Thursday, 15 May 2025
TheStatesTimes

‘ชายวัย 69 ปี’ กระโดดลงน้ำแบบไม่คิดชีวิต!! หลังพบคนขับรถจมน้ำ สุดท้ายปลอดภัยทั้งคู่

เมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ชายชาวจีน วัย 69 ปี ได้กระโดดลงแม่น้ำสายท้องถิ่นมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อช่วยชีวิตคนขับรถยนต์ที่กำลังจะจมน้ำ โดยทั้งสองได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนที่สัญจรผ่านมาและกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย

'อ.เดวิด' ชี้!! คุณค่ายาวนานแห่ง 'จตุรมิตร-การร่วมทำงานแปรอักษร' หล่อหลอม 'สังคม-คน' คุณภาพ ยากที่ความแตกแยกจะแทรกแซง

(20 พ.ย. 66) อ.เดวิด บุญทวี นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'David Boonthawee' ระบุว่า...

เห็นภาพนี้แล้วก็นึกถึงสมัยตัวเองเรียนมอปลายนะครับ เคยมีสภาพอย่างที่เห็น 

สมัยผมเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ผมขึ้นสแตนด์แปรอักษรจตุรมิตรตั้งแต่ ป.6 จนถึง ม.3 ขึ้นทุกปี ก่อนที่จะมีการปรับให้เฉพาะนักเรียนมัธยมเป็นผู้ขึ้นแปรอักษร พร้อม ๆ กับเปลี่ยนการจัดงานจากทุกปี เป็น 2 ปีครั้ง ตั้งแต่ปี 2530

ตอนแปรอักษรนี่ผมหยิบขนมกินตลอดนะครับ อาหารน้ำท่าที่โรงเรียนจัดให้นี่บริบูรณ์มาก ไม่นับที่พ่อแม่ให้มาอีก แถมตลอดการแปรอักษรก็คุยเฮฮาบ้าบอกับเพื่อน ๆ จนรุ่นน้องที่นั่งอยู่แถวถัดๆ ไปหัวเราะตามกันเป็นที่ครึ้นเครง

ไม่มีใครมาดุด้วยนะครับ ขอให้แปรไม่ผิดเป็นใช้ได้ แต่ถึงแปรผิด ก็จะถูกตักเตือนเบา ๆ จากรุ่นพี่หน้าสแตนด์ แค่นั้นก็สะดุ้งโหยงแล้วครับ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะไม่มีใครอยากทำผิดพลาด 

พอขึ้นมอปลาย ก็ไปช่วยเพื่อนเตรียมงานแปรอักษร ไปเองนะครับ ไม่มีใครบังคับ เพื่อน ๆ ที่เป็นทีมงานตัวจริงก็อาสากันเองทั้งนั้น 

ผมจำได้ว่าต้องขนเพลท ขนข้าวของสารพัดไปที่สนาม ถึงผมจะไม่ได้อยู่ค้างคืนเหมือนหลาย ๆ คน แต่กลับถึงบ้านก็สลบเหมือด

วันรุ่งขึ้นก็ไปสนามแต่เช้าเพื่อช่วยงานแปรอักษรต่อ ก่อนจะมาขึ้นอัฒจันทร์ด้านมีหลังคาช่วงบ่าย เพื่อเป็นหน่วยสนับสนุนและรอเชียร์ฟุตบอล 

ปีที่ผมเล่าให้ฟังนี้ อัสสัมชัญได้แชมป์ครั้งแรกร่วมกับสวนกุหลาบ ก่อนจะได้แชมป์เดี่ยวตามมาอีกหลายครั้ง สลับ ๆ กับเพื่อน ๆ อีก 3 โรงเรียนนั่นแหละครับ 

ย้อนกลับมาที่ภาพที่โพสต์ให้ดู 

อันนี้คือล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปนี้เองนะครับ เป็นภาพนักเรียนมอปลายโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ใต้ถุนอัฒจันทร์ สนามศุภชลาศัย 

ภาพแบบนี้มีให้เห็นทั้ง 4 โรงเรียนจนเป็นเรื่องชินตาของพวกเรา 

น้อง ๆ ทุกโรงเรียนช่วยกันทำงานอย่างทุ่มเท ไม่มีใครมานั่งเกี่ยงงอน เรื่องมาก บ้า ๆ บอ ๆ ปัญญาอ่อน อ้างนั่นอ้างนี่หรอกนะครับ

ทุกคนประกาศความเป็น ‘คนจริง’ ของตัวเองผ่านการทำงาน ด้วยความเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ความเหน็ดเหนื่อย 

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้มาจากการอบรมบ่มเพาะของครูบาอาจารย์ชั้นยอด ความร่วมมือร่วมใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง บวกกับความรักในสถาบัน ความรักในมิตรภาพของพี่น้องจตุรมิตรทั้ง 4 โรงเรียน  

ไม่มีใครประกาศตัวตนผ่านการสร้างความแตกแยก หรือต้อง ‘โกหก’ หรอกนะครับ มีแต่ลงมือทำกันจริง ๆ จัง ๆ ให้ปรากฏเป็นผลงาน แล้วผลงานทุกอย่างก็จะประกาศตัวมันเองให้โลกรับรู้ 

ยังไม่ต้องพูดว่า แต่ละคนที่ขึ้นแปรอักษรหรือทำงานเบื้องหลัง ล้วนมีประจักษ์พยานปรากฏรับรองกันทั้งนั้น ไม่ใช่พูดอะไรที ก็หาใครมายืนยันอะไรไม่ได้ 

เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนจะมี ‘เรื่องเล่า’ อันน่าจดจำและภาคภูมิใจ และไม่มีใครจะพรากมันไปได้ 

เชื่อผมเถอะครับ ทุกคนจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคของชีวิตจริงได้ไม่ยาก 

สนามของจตุรมิตร สนามของการทำงานแปรอักษรทั้งกระบวนการ มันหล่อหลอมขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ 

ยังไม่นับความรัก ความสนิทสนมกลมเกลียวที่แต่ละคนมีให้กัน ทั้งกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนตัวเอง และกับพี่น้องโรงเรียนมิตรสหาย

มันคือสายสัมพันธ์หรือ ‘คอนเนกชั่น’ ที่เกิดขึ้นเองจากประสบการณ์ร่วม ที่ทุกคนแค่มองตาก็รู้ถึงหัวจิตหัวใจกันแล้ว และเป็นไปเองโดยธรรมชาติ 

เพราะฉะนั้นมันจึงงดงามครับ

เปิดโปง!! สงคราม Wikipedia เปลี่ยนข้อมูล 'พิธา' ด้วยมือ 'ด้อมส้ม' สะท้อน!! หากคิดใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงเชิงวิชาการ คงต้องคิดให้ดีๆ

(20 พ.ย. 66) จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Chawalit Limsowan' ได้โพสต์ข้อความถึงสงครามบนโลก Wiki ในช่วงไม่กี่วันนี้ ว่า...

การต่อสู้กันบน Wiki ช่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก 🤣🤣

19 พ.ย. สามทุ่มเศษ ด้อมส้มที่ใช้เน็ต TrueMoveH เข้ามาพยายามช่วยคุณพิธา โดยเปลี่ยนอายุตอนที่ไปนิวซีแลนด์จาก 11 ปี ไปเป็น 16 ปี

20 พ.ย. ตีหนึ่งเศษ มีคนมาเปลี่ยนกลับ

ต่อมา 20 พ.ย. 8 โมงเศษ ๆ มีอีกรายเข้ามาแก้ข้อความรายละเอียดให้ ‘ดราม่ายิ่งขึ้น’ (เพิ่มคำว่า ‘ด้วยความที่เป็นเด็กเกเรและมีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ และเป็นภัยต่อสังคม’) ก่อนเปลี่ยนใจเปลี่ยนกลับไปใช้ข้อความดั้งเดิม

ใครใช้ Wikipedia เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเชิงวิชาการ น่าพิจารณาคุณสมบัติอันนี้ประกอบนะครับ ^_^

ใครสนใจติดตามดราม่าเรื่องนี้ เข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ครับ

https://th.wikipedia.org/w/index.php?title=พิธา_ลิ้มเจริญรัตน์&diff=prev&oldid=11151193 

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02WJZnThauq83g3eVCS2Yz4xPpmSjcjrnuESbJo7D5b2SvSGg46CL7S8GBu7T8bi1Gl&id=100000686209796&mibextid=Nif5oz 

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียม มอบถุงยังชีพจำนวน 200 ชุด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียม มอบถุงยังชีพจำนวน 200 ชุด พร้อมสนับสนุนค่าเดินทางให้แก่ผู้พิการที่เข้ารับบริการจัดทำขาเทียมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 165 จังหวัดอุทัยธานี

วานนี้ (วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566) นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และกรรมการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด ให้แก่มูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อมอบให้แก่คนพิการที่เข้ารับบริการจัดทำขาเทียมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 165 ของมูลนิธิฯ โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย พลโท นายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ และคุณเกรียงฤทธิ์ สุขเจริญสิน กรรมการมูลนิธิฯ และผู้บริหารมูลนิธิฯ และ นายชุมพล บุญภักดี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสาธารณภัย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่แผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครมูลนิธิฯ ร่วมรับมอบ ณ อาคารสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ (บึงพระชนก) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี 

โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะเดินทางร่วมมอบถุงยังชีพ พร้อมมอบเงินสนับสนุนค่าเดินทางคนละ 500 บาท ให้แก่ผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพิธีมอบขาเทียมพระราชทาน 

รวมงบประมาณการสนับสนุนถุงยังชีพพร้อมค่าเดินทางทั้งสิ้น 155,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจwww.facebook.com/atpohtecktung

#มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต#

รักษาการซีอีโอ ‘ChatGPT’ จ่อพา ‘อัลท์แมน’ กลับมาอีกครั้ง หลังเผชิญความกดดันหลายฝ่าย เหตุไม่ปลื้ม!! ที่มีมติปลดออก

(20 พ.ย. 66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นางสาวมิร่า มูราติ (Mira Murati) ซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI ผู้พัฒนาแชตบอตพลิกโลกเทคโนโลยีอย่าง ‘ChatGPT’ วางแผนที่จะพา ‘นายแซม อัลท์แมน’ (Sam Altman) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอกลับมาดำรงตำแหน่งในบริษัทอีกครั้ง

หลังจากคณะกรรมการของ OpenAI มีมติปลดนายอัลต์แมนในเช้าวันที่ 18 พ.ย.66 ตามเวลาไทย ก็มีเสียงคัดค้านตามมาจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ที่พยายามหาทางคืนสถานะซีอีโอให้กับนายอัลต์แมน

และการที่นายอัลต์แมนต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอของ OpenAI ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามมามากมาย เช่น นายเกร็ก บร็อกแมน (Greg  Brockman) ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท รวมถึงพนักงานระดับสูงอีกหลายคนก็ตัดสินใจลาออกตาม

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คณะกรรมการของ OpenAI กำลังหารือในประเด็นที่จะให้นายอัลต์แมนกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขคือต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการ และถอดถอนคณะกรรมการชุดเดิมทั้งหมด โดยผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ได้ขีดเส้นตายให้คณะกรรมการรับข้อเสนอภายใน 17.00 น. ของวันที่ 19 พ.ย.66 ตามเวลาท้องถิ่นในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

รายงานข่าวระบุว่า นางสาวมูราติได้ตัดสินใจท่ามกลางความกดดันจากผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ที่ไม่พอใจกับมติการปลดนายอัลต์แมน รวมถึงคณะกรรมการที่เหลือยังคงพยายามทาบทามและสรรหาบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่อยู่

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ปมปัญหาสำคัญที่ทำให้นายอัลต์แมนต้องลงจากตำแหน่งมาจากการที่นายอัลต์แมนพยายามผลักดันให้ OpenAI เติบโตในเชิงพาณิชย์และเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทที่จะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

ความแตกต่างของเป้าหมายในการบริหารงานน่าจะทำให้คณะกรรมการเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน AI ที่อาจจะกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และนำไปสู่การตัดสินใจในมติดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดปัจจุบันของ OpenAI ประกอบไปด้วยนายอิลยา สุตสกีเวอร์ (Ilya Sutskever) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI, นายอดัม ดีแอนเจโล (Adam D’Angelo) ซีอีโอ Quora, นางทาช่า แมคคอลีย์ (Tasha McCauley) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี และนางสาวเฮเลน โทเนอร์ (Helen Toner) จาก Georgetown Center for Security and Emerging Technology

‘อนุทิน’ ยก ‘แก้จน’ เป็นวาระแห่งชาติ ขจัดปัญหาปากท้องคนไทย ชี้!! ไม่ใช่ทำให้ทุกคนรวย แต่ ปชช.ต้องพ้นทุกข์-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

(20 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องวาระแห่งชาติ ‘นโยบายแก้จนของประเทศ’ ในงานสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน วิถีความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนหนึ่งว่า นโยบายแก้จน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้น เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นวาระที่ต้องทำแบบถาวร เมื่อตนมีโอกาสทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำทุกอย่างเพื่อกำจัดความยากจน และเป็นภารกิจและวาระแรกของตนที่ตั้งใจจะทำ

“ถ้าตั้งใจแก้ปัญหา โดยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำปัญหาปากท้องให้ดีขึ้นเยอะๆ เมื่อมีคนพูดว่ามาแก้ความจน ผมก็ท้อ เพราะต้องแก้ทุกอย่างจะแก้ได้อย่างไร มีแค่พูดกันไป โยนกันมา แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ให้ทุกคนรวย เพราะความรวยมีหลายระดับ แต่ต้องทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นความลำบาก ซึ่งนโยบายแก้จนของประเทศไทยต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ยกระดับการศึกษา เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผมเชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และพัฒนาให้เติบโตที่ยั่งยืนได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจต่างๆ รวมถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหาตามอำนาจและหน้าที่ โดยตนขอให้สัญญาประชาคม และยืนยันความพร้อมทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ทั้งนี้ แผนการทำงานนอกจากต้องสนับสนุนเรื่องปัจจัย 4 ให้ประชาชนแล้ว ยังต้องเติมเต็มปัจจัยที่ 5 คือการศึกษาของเยาวชนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องหาทางลดรายจ่ายของประชาชน เช่น สนับสนุนให้น้ำประปาดื่มได้ เพื่อประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำบริโภค นอกจากนั้นแล้วตนยังมองในประเด็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดกว้างให้ประชากรคุณภาพจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำนักสถิติระบุว่า ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีมากที่สุดและเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ การหาที่ดินทำกินและพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม โดยตนฐานรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมจะใช้นวัตกรรมเพื่อใช้การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ผมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ถือเป็นเพื่อร่วมรุ่นกันที่มีสายสัมพันธ์ ได้พูดคุยกันและมีแนวคิดแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะใช้เวลาเท่ากับอายุของรัฐบาลนี้ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด ผมอาจจะขอเยอะ อาจจำเป็นต้องแลกกัน ทั้งงบประมาณที่ใช้ หรือโครงการที่ใช้ ผมจะใช้ความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมือง” นายอนุทิน กล่าว

มุกดาหาร -ฉก.ทหารพรานตรวจยึดน้ำตาล ขณะลักลอบลำเลียงข้ามแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน กองร้อยเฉพาะกิจทหารพราน 2105 กรมทหารพรานที่ 21 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีการลำเลียงสินค้าหนีภาษีจากแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่บริเวณชุมชนนาโปน้อย เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร  จึงได้จัดกำลังเฝ้าตรวจบริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดที่ลำเลียงสินค้าหนีภาษี  ต่อมาชุดเฝ้าตรวจได้สังเกตเห็นเรือเหล็ก จำนวน 1 ลำ แล่นมาจากฝั่ง สปป.ลาว มุ่งหน้ามายังฝั่งประเทศไทย และเมื่อแล่นมาถึงบริเวณกลางลำแม่น้ำโขงก็ได้ชะลอเรือและดับเครื่องยนต์ แล้วใช้วิธีพายเรือเข้ามาจอดที่บริเวณริมตลิ่งชุมชนนาโปน้อยจากนั้นได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ช่วยกันตะลำเลียงกระสอบบรรจุสิ่งของขึ้นจากลำเรือ  

เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวให้สัญญาณหยุดเพื่อขอตรวจค้น แต่เมื่อกลุ่มคนดังกล่าวเห็นเจ้าหน้าที่ก็ได้อาศัยความมืดวิ่งหลบหนีไป จากการเข้าตรวจสอบพบน้ำตาลทรายขาวบรรจุกระสอบวางอยู่ในลำเรือ จำนวน 30 กระสอบๆ ละ 25 กิโลกรัม จึงได้ทำการตรวจยึดไว้เป็นของกลาง พร้อมกับเรือเหล็กติดเครื่องยนต์  จำนวน 1 ลำ เพื่อนำส่งด่านศุลกากรมุกดาหารดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ภาพ/ข่าว เดวิท โชคชัย มุกดาหาร รายงาน 092-5259-777

'เพจดัง' กระหน่ำ 'พิธา' ทำไมบอกไปเรียนนิวซีแลนด์ตอน 11 ขวบ ทั้งที่ยังอยู่กรุงเทพคริสเตียนถึง ม.3 และได้แปรอักษร 2 ครั้ง

(20 พ.ย. 66) จากเพจ 'วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร' ได้โพสต์ภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมัยยังเป็นนักเรียน ม.3 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน พร้อมข้อควาระบุว่า...

#ทุกคนคะ ภาพถ่ายคุณพิธา ม.3 รร.กรุงเทพคริสเตียนค่ะ

แหล่งข่าวแจ้งว่าคุณพิธาเรียนไม่จบ ม.3 แล้วย้ายออกค่ะ เรื่องไปเรียนที่นิวซีแลนด์คือไปจริง แต่ทำไมสัมภาษณ์ว่าไปเรียนตอนอายุ 11-12 ขวบ อาจให้ดูน่าสงสารหรือจำผิด ก็ไม่ทราบได้

ส่วนที่ขึ้นสแตนด์ 2 ครั้ง เป็นไปได้ 2 ความหมายคือ

1. ขึ้นสแตนงานลูกเสือโลก 1 ครั้ง และ ขึ้นงานบอล 1 ครั้ง ตอน ม.2

2. ขึ้นงานบอลตอน ม.2 ทั้ง 2 ครั้ง คือ วันเปิด และ วันปิด

ขอความเป็นธรรมเรื่องคุณพิธาเรียนถึง ม.3 ด้วยนะคะ น่าสงสารมากค่ะ

‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อชง ครม. เคาะราคาชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน พร้อมหาแนวทางช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาตัดอ้อยสดในฤดูกาลต่อไป

(20 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคาเพื่อให้โรงงานเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 
ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกับต้นทุนราคาอ้อย ทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของการหารือผู้แทนชาวไร่อ้อยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุความต้องการ

กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 200 คน เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาทต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการพิจารณา 

นายนราธิป ระบุว่า ฤดูหีบปี 2566/67 ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากมีการเปิดหีบอ้อยแล้วยังไม่ชัดเจน เกรงว่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ก็อาจจะไม่ได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดเพื่อส่งเข้าโรงงานยังมีต้นทุนสูง

‘รถไฟฟ้าสีชมพู’ ได้ฤกษ์เปิดให้นั่งฟรี 30 สถานี 21 พ.ย.นี้ ส่วนค่าโดยสารจะเริ่มเก็บหลังเปิดทดลองใช้บริการ 1 เดือน

(20 พ.ย. 66) เพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งว่า นับถอยหลังอีก 1 วัน เปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ ศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) - มีนบุรี (PK30) ช่วงทดลองใช้บริการฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข่าวแจ้งว่า ในวันที่  21 พ.ย.นี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี เป็นระยะเวลาราว 1 เดือน

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66 นี้ จะมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานี ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท โดยช่วงทดลองใช้บริการฟรีไปจนถึง 18 ธ.ค.66 จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร

สำหรับ 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เปิดให้บริการประกอบด้วย

1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 
2. สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก
3. สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
4. สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี
5. สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา
6. สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
9. สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี
10. สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะและซอยแจ้งวัฒนะ 14
12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงศุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
13. สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7
14. สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิต
15. สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
17. สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก
18. สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
19. สถานีรามอินทรา กม.4  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37
20. สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ
21. สถานีวัชรพล  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61
22. สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42
23. สถานีคู้บอน  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46
24. สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56
25. สถานีวงแหวนรามอินทรา  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade
26. สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์
27. สถานีบางชัน  ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115
28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123
29. สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2
30. สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top