Friday, 9 May 2025
TheStatesTimes

นราธิวาส-ผู้ว่าฯ นราธิวาส มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อำเภอแว้ง 

(13 มี.ค. 68) ที่ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย ทันตแพทย์หญิง ปิยนาถ บุณฑริก รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส, นางเปรมวดี ขวัญเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ แก่ผู้ที่ได้รับผล กระทบ จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอแว้ง จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 68 เวลา 19.09 น. มีคนร้ายไม่ทราบชื่อ จำนวน 2 คน ขับรถพ่วงข้างบรรทุกวัตถุระเบิด มาจอดใกล้บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอแว้งที่ 3 หมู่ที่ 2 ตำบลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้เกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอแว้งที่ 3 และประชาชนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 30 ราย  เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอแว้งที่ 3 จำนวน 16 นาย  และประชาชน 14 ราย 

ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่อำเภอแว้ง จำนวน 30 รายๆ ละ 10,000.- บาท และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดจังหวัดนราธิวาส  จำนวน 15 รายๆ ละ 2,000.- บาท 

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้พบปะพูดคุยและให้กำลังใจสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนฯ และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ฯ ในครั้งนี้ ด้วย


 

หลวงปู่มหาศิลา จัดงานพิธีวางศิลาฤกษ์ พระธาตุเจดีย์โนนสาวเอ้ ณ ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจันโท คนแห่ร่วมงานนับหมื่น !

(13 มี.ค. 68) เมื่อเวลา 09.00น. หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโืท  ได้จัดงานพิธีวางศิลาฤกษ์ “ พระธาตุเจดีย์โนนสาวเอ้ ” ณ ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจันโท ต.เชียงเครือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ 

โดยมีพระเดชพระคุณ เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาส วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กทม. เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโท ท่านเจ้าคุณเทียนชัย ชยทีโป วัดเทพสรธรรมาราม จ.ปทุมธานี ท่านเจ้าคุณสุริยันต์ วัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม ท่านเจ้าคุณต้อม วัดท่าสะแบง จ.ร้อนเอ็ด พร้อมคณะสงฆ์และ เกจิอาจารย์อีกจำนวนมาก 

โดยมี คุณชายแจ๊ค-หม่อมราชวงศ์ โสรัจจ์ วิสุทธิ บุตรชายคนเล็กของหม่อมเจ้าหญิงสุลัภวัลเลง วิสุทธิ (สกุลเดิม สวัสดวัตน์) พระขนิษฐาของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อม ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หลายหมู่เหลา รวมถึงประชาชนจากทั่วสารทิศ  คณะลูกศิษย์จาก ธรรมอุทยานหลวงปู่มหาศิลา และ คุณครูทับทิม วรา ที่ถือว่าเป็นคนสำคัญที่ หลวงปู่มหาศิลา ได้เลือกให้เป็นคนนำสร้าง พระธาตุเจดีย์ โนนสาวเอ้ ร่วมถึงประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานพิธีหลายพันคน

โดยก่อนหน้านี้2 วันได้เกิดฝนตกตลอดทั้งคืนทั้งวันจนถึงวันงานพิธีช่วงเช้าเกิดฟ้าครึ้มฝนตกเป็นละออง จนช่วงเวลาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ หลวงปู่มหาศิลา ท่านมองขึ้นไปบนท้องฟ้าพร้อมกับชี้นิ้วขึ้นไปแล้วก้มหน้าท่องอะไรบางอย่าง จากนั้นท้องฟ้าที่มืดครึ้มก็เกิดสว่างขึ้นแสงแดดเริ่มออก พร้อมทั้งเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกรด จนทำให้ผู้ที่มาร่วมงานกล่าวคำว่าสาธุ ซึ่งหลวงปู่ศิลาก็ยิ้มและหัวเราะอย่าง อารมณ์ดีใจซึ่งทำให้เหล่าศิษย์ยานุศิษย์ที่มาร่วมงานต่างๆ ต่างมองดูบนท้องฟ้า ในสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าคนหลายพันคน ภายหลังจากเสร็จพิธีวางศิลาฤกษ์  คุณจารุณี จอมทรักษ์ พร้อมทีมงานธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา ศิริจันโท ได้น้อมถวาย ทองคำแท่ง น้ำหนัก 20 บาท แด่หลวงปู่ศิลา พร้อมถวายทองคำแท่งน้ำหนัก 10 บาท ถวายแด่พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ  เจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น จ. มหาสารคาม  และน้อมถวายทองคำแท่งน้ำหนัก 10 บาท แด่ พระอาจารย์ต้อม วัดท่าสะแบง จ.ร้อยเอ็ด 

จากนั้นท่านเจ้าประคุณ สมเด็จ พระธีรญาณมุนี หลวงปู่ศิลา และพระเกจิอาจารย์ รวมถึงข้าราชการทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้มงคล หลังจากนั้นท้องฟ้าที่มืดครึ้มก้อนเมฆก็จางหายไปแสงแดดกลับมาสว่างจ้าเหมือนเดิม 

โดยในการสร้าง พระธาตุเจดีย์ โนนสาวเอ้ หลวงปู่มหาศิลา ได้บอกไว้ว่าต้องให้ครูทับทิม หรือ คุณครูทับทิม วรา ทำถึงจะสำเร็จ สำหรับท่านใดที่สนใจจะร่วมบุญเพื่อสร้างพระธาตุเจดีย์  โนนสาวเอ้ และปรับภูมิทัศน์ภายในธรรมะอุทยานหลวงปู่มหาศิลาสามารถร่วมบุญได้ที่บัญชี

ธนาคารกรุงไทย หมายเลขบัญชี 404-357378-2
ชื่อบัญชี : มูลนิธิธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจันโท เพื่อสร้างพระธาตุเจดีย์และปรับภูมิทัศน์ ( บัญชีนี้ บัญชีเดียว เท่านั้น )

ถนนสาย R11 เชื่อมมิตรภาพ 75 ปี ไทย-ลาว หนุนการค้าการลงทุน - ท่องเที่ยวระหว่าง 2 -ประเทศ

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA เปิดเผยว่า การพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน -สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง ได้ถูกออกแบบให้เป็นถนน 2 ช่องจราจรตามมาตรฐานทางหลวงอาเซียน โดยเป็นส่วนสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ (CVEC) ซึ่งมุ่งเสริมสร้างการเชื่อมโยงและการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว เริ่มต้นเชียงใหม่ - ลำพูน - ลำปาง - แพร่ - อุตรดิตถ์ - ด่านภูดู่ - เมืองสังข์ทอง - เวียงจันทน์ รวมระยะทางในประเทศไทยประมาณ 391 กม. ผ่านเข้าสู่ สปป.ลาว ประมาณ 238 กม. รวมระยะทางตามแนวการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ ประมาณ 629 กิโลเมตรเพื่อให้เห็นภาพรวมของแนวการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ที่ สพพ. ได้ให้ความช่วยเหลือทำงการเงินสำหรับโครงการแรก คือ 

(1) โครงการก่อสร้างถนนภูดู่ (อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์) ถึง เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ระยะทางรวม 32 กม. ในวงเงิน 718 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2555 แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2557 (2) โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 ช่วงบ้านตาดทอง-น้ำสัง และเมืองสังข์ทอง ระยะทางรวม 82 กม. ในวงเงิน 1,392 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง เดือนพฤษภาคม 2554 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2557 และ (3) โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน - สานะคาม - บ้านวัง -บ้านน้ำสัง ระยะทางรวม 124 กม. ในวงเงิน 1,826.50 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2562 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเมืองหลักทรงเศรษฐกิจของไทยและสปป.ลาว รวมถึง เชียงใหม่และเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือของไทยและสปป.ลาว ตำมลำดับถนนสายนี้ เชื่อมจาก ด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวร เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ ไปยัง แขวงไชยะบุรี เมืองปากลาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมืองปากลาย โดยเชื่อมต่อจากด่านภูดู่ถึงเมืองปากลายระยะทาง 32 กม. และต่อไปยังเมืองสังข์ทอง แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านโครงการถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงบ้านตาดทอง -น้ำสัง และเมืองสังข์ทอง รวมระยะทาง 82 กม.เส้นทางนี้ เป็น Missing Link สุดท้ายที่เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมของระเบียงเศรษฐกิจ CVEC โดยช่วยลดระยะทางกว่า 234 กิโลเมตร จากเส้นทางเดิม (เชียงใหม่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-ขอนแก่น-หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) ที่มีระยะทางประมาณ 863 กิโลเมตร ทำให้ประหยัดเวลาเดินทางได้มากกว่า 3 ชั่วโมง และมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เส้นทางนี้ ลัดเลาะไปตามแม่น้ำโขง มีทัศนียภาพงดงาม และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในเมืองสานะคาม บ้านวัง และบ้านน้ำสัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของพื้นที่ 1 โดยรวมแล้วการเดินทางจากเชียงใหม่สู่ด่านภูดู่ และเข้าสู่เส้นทาง R11 ผ่านเมืองสังข์ทองไปจนถึงครกข้าวดอ ใช้เวลารวมประมาณ 10 - 11 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและสภาพอากาศ เส้นทางนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างภาคเหนือของไทยกับนครหลวงเวียงจันทน์ แต่ยังเป็นเส้นทางที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของโครงการ R11. สร้างความเชื่อมโยงเชิงกายภาพระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งตามแนว CVEC มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้นทำให้ต้นทุนการเดินทางและขนส่งระหว่างกันลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดน ณ ด่านภูดู่ 2. ส่งเสริมการใช้สินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างของไทย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น 3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและลาว โดยเฉพาะในแขวงไชยะบุรี เมืองปากลาย และแขวงนครหลวงเวียงจันทน์ และเพิ่มโอกาสทางการค้าชายแดนผ่านด่านภูดู่ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวร 4. สนับสนุนการท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 5. ลดระยะทางและระยะเวลาการเดินทาง และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในเส้นทางอาเซียน-จีน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ GMS (Greater Mekong Subregion)

นายกฯ เมืองผู้ดีสั่งยุบ ระบบบริการสาธารณสุข (NHS) ตามแนวทาง 'ทรัมป์' ลดขนาดรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย

(14 มี.ค. 68) สำนักข่าวเดอะไทมส์ รายงานว่า เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้ประกาศยุบหน่วยงาน NHS England ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ดูแลระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) โดยให้เหตุผลว่าต้องการลดระบบราชการที่ซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณของประเทศ

การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการย้อนกลับการปรับโครงสร้าง NHS ที่เกิดขึ้นในปี 2012 โดยรัฐบาลผสมของพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีประชาธิปไตย โดยนายสตาร์เมอร์ระบุว่าการยุบ NHS England จะนำการบริการสาธารณสุขกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวได้สร้างความกังวลในหมู่สหภาพแรงงานและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เนื่องจากเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของพนักงานและคุณภาพการบริการ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าการยุบหน่วยงานอาจนำไปสู่การสูญเสียงานของพนักงาน NHS England กว่า 9,500 ตำแหน่ง

ในขณะเดียวกัน นักวิจารณ์บางส่วนตั้งคำถามว่าการยุบ NHS England จะช่วยลดระบบราชการและประหยัดงบประมาณได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนของการปรับโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่เช่นนี้

การประกาศยุบ NHS England ครั้งนี้ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของรัฐบาลในการลดขนาดหน่วยงานรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยถูกนำเสนอโดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการยุบ NHS England และวิธีการจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบบริการสาธารณสุขและพนักงานที่เกี่ยวข้อง

15 มีนาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เลิกเล่นการพนัน

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการเลิกเล่นการพนัน ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2458 โดยถือว่าการเล่นการพนันเป็นของต้องห้ามและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 

จากพระบรมราชโองการดังกล่าว ทำให้มีการลดจำนวนโรงหวยและเบี้ยให้ลดน้อยลง ในการพนันกลุ่มที่ถูกยกเลิกนี้ รวมถึงอากรหวยจีน หรือ หวย ก ข ที่เป็นการเสี่ยงโชค เป็นความหายนะสู่ผู้มัวเมาหลงเล่นนำความเสื่อมโทรมแห่งราษฎร

ทั้งนี้ ก่อนปีพุทธศักราช 2459 ประชาชนพลเมืองโดยมากได้พากันลุ่มหลงในการเสี่ยงโชคลาภด้วยหวย ก.ข. ในคราวเทศกาลออกพรรษาปีหนึ่งๆ จะได้เห็นชาวชนบทพากันหลั่งไหลนำเงินเข้ามาโปรยปรายแทงหวย ก.ข. ในกรุงเทพมหานครอย่างล้นหลาม แต่การเสี่ยงโชคด้วยหวย ก.ข. และบ่อนเบี้ยนั้นนำความหายนะสู่ผู้มัวเมาหลงเล่นโดยไม่ค่อยรู้สึกเลย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาถึงความเสื่อมโทรมแห่งราษฎรของพระองค์ดำเนินไปในทำนองนี้จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยกเลิกอากรหวยเสีย และเลิกอากรบ่อนเบี้ยที่ยังมีอยู่ในพระนครในปี พ.ศ. 2460 รายได้ในอากรบ่อนเบี้ยและหวย ก.ข. จากขุนบาล 2 ประเภทนี้นำเงินเข้าสู่ท้องพระคลังได้ปีหนึ่งๆ นับจำนวนร่วม 10 ล้านบาท แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังได้ทรงสละเสียอย่างง่ายดาย ซึ่งพระองค์ได้ทรงเห็นภยันตรายแก่ทวยราษฎร์สยามนั่นเอง

Good Samaritan law: กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ข้อบัญญัติที่ช่วยปกป้องบุคคลผู้ไม่เพิกเฉยต่อเพื่อนมนุษย์

เรื่องของ 'การทำคุณบูชาโทษ' ทำให้เกิดความเข็ดขยาดในหมู่พลเมืองดีผู้ที่มีจิตใจอันเป็นกุศลที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะช่วยเหลือเหล่าบรรดาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้มีความตั้งใจและเจตนาอันในการช่วยเหลือผู้คน แต่กลับกลายมาเป็นคนผิด หรือกระทั่งตกเป็นจำเลยจากการฟ้องร้องจากผู้ที่ได้ให้ความช่วยเหลือหรือครอบครัวของคนเหล่านั้น ซึ่งเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายในหลายๆสังคมและประเทศ 

ดังนั้น ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการออกกฎหมายที่เรียกว่า 'Good Samaritan law' หรือ 'กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี' เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันการกระทำด้วยเจตนาดีเพื่อช่วยเหลือผู้คนของพลเมืองดีผู้ที่มีจิตใจอันเป็นกุศลเหล่านั้น คำว่า “Samaritan” เป็นคำนามที่หมายถึง คนที่ทำความดี, คนที่ให้ช่วยเหลือแก่ผู้อื่น โดย “กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี” เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ ป่วย อยู่ในอันตราย หรือไร้ความสามารถ การคุ้มครองพลเมืองดีเพื่อจุดมุ่งหมายในการลดความลังเลของผู้เห็นเหตุการณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวจะถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเสียชีวิตโดยผิดกฎหมาย 

กฎหมายดังกล่าวเป็นหลักการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้ผู้ช่วยเหลือที่ช่วยเหลือเหยื่อที่เดือดร้อนโดยสมัครใจถูกฟ้องร้องในข้อหากระทำผิด วัตถุประสงค์คือเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้คนลังเลที่จะช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวผลที่ตามมาทางกฎหมาย หากพวกเขาปฏิบัติผิดพลาดบางประการ ในทางตรงกันข้าม กฎหมายหน้าที่ในการช่วยเหลือกำหนดให้ผู้คนในเหตุการณ์เหล่านั้นต้องให้ความช่วยเหลือ และถือว่าผู้ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือต้องรับผิดชอบต่อผลจากการปฏิเสธหรือเพิกเฉยละเลย กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตอำนาจศาล เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์กับหลักการทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น ความยินยอม สิทธิของผู้ปกครอง และสิทธิในการปฏิเสธการรักษา กฎหมายดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับใช้กับพฤติกรรมการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือผู้ที่มีอาชีพตอบสนองเหตุฉุกเฉินประจำ แต่กฎหมายบางประเทศได้ขยายการคุ้มครองไปยังนักกู้ภัยอาชีพเมื่อพวกเขาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร

หลักการที่มีอยู่ในกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักใช้ในประเทศที่ระบบกฎหมายเป็นกฎหมายทั่วไปของอังกฤษ ในหลายประเทศที่ใช้กฎหมายแพ่งเป็นรากฐานของระบบกฎหมาย ผลทางกฎหมายแบบเดียวกันนี้มักจะเกิดขึ้นโดยใช้หลักการของหน้าที่ในการกู้ภัย กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากแต่ละกฎหมายได้รับการร่างขึ้นโดยอิงตามการตีความของผู้ให้บริการที่ได้รับการคุ้มครองในแต่ละพื้นที่ รวมถึงขอบเขตการดูแลที่ครอบคลุม ดังปรากฏในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

ออสเตรเลีย รัฐและเขตการปกครองของออสเตรเลียส่วนใหญ่มีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายเหล่านี้จะให้การคุ้มครองหากได้รับการดูแลด้วยความตั้งใจ และ "พลเมืองดี" จะไม่ได้รับผลกระทบจากยาหรือแอลกอฮอล์ มีความแตกต่างระหว่างรัฐ ตั้งแต่ไม่บังคับใช้หาก "พลเมืองดี" เป็นสาเหตุของปัญหา (นิวเซาท์เวลส์) ไปจนถึงบังคับใช้ในทุกสถานการณ์หากพยายามด้วยความตั้งใจ (วิกตอเรีย)

เบลเยียม กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของเบลเยียมกำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในการช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง โดยไม่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง (มาตรา 422 ประมวลกฎหมายอาญา)

แคนาดา กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของจังหวัด แต่ละจังหวัดมีกฎหมายของตนเอง เช่น กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบีย ตามลำดับ กฎหมายความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินของอัลเบอร์ตา นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ ยูคอน และนูนาวุต และกฎหมายบริการอาสาสมัครของโนวาสโกเชีย เฉพาะในควิเบก ซึ่งเป็นเขตอำนาจศาลแพ่งเท่านั้นที่บุคคลมีหน้าที่ทั่วไปในการตอบสนองตามรายละเอียดในกฎบัตรสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของควิเบก ตัวอย่างกฎหมายทั่วไปของแคนาดามีอยู่ในรัฐบัญญัติพลเมืองดีของออนแทรีโอ ปี 2001 มาตรา 2 
การคุ้มครองจากความรับผิด 2. (1) แม้จะมีกฎหมายทั่วไป แต่บุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา (2) ซึ่งให้บริการตามที่อธิบายไว้ในมาตราดังกล่าวโดยสมัครใจและไม่มีการคาดหวังค่าตอบแทนหรือรางวัลตอบแทนที่สมเหตุสมผล จะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการกระทำหรือการไม่กระทำในขณะให้บริการ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลนั้น 2001, c. 2, s. 2 (1).

จีน มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศจีน เช่น เหตุการณ์ของเผิงหยูในปี 2006 ซึ่งพลเมืองดีที่ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำร้ายเหยื่อเสียเอง ในปี 2011 เด็กหญิงวัยเตาะแตะชื่อหวางเย่เสียชีวิต เมื่อเธอถูกรถสองคันชน เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในวิดีโอ ซึ่งแสดงให้เห็นผู้คน 18 คนเห็นเด็กบาดเจ็บ แต่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ ในการสำรวจเดือนพฤศจิกายน 2011 คนส่วนใหญ่ 71% คิดว่า คนที่เดินผ่านเด็กไปโดยไม่ช่วยเหลือด้วยเพราะต่างเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว China Daily รายงานว่า "หน่วยงานและองค์กรของพรรคและรัฐบาลอย่างน้อย 10 แห่งในกวางตุ้ง รวมถึงคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายของมณฑล สหพันธ์สตรี สถาบันสังคมศาสตร์ และสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการลงโทษผู้ที่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างชัดเจน" เจ้าหน้าที่ของมณฑลกวางตุ้ง พร้อมด้วยทนายความและนักสังคมสงเคราะห์จำนวนมาก ได้จัดการประชุมเป็นเวลา 3 วันในนครกว่างโจว เมืองหลวงของมณฑล เพื่อหารือเกี่ยวกับคดีนี้ มีรายงานว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนของมณฑลได้ร่างกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ซึ่งจะ "ลงโทษผู้ที่ไม่ช่วยเหลือในสถานการณ์ประเภทนี้และต้องชดใช้ค่าเสียหายถ้ามีการฟ้องร้อง" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสาธารณชนได้ถกเถียงกันถึงแนวคิดนี้เพื่อเตรียมการสำหรับการอภิปรายและการผลักดันทางกฎหมาย ในวันที่ 1 สิงหาคม 2013 กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีฉบับแรกของประเทศมีผลบังคับใช้ในนครเซินเจิ้น และต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีแห่งชาติของจีนมีผลบังคับใช้ในมาตรา 184 ในหลักการทั่วไปของกฎหมายแพ่ง

ฟินแลนด์ รัฐบัญญัติการกู้ภัยของฟินแลนด์กำหนดหน้าที่ในการกู้ภัยอย่างชัดเจนว่าเป็น "หน้าที่ทั่วไปในการกระทำ" และ "มีส่วนร่วมในกิจกรรมการกู้ภัยตามความสามารถของ [บุคคล]" รัฐบัญญัติการกู้ภัยฟินแลนด์จึงรวมถึงหลักการของความสมส่วนซึ่งกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความช่วยเหลือทันทีมากกว่าบุคคลทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญาของฟินแลนด์ กำหนดว่า มาตรา 15 การละเลยการช่วยเหลือ (578/1995) บุคคลที่ทราบว่าผู้อื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตหรืออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของตน และไม่ให้หรือจัดหาความช่วยเหลือดังกล่าวที่พิจารณาจากทางเลือกและลักษณะของสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล จะต้องถูกตัดสินจำคุกไม่เกินหกเดือนในข้อหาละเลยการช่วยเหลือ

ฝรั่งเศส กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหรืออย่างน้อยที่สุดต้องขอความช่วยเหลือ ผู้ที่ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือเกิดจากความผิดพลาด "ร้ายแรง" 

เยอรมนี การไม่ให้การปฐมพยาบาลแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจะถือเป็นความผิดตามมาตรา 323c ของประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือใด ๆ ที่ให้ไปนั้นไม่สามารถและจะไม่ถูกดำเนินคดี แม้ว่าจะทำให้สถานการณ์แย่ลงหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์การปฐมพยาบาลเฉพาะก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ แม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ที่ให้การปฐมพยาบาลยังได้รับความคุ้มครองจากประกันอุบัติเหตุตามกฎหมายของเยอรมนีในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ สูญเสีย หรือเสียหาย

อินเดีย ในปี 2016 เกิดอุบัติเหตุทางถนนในอินเดียประมาณ 480,000 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 150,000 คน กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่พลเมืองดีที่ช่วยเหลือเหยื่ออุบัติเหตุด้วยการดูแลทางการแพทย์ฉุกเฉินภายใน "ชั่วโมงทอง" ดังนั้น ประชาชนจึงได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ แม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม

ไอร์แลนด์ รัฐบัญญัติกฎหมายแพ่ง (บทบัญญัติทั่วไป) ปี 2011 ได้ออกกฎหมายที่กล่าวถึงความรับผิดปกป้องพลเมืองดีหรืออาสาสมัครในสาธารณรัฐไอร์แลนด์โดยเฉพาะ โดยไม่กำหนดหน้าที่ในการแทรกแซง รัฐบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลหรือองค์กรอาสาสมัครไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่ให้ "ความช่วยเหลือ คำแนะนำ หรือการดูแล" แก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย (หรือดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น) โดยมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่เกิด "การกระทำโดยไม่สุจริต" หรือ "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" ในนามของผู้ดูแล และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อ รัฐบัญญัตินี้กำหนดไว้เฉพาะกรณีที่พลเมืองดีหรืออาสาสมัครไม่มีหน้าที่ในการดูแล สภาการดูแลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (PHECC) กล่าวถึงส่วนพลเมืองดีของรัฐบัญญัติกฎหมายแพ่งปี 2011 โดยเฉพาะ และระบุว่า "การใช้ทักษะและยาที่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพที่ลงทะเบียนเท่านั้นจะอยู่ภายใต้รัฐบัญญัติ 'พลเมืองดี' รัฐบัญญัตินี้ถือว่าคุณไม่มีเจตนาที่จะประกอบวิชาชีพในช่วงเวลานี้ และคุณทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี ช่วยเหลือจนกว่าหน่วยบริการฉุกเฉินจะมาถึงที่เกิดเหตุและคุณสามารถส่งมอบตัวได้"

อิสราเอล กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหรืออย่างน้อยที่สุดคือ การร้องขอความช่วยเหลือ บุคคลที่ช่วยเหลือด้วยความจริงใจจะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย ผู้ช่วยเหลือมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ

ญี่ปุ่น มีกฎหมายบางฉบับที่เทียบเท่ากับกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ตัวอย่างเช่น มาตรา 37 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ระบุว่า “การกระทำที่บุคคลถูกบังคับให้กระทำเพื่อป้องกันอันตรายในปัจจุบันต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของตนเองหรือบุคคลอื่นใด จะไม่ถูกลงโทษก็ต่อเมื่ออันตรายที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวไม่เกินอันตรายที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายมากเกินไปอาจนำไปสู่การลดโทษหรืออาจช่วยให้ผู้กระทำผิดพ้นผิดเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์นั้น ๆ” และกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีอีกฉบับหนึ่งปรากฏในมาตรา 698 ของประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น โดยกฎหมายดังกล่าวให้การคุ้มครองผู้ช่วยจากความรับผิด ซึ่งระบุว่า “หากผู้จัดการมีส่วนร่วมในการแทรกแซงธุรกิจของผู้อื่นโดยเจตนาดีเพื่อให้ผู้ว่าจ้างหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตัวผู้ว่าจ้าง ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ผู้จัดการจะไม่ต้องรับผิดในการชดเชยความเสียหายที่เป็นผลจากการกระทำดังกล่าว เว้นแต่ผู้จัดการจะกระทำด้วยความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพยังต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือตามกฎหมาย 

โรมาเนีย การปฏิรูปด้านสุขภาพที่ผ่านในปี 2006 ระบุว่าบุคคลที่หากไม่ได้รับการฝึกอบรมทางการแพทย์หรือให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยสมัครใจตามคำแนะนำของสำนักงานแพทย์หรือจากความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของตนเอง การกระทำด้วยความเต็มใจเพื่อรักษาชีวิตหรือสุขภาพของบุคคลอื่นจะไม่ถือเป็นความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่ง

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี

สหราชอาณาจักร ในกฎหมายทั่วไปของอังกฤษและเวลส์ไม่มีความรับผิดทางอาญาสำหรับการไม่ดำเนินการในกรณีที่บุคคลอื่นตกอยู่ในอันตราย อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับกฎนี้ ในกรณีที่ผู้เห็นเหตุการณ์ยอมรับความรับผิดชอบ สถานการณ์อันตรายเกิดขึ้นโดยพวกเขา หรือมีหน้าที่ตามสัญญาหรือกฎหมายที่จะต้องดำเนินการ ผู้เห็นเหตุการณ์จะต้องรับผิดทางอาญาสำหรับการไม่ดำเนินการ ศาลไม่เต็มใจที่จะลงโทษผู้ที่พยายามช่วยเหลือ ในอังกฤษและเวลส์ รัฐบัญญัติการกระทำทางสังคม ความรับผิดชอบ และความกล้าหาญ 2015 ช่วยปกป้อง "พลเมืองดี" เมื่อพิจารณาการเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเลยหน้าที่ รัฐบัญญัตินี้เป็นหนึ่งในกฎหมายที่สั้นที่สุดในสหราชอาณาจักร โดยมีความยาวเพียง 300 คำเศษ ตั้งแต่ประกาศใช้เป็นกฎหมายจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยถูกใช้อ้างถึงในศาลเลย และถือว่าคลุมเครือ พรรคแรงงานวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านกฎหมายนี้ว่ามีค่าในแนวคิด แต่ขาดความพยายามอย่างจริงจัง

สหรัฐอเมริกา ทั้ง 50 รัฐและเขตโคลัมเบียมีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีบางประเภท รายละเอียดของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีแตกต่างกันไปตามเขตอำนาจศาล รวมถึงใครได้รับการคุ้มครองจากความรับผิดและภายใต้สถานการณ์ใด ตัวอย่างของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ “รัฐบัญญัติความช่วยเหลือทางการแพทย์การบิน ปี 1998” ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ "พลเมืองดี" ขณะอยู่บนเครื่องบิน หรือ “รัฐบัญญัติการบริจาคอาหารพลเมืองดี ปี 1996” ซึ่งให้การคุ้มครองความรับผิดจำกัดแก่ผู้บริจาคอาหาร ส่วนประเทศที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีไห้แก่ ปากีสถาน แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไปของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักมีการผสมผสานหรือการตีความลักษณะที่คล้ายคลึงกันที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในมลรัฐมินนิโซตา เวอร์มอน และโรดไอแลนด์] กำหนดให้บุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุฉุกเฉินต้องให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ความช่วยเหลือนี้อาจทำได้โดยโทร 911 การละเมิดกฎหมายในการทำหน้าที่ในการช่วยเหลือถือเป็นความผิดทางอาญาลหุโทษในมลรัฐมินนิโซตา และอาจต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 ดอลลาร์ในมลรัฐเวอร์มอนต์ มลรัฐอื่น ๆ อย่างน้อยห้ารัฐรวมทั้งแคลิฟอร์เนียและเนวาดาได้พิจารณาอย่างจริงจังที่จะเพิ่มกฎหมายกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือลงในกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี กฎหมายของมลรัฐนิวยอร์กให้สิทธิคุ้มครองแก่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน นโยบายสาธารณะเบื้องหลังกฎหมายมีดังนี้ “การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการของประชาชน การดูแลทางการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล การสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพระหว่างรถพยาบาลและโรงพยาบาล และการดูแลและการขนส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพถือเป็นบริการสาธารณสุขที่จำเป็น”

สำหรับบ้านเราแล้วยังไม่มีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้เลย แต่กลับมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่เพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา (ในส่วนของลหุโทษ) มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นความโชคดีที่พี่น้องประชาชนคนไทยไม่เคยนิ่งดูดายต่อพี่น้องร่วมชาติที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน แม้จะไม่มีกฎหมายคุ้มครองในลักษณะเช่นนี้ก็ตาม หากแต่นักการเมืองไทยที่ทำหน้าที่ในรัฐสภาจะได้ตระหนักถึงเรื่องราวเช่นนี้ และมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ซึ่งทำหน้าที่พลเมืองดีให้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามได้

เมื่อเงาเบื้องหลังขบวนการแบ่งแยกดินแดนลดเงินสนับสนุน สงครามข้อมูลเสื่อมพลัง จำต้องใช้แนวทางรุนแรง ‘ลอบสังหาร – ก่อวินาศกรรม’

เงาแห่งปาตานี : จากกองโจรสู่สงครามข้อมูล ความซับซ้อนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

บทนำ: จากกองโจรสู่สงครามข้อมูล พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย—ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส—เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งด้านความมั่นคงมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่นี้ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด แต่กลับมีโครงสร้างที่หลวม ประกอบด้วยกลุ่มที่มีแนวคิดและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ตั้งแต่แนวคิดการสร้างสาธารณรัฐ (Republic) ไปจนถึงการฟื้นฟูราชอาณาจักรมลายูปัตตานี

ตั้งแต่ยุคของ พูโล (PULO - Patani United Liberation Organization) จนถึงการกำเนิดของ BRN (Barisan Revolusi Nasional) และการพัฒนาสู่แนวทางการต่อสู้เชิงข้อมูลผ่านเงินทุนของ USAID (United States Agency for International Development) ทำให้เห็นว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่กลับมีพลวัตและปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทระหว่างประเทศและกระแสโลก

บทความนี้จะสำรวจพัฒนาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ยุคแรกของการก่อการร้าย ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สงครามข้อมูลและการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของ 'ปาตานี'

บทที่ 1: กำเนิดของพูโลและยุคแรกของการก่อการร้าย (พ.ศ. 2511 – 2530)
1.1 จุดเริ่มต้นของขบวนการพูโล
ปี พ.ศ. 2511 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อกลุ่มพูโลก่อตั้งขึ้นโดยมี ตวนกูวีรอ อับดุลเลาะห์มาน รอเซาะ เป็นผู้นำ บางข้อมูลจะระบุว่า ตวนกูบีรอ กอตอนีลอ หรือ อดุลย์ ณ วังคราม

เป้าหมายของขบวนการนี้คือการประกาศอิสรภาพจากประเทศไทย โดยใช้ วิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธ และอ้างสิทธิ์การฟื้นฟู 'ราชอาณาจักรปัตตานีระยา' พร้อมตั้งตนเป็นราชวงศ์แห่งสายบุรี (ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ถูกสร้างขึ้นมาเอง) พูโลได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายอิสลามหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง และมีฐานฝึกอบรมในมาเลเซีย เงินทุนหลักมาจากตะวันออกกลางและยุโรป เป้าหมายหลักของการก่อเหตุคือ การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ โรงเรียนไทย และโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

1.2 การปราบปรามและการแตกตัวของพูโล
ในช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ. 2530 รัฐบาลไทยเริ่มปราบปรามขบวนการพูโลอย่างจริงจัง ส่งผลให้แกนนำของขบวนการบางส่วนถูกจับกุม บางส่วนถูกสังหาร ขณะที่กลุ่มที่เหลือกระจัดกระจายและหลบหนีออกนอกประเทศ พูโลเริ่มอ่อนกำลังลง และแตกตัวออกเป็นกลุ่มย่อย บางกลุ่มยังคงดำเนินการต่อสู้แบบกองโจร ขณะที่บางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนแนวทางไปสู่สงครามข้อมูลแทน

บทที่ 2: การลี้ภัยของพูโลและการเปลี่ยนผ่านสู่สงครามข้อมูล (พ.ศ. 2530 – 2553)
2.1 การสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ
เมื่อรัฐบาลไทยสามารถปราบปรามพูโลในประเทศได้ ผู้นำบางส่วนต้องหนีไปต่างประเทศ หนึ่งในศูนย์กลางที่สำคัญของขบวนการนี้คือ สวีเดน ซึ่งเป็นที่พำนักของแกนนำอย่าง ตวนกูบีรอ อับดุลเลาะห์มาน รอเซาะ กลุ่มผู้นำที่หลบหนีไปยังสวีเดนเริ่มเปิดแนวรบใหม่ผ่านโลกออนไลน์ พวกเขาก่อตั้งเว็บไซต์ 'มนุษยะดอทคอม' โดยพยายามสร้างเนื้อหาประวัติศาสตร์เท็จ กล่าวอ้างว่าปัตตานีคือรัฐอิสระที่ถูกไทยรุกรานและยึดครอง และมีเป้าหมาย โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพูโล 

2 นักศึกษาไทยมุสลิมที่เป็นผู้ทำเว็บไซต์ งั้นกบดานอยู่ที่บางเขนแยกหลักสี่และเกือบถูกทางการไทยจับได้ แต่สุดท้ายก็ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดนตามรอยขบวนการ
> ช่วงเวลานี้มีการเรียกร้องคืน 'ปืนใหญ่ปัตตานี' โดยอ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของเอกราชของปัตตานี ซึ่งเป็นการสร้างกระแสชาตินิยมเพื่อขยายแนวร่วมในระดับสากล
2.2 การช่วงชิงอำนาจนำจากกลุ่มล้มเจ้าในต่างประเทศ
หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ขบวนการล้มเจ้าจำนวนมากหลบหนีไปอยู่ในยุโรป และพบว่ากลุ่มพูโลที่ลี้ภัยอยู่เป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นักเคลื่อนไหวอย่าง อาจารย์ใจ พยายาม ช่วงชิงอำนาจนำของขบวนการพูโล และผูกโยงขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้ากับขบวนการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วงนี้เองเราจะเห็นเพจพูโล ในเฟสบุ๊ค ในอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรกและเกิดการต่อสู้ทางความคิดผ่านบทความที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงรอยต่อปี 2549 จนถึงปี 2553
ในช่วงนี้เองที่มี ข่าวลือเกี่ยวกับฟ 'ชายชุดดำ' ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น กองกำลังพูโลหรือขบวนการจากสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่สุดท้ายกลับพบว่า ข่าวลือนี้ถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนการเมืองฝ่ายซ้ายในสวีเดน (คนเสื้อแดงที่มีแนวคิดเรื่องคอมมิวนิสต์) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาลไทย

บทที่ 3: การล่มสลายของพูโลและการกำเนิดของ BRN (พ.ศ. 2553 – 2560)
การเปลี่ยนผ่านจากพูโลสู่ BRN
ในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2555 ขบวนการพูโลเริ่มเผชิญกับภาวะล่มสลาย เนื่องจากแนวทางการใช้ความรุนแรงไม่สามารถเอาชนะกองทัพไทยได้สภาวะทางการเมืองไม่สามารถโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างที่คิดหวัง ทำให้การเคลื่อนไหวกลายเป็น สงครามที่ยืดเยื้อและเสียเปรียบเชิงยุทธศาสตร์ อดีตสมาชิกพูโลที่ต้องการสู้ต่อ จึงรวมตัวกันเป็น BRN (Barisan Revolusi Nasional - แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) แต่ BRN ไม่มีโครงสร้างรวมศูนย์ที่ชัดเจน เพราะบางกลุ่มต้องการ รัฐสาธารณรัฐ (Republic) บางกลุ่มยังยึดแนวคิด ราชอาณาจักรมลายูปัตตานี ความหลากหลายที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลทำให้โครงสร้างของ brn มีความเทอะทะอยู่ไม่น้อยและเจรจาได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2560 มีความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย อยู่หลายครั้ง...แต่เพราะความแตกต่างที่ไม่เหมือนพูโล นี้ทำให้ BRN ไม่มีเอกภาพและอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำ ส่งผลให้BRNไม่มีผลงานที่ชัดเจนแน่นอน ส่งผลทำให้เกิด ความล้มเหลวของ BRN ในการเจรจาสันติภาพ การก่อเหตุส่วนใหญ่เน้นไปที่การรักษาสถานการณ์หรือการมีตัวตนของ brn เท่านั้น...

บทที่ 4: USAID และสงครามข้อมูล (พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน)
การเปลี่ยนแปลงจากการใช้กำลังสู่สงครามข้อมูลในโครงสร้าง hybrid warfare
ตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การต่อสู้ด้วยอาวุธที่ดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษเริ่มไม่ได้ผล และกองทัพไทยก็สามารถตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องปรับแนวทางใหม่เพื่อความอยู่รอด

ในช่วงเวลานี้เอง USAID (United States Agency for International Development) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานในด้านการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางสังคม

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจาก USAID ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจหรือการฟื้นฟูชุมชน แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการ เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้จากการก่อการร้ายด้วยอาวุธไปสู่ “สงครามข้อมูล” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเผชิญกับมาตรการทางทหารของรัฐไทยโดยตรง

การสร้างอัตลักษณ์ใหม่: 'Patani Madeka' และสงครามอุดมการณ์ความคิด
หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAID คือ การสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองใหม่ของ 'Patani Madeka' หรือ 'ปาตานีเอกราช' และดึงนักการเมืองขึ้นมาเป็นปากเสียงให้กับผู้ก่อความไม่สงบ...

แนวคิด 'Patani Madeka' ไม่ได้มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการ อ้างสิทธิในการปกครองตนเองและเรียกร้องเอกราช ผ่านการใช้แนวคิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของประชาชน (Right to Self-Determination) ยุทธศาสตร์การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของปาตานีมีหลายองค์ประกอบ ได้แก่:
1. การสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองให้กับ 'ปาตานี'
การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในแบบที่ปรับแต่งใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน การกล่าวอ้างว่าปาตานีเคยเป็นรัฐอิสระที่ถูกไทยรุกราน การใช้ สัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น ธงประจำขบวนการ รัฐธรรมนูญจำลอง และแผนที่ดินแดนที่ถูก 'ไทยยึดครอง'
2. การเปลี่ยน 'มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษา' ให้กลายเป็นสนามรบทางความคิด
ก่อนหน้านี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคยใช้ ปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) เป็นฐานที่มั่นในการปลูกฝังแนวคิดให้เยาวชน

แต่หลังจากมีการปราบปราม แนวทางใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAID คือ การเข้าไปแทรกแซงระบบการศึกษาของไทยโดยตรง นักวิชาการและนักศึกษาถูกปลูกฝังแนวคิด 'Patani Madeka' ผ่านงานวิจัย วิชาเรียน และโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
3. การใช้นักการเมืองและโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธหลัก
มีการผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีในรูปแบบใหม่ที่เน้นการกดขี่โดยรัฐไทย
การสร้างกระแสใน Facebook, Twitter, YouTube และ TikTok เพื่อเผยแพร่แนวคิดของขบวนการ

การใช้นักการเมืองอินฟลูเอนเซอร์และสื่อกระแสรอง เพื่อให้แนวคิด 'Patani Madeka' ถูกพูดถึงมากขึ้น และผลักดันสิ่งเหล่านี้ขึ้นในสภา

4. การผลักดันผ่านเวทีระหว่างประเทศ
การนำประเด็นปาตานีเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN), องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, และสื่อระดับโลก
การใช้แนวคิดเดียวกับ 'Catalonia Model' ของสเปน ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชโดยใช้กฎหมายและประชามติแทนการใช้กำลังอาวุธ

การแทรกแซงมหาวิทยาลัย: เปลี่ยนจาก 'นักรบ' เป็น 'นักเคลื่อนไหว'
ก่อนหน้านี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยายามสร้างแนวร่วมผ่านการฝึกอาวุธและใช้กองกำลังติดอาวุธ แต่หลังจากความพยายามนี้ล้มเหลว แนวทางใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAID คือ การใช้สถาบันการศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการปลูกฝังแนวคิด ระดับอาจารย์ มีการสนับสนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ 'สิทธิในการปกครองตนเอง'

งานวิจัยหลายฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ 'การคืนเอกราชให้ปาตานี'

ระดับนักศึกษา
นักศึกษาถูกดึงเข้าสู่ขบวนการผ่านกิจกรรมเสวนา งานวิจัย และกลุ่มเคลื่อนไหว
มีการใช้ทุนการศึกษาและโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อดึงนักศึกษาเข้าสู่แนวคิดนี้
อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 แนวคิดนี้กลับมีการชะลอตัวเนื่องจากสภาพการเมืองในประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของกลุ่ม permas ที่เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม 3 นิ้วนั้นไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการต่อสู้ทางการเมือง เคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นนี้ส่วนมากถูกจับ ส่งผลทำให้แนวคิดนี้เกิดการชะลอตัว

เงามืดหลังปี 2567: การลดลงของเงินทุนจาก USAID และทิศทางใหม่ของขบวนการใต้ดิน หลังจากที่สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ แนวทาง 'America First' ส่งผลให้ USAID ถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกต้องปรับตัวอย่างหนัก กิจกรรมในมหาวิทยาลัยเริ่มลดลง เวทีระหว่างประเทศที่เคยเป็นแหล่งปลุกระดมและสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยก็เริ่มเงียบลง แนวคิด 'Patani Madeka' ที่เคยถูกขับเคลื่อนผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้นก็เริ่มอ่อนแรงลงตามไปด้วย ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวพยายามหาช่องทางใหม่ในการสนับสนุน เช่น การหันไปขอการสนับสนุนจากประเทศในตะวันออกกลางและยุโรป แต่ความช่วยเหลือจากแหล่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีเสถียรภาพเท่ากับเงินทุนจาก USAID

เมื่อแนวทางสงครามข้อมูลเริ่มเสื่อมพลัง กลุ่มบางส่วนจึงหันกลับไปใช้แนวทางเดิม—ลอบสังหารและก่อวินาศกรรม—เพื่อรักษาอิทธิพลและสร้างเงื่อนไขต่อรอง แม้จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการทำสงครามข้อมูลขนาดใหญ่เหมือนในอดีต แต่การปฏิบัติการระดับพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป ขบวนการเหล่านี้อาศัยช่องว่างของกฎหมายและโครงสร้างการข่าวที่ยังมีจุดอ่อนของฝ่ายความมั่นคงในการแทรกซึมและก่อเหตุ

ข้อสรุป: การต่อสู้ทางความคิดลดลง แต่ความรุนแรงกลับมา

แม้ว่าการต่อสู้ทางข้อมูลจะลดลงไป แต่สิ่งที่ย้อนกลับมาแทนคือการใช้ความรุนแรงเป็นกลไกหลัก อย่างไรก็ตาม ขบวนการ BRN หรือกลุ่มก่อการร้ายที่ยังเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ไม่ได้มีเอกภาพชัดเจนอีกต่อไป การก่อเหตุส่วนใหญ่ ไม่ได้มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแบ่งแยกดินแดนโดยแท้จริง แต่เป็นการรักษาฐานอำนาจของกลุ่มที่ยังเหลืออยู่ ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแสดงตนเพื่อรักษาเครือข่ายสนับสนุน มากกว่าที่จะมีแผนการทางทหารหรือการเมืองที่แน่นอน

สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐต้องตระหนักคือ ขบวนการเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในเครือข่ายหมู่บ้านและสถานศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐยังเข้าไม่ถึงอย่างแท้จริง จุดอ่อนสำคัญของหน่วยงานรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือการที่ เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร ต้องผลัดเปลี่ยนกำลังพลตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชนได้ ขณะที่เครือข่ายผู้ก่อการร้ายมีรากฐานอยู่ในพื้นที่มายาวนาน ใช้ความสัมพันธ์ทางครอบครัว ระบบการศึกษา และความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

ดังนั้น แนวทางที่รัฐต้องใช้ในการรับมือกับปัญหานี้ ไม่ใช่แค่การปราบปรามหรือการส่งกำลังทหารเข้าไปเพียงชั่วคราว แต่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายของรัฐที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ระยะยาว การมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่นานพอจะสร้างสายสัมพันธ์กับชาวบ้าน สร้างความเชื่อใจ และเข้าใจโครงสร้างของขบวนการจากระดับรากหญ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด การ "ฝังตัว" ในพื้นที่จึงต้องเป็นยุทธศาสตร์หลักของฝ่ายความมั่นคง ไม่ใช่แค่การเข้าไปดูแลเป็นครั้งคราว แต่ต้องเป็นการสร้างโครงข่ายของรัฐที่สามารถเข้าถึงชุมชนในทุกระดับได้อย่างแท้จริง

เมื่อฝีมือทางดนตรีอันฉกาจฉกรรจ์ อาจแลกมาด้วยการทำข้อตกลงกับปีศาจ

ใดๆ digestในวันนี้ ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกแห่งดนตรี  เรื่องราวลี้ลับที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ว่าเป็นแค่เรื่องเล่า เรื่องบังเอิญ อาถรรพ์ คำสาปหรือเป็นเรื่องจริงกันแน่  

The 27 Club เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักร้อง นักดนตรี ศิลปินระดับตำนานของโลกหลายคน แต่ละคนมีแนวเพลงและสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ละคนมีฝีมืออันเอกอุทั้งการเล่นดนตรี การร้องเพลงและแต่งเพลงเป็นที่ยอมรับในระดับสูงไปทั่วโลก มีฐานแฟนเพลงของตัวเองมากมาย หลายคนเป็นผู้วางรากฐานและสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ให้กับวงการดนตรีระดับโลกและ เป็นต้นแบบให้กับนักดนตรีรุ่นหลังมากมาย แต่ละคนดำรงอยู่คนละยุคสมัย แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าขนลุกคือพวกเขาทุกคนเสียชีวิตตอนอายุ 27 เหมือนกัน

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญแต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่ศิลปินระดับตำนานหลายต่อหลายคนไม่สามารถข้ามผ่านช่วงอายุนี้ไปได้ ในที่สุดจึงเกิดคำว่า The 27 Club ขึ้น เพื่อใช้เรียกขานถึงเหล่าศิลปินระดับโลกทั้งนักร้องและนักดนตรีเหล่านี้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่ออายุได้ 27 ปีเท่ากันพอดีทุกคน โดยในเบื้องต้นไม่มีใครสังเกตถึงเรื่องนี้จนกระทั่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดจึงเกิดคำว่า The 27 Club ขึ้นมา โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหล่าสมาชิกแห่ง The 27 Club มักมาจากการใช้ยาเสพติดเกินขนาด, อุบัติเหตุ หรือไม่ก็มักมีสาเหตุมาจากความรุนแรงเช่นการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม และที่แน่ๆ คือไม่มีสมาชิกของ The 27 Club คนไหนที่จากไปอย่างธรรมชาติเลยซักคนเดียว

บรรดาสื่อดนตรีแขนงต่าง ๆ มักจะนำเสนอเรื่องราวของ The 27 Club อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จนทำให้ The 27 Club เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีกระแสหลักของโลกไปในที่สุด

โดยหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดอันน่าขนลุกที่เกี่ยวข้องกับ The 27 Club โดยตรงได้แก่ ตำนานเก่าแก่ในอเมริกาที่เล่าถึงการทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับ 'ปีศาจ' หรือ 'ซาตาน' ที่ทางแยก หรือ 'ทางสี่แพร่ง' โดยว่ากันว่าอายุ 27 เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อเเลกกับบางสิ่งบาง ...บางอย่างที่ 'ปีศาจ' มอบให้ผู้ทำสัญญา โดยมีเงื่อนไขที่เล่าขานต่อกันมาก็คือ ให้เขียนสิ่งที่ปรารถนาลงในกล่อง จากนั้นให้นำไปฝังใว้ที่ทางสี่เเพร่ง ก็จะพบกับปีศาจที่มาทำข้อตกลง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ โดยเเลกกับช่วงชีวิตที่เหลือหลังจากปี 27 นั่นเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือหลังจากที่ปีศาจบันดาลสิ่งที่ต้องการให้แล้ว ราคาที่ต้องจ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนก็คือ ปีศาจจะมารับวิญญาณไปเมื่ออายุครบ 27 ปีแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในตำนานของอเมริกาครับ ก็ต้องขีดเส้นใต้หนักๆว่ากรุณาอ่านโดยใช้วิจารณญาณกันด้วย

ทีนี้เราลองมาทำความรู้จักกับสมาชิกที่โด่งดังของ The 27 Club กันดีกว่าครับว่ามีใครบ้าง 
1. Robert Johnson 
ศิลปินผู้เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานการขายวิญญาณให้กับปีศาจเพื่อแลกกับฝีมือกีตาร์ระดับเทพเจ้า โดยมือกีตาร์และศิลปินเพลงแนว Delta Blue ระดับตำนานผู้นี้ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอมตะไว้ทั้งหมด 29 เพลงที่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟังอย่างมากมายมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นต้นแบบให้กับมือกีตาร์สาย Blues และ Rock หลายคน โดยมีผลงานขึ้นหิ้งของเขาอย่าง Crossroad, Love in Vain และ Ramblin’ On My Mind เป็นต้น โดยเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของเขาก็คือ ในระยะแรกเขาเป็นเพียงนักดนตรีดาดๆ ที่เล่นตามคลับทั่วไปใน Mississippi โดยหลายคนค่อนขอดว่าฝีมือของเขาห่วยแตกเลยด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นเวลาหลายวัน และเมื่อเขากลับมาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ก็มาพร้อมกับฝีมือกีตาร์ที่ฉกาจฉกรรจ์ขึ้นเป็นคนละคนภายในชั่วข้ามคืน ซึ่งตรงนี้มีหลักฐานจากบทสัมภาษณ์เพื่อนๆ ของเขาที่เคยเล่นอยู่ในวงเดียวกัน ซึ่งทุกคนก็พูดตรงกันว่ารู้สึกตกใจที่อยู่ๆฝีมือของเขาก็รุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นมากๆ ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องเกินวิสัยของมนุษย์ธรรมดาไปอยู่ไม่น้อย โดยตัวของ Robert Johnson เกิดที่รัฐ Mississippi ซึ่งหลายๆ คนก็เชื่อว่ารัฐนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำสัญญาระหว่างตัวเขากับซาตาน หลังความโด่งดังที่ได้เล่นรวมกับศิลปินชื่อดังมากมายในช่วง ปี 30s ในเดือนสิงหาคม ปี 1938 Robert Johnson ได้ถูกวางยาพิษที่ใส่ไว้ในแก้ววิสกี้ หลังจากนั้น 3 วันเขาก็ได้เสียชีวิตลง แต่ที่น่าแปลกคือ Robert Johnson ได้เสียชีวิตลงในวัย 27 ปี พอดิบพอดี และถือเป็นคนแรกที่ได้เข้าสู่ The 27 club

2. Jimi Hendrix 
กีตาร์ไอคอน, ฟรอนต์แมนและมือกีตาร์แห่ง The Jimi Hendrix Experience มือกีตาร์ผู้เป็นตำนานในหมู่ตำนาน ชายผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นมือกีตาร์ที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมีมา ผู้เป็นเจ้าของสไตล์การเล่นกีตาร์กลับหัวด้วยมือข้างซ้ายมาพร้อมกับการแต่งตัวฉูดฉาดเป็นเอกลักษณ์ และการแสดงสดอันทรงพลังที่เร้าใจ ผู้ซึ่งเคยจุดไฟเผากีตาร์สดๆ บนเวทีมาแล้ว ทำให้ชื่อของ Jimi Hendrix ยังถูกกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ เขาเสียชีวิตจากการสำลักอาเจียนของตัวเองอันเป็นอาการต่อเนื่องมาจากการเสพยาเกินขนาดในปี 1970 เมื่ออายุได้ 27ปี 295วัน  

3. Janis Joplin
เสียงขับขานและกวีเอกฝ่ายหญิงแห่งยุคบุปผาชน นักร้องนักแต่งเพลงมากฝีมือคนนี้ จบชีวิตลงด้วยการใช้ยาเสพติดเกินขนาดเช่นกัน โดยมีบันทึกไว้ว่าภายหลังจากที่อัดเสียงเพลง 'A Woman Left Lonely' ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่เธอทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้ Janis กลับมาที่ห้องในโรงแรม ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือดจำนวนมากและเดินลงไปซื้อบุหรี่แล้วกลับเข้ามาในห้อง ก็เกิดอาการช็อกและล้มลงหัวฟาดพื้น เสียชีวิตในที่สุด เป็นการจากไปในขณะที่อาชีพการงานของเธอกำลังรุ่งเรืองสุดขีดและผลต่อวงการดนตรีอย่างมาก อายุของเธอเมื่อจากโลกนี้ไปคือ 27ปี 258วัน

4. Jim Morrison 
นักร้องนำ และฟรอนต์แมนผู้ทรงเสน่ห์และมากล้นความสามารถแห่งวง The Doors เขาเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวจากการใช้ยาเกินขนาดในปี 1971 ซึ่งด้วยผลงานการเขียนเพลงที่ไพเราะสวยงามประหนึ่งบทกวี ทำให้หลายคนเชื่อเหลือเกินว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ วง The Doors จะกลายเป็นวงระดับตำนานเช่นเดียวกับวงอย่าง The Beatles อย่างไม่มีข้อกังขา Jim Morrison เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 27ปี 207วัน

5. Kurt Cobain
มือกีตาร์, นักร้อง และผู้นำแห่งวง Nirvana บิดาแห่งวงการเพลงกรันจ์ และหัวหอกแห่งกระแส Seattle Sound ด้วยเนื้อหาเพลงที่เสียดสีจิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบและบุคลิกส่วนตัวของเขาที่มีความขบถอยู่ในตัวอย่างชัดเจน ชื่อของ Kurt Cobain จึงดังระเบิดไปทั่วโลกในเวลานั้น เขามีสถานะและผู้ติดตามไม่ต่างอะไรกับซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด เขาเหมือนดอกไม้ไฟลูกมหึมาที่ส่องสว่างในฟากฟ้าแห่งวงการดนตรีก่อนที่จะดับวูบลงอย่างรวดเร็ว Kurt Cobain เลือกที่จะลาจากโลกนี้ไปด้วยการใช้ปืนลูกซองยิงตัวตาย แต่ชื่อของเขายังคงเป็นตำนานมาจนทุกวันนี้ และบทเพลงต่างๆ ของ Nirvana ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน อายุของ Kurt เมื่อจากไปคือ 27ปี 44วัน 

6. Amy Winehouse
นักร้องและศิลปินแนวโซล ไอคอนแห่งวงการดนตรีผู้มีน้ำเสียงและทักษะการร้องเพลงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยากจะหาใครเปรียบ และ Amy ยังมีบุคลิกที่ทรงเสน่ห์ในทุกท่วงท่าไม่ว่าจะในการแสดงหรือการพูดคุย เธอจึงเป็นที่รักของคนทั่วโลก ชีวิตของเธอผ่านอุปสรรคปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง Amyพยายามต่อสู้กับอาการติดแอลกอฮอล์มาโดยตลอดแต่ในที่สุดเธอก็พ่ายแพ้และเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เป็นพิษในกระแสเลือดในปี 2011ในขณะที่มีอายุได้ 27ปี 312วัน 

การมีอยู่ของ The 27 Club นั้นเป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและเรื่องน่าหดหู่ในขณะเดียวกัน เพราะ The 27 Club มีส่วนทำให้ชื่อของเหล่าศิลปินนักดนตรีระดับตำนานถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง เป็นเครื่องย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนและเคยสร้างผลงานที่มีคุณค่าอะไรฝากไว้ให้กับโลกใบนี้บ้าง  แต่ในทางกลับกันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าพวกเขาไม่ด่วนจากไปในวัย 27 โลกและแฟนๆ ของพวกเขาก็คงยังได้เสพผลงานสร้างสรรค์จากความสามารถและจินตนาการของบรรดาไอคอนเหล่านี้อีกมากมายอย่างแน่นอน

อนาคตของ ‘เซเลนสกี’ อยู่ในภาวะวิกฤต หลังสหรัฐฯ กังวลความสามารถในการรักษาความมั่นคงยูเครน

(14 มี.ค. 68) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการดำรงตำแหน่งผู้นำของเขา โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในวอชิงตันเกี่ยวกับความชอบธรรมของเขาในการเป็นผู้นำยูเครนในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตสงครามกับรัสเซีย

ตามรายงานจากหลายแหล่งข่าวในกรุงเคียฟและวอชิงตัน ระบุว่าในขณะนี้หลายฝ่ายในสหรัฐฯ เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเซเลนสกี และความสามารถของเขาในการรักษาความมั่นคงของประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทั้งในด้านการทูตและความคืบหน้าในการเจรจาทางการทหาร

แหล่งข่าวในวอชิงตันกล่าวว่า มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเซเลนสกี โดยเฉพาะในการจัดการทรัพยากรทางทหารและการดำเนินนโยบายภายในที่อาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเขาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธมิตรทางทหารของยูเครน

“เราอยู่ในการทำหน้าที่ท้ายๆ ของประธานาธิบดีเซเลนสกี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนบอกกับไฟแนนเชียลไทม์ส

คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนอ้างว่า การบริหารงานของเขาในช่วงท้ายๆ ของวาระกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านการทูต การรักษาความมั่นคงของประเทศ และการจัดการวิกฤตสงครามที่ยืดเยื้อกับรัสเซีย 

ในขณะเดียวกัน เซเลนสกีก็ยังคงเดินหน้าพยายามรักษาความเป็นผู้นำของเขา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ยูเครนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของโวโลดิมีร์ เซเลนสกีในฐานะประธานาธิบดียูเครนจะหมดลงในปี 2024 โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2019 และได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม 2019

กรุงเทพมหานคร ยึดเบอร์ 2 ของโลก เมืองแห่งอาหารที่ดีที่สุด ประจำปี 2568

แบงค์คอก สตรีทฟู้ด กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองแห่งอาหารอันดับ 2 ของโลก จาก Time Out ชี้จุดแข็งความอร่อยสุดฮิต ดันเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว

(14 มี.ค. 68) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองอาหารที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกประจำปี 2568 จากนิตยสารระดับโลก Time Out ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว เป็นรองเพียง นิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เท่านั้น โดยการสำรวจพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับสูงขึ้นคือ 'รสชาติที่อร่อย' ตามมาด้วย 'ความสะดวกและรวดเร็ว' ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านสตรีทฟู้ดริมทางที่พร้อมเสิร์ฟในเวลาไม่กี่นาที หรือบริการเดลิเวอรี่ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับอาหารจานโปรดได้ทุกที่

กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งสตรีทฟู้ดระดับโลก มากกว่าการเป็นศูนย์รวมร้านอาหารหรู โดย ‘ย่านเยาวราช’ ยังคงเป็นย่านอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยเมนูชื่อดังอย่าง ก๋วยจั๊บ ข้าวต้มโต้รุ่ง และเกาลัด รวมถึงบาร์ค็อกเทลที่เปิดให้บริการตลอดคืน ขณะที่ ‘ย่านบรรทัดทอง’ ซึ่งเคยเงียบเหงา ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรวมสตรีทฟู้ดที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น ถนนที่ดีที่สุดอันดับ 14 ของโลก จาก Time Out ด้วยเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยสีสัน

อย่างไรก็ตาม แม้กรุงเทพฯ จะขึ้นแท่นเป็นเมืองอาหารระดับโลก แต่ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า วงการอาหารไทยยังสามารถเติบโตได้อีก หากร้านอาหารมีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ในราคาที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ร้านอาหารที่มีนวัตกรรมและนำเสนอเมนูสร้างสรรค์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มร้านพรีเมียมที่มีราคาสูง ขณะที่ร้านระดับกลางที่พัฒนาเมนูใหม่ ๆ ในราคาที่เข้าถึงได้ยังมีไม่มากนัก หากมีการเพิ่มทางเลือกที่สร้างสรรค์และราคาเป็นมิตร จะช่วยให้กรุงเทพฯ ก้าวขึ้นไปอีกระดับในฐานะศูนย์กลางแห่งรสชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักชิมจากทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยสนับสนุนการใช้วัตถุดิบคุณภาพดีในประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร (Food Hub) ของภูมิภาค อาหารไทยถือเป็น ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญ ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ประเทศในเวทีโลก การที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตในหลายมิติ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การส่งออกอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรม โรงแรม และโลจิสติกส์ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นางสาวศศิกานต์ ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top