Wednesday, 2 July 2025
LITE TEAM

13 กันยายน พ.ศ. 2425 วันประสูติ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ ผู้ปรีชาสามารถด้านดนตรี นิพนธ์เพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 142 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ 

ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น ‘กรมช่างไหม’ โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก นับว่ามีพระกรณียกิจในการวางรากฐานเรื่องไหมไทย โดยตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า ‘โรงเรียนกรมช่างไหม’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า ‘วงพระองค์เพ็ญ’ พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2446 ทรงชอบพอกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธวงศ์นครเชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (หรือลาวดวงเดือน) ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึง เจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้มาตลอดพระชนมชีพ

วังที่ประทับของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฎ มีชื่อเรียกว่าวังท่าเตียน (เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัง เช่นเดียวกับวังท่าเตียนหรือวังจักรพงษ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) มีโรงละครอยู่โรงหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ปรินส์เทียเตอร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงศักดินา 15000

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้เป็นต้นราชนิกุล ‘เพ็ญพัฒน์’ มีพระพลามัยไม่สมบูรณ์นัก อาจจะเป็นเพราะพระทัยที่เศร้าสร้อยจากความผิดหวังเรื่องความรัก จึงมีพระชนมายุสั้นเพียง 28 พรรษา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

และบังเอิญเสียเหลือเกิน ในปี 2453 เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพิตักษัยในวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น

8 กันยายน พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 พระชนมพรรษา 96 ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา 18 นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ตรัสว่า…

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ 8 กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ 8 กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is ‘confortable’. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการณ์ที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์

อย่างไรก็ดีก็มีความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนโดยประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับรายงานของสำนักพระราชวังในเรื่องที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การรักษา

ในที่สุดในตอนเย็นเวลาหนึ่งทุ่มบีบีซี ก็มีประกาศข่าวสวรรคตอย่างสงบของพระองค์ เป็นการสิ้นสุดการครองราชสมบัติที่ยาวนานเป็นเวลา 70 ปีของพระองค์

ตลอดเวลาที่ทรงเป็นองค์ประมุข ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 15 คน เริ่มจากเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และคนสุดท้าย คือ เอลิซาเบธ ทรัสส์ ซึ่งเพิ่งจะเข้าเฝ้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาหลังชนะการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคทอรี่คนใหม่และเป็นนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเข้าเฝ้าถวายรายงานเกี่ยวกับราชการแผ่นดินกับพระองค์ทุกสัปดาห์)

สำหรับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งนี้เป็นการสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชสมบัตินานที่สุดอีกพระองค์หนึ่งของโลก

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ไทย’ ออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ประเทศไทย’ ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ผู้มีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน

วันนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เป็นวันพระราชสมภพของ ‘สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

3 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกระฟ้า’ รำลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ บิดาแห่งตึกระฟ้า สถาปนิกชาวอเมริกันผู้วางรากฐานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

วันที่ 3 กันยายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกสูงระฟ้า’ หรือ Skyscraper Day เพื่อเป็นการระลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 1856 โดยหลุยส์ ซัลลิแวน เป็นนักทฤษฎี นักคิด และเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงของสัญชาติอเมริกัน

ทั้งนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นหุ้นส่วนกับ ดังก์มาร์ แอดเลอร์ (Dankmar Adler) วิศวกรชื่อดังแห่งยุค คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดย หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นคนวางรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน จนทำให้ หลุยส์ ซัลลิแวน ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งตึกระฟ้า หรือ บิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (โมเดอร์นิสม์)

นอกจากนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน ยังเป็นศาสตราจารย์ผู้มีอิทธิพล และเขายังสอน แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) ปรมาจารย์สถาปนิก ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ปัจจุบันแม้ หลุยส์ ซัลลิแวน จะจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1924 แต่เวลาในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2021 นวัตกรรมต่าง ๆ ก็เจริญรุดหน้าไปมาก ความสร้างสรรค์ความครีเอตของสถาปนิกก้าวไปไกลมาก จนกระทั่งวันนี้โลกเรามีตึกที่สูงจากพื้นดินเกิน 800 เมตรไปแล้ว

2 กันยายน พ.ศ. 2385 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' เสด็จวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้าง ‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’

‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี 

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย 

นอกจากนี้ พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่ตั้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท

1 กันยายน ของทุกปี รำลึกถึง ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้เสียสละเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า ‘ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น’

หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันครบรอบ 34 ปี ที่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้จากโลกนี้ไป

สำหรับประวัติของ สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า ‘สืบยศ’ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีทายาท 1 คน คือ น.ส.ชินรัตน์ นาคะเสถียร

ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อเรียนจบสืบสามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ.  2524

31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ‘เจ้าหญิงไดอานา’ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์ ในวัย 36 ปี สร้างความเศร้าโศกแก่ประชาชนชาวอังกฤษ และชาวโลกต่อเหตุการณ์นี้

‘เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ มีพระนามเดิมว่า ‘ไดอานา ฟรานเซส’ สกุลเดิม ‘สเปนเซอร์’ เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์

โดย ไดอานา ถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษในสมัยกลางและทรงเป็นญาติห่าง ๆ กับ แอนน์ บุลิน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระชนกจอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ และพระชนนีฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนการเรือน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์ ‘เลดี’ เมื่อบิดาสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเป็นเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน พ.ศ. 2524

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างไดอานา สเปนเซอร์ และเจ้าชายแห่งเวลส์ จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีและมีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่นานก็มีพระประสูติการเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์แรก และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างที่ทรงดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพ คือ การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการและมูลนิธิอื่น ๆ มากกว่าหลายร้อยแห่งจนถึง พ.ศ. 2539 

ตลอดพระชนม์ชีพของไดอานา ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเกาะติดชีวิตของไดอานาและนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา และพระองค์ทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 

จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ภายหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในอุโมงค์ทางลอดสะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิท และอ็องรี ปอล คนขับรถ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ เทรเวอร์ รีส์-โจนส์ ผู้ทำหน้าที่องครักษ์ 

ขบวนช่างภาพปาปารัสซีที่ติดตามไดอานาตกเป็นจำเลยสังคมทันที เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวว่าช่างภาพปาปารัสซีเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ แต่การสืบสวนของหน่วยงานยุติธรรมของฝรั่งเศสซึ่งใช้เวลานานกว่า 18 เดือน สรุปผลว่า นายอ็องรี ปอล อยู่ในอาการมึนเมาขณะขับรถยนต์และไม่สามารถควบคุมรถซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในคืนนั้น อ็องรี ปอล นั้นเป็นรองหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยโรงแรมริตซ์ และก่อนเกิดอุบัติเหตุเขาได้ท้าทายกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่คอยอยู่หน้าโรงแรม เจ้าหน้าที่นิติเวชยังตรวจพบยาต้านอาการทางจิต และยาต้านโรคซึมเศร้าในตัวอย่างเลือดของอ็องรี ปอล และอีกหนึ่งข้อสรุปก็คือ กลุ่มช่างภาพปาปารัสซีไม่ได้อยู่ใกล้รถเบนซ์ในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โมฮัมเหม็ด ฟาเยด บิดาของโดดี และเจ้าของโรงแรมริทซ์ กล่าวอ้างว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคืนนั้นเป็นแผนลอบสังหาร ซึ่งปฏิบัติการโดยหน่วยสืบราชการลับ MI6 ตามคำพระบัญชาของพระราชวงศ์ แต่คำกล่าวอ้างของโมฮัมเหม็ดขัดแย้งกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส และปฏิบัติการแพเจต ของตำรวจนครบาลอังกฤษ พ.ศ. 2549

2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีการเบิกความคดีการสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่งโดยผู้พิพากษา สกอต เบเกอร์ ณ ศาลอุทธรณ์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่องมาจากครั้งแรกใน พ.ศ. 2547

7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนแถลงคำตัดสินปิดคดีว่า การสิ้นพระชนม์ของไดอานาและการเสียชีวิตของโดดีเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของอ็องรี ปอล และความประมาทอย่างร้ายแรงกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่ไล่ติดตาม นอกจากนี้คณะลูกขุนยังระบุถึงปัจจัยอื่นเพิ่มเติมที่มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ 1) คนขับรถบกพร่องในการตัดสินใจเนื่องจากตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์แอลกอฮอล์ 2) ข้อเท็จจริงที่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจเป็นเหตุหรือมีส่วนทำให้ถึงแก่ความตาย 3) ข้อเท็จจริงที่รถเบนซ์พุ่งชนตอม่อภายในถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา และไม่ได้พุ่งชนวัตถุหรือสิ่งอื่นใด

29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ‘ตึกมหานคร’ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ อดีตแชมป์ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศไทย

รู้หรือไม่? วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ตึกที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศ (ระหว่างปีพ.ศ. 2559-2561) หรือ ‘ตึกมหาคร’ ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันแรก และในเวลาต่อมาถูกทำลายสถิติในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยอาคารแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสสิเดนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการไอคอนสยาม ด้วยความสูง 317.95 เมตร

จึงทำให้ปัจจุบันตึกมหาครแห่งนี้ เป็นตึกที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูง 314.2 เมตร

สำหรับตึกมหานคร หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘คิง เพาเวอร์ มหานคร’ เป็นตึกที่ประกอบไปด้วยส่วนโรงแรม ร้านค้า และส่วนห้องชุดสำหรับพักอาศัย ในส่วนของชั้นตั้งแต่ 74-78 ขึ้นไปเป็นที่ตั้งของภัตตาคาร มหานครแบงค็อกสกายบาร์ และมหานครสกายวอล์ก จุดชมทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกโค่นอันดับอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว แต่ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะแหว่งเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติ หรือพิกเซล ก็ทำให้ตึกมหานคร กลายเป็นภาพจดจำอย่างหนึ่งของคนกรุงเทพฯ เช่นกัน

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ‘ในหลวง ร.7’ ทรงอภิเษกสมรส กับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ พร้อมมีการ 'จดทะเบียนสมรส-แจกของชำร่วย’ เป็นครั้งแรกในสยาม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top