Saturday, 10 May 2025
TheStatesTimes

รู้จัก ‘Muhammad Mahmood Alam’ ผู้ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทียิงเครื่องบินรบอินเดียตก 5 ลำ

ข่าวการสู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถานในขณะนี้เป็นที่จับตามองของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทั้ง 2 ชาติต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ผลจากการปะทะในครั้งนี้อินเดียต้องสูญเสียเครื่องบินรบสมรรถนะสูงไปถึง 5 ลำ โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 กองทัพอากาศอินเดียได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale พร้อมขีปนาวุธ SCALP และระเบิด AASM Hammer ออกปฏิบัติการในช่วงเช้าตรู่เพื่อโจมตีค่ายก่อการร้ายหลายแห่งในปากีสถาน ซึ่งปากีสถานระบุว่าได้ยิงเครื่องบินอินเดียตก 5 ลำที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale จำนวน 3 ลำ ก่อนหน้านี้ ปากีสถานได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถต่อต้านระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale ของอินเดียได้สำเร็จ ตามรายงานของ CNN เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้ยืนยันถึงการสูญเสียเครื่องบิน Rafale 1 ลำ และกำลังสืบสวนการสูญเสียในการรบเพิ่มเติม โดยปรากฏภาพของชิ้นส่วนเครื่องบิน Rafale หมายเลขประจำเครื่อง BS001 ของกองทัพอากาศอินเดียบนโซเชียลมีเดีย ปากีสถานระบุว่า เครื่องบินรบของอินเดียถูกยิงตกโดยขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาห์ (อากาศสู่อากาศ) แบบ PL-15Es จากเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE (ซึ่งทั้งคู่ผลิตโดยจีน) ในเวลาต่อมา สำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อได้ยืนยันการยิงเครื่องบินรบอินเดียตกอย่างน้อย 2 ลำ (รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale) โดยเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE ของปากีสถาน

อันที่จริงแล้ว กองทัพอากาศปากีสถานมีขีดความสามารถในการรบทางอากาศเหนือกว่ากองทัพอากาศอินเดียมานานแล้ว ตั้งแต่การรบทางอากาศในสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถานในปี 1965 โดยสงครามครั้งนั้น กองทัพอากาศอินเดียสูญเสียเครื่องบินรบในราว 60-75 ลำ ขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานสูญเสียเครื่องบินรบในราว 19-20 ลำ คิดเป็นอัตราส่วนความสูญเสียของอินเดีย-ปากีสถานที่ 3-3.5 ต่อ 1 ในยุคนั้นกองทัพอากาศอินเดียประจำการด้วยเครื่องบินรบจากอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานใช้เครื่องบินรบส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ เครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre และ F-104

หนึ่งในเสืออากาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของกองทัพอากาศปากีสถาน ได้แก่ นาวาอากาศเอก(พิเศษ) Muhammad Mahmood Alam (6 กรกฎาคม 1935 – 18 มีนาคม 2013) เป็นที่รู้จักในชื่อ M.M. Alam หรือ มังกรน้อย (Little dragon) หรือ M.M. Sabre เป็นนักบินขับไล่และวีรบุรุษสงครามแห่งปากีสถาน เขาเป็นเสืออากาศที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากกองทัพอากาศปากีสถานว่าสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของอินเดียตกได้ 5 ลำในเวลาเพียงไม่ถึงสองนาทีในสงครามอินเดีย-ปากีสถานในปี 1965 M.M. Alam เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1935 ในครอบครัวชาวเบงกอลมุสลิม เขาเกิดและเติบโตในนครกัลกัตตา เบงกอล จักรวรรดิอินเดียของอังกฤษในขณะนั้น เขาพูดภาษาเบงกอลได้คล่องเนื่องจากเป็นภาษาแม่ ด้วยมารดามีเชื้อสายเบงกอลและบิดามีเชื้อสายบิฮารี โดยอพยพมาจากปัตนาและต่อมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเบงกอล ต่อมาครอบครัวของเขาอพยพมาอพยพต่อไปยังดินแดนเบงกอลตะวันออก (ซึ่งต่อมากลายเป็นปากีสถานตะวันออกและบังกลาเทศในปัจจุบัน) หลังจากก่อตั้งปากีสถานในปี 1947 เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปากีสถานตะวันออก โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐบาลในเมืองธากาในปี 1951 เขาเข้าร่วมกองทัพอากาศปากีสถานในปี 1952 โดยเข้าประจำการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1953 เนื่องจากเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้อง 11 คน เขาจึงไม่ได้แต่งงานเนื่องจากต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัว น้องชายของเขาเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในทางวิชาการที่หลากหลาย อาทิ M. Shaheed Alam นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น บอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และ M. Sajjad Alam นักฟิสิกส์อนุภาคแห่งมหาวิทยาลัยออลบานี (SUNY) มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

วันที่ 7 กันยายน 1965 ในช่วงสงครามอินเดีย-ปากีสถาน M.M. Alam ประจำการอยู่กับฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศ Sargodha และทำการบินด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre เขาประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์การรบทางอากาศ โดยสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของกองทัพอากาศอินเดียตกเพียงลำพังได้ถึง 5 ลำภายในเวลาไม่ถึงสองนาที โดย 4 ลำใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น โดยมีการกล่าวอ้างว่า ครั้งนั้นเขาสามารถยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกถึง 7 ลำ แต่ 2 ลำในจำนวนนี้ถูกจัดว่า "น่าจะ" ถูกยิงตก (ซึ่งไม่มีการยืนยัน) โดยเขาเล่าว่าในขณะนั้น เขาได้บิน "หมุนตัว 270 องศาด้วยความเร็วประมาณ 12 องศาต่อวินาที และยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกไป 4 ลำรวด และต่อมาอีก 1 ลำ" ผลงานอันน่าทึ่งนี้ทำให้เขาได้รับการยอมรับทั่วโลกและได้รับเกียรติอันหายากในการเป็น 'สุดยอดเสืออากาศในหนึ่งวัน' ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มอบให้กับนักบินขับไล่ที่สามารถยิงเครื่องบินของศัตรูตกได้ตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปในหนึ่งวัน ผลงานของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ทักษะ ความแม่นยำ และความกล้าหาญที่ไม่มีใครเทียบได้ภายใต้การโจมตี ตำนานของ M.M. Alam ยังคงสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายให้กับชาวปากีสถาน และชื่อของเขายังได้รับการจารึกไว้ในปากีสถานผ่านเกียรติยศต่างๆ เช่น ถนน M. M. Alam ซึ่งเป็นถนนสายหลักในเมืองลาฮอร์ รัฐปัญจาบ ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในสงครามปากีสถาน-อินเดียปี 1965 ในการสู้รบทางอากาศ เขาสามารถยิงเครื่องบินรบอินเดียตกได้ทั้งหมด 9 ลำ (และน่าจะยิงตกอีก 2 ลำ)

M.M. Alam เป็นนักบินขับไล่คนแรกของกองทัพอากาศปากีสถานที่ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศปากีสถาน ในนครการาจี และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติของปากีสถาน รางวัล 'Sitara-e-Jurat' และเหรียญ BAR อีกด้วย ในปี 1967 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการฝูงเครื่องบินขับไล่แบบ Dassault Mirage III ฝูงบินแรกที่กองทัพอากาศปากีสถานจัดหา ในปี 1982 เขาเกษียณอายุราชการและย้ายไปอยู่ที่นครการาจี เขาปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในช่วงบั้นปลายชีวิต ในบางครั้ง เขาจะรับเชิญให้ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปากีสถาน เขาสะสมหนังสือเป็นจำนวนมาก และอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับเพื่อติดตามข่าวสาร หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของปากีสถานระบุว่า "M.M. Alam เป็นชายที่เคารพตัวเองมาก เขาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและนับถือตัวเองอย่างที่สุด เขาเป็นคนตรงไปตรงมาและเป็นกันเองกับเพื่อนที่เขาไว้ใจ" M.M. Alam เข้ารับการรักษาปัญหาทางเดินหายใจเป็นเวลา 18 เดือนที่โรงพยาบาล PNS Shifa ของฐานทัพเรือปากีสถานในนครการาจี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2013 สิริอายุ 77 ปี มีการสวดภาวนาเพื่อไว้อาลัย ณ ฐานทัพอากาศ PAF Masroor ซึ่งเป็นที่ที่เขาประจำการใช้ในช่วงหลายปีที่สำคัญในอาชีพทหาร เขาถูกฝังที่สุสาน Shuhuda (ผู้พลีชีพ) ซึ่งตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศ Masroor

'ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์' แจงไม่สามารถร่วมเวที คปท. ต้านระบอบทักษิณได้ ด้วยเหตุผลส่วนตัว แม้ใจยังยืนเคียงข้างการเคลื่อนไหว

อ.อานนท์ โพสต์ไม่สะดวกร่วมเวที คปท. ต้านระบอบทักษิณ ด้วยข้อจำกัดส่วนตัว แม้ใจจะอยู่ที่เวทีแล้วก็ตาม

‘จีน-รัสเซีย’ จับมือหนุนสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลางกำกับ AI หวังต้านอิทธิพลบางประเทศ…ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วอำนาจโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) รับบทบาทหลักในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ยึดถือกฎหมายภายใน และยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในระดับสากล

สองชาติมหาอำนาจระบุว่า AI ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่อาวุธเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศใด พร้อมคัดค้านการผูกขาดความรู้ การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการสร้าง 'กำแพงเทคโนโลยี' ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในเวทีโลก และทำลายโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา

จีนและรัสเซียยังคัดค้านการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแนวทางที่นำไปสู่การตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมประกาศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการประชุมสำคัญด้าน AI เช่น การประชุม AI โลก ปี 2025 และเวทีระดับสูงว่าด้วยการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัสเซียยังชื่นชมจีนที่ผลักดันมติ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ AI” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่ UN และพร้อมเปิดรับข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI เพื่อทุกคน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม BRICS และพันธมิตรความร่วมมือ AI พหุภาคี เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ AI ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และเป็นสากล

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'สาหร่าย' คือทองคำเขียวเป็นพืชแห่งอนาคตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตอบโจทย์สร้างรายได้ใหม่เพิ่มความมั่นคงอาหารลดโลกร้อนเร่งยกระดับเกษตรมูลค่าสูงพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายครบวงจร ตั้งเป้าตลาดโลก 2.6 ล้านล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยวันนี้ภายหลังบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่เชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า 

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนา 'สาหร่าย' หรือทองคำเขียวของไทยเป็นพืชและอาหารแห่งอนาคต (Future Crop & Future Food) ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ประเทศและชุมชน ลดการนำเข้าและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของการส่งเสริมสาหร่ายคือ
1. ลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าสาหร่ายติดท็อปเทนของโลก การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและแปรรูปในประเทศจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น บะหมี่สาหร่าย อาหารเสริม เครื่องสำอาง และปุ๋ยชีวภาพ 
2. สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) 2050  สาหร่ายช่วยดูดซับ CO₂ ได้มากกว่าไม้บก5เท่าและเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 สอดคล้องกับทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ  
3. ขยายผลสู่ชุมชน 50 จังหวัด ผ่านความร่วมมือของกรมประมง และเครือข่ายวิจัย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) และฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่เกษตรกร
4. ต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียว แปรรูปสาหร่ายเป็น พลาสติกชีวภาพ(Bioplastic)และ น้ำมันชีวภาพ (Biofuel)ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้ 

ทั้งนี้เริ่มมีการพัฒนาสาหร่ายอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy)ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในขณะนั้นรับนโยบายมาส่งเสริมสาหร่ายทะเล(Seaweed)และสาหร่ายน้ำจืดตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูปและการตลาด 

โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดเร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธ์ุดำเนินการในพื้นที่ 50จังหวัด แบ่งเป็น 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวมกทม.และอีก 28 จังหวัดโดยความร่วมมือระหว่าง กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงอว.  สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาเอสเอ็มอี. มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC: Agritech and Innovation Center) มีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดทั่วประเทศเช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแหลมผักเบี้ยและฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่ฟาร์มเกษตรกร

โดยพัฒนาสาหร่ายเป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product)สร้างแหล่งอาหารและรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ

ยิ่งกว่านั้นยังมีการพัฒนาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกว่า40ปีโดยคุณเจียมจิตต์ บุญสม ผู้ตั้งชื่อ 'สาหร่ายเกลียวทอง' โดยขยายผลเป็น“บุญสมฟาร์ม”ที่อำเภอแม่วาง เชียงใหม่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย(ALEC) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ร่วมกับปตท.พัฒนาสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 20 ปีโดยเฉพาะโครงการน้ำมันชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว

ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทหันมาพัฒนาสาหร่ายเชิงพาณิชย์เช่น บริษัทบางจากฯ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทล็อกซเล่ย์บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทเถ้าแก่น้อย บีจีซี (BGC) และ บริษัทOverDaBlueซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ รวมทั้งโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในกระชังของมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตร่วมกับชุมชนชาวประมงที่จังหวัดกระบี่และเป็นต้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมนและอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า "สาหร่ายไม่ใช่แค่พืชท้องถิ่น แต่เป็น“ทองคำเขียว”ที่จะพลิกโฉมเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของไทยและของโลกในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
1. อุตสาหกรรมอาหาร สาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 77%ของตลาด (ปี 2024) โดยเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป อาหารเสริม และเครื่องดื่ม  ตัวอย่างเช่น สาหร่ายโนริ วากาเมะ และผงสาหร่ายในผลิตภัณฑ์วีแกน  
2. อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง โดยสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่นฟูคอยแดนและแอลจีเนตสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยา  
3. ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม สาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂ ) มากกว่าต้นไม้5เท่า และใช้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Packaging)  เช่นบริษัทZeroCircleของอินเดีย
4. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ความต้องการเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันชีวภาพพลังงานทางเลือก และน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย อเมริกา ไอซ์แลนด์ และล่าสุด อินเดียตั้งเป้าผลิต 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2025

การส่งออกเป็นอีกเป้าหมายสำคัญเพราะมูลค่าตลาดโลกของสาหร่ายใน ปี 2024สูงถึง 35.35 พันล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท)ทั้งตลาดการเพาะเลี้ยงและตลาดสาหร่ายเชิงพาณิชย์ คาดการณ์ปี 2025 จะเพิ่มเป็น 50.03 พันล้านดอลลาร์(1.6 ล้านล้านบาท) และ 80 พันล้านดอลลาร์ (2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ด้วยอัตราเติบโดปีละกว่า 12.1%.“

ปิดฉากความสำเร็จ 'ผู้นำเมืองรุ่น 10' ม.นวมินทราธิราช มอบเข็มเกียรติยศอย่างชื่นมื่น

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.68) ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ชั้น B2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรพร้อมเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง ( ผู้นำเมือง รุ่น 10 ) โดยมี รศ.มนูธรรม มานวธงชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย กล่าวรายงานผลการศึกษาอบรมหลักสูตร พร้อมด้วย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้สำเร็จการศึกษาอบรม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี 

ทั้งนี้ นายพินิจ จารุสมบัติ ตัวแทนหลักสูตรผู้นำเมือง รุ่น 10 มอบทุนการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท

สำหรับโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง จัดโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2567 - 8 พฤษภาคม 2568 ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการประจำสังกัดหน่วยงานภาครัฐและกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองของกรุงเทพมหานครและระดับประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน

ซึ่งการศึกษาอบรมหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงที่มาจากทุกภาคส่วน ได้รับการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ในทุกมิติพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างบูรณาการและยังยืน

สำหรับผู้ที่จบหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมืองรุ่นที่ 10 จะนำความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็น จากการอบรม อันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการทำงาน ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการบูรณาการความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาเมือง สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ โดยผู้นำเมือง รุ่นที่ 10 รุ่นนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า 'ผู้นำเมืองรุ่นแผ่นดินไหว'

ภายหลังพิธีมอบประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง (ผู้นำเมือง รุ่นที่ 10) ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในช่วงค่ำของวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมการรุ่นได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดี ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์

ภายในงานเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความอบอุ่น ผู้เข้าอบรมต่างร่วมแสดงความยินดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเก็บเกี่ยวความทรงจำร่วมกันอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมการแสดงและกิจกรรมที่สร้างสีสันและรอยยิ้มตลอดค่ำคืน

งานเลี้ยงครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากการเดินทางของ 'ผู้นำเมือง รุ่นที่ 10' อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเปิดประตูสู่การเดินหน้าของเหล่าผู้นำในภารกิจร่วมพัฒนาเมืองไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ชมรมลูกเสือรัฐสภาไทยประชุมพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษา พร้อมเดินหน้าขยายสมาชิกและจัดกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคี

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 402 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ประธานกรรมการบริหารชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ครั้งที่ 2/2568 โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาชมรมฯ จำนวน 10 ท่าน เพื่อร่วมสนับสนุนภารกิจของชมรมฯ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งที่ปรึกษาชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ได้แก่ รองศาสตราจารย์อาณัฐชัย รัตตกุล, นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว, นายอนิรุทธ์ สิงหศิริ, ว่าที่ร้อยตรี บุญชัย ดำรงโภคภัณฑ์, นายพงศ์เดช วิบูลย์ธนสาร, นายเกรียงไกร จันทร์หงษ์, นายสมชาย จรรยา, นายสามารถ ทับศรีนวล, พันตำรวจเอก อธิการ อัครกุล และว่าที่พันตำรวจตรีหญิงวรัญญา รอดวิไล

ในการประชุมยังได้หารือแนวทางการขยายจำนวนสมาชิกชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสามัญที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 22 คน และสมาชิกวุฒิสภา 13 คน ถือว่ายังมีจำนวนน้อย จึงเห็นควรมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนทั้งสมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่สมัครเข้าร่วมชมรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านแนวทางการดำเนินกิจกรรมของชมรมฯ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการวางแผนจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยจัดทำร่างโครงการพร้อมกำหนดงบประมาณ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความปรองดองระหว่างสมาชิกรัฐสภาเดิม ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผ่านกิจกรรมในแนวทางลูกเสือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ที่ประชุมยังได้เสนอแนวคิดจัดอบรมความรู้ทางการลูกเสือให้กับสมาชิกรัฐสภาที่สนใจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและสังคม อีกทั้งส่งเสริมการเผยแพร่กิจการลูกเสือให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรลูกเสือ และแสวงหาการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมชมรมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องแบบลูกเสือ โดยยึดตามกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ. 2510 ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะสวมเครื่องแบบลูกเสือได้ต้องผ่านการอบรมที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติรับรอง โดยมีมติเห็นชอบให้ออกแบบและจัดทำแบดจ์ติดแขนเสื้อด้านซ้าย สำหรับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรลูกเสือจากชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นลูกเสือรัฐสภาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำรับบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมตั้งเป้าขับเคลื่อนชมรมให้มีบทบาทมากขึ้นทั้งในระดับรัฐสภาและสังคมส่วนรวม

12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 วันก่อตั้ง ‘สวนโมกขพลาราม’ สถานปฏิบัติธรรมอันสงบและร่มรื่น

‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ คือหนึ่งในภิกษุที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ แม้ปัจจุบันท่านจะละสังขารไปกว่า 30 ปี แต่ยังมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ นั่นคือ ‘สวนโมกขพลาราม’ วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 89 ปี ของการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้

สวนโมกขพลาราม ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 แต่เดิม ณ สถานที่แรก สร้างขึ้นที่วัดร้างตระพังจิก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในครั้งนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยโยมน้องชาย และคณะธรรมทานอีก 4-5 คน ได้ออกเสาะหาสถานที่ที่มีความวิเวก และเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

กระทั่งได้มาเจอกับวัดร้างแห่งนี้ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ จึงได้จัดทำเพิงที่พักแบบเรียบง่าย พร้อมกับเข้าอยู่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในปีนั้นพอดี โดยที่มาของชื่อ ‘สวนโมกขพลาราม’ เนื่องมาจากบริเวณวัดดังกล่าวมีต้นโมก และต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยนัยว่า ‘เป็นสวนป่าอันมีกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์’

ต่อมาในปี พ.ศ.2486 สวนโมกข์ได้ย้ายมาอยู่ที่ ‘วัดธารน้ำไหล’ บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยท่านพุทธทาสมีความปรารถนาให้สวนโมกข์เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม ภายในวัดจึงมีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งมีภาพพุทธประวัติมากมาย

นอกจากนี้รอบบริเวณวัดยังเป็นสวนป่าร่มรื่น ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรม โดยปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป ต่อมาภายหลังจากท่านพุทธทาสมรณภาพในปี พ.ศ.2536 สวนโมกข์แห่งนี้ก็ยังคงมีพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน เดินทางมาตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์อยู่เรื่อยมา นับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 93 ปี สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยฝึกจิต ชำระใจ และนำทางผู้คนให้ค้นพบกับความสงบ เหมือนดังเช่นที่เป็นมานับจากวันแรก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิด 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อเก็บรักษา รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์แต่ละยุคสมัย เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยหินใหม่ ถึงสมัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี เช่น วัฒนธรรมลาวโซ่ง เป็นต้น

สำหรับการก่อตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2446 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง จากนั้นก็ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี รวมถึงทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดีขึ้นมา

จากนั้นก็ได้มีการสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทอง และในปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรก็ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นี้ขึ้นมาเป็นอาคารชั่วคราว เพื่อไว้เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทองค่ะ จนมาในปี พ.ศ.2508-2509 กรมศิลปากร ก็ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้นแบบถาวร และเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

80 ปี วันแห่งชัยชนะ!! ‘ปูติน’ ซูฮก..บทบาทนานาชาติในโอกาสรำลึกชัยชนะเหนือนาซี ชวนชาวรัสเซียยึด ‘ทหารผ่านศึก’ เป็นแรงบันดาลใจ

(9 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยย้ำถึงความสามัคคีของชาวรัสเซียที่ยึดมั่นในเกียรติและความเสียสละของคนรุ่นก่อน ซึ่งสามารถเอาชนะนาซีและนำอิสรภาพมาสู่มวลมนุษยชาติ พร้อมยกให้ 'วันแห่งชัยชนะ' เป็นวันหยุดที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียจะยังคงเป็น 'กำแพงที่ไม่สามารถทำลายได้' ต่อลัทธิฟาสซิสต์ และยืนหยัดต่อสู้กับความโหดร้ายทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนและภาคภูมิใจในผู้เข้าร่วมหน่วย 'ปฏิบัติการพิเศษ' ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณแห่งการเสียสละเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน

ทั้งนี้ ปูตินเน้นว่าชัยชนะเหนือลัทธิฟาสซิสต์เป็นผลจากความร่วมมือของนานาชาติ และรัสเซียซาบซึ้งในบทบาทของพันธมิตรอย่างยิ่ง เขาเรียกร้องให้ชาวรัสเซียยึดถือทหารผ่านศึกเป็นแบบอย่างแห่งความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นในการปกป้องชาติอย่างไม่มีวันยอมแพ้

‘ส้มฉุน’ Tiktoker การเมือง – อดีต พธม. ฝากถึง ‘อาสนธิ’ เคยหนุน ‘อาสนธิ – ลุงกำนัน - ลุงตู่ ’ วันนี้ขอเชียร์ ‘พีระพันธุ์’ คนที่ทำเพื่อชาติ

นายทวนชัย ไหมสีทอง เจ้าของช่อง Tiktok ‘ส้มฉุน ชาแนล V1’ ซึ่งเป็นแฟนคลับของพรรครวมไทยสร้างชาติ และในอดีตเคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่ม กปปส. ได้ออกมากล่าวถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ โดยระบุว่า สวัสดีครับคุณอาสนธิ ผมขออนุญาตเรียกอานะครับ 

ผมแค่อยากออกมายืนยันอีกหนึ่งเสียงว่าผมไม่ใช่ io พวกเราไม่ใช่ io ของพีระพันธุ์ครับ หากแต่พวกเราเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่อยากจะสนับสนุนคนที่เราเห็นว่าพี่ตุ๋ย-พีระพันธุ์ เป็นคนดีที่น่าจะนำพาประเทศไทยไปได้  มันไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะว่าครั้งหนึ่งผมก็เคยสนับสนุนคนดีอย่างคุณอาสนธิไงครับ ไม่ใช่แค่ผม แต่ทุกคนในครอบครัวผมไม่ว่าพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว แม่และพี่ ๆ ของผมทั้งหมดได้เข้าร่วมและสนับสนุนคุณอาสนธิและพันธมิตรมาตลอด คุณพ่อ พี่สาว ก็เคยเดินทางมากรุงเทพเพื่อร่วมชุมนุมกับพันธมิตร สินค้าต่าง ๆ ทางครอบครัวผมก็ได้ใช้ เพราะถือว่าทำอะไรก็ได้ที่เราสามารถสนับสนุนคนดีๆได้ 

ผ่านมาจนวันนี้ ผมได้เจอคนดีหรือคิดว่าดีชื่อพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แล้วทำไมผมจะต้องรีรอที่จะสนับสนุนคนนี้  คนที่เข้ามาแก้ปัญหาพลังงานให้กับคนไทย 70 ล้านคน คนที่กล้าบอกว่าต่อสู้กับทุนพลังงาน สำหรับคนที่คุณอาสนธิบอกว่าชื่อสารัถนั้น โดยส่วนตัวผมไม่ได้ทราบอะไรเป็นการส่วนตัวครับ ทราบว่าเป็นเจ้าของบริษัท Gulf และไม่ได้ทราบรายละเอียดว่าฟาดฟันกับพี่ตุ๋ย-พีระพันธุ์ตามที่คุณอาสนธิเล่าหรือไม่ สิ่งที่เราได้จากพรรคคือการนำเสนอผลงานว่าพรรคเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้างภายใต้ความรับผิดชอบที่เราได้รับคือกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม    

ส่วนเรื่องการร้องเรียนหลาย ๆ เรื่องนั้นโดยเฉพาะเรื่องล่าสุดคือการบริจาคถุงยังชีพนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการ หากว่าปปช. หรือศาลพิจารณาแล้วว่ามีความผิด เราก็น้อมรับ พี่ตุ๋ยอยู่เราก็อยู่ พี่ตุ๋ยออกเราก็ออก แต่เราจะเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยเสมอ ไม่ว่าพี่ตุ๋ยจะยังอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ การได้อยู่ใกล้คนดี ๆ มักจะนำมาซึ่งความดีเสมอ 

สุดท้ายผมอยากบอกคุณอาสนธิว่าพวกเราเป็นคนที่มีแนวทางเดียวกันที่ร่วมสนับสนุนพี่ตุ๋ยจริงๆ พวกเราไม่ใช่ io เรามีความรู้สึก เราเสียใจ เราร้องไห้ และเราก็มีความรัก เรามีอาสนธิคือสิ่งที่เป็นแนวทางให้มาถึงทุกวันนี้ ทักษิณก็มีเสื้อสีแดง พิธามีเสื้อสีส้ม เป็นสัญลักษณ์ อาสนธิมีความรักคือเสื้อสีเหลืองที่บ้านผมมีความรักที่จะสวมใส่ พวกเราก็มีเสื้อพังให้พวกเราแสดงออกความรัก สนับสนุนพี่ตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นขออนุญาตบอกว่าพวกเราไม่ใช่ io ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top