ชักศึกเข้าบ้านภาค 2 ความขัดแย้งของตระกูล รักต่างขั้วอำนาจ ลุกลามการเมืองระหว่างประเทศ
ชักศึกเข้าบ้านภาค 2 “กูต้องตายเพราะอยากมีเมียแหม่ม” ความขัดแย้งของตระกูล รักต่างขั้วอำนาจ ลุกลามการเมืองระหว่างประเทศ”
จากตอนที่แล้วที่เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกระหว่างวังหลวงและวังหน้า ลามไปถึงการดึงเอาชาติมหาอำนาจตะวันตกในช่วงเวลานั้นคืออังกฤษ เข้ามาวุ่นวายในกิจการบ้านเมือง ก่อนที่เหตุจะระงับไปด้วยวิธีทางการทูตและการประนีประนอมกันเพื่อบ้านเมือง อาการเหมือน ณ ปัจจุบันที่กลุ่มคนจำนวนเล็กๆ รับใบสั่งมาสร้างความปั่นป่วน จากเรื่องความขัดแย้งของอำนาจทางการเมือง ที่จะลามไปถึงนานาชาติเพื่อดึงชาติตะวันตกเข้ามายุ่มย่ามภายใน เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กัน
ตัวละครสำคัญจากภาคแรกที่ลามมาภาคนี้ได้แก่ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)' ท่านผู้สำเร็จราชการต้นรัชกาลที่ 5 และ 'โทมัส ยอร์ช น็อกซ์'กงสุลแห่งอังกฤษประจำประเทศสยาม และตัวเอกของภาคนี้ 2 ท่านคือ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ขุนนางหัวก้าวหน้า บุตรของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เสนาบดีสำคัญสมัยรัชกาลที่ 4 และ 'แฟนนี่ น็อกซ์' บุตรสาวของ มร.น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ
เรื่องต้องย้อนกลับไปกล่าวถึงความขัดแย้งกันของตระกูลขุนนาง 2 ตระกูล คือ 'ตระกูลบุนนาค' ซึ่งมากล้นบารมี ส่วนอีกตระกูลที่พอจะเทียบเคียงบารมีได้ก็คงเป็น 'ตระกูลอมาตยกุล' ข้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยร้อยร้าวเล็กๆ เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดย พระยากสาปนกิจโกศล ขณะยังเป็นขุนนางหนุ่ม ผู้มีความรู้เชิงช่างสูง ไปวิจารณ์ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ' (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็น พระยาศรีพิพัฒน์ฯ เรื่องการซ่อมแซมกำแพงอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ว่าซ่อมอย่างไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นก็มีเหตุกำแพงถล่มทับคนงาน จนล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ถึงกับทรงบริภาษเหน็บเรื่องนี้จึงทำให้ตระกูลบุนนาคเสียหน้า
เรื่องถัดมาพระยาเจริญราชไมตรี (ตาด อมาตยกุล) ผู้เป็นน้องชาย ผู้เป็นหนึ่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำระคดีฉ้อโกง โดยมีคดีโกงเงินเข้าพระคลังของ 'กรมนา' ซึ่งเสนาบดีกรมนาในขณะนั้นคือ 'พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญหลง)' หลานของ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์' ซึ่งความผิดคดีนี้ทำให้ พระยาอาหารบริรักษ์ต้องถูกออกจากราชการ ริบราชบาทว์ ถูกเฆี่ยน จำคุกและได้มีการพาดพิง 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' แต่ไม่ระคายเคืองท่าน แต่คดีนี้ทำให้ 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' จำแน่ๆ เพราะท่านไปจัดหนักในคดีของ 'พระปรีชากลการ' (ข้อขัดแย้งต้นรัชกาลที่ 5 ไว้ผมจะเล่าในบทความถัดๆ ไปนะครับ)
เกริ่นมาซะยาว ตอนนี้มาดูที่ตัวเอกของภาคนี้ 'พระปรีชากลการ' (สำอาง อมาตยกุล) บุตรชายคนที่ 2 ของพระยากสาปนกิจโกศล จบวิศวกรรมศาสตร์จากสกอตแลนด์ เป็นข้าราชสํานักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ในหลวง ร.5 ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง ด้วยผลงาน เช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง ฯลฯ จนได้เป็นหนึ่งในคณะสภาที่ปรึกษาในพระองค์ ซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวน 49 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สืบสวนข้อเท็จจริงในราชการต่างๆ เพื่อกราบบังคมทูลและถวายความเห็นให้ทรงทราบ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง รวมไปถึงการชำระความฎีกาที่มีผู้นำมาถวาย ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของ 'วังหลวง' ที่กำลังปฏิรูปและพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถึง พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทําเหมืองทองคำที่บ่อทองเมืองกบินทร์บุรี ได้จัดตั้งเครื่องจักรทําทองที่เมืองกบินทร์บุรี และสร้างตึกที่จะจัดตั้งเครื่องจักรที่เมืองปราจีนบุรีอีกแห่งหนึ่ง โดยมีพระปรีชาฯเข้าไปดำเนินการจนสำเร็จ ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. 2419 พระยาอุไทยมนตรี (ขริบ) ผู้ว่าราชการเมืองปราจีนบุรีถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชาฯ ว่าราชการเมืองปราจีนบุรีแทนต่อไป
