Thursday, 9 May 2024
อดุลย์ โชตินิสากรณ์

ผลไม้ไทยธรรมดากับการส่งออกแบบราชา จนกลายเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดีย 

ถ้าใครไม่เคยเดินทางไปอินเดียจะนึกไม่ออกเลยว่าผลไม้พื้น ๆ ราคาธรรมดา ๆ ในประเทศไทยจะกลายเป็นผลไม้ราคาแพงลิบลิ่วสำหรับเศรษฐีอินเดียไปได้ยังไง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลไม้ทุกชนิดของไทยจะได้รับความนิยมในอินเดียนะครับ หลัก ๆ ก็จะมีลำไย เงาะ มังคุด ฝรั่ง มะพร้าวอ่อน ลิ้นจี่ แก้วมังกร และช่วงหลัง ๆ ทุเรียนก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าพูดถึงผลไม้ไทยยอดนิยมที่สุดในอินเดียก็ต้องยกให้ลำไยเพราะเป็นผลไม้ที่ถูกโฉลกกับคนอินเดียมาก เนื่องจากคนอินเดียชอบรับประทานรสหวาน ลำไยไทยก็เลยตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมไปประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบใหม่ ๆ พอเห็นราคาผลไม้ไทยที่สูงลิบลิ่วก็ตื่นเต้นดีใจมาก แต่พอพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็พบว่าราคาผลไม้ของไทยที่สูงลิบลิ่วนั้น จริง ๆ แล้วพี่น้องเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยเราก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากราคาขายปลีกที่สูงมากในอินเดียเลย พูดง่าย ๆ ก็คือ เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ขายได้ในราคาปกติ แถมราคาที่สูงลิ่วนั้น ก็ทำให้เป็นการจำกัดเฉพาะลูกค้าระดับเศรษฐีเท่านั้นที่จะสามารถซื้อได้ ก็เลยทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวยาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาผลไม้ไทยที่อินเดียพุ่งขึ้นไปสูงมากขนาดนั้น ก็เพราะต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากเนื่องจากผู้นำเข้าอินเดียมักจะนำเข้าแต่ละครั้งในปริมาณไม่มาก ประกอบกับระบบห้องเย็นของอินเดียยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอและมีอยู่จำกัด จึงต้องนำเข้าผลไม้ไทยไปทางอากาศเพื่อเป็นการรักษาความสดของผลไม้ และช่วยยืดอายุผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่ายให้มีอายุในการจำหน่ายยาวขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ไทยมีราคาพุ่งสูงไปอีกก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการตั้งราคาที่ร้านค้าปลีกจะต้องตั้งราคาไว้สูงมากเผื่อการเน่าเสียของผลไม้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดามากในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่เราจะพบว่าราคาลำไยจากประเทศไทยที่ขายปลีกอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในอินเดียจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 รูปีขึ้นไปหรือ 300 บาทเลยทีเดียว (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 รูปี = 0.50 บาท) แต่ภายหลังได้มีความพยายามของผู้นำเข้าอินเดียที่จะเปลี่ยนจากการขนส่งทางอากาศมาเป็นการขนส่งทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์เย็นซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญในการนำเข้าลำไยครั้งละมาก ๆ ได้ เลยส่งผลทำให้ราคาลำไยไทยในอินเดียในช่วงหลังมีราคาถูกลง จนล่าสุดจากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย พบว่าราคาลำไยไทยลดลงเหลือกิโลกรัมละ 199-249 รูปี หรือ 85-107 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี = 0.43 บาท) ซึ่งการที่สามารถทำราคาได้ต่ำลง ก็จะทำให้ลำไยไทยสามารถขยายไปยังตลาดส่วนอื่นได้เพิ่มขึ้นอีกมากนอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเศรษฐีของอินเดีย เพราะฉะนั้นตอนนี้ลำไยไทยก็อาจจะไม่ใช่ “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ไทยยอดนิยมอื่น ๆ ก็ยังคงมีราคาสูงมากหรือหนักกว่าเดิม และยังคงความเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอยู่เหมือนเดิม อย่างฝรั่งกิมจูจากประเทศไทยปัจจุบันวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อินเดียกิโลกรัมละ 499-600 รูปีหรือ 215-258 บาท ลิ้นจี่สด ราคา 625 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 2,500 รูปีหรือ 1,075 บาท มังคุด ราคากิโลกรัมละ 750 รูปี หรือประมาณ 320 บาท เสาวรสสด ราคา 300 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 1,200 รูปีหรือ 516 บาท มะพร้าวอ่อน ราคาลูกละ 550 รูปีหรือ 236 บาท (มะพร้าวอ่อนอินเดีย ราคาลูกละ 29-32 รูปีหรือประมาณ 12-14 บาท) เงาะ ราคากิโลกรัมละ 900 รูปี หรือ 387 บาท แก้วมังกร ราคา 100 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 400 รูปีหรือ 172 บาท และมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ของไทยนั่นเอง วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตราคากิโลกรัมละ 1,500 รูปีหรือ 645 บาท

สำหรับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่คนอินเดียไม่รู้จักคุ้นเคยสักเท่าไหร่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วแทบจะไม่เห็นมีวางขายในอินเดียเลย จะพบก็แต่ในอินเดียทางตอนใต้โดยเฉพาะที่รัฐเกรละ ที่มีทุเรียนวางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว สืบสาวราวเรื่องก็ได้ทราบว่าคนอินเดียจากรัฐเกรละไปทำงานอยู่ต่างประเทศมากที่สุด โดยบางส่วนก็จะทำงานอยู่ในตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะฉะนั้นคนอินเดียในรัฐนี้ก็จะรู้จักและรับประทานทุเรียนเป็น แต่ในปัจจุบันพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองมุมไบมีการนำทุเรียนไปขายแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าส่งเสริมให้คนอินเดียรับประทานทุเรียนให้มากขึ้น สาเหตุสำคัญที่คนอินเดียรับประทานทุเรียนเป็น นอกเหนือจากการที่เคยไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะที่สิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่คนอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกันมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็พบว่ามีคนอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 1.98 ล้านคนเลยทีเดียว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปี 

จริง ๆ แล้ว อินเดียเป็นประเทศที่สามารถผลิตผักและผลไม้ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสามารถผลิตผลไม้ได้ประมาณปีละ 80 ล้านตัน อาทิ กล้วย มะม่วง องุ่น ส้ม ทับทิม ฝรั่ง มะละกอ แตงโม และ สับปะรด โดยรัฐที่มีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มาก (มีสัดส่วนรวมกัน 60% ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งหมด) ได้แก่ อานธรประเทศ มหาราษฏระ คุชราต ทมิฬนาฑู กรณาฏกะ มัธยประเทศ และ เกรละ ตามลำดับ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันให้มีการส่งออกด้วย โดยเฉพาะองุ่นและมะม่วง โดยตลาดส่งออกสำคัญของอินเดีย ได้แก่ UAE อิหร่าน โอมาน ซาอุดิอารเบีย การ์ต้า คูเวต และ อิรัก รวมถึงอีกหลายประเทศในยุโรป

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Food and Agribusiness Strategic Advisory & Research และธนาคาร YES BANK ของอินเดียพบว่าผลไม้หลายชนิดประสบภาวะขาดตลาดซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังพยายามเชื่อมโยงการค้าระหว่างรัฐที่มีสินค้าขาดและเกินเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตซึ่งกันและกัน อาทิ รัฐคุชราตมีมะละกอ กล้วยและส้ม แต่ยังขาดแคลนฝรั่ง รัฐมหาราชฏระมีองุ่น ทับทิม มะม่วงและส้ม แต่ยังขาดสับปะรด ในขณะที่ รัฐกัวขาดแคลนส้ม รัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละขาดแคลนองุ่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการจัดเก็บสินค้าเน่าเสียง่าย และการขนส่งทางรางเพื่อสินค้าเกษตร (Kisan Rail) ที่ได้เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เพื่อลดความสูญเสียและรักษาความสดของสินค้าในราคาที่ SMEs สามารถใช้บริการได้ โดยจะไม่จำกัดปริมาณขั้นต่ำในการจัดส่งและหากมีการเน่าเสียก็มีการจ่ายชดเชยให้ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำผลไม้ที่ผลิตได้มหาศาลนี้ไปแปรรูปด้วย ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บและแปรรูปผลไม้ในอินเดียยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากซึ่งถือว่าเป็นโอกาสหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน โดยเฉพาะการสูญเสียของผักและผลไม้ที่มีสูงสุดถึง 18% ของผลผลิตและมีสัดส่วนในการนำไปแปรรูปเพียง 2% เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน อินเดียก็กำลังส่งเสริมให้มีการผลิตผลไม้ทดแทนการนำเข้าเพื่อลดราคาในตลาดและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยในขณะนี้ได้มีการทดลองปลูกแล้วในรัฐเกรละ (Kerala) โดยเฉพาะในเขตอำเภอ Wayanad และ Idukki ได้แก่ ผลไม้ประเภทเงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ขนุน อโวคาโด และ โกโก้ รวมถึงสตรอเบอรรี่ โดยรัฐบาลมีงบประมาณมาอุดหนุนให้ประมาณ 1,800 บาทต่อไร่ และในปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 4,375 ไร่ ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาต้นพันธุ์และวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรด้วย นอกจากรัฐเกรละแล้ว รัฐบาลจะส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้เหล่านี้ในรัฐกรณาฏกะ มหาราชฎระ และทมิฬนาฑู ทั้งนี้ มีบางพื้นที่ที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยเฉพาะเงาะ ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 65 บาท/กก. โดยเป็นเงาะสายพันธุ์จากมาเลเซีย (ปูลาซัน) ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าเงาะสายพันธุ์อื่น

แต่อินเดียยังคงมีความต้องการนำเข้าผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่ (Exotic Fruits) โดยในปัจจุบันมีแอปเปิ้ลและสตรอเบอรี่เป็นผลไม้นำเข้าหลักในสัดส่วนประมาณ 60% นอกจากนี้จะเป็นผลไม้ประเภทลูกแพร์ บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ แบล็คเบอรี่ เชอรี่ กีวี อโวคาโด และผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ โดยแหล่งนำเข้าหลักได้แก่ อิหร่าน ชิลี นิวซีแลนด์ เวียดนาม ไทย UAE บังกลาเทศ กรีซ อิตาลี และ เนเธอร์แลนด์

สำหรับการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 98.29 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 26.61% เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผลไม้ไทยที่อินเดียนำเข้า โดยเฉพาะเงาะ มีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าแม้จะประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ตาม เช่นเดียวกับทับทิมและมะขาม อย่างไรก็ตามการส่งออกลำไย ทุเรียน ส้ม มังคุด และ มะม่วง ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันอินเดียเริ่มนำเข้าผลไม้จากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีได้ โดยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) มีผลไม้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจำนวน 8 ชนิด คือ มังคุด มะม่วง องุ่น แอปเปิ้ล ทุเรียน เงาะ ลำไย และทับทิม และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ที่มีผลไม้ได้รับการยกเว้นภาษีมากกว่า 20 ชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ มะนาว เชอร์รี่ อินทผลัม ลูกพีช ลูกแพร และน้อยหน่า

มาถึงจุดนี้ก็คงจะพอเห็นภาพนะครับว่าอินเดียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้สด แต่ที่ยังคงมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคอินเดียระดับเศรษฐีที่ต้องการบริโภคผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่หรือ Exotic Fruits แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศหลายเท่าตัวก็ตาม ซึ่งการที่ผลไม้ไทยถูกนำเข้าไปและขายในราคาที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะดีอกดีใจ เพราะราคาขายปลีกที่สูงขนาดนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพของอินเดีย ในขณะที่เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ยังคงส่งออกผลไม้ไทยไปอินเดียในราคาปกติโดยไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากราคาขายปลีกที่สูงเกินไปขนาดนั้น แถมยังทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มเศรษฐีอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นในอินเดียได้ ก็น่าจะทำให้ผลไม้ไทยค่อย ๆ ปลดตัวเองจากตำแหน่ง “ผลไม้เศรษฐี” มาเป็นผลไม้สำหรับทุกคนในอินเดียได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้ตลาดผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เมื่อ “ร้านโชห่วย” ออกมาช่วยในยามวิกฤติ

อินเดียตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติและน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รายวันทำสถิติสูงที่สุดในโลกโดยในวันพุธที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อสูงถึงเกือบ 3 แสนรายหรือจำนวน 294,290 รายภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,609,004 รายมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และมีจำนวนผู้เสียชีวิตภายใน 1 วันในวันดังกล่าวสูงถึง 2,020 คนซึ่งสูงที่สุดในโลก ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 182,570 ราย โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่าสาเหตุที่ COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งก็เนื่องมาจากการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ทำให้ประชาชนการ์ดตก และล่าสุดที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ก็คือ การจัดพิธีศักดิ์สิทธิ์ในเทศกาลกุมภเมลา ที่มีผู้แสวงบุญที่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนแห่ร่วมพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำคงคาตามความเชื่อและความศรัทธาโดยไม่สนใจเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 เลย

ผลจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในระลอกใหม่นี้ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโดยให้แต่ละรัฐบริหารจัดการกันเอง เริ่มจากรัฐมหาราษฏระซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองหลวง ได้กำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวไว้ระหว่างเวลา 21.00 น. จนถึง 5.00 น. ของอีกวันหนึ่ง และอนุญาตให้ร้านโชห่วยที่ขายสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีวิตเปิดได้แค่วันละ 4 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 7.00-11.00 น. เท่านั้น แต่บริการจัดส่งสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ สามารถทำได้ระหว่างเวลา 7.00-20.00 น. เท่านั้น จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากนั้น กรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดียก็ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์เช่นกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงวันที่ 19-26 เมษายน 2564 ซี่งมาตรการล็อกดาวน์ของกรุงนิวเดลีมีการบังคับให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนต้องปิดบริการทั้งหมด โดยในช่วงเคอร์ฟิว แพลตฟอร์ม eCommerce จะได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าได้เฉพาะสินค้าจำเป็นเช่น อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น จนถึงขณะนี้ รัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียก็ทะยอยประกาศล็อกดาวน์ตามรัฐมหาราษฎระกันแล้ว

การประกาศล็อกดาวน์ของรัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียจริง ๆ แล้วน่าจะส่งผลดีต่อบริษัท eCommerce ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Online Grocery Supermarket ที่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดเพราะผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวก แต่ปรากฏว่าหลังจากมีการประกาศล็อกดาวน์ บริษัทออนไลน์เหล่านี้กลับประสบปัญหาเป็นอย่างมากในเรื่องของการจัดส่งสินค้า เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะมีความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แต่บริษัทกลับมีปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคเนื่องจากไม่มีกำลังคนและยานพาหนะเพียงพอในการจัดส่งและยังประสบกับปัญหาเรื่องช่วงเวลาในการจัดส่งด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้แม้แต่ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดังอย่าง Amazon Fresh ซึ่งเป็น Online Grocery Supermarket ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ตามปกติ ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าไปหลายวัน ซึ่งสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นแล้ว ผู้บริโภคไม่สามารถรอคอยได้นานหลายวันขนาดนั้น เลยทำให้หน้าเพจสั่งซื้อสินค้าของ Amazon Fresh ต้องถึงกับมีข้อความขึ้นแจ้งลูกค้าไว้เลย เช่น “ตารางเวลาจัดส่งของเราเต็มแล้ว” หรือ “เรากำลังเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งให้ดีขึ้น” หรือ “กรุณากลับมาตรวจสอบอีกครั้ง” เป็นต้น หรืออย่างบริษัท BigBasket ซึ่งเป็นบริษัท Online Grocery Supermarket ชื่อดังอีกบริษัทหนึ่งก็มีข้อความแจ้งถึงลูกค้าบนหน้า Home Page ของบริษัทฯ เช่นกันว่า “การจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าอาจจะล่าช้าเนื่องจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่”

เมื่อสถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ ก็เลยทำให้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของอินเดียตอนนี้หันมาให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าหรือสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยหรือ Kirana มากกว่าที่จะไปเพิ่มไว้กับบริษัท eCommerce ซึ่งปรากฏว่าในช่วงหลังที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 หนักหนาสาหัสขึ้นในประเทศอินเดียทำให้บริษัทที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์หรือบริษัท eCommerce ต่าง ๆ ประสบปัญหากับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่มีการซื้อผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของอินเดียต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าตอนนี้ผู้บริโภคชาวอินเดียได้หันมาซื้อสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยมากยิ่งขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ต้องกลับลำหันมาให้ความสำคัญกับร้านโชห่วยมากขึ้นด้วยการเติมสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยก่อนร้านค้าปลีกประเภทอื่นโดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกออนไลน์ 

ตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ต้องหันมาพึ่ง “ร้านโชห่วย” เป็นหลัก ด้วยการจัดส่งสินค้าไปเพิ่มไว้ในสต๊อคของร้านโชห่วยแทบจะตลอดเวลา โดยทุกบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรอบเวลาในการจัดส่งสินค้าให้ร้านโชห่วยมากที่สุดด้วยการจัดส่งสินค้าด้วยจำนวนรอบที่ถี่มากขึ้นเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาดในช่วงเคอร์ฟิว ทั้งนี้ สินค้าที่เป็นที่ต้องการมากจะเป็นสินค้าจำเป็นประเภทอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ (Packaged Food) และสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัย (Hygiene Products) ซึ่งบริษัทต่างๆจะไม่ยอมให้ขาดตลาดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ก็ออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคว่าไม่ต้องวิตกกังวลว่าสินค้าจะขาดตลาดและไม่จำเป็นต้องมีการกักตุนสินค้าแต่ประการใด เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ตอนนี้ให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าให้กับร้านโชห่วยใกล้บ้านของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว 

น่าสนใจว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียถึงหันมาสนใจ “ร้านโชห่วย” หรือ “Kirana” ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ คำตอบก็คือ ในปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียจะมีร้านโชห่วยที่เรียกกันว่า Kirana มากถึง 12 ล้านร้านกระจายอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนนในประเทศอินเดียและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนอินเดียไปแล้ว โดยคนอินเดียหรือคนที่อยู่อาศัยในประเทศอินเดียจะต้องพึ่งพาซื้อหาสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยเหล่านี้กันเป็นกิจวัตรประจำวันเพราะเป็นร้านใกล้บ้าน มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นทุกอย่างทั้งอาหารและของใช้ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคก็มักจะเป็นลูกค้าขาประจำของแต่ละร้านอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้นการที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่เลือกที่จะหันกลับมาใช้ช่องทางของร้านโชห่วยในการกระจายหรือจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคในช่วงวิกฤติ COVID-19 จึงถือว่าเป็นแนวทางที่ชาญฉลาดมากด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ เครือข่ายของร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย 

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ยอดขายรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกอินเดียในปี 2019 สูงกว่า 790,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศไทยในปี 2020 ที่มีมูลค่าประมาณ 527,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2024 ยอดขายของอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียพยายามปกป้องอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นอย่างมากเนื่องจากในอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะประกอบไปด้วยผู้ค้าปลีกรายย่อยที่เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailers หรือ Unorganized Retailers) จำนวนมหาศาลซึ่งก็คือ ร้านโชห่วยหรือ Kirana นั่นเอง ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกกฏระเบียบต่างๆเพื่อกีดกันบริษัทค้าปลีกต่างชาติไม่ให้เข้าไปเปิดหรือขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียมาโดยตลอด ด้วยเกรงว่าจะไปกระทบกับร้านโชห่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศอินเดียนั่นเอง

และด้วยมาตรการกีดกันธุรกิจค้าปลีกต่างชาตินี่เองที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade หรือ Organized Retailers) ในประเทศอินเดียมีสัดส่วนน้อยมาก อย่างในปี 2011 ที่รัฐบาลอินเดียเริ่มเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียขณะนั้นมีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เป็นร้านโชห่วยมีสัดส่วนสูงถึง 95% แต่หลังจากมีการเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมในปี 2011 แล้ว ปรากฏว่าจนถึงปี 2015 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 8% และธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมลดลงไปเล็กน้อยเหลืออยู่ 92% แต่ก็ยังคงมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ และในปี 2019 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนลดลงไปเหลือ 88% แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ (Organized Online Retailers) ที่เข้ามามีสัดส่วน 3% ทำให้โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รวมกันมีสัดส่วนเป็น 12% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 88% และล่าสุดได้มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2024 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25% ประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบมีสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า 18% กับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ 7% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะมีสัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 75% 

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยในอินเดียมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมาแรงมาก แถมยังมีบทบาทอย่างสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงวันนี้ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ก็ไปไม่รอดเหมือนกันเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ด้วยการกำหนดเคอร์ฟิวและจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์เพราะไม่สามารถจัดการส่งสินค้าได้ตามปกติ และในที่สุดบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ต้องหันกลับมาใช้บริการ “ร้านโชห่วย” อยู่ดี ก็ถือว่าอินเดียยังโชคดีที่มีเครือข่ายร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคอยู่ทั่วประเทศ วิกฤติการณ์ครั้งนี้ “ร้านโชห่วย”ก็เลยกลายเป็น “พระเอก” ขี่ม้าขาวมาช่วยได้ในที่สุดแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาวิกฤติก็ตาม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

คิดถึง “Dilwara” วัดเชนที่งดงามและทรงคุณค่าที่สุดในปฐพี

เพราะเจ้าโควิดนี่เองที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศกันได้เกินกว่า 1 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการว่า หลังเกษียณจะทำสามสิ่งคือ “นอนตื่นสาย บ่ายเดินห้าง ว่าง ๆ ไปต่างประเทศ” แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้เลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้าโควิดนี่เอง โดยในสามสิ่งที่อยากทำและเสียดายมากที่สุดก็คือการเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างประเทศที่เล็งไว้หลายที่

มีเพื่อนฝูงถามไถ่มาหลายคนว่าถ้าหมดโควิด (ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอีกนานแค่ไหน) จะไปเที่ยวประเทศไหนเป็นประเทศแรก ผมก็ตอบได้ทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “อินเดีย” เพราะเคยประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบหลายปีและได้หลงเสน่ห์อินเดียแบบถอนตัวไม่ขึ้นไปแล้ว โดยสถานที่แรกในอินเดียที่ผมจะต้องไปให้ได้และคิดถึงอยู่ตลอดก็คือ Dilwara วัดเชนที่แสนจะงดงามบนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu ในรัฐราชสถานนั่นเอง

แต่ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านไปพบกับความงดงามของ Dilwara ผมขออนุญาตเกริ่นนำให้รู้จักกับ “ศาสนาเชน” (ที่อินเดียจะออกเสียงเป็น “เจน”) ซึ่งเป็นที่มาของ “วัดเชน” เสียก่อนด้วยข้อมูลเบื้องต้นจาก Wikipedia โดยศาสนาเชน (Jainism) มาจากคำว่า “ไชนะ” หรือ “ชินะ” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ผู้ชนะ” และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหกที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยในศาสนาเชนเชื่อว่ามีศาสดาที่เรียกว่า “ตีรถังกร” อยู่ด้วยกัน 24 องค์ในจักรวาลปัจจุบัน องค์แรกคือ พระอาทินาถ และองค์สุดท้ายก็คือ พระมหาวีระหรือพระมหาวีร์ โดยตีรถังกรคือบุคคลผู้บรรลุเกวลญานหรือเป็นสัพพัญญู และเผยแผ่ธรรมะนั้น โดยในบรรดาตีรถังกรทั้ง 24 องค์นั้น ที่ได้รับการเคารพบูชาสูงสุดมีอยู่สี่องค์คือ พระอาทินาถ พระเนมินาถ พระปารศนาถ และพระมหาวีระหรือมหาวีร์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายมีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล

โดยศาสนิกชนในศาสนาเชนที่เคร่งจะถือปฏิญญา 5 ประการ คือ อหิงสา (ความไม่รุนแรง) สัตยะ (ความจริง) อสตียะ (ไม่ลักขโมย) พรหมจรรย์ (การถือพรหมจรรย์) และอปริเคราะห์ (ความไม่ยึดติด) ซึ่งหลักการเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการโดยเฉพาะการรับประทานอาหารมังสวิรัติที่เข้มงวดมากเพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน เพราะฉะนั้นศาสนิกชนในศาสนาเชนจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ และส่วนของพืชที่มาจากใต้ดินเนื่องจากการขุดดินลงไปอาจไปทำลายสัตว์เล็ก ๆ รวมทั้งแมลงหรือไข่ของแมลงที่อยู่ใต้ดินได้ โดยศาสนาเชนมีคติพจน์ว่า “ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม” อันแปลว่า “หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งคือการช่วยเหลือกัน” เพราะฉะนั้นนักบวชในศาสนาเชนจึงไม่สามารถนั่งยานพาหนะใด ๆ ได้เพราะการเดินทางโดยยานพาหนะอาจจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ระหว่างการเดินทางโดยไม่ตั้งใจ ก็เลยทำให้การเผยแพร่ศาสนาเชนเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ศาสนาเชนหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็นสองนิกาย ได้แก่ นิกายทิฆัมพร (นักบวชจะนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย) กับนิกายเศวตัมพร (นักบวชจะนุ่งห่มด้วยผ้าสีขาว) และยังมีสาขาย่อยแตกออกไปอีกมากมาย ในปัจจุบันศาสนาเชนมีศาสนิกชนทั่วโลกแค่ประมาณ 4 - 5 ล้านคน โดยส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดียแต่ก็มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนน้อยนอกอินเดียก็จะอยู่ที่แคนาดา ยุโรป เคนยา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนศาสนิกชนในศาสนาเชนจะมีจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนรวยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรได้ เพราะการขุดดินหรือการไถพรวนดินจะทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลายลงซึ่งขัดกับคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนิกชนในศาสนาเชนส่วนใหญ่จึงเป็นนักการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพ่อค้าเพชรซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐคุชราตและในเมืองมุมไบในรัฐมหาราษฎร์ของอินเดีย และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่วัดเชนทุกวัดจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยงามเพราะมีสปอนเซอร์ดีนั่นเอง

สำหรับ Dilwara Temples เป็นหมู่ศาสนสถานของศาสนาเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในบริเวณเดียวกันจำนวน 5 วัดหรือ 5 มณเฑียร บางครั้งก็เขียนเป็น Delwara ตามการออกเสียง ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu บนระดับความสูงประมาณ 1,219 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในรัฐราชสถาน โดยหมู่มณเฑียรทั้งห้านี้ตั้งอยู่รวมกันภายในกำแพงสูงหนึ่งเดียวท่ามกลางขุนเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตน โดยชื่อ Dilwara ก็มาจากชื่อของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่หมู่มณเทียรนี้ตั้งอยู่ ซึ่งหมู่มณเทียรทั้งห้าแห่งนั้นประกอบด้วย

- วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Vimal Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรหรือพระศาสดาองค์แรกหรือพระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ

- วัดปิตตัลหาร์ (Pittalhar) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์แรก พระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีปรศวนาถ (Parshvanath) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 23 หรือพระศรีปารศนาถ

- วัดพระศรีมหาวีระสวามี (Mahavir Swami) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายคือ พระศรีมหาวีระหรือพระศรีมหาวีร์

แต่ว่าทั้ง 5 มณเฑียรของ Dilwara ปรากฏว่ามีเพียง 2 มณเฑียรเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์ คือ วัดวิมลวาซาฮีกับวัดลูนาวาซาฮี ส่วนที่เหลืออีก 3 มณเฑียรสร้างไม่เสร็จ แต่แค่ 2 มณเฑียรที่สร้างเสร็จก็งดงามวิจิตรพิศดารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดอ่อนช้อยและตระการตา ยากจะหาที่อื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้ โดยทั้ง 5 มณเฑียรล้วนแต่สร้างขึ้นมาด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น และเป็นหินอ่อนชั้นเยี่ยมที่มาจากเมืองมกรานา (Makrana) ในรัฐราชาสถาน แหล่งเดียวกับหินอ่อนที่ใช้ในการสร้างทัชมาฮาล ซึ่งถือเป็นแหล่งหินอ่อนคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดียโดยใช้ช้างในการขนส่งขึ้นภูเขามาสร้าง Dilwara แห่งนี้

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Dilwara เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดเหนือกว่าสิ่งก่อสร้างไหน ๆ ในอินเดีย ครั้งแรกที่เดินทางไปถึงด้านหน้าของวัด Dilwara ก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากเพราะดูแล้วไม่มีอะไรจนแอบหวั่นใจว่าจะโดนหลอก เพราะมองไปก็เห็นเหมือนสิ่งก่อสร้างทั่วไปที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่พอเดินเข้าไปในวัดเท่านั้นแหละ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานแกะสลักหินอ่อนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนและหลงรัก Dilwara มาตั้งแต่บัดนั้น และทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็จะเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ นับถึงปัจจุบันก็มากกว่า 10 ครั้งแล้วและก็จะยังกลับไปเยือนอีกถ้ามีโอกาส

สำหรับมณเฑียรที่โดดเด่นและสร้างเสร็จสมบูรณ์มีอยู่ 2 มณเฑียรคือ วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Shri Adinath Temple หรือ Vimal Vasahi Temple) กับวัดพระศรีเนมินาถหรือลูนาวาซาฮี (Shri Neminath Temple หรือ Luna Vasahi) โดยเราจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการชมสองมณเฑียรนี้ ซึ่งตามปกติจะเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา 12.00 - 18.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สาเหตุที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงบ่ายก็เพราะว่าในช่วงเช้าศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเชนจะเข้าไปสวดมนต์ตามปกติ ทางวัดก็เลยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้

ในส่วนของวัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี สร้างขึ้นโดยวิมล ชาห์ (Vimal Shah) รัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพบกของ Bima Dev I เจ้าผู้ครองแห่งราชวงศ์โซลังกี ออกแบบโดย วัสตุปาล (Vastupala) สร้างขึ้นในปี 1032 และมีชื่อเสียงด้วยงานหินอ่อนและงานแกะะสลักหินอ่อนอันประณีต ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญหนึ่งของศาสนาเชน และได้รับการเชิดชูว่าเป็นวัดเชนหรือมณเทียรที่ออกแบบมาได้สวยงามที่สุด โดยมีทางเข้าที่หรูหรา ส่วนตัวอาคารนั้นสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย อันสะท้อนถึงคุณค่าของศาสนาเชนในความซื่อสัตย์และความประหยัด รายละเอียดของการแกะสลักตกแต่งไชนมนเทียรเหล่านี้มีความตระการตามาก เชื่อกันว่าช่างแกะสลักที่นี่ได้รับค่าว่าจ้างเป็นทองเท่ากับน้ำหนักของผงหินอ่อนที่เขาแกะสลัก วัดนี้เป็นวัดเชนที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวัดเชนทั้ง 5 วัดใน Dilwara มีอายุประมาณ 1,000 ปี ภายในวัดประกอบไปด้วยโดมหลายโดมที่มีการแกะสลักเป็นรูปเทพที่สวยงามสมส่วนทั้งองค์เล็กองค์น้อยจำนวนมาก และทั้งวัดล้อมรอบด้วยพระระเบียงที่มีการแกะสลักหินอ่อนที่เสาและเพดานที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสจำนวนมากล้อมรอบวัด

อีกวัดหนึ่งคือ วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ วัดอันงดงามแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1230 โดยพี่น้อง Porwad สองคนคือ Vastupal และ Tejpal รัฐมนตรีทั้งสองของ Virdhaval ผู้ปกครอง Vaghela ของแคว้นคุชราต เพื่อรำลึกถึง Lunig พี่ชายผู้ล่วงลับไปแล้ว วิหารมีโครงสร้างคล้ายกับวัดวิมาลวาซาฮี แต่ความมีชีวิตชีวาของการแกะสลักภายในนั้นยิ่งใหญ่กว่า ห้องโถงใหญ่มีโดมตรงกลางซึ่งมีการแกะสลักอย่างประณีต มีรูปสลักของติรถังกรจำนวน 72 รูปอยู่ในท่านั่งและด้านล่างของวงนี้คือรูปสลักพระเชนขนาดเล็ก 360 รูปในอีกวงหนึ่งล้อมรอบรูปสลักของติรถังกร แต่จุดเด่นของวัดนี้จะอยู่ที่รูปแกะสลักซึ่งส่วนใหญ่จะแกะเป็นช่อดอกไม้ห้อยย้อยมาจากเพดานจำนวนมาก ดูเหมือนโคมไฟแชนเดอเลียร์ที่สวยงาม แต่เป็นฝีมือการแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดงดงามยากที่งานแกะสลักหินอ่อนที่ใดในโลกจะสามารถเทียบได้

ยิ่งเขียนยิ่งคิดถึง Dilwara ตอนนี้ก็แค่รอว่าโควิดหมดไปเมื่อไหร่ Dilwara จะเป็นสถานที่แห่งแรกในต่างประเทศที่ผมจะรีบเดินทางไปเยือนทันที

อย่ามองข้าม “ตลาดชนบทอินเดีย”

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯอาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆแบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top