Saturday, 10 May 2025
TheStatesTimes

สุภาษิตว่าไว้ ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่หาก ‘ตี’ เกินกว่าเหตุ เสี่ยงนอนคุกยาวๆ

ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันครอบครัว แต่หากให้ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ‘มากจนเกินไป’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ‘ความรุนแรง’ ในครอบครัวได้

การอบรมสั่งสอนลูก หรือบุคคลในครอบครัว หากเกินขอบเขต ถึงขนาดการทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ จนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้กระทำอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (หลายคนคิดว่าทำได้ ไร้ความผิด)

คราวนี้จะต้องมาทำความเข้าใจในคำว่าความรุนแรงในครอบครัวเสียก่อน 

ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง ความรุนแรงที่พ่อ แม่ กระทำต่อลูก หรือสามีกระทำต่อภรรยา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทั้งที่มีผลกระทบต่อร่างกาย หรือจิตใจ

บุคคลในครอบครัว หมายถึง สามี ภรรยา บุตร อดีตสามี/ภรรยา หรือญาติที่พักอาศัยอยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน

หากฝ่าฝืน ผู้ที่กระทำความรุนแรงอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 

ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอาจจะมีคำสั่งใด ๆ เพื่อกำหนดมาตรการและเหตุบรรเทาทุกข์ ให้ผู้กระทำหยุดการกระทำรุนแรงดังกล่าวต่อไปอีก หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้กระทำความรุนแรง อาจถูกให้ใช้วิธีฟื้นฟู บำรุงรักษา หรือคุมความประพฤติ ห้ามใช้ความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก

หากภายหลังผู้กระทำความรุนแรง และบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ อาจตกลงยอมความกัน ซึ่งหากสามารถทำข้อตกลงและอยู่ร่วมกันต่อไปได้ อาจมีการถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องได้ และถือเป็นความผิดอันยอมความได้

เนื่องจากความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน กฎหมายจึงกำหนด วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง มีขั้นตอนแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไข ความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

‘ตำรวจทางหลวงขอนแก่น’ รวบ ‘หนุ่มขอนแก่น’ รับจ้างขนยา ‘แก๊งม้าบิน’ ยึดยาบ้า 2.5 ล้านเม็ด

(6 พ.ย. 66) พ.ต.อ.คงกฤช เลิศสิทธิกุล รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (รรท.ผบก.ทล.) สั่งการให้ พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง.ผบก.ป. ช่วยราชการ รอง ผบก.ทล., พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ จำรูญ ผกก.4 บก.ทล., พ.ต.ต.ฐกร ทองอิงครัต สว.ส.ทล.2 กก.4 บก.ทล. พร้อมกำลังเข้าจับกุมนายธนัตชัย อายุ 31 ปี ชาว จ.ขอนแก่น พร้อมของกลาง ยาบ้า 2,540,000 เม็ด ได้บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 224 กม.26-27 ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

ก่อนหน้าทางเจ้าหน้าที่รับรายงานว่าจะมีขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายของชาวลาว ลักลอบลำเลียงยาบ้าจากภาคอีสานเพื่อนำลงไปส่งให้ลูกค้าในจังหวัดภาคกลาง และกทม. จึงนำกำลังออกตรวจสอบ จนกระทั่งพบรถเก๋งโตโยต้าวีออส สีเทา ลักษณะมีพิรุธ จึงขับรถติดตามและเรียกให้หยุดเพื่อขอตรวจสอบ พบผู้ขับขี่คือ นายธนัตชัย จากการตรวจค้นภายในรถพบยาบ้าของกลางทั้งหมดจึงทำการจับกุม

นายธนัตชัย รับสารภาพว่า ตนรับจ้างขนยาบ้ามาจริง โดยผู้ว่าจ้างนั้นเป็นชาว สปป.ลาว ที่ติดต่อกันผ่านช่องทางแชตไลน์ใช้ชื่อว่า ‘ม้าบิน’ ที่ให้ตนเดินทางไปรับรถเก๋งของกลาง ซึ่งจอดไว้ริมถนนใน อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ จากนั้นให้ขับรถลงไปส่งที่ จ.สระบุรี ค่าจ้าง 5 หมื่นบาท แต่ตนไปไม่ถึงเพราะถูกจับกุมเสียก่อน นอกจากนี้ผู้ต้องหายังอ้างด้วยว่า เพิ่งจะมาทำเป็นครั้งแรก จึงนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวน บช.ปส. สอบสวนขยายผลการดำเนินคดีต่อไป

บิ๊กโจ๊ก ลุยเอง บินเมียนมาช่วย 164 คนไทย เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.เผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล้าก์ก่าย ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กลับประเทศไทย ว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ได้เดินทางไปยังเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อหารือกับทางการเมียนมาในการนำตัวคนไทยกลับประเทศ จากนั้นจะไปค่ายกักกันเพื่อทำการคัดแยกคนไทยทั้ง 164 คน โดยเบื้องต้นในกลุ่มทั้งหมด มีบางคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และบางคนที่อาจเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

รอง ผบ.ตร. บอกอีกว่า แนวทางการช่วยเหลือคนไทย 164 คน ที่ถูกคุมตัวในเมียนมา ที่เมืองเล้าก์ก่าย กลับประเทศไทยนั้น ขณะนี้ได้พูดคุยหารือด้วยวาจากับทางการเมียนมาและจีนแล้ว โดยเบื้องต้น พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีความเสี่ยง อาจต้องเคลื่อนย้ายอพยพคนไทยทั้ง 164 คนไปที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ก่อน เพื่อให้คล่องตัวต่อการเคลื่อนย้าย จากนั้นจึงจะนำเครื่องบินไปรับกลับประเทศไทยตามขั้นตอนต่อไป

นราธิวาส-ผบ.ฉก.นราธิวาส ตรวจเยี่ยมฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4514 เน้นย้ำกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกฐานปฏิบัติการ ต้องให้มีความรอบคอบไม่ประมาท

 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4514 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 บ้านเขาน้อย หมู่1 ตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เดินทางลงพื้นที่ เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และรับฟังบรรยายสรุปการชี้แจงติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สอบถามข้อขัดข้องในการปฎิบัติงาน พร้อมทั้งเน้นย้ำ กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกฐานปฏิบัติการ ให้มีความรอบคอบไม่ประมาทอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานแบบเดิมๆ ซ้ำเวลาซ้ำสถานที่ ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกาะติดจนนำไปสู่การลงมือก่อเหตุ การลาดตระเวนเส้นทางให้เกิดความปลอดภัย สร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งการเฝ้าตรวจให้เป็นไปตามสั่งการของ พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  โดยมี พันเอก สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 , ปลัดอาวุโส อำเภอระแงะ , รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอระแงะ ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ  

ทั้งนี้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้มอบนโยบายของผู้บังคับบัญชาให้กับกำลังพลทราบ เน้นย้ำการรักษาความปลอดภัยฐานปฏิบัติการ ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเพื่อป้องกันการเกาะติดของผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามาสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งย้ำในเรื่องระเบียบวินัยของกำลังพล และไม่สร้างเงื่อนไขในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับกำลังพลในพื้นที่ต่อไป
ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

‘TCSA-CSSAT’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ไทย-จีน จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พานักเรียนจีนท่องวิถีชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 สมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) ร่วมสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนแห่งประเทศไทย (CSSAT) จัดกิจกรรม ‘One day trip กระชับมิตรไทย-จีน’ สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มุ่งเดินทางบนเส้นทางการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน และการทำจิตอาสาปลูกจิตสำนึก ถึงคุณค่าของป่าชายเลน ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้นำพาเพื่อนๆ นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวจีนมาพบเจอกัน รู้จัก แลกเปลี่ยนทางภาษา เป็นสะพานในการสานความสัมพันธ์ในระดับนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางเครือข่าย อันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมุมของอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน

กิจกรรม One day trip ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนไทย-จีน จำนวน 40 คน เป็นคนจีน 24 คน คนไทย 16 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.หวัง ฮวน ภริยา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา 

ภิริยาทูตจีนฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ตัวท่านได้เปิดประสบการณ์และเรียนรู้หลาย ๆ อย่างในวันนี้”

อาจารย์หวังฯ ยังกล่าวอีกว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนจีนในไทย ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญ ได้ทำกิจกรรมอาสา ที่เป็นการให้ประโยชน์กลับสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมทีมงานผู้จัดกิจกรรม ที่จัดออกมาได้อย่างแปลกใหม่ และเข้ากับยุคสมัย”

ทึ่ง!! ‘นักเรียนหญิง’ วัย 16 ไอคิวแซงหน้า ‘ไอน์สไตน์’ ผ่านการสอบมาแล้ว 34 ครั้ง พร้อมตั้งเป้าศึกษาที่ออกซฟอร์ด

(6 พ.ย. 66) เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานเรื่องราวน่าทึ่งของ ‘Mahnoor Cheema’ นักเรียนหญิงวัย 16 ปี ที่มีไอคิวสูงถึง 161 สูงกว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และสตีเฟน ฮอว์คิง อยู่ที่ 160 ซึ่งปีที่แล้วเธอผ่านการสอบประกาศนียบัตรการศึกษาทั่วไปของอังกฤษถึง 34 ครั้ง เป็นการการันตีถึงระดับสติปัญญาและผลการเรียนที่ดีเยี่ยม เผย นอนวันละ 3 ชั่วโมง

ตามรายงาน เผยว่า หลังจากที่เธอพยายามอ่านหนังสืออย่างหนัก ทำให้มานูร์ผ่านการสอบ British General Certificate of Education ซึ่งเทียบเท่ากับประกาศนียบัตรมัธยมปลายของอังกฤษ เธอจึงสามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศตามผลการเรียนของเธอ โดยเธอเข้าสอบ 4 ครั้งตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ รวมถึงภาษาอังกฤษ การเดินเรือ วิทยาศาสตร์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการคิดวิเคราะห์ เมื่อเธอบรรลุเป้าหมายก็หวังที่จะเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด 

โดยสาวสุดเก่งรายนี้ ได้เล่าถึงนิสัยการนอนที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอว่า “หลังเลิกเรียนฉันจะนอน 3 ชั่วโมงก่อน เพราะฉันเหนื่อยเกินไป ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ จากนั้นฉันจะตื่นตอน 1 ทุ่มเพื่ออ่านหนังสือ เข้านอนอีกครั้งตอนตี 2 ทำแบบนี้ทุกวัน และใช้เวลาชั่วโมงสุดท้ายเล่นเปียโน”

ขณะเดียวกัน เธอยอมรับด้วยว่า เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่เธอคิดว่า การเรียนที่โรงเรียนเป็นเรื่องง่าย “ฉันแค่อยากสำรวจความสามารถทั้งหมดของฉัน และฉันสนใจในทุกวิชาจริงๆ และชอบที่จะท้าทายตัวเองอยู่เสมอ”

อย่างไรก็ตาม ตามคำกล่าวของพ่อแม่มานูร์ เล่าว่า ลูกสาวของพวกเขาอ่านหนังสือ Harry Potter ทั้งหมดเมื่ออายุ 6 ขวบ และสามารถท่องศัพท์ Oxford English Dictionary ได้เมื่ออายุ 11 ขวบ นอกจากนี้ น้องสาววัย 14 ปีของเธอ ซึ่งมีไอคิวสูงถึง 161 เช่นกัน ยังเป็นแชมป์คณิตศาสตร์ระดับชาติอีกด้วย ส่วนน้องชายวัย 9 ขวบ มีทักษะการเล่นเปียโนถึงระดับ 4 แล้ว

ทั้งนี้ มานูร์ยังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ MENSA ซึ่งเป็นองค์กรที่มีไอคิวสูงอันดับต้นๆ ของโลก และสมาชิกจะต้องเป็นบุคคลที่ได้คะแนนสูงสุด 2% ของโลกในการทดสอบสติปัญญา และด้วยผลการเรียนที่โดดเด่นของเธอ แม้แต่ ‘เชห์บาซ ชารีฟ’ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ยังยอมรับ และได้มอบแล็ปท็อปให้เป็นของขวัญอีกด้วย

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

วันนี้ เมื่อ 27 ปีก่อน ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด โดยทรงมีหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างวันที่ 8-10, 12, 14, 23 มิถุนายน, 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 รวมทั้งสิ้น 7 วัน 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2549 จึงมีกำหนดการการแสดงกระบวนเรือพระราชพิธีขึ้นอีกครั้งในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยเป็นลักษณะของการจัดกระขบวนเรือ มิใช่ ‘การเสด็จพยุหยาตราชลมารค’ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จโดยกระบวนเรือแต่อย่างใด

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

‘ภาคีฯ ประชาสังคม’ ชี้!! คุกคามทางเพศใน ‘องค์กรการเมือง’ มีมาก เร่งหาทางออก ‘สร้างที่ทำงาน ไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศ’

เมื่อวานนี้ 5 พ.ย. 66 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดเสวนา ‘ก้าวแรกสู่การสร้างสถานที่ทำงานไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศ’ เป็นครั้งแรก ณ Clayzy Café ศูนย์การค้าซีซั่นมอล พญาไท เป็นกิจกรรมแรกของเดือนพฤศจิกายนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล

โดยภาคประชาสังคม ได้แก่ The Publisher, Thaiconsent, SHero, Social Equality Promotion Foundation, ACWC-Thailand for Women’s Rights, Nabi Fellows งานเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ เผยที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เป็นการตอบสนองประเด็นเร่งด่วน อันเนื่องมาจากการร้องเรียนกรณีคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่ถูกนำเสนอผ่านสื่ออย่างบ่อยครั้งในปีนี้ ยังไม่นำพามาซึ่งมาตรฐานอย่างที่ ‘ควรจะเป็น’ และทวีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อที่ทำงานดังกล่าว เป็นพื้นที่ของงานทางการเมือง

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมดังกล่าว คือการเชิญชวนผู้ที่สนใจในประเด็น และต้องการเสนอแนวทางในการยกระดับความปลอดภัยทางเพศในที่ทำงาน ทั้งบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักการเมือง สื่อมวลชน นักกิจกรรม ศิลปิน มาร่วมทำความเข้าใจ เสนอแนวทางหรือประสบการณ์ รวมถึงแสดงพลังร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะต่อไป

สำหรับผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
1. บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง SHero Thailand
2. สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
3. รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC-Thailand for women’s rights)
4. พลตรี วันชนะ สวัสดี
5. วิภาพรรณ วงษ์สว่าง Thaiconsent รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ 

การเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น ดำเนินยาวนานเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง 30 นาที โดยพูดถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น มายาคติที่สังคมสร้างและยังคงอยู่ระหว่างการรื้อ, ข้อกังขาของการเมืองในที่ทำงานและเมื่อที่ทำงานเป็นพรรคการเมือง, ข้อท้าทายของผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม, พัฒนาการทางด้านข้อกฎหมายอาญาและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ, กลไกระหว่างประเทศและกรณีศึกษาในการสร้างการรับรองอย่างเป็นทางการของนโยบายไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ, ความสำคัญของการร่วมมือกันโดยทุกคนในสังคม และการสร้างบรรทัดฐานกลางในการยุติความรุนแรงทางเพศ และการถอดปรากฎการณ์ความเข้าใจสาธารณะผ่านสื่อเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศในที่ทำงาน 

โดยหนึ่งในประเด็นร้อนที่ประชาชนให้ความสนใจและแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์จำนวนมาก เป็นกรณีการคุกคามทางเพศที่เกิดในพื้นที่งานทางการเมือง โดยสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เล่าถึงประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยกล่าวว่าตั้งแต่ทำงานในด้านนี้มา ตนได้รับมือกับกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนมีฐานะ มีอำนาจ มีตำแหน่ง หรือมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ประจักษ์ในทางสาธารณะ ทั้งผู้กระทำที่เป็นทหาร ตำรวจ นักบวช นักการเมือง โดยจากประสบการณ์ ภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่ใช่เครื่องการันตีว่า ตัวตนที่น่านับถือของเขา จะเป็นตัวตนเดียวกันกับตอนที่มีโอกาสลงมือ

“หากจะกล่าวว่าอารมณ์ทางเพศควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในตอนที่ไปปาร์ตี้รู้สึกมึนเมา ขอถามหน่อยว่า สมมติถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คนที่ออกจากปาร์ตี้มา ถ้าเขาเห็นป้าขายไก่ย่างหน้าผับเป็นคนแรก เขาจะพุ่งหาป้าขายไก่ย่างเลยหรือไม่? ที่จริงผู้กระทำเขามีสติมากพอที่จะเลือกเหยื่อที่หมายตา โดยจะเล็งหรือเลือกมาก่อน หรือสร้างสถานการณ์ที่ปูทางไปสู่การฉวยโอกาสให้เกิดขึ้นได้ ที่จริงแล้วผู้กระทำในลักษณะนี้เขาคิดคำนวณมาเป็นอย่างดีว่าจะทำกับใคร ในพื้นที่ไหน ในสถานการณ์ใด และในรูปแบบใด ที่ตนทำเองแล้วมีโอกาสรอดหรือพอรับมือได้ โดยเลือกทำในสิ่งที่ไม่ทิ้งพยานและหลักฐาน”

สุเพ็ญศรียังกล่าวว่า "หนึ่งในการสร้างสถานการณ์ หรือหนึ่งในการฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ผู้ถูกกระทำปฏิเสธได้ยาก (หรือยากที่จะปฏิเสธสำเร็จ) เป็นโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการทำงานเพราะเป็นสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ยาก เพราะผู้ถูกกระทำต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อความสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงาน หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อต้องร้องเรียนนายจ้าง รุ่นพี่ หรือคนที่มีอำนาจหรือชื่อเสียงทางสังคมมากกว่า

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้งองค์กร SHero ยังได้เสริมถึงมายาคติที่เป็นปัจจัยหนุนเสริม ที่เอื้อให้ผู้กระทำกล้าลงมือ ด้วยเชื่อว่า หากลงมือแล้ว ยังไงก็มีช่องว่างที่จะทำให้เหยื่อไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

“สังคมเรายังคาดหวังว่าผู้เสียหายจะต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และต้องต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าความน่าเชื่อถือ ซึ่งมักถูกทวงถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ทั้งที่ในความเป็นจริง จะมีผู้ถูกกระทำสักกี่คนที่ถูกละเมิดแล้วรีบเก็บ DNA หรือเก็บหลักฐานทางชีวภาพต่าง ๆ แล้วเข้าไปแจ้งความในทันที เพราะอันที่จริงแล้วกลไกทางจิตวิทยาของคนเราเมื่อเข้าสู่โหมดป้องกันตนเองจากความทรงจำที่เจ็บปวด (Trauma) มันไม่ได้มีแค่การสู้หรือหนี (Fight or Flight) แต่ยังมีการหยุดนิ่ง (Freeze หรือ Tonic Immobility) ทำให้คนจำนวนมากเริ่มขอความช่วยเหลือหลังจากเวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี” 

นอกจากนี้ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent ยังตั้งคำถามกับบทบาทของสื่อที่เอาวิธีคิดของข่าวทั่วไปมาใช้กับประเด็นคุกคามทางเพศ โดยนักข่าวเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวจากทั้งสองฝั่งอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอต่อสาธารณชน (ในการเลือกเชียร์หรือเลือกแช่ง) การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมในลักษณะนี้ จึงไม่ต่างจากมหรสพในรูปแบบการนำเสนอข่าว ที่เป็นทั้งการละเมิดซ้ำ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ และในหลายครั้งก็เป็นเครื่องมือฟอกขาวให้กับผู้กระทำที่มีความคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่สื่อ และใช้โอกาสที่สาธารณชนขุดคุ้ยเรื่องราวของผู้ถูกกระทำ มาเป็นหนทางในการบั่นทอนกำลังผู้ที่คิดจะสู้ถอนใจไปเอง

ในแง่มุมการเมือง สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ตอบกลับคำถามของผู้ชมที่ถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับความเห็นสาธารณะที่มองว่า ประเด็นคุกคามทางเพศอาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือมองว่าเราควรให้โอกาสคนที่ทำงานได้ดี ในการกลับตัวและปรับพฤติกรรม โดย สุเพ็ญศรี ยืนยันหนักแน่นว่า “การเมืองที่มีแน่ ๆ ในเรื่องนี้ คือการเมืองของคนที่โอบอุ้มพรรคพวกของตัวเอง ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ที่นำไปสู่การปฎฺิเสธความรับผิดชอบ ก็คงอุ้มกันจนกว่าจะจนมุม” 

โดยมุมที่ว่านี้ สุเพ็ญศรีไม่ได้หมายถึงท่าทีของประชาชนที่เสนอให้ไปร้องต่อ กกต. เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของ สส. (ซึ่ง กกต. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้) หรือคำแนะนำให้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ที่ส่วนหนึ่งมีประชาชนกังขาถึงความละเอียดอ่อนในประเด็นทางเพศ) ซึ่งสุเพ็ญศรีมองว่า มุมมองที่ธรรมดากว่านั้นอย่างกฎหมายอาญา และกฎหมายแรงงาน เป็นกลไกสำคัญที่ถูกนำมาพูดถึงน้อยอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้เข้าร่วมการเสวนาเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือแบบเร่งด่วน และเตรียมตัวผลักดันประเด็นการพูดคุยในวันนี้ สู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้น ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การเยียวยา สามารถประสานงานได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ The Publisher ที่มีความตั้งใจจะร่วมผลักดันประเด็นดังกล่าวในฐานะของสื่อมวลชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top