังคโลกอาร์ต" อย่างเต็มตัวแทนการเป็นครูประจำ ด้วยความหลงไหลงานด้านศิลป์สังคโลกแบบลายโบราณ ก็ได้ประยุกต์ลวดลายที่สวยงาม วาดไว้บนชิ้นงานสังคโลก เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและร้านค้า ที่มาเป็นลูกค้าของร้าน "สังคโลกอาร์ต"

“ครูสาว” กล่าวว่า “สังคโลกอาร์ต เรามีความชำนาญและความชื่นชอบในการปั้นและการวาดลวดลายสังคโลก มีนักท่องเที่ยว และลูกค้าให้ความสนใจ จึงได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างหัตถศิลป์ด้วยตัวเอง โดยให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจงานศิลปะด้านนี้ ได้ร่วมกิจกรรมลงมือปั้นและวาดลวดลายเฉพาะของสุโขทัย ลงบนสังคโลก ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนกับกิจกรรมของทางร้าน 

และกิจกรรมการมีส่วนร่วมนี้ของนักท่องเที่ยว นักเรียน และผู้ที่สนใจ ทำให้ได้ร่วม อนุรักษ์ และสืบสานงานหัตถศิลป์ ให้คงอยู่สืบคู่สุโขทัย คนไทย เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต่อไป และเรายังออกบูธกิจกรรม ออกร้าน เรียนรู้ทางกิจกรรมต่าง ๆ ของงานศิลป์และงานอีเวนท์ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านฝึกวิชาชีพตามงานสำคัญต่าง ๆ ด้วยเพื่อเผยแพร่งานศิลปะของงานช่างของของคนสุโขทัย”

ภาพ/ข่าว  เสนิศชนันต์ สุขกสิกร
 

อำเภอศรีสัชนาลัย เชิญชวนเที่ยวงานประเพณี ‘แห่ช้างบวชนาค ชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ปีที่ 176’

ประชาชนชาวไทยพวนหาดเสี้ยวส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ และนิยมบรรพชาอุปสมบทบุตรหลานของตน โดยการแห่นาคด้วยขบวนช้างซึ่งเป็นประเพณีที่มีการสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษแต่โบราณ ถือปฏิบัติกันมาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 176 ตามคติความเชื่อเรื่องพระเวชสันดรชาดก โดยเรียกการบรรพชาอุปสมบทแห่นาคด้วยขบวนช้างหรือขี่ช้างแห่นาคว่า “บวชช้าง” อันหมายถึงการจัดงานบวชซึ่งเรียกว่า “นาคขี่คอช้าง” พร้อมด้วยญาติมิตรนำอัฐบริขารขี่บนหลังช้าง แห่เป็นริ้วขบวนของชาวไทยพวนหาดเสี้ยวนั่นเอง

อำเภอศรีสัชนาลัยและเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคน จึงได้จัดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน อีกทั้งเพื่อเป็น การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดสุโขทัยตลอดจนรวมไปถึงการสร้าง   การมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความสามัคคีของประชาชนในพื้นที่
นายนิรันดร์  พรมละ ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอศรสีชนาลัย จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า งานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2564 กำหนดจัดขึ้น ณ วัดหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2564 นักท่องเที่ยว และประชาชนผู้เข้าร่วมชมงาน จะได้รับชมพิธีทำขวัญนาคแบบไทยพวนหาดเสี้ยว ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการแสดงการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยพวน รวมถึงพิธีบวงสรวงศาลเจ้าวัด (เจ้าปู่กื้อ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยพวนหาดเสี้ยวเคารพบูชา 


นอกจากนี้จะได้ชมริ้วขบวนแห่ช้างอันยิ่งใหญ่ตระการตา นำหน้าขบวนด้วยหญิงชายเต้นรำวงนำขบวนแตรวงหรือกลองยาว ถือเทียนเอก เทียนอนุศาสน์ กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร และเครื่องไทยธรรม เดินนำหน้าขบวนช้าง และมีอาสาสมัครพี่เลี้ยงร่วมขบวน ทำหน้าที่พยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือและบริการน้ำดื่มแก่ผู้ร่วมขบวน ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่บ้านเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง 


อำเภอศรีสัชนาลัยจึงขอเชิญทุกท่านเที่ยวชมงาน ประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวน   บ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2564 ณ วัดหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอ ศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ที่ทำการปกครองอำเภอศรีสัชนาลัยโทร. 0 - 5567 - 1466 


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร (สุโขทัย)
 

ปราจีนบุรี “สาธิต” หนุน “แล็บชาวบ้าน” อภัยภูเบศรเสริมแกร่งเกษตรเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

วันนี้ 29 มี.ค.64   ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี  รายงานว่า  ดร.สาธิต ปิตุเตชะ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเบื้องต้นได้รับการต้อนรับและแสดงความขอบคุณจากพยาบาล-แพทย์แผนไทยในการได้รับบรรจุเป็นข้าราชการช่วงสถานการณ์โควิด -19 กว่า 130 คน ก่อนเดินทางรับฟังเรื่องรัฐวิสหกิจชุมชน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  หนุนการสร้างแล็บชาวบ้าน   


ดร.สาธิต กล่าวถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าเกษตร โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นั้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับถึงศักยภาพด้านการแพทย์เป็นอย่างมากในส่วนของสมุนไพรนั้นก็มีการศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพโดยเฉพาะสมุนไพรนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าในการพัฒนา เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก   


ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการวิจัย สร้างความรู้จากประสบการณ์การใช้ของคนไทย และสร้างให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปสมุนไพรขั้นต้นนั้น อันจะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมาตรฐาน และมีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาได้ 

โดยการมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้นำเสนอโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ  โดยมีเป้าหมายในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตร ให้สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าสมุนไพร และยังเป็นการช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจด้านตลาดสมุนไพรไทยเติบโตได้”พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “ โปรเจ็กต์สร้างโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ให้เป็น แล็บชาวบ้าน นั้นอภัยภูเบศรมีความตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นโดยจะใช้ พื้นที่หาดยาง จ.ปราจีนบุรี ที่ได้รับงบประมาณมาส่วนหนึ่งแล้วเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรครบวงจร   เพื่อให้ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ปลูกได้มาศึกษาพื้นฐานตั้งแต่ การปลูกสมุนไพรเบื้องต้น การจัดการ การผลิตและแปรรูปขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางในการช่วยเพิ่มมูลค่ากับสมุนไพร มากกว่าแค่ให้พวกเขาทำได้แค่การปลูกเท่านั้นแต่ยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้โครงการสมบูรณ์ ในอนาคตเราคิดว่าสมุนไพรจะเป็นคำตอบให้กับสังคม ทั้งในแง่ของการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ยา อาหาร และบริการ จะสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ และการพัฒนาสมุนไพรให้ตอบโจทย์สังคมยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ยุคสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ มีสุขภาพดี 
โดยตั้งเป้าการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรที่คิดว่าเกษตรกรมีศักยภาพ และสามารถต่อยอดเองได้ใน 5 กลุ่มด้วยกัน คือ สมุนไพรเพื่อสมองดี ด้วย บัวบก ตำรับกลีบบัวแดง สมุนไพรปรับสมดุลอารมณ์ เช่น กัญชา กัญชง สมุนไพรดูแลหัวใจดี คือ บัวหลวง สมุนไพรที่ดูแลกลุ่มกระดูกและข้อ เช่น ขมิ้นชัน เพชรสังฆาต และสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันด้วยฟ้าทะลายโจร เป็นต้น โดยการพัฒนาสมุนไพรนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ทางโรงพยาบาลได้ศึกษาวิจัยมาก่อนหน้าแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 65”


และในขณะนี้คือ  การผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อการรักษาโรค , การส่งเสริมเศรษฐกิจด้านอาหาร  - เครื่องดื่ม  จากกัญชา ตลอดรวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน...

ภาพ/ข่าว  ลักขณา สีนายกอง
 

ชุมพร ศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.00-16.30 น. นายสุริยา น้ำเงิน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร  เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการ โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 1 พื้นที่ในระบบหาดตั้งแต่พื้นที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถึงตำบลพุมเรียง อำเภอไชยำ จังหวัดสุราษฎร์ มีพี่น้องในพื้นทีเข้าร่วมจำนวน 60 คน ณ ศาลาประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ว่าการอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 


นายสุริยา น้ำเงิน  กล่าว่า ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง   เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน  เป็นระยะทางยาวกว่า 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด เป็นชายฝั่งทะเลอ่าวไทย   จำนวน 17 จังหวัด ความยาว 2,055 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 6 จังหวัด ความยาว 1,093 กิโลเมตร โดยปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่หลากหลาย เช่น  เป็นชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่นันทนาการและการท่องเที่ยว การทำประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  เป็นต้น ดังนั้น ชายฝั่งทะเลจึงมีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  อย่างไรก็ดี พื้นที่ชายฝั่งทะเลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวชายฝั่งมีการ เปลี่ยนแปลงทั้งการตกตะกอนทับถมและการกัดเซาะชายฝั่ง โดยในพื้นที่ศึกษาเองก็พบว่า มีแนวชายฝั่งที่ประสบปัญหาคลื่นกัดเซาะที่ดินชายฝั่งในหลายบริเวณ โดยตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา มีหน่วยงานราชการทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ตลอดจนเจ้าของที่ดินเอง  ได้ดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งหากรูปแบบการ ป้องกันที่เลือกใช้ไม่เหมาะสม หรือก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมแล้ว ก็จะทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การประชุมประชำสัมพันธ์โครงการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 1 พื้นที่ในระบบหาดตั้งแต่พื้นที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  ถึงตำบลพุมเรียง อำเภอไชยำ จังหวัดสุราษฎร์

"อย่างไรก็ดี ทราบว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการกำหนดแนวทางการ จัดการชายฝั่งโดยใช้ระบบกลุ่มหาด โดยการแบ่งพื้นที่ชายฝั่งออกเป็นหน่วยย่อย ๆ หรือเป็น  “กลุ่มหาด” โดยใช้หัวแหลม หัวเขา หรือปากแม่น้ำ มาเป็นตัวแบ่งขอบเขตของกลุ่มหาด  เพื่อให้สามารถดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จากรายงานของผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ระบุว่า การดำเนินงานโครงการ ได้นำเอาแนวคิดการจัดการชายฝั่งด้วย “ระบบกลุ่มหาด” มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ที่ รับผิดชอบในด้านการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อีกทั้ง  ยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดย กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ครั้ง และการประชุม  เชิงวิชาการเฉพาะด้านวิศวกรรมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 1 ครั้ง โดยในครั้งนี้จะเป็นการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการ ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์และขี้แจงโครงการ และนำเสนอ “ร่างแผนหลักแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ระบบกลุ่มหาด” ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านที่ร่วมอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ มีศักยภาพ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อที่หน่วยงานจะได้นำแนวคิดที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และเกิดความยั่งยืนต่อไป ผมขอขอบคุณ กรมโยธาธิการและผังเมืองที่ได้จัดให้มีการประชุมในวันนี้ และ  ขอขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน  สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่เสียสละเวลามาร่วมประชุม " นายสุริยา น้ำเงิน  กล่าวเพิ่มเติม

ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี  (รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร) 
 

ศรีสะเกษ!! สั่งปิดสำนักสงฆ์สอนญาติโยมลามกเสพเมถุน ปฏิบัติธรรมสุดเพี้ยนมุดน้ำกลั้นหายใจสู่ทางบรรลุ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่พักสงฆ์ป่าเนื้อนาบุญ ตโพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.ส้นติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายเทเวศน์ มีศรี นายอำเภอปรางค์คู่ พ.ต.อ.พิทักษ์ จันทร์อบ ผกก.สภ.ปรางค์กู่ นางณภัค  เทียนชัย ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ น่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าทำการจับกุมตัว พระกรันยา ถาวรธมโม สังกัดวัดถ้ำสระพงษ์ ต.ปรือใหญ่ อ. ขุขันธ์  จ.ศรีสะเกษ

หลังคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด  โดย พระวินัยเมธี) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด) ออกแถลงการณ์การสอขอธิกรณ์ เรื่องการระงับอธิกรณ์ พระกวันยา ถาวรธมโม ที่พักสงฆ์เนื้อนาบุญ สอนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ซึ่งค่าสอนที่ได้สั่งสอนอบรมสั่งสอน แก่ศิษยานุศิษย์นั้นเป็นศาสอนหรืออุบายธรรมที่ผิดเพี้ยนไป จากพระธรรมคำสอนที่ทรงตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว  ซึ่งพระกรันยา ถาวรธมโม ได้อบรมให้ศิษยานุศิษย์ด้วยการกล่าววาจาเทศนาให้น้อมไปในทางเสพกามคุณและการสอนศิษยานุศิษย์ ให้เชื่อว่าการปฏิบัติธรรมสมาธิด้วยการกลั้นลมหายใจดำน้ำในตุ่ม จะช่วยให้บรรลุมรรคผลได้ และคารใช้วาจาแนะนำบอกล่าวอุบายแก่ศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรม ให้เป็นคู่รักกันได้ถ้าตนเองไม่มีคู่รัก

นอกจากนี้ยังสอนให้เชื่อว่าเมื่อบรรลุมรรคผลแล้วมีการร่วมกันจัดงานกิจกรรมการบันเทิ้งรื่นเริง ฟ้อนรำ ขับบรรเลงเพลงดนตรีภายในบริเวณอารามที่ถือว่าเป็นวัค จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ว่าพระกรันยา แนะนำสั่งสอนอบรมให้ศิษยานุศิษย์ได้เชื่อถือและปฏิบัติธรรมผิดเพี้ยนไปตามวาจาที่ตนได้สอนไว้และยังได้บันที่กลงไปในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

ข่าว/ภาพ   บุญทัน  ศรีสะเกษ

ราษฎรเมียนมาอพยพหลบหนีเข้าเขตไทยด้านอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

โดยเมื่อ 28 มี.ค.2564  ได้ มีราษฎรเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงจากฝั่ง สหภาพเมียนมา ได้หลบหนีการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทย ด้านอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน  3 จุด รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,900 คน ได้แก่

       1. จากพื้นที่ บ.เอเค อ.บือโส๊ะ จ.มือตรอ (จังหวัดจัดตั้ง KNU) รัฐกะเหรี่ยง ด้านตรงข้ามฝั่งไทย บริเวณ ฐานฯออเลาะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ ฝั่งไทย  ประมาณ 300 คน

       2.  จากพื้นที่ควบคุมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ห้วยอูแวโกร ด้านตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ บ.แม่ดึ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียงฯ โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ พิกัด  ประมาณ 300 คน

       3. จากพื้นที่ควบคุมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ห้วยอีทูโกร ด้านตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ ฐานฯ แม่สะเกิบ บ.ห้วยกองแป ต.แม่คง อ.แม่สะเรียงฯ   โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ   ห้วยอุมปะ ประมาณ 1,300 คน

       ทั้งนี้ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ทมม. จะปฏิบัติการตอบโต้ โจมตีทางอากาศพื้นที่ควบคุม กองกำลังKNLA พล.น้อย  5 ของกลุ่ม KNU อีกทำให้ราษฎรหวาดกลัวและวิตกกังวลต่อความปลอดภัย จึงได้พากันอพยพหลบหนีเข้ามายังฝั่งไทย

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพ ฯ ว่า สถานการณ์ในประเทศพม่า ได้เริ่มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้อพยพ หลบหนีเข้ามาอาศัยในไทย ล่าสุด จำนวน 2,194 คน และคาดว่าน่าจะมีการหลบหนีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในตอนนี้ ทางจังหวัดจะต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลในเรื่องการเข้าไปดูแลผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้มีการวางแผนเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ที่อำเภอขุนยวม แต่เป็นพื้นที่คนละจุดกัน ซึ่งตอนนี้ผู้อพยพดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารพราน จากกรมทหารพรานที่ 36 แม่สะเรียง จัดกำลังเข้าไปควบคุมดูแลในเบื้องต้นแล้ว

ภาพ/ข่าว เกียรติศักดิ์  รักสัตย์ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

นักท่องเที่ยว แห่เลือกซื้อผ้าทอโบราณ 200 ปีศรีพิงพวย ย้อมด้วยดินภูเขาไฟ เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมสุรินทร์ - ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่หมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ  น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าคุณภาพ แหล่งกำเนิดผ้าทอศรีลาวา ดินภูเขาไฟ เป็นผ้าทออัตลักษณ์ของศรีสะเกษ เพื่อเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แพรพรรณที่งดงาม มีการเก็บรักษาผ้าโบราณกว่า 200 ปี การทอผ้าไม่ได้ใช้กระสวย แต่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง ต่างกับการใช้กระสวย ความพิเศษของมันคือบรรจุเส้นไหมใส่หลอดได้เยอะกว่ากระสวยและชมการย้อมผ้าดินภูเขาไฟด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาในครั้งนี้เป็นนักธุรกิจและข้าราชการบำนาญ ต่างพากันเลือกซื้อผ้าทอไปไว้ใช้และฝากเป็นที่ระลึกแก่ญาติพี่น้องและผู้ที่รักเคารพนับถือคนละหลายชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าโบราณเป็นอย่างดียิ่ง โดยมี นายพนมกร สังข์แก้ว และเพื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ได้มาที่นี่อีกครั้งเพื่อต่อยอดวาระจังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขับเคลื่อนผ้าทอมือ "ธานี ผ้าศรี...แส่ว" ที่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้นำร่องไว้ กลุ่มทอผ้าบ้านพิงพวย ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ  เป็นสถานที่ธรรมชาติที่ร่มเย็น มีเสน่ห์ ที่ทุกคนสามารถมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าโบราณที่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง นักท่องเที่ยวได้ชมพิพิธภัณฑ์ผ้า 200 ปีที่หายากที่จัดไว้ในห้องแอร์ ได้พบกับหนุ่มเยาวชนกลุ่มทอผ้าที่มีอนาคตในมิติของผ้าทออัตลักษณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรม DIY ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้   กลุ่มนี้เป็นกลุ่มศิลปินสมัยใหม่ที่ผลิตผ้าแบบมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีสโลแกนว่าหากจะอยากได้ผ้าทอสวยต้องรอหน่อยอย่าเร่ง  เพราะมีงานจากกรุงเทพสั่งทอตลอดมา 6 ปีแล้ว เป็นลูกค้ากลุ่ม High end ที่ต้องการให้ผลิตผ้าทอให้ดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร  ตนได้เสนอให้เพิ่มหมู่บ้านทอผ้านี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของ อพท.ด้วยจะได้เชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางสายไหม  ใครมาที่หมู่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ก็เชื่อมต่อมาดูผ้าโบราณที่ศรีพิงพวย ศรีสะเกษ  

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์  กล่าวว่า ตนได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำนักท่องเที่ยวกลุ่มรักผ้าไหมจากกรุงเทพฯมาเที่ยวสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยในวันนี้ได้นำมาเยี่ยมชมหมู่บ้านผ้าทอโบราณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบผ้าไหมและได้อุดหนุนผ้าทอโบราณของศรีรัตนะจำนวนมาก ซึ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาด ปีงบประมาณ 2564 โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งได้รับการประสานจากชมรมรักไหมสุรินทร์ (Facebook Group : รักไหมสุรินทร์)กำหนดเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ภาพรวม : กระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล แผนงาน : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสคุณค่า วันธรรมดา

ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ตนจึงได้นำเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบน เป็นกลุ่มศักยภาพ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากกรุงเทพ เดินทางสำรวจศักยภาพ และท่องเที่ยวช้อป ชุมชนทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเชื่อมโยงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจเฉพาะงานทอผ้าไหมพรีเมี่ยม และงานอาร์ต งานคราฟท์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเขียวสุรินทร์ ถนนวิถีวัฒนธรรมมารีหนองแคน ชุมชนทอผ้าไหมบ้านแขม อ.อุทุมพรพิสัย ชุมชนพิงพวย อ.ศรีรัตนะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว สิมวัดไพรบึง อ.ไพรบึง ศิลปญวน พระพุทธเจดีย์ใหญ่ไพรบึง ศิลปะลาว เหมือนปลี พระโบราณ ศิลปญวน วัดบ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ  เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ อ.กันทรลักษ์ รับตะวัน 3 แผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กราบไหว้ขอพรสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา จุดชมวิวผาพญากูปรี อ.ภูสิงห์ ตนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเที่ยวอีสานวันธรรมดาที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และคิดถึงท่องเที่ยวเมืองรองต้องสุรินทร์ศรีสะเกษ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

เครื่องดนตรีจากผลไม้ ศิลปะสุดทึ่งของครูเกษียณ ชาวบ้านโป่ง

สุดว้าว !! "เครื่องดนตรีจากผลไม้" ศิลปะสุดทึ่ง ของอดีตข้าราชการครูเกษียณวิชาดนตรี "อาจารย์วิรัช ขำมาลัย" วัย 67 ปี นักประดิษฐ์เครื่องดนตรีพิสดาร ศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ.2542 ที่หยิบจับผลไม้ หรือ ภาชนะเหลือใช้เป็นเครื่องดนตรี

(29 มี.ค.64) เครื่องดนตรีไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสียงที่ไพเราะและแตกต่างกับเครื่องเล่นจากประเทศอื่น ๆ เครื่องดนตรีแต่ละอย่างจะมีความไพเราะและนุ่มนวลเฉพาะตัวของมัน และแบ่งประเภทออกมาได้ทั้งหมด 4 ประเภทนั่นคือ ดีด สี ตี และเป่า แต่ละประเภทจะมีเสียงที่แตกต่างกัน แต่เมื่อไหร่ที่นำมาเข้าจังหวะด้วยกันจะเกิดทำนองเพลงที่ไพเราะ ซึ่งชาติไหนก็ไม่สามารถเทียบความไพเราะของเครื่องดนตรีไทยได้ เครื่องดีดเป็นเครื่องดนตรีจำพวก จะเข้  เครื่องสีเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ซอ เครื่องตีเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ระนาด ฆ้อง กลอง เครื่องเป่าเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ขลุ่ย ปี่ เป็นต้น

วัสดุที่สร้างเครื่องดนตรีไทย ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้วค่อย ๆ มาปรับปรุงพัฒนาต่อไปเรื่อย ต้นไผ่ และกระดูกสัตว์ กะลามะพร้าว แผ่นอลุมิเนียม ไฟเบอร์กลาส หนังสัตว์ และวัสดุที่ให้ความคงทนแข็งแรง ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

แต่ที่บ้านคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลับมีอดีตครูวัยเกษียณ ที่พร่ำสอนดนตรีไทยมายาวนานกว่า 50 ปี แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสาสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียน ด้วยแถมยังเป็นที่รู้จักกันว่า ครูนักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์ เครื่องดนตรีพิสดาร ศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ.2542 ที่หยิบจับผลไม้ หรือ ภาชนะเหลือใช้เป็นเครื่องดนตรี

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่บ้านของครูนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีพิสดารคนดังกล่าว ตั้งอยู่ใน บ้านคุ้งพยอม หมู่ที่ 12 ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ นายวิรัช ขำมาลัย อายุ 67 ปี หรือ ที่รู้จักกันครูวิรัช เป็นอดีตข้าราชการครูวัยเกษียณ แต่ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสายังคงทำหน้าที่สอนวิชาดนตรีไทยให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ

ครูวิรัช เล่าว่า ตนเองเป็นครูตั้งแต่อายุ 18 ปี และสอนจนเกษียณ รวมแล้วเกือบ 50 ปี เป็นครูสอนดนตรี และ สอนเด็กอนุบาล ส่วนเครื่องดนตรีที่ตนเองได้คิดขึ้นมาเอง และเป็นคนสร้างขึ้นมานั้นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่า อาทิ ทุเรียน แอปเปิล ชมพู่ หรือแม้แต่ แตงร้าน นอกจากผลไม้ก็ยังนำ สาก มาใช้ทำเครื่องดนตรีอีกด้วย งานนี้คำว่า "เงียบเป็นเป่าสาก" ทำให้รู้ว่าน่าจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป รวมไปถึงเครื่องดนตรีที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้อีกมายมาย ไม่ว่าจะเป็น ทรอมโบน จากท่อ PVC และราวตากผ้า, แซกโซโฟน จากขี้เลื่อย, แซกบราโน่ จากไม้ไผ่ และกีตาร์ไฟฟ้า จากไม้ทีของนักศึกษาอาชีวะ

ซึ่งครูวิรัช ขำมาลัย ได้พาผู้สื่อข่าวไปที่ตลาดในเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง เพื่อเลือกซื้อผลไม้ ที่จะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี อาทิ ชมพู่ ละมุด กล้วย มะละกอ มะระ แตงกวา มะม่วง เพื่อพิสูจน์ให้ผู้สื่อข่าวดูว่าจะสามารถทำเป็นเครื่องดนตรีได้หรือไม่ โดยหลังจากเลือกเสร็จ ครูวิรัชได้ นำกลับเตรียมให้วัสดุในการประดิษฐ์ก็จะประกอบไปด้วย มีด ดอกสว่าน ไขควง ประแจหกเหลี่ยม ช้อน และที่ขาดไม่ได้คือ กำกวด หรือ ลิ้น เป็นส่วนประกอบของปี่ซึ่งทำให้เกิดเสียงเวลาเป่า สอดติดอยู่กับเลาปี่ ที่จะทำให้กำเนิดเสียงในผลไม้ ทำจากใบตาลมาประดิษฐ์คู่กับหลอดและใช้เชือกพัน

ส่วนวิธีการทำนั้นไม่อยาก แต่ครูวิรัช บอกว่าต้องใช้ประสบการณ์ การฟังเสียง เมื่อเรานำผลไม้ที่เลือกซื้อมา ใช้มีดตัดหรือหั่นส่วนที่มีขนาดความกว้างที่มากว่า ก็จะอยู่ช่วงป้องก่อนถึงส่วยยอดของผลไม้ อาทิ ลูกชมพู่ จะใช้มีดคว้านช่วงปลายของผล ให้มีลักษณะคล้ายดอกลำโพง จากนั้นใช้ไขควงเจาะให้เป็นรูตรงกลางจนทะลุอีกฝั่ง ส่วนที่ติดกับก้าน และตัดจุกก้านทิ้ง ต่อมาใช้ไขควงเล็ก เจาะรูที่ด้านข้าวของผล โดยการเว้นช่องห่างของนิ้ว จะได้ประมาณ 3 - 4 รู เท่านี้ก็จะได้เครื่องดนตรีจากผลชมพู่ ส่วน ผลไม้อื่น ๆ ก็ทำลักษณะเหมือนกัน แต่จะให้เสียงที่แตกต่างกันไปตามชนิดของผลไม้ เช่น ชมพู่ จะให้เสียงที่ค่อนข้างกังวานและเสียงแหลม, ละมุด ก้องและออกไปแหลมทุ้ม, จะให้เสียงที่ กล้วย จะให้เสียงที่กังวานและแหลม, มะละกอ จะให้เสียงก้องและออกไปแหลมทุ้ม,  มะระ จะให้เสียงก้องและออกไปทุ้ม,  แตงกวา จะให้เสียงที่ก้องและออกไปแหลมทุ้ม มะม่วง จะให้เสียงแหลมและออกไปแหลมกังวาน

นอกจากนี้ ครูวิรัช ยังได้สาธิตการเป่าสาก ที่ได้ประดิษฐ์เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะต้องใช้เครื่องมือไฟฟ้า อย่างเช่นสว่านเพื่อเจาะไม้ของตัวสากให้เป็นรู ซึ่งงานนี้คำว่า "เงียบเป็นเป่าสาก" จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะครูวิรัชสามารถเป่าสากให้มีเสียงได้ พร้อมทั้งยังได้สาธิตการเป่าเครื่องดนตรีที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้อีกหลายชิ้น อาทิ ทรอมโบน จากท่อ PVC และราวตากผ้า, แซกโซโฟน จากขี้เลื่อย, แซกบราโน่จากไม้ไผ่

จากการนำผลไม้ชนิดต่าง ๆ และ เศษวัสดุเหลือใช้ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ครูวิรัช กล่าวว่า เกิดจากการที่เมื่อสมัยเด็กอยากเป็นนักดนตรี แต่ไม่มีทุนในการซื้อจึงได้รองคิดค้นนำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ส่วนผลไม้ ตนได้รองนำผลไม้มาประดิษฐ์ดูจึงพบว่าสามารถนำมาเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่าได้ ประกอบกับการใช้ทักษะในการฟังเสียงและการเข้าใจเสียงที่ได้จากผลไม้ บางชนิดได้เสียงแหลม บางชนิด เสียงทุ้ม ซึ่งตนจะนำมาสอนเด็ก ๆ เวลาสอนจะทำให้เด็กรักสนุกและเข้าใจง่าย แต่ที่สำคัญ ตนมองว่าทำไมเครื่องดนตรีถึงราคาแพง เด็กจะเข้าถึงเครื่องดนตรีได้อย่างไร ตนจึงนำสิ่งของเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องดนตรีและสอนเด็ก ๆ ปัจจุบัน ครูวิรัชได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีมาแล้วกว่า 30 ชนิด

สำหรับใครที่อยากจะเรียนรู้เรื่องการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากผลไม้ และ วัสดุเหลือใช่สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 086-766-6985

ภาพ/ข่าว  ตาเป้ (จ.ราชบุรี)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top