Friday, 24 May 2024
THE STATES TIMES TEAM

ขอนแก่น - ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ชุดแรก 5,000 คน คาด 3 วันแล้วเสร็จ ขณะทีทางจังหวัดประกาศงดจัดกิจกรรมถนนช้าวเหนียว และการแสดงคอนเสริต์ต่าง ๆ เด็ดขาด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 เม.ย.2564 ที่ณ ห้องประชุมจำลอง มุ่งการดี ชั้น 4 อาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รพ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานในพิธีเปิดปฎิบัติการคิกออฟฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตามการได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลชุดแรกจำนวน 10,000 โดส ที่จะเริ่มทำการฉีดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่าขอนแก่นเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่ได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะที่ 1 รอบเดือน เม.ย. 2564 จำนวน 10,000 โดส เป็นยี่ห้อ Sinovac (ซิโนแวค) จากประเทศจีน โดยผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนั้ย 1 ราย ต่อ 2 โดส ทำให้ในรอบนี้จะทำการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น จำนวน 5,000 ราย โดยกำหนดให้หน่วยบริการที่มีความพร้อมดำเนินการฉีดกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จ 9 แห่ง ในระหว่างวันที่ 7 - 9 เม.ย. 2564 ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือที่ โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, โรงพยาบาลชุมแพ ,โรงพยาบาลสิรินธร , โรงพยาบาลพล ,โรงพยาบาลบ้านไผ่ . โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน อละ โรงพยาบาลน้ำพอง โดยที่กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนชุดแรก คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง

"ส่วนในเดือน มิ.ย. 2564 ขอนแก่นจะได้รับวัคซีนอีกจำนวน 200,000 โดส เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า โดยระยะที่ 2 จะนำมาฉีดให้แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งจะเน้นฉีดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการสำรวจและขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามความสมัครใจ และประชาชนตามลำดับกลุ่มเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยทั้งนี้สำหรับขั้นตอนการฉีดวัคซีนในวันนี้ ใช้ระบบเดียวกับที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้  8 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การลงทะเบียน (ทำบัตร) ขั้นตอนที่ 2 การชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ขั้นตอนที่ 3 การคัดกรอง ซักประวัติประเมินความเสี่ยง และลงนามในใบยินยอมการรับวัคซีน ขั้นตอนที่ 4 รอฉีดวัคซีน ขั้นตอนที่ 5 ฉีดวัคซีน ขั้นตอนที่ 6 พักสังเกตอาการ 30 นาที สแกนไลน์ "หมอพร้อม" ขั้นตอนที่ 7 ตรวจสอบก่อนกลับพร้อมรับเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังการฉีดวัคซีน และขั้นตอนที่ 8 ประเมินความครอบคลุมการฉีดวัคซีนและอาการไม่พึงประสงค์ และในการฉีดวัคซีนครั้งนี้จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มกระบวนการลงทะเบียนขั้นตอนการฉีดวัคซีนประมาณ 5-7 นาทีต่อคน พักสังเกตอาการอีก 30 นาที ในระหว่างการสังเกตอาการจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ สังเกต และสอบถามอาการผู้ได้รับวัคซีนเป็นระยะ ส่วนการประเมินผลหลังการฉีดวัคซีน แบ่งเป็นหลังการฉีดวัคซีนทันที และประเมินผลที่ระยะเวลา 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน หลังการได้รับวัคซีน โดยบันทึกการประเมินในไลน์ หมอพร้อมอีกด้วย"

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังจากทางจังหวัดขอนแก่นพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 2 ราย ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่นก็ได้มีการประชุมและมีมติที่ประชุมออกประกาศคำสั่งฉบับที่ 30 เรื่องมาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีคำสั่ง 2 เรื่องประกอบด้วย 1.ให้งดการจัดคอนเสิร์ตในทุกสถานที่และทุกเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 18 เม.ย.2564 และ2.เป็นเรื่องของการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าของ ผู้ประกอบการ หรือผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่กิจกรรมและกิจการต่างๆ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ใช้บริการหรือเข้าไปยังสถานที่หรือร่วมทำกิจกรรมเช่นว่านั้น ถือปฏิบัติ 6 ข้อ ประกอบด้วย การจัดบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ การให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า การอำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อยหนึ่งเมตร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หากมีการจัดกิจกรรมให้พิจารณาตามสัดส่วนของพื้นที่ กับผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่ปิดขนาด 5 ตารางเมตรต่อคน ในพื้นที่เปิดขนาด 4 ตารางเมตรต่อคน การจัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การจัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรมด้วย และจัดให้มีการลงทะเบียนแพลตฟอร์มไทยชนะ หรือแพลตฟอร์มหมอชนะ ในการเข้าออกสถานที่สาธารณะ และสแกน QR Code รายงานตัวของจังหวัดขอนแก่น เมื่อเข้ามาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

" ในส่วนการตรวจบุคลาการในคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมทั้งผู้ที่เข้ามาใช้บริการในสถานบันเทิงมาเจนต้า ผลออกมาเป็นลบ ซึ่งจะต้องมีการตรวจซ้ำเป็นรอบที่ 2 อีกครั้ง โดยทั้งหมดจะต้องมีการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อจะมาตรวจรอบที่ 2 ต่อไป รวมทั้งจะมีการเรียกสถานประกอบการทุกแห่งในจังหวัด ได้มาทำความเข้าใจ หลังจังหวัดขอนแก่นได้ประกาศฉบับที่ 30 ออกไป เพื่อจะได้ไม่ให้มีการจัดคอนเสิร์ต รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้นและรัดกุม"

 

ชลบุรี - ควาญและช้าง โอด พิษโควิดทำพิษตกงาน ไร้อาชีพไร้เงิน

ช้างยังตกงาน โควิดทำสะเทือนหนักภาคท่องเที่ยวพัทยา ควาญช้างขนครอบครัวพร้อมช้าง 5 เชือกเดินทางกลับสุรินทร์ โอดอยู่ไม่ไหวไร้นักท่องเที่ยว ทำไร้อาชีพ ไร้เงินอยู่กินนานนับปี หวังตายดาบหน้าบ้านเกิด

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีครอบครัวควาญช้างจำนวนนับสิบชีวิต พากันขนข้าวของขึ้นรถ ยนต์ส่วนตัว พร้อมนำพาช้างจำนวน 5 เชือกเดินทางออกจากที่ทำงานเป็นฟาร์มช้างขนาดใหญ่ ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อกลับบ้านเกิดที่ จ.สุรินทร์ โดยอาศัยการเดินเท้าเพื่อหาหญ้าให้ช้างกินใน ช่วงระหว่างการเดินทางประทังชีวิต จึงเดินทางไปตรวจสอบ กระทั่งพบกลุ่มควาญช้างกำลังนำพาช้างพัง และช้างพลายขนาดใหญ่จำนวน 5 เชือก พร้อมญาติๆที่โดยสารโดยรถยนต์กระบะ 2 คันประกบหน้า-หลังเพื่อความปลอดภัย เดินทางมาตามเส้นทางริมขอบอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

จากการสอบถาม น.ส.นภาลัย หมายงาม อายุ 26 ปี เล่าว่าได้พาครอบครัวและญาติจำนวน 5 ครอบ ครัวเดินทางมาจาก จ.สุรินทร์ เพื่อมาทำงานที่ฟาร์มช้างในเขต ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ได้นานกว่า 5 ปีแล้ว โดยได้นำช้างมาด้วย 5 เชือกเป็นช้างพลาย 4 เชือกและช้างพัง 1 เชือก เพื่อมารับจ้างพานักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชมธรรมชาติ ซึ่งในอดีตได้รับเงินค่าจ้างของช้างพร้อมควาญจากทางฟาร์มในอัตราเชือกละ 15,000 บาท/เดือน รวมกับค่าทิปในแต่ละเที่ยวก็สามารถมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่ปรากฏว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปทั้งหมดหรือ 0 % ทำให้ทางฟาร์มขาดรายได้ ประสพภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลมาถึงควาญและช้างที่ต้องถูกงดจ่ายเงินเดือนทั้งหมดไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 หรือประมาณปีเศษ จึงทำได้แต่รอความหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนปกติในไม่ช้า แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้ครอบครัวไม่สามารถอยู่ต่อไปได้เพราะไม่มีเงินมาประทังชีวิต จึงหารือกันและตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.สุรินทร์ ด้วยคงจะไปหาทำอาชีพเกษตรทำไร่ ทำนา เพื่อเลี้ยงชีวิต โดยยังไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

น.ส.นภาลัย กล่าวต่อไปว่าหลังตกลงปลงใจจะพากันกลับบ้านก็ขนข้าวของและพาช้างเดินออกจากปางตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะอากาศไม่ร้อนจัดซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ช้าง ส่วนที่เลือกการพาช้างเดินเท้ากลับไม่ไม่มีเงินจ้างรถบรรทุกและอีกอย่างตลอดทางช้างก็ยังแวะหาหญ้ากินประทังชีวิตไปได้ โดยคาดว่าตลอดระยะทางกว่า 500 กม.ที่จะถึงบ้านที่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ คงใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งครอบครัวทั้งหมดก็จะหาจุดแวะพักค้างแรมตามริมถนนไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงบ้าน อย่างไรก็ตามตลอดเส้นทางพบว่ามีชาวบ้านและประ ชาชนที่เห็นก็พากันเอาผลไม้ น้ำดื่ม และอาหารมาให้เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งรู้สึกซึ้งในน้ำใจของคนไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีผู้ใจบุญหลายรายพยายามมาขอเลขบัญชีธนาคารด้วยจะโอนเงินช่วยเหลือให้ แต่ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีดราม่าหาว่าเอาช้างมาเร่ร่อนมาหากิน เลยไม่ได้ให้ใครไปเพียงแต่กล่าวขอบคุณในน้ำใจเท่านั้น ส่วนคนที่อยากจะเอาอาหารหรือผลไม้มาให้ช้างตามเส้นทางที่เดินทางกลับบ้านก็พร้อมน้อมรับและต้องขอบคุณล่วงหน้า สำหรับเส้นทางกลับนั้นก็จะเดินตามถนนสาย 331 มุ่งหน้ากลับสู่ภาคอีสานแต่จะเดินถึงช่วงไหนหรือแวะพักจุดใดเพื่อนำอาหารมาช่วยเหลือก็สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 093-3357062


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

กาฬสินธุ์ - รำบวงสรวงฆ้องชัยใหญ่ศักดิ์สิทธิ์อธิษฐานขอความเป็นสิริมงคล

นางรำชาวอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์สวมชุดผ้าพื้นเมืองกว่า 1,500 ชีวิต จัดริ้วขบวนรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และฆ้องชัยมหามงคลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมบูชาหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และเหรียญเสมารุ่นฉลองครบรอบการก่อตั้งอำเภอ 24 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมอธิษฐานขอความร่มเย็นเป็นสุขก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ไม่ประสบปัญหาพายุฤดูร้อน และขอให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19

ที่บริเวณลานฆ้องชัยมหามงคล หน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พระครูโอภาสชยานุกูล เจ้าคณะอำเภอฆ้องชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอฆ้องชัย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลานฆ้องชัยมหามงคล โดยมีพระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก และมีมาตรการคัดกรองและป้องกันโควิด-19 ผู้เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้หลังประกอบพิธีบวงสรวง หน้าฆ้องชัยมหามงคล พระเกจิสมณศักดิ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ สวดชยันโตและปะพรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ และผู้เข้าร่วมพิธีแล้ว จากนั้นเหล่านางรำ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองจำนวนกว่า 1,500 ชีวิต จัดริ้วขบวนรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างสวยงาม และพร้อมเพียงกัน

นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในโอกาสปี 2564 เป็นปีครบรอบ 24 ปีการก่อตั้งอำเภอฆ้องชัย  เพื่อร่วมกันสร้างสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 24 ปีดังกล่าว คณะสงฆ์รวมทั้งข้าราชการ ผู้นำชุมชน พ่อค้า ประชาชน จึงมีมติร่วมกันจัดสร้างหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัยองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 9 เมตร สูง 21 เมตร เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ โดยกำหนดประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อบอกกล่าวพระภูมิเจ้าที่ รุกขเทวดาทั้งหลาย เพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับการจัดสร้างหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมพิธี ต่างน้อมจิตอธิษฐานขอความร่มเย็นเป็นสุขก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ไม่ให้ประสบปัญหาพายุฤดูร้อน และขอให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปให้ได้

นายศิวัชฐ์ กล่าวอีกว่า ในการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัยดังกล่าว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้มีส่วนร่วม จึงได้มีประชาสัมพันธ์เชิญชวน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดสร้าง โดยสั่งจองหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย ขนาดบูชา 3 ขนาด คือ พระบูชา ขนาด 9 นิ้ว, พระบูชา ขนาด 5 นิ้ว และเหรียญบูชาเหรียญเสมา "รุ่นฉลองครบรอบการก่อตั้งอำเภอ 24 ปี” เนื้อทองเหลือง พร้อมเลี่ยมกรอบและสร้อยไมคอน ทั้งนี้ เพื่อนำรายได้ ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และพัฒนาลานฆ้องชัย ซึ่งมีฆ้องชัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตรเป็นสัญลักษณ์ ให้เป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยวประจำ อ.ฆ้องชัย ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวฆ้องชัยได้อย่างยั่งยืน

นายศิวัชฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย กำหนดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 พิธีเททองหล่อและพิธีวางศิลาฤกษ์พระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย พร้อมรับวัตถุมงคลวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 24 ปีก่อตั้งเป็นอำเภอ ทั้งนี้ ผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมทำบุญ และสั่งจองพระพุทธรูปและเหรนียญบูชา สามารถติดต่อได้ที่ที่ทำการปกครอง อ.ฆ้องชัย 0631870804  ธ.ก.ส.สาขาฆ้องชัย หรือโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนสร้างพระองค์ใหญ่ หลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และพัฒนาลานฆ้องชัย เลขที่บัญชี 020144546976

ทั้งนี้ ประวัติความเป็นมาของอำเภอฆ้องชัย จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เมื่อประมาณ 285 ปีมาแล้ว ในวันธรรมสวนะช่วงใกล้สว่างประมาณ ตี 3 หรือ ตี 4 จะมีเสียงฆ้องใหญ่ดังกังวานขึ้นมาจากหนองน้ำกุดฆ้องบึงขยอง แหล่งน้ำสาธารณะประจำ ต.ฆ้องชัยพัฒนา ซึ่งเสียงดังกล่าวคล้ายกับเสียงพระตีฆ้องตีกลอง หรือภาษาอีสานเรียกว่า “ตีกลองดึก” เพื่อเป็นสิริมงคลในการตั้งชื่อกิ่งอำเภอ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จึงได้นำเอานาม “ฆ้องชัย” จากชื่อ ต.ฆ้องชัยพัฒนา มาตั้งเป็นชื่อกิ่งอำเภอฆ้องชัย ก่อนที่จะยกฐานะเป็นอำเภอฆ้องชัยในปี 2550


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สระบุรี - ตำรวจสภ.มวกเหล็ก จับยาไอซ์ ได้ 450 กิโล ผู้ต้องหารับจ้างขนยาไอซ์ เพื่อนำส่งลูกค้าที่กรุงเทพฯ

วันที่ 6 เม.ย.64ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ขณะออกตรวจในพื้นที่รับผิดชอบ บริเวณ ถ.สายบ้านหินลับ – บ้านแซลงพัน หมู่ที่13 ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบรถกระบะ โตโยต้า แค๊ป สีบรอนทอง ติดฟิล์มทึบ ทะเบียน ขว8735 สกลนคร ได้วิ่งผ่านมาในพื้นที่ ลักษณะต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เรียกขอตรวจค้นรถคันดังกล่าว

ขณะนั้นรถคันดังกล่าวได้เร่งเครื่องเพื่อหลบหนีมุ่งหน้าไปทาง อ.แก่งคอย จากนั้นเจ้าหน้าที่ ตำรวจได้ไล่ติดตามเรียกรถคันดังกล่าวหยุดลง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นในรถ ด้านหลังกระบะ พบ ยาไอซ์ จำนวน 450 กิโล  บรรจุใส่กระสอบถุงพลาสติกสีดำ จำนวน 9 กระสอบ โดยมี นาย ณรงค์ หรือหนู) ปัญจรี อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 50 หมู่ 6 ต.นาคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เป็นผู้ขับรถ จึงนำตัวส่ง สภ.มวกเหล็ก ดำเนินคดี

ทางด้าน นาย ณรงค์ (หรือหนู)  ปัญจรี ( ผู้ต้องหา ) ให้การว่า เป็นคนรับจ้างขนยาไอซ์ดังกล่าว มาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จ.สกลนคร  เพื่อนำส่งลูกค้าที่กรุงเทพฯ ในระหว่างขับรถมาตาม ถ.มิตรภาพ ช่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รู้ว่ามีด่าน ตรวจตามพื้นที่ จึงได้ใช้เส้นทางรัด จากปากช่องสู่จังหวัดสระบุรี  ในขณะขับมาในพื้นที่เข้าสู่ อ.มวกเหล็ก จึงได้ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกค้นและจับคุมดังกล่าว

ด้านนาย นาย ณรงค์ หรือหนู ปัญจรี ( ผู้ต้องหา ) เผยต่อว่า ตนรับจ้างจากเพื่อนเพื่อขนยาดังกล่าวไปส่งที่กรุงเทพฯ โดยเพื่อนบอกว่าเป็นกัญชาอย่างเดียว ค่าจ้างขนจำนวน 40,000 บาท  จนกระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับคุมตัวในครั้งนี้  

ต่อมาที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี นำโดย พล.ต.ท. อำพล บัวรับพร  ผบทช.พ.1 และ พล.ต.ต. ชยานนท์ มีสติ ผบก.ภ.สว.จ.สระบุรี  พ.ต.อ.เรืองยศ โสภาพล ผกก.สภ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี   ร่วมกันนำตัว นาย ณรงค์ หรือหนู ปัญจรี พร้อมของกลาง แถลงข่าวในครั้งนี้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ

 

ขอนแก่น - ญาติผู้ต้องขังยังคงเดินทางมาเยี่ยมภายในเรือนจำกลางขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่ทราบประกาศของทางกรมราชทัณฑ์ ที่มีการประกาศงดเยี่ยมทุกเรือนจำทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์บริเวณหน้าอาคารเยี่ยมญาติภายในเรือนจำกลางขอนแก่น เขตเทศบาลนครขอนแก่น หลังจากกรมราชทัณฑ์ ประกาศงดเยี่ยมญาติทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีญาติผู้ต้องขังทยอยมาเยี่ยมญาติที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว บางครอบครัวมาจากต่างจังหวัด แต่ต้องผิดหวัง เนื่องจากเรือนจำติดประกาศงดเยี่ยมไว้ที่กระจกหน้าอาคาร ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่มาอธิบาย และทำความเข้าใจการงดเยี่ยม รวมถึงแนะนำการเยี่ยมผ่านกลุ่มไลน์ ซึ่งญาติพี่น้องต่างก็เข้าใจ แต่ยังคงมีผู้สูงอายุที่ต้องการฝากเงินให้ลูก แต่ใช้แอบพลิเคชันไม่เป็น เจ้าหน้าที่จึงแนะนำวิธีใช้และเชิญเข้าร่วมกลุ่มไลน์ญาติผู้ต้องขังเรือนจำกลางขอนแก่น ซึ่งญาติพอใจอย่างมาก และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ทุกคน

นายกฤติพงษ์ แสนสุข  ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขัง เรือนจำกลางขอนแก่น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงมาตรการรับตัวผู้ต้องหาจากตำรวจ เข้าเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด19 และกรมราชทัณฑ์ กำหนดมาตรการเข้ม ประกาศงดเยี่ยมญาติทั่วประเทศว่า การงดเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นนั้น ปฏิบัติตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ หลังพบเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ที่จังหวัดนราธิวาส ติเชื้อโควิด19 ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ จึงประกาศงดเยี่ยมญาติทางห้องเยี่ยมญาติในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

"การรับต้องผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจะเข้ามาเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นอีกว่า เรือนจำกลางขอนแก่นจะต้องทำการตรวจวัดอุณหภูมิในร่างกายให้เรียบร้อย หากอุณหภูมิเกินก็ไม่รับและต้องส่งตัวไปรักษาต่อ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบผู้ต้องหาที่รับเข้ามาในเรือนจำกลางขอนแก่นมีอุณหภูมิเกิน โดยเมื่อรับเข้ามาเป็นผู้ต้องขังแล้ว ทุก ๆ คนจะต้องเข้าในพื้นที่กักตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข โดยต้องกักตัว14 วัน ในทุก ๆ วัน จะมีเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล เข้าตรวจร่างการ วัดอุณหภูมิในร่างกายว่าปกติหรือไม่ และทุกคนจะต้องกินนอนในพื้นที่กักตัวจนครบ เมื่อครบแล้วจึงจะออกจากที่กักตัวได้ และเมื่อออกจากสถานที่กักตัวมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังในแดนหญิงหรือแดนชาย ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยและมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวทุกคน เพื่อให้ทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลในเรือนจำกลางมีความปลอดภัยจากโควิด -19 กันทุกคน"

นายกฤติพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า  สำหรับอาคารสถานที่ภายในเรือนจำกลางขอนแก่น จะมีการล้างทำความสะอาดอยู่บ่อย ๆ รวมถึงยานพาหนะที่จะเข้ามาส่งสิ่งของในเรือนจำกลางขอนแก่น หรือยานพาหนะจากสถานที่อื่นที่จะเขในเรือนจำกลางขอนแก่นนั้น มาได้แค่ด้านหน้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางขอนแก่น จะทำการขับรถเข้าไปภายใน รวมถึงการฉีดล้างยางรถยนต์ให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด- 19 อย่างเข้มงวดด้วย

ขณะที่ นางสุเพ็ญ ทองนาคะ ผู้อำนวยการส่วนสวัสดิการผู้ต้องขัง เรือนจำกลางขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการงดเยี่ยม ตามที่กรมราชทัณฑ์ประกาศงดเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น เรือนจำกลางขอนแก่นก็ถือปฏิบัติเป็นนโยบายสำคัญ โดยเรือนจำกลางขอนแก่นได้มีการประกาศในเพจเฟซบุ๊กของเรือนจำกลางขอนแก่นและกลุ่มไลน์สื่อสารญาติของเรือนจำกลางขอนแก่น ให้ทุกคนได้ทราบ และเพื่อให้ญาติและผู้ต้องขังเข้าใจ เรือนจำกลางขอนแก่น ได้มีการประกาศให้ผู้ต้องขังทั้งแดนชายและแดนหญิง ได้ทราบว่า มีการระบาดของโควิด- 19ทุกคนต้องมีความปลอดภัย

"ในส่วนของกลุ่มไลน์นั้นหากญาติเข้ามาในกลุ่มไลน์ ทุกข้อความที่เคลื่อนไหว ทั้งการเยี่ยมผู้ต้องขัง และการสั่งซื้อสินค้าทางไลน์ รวมถึงการฝากเงิน และการจัดคิวเยี่ยมทางไลน์ ทุก ๆ ความเคลื่อนไหว ผบ.เรือนจำจะเห็นทุกข้อความ ส่วนการฝากเงินนั้น เรือนจำกลางขอนแก่น มีบริการฝากเงินด้วยระบบธนาคารพาณิชย์ ทำการโอนผ่านธนาคาร ซึ่งจะถึงผู้ต้องขังเช่นเดิม รวมถึงการเงินส่งทางธนาณัติก็มีบริการเช่นกัน  แต่หากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่ไม่เชี่ยวชาญหรือเล่นโซเชียลไม่เป็น ก็ขอให้ลูกหลานญาติพี่น้องคอยกำกับดูแล หรือถ้ามีโอกาสมาที่เรือนจำกลางขอนแก่น  จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำการเข้าถึงกลุ่มไลน์ญาติผู้ต้องขัง"

นางสุเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเยี่ยมญาติทางไลน์ เรือนจำกลางก็มีเครื่องมือและจอคอมพิวเตอร์ให้บริการไว้อย่างพร้อมเพรียง แต่ญาติต้องจองคิวในช่วงวันปกติ เพราะการเยี่ยมไม่มีวันหยุด ญาติสามารถพูดคุยกับผู้ต้องขังได้ในครั้’ละ 15  นาที โดยทางเรือนจำกลางขอนแก่น จะมีการจัดกลุ่มมาพูดคุยกับญาติครั้งละ 10 คน จึงยืนยันว่าการงดเยี่ยมคือไม่ได้เห็นตัวเป็นๆของญาติมายืนตรงหน้า แต่ทุกคนยังสามารถเจอกัน คุยกันได้ในไลน์ได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด อย่างไรก็ตามเรือนจำกลางขอนแก่น ได้ปิดประกาศและการปฏิบัติตัวของญาติไว้ที่กระจกหน้าห้องเยี่ยมญาติ ว่าญาติสามารถเยี่ยมผู้ต้องขังได้ผ่านช่องทาง Application Line,ฝากเงินให้ผู้ต้องขังผ่านทางธนาณัติ สั่งจ่าย ปณ.ศรีจันทร์ หรือ ปณ.ขอนแก่น,ฝากเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai Next,ให้ญาติสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Application Line ตามปกติ, ให้ญาติส่งจดหมายผ่านทาง Application Lineและจดหมายปกติ หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลง เรือนจำกลางขอนแก่น จะแจ้งให้ทราบต่อไป

สงขลา - รอง เลขาธิการ ศอ.บต. เผยถึงความคืบหน้าของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ความเหมือนและความต่างจาก “eeC” และ “sec “อย่างไร

นายบดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า เมืองต้นแบบที่ 4 เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต ว่าในแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ คือการสร้างโอกาสในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือเรื่องการสร้างงาน เพื่อให้เยาวชน และคนรุ่นที่จะเรียนจบการศึกษา และผู้ที่จบมาแล้วแต่ยังว่างงาน สามารถมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้คนในท้องถิ่น ไม่ละทิ้งบ้านเกิด และเป็นกำลังหลักในการเป็นเสาหลักของครอบครัว และการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชน

สำหรับโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ที่ อ.จะนะ มีเอกชนให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนเพราะมีการถือครองที่ดินก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกชนก็ยื่นโครงการเข้ามาให้รัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบ แต่ก็ยังต้องมีขั้นตอนมากมาย กว่าที่จะสำเร็จลุล่วง  เช่นการขออนุญาตเรื่องเปลี่ยนผังเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรม   หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการเองไม่ได้ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และรอบด้าน แม้แต่ในเรื่องการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ถึงโครงการดังกล่าว ก็ต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

แต่...อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการ”เมืองต้นแบบ ที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะนะ  เป็นกรอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล และจากเอกชนว่า จะไม่มีอุตสาหกรรมหนัก เช่น  ปิโตรเคมี และ อุตสาหกรรมเหล็ก แต่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ ที่เป็นเมืองแห่งอนาคต เป็นเมืองน่าอยู่ มีความทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา อีเลคโทรนิกส์ที่ทันสมัย ซึ่ง ศอ.บต. ได้มีการ ประสานงานกับ เอกชนผู้มาลงทุน รวมถึงสถาบันการศึกษา ในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับฝีมือ แรงงาน  และ ทักษะ ของคนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับ อุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีการพัฒนาที่ชื่อว่า” eec”ส่วนภาคใต้แบ่งเป็น 2 ส่วน เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “sec”  แต่ “sec” เป็นโครงการของการพัฒนาภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ที่ไม่เกี่ยวกับ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือ “sbec”  ซึ่งในพื้นที่นี้ จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก อ.หนองจิก อ.เบตง และ อ.จะนะ

แนวคิดของ “sbec” นั้น  มีความเหมือนและต่างกับ “eec”  เพราะ “eec” มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่ “ sbec “ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทันสมัย  ที่ต้องมีการสร้างที่ อ.จะนะ เพราะจะต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศ ซึ่งขณะนี้ “พณ”ท่าน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการนี้ ขับเคลื่อนโครงการต่อไป ในกรอบของ กฎหมาย โดย ศอ.บต. จะเป็น ส่วนในการ สนับสนุนทุกภาคส่วนที่เข้ามา ขับเคลื่อน โครงการนี้ ให้สามารถ เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รอง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวท้ายสุด


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

 

ชลบุรี - เปาอุ๋ย แห่งตลาดจีนชากแง้ว แต่งตัวจีนโบราณขายบ๊ะจ่าง นักท่องเที่ยวแห่ซื้อและถ่ายรูปเก็บความประทับใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ เมืองพัทยา ยังมีตลาดโบราณบรรยากาศน่ารัก น่าแวะเที่ยว ชื่อว่า ตลาดจีนโบราณชากแง้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยเสน่ห์ของชุมชนโบราณแห่งนี้ คือได้ชมบ้านเรือนเก่าแก่ ร้านค้าตกแต่งให้กลิ่นอายแบบจีน เรียนรู้วิถีชุมชนและวัฒนธรรมจีนโบราณ แถมมีสินค้าหลากหลายให้ชม ชิม ช้อป ทั้ง อาหารไทย อาหารจีน ของกินพื้นบ้าน ขนมหวาน ของฝากต่าง ๆ ให้เลือกซื้อเลือกหาในราคาไม่แพงอีกด้วย พ่อค้าแม่ค้าเป็นคนในชุมชมที่เปิดบ้านเรือนนำของมาขายนั่นเอง

ซึ่งท่ามบรรดาพ่อค้า แม่ค้า มากมายนั้น ยังมี 1 ร้าน ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างถูกใจร้านนี้มากเป็น ร้านขายบ๊ะจ่าง เสียงคุณพี่เจ้าของร้านเรียกมาแต่ไกล “ อาตี๋ อาหมวย ล้ายเหลี่ยว ล้ายเหลี่ยว ฮ่อเจี๊ยะ ฮ่อเจี๊ยะ แวะชิมบ๊ะจ่างก่อนมั้ยครับ กินแล้วรวย กินแล้วรวย ” แถมเชื้อเชิญให้เข้ามายืนถ่ายภาพพร้อมคิดท่าให้เสร็จสรรพ บรรยากาศสุดเป็นกันเอง

จากการสอบถามพ่อค้าบ๊ะจ่างแต่งตัวจีนโบราณคนนี้คือ " เปาอุ๋ย แห่งตลาดจีนชากแง้ว " หรือ นายภูษิต เกตุมณี อายุ 60 ปี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองเปิดร้านขายสินค้าที่ตลาดจีนแห่งมากว่า 6 ปีแล้ว โดยสินค้ามีหลายอย่าง บ้ะจ่าง หมั่นโถว หมี่กรอบ แต่ที่ขึ้นชื่อและที่นักท่องเที่ยวกลับมาซื้อบ่อยครั้ง คือ บ๊ะจ่าง สูตรโบราณ อร่อยราคาถูก ซึ่งตนเองไม่ได้เน้นขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเน้นการตกแต่งร้านด้วยของเก่าต่าง ๆ มากมาย สไตล์วินเทจโบราณ การแต่งตัวแบบคนจีนโบราณ เพื่อให้ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว ได้ถ่ายรูปเก็บความประทับใจอีกด้วย โดยคำพูดติดปากของตนเองที่ไม่เหมือนใคร คือ " ล้ายเหลี่ยว " แปลว่า " มานี่ " และ "ฮ่อเจี๊ยะ " แปลว่า " อร่อย " ซึ่งลูกค้าที่ได้ยินคำนี้จะรู้ได้ทันทีว่าเป็น " เปาอุ๋ย "

โดยในวันนี้ ได้มีการเชิญชวนลูกค้าที่ผ่านไปมาแข่งขันกินบ๊ะจ่าง ซึ่งผู้สื่อข่าวได้เก็บบรรยากาศการกินอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ตลาดจีนบ้านชากแง้ว แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันเสาร์วันเดียวเท่านั้น


ภาพ/ข่าว อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี)

กระบี่ - "มนัญญา" รมช. เกษตรและสหกรณ์ ลงมือปลูกกัญชา แห่งแรกของ จ. กระบี่ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

เวลา  9:30 น วันที่ 5 เมษายน 2564 ที่โรงเรือนวิสาหกิจชุมชนคนกระบี่เพื่อปลูกสมุนไพร  เขตเทศบาลเมืองกระบี่ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาเป็นประธานในการปลูกกัญชาแห่งแรกของจังหวัดกระบี่ที่ได้รับอนุญาตปลูก จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพื้นที่ปลูก 48 ตารางเมตร มีเป้าหมายปลูก 2 รอบ ๆ ละ 50 ต้นภายในโรงเรือนปิด มีรั้วล้อมรอบ พร้อมมีระบบการดูแลความปลอดภัยที่จะทำให้มั่นใจว่ากัญชาที่ปลูกขึ้นได้รับการตรวจสอบ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการสูญหาย

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางผึ้งร่วมกับวิสาหกิจชุมชนคนกระบี่ เพื่อปลูกสมุนไพร ร่วมปลูกต้นกล้ากัญชาอายุ 1 เดือนเศษจำนวน 50 ต้นในโรงเรือน มีเป้าหมายเพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชาส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการนำไปผลิตยาที่มีส่วนผสมของกัญชาแจกจ่ายให้สถานบริการภาครัฐ

นางมนัญญา ฯ  กล่าวว่าการขับเคลื่อนเรื่องกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดแต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยกระดับให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะผลักดันการวิจัยพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถนำต่อยอดในการให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา

ขณะที่เกษตรกรชาวจังหวัดกระบี่ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก มี 30 แห่งที่จะแจ้งจดทะเบียนเพิ่มเติมการปลูกกัญชาต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการ


ภาพ/ข่าว  มโนธรรม ใจหาญ (จ.กระบี่ รายงาน)  

แม่ฮ่องสอน - ล็อตแรกเรือ 6 ลำ ส่งช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยความไม่สงบฝั่งสหภาพเมียนมา เจ้าหน้าที่บูรณาการอำนวยความสะดวกตามหลักมนุษยธรรม

ณ ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังจากที่ทางหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 ได้รับการประสานจากหน่วยงานเอกชนที่ได้ทำการรวบรวมสิ่งของเพื่อขอส่งมอบของบริจาคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบในฝั่งสหภาพเมียนมา  พันเอก สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 จึงได้สั่งการให้กองร้อยทหารพรานที่3606 เข้าทำการตรวจสอบและอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง

ไวรัสโควิด-19 โดยเคร่งครัด  โดยทาง พันตรี ธเนศ กันทา ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่3606 ได้จัดกำลังพลจาก ฐานปฏิบัติการแม่สามแลบ จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอสบเมย อำนวยความสะดวกและคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งร่วมตรวจสอบสิ่งของที่รับบริจาคจากประชาชนและองค์กรเอกชนต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยจะทำการขนส่งจากท่าเรือแม่สามแลบ ไปยังพื้นที่พักพิงอีทูโกรและอูเวโกร ฝั่งสหภาพเมียนมา โดยเรือยนต์ขนาดกลาง จำนวน 6 ลำ

สำหรับการช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามหลักการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม แต่ต้องอยู่ในความดูแลของหน่วยงานความมั่นคง เนื่องด้วยสถานการณ์ตามแนวชายแดนยังไม่ปลอดภัย และเพื่อทำการคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมทั้งตรวจสอบสิ่งของเพื่อป้องกันการลักลอบนำสิ่งของต้องห้าม หรือของผิดกฎหมายแอบแฝงไปด้วย


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน)

เพชรบุรี – เกษตรกรขอจังหวัดผ่อนปรน ให้มีงานประกวดวัวลาน ไก่ชน ในพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังถูกสั่งระงับเพราะพิษโควิด-19 มานานกว่า 4 เดือน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 เมษายน นายธรรมนูญ บุญส่ง กำนันตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี นายสาธิต บัวมณี กำนันตำบลหนองโสน อ.เมืองเพชรบุรี และนายปรัชญา สุขารมย์ กำนันตำบลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม พร้อมชาวบ้านผู้เลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และไก่ชน กว่า 20 คน เดินทางมาที่ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี (หลังเก่า) ยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของชาวบ้าน ถึงนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายธนภัทร ณ ระนอง นายอำเภอเมืองเพชรบุรีเป็นผู้รับหนังสือ

นายธรรมนูญ เปิดเผยว่า วัวลาน วัวเทียมเกวียนวัว ประกวดไก่ชน เป็นประเพณีพื้นบ้านเก่าแก่ของคนจังหวัดเพชรบุรีที่สืบทอดสืบสานกันมายาวนานเป็นสนามแสดง และตลาดการซื้อขายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกษตรกรทำให้ซาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัวและชำระหนี้สินที่ผ่านมาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอก 2จังหวัดเพชรบุรี ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโดยมีคำสั่งให้ งดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ซ้อมวัวลาน ไก่ชน และยังห้ามมิให้ทำกิจกรรมอื่นอีกหลายอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเลี้ยงไก่ชนได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องมาโดยตลอด ตนและผู้นำชุมชนหลายพื้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ว่าขณะนี้ชาวบ้านที่ เลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และไก่ชน ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งห้ามมิให้จัดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านซ้อมวัวลานไก่ชนเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด19เป็นเวลานานกว่า4เดือนทำให้ไม่มีพื้นที่แสดงวัวและไก่จึงทำการค้าขายวัวและไก่ยากมาก

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีช่วยดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรคนเลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านและไก่ชนโดยการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโดย อนุญาตให้เกษตรกรได้ซ้อมวัวลาน ไก่ชน ภายในตำบลหมู่บ้านและผ่อนปรนให้เกษตรกรได้จัดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ภายในตำบลหมู่บ้าน เพื่อเปิดโอกาสในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการซื้อขายของกลุ่มผู้เลี้ยงวัวลานวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านและไก่ชนทั้งนี้ชาวบ้านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขป้องกันควบคุมโรคในสถานการณ์โควิด -19 ในทุกขั้นตอน

เบื้องต้นนายธนภัทรได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไว้ และรับจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอเพื่อพิจารณาในการจัดกิจกรรมการประกวดวัวสวยงาม และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอเรื่องการจัดวัวลานและไก่ชน ไปยังส่วนกลางเพื่อพิจารณาต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top