ชักศึกเข้าบ้านภาค 2 ความขัดแย้งของตระกูล รักต่างขั้วอำนาจ ลุกลามการเมืองระหว่างประเทศ
ชักศึกเข้าบ้านภาค 2 “กูต้องตายเพราะอยากมีเมียแหม่ม” ความขัดแย้งของตระกูล รักต่างขั้วอำนาจ ลุกลามการเมืองระหว่างประเทศ”
จากตอนที่แล้วที่เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกระหว่างวังหลวงและวังหน้า ลามไปถึงการดึงเอาชาติมหาอำนาจตะวันตกในช่วงเวลานั้นคืออังกฤษ เข้ามาวุ่นวายในกิจการบ้านเมือง ก่อนที่เหตุจะระงับไปด้วยวิธีทางการทูตและการประนีประนอมกันเพื่อบ้านเมือง อาการเหมือน ณ ปัจจุบันที่กลุ่มคนจำนวนเล็กๆ รับใบสั่งมาสร้างความปั่นป่วน จากเรื่องความขัดแย้งของอำนาจทางการเมือง ที่จะลามไปถึงนานาชาติเพื่อดึงชาติตะวันตกเข้ามายุ่มย่ามภายใน เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กัน
ตัวละครสำคัญจากภาคแรกที่ลามมาภาคนี้ได้แก่ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)' ท่านผู้สำเร็จราชการต้นรัชกาลที่ 5 และ 'โทมัส ยอร์ช น็อกซ์'กงสุลแห่งอังกฤษประจำประเทศสยาม และตัวเอกของภาคนี้ 2 ท่านคือ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ขุนนางหัวก้าวหน้า บุตรของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เสนาบดีสำคัญสมัยรัชกาลที่ 4 และ 'แฟนนี่ น็อกซ์' บุตรสาวของ มร.น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ
เรื่องต้องย้อนกลับไปกล่าวถึงความขัดแย้งกันของตระกูลขุนนาง 2 ตระกูล คือ 'ตระกูลบุนนาค' ซึ่งมากล้นบารมี ส่วนอีกตระกูลที่พอจะเทียบเคียงบารมีได้ก็คงเป็น 'ตระกูลอมาตยกุล' ข้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยร้อยร้าวเล็กๆ เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดย พระยากสาปนกิจโกศล ขณะยังเป็นขุนนางหนุ่ม ผู้มีความรู้เชิงช่างสูง ไปวิจารณ์ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ' (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็น พระยาศรีพิพัฒน์ฯ เรื่องการซ่อมแซมกำแพงอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ว่าซ่อมอย่างไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นก็มีเหตุกำแพงถล่มทับคนงาน จนล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ถึงกับทรงบริภาษเหน็บเรื่องนี้จึงทำให้ตระกูลบุนนาคเสียหน้า
เรื่องถัดมาพระยาเจริญราชไมตรี (ตาด อมาตยกุล) ผู้เป็นน้องชาย ผู้เป็นหนึ่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำระคดีฉ้อโกง โดยมีคดีโกงเงินเข้าพระคลังของ 'กรมนา' ซึ่งเสนาบดีกรมนาในขณะนั้นคือ 'พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญหลง)' หลานของ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์' ซึ่งความผิดคดีนี้ทำให้ พระยาอาหารบริรักษ์ต้องถูกออกจากราชการ ริบราชบาทว์ ถูกเฆี่ยน จำคุกและได้มีการพาดพิง 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' แต่ไม่ระคายเคืองท่าน แต่คดีนี้ทำให้ 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' จำแน่ๆ เพราะท่านไปจัดหนักในคดีของ 'พระปรีชากลการ' (ข้อขัดแย้งต้นรัชกาลที่ 5 ไว้ผมจะเล่าในบทความถัดๆ ไปนะครับ)
เกริ่นมาซะยาว ตอนนี้มาดูที่ตัวเอกของภาคนี้ 'พระปรีชากลการ' (สำอาง อมาตยกุล) บุตรชายคนที่ 2 ของพระยากสาปนกิจโกศล จบวิศวกรรมศาสตร์จากสกอตแลนด์ เป็นข้าราชสํานักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ในหลวง ร.5 ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง ด้วยผลงาน เช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง ฯลฯ จนได้เป็นหนึ่งในคณะสภาที่ปรึกษาในพระองค์ ซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวน 49 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สืบสวนข้อเท็จจริงในราชการต่างๆ เพื่อกราบบังคมทูลและถวายความเห็นให้ทรงทราบ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง รวมไปถึงการชำระความฎีกาที่มีผู้นำมาถวาย ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของ 'วังหลวง' ที่กำลังปฏิรูปและพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถึง พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทําเหมืองทองคำที่บ่อทองเมืองกบินทร์บุรี ได้จัดตั้งเครื่องจักรทําทองที่เมืองกบินทร์บุรี และสร้างตึกที่จะจัดตั้งเครื่องจักรที่เมืองปราจีนบุรีอีกแห่งหนึ่ง โดยมีพระปรีชาฯเข้าไปดำเนินการจนสำเร็จ ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. 2419 พระยาอุไทยมนตรี (ขริบ) ผู้ว่าราชการเมืองปราจีนบุรีถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชาฯ ว่าราชการเมืองปราจีนบุรีแทนต่อไป
ดูรุ่งเรืองดีแต่ยังไงกัน? ถ้าเราจำ 'วิกฤตการณ์วังหน้า' ชักศึกเข้าบ้านจากตอนที่แล้วได้ เรื่องมันก็เกี่ยวกับ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์' (ช่วง บุนนาค) เพราะท่านเป็นคน 'เลือกวังหน้า' ซึ่งตามจริงสิทธิ์โดยชอบธรรมนี้เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ เอาล่ะ เรื่องนี้ยกไว้ก่อน ตรงนี้จะเห็นว่า 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' มีความสัมพันธ์ไม่ธรรมดากับ 'วังหน้า' และข้าราชบริพารในวังหน้า ซึ่งในนั้นมี 'โทมัส ยอร์ช น็อกซ์' กงสุลแห่งอังกฤษ ซึ่งมีภรรยาชาวไทยชื่อปราง มีลูกสาว 2 คนและลูกชาย 1 คน ลูกสาวคนโตชื่อ 'แฟนนี่ น็อกซ์' ซึ่งจะเป็นตัวแปรในเรื่องนี้ เพราะ 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' เล็งที่จะให้ 'แฟนนี่' แต่งงานกับลูกชายของท่าน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 'ตระกูลบุนนาค' / 'วังหน้า' กับกงสุลอังกฤษ แต่เหตุกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอะไรกัน ???
ก็เพราะ พระปรีชาฯ กับ แฟนนี่ น็อกซ์ กลับมาพบรักกันนะสิ !!! ด้วยพระปรีชาฯ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงสังคมก็ได้มารู้จัก “แฟนนี่” ด้วยสังคมการขี่ม้า ครั้งแรกทั้งคู่อยู่ในฐานะมิตรสหาย จนเมื่อภรรยาหลวงของพระปรีชาฯ ถึงแก่กรรม (มีเมียหลายคนตามสมัยนิยมแต่มีหลวง 1 คน) การรู้จักกันฉันเพื่อน ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ และสานความสัมพันธ์ต่อจนกลายเป็นความรักในที่สุด นี่คือ 'รักต้องห้าม' ที่พระปรีชาฯ คาดไม่ถึง ทั้งจากขั้ว 'วังหลวง' กับ 'วังหน้า' และจากขั้ว 'สยาม' และ 'อังกฤษ' ซึ่งเป็นเจ้าของอาณานิคมทั้งอินเดียและพม่า และกำลังจ้องมองสยามอยู่ในขณะนั้นราวกับหมาป่ารอขย้ำเหยื่อ
หนุ่มสาวคู่นี้ยังเพิ่มความยุ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อครั้งมีงานพระราชพิธีฉลองพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. 2421 พระปรีชาฯ ได้พาแฟนนี่นั่งเรือส่วนตัวไปในงานฉลองและค้างแรมด้วยกันบนเรือ แม้จะมีบ่าวไพร่อยู่บนเรือด้วยกันหลายคน และทั้งคู่ก็มิได้อยู่ร่วมห้องกันก็ตาม การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายร้ายแรง เพราะฝ่ายหนึ่งคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกฝ่ายหนึ่งคือลูกสาวกงสุลใหญ่ ซึ่งถือเป็นการหยามเกียรตินําความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศชาติ แถมพระปรีชา ฯ ได้พาแฟนนี่กลับกรุงเทพฯ ในขณะที่งานฉลองพระราชวังบางปะอินยังไม่เสร็จสิ้น โดยมิได้กราบบังคมทูลลาหรือกราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งตรงนี้เป็นการอันมิบังควร
ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ได้บีบคั้นให้ทั้งสองต้องเข้าสู่พิธีสมรส เพื่อแก้ปัญหาการหมิ่นเกียรติยศกงสุล โดยไม่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามขนบประเพณีแห่งราชสํานัก ซึ่งเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคำรบ เพราะข้าราชการในพระองค์ จะทำการตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานกับลูกครึ่งต่างชาติ มีบิดาที่สามารถให้ผลได้ผลเสียแก่บ้านเมือง ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่มีใครประพฤติมาก่อน
เมื่อหนุ่มสาวทั้งคู่แต่งงานกันแล้ว ก็พากันไปอยู่ที่ปราจีนบุรี ซึ่งฝ่ายชายมีหน้าที่ควบคุมการขุดทองส่งเมืองหลวง ถึงตรงนี้ พระปรีชาฯ ได้สร้างปัญหาให้กับตัวเองแล้วทั้งกับ “พระพุทธเจ้าหลวง” เพราะไปแต่งงานกับกลุ่มอำนาจที่คิดปองร้ายต่อพระองค์ และแผ่นดินไทย ถึงขั้นมีแผนจะแบ่งแผ่นดินไทยออกเป็นสองส่วนเพื่อให้วังหลวงและวังหน้าปกครององค์ละส่วน และกับ 'สมเด็จเจ้าพระยาฯ' เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตนในอันที่จะให้ 'แฟนนี่' แต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่านเพื่อผูกพันสายสัมพันธ์ระหว่างสกุลบุนนาค วังหน้า และกงสุลอังกฤษให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้น นอกจากการจะไม่เป็นไปดังประสงค์แล้ว มิหนำซ้ำ 'แฟนนี่' ยังไปแต่งงานกับชายหนุ่มที่อยู่กันคนละกลุ่มอำนาจ
แม้ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์' จะคืนอำนาจการบริหารแผ่นดินไปแล้ว แต่วาสนา บารมีของท่านก็ยังเต็มเปี่ยมในฐานะผู้ใหญ่ของแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงกราบบังคมทูลแนะนําเรื่องการลงโทษพระปรีชากลการ โดยอ้างเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นสำคัญ โดยความตามบันทึกว่า “แต่ยังมีความสงสัยอยู่ด้วยคนตระกูลนี้ ทรงพระกรุณาเชื่อถือให้ใช้สอยเงินทองของหลวงมากจนฟุ่มเฟือยยิ่งกว่าขุนนางทั้งปวง ถ้ายังทรงพระอาลัยอยู่จะคิดให้เต็มสติปัญญาก็ยาก ด้วยกำลังทรัพย์สมบัติก็มาก กำลังสติปัญญาก็ฉลาดนัก กลัวจะเป็นการตีงูให้หลังหักไป”
เมื่อแรกโดนจับกุมดำเนินคดีนั้นพระปรีชา ฯ ยังคิดว่าจะโดนโทษลงอาญา โบย 30 ที เพราะความผิดในฐานะข้าราชสำนักที่ทรงโปรด แต่ทั้งพระปรีชาฯ และแฟนนี่หารู้ไม่ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ได้ถูกโหมให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติไปแล้ว เพราะ 'โทมัส ยอร์ช น็อกซ์' ผู้เป็นพ่อตาซึ่งมีความประสงค์จะช่วยเหลือลูกเขย พยายามเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขอเข้าเฝ้ากราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระพุทธเจ้าหลวง แต่ไม่เป็นผล (สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่ช่วยหรอก ก็ไม่ได้ดองกันนี่หว่า !!!)
เมื่อหมดหนทางที่จะช่วยลูกเขย ก็ขู่ว่าจะเอาเรือปืน Foxhound มาปิดปากอ่าวไทยตามอํานาจกงสุล ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ การขู่แบบนี้ก็กลายเรื่องราวใหญ่สิครับ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงต้องรีบแก้ไขเหตุการณ์โดยด่วน ด้วยการส่งคณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้า นำเรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ
ส่วนพระปรีชาฯ ก็ซวยหนักครับ โดนข้อหาไป 27 ข้อ เช่น ได้ทองไม่คุ้มเงิน, ทำการทารุณแรงงาน, ใช้ง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดำลงไปตัดตอจนขาดใจตาย และทำการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้าย ฯลฯ จากที่คิดว่าจะง่ายแต่กลายเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิต
พระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิตสิริอายุได้ 39 ปี โดย หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ อเนกบุศย์) ข้าราชการเมืองปราจีนบุรีบันทึกคำกล่าวของพระปรีชาฯ ก่อนโดนประหารไว้ว่า “…โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่งตัวจึงตาย แดดร้อนดังนี้ ทําไมจะได้สติ เมื่อ ตายแล้วเราจะไปอยู่ที่หลังคาแดง โน้น…”
ส่วน นายน็อกซ์ ถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ และได้พาครอบครัวเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2422 โดยแฟนนี่มีบุตรกับพระปรีชาชื่อ ชื่อ สแปนเซอร์ หรือ จํารัส เป็นพยานรักต่างขั้วในครั้งนี้
อ่านจบตรงนี้อาจจะเหมือนพระปรีชาฯ เป็นผู้ถูกกระทำ แต่ถ้ามองกันดีๆ ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานของบ้านเมืองขณะนั้นการเสียสละ การไม่มีประเด็นให้เกิดการชักศึกเข้าบ้านเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ไฉนกลับไม่มีใครคิดตรองถึงเรื่องนี้เลย...หรือคิดว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไรก็ช่าง “เรื่องของกูต้องมาก่อน” เหมือนไอ้ม็อบป่วนงาน APEC2022 นั่นเอง…
เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager