Monday, 21 April 2025
SouthKorea

โสมร่างกม. ห้ามนักเรียนใช้สมาร์ทโฟน หวั่นทำเด็กเป็นซึมเศร้า-สมาธิสั้น

(5 พ.ย. 67) สำนักข่าว Koreanherald ของเกาหลีใต้รายงานว่า เกาหลีใต้กำลังพิจารณาห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียน สืบเนื่องจากพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกำลังพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจะห้ามนักเรียนใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวในระหว่างชั้นเรียน

รายงานระบุว่า ร่างกฎหมายนี้มาจาก สส โช จุงฮุน และเพื่อนสมาชิกรัฐสภาอีก 10 คนจากพรรคเดียวกันกำลังผลักดันร่างกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อปกป้องสุขภาพจิตของนักเรียน

สส โช ระบุว่า กฎหมายลักษณะนี้มีบังคับใช้ในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ในขณะที่การเสพติดโซเชียลมีเดียกลายเป็นปัญหาร้ายแรง เรื่องนี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้เช่นกัน โดยพบว่าเด็กอายุระหว่าง 3-9 ปี ร้อยละ 25 และเด็กอายุระหว่าง 10-19 ปีร้อยละ 40.1 เสพติดสมาร์ทโฟนมากเกินไป ดังนั้นเพื่อปกป้องสุขภาพจิตของพวกเขา เราจึงเสนอให้จำกัดการใช้สมาร์ทดีไวซ์ในโรงเรียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่เจาะจง หรือในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

ความคืบหน้าดังกล่าวสอดคลองกับงานวิจัยจากหลายสถาบันทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ออกมาระบุคล้ายกันว่า พฤติกรรมการใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนมากเกินไป อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต และสุขภาวะทางการรู้คิดของเยาวชนได้ การเสพติดและสิ่งรบกวนสมาธิไม่ใช่ปัญหาเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิดความกังวล ในหลายกรณี พบว่านักเรียนยังใช้ฟังก์ชันของโทรศัพท์เพื่อบูลลี่หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเพื่อนร่วมชั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังระบุเช่นกันว่า เกมและวิดีโอสั้นๆ ที่ช่วยกระตุ้นความคิดได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น แต่ทำให้การติดสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

ข้อมูลล่าสุดของ Health Insurance and Review Assessment Service สนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว เนื่องจากจำนวนการเข้าพบจิตเวชสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีพุ่งสูงขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา นักศึกษาประมาณ 250,000 คนเข้าโรงพยาบาลในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพียงปีเดียว คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของการเข้าพบทั้งหมดในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ผลสำรวจโดย Macromill Embrain ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าผู้ปกครองของนักเรียนร้อยละ 69 สนับสนุนแนวคิดการจำกัดการใช้โทรศัพท์ของนักเรียน มีเพียงร้อยละ 12.6 ที่คัดค้าน

ขีปนาวุธหลายลูกตกทะเลโสมใต้ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ เริ่มเปิดหีบ

(5 พ.ย. 67) คณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้ (JCS) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5 พ.ย.) เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบทิ้งตัวจำนวนหลายลูกลงสู่ทะเลตะวันออก เหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเริ่มขึ้น

JCS ระบุว่า การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ถูกตรวจพบในเวลาประมาณ 07.30 น. โดยยิงจากเมืองซารีวอน ทางตะวันตกของจังหวัดฮวังแฮเหนือ อย่างไรก็ตาม JCS ไม่ได้ให้รายละเอียดจำนวนขีปนาวุธที่ถูกยิง และระบุว่ากำลังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์สถานการณ์

ในแถลงการณ์ JCS กล่าวว่า “ขณะที่กองทัพของเราเสริมการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการยิงขีปนาวุธเพิ่มเติม เรายังคงรักษาความพร้อมอย่างเต็มที่ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือกับทางการสหรัฐฯ และญี่ปุ่น”

สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเช้าวันนี้ เกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชาวอเมริกันจะต้องเลือกระหว่างคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

นอกจากนี้ การยิงขีปนาวุธครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 5 วันหลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธฮวาซอง-19 (Hwasong-19) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ ลงสู่ทะเลตะวันออกเมื่อวันที่ 31 ต.ค. โดยทฤษฎีแล้ว ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถพุ่งถึงดินแดนสหรัฐฯ

ผู้นำเกาหลีใต้ซุ่มฝึกวงสวิง ไว้ออกรอบกับปธน.ทรัมป์

(12 พ.ย.67) ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้เริ่มฝึกซ้อมเล่นกอล์ฟอีกครั้งในช่วงไม่นานนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพบปะในอนาคตกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า ประธานาธิบดียุนได้เดินทางไปสนามกอล์ฟเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า เขาไม่ได้จับไม้กอล์ฟมาตั้งแต่ปี 2016 ทั้งนี้ นายทรัมป์เป็นผู้ที่ชื่นชอบกีฬากอล์ฟอย่างมาก และมีสนามกอล์ฟเป็นของตัวเองหลายแห่งทั่วโลก 

ในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีหลังจากที่ได้โทรศัพท์แสดงความยินดีกับนายทรัมป์ ยุนกล่าวว่า มีผู้ใกล้ชิดหลายคนบอกเขาว่า เขาและทรัมป์น่าจะเข้ากันได้ดี นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานกับทรัมป์และสมาชิกพรรครีพับลิกันที่พร้อมจะช่วยเหลือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองผู้นำ

ขณะนี้ เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้กำลังเร่งวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยประธานาธิบดียุนได้เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมร่วมปรึกษาหารือกันเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบที่จะมาพร้อมกับการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายทรัมป์

จ.ส.อ.รอด อาสนพรรณ แห่งกองพันพยัคฆ์น้อย เกาหลีใต้บรรจุอัฐิในสุสานเมืองปูซาน

(12 พ.ย.67) เกาหลีใต้จัดพิธีบรรจุอัฐิทหารผ่านศึกเกาหลีชาวไทยให้แก่ จ.ส.อ. รอด อาสนพรรณ ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกเกาหลีชาวไทยคนแรกที่ได้รับการบรรจุอัฐิในสุสานอนุสรณ์สถานแห่งสหประชาชาติในเมืองปูซาน

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในประเทศไทยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 12.00 น. สำนักงานบริหารสุสานอนุสรณ์สหประชาชาติในเกาหลี ได้จัดพิธีบรรจุอัฐิทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีชาวไทย จ.ส.อ. รอด อาสนพรรณ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีรำลึกถึงทหารผ่านศึกเกาหลีที่ชื่อว่า 'Turn Toward Busan' โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน รวมทั้งลูกสาวและหลานสาวของท่าน (นางสมทรง และ นางสาวจิรัชญา เจริญพงศ์อนันต์) รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกเกาหลีใต้ นางคัง จองเอ เอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลี นายธานี แสงรัตน์ และทหารผ่านศึก พร้อมด้วยครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการเยือนเกาหลี รวมถึงนักศึกษาจากโครงการอาสาสมัครสันติภาพสหประชาชาติ

จ.ส.อ. รอด อาสนพรรณ เป็นทหารผ่านศึกชาวไทยที่เข้าร่วมสงครามเกาหลีระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ถึง 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 โดยประจำการในกองพัน 'พยัคฆ์น้อย' ที่โดดเด่นด้านความกล้าหาญและความรวดเร็ว รัฐบาลไทยมอบเหรียญชัยสมรภูมิให้เป็นเกียรติและเพื่อยกย่องคุณงามความดีของท่าน การบรรจุอัฐิครั้งนี้ทำให้สุสานอนุสรณ์สหประชาชาติมีทหารผ่านศึกจำนวนทั้งสิ้น 2,330 นายจาก 14 ประเทศทั่วโลก

จ.ส.อ. รอด เกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2465 และเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 100 ปี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ก่อนวันเกิดครบ 101 ปีเพียง 2 เดือน ท่านเคยเดินทางไปเกาหลีอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วในโครงการเยี่ยมเยียนทหารผ่านศึกเกาหลี และแสดงความปรารถนาที่จะบรรจุอัฐิของตนไว้ที่สุสานแห่งนี้ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการสุสานนานาชาติในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ครอบครัวของ จ.ส.อ. รอด เปิดเผยว่ารู้สึกภาคภูมิใจในท่านอย่างยิ่ง ท่านเคยเล่าเรื่องราวความยากลำบากในช่วงสงครามให้ครอบครัวฟังอยู่เสมอ ซึ่งทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของท่าน จ.ส.อ. รอดยังยึดมั่นในระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และเป็นผู้ที่มุ่งมั่นแบ่งปันความสุขให้ครอบครัวและผู้คนรอบข้าง

นร.เกาหลีใต้กว่า 5 แสน เข้าสอบ'ซูนึง' เผยปีนี้เด็กสอบซิ่วเพียบ หลังคณะแพทย์รับนศ.เพิ่ม

(15 พ.ย. 67) จะเป็นวันสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของบรรดานักเรียนชั้นมัธยมปลายในเกาหลีใต้ เนื่องจากถือเป็นวันสอบ “ซูนึง” (Suneung) หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นการสอบครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของบรรดาวัยรุ่นแดนโสมขาว

สำหรับการสอบซูนึงในปีนี้ ยอนฮับ รายงานว่า มีจำนวนผู้เข้าสอบซ้ำทำสถิติสูงสุด ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มจำนวนรับนักศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ของหลายสถาบัน

ในปีนี้มีนักเรียนเข้าสอบทั้งหมด 522,670 คน แบ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมปลายมีจำนวน 340,777 คน คิดเป็น 65.2 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายแล้วเข้ามาสอบซ้ำ มีจำนวน 161,784 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่ปี 2003 

โดยผู้สำเร็จการศึกษาประมาณ 93,195 คน เชื่อว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่งที่ต้องการสอบใหม่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีกว่าในปีหน้า ตามข้อมูลจาก Jongro Academy

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้าสอบสูงเชื่อมโยงกับการเพิ่มจำนวนรับนักศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ปีหน้า โดยมีโรงเรียนแพทย์ 39 แห่งทั่วประเทศที่จะรับนักศึกษา 4,610 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีนี้ถึง 1,497 คน

การเพิ่มจำนวนดังกล่าวมาจากนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ที่ตัดสินใจเพิ่มตำแหน่งนักเรียนแพทย์ประมาณ 2,000 ตำแหน่งต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ภายในประเทศ

การสอบ CSAT หรือ ซูนึง ถือเป็นเหตุการณ์ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะการเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังถือเป็นเส้นทางสำคัญในการมีอาชีพที่ดี

รัฐบาลประกาศว่าจะไม่มีข้อสอบยากพิเศษหรือ "killer" questions ในการสอบปีนี้ตามนโยบายที่วางไว้

การสอบจะเริ่มตั้งแต่ 8:10 น. ถึง 17:45 น. โดยในช่วงเวลานี้ ทางการจะควบคุมเสียงรบกวนบริเวณสนามสอบ 1,282 แห่งทั่วประเทศ

ในช่วงการสอบฟังภาษาอังกฤษตั้งแต่ 13:05 น. ถึง 13:30 น. จะห้ามเครื่องบินขึ้นและลงจอดทั้งหมด โดยมีการปรับตารางบินของเครื่องบิน 156 ลำเพื่อให้เหมาะสม

เครื่องบินที่กำลังบินอยู่จะต้องรักษาระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน และการฝึกซ้อมทางทหารที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนจะถูกระงับชั่วคราว

รัฐบาลกรุงโซลประกาศขยายเวลาให้บริการรถไฟใต้ดินช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าเป็น 6:00 น. ถึง 10:00 น. จากปกติ 7:00 น. ถึง 9:00 น. เพื่อช่วยให้นักเรียนเดินทางไปยังสนามสอบได้ทันเวลา

ตำรวจจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 10,000 นาย เพื่อดูแลการขนส่งเอกสารสอบไปยังสถานที่สอบและรักษาความสงบเรียบร้อยรอบโรงเรียน

พอใจในเซ็กส์-เสพติดความโรแมนติก ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รั้งท้าย

(20 พ.ย. 67) IPSOS หน่วยงานวิจัยของฝรั่งเศสออกมาเปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับความรักความสัมพันธ์ใน 3 ด้าน จากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24,269 ราย ที่ไม่เกิน 75 ปี ใน 31 ประเทศ โดยด้านแรกเป็นการประเมินความพึงพอใจในความโรแมนติกและเซ็กส์ โดยพบว่า ชาวอินเดียร้อยละ 76% พอใจในชีวิตเซ็กส์และชอบความโรแมนติกของคู่รักของตัวเอง ตามด้วยเม็กซิโก 76% จีน 75% และประเทศไทยในอันดับ 4 ที่ 75% 

ขณะที่การสำรวจความพึงพอใจในด้านการรู้สึกรักหรือถูกรัก พบว่า ประเทศโคลอมเบียมากสุดที่ 86% ตามด้วย เปรู 86% อินเดีย 84% เนเธอร์แลนด์ 82% เม็กซิโก 81% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 80%

และการสำรวจความพึงพอใจในด้านความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตหรือคู่สมรส ประเทศไทยมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 92% ตามด้วย เนเธอร์แลนด์ 91% อินโดนีเซีย เปรู มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ได้คะแนนเท่ากันที่ 88% 

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับผลสำรวจทั้ง 3 ด้านพบว่า เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อยู่ในอันดับรั้งท้ายของการสำรวจ โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นเพียง 37% เท่านั้นที่ได้รับความพึงพอใจในเรื่องเซ็กส์และความรัก  ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ก็ไม่พอใจในเรื่องเซ็กส์และความรักน้อยเช่นเดียวกัน โดยความพึงพอใจในเรื่องเซ็กส์เป็นอันดับสองเพียง 45%

เช่นเดียวกับเมื่อถามว่าพวกเขารู้สึก "ได้รับความรัก" ในชีวิตมากเพียงใด ชาวญี่ปุ่น 51% ตอบว่ารู้สึกเช่นนั้น ซึ่งถือเป็นอันดับต่ำที่สุด โดยอยู่อันดับรองลงมาเล็กน้อยจากชาวเกาหลีใต้ 

ผลสำรวจนี้สะท้อนสภาพสังคมของทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญภาวะประชากรหดตัวเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลงในทั้งสองชาติ  ซึ่ง IPSOS ระบุถึงหนึ่งในเหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นมีอันดับความไม่พอใจดังกล่าวในระดับต่ำเป็นเพราะ "บุคลิกภาพของคนญี่ปุ่นที่ไม่เก่งในการแสดงอารมณ์และทัศนคติเมื่อเป็นเรื่องของความรัก" 

สรุปเหตุการณ์ 'ยุนซอกยอล' ชิงประกาศกฎอัยการศึก แต่สภาปัดตกโหวตคว่ำ จบ 3 ชั่วโมงแห่งวิกฤตการเมืองโสมใต้

(4 ธ.ค. 67) เปิดไทม์ไลน์ประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึก โกลาหลทั้งเกาหลีใต้ สุดท้ายสภาโหวตเอกฉันท์เป็นโมฆะ จับตาอนาคตผู้นำเกาหลีถูกถอดถอน 

ช่วงคืนวันที่ 3 ธ.ค.67 เกาหลีใต้เผชิญความสั่นคลอนทางการเมืองที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างว่ามี "กองกำลังต่อต้านรัฐที่ได้รับการสนับสนุนโดยเกาหลีเหนือ" ที่วางแผนก่อกบฏ เหตุการณ์นี้สร้างความตึงเครียดอย่างหนักทั่วประเทศ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาเพียง 157 นาที

เวลา 22:23 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ถึงการประกาศกฎอัยการศึกฉบับที่ 1 โดยให้เหตุผลอ้างว่าจำเป็นเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนจากการโค่นล้มระบบรัฐบาล ข้อบังคับกฎอัยการจะสั่งระงับกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาปฏิบัติหน้าที่  

คำสั่งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยฝ่ายค้านนำโดยนายอี แจ-มยอง ประกาศประชุมฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ขณะที่นายฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็ออกมาต่อต้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เวลา 23:00 น. หลังกฎอัยการศึกเริ่มมีผลบังคับใช้ กองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมอาคารรัฐสภา สร้างความตึงเครียดสูงสุด สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากพยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่อาคาร ท่ามกลางประชาชนชาวเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่ออกมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อปิดกั้นทหารและพยายามเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปภายใน

เวลา 24:00 น. การประชุมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นอย่างทุลักทุเล เมื่อสมาชิกเกิน 150 คน เข้าร่วมครบองค์ประชุม ท่ามกลางแรงกดดันจากกองกำลังทหารที่พยายามปิดกั้นการประชุม  

เวลา 01:01 น. ญัตติการยกเลิกกฎอัยการศึกถูกเสนอ ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างลงเสียงเป็นเอกฉันท์ ในเวลา 01:04 น. กองกำลังติดอาวุธจึงเริ่มถอนตัวออกจากอาคารรัฐสภา แม้ว่ากองทัพจะยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังมีผลอยู่ ขณะที่ประชาชนยังคงชุมนุมอยู่บริเวณด้านนอก เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมอยู่ภายในตลอดทั้งคืน จนกระทั่งเวลา 04:26 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ ยอมรับมติรัฐสภาและสัญญาจะประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ  

ต้นสายปลายเหตุของวิกฤตการเมืองครั้งนี้ต้องย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 67 ผลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัฐบาลของ ประธานาธิบดียุน ซอคยอล โดยพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตร สามารถคว้าชัยชนะได้ 175 ที่นั่งในสภา เพิ่มขึ้นจากเดิม 169 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครัฐบาล พรรคพลังประชาชน (PPP) และพันธมิตร ได้เพียง 108 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 131 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 300 ที่นั่ง

ความไม่พอใจของประชาชน ต่อการบริหารงานของรัฐบาลยุนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" หรือที่หลายคนเรียกว่า "ยุนเป็ดง่อย" เพราะขาดเสียงสนับสนุนในสภา ในขณะที่รัฐบาลยุนเพิ่งครองอำนาจมาได้เพียง 1 ปีเศษ กว่าจะหมดว่าระในปี 2570 ทำให้รัฐบาลยุนแทบไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก

เมื่อพรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตรสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้เกิดการคว่ำร่างงบประมาณประจำปี ซึ่งตามธรรมเนียมการเมืองของโสมขาว อาจนำไปสู่การยุบสภาหรือการลาออกของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียุนกลับเลือกใช้วิธีการที่สร้างความตกตะลึง โดยประกาศกฎอัยการศึกและกล่าวหาว่าฝ่ายค้านมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลของยุนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการบริหารประเทศที่ไร้เสถียรภาพและปัญหาด้านภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกรณี ภรรยาของประธานาธิบดี ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปั่นหุ้นและการรับของขวัญเกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนด

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 ธ.ค. ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์การบริหารงานของประธานาธิบดียุนว่าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ตั้งแต่เขาเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารประเทศไม่เป็นไปตามคาด และการสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาหลังพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ายุนใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ตึงเครียดจากการถูกคัดค้านในรัฐสภา แต่กลับสร้างแรงต้านมหาศาลทั้งในประเทศและจากนักการเมืองพรรคของเขาเอง  

คาดหมายกันว่าภายในไม่เกิน 2 วันข้างหน้าประธานาธิบดียุนอาจถูกรัฐสภายืนถอดถอนออกจากตำแหน่งก็เป็นได้ เกมการเมืองเกาหลีมีท่าว่าจะได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีใหม่ในเร็วๆนี้ 

รู้จัก 'กลุ่มชุงอัม' พรรคพวก 'ยุนซอกยอล' เพื่อนร่วมรุ่นมัธยม กุมอำนาจฝ่ายความมั่นคงเกาหลีใต้

(4 ธ.ค.67) การเมืองเกาหลีใต้ร้อนระอุ หลังประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐโดยได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือ ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาเรียกประชุมฉุกเฉิน ทั้งสส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ต่อมาประธานาธิบดียุนซอกยอล ยอมยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในที่สุด 

ในรายงานข่าวของสื่อเกาหลีใต้ระบุถึงแหล่งข่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนซอกยอลได้รับการวางแผนและการสนับสนุนจาก 'กลุ่มชุงอัม' (Chungam faction) ซึ่งเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมในกรุงโซล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ยุนซอกยอลเรียนจบ

สมาชิกกลุ่มชุงอัม ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของยุนซอกยอล โดยศิษย์เก่าโรงเรียนชุงอัมหลายคน ปัจจุบันมีบทบาทใกล้ชิดประธานาธิบดียุนซอกยอล ทั้งสิ้น หลายคนดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลยุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง หรือหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย

คีย์แมนคนสำคัญในเหตุการณ์คืนวันที่ 3 ธ.ค. คือ คิมยองฮยอน รัฐมนตรีกลาโหม ผู้เป็นอดีตรุ่นพี่ของประธานาธิบดียุนซอกยอนในโรงเรียนมัธยมชุงอัม ได้หลีกเลี่ยงที่จะรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แต่กลับรับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี โดยคิมยองฮยอน ได้สั่งให้กองพลรบพิเศษทางอากาศที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษ ที่ได้ฉายาว่า 'หน่วยอีเกิล' ภายใต้กองบัญชาการสงครามพิเศษของกองทัพบกเกาหลีบุกเข้าอาคารรัฐสภา

บุคคลสำคัญอีกรายคือ พลเอกปาร์กอันซู อดีตรุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยมชุงอัน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 66 ยุนซอกยอล ได้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบกเกาหลีใต้ ทั้งรับหน้าที่เป็นนายทหารผู้บังคับบัญชากฎอัยการศึกด้วย อย่างไรก็ตามมีรายงานอีกฝ่ายระบุว่า พลเอกปาร์กอันซู ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มชุงอันตามข่าว โดยว่าเขาจบจากโรงเรียนมัธยม Deokwon ในเมืองแดกู และเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเกาหลีใต้รุ่นที่ 46 

นอกจากบรรดาสายทหารแล้ว ยุนซอกยอน ยังได้แต่ตั้งนาย อีซังมิน รุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยิมชุงอัม อีกทั้งยังเป็นอดีตผู้พิพากษาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองกำลังตำรวจโดยตรง ในคืนกฎอัยการศึกมีรายงานว่า นายอีซังมิน ได้สั่งการโดยตรงต่อตำรวจนครบาลกรุงโซลให้เขาควบคุมพื้นที่อาคารรัฐสภา โดยหลีกเลี่ยงที่จะสั่งการผ่านหน่วยงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านเคยออกมาเตือนเรื่องความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึกโดยกลุ่มชุงอัม แต่ทางสำนักประธานาธิบดีออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังไม่มีความชัดเจน แต่นักวิเคราะห์การเมืองต่างเห็นพ้องกันว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในรัฐบาลที่แตกขั้วอย่างชัดเจนเพราะในคณะรัฐมนตรีเกาหลีบางราย ไม่ทราบถึงการเตรียมประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน จึงมองได้ว่าความวุ่นวายเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. เป็นความพยายามรักษาอำนาจของ 'กลุ่มชุงอัม' ของประธานาธิบดียุนซอกยอลอย่างชัดเจน

ย้อนดูเส้นทางผู้นำเกาหลีใต้ จุดจบเจอยึดอำนาจ - ลอบสังหาร - ติดคุก

(4 ธ.ค. 67) จากความวุ่นวายทางการเมืองเกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างความจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากกลุ่มการเมืองที่เกาหลีเหนือหนุนหลังและกลุ่มต่อต้านรัฐที่พยายามทำลายอำนาจรัฐบาล จนสุดท้ายรัฐสภาเกาหลีลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ในเวลาต่อมาประธานาธิบดียุน ยินยอมประกาศถอนกฎอัยการศึก 

การตัดสินใจของยุนซอกยอล ส่งผลให้เขาอาจถูกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหากสภามีมิตเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีพิจารณา หากศาลพิพากษามีมิตมากกว่า 2 ใน 3 เสียง นายยุนจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้เขายังเสี่ยงถูกดำเนินคดีภายหลังจากพ้นตำแหน่งด้วย ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่แล้วผู้นำเกาหลีใต้มักมีจุดจบที่ไม่ได้สวยนักหลังลงจากตำแหน่ง สำนักข่าวสปุตนิกพาย้อนดูจุดจบอดีตผู้นำเกาหลีใต้ในแต่ละยุคสมัยว่ามีจุดจบที่แตกต่างกันเช่นไร

อีซึงมัน ประธานาธิบดีเกาหลีคนแรก ภายหลังจากเกาหลีได้รับเอกราชในปี 1945 อีได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รับเลือกเป็นผู้นำของรัฐบาลเกาหลี 1948 ก่อนจะถูกประชาชนโค้นล้มในปี 1960

ยุนโพซุน สืบตำแหน่งต่อจากอีซังมัน ปกครองเกาหลีได้สองป ก่อนถูกรัฐประหารในปี 1962 

ปาร์คชุงฮี ผู้ที่ยึดอำนาจจากยุนโพซุน ปกครองเกาหลีใต้นาน 17 ปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดย คิมแจกยู อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีในปี 1979

ชอยกยูฮา ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 10 เดือน ก่อนถูกโค่นล้มในการรัฐประหารในปี 1980

ชอนดูฮวาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเกาหลีใต้ที่ปกครองแบบเผด็จการ ปกครองเกาหลีต่อจากชอยกยูฮา ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งใน 1988 หลังจากการปฏิวัติทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในปี 1987 ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1996 จากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางจูในปี 1980 แต่ได้รับอภัยโทษในปีถัดมา และเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านในปี 2021

ต่อมาคือ โนเทอู  ทหารที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ปกครองประเทศระหว่างปี 1988-1993 และรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ทว่าถูกจับในปี 1995 จากความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 1980 ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษพร้อมกับชอนดูฮวาน

คิมยังซัม ปกครองระหว่างปี 1993-1998 ถูกจำคุกในช่วงปกครองของปาร์คจุงฮี ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

คิมแดจุง ดำรงตำแหน่งในปี 1998 ปกครองประเทศจนถึงปี 2003 เคยถูกคุมขังในยุคของปาร์คจุงฮี จากการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปาร์กจุฮีในยุคนั้น ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษจากชอนดูฮวาน ในสมัยทีดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลี เขาเคยลงนามอภัยโทษให้ทั้งโนเทอู และชอนดูฮวาน คิมแดจุงได้ชื่อว่าเป็น เนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย  เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2000 

โนมูฮยอน ปกครองระหว่างปี 2003-2008 ถูกสอบสวนจากข้อหากระทำการโกงเลือกตั้งและถูกรัฐสภาถอดถอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับคำถอดถอนของรัฐสภาจึงไม่ได้รับการลงโทษ พลิกคำตัดสินถอดถอนของรัฐสภาเขาอย่างไรก็ตาม เขาฆ่าตัวตายในปี 2009 ท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการทุจริต

อี มยองบัก ปกครองประเทศระหว่างปี 2008-2013 ถูกจับในข้อหายักยอกทรัพย์สินและฉ้อฉลในปี 2018 ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดียุนซอกยอลในปี 2022

ปาร์คกึนเฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้  ปกครองระหว่างปี 2013-2017 ถูกถอดถอนในปี 2016 และถูกตัดสินจำคุก 25 ปีจากข้อหาคอร์รัปชัน

มุนแจอิน เป็นเพียงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่กี่คนที่ลงตำแหน่งโดยปราศจากข้อครหา ไม่มีคดีความใดๆ มุนแจอิน ปกครองเกาหลีระหว่าง  2017-2022 ถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง อีกทั้งยังเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่เปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือผ่านการทูตแบบตัวต่อตัวกับนายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 

และปัจจุบันคือประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศภาคม 2022 และเป็นที่น่าจับตาว่าอาจจะถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีจากกรณีประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top