รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ