Thursday, 15 May 2025
TheStatesTimes

ส่อง 16 อันดับแรก โรงเรียนที่ได้คะแนนสูงที่สุดใน ‘ภาคเหนือ’ จากผลการสอบ O-NET ปี 2567

อย่างที่ทราบกันดีว่า การสอบ O-NET เป็นหนึ่งในการสอบวัดผลขั้นพื้นฐานที่นักเรียนไทยทุกคนต้องผ่านสนามสอบนี้ เพื่อนำคะแนนสอบไปใช้ยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนในระดับชาติ ขณะที่การจัดอันดับโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสอบที่ได้คะแนนสูงสุด ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนอีกด้วย ในปี 2567 ที่ผ่านมา โรงเรียนใน ‘ภาคเหนือ’ 16 อันดับแรก มีโรงเรียนใดบ้าง ไปส่องกันเลย... 

‘ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว’ โต้กลับ PETA ปมแบน ‘หมูเด้ง’ หลังชี้นำ นทท. อังกฤษ ไม่ให้เข้าชม อ้างกักขังสัตว์แสวงหาผลกำไร

ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว โต้ "องค์กรอนุรักษ์" ปมชี้นำ นักท่องเที่ยวอังกฤษ ไม่ให้ไปเยี่ยมชม "น้องหมูเด้ง" อ้างกักขังสัตว์เป็นนักโทษเพื่อแสวงหาผลกำไร

(25 ก.พ. 68) จากกรณีองค์กรอนุรักษ์ทั้ง Born Free และ PETA ออกรณรงค์แคมเปญ “แบนหมูเด้ง” โดยห้ามนักท่องเที่ยวอังกฤษ บินมาเที่ยวชม “หมูเด้ง” ที่สวนสัตว์เขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งกักขังหมูเด้ง ในฐานะนักโทษเพื่อผลกำไร จึงวิตกว่ากระแสความโด่งดังของ หมูเด้ง จะเป็นภัยต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่ในฐานะสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ หลังมีนักท่องเที่ยวปาขวดน้ำ สิ่งของ หรือส่งเสียงดังเพื่อเรียกความสนใจเพื่อให้ “หมูเด้ง” มาอยู่ในเฟรมเพื่อที่จะถ่ายภาพเซลฟี่ ซึ่ง หมูเด้ง คงจะต้องตายอยู่คอกที่แห้งแล้ง ไร้โอกาสที่จะได้สัมผัสความอบอุ่นของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติที่แท้จริงอย่างแอฟริกาตะวันตก 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.พ.68 นายณรงค์วิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว กล่าวถึงกระแสข่าวการโจมตีสวนสัตว์เรื่องให้ “หมูเด้ง” มาสร้างผลประโยชน์ว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะทางสวนสัตว์เน้นดูแลสวัสดิภาพให้กับสัตว์ทุกตัวที่อยู่ในสวนสัตว์เป็นหลัก และในเดือน มี.ค.นี้ จะมีทีมคณะมาตรวจประเมินสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผ่านการประเมินทุกปี

“ก็ไม่เป็นความจริงอย่างที่เค้านำเสนอนะครับ คือเรายังคงความเป็นสวนสัตว์ที่มีภารกิจ 4 ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษ์ วิจัย ให้การศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจ ของน้องหมูเด้ง เอง เราก็มีการตรวจสวัสดิภาพสัตว์ทุกปี ซึ่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จะได้รับการตรวจประเมินสวัสดิภาพสัตว์ ภายในเดือนมีนายนี้ ทุกปีจะต้องมีการตรวจประเมิน เราก็มีทีมคณะตรวจประเมินสุขภาพสัตว์จากหลากหลายพื้นที่เข้ามาตรวจเรา เพราะฉะนั้นเรายืนยันได้ว่า เรายังคงความเป็นสวนสัตว์ที่มีมาตรการในการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีต่อไปด้วยนะครับ”

ขณะที่ น.ส.อิสริยา สเตาบ์ สาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางมาดู “น้องหมูเด้ง” พร้อมแฟนหนุ่มชาวอเมริกัน กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่ององค์กรอนุรักษ์ของประเทศอังกฤษ ประกาศแบน “น้องหมูเด้ง” ว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะทำได้ เพราะตนและแฟนหนุ่มเคยเดินทางไปเที่ยวชมสวนสัตว์ในหลายประเทศ ซึ่งยอมรับว่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ดูแลสัตว์ต่างๆ ได้ดีมาก โดยเฉพาะ “น้องหมูเด้ง” ที่ถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่ง น้องหมูเด้ง ไม่ได้โดนจำกัดพื้นที่แต่อย่างใด

“เคยไปเที่ยวสวนสัตว์ที่ไมอามี แฟนบอกว่าที่นี่เค้าเลี้ยงอย่างดีมาก แบบปล่อยเป็นธรรมชาติ ซึ่งน้องไม่ได้รู้สึกว่าโดนจำกัดพื้นที่เลยนะคะ จริงๆ ตรงนี้ดรามาที่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้นมันไม่ใช่ หรือแม้แต่ที่บอกว่าอยากให้คนเลี้ยงเปลี่ยนเป็นผู้หญิง ซึ่งจริงๆ แล้วคุณ ผอ.ก็บอกแล้วว่า น้องเบนซ์ เค้าเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นเค้ารู้ว่าต้องทำยังไง ผู้ชายเค้ามีกำลังมีแรงที่จะดูแลสัตว์ประเภทนี้ คิดว่าทุกอย่างดีมากๆ การดูแลที่นี่ดีมากๆ ดีใจมากๆ ที่ได้มาที่นี่”

น.ส.อิสริยา บอกอีกว่า หากเป็นไปได้ตนและแฟนหนุ่ม ขอเชิญนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้มาเที่ยวชม น้องหมูเด้ง และสัตว์ป่านานาชนิดที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กันให้มากๆ เพราะที่นี่ถือเป็น The Best Zoo โดยเชื่อว่าหากมาเที่ยวชมจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

รร.สาธิตรามคำแหง ทำถึง! ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง กำหนดใช้ชุดลูกเสือ - เนตรนารี แบบใหม่ ใส่ร่วมกับชุดพละ

(25 ก.พ. 68) โลกออนไลน์ แชร์ภาพและข้อความจาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง(ฝ่ายมัธยม) ที่ประกาศ ปรับรูปแบบการแต่งกายชุดลูกเสือ - เนตรนารี ปีการศึกษา 2568

โดยทางโรงเรียนระบุ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ อีกทั้งเอื้อต่อการเรียนการสอนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี ของกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง(ฝ่ายมัธยม) จึงขอปรับเปลี่ยนเครื่องแบบ ชุดลูกเสือ-เนตรนารี  โดยใช้หมวก , ผ้าพันคอ , วอกเกิ้ล ร่วมกับชุดพละของโรงเรียน

โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2568 นี้เป็นต้นไป โดยมีผู้เข้าไปร่วมชื่นชมและขอบคุณแนวความคิด นี้เพราะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้จริง

สมุทรปราการ-ลุยแล้ว!! ชัยรัชต์พงษ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 ลงพื้นที่หาเสียงชุมชนหลังวัดหนามแดง ประชาชนจำนวนมากให้การต้อนรับ

นายชัยรัชต์พงษ์ กุลรัตนจินดา หรือเฮียน้อย ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว หมายเลข 3 พร้อมด้วยคณะสมาชิกในนามกลุ่มบางแก้วรวมพลัง

ลงพื้นที่หาเสียงภายในชุมชนหลังวัดหนามแดง ต.บางแก้ว อ.บางพลี สมุทรปราการ โดยมี นางสาวพัชรากร กุลรัตนจินดา หรือปลัดพัช สตรีอาสาพัฒนาบางแก้ว ร่วมลงพื้นที่ช่วยหาเสียงในครั้งนี้

พร้อมทั้งเดินชู้ป้าย แจกแผ่นพับแนะนำตัวผู้สมัคร และชูนโยบายในการบริหารงานและแผนพัฒนาการขับเคลื่อนท้องถิ่นของกลุ่มบางแก้วรวมพลัง ในสโลแกน โปร่งใส เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 

โดยทางด้าน นายชัยรัชต์พงษ์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว หมายเลข 3 กล่าวว่า ตนเองได้มีโอกาสลงพื้นที่มาพบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ภายในชุมชนหลังวัดหนามแดงเพื่อขอคะแนนเสียงเข้าไปพัฒนาบริหารงานท้องถิ่น กับ 11 นโยบายเปลี่ยนบางแก้วให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ 1 ศูนย์พิทักษ์เมืองบางแก้ว ปลอดภัย 24 ชม. 2 โรงพยาบาลบางแก้วและศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ 3 โรงพยาบาลสัตว์บางแก้ว 4 ศูนย์สร้างอาชีพเพื่อผู้สูงอายุสตรีและผู้ด้อยโอกาส 5 ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังน้ำท่วม 6 ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้

7 สำนักทะเบียนราษฎร์เทศบาลเมืองบางแก้ว 8 การพัฒนาด้านการศึกษา 9 นวัตกรรมการจัดการขยะสู่เมืองสะอาดไร้ขยะตกค้าง 10 การบริการสาธารณะ และ 11 การพัฒนาการจัดการเมือง (Smart City) นอกจากนี้ กลุ่มบางแก้วรวมพลังยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและพร้อมเข้ามาบริหารงานท้องถิ่นพัฒนาเมืองบางแก้วให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่หาเสียงในครั้งนี้ กลุ่มบางแก้วรวมพลัง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชนชุมชนหลังวัดหนามแดงและอวยพรขอให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชน และเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป อย่าลืมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ในวันอาทิตย์ ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2568 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น ณ. หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีรายชื่ออยู่

กกต.ประกาศรับรองผลนายกอบจ.ล็อตแรก 10 จังหวัดแล้ว

เมื่อวันที่ (24 ก.พ. 68) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวแจ้งผลการพิจารณาของ กกต.เกี่ยวกับการประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรณีครบวาระ ที่ได้จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 และได้มีมติประกาศผลการเลือกตั้ง ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ 1.จ.น่าน นายนพรัตน์ ถาวงศ์ 2.จ.หนองคาย นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก 3.จ.บึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี 4.จ.ศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล 5.จ.นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ 6.จ.สิงห์บุรี นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร 7.จ.กระบี่ นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล 8.จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร 9.จ.ยะลา นายมุขตาร์ มะทา และ 10 จ.นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน

และประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน หนองคาย เลย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี สระแก้ว อุทัยธานี นครปฐม สิงห์บุรี ชัยนาท กระบี่ พัทลุง ยะลา และนราธิวาส

ทั้งนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัย เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

ส่วนรายละเอียดการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรณีครบวาระ สามารถติดตามหรือสอบถามได้ทาง www.ect.go.th Application Smart Vote และสายด่วน 1444

‘ลิซ่า’ เตรียมสร้างประวัติศาสตร์ อีกครั้ง หลังมีคิวขึ้นโชว์บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ 2025

‘ลิซ่า’ จะได้ขึ้นแสดงบนเวทีออสการ์ที่จะมีการถ่ายทอดสดช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 3 มี.ค. 68 นี้ สามารถรับชมได้ทาง ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ ทั้งช่วงพรมแดง และประกาศรางวัล

(25 ก.พ. 68) ดิ อะคาเดมี่ อวอร์ดส ผู้จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ เวทีมอบรางวัลด้านภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกาศว่า ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล, Doja Cat และ RAYE ที่ร้องเพลง Born Again ร่วมกัน จะได้ขึ้นแสดงในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2025 ที่จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 ตามเวลาประเทศไทย

Born Again เป็นเพลงประกอบซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ที่ลิซ่านำแสดง โดยเธอได้ร่วมร้องเพลงนี้กับ Doja Cat และ RAYE นักร้องสาวชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้แต่งและโปรดิวซ์เพลงนี้

อย่างไรก็ตาม การขึ้นแสดงครั้งนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ตามมา เนื่องจากในปีนี้ไม่มีศิลปินเจ้าของผลงานเพลงที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้ขึ้นเวทีแสดงแม้แต่รายเดียว

ขณะที่นักร้องเพลง Born Again ทั้ง 3 คน ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเวทีออสการ์เลยเพราะเป็นเพลงประกอบซีรีส์

นอกจากลิซ่าแล้ว ผู้ที่มีรายชื่อขึ้นแสดงบนเวทีออสการ์ในปีนี้ยังประกอบด้วย Queen Latifah ที่เคยได้เข้าชิงรางวัลในปีก่อน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในปีนี้ รวมถึง ซินเธีย เอริโว และอาริอานา กรานเด้ ผู้มีรายการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาเกี่ยวกับการแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Wicked โดยทั้งคู่จะมาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งไม่ได้เข้าชิงในสาขาเพลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ต้องรอติดตามชมกันว่าโชว์ของ 'ลิซ่า' บนเวทีออสการ์จะออกมาในรูปแบบใด โดยเบื้องต้น เดอะ ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์ สื่อบันเทิงชั้นนำ รายงานว่าการแสดงในปีนี้จะมีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชุมชนผู้สร้างหนัง และตำนานในวงการภาพยนตร์ และนอกจากศิลปินที่กล่าวถึงแล้วยังมีคณะนักร้องประสานเสียง Los Angeles Master Chorale มาร่วมแสดงด้วย

รับชมถ่ายทอดสดทาง ดิสนีย์พลัส - ทรูวิชั่นส์

สำหรับประเทศไทย สามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 ทั้งช่วงเดินพรมแดง และพิธีมอบรางวัล ในเช้าวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม  2568 เวลา 06:30 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้บนแอปพลิเคชัน Disney+ Hotstar และทางช่อง True Film 1 (222) และแอปทรูวิชั่นส์ นาว แพ็กเกจ NOW PRIME

ส่วนผู้ที่พลาดการรับชมสด สามารถดูการถ่ายทอดสดแบบย่อ 90 นาที ได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจบงาน และสามารถรับชมได้ตลอด 24 วันบน Disney+ Hotstar โดยงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งนี้ได้ Conan O'Brien ผู้จัดรายการ และนักเขียนรางวัล Emmy® มารับหน้าที่พิธีกรเป็นครั้งแรก

มหันตภัย...บุหรี่ไฟฟ้า #3 เข้าถึงง่ายเกินไปแล้ว ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กำลังระบาดหนักในเด็กนักเรียนประถม

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเด็กนักเรียนประถมหลายรายมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งเกิดจากการสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หรือที่เรียกว่า EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) ด้วยประชาชนคนไทยบางส่วนมักเข้าใจว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ยาสูบ” โดยคิดว่า ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงละอองไอน้ำที่มีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม จึงมักมีการกล่าวอ้างว่า สูบน้ำยาชนิดที่ไม่มีนิโคติน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นนั้น มีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้ง โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับหมื่นชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหยมีผลกระทบต่อสุขภาพคือ ทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันและโรคอื่น ๆ ได้ อีกทั้งบุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดาอีกด้วย

จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ ในปี พ.ศ. 2564 ร้อยละ 17.4 คิดเป็น 9.9 ล้านคนของคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 78,742 คนในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 24,050 คน อายุระหว่าง 15 - 24 ปี แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ของนักเรียน ในช่วงอายุ 13 – 15 ปี ที่เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2558 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 17.6 และเมื่อแยกตามเพศของนักเรียน พบว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนเพศชาย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 20.2 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า ในขณะที่ เพศหญิง มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.9 เท่า โดยเพิ่มจากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 15.0 จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยในเด็กและเยาวชนดังกล่าว สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก และต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในเยาวชนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า EVALI เป็นอาการปอดอักเสบเฉียบพลันที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยมีอาการแสดง ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น จากรายงานข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention สหรัฐอเมริกา (ข้อมูลล่าสุดปี 2563) พบผู้ป่วย EVALI ในสหรัฐอเมริกาที่ต้องนอนโรงพยาบาล ทั้งสิ้น 2,807 ราย ส่วนใหญ่อายุของผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 37 และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 68 รายอายุเฉลี่ยของผู้ป่วย ที่เสียชีวิตคือ 49.5 ปี และอยู่ระหว่าง 15 - 75 ปี 

สำหรับประเทศไทย เคยมีรายงานผู้ป่วย EVALI อายุระหว่าง 20 - 30 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ มีไข้ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน มีการให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอต (POD) แบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย แพทย์ได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่า ผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะ EVALI

หลังจากผู้คนมีความตระหนัก จึงมีการควบคุมการใช้ มีการนำสารเคมีบางชนิดออกจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีรายงานจำนวนผู้ป่วย EVALI ในสหรัฐอเมริกาน้อยลง ซึ่ง อ.พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทบุหรี่มักจะโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น tar และ carbon monoxide ต่างจากบุหรี่มวน แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสาร Nicotine, สารปรุงแต่งกลิ่น, Propylene glycol, vegetable glycerin และสารที่มีอยู่ในกัญชา เช่น Δ-9-tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD), butane hash oil (BHO) 

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด/หลอดลมอักเสบ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด มีโลหะหนักปนเปื้อน และโรคปอด EVALI โดยรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine เรื่อง Pulmonary illness related to e-cigarette use in Illinois and Wisconsin preliminary report ซึ่งรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยจำนวน 53 คนในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2019 พบว่าผู้ป่วยส่วนมากอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประกอบประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิด EVALI ได้ โดย 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้านำน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบว่าในน้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิด EVALI ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสาร propylene glycol, vegetable glycerin (glycerol), สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกัดจากน้ำมันกัญชาหลายชนิด เช่น vitamin E acetate และมีสารอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งสารเหล่านี้หลายชนิดไม่มีในบุหรี่มวน โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจาก อุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าไปในปอด ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้คนอาจไม่ทราบ มองข้ามหรือละเลยไป ที่ชัดเจนที่สุด

ร่วมเป็น 1 เสียง ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมลงชื่อที่ https://shorturl.at/ADMRJ

‘ดร.ไชยันต์’ วิเคราะห์เลือกตั้ง ‘เยอรมนี’ ชี้ พรรคอนุรักษฯ อาจจับมือกับพรรคฝ่ายซ้ายตั้งรัฐบาล

(25 ก.พ. 68) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ถึงการเลือกตั้งของเยอรมนี ว่า

ใครจะได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลผสม และใครจะผสมกับใคร ?
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี (Bundestag)  การลงคะแนนครั้งที่ 2
พรรคอนุรักษนิยม (CDU/CSU)ได้ สส. มากสุด แต่แค่ 28.52% ตามมาด้วยพรรคขวาจัด (AFD) 20.8% และพรรคสังคมประชาธิปไตย (ซ้าย แกนจัดตั้งรัฐบาลชุดที่แล้ว) 16.41%
อนุรักษ์ฯยืนยันไม่ผสมกับขวาจัดที่ได้คะแนนเพิ่มมากกว่าที่ผ่านมา
ซ้ายตอนแรกยืนยันว่าจะไม่ผสมกับใครเลย แต่เริ่มเปลี่ยนท่าที

สภาพการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาหรือจะเรียกว่าธรรมชาติของสังคมที่ผู้คนเลือกหลายพรรคต่างๆกัน นั่นคือ ระบบหลายพรรค (multi-party system) ซึ่งของไทยเรา ตั้งแต่มีพรรคการเมือง เราก็เป็นระบบหลายพรรค ยกเว้นจะออกแบบรัฐธรรมนูญแบบภูฏาน ที่ให้เลือกตั้ง 2 รอบ รอบแรก กี่พรรคลงแข่งก็ได้ รอบ 2 ให้สองพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบแรกแข่งกัน พรรคไหนชนะก็ตั้งรัฐบาล อีกพรรคก็เป็นฝ่ายค้านไป

'ดร.ปิติ' ชี้ ระเบียบโลกใหม่กำลังจะอุบัติ หลัง 'สหรัฐฯ - รัสเซีย - เกาหลีเหนือ ไหลอยู่ฝั่งเดียวกัน

(25 ก.พ. 68)  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ระเบียบโลกเปลี่ยนไปแล้ว

ใครจะไปเชื่อว่าเราจะได้เห็น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีเหนือ รวมกับประเทศอื่นๆ อีก 15 ประเทศ คัดค้านการเรียกร้องให้ลดระดับความรุนแรง คัดค้านการยุติการสู้รบโดยเร็ว และคัดค้านการยุติสงครามกับยูเครนโดยสันติ ในที่ประชุมสหประชาชาติ เนื่องในโอกาส 3 ปีสงครามยูเครนที่เป็นความขัดแย้งของรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐเอง

ระเบียบใหม่ต่อจากนี้คือ

1. รัฐที่มีพลังอำนาจเหนือกว่า สามารถละเมิดอธิปไตยเข้ายึดครองพื้นที่ของรัฐที่มีพลังอำนาจอ่อนด้อยกว่าได้ หากการเข้ายึดครองนั้น สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ

2.ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ตามวิธีคิดของ Trump ที่ดูตัวเลขขาดดุล เกินดุลเป็นหลัก) คือกลไกขับเคลื่อนมิติความมั่นคง สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ และสงครามในสนามรบจริง คือ สิ่งที่เจรจา ต่อรองแลกเปลี่ยนกันได้

‘ดร.ศราวุฒิ’ ชี้ จนท.ระดับสูงไทยไม่ควรทำเรื่องส่อเลือกข้าง หลัง รมว.ต่างประเทศ เยือน ‘กำแพงร้องไห้’ ในเยรูซาเล็มตะวันออก

(25 ก.พ. 68) จากกรณีที่มี ภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยสื่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้แก่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และ นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล เดินทางไปสวดมนต์ที่กำแพงร้องไห้ในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองตั้งแต่สงครามหกวันในปี 1967

ล่าสุด ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ขณะรอขึ้นเครื่องเพื่อไปบรรยายที่สงขลา มีเพื่อนบางคนส่งข่าวมาให้อ่าน พร้อมทั้งอยากให้ผมแสดงความคิดเห็น ข่าวที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่ คุณมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปที่กำแพงร้องไห้ในเยรูซาเล็มตะวันออก

ผมเห็นว่าการเดินทางไปปฏิบัติราชการของคณะผู้แทนไทยในประเทศอิสราเอลโดยมีภารกิจหลักเพื่อไปรับแรงงานไทย 5 คนที่ถูกปล่อยตัวออกมาล่าสุดนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเข้าไปเยือนเยรูซาเล็มตะวันออกในนามของรัฐบาลไทยนั้นต้องพิจารณาให้รอบครอบ ไม่ใช่นึกอยากไปหรือได้รับรับเชิญไปก็ไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหวที่ซ้อนอยู่ในนั้น

ประเด็นอ่อนไหวที่ว่ามีอยู่ 2-3 ประเด็นที่ผมอยากเอามาแลกเปลี่ยนครับ

ความอ่อนไหวในเชิงสถานะของเยรูซาเล็มตะวันออก

เยรูซาเล็มเป็นเมืองโบราณที่ถือเป็นหนึ่งในแก่นกลางของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครับ อิสราเอลมองเยรูซาเล็มว่าเป็น "เมืองหลวงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่อาจแบ่งแยกได้" ของตน

ไม่นานหลังรัฐอิสราเอลถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1948 และได้รับชัยชนะเหนือบรรดารัฐอาหรับในสงครามครั้งแรก อิสราเอลก็ได้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นทางตะวันตกของเมืองเยรูซาเล็ม จากนั้นหลังจากที่อิสราเอลทำสงคราม 6 วันใน ค.ศ. 1967 กับเพื่อนบ้านอาหรับ อิสราเอลก็ได้ยึดเยรูซาเล็มตะวันออก รวมถึงเขตเมืองเก่าด้วย โดยได้ผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน อันถือเป็นการกระทำที่นานาชาติไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ผู้นำอิสราเอลก็มักจะแสดงความไม่พอใจที่ไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเล็ม แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดกับอิสราเอลเอง

ชาวปาเลสไตน์เห็นต่างอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องการเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง และถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติที่นานาชาติสนับสนุนมายาวนาน หรือรู้จักกันในชื่อ "การแก้ปัญหาแบบให้มี 2 รัฐอยู่เคียงคู่กัน" (Two States Solution) โดยพื้นฐานแล้วก็คือแนวความคิดให้ก่อตั้งรัฐอิสระปาเลสไตน์ติดกับอิสราเอล ตามพรมแดนที่ปรากฏก่อน ค.ศ. 1967 ซึ่งมีการเขียนแนวทางแก้ปัญหาอย่างนี้เอาไว้ในมติสหประชาชาติ

ชาวปาเลสไตน์ถือเป็นประชากรจำนวนไม่น้อย คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในเยรูซาเล็ม คนเหล่านี้มาจากครอบครัวที่อยู่ที่นี่มานานนับพันปี ความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่ออิสราเอลมีนโยบายขยายการตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้ามาในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลไม่ยอมรับ

นอกจากจะไม่ยอมรับแล้ว อิสราเอลยังได้ผ่านกฎหมายในสภาเนตเซท (Knesset) เมื่อ ค.ศ. 1980 ให้มีการผนวกดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของตน

อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไป ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ แต่เมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจึงเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ให้การยอมรับว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล พร้อมย้ายสถานทูตสหรัฐฯจาก เทล อะวีฟ เข้ามาตั้งอยู่ในเยรูซาเล็มเมื่อ ค.ศ. 2019 นี้เอง

ด้วยสถานะเยรูซาเล็มที่เป็นประเด็นขัดแย้งเช่นนี้ ทำไมเราจึงเลือกที่จะไปเยือนที่นั่นอันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองในเชิงสัญลักษณ์ว่าไทยเห็นดีเห็นงามกับการที่เยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ความอ่อนไหวในเชิงความเชื่อความศรัทธา

เยรูซาเล็ม (มุสลิมเรียกว่า อัล-กุดส์) ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญทั้งด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ของโลกตลอดมา อันเป็นบ่อเกิดของสันติภาพและความขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

ในมิติความขัดแย้งนั้น ประเด็นหลักมักวนเวียนอยู่ที่ข้อถกเถียงว่า ศาสนาใดใกล้ชิดเกี่ยวพันกับดินแดนเยรูซาเล็มมากกว่ากัน จนเป็นที่มาของการอ้างสิทธิครอบครองเมืองนี้ของแต่ละฝ่าย กลายเป็นความขัดแย้งเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลเรื่อยมา

ขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต่างให้การยอมรับความสำคัญของศาสนายูดาห์และคริสเตียน ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับนครเยรูซาเล็ม แต่ก็ย้ำว่าสถานที่แห่งนี้ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน และเยรูซาเล็มมิได้มีความผูกพันทางจิตวิญญาณต่อชาวปาเลสไตน์หรือชาวอาหรับเท่านั้น แต่ดินแดนแห่งนี้คือศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย

เพราะนอกจากมัสยิดฮารอมในนครมักกะฮ์และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว มัสยิดอัล-อักซอในเยรูซาเล็ม ยังถือเป็นมัสยิดที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับ 3 ของศาสนาอิสลาม อีกทั้งอัล-อักซอยังเป็น "กิบลัต" แรกในประวัติศาสตร์อิสลาม หรือชุมทิศแรกที่มุสลิมหันหน้าไปยามละหมาดและขอพรต่อพระเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้ว มัสยิดอัล-อักซอยังเป็นศาสนสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามอันเนื่องมาจากมัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ศาสดามุฮัมมัด ได้ละหมาดก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องสูงในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “อิสรออ์และมิอ์รอจญ์”

แต่สำหรับชาวยิวแล้ว พื้นที่แห่งนี้คือที่ตั้งของ The Temple Mount หรือพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสร้างโดยศาสดาโซโลมอน หรือที่มุสลิมรู้จักในนามศาสดาสุไลมาน (ปกครองระหว่าง 971-931 ก่อนคริสต์ศักราช)

ทว่าพระวิหารยุคแรกนี้ก็ถูกทำลายโดยพวกบาบิโลนเมื่อ 587 ก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นก็มีการสร้างมหาวิหารยุคที่ 2 ขึ้นโดยกษัตริย์ไซรัสมหาราชและดาไรอุส

อีก 500 ปีต่อมาพระวิหารที่ 2 (Second Temple) ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยกษัตริย์แฮรอดมหาราช จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระวิหารแฮรอด” แต่สุดท้ายพระวิหารแห่งใหม่นี้ก็ถูกทำลายโดยพวกโรมันใน ค.ศ.70 เหลือแต่ซากกำแพงเก่าที่ไม่ได้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นที่มาของ "กำแพงร้องไห้" ที่อยู่ทางตะวันตก หรือ “Western Wall”

นับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้นับถือศาสนายูดาห์นิกายออร์โธด็อกซ์ ก็ตั้งหน้ารอคอยการสร้างพระวิหารยุคที่ 3 ในเยรูซาเล็ม พร้อมกับการรอคอยการปรากฏตัวของเมสไซยาห์ของชาวยิว (Jewish Messianism) ก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าจะทำลายโลก

ปัญหาก็คือ ตามความเชื่อของชาวยิวกลุ่มนี้ หากจะฟื้นฟูมหาวิหารยุคที่ 3 ขึ้นมาจริงๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รื้อถอนมัสยิดอัล-อักซอและโดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock) ของชาวมุสลิมเสียก่อน เพราะมัสยิดเหล่านี้ก่อสร้างอยู่บนเนินเขาที่ชาวยิวเชื่อว่าเป็น "The Temple Mount"

ในสภาวะอ่อนไหวเชิงความเชื่อความศรัทธาเช่นนี้ทำไมเราจึงต้องไปเยือนที่นั่น อันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าไทยอาจเห็นดีเห็นงามกับการทำลายมัสยิดเพื่อประกอบสร้างวิหารยิวขึ้นมาใหม่

จุดยืนของไทยต่อประเด็นอ่อนไหวนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2017 ไทยเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศที่ลงคะแนนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนร่างมติเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเพิกถอนการรับรองนครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่หนุนร่างมตินี้ก็ตาม

ร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ 9 ประเทศออกเสียงคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง

คำถามคือการเยือนเยรูซาเล็มครั้งนี้ในนามรัฐบาลไทยอาจถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของไทยต่อสถานะกรุงเยรูซาเล็มที่ไทยเคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ในมติสหประชาชาติหรือไม่ มิตรประเทศในโลกมุสลิมจะมองเราอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังสงครามกาซ่าอันโหดร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไป(และอาจปะทุขึ้นมาอีกระลอกใหม่

ฝากไว้ให้คิดครับ

ท้ายนี้ขอเรียนย้ำว่าการเดินทางเยือนเมืองเก่าเยรูซาเล็มสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นเป็นเรื่องปรกติไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจในประเด็นความอ่อนไหว เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงครับ ที่ดีที่สุดคืออย่าได้เข้าไปจะดีกว่า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top