Tuesday, 22 April 2025
Softpower

เปิดเลนส์ 'Alex and Coni' ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวต่างชาติ 'ประเทศไทย' ดินแดนแห่งความฝันที่ทำให้พวกเขาหลงเสน่ห์

(23 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ จากช่องยูทูบ 'Alex and Coni' (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) คู่รักผู้ชื่นชอบและหลงเสน่ห์ความเป็นไทย ได้นำเสนอคลิปสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย ที่ถ่ายทอดออกมาในแบบที่คนไทยเองได้เห็นแล้วยังต้องทึ่งกับมุมมองของไทยที่แสนงดงาม ทั้งสถานที่ วัฒนธรรม ผู้คน

ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดี นับวันประเทศไทย และการท่องเที่ยวไทย จะยิ่งครองใจชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้พลัดหลงเข้ามาต้องมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนสยาม ดูได้จากชาวต่างชาติจำนวนมาก เริ่มทำคลิปท่องเที่ยวไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการโปรโมตไทยจากใจคนที่ได้สัมผัสจริง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับ ช่องยูทูบ Alex and Coni (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) 

สำหรับ Alex and Coni ทั้งสองมองว่า เมืองไทยเปรียบเสมือนดินแดนแห่งความฝันที่ต้องจดจำ ที่อยากค้นหา หลังจากได้มีโอกาสสัมผัสเมืองไทยในมิติที่ลึกขึ้น

ทั้งนี้ โดยพื้นฐาน Alex and Coni นั้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในเชิงของคุณค่า ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และถ่ายทอดออกมาผ่านคลิป ด้วยมุมมองต่าง ๆ ดังนี้...

พวกเขามักจะออกสำรวจเมืองผ่านที่มีชีวิตชีวา: หาดทรายที่เงียบสงบ และสิ่งมหัศจรรย์โบราณด้วยภาพโดรนในโรงภาพยนตร์และการตัดต่ออย่างมืออาชีพ 

พวกเขามักถ่ายทอดความรู้เชิงวัฒนธรรม: เจาะลึกประวัติศาสตร์, ประเพณี, และประสบการณ์ในท้อง ถิ่นซึ่งทำให้จุดหมายปลายทางแต่ละแห่งไม่ซ้ำกัน

พวกเขามักถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง: โดยติดต่อกับคนท้องถิ่น และเปิดฉากการผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยตัวเองเสมอ

และพวกเขามักถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาและแรงบันดาลใจ: เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและได้รับแรงบันดาลใจในการสำรวจโลกผ่านเรื่องราวที่ให้ความรู้และน่าสนใจออกมาเป็นเนื้อหาภาพสวยงาม

นี่คือความน่าสนใจหลังจากคลิปที่ทั้งคู่ได้เริ่มปรากฏสู่สายตาคนไทย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การรีวิวไทยแบบผ่านๆ แต่เป็นการนำเสนอประเทศไทยแบบตั้งใจในมิติต่าง ๆ แบบที่คนไทยจำนวนมากยังไม่เคยไปสัมผัสเลยด้วยซ้ำ ตั้งแต่ที่เริ่มอัปเดตคลิปลง YouTube / TikTok และ Instagram ตั้งแต่ 20 มี.ค.2023

ล่าสุดคลิปวิดีโอในชื่อ 'ประเทศไทย | ดินแดนแห่งความฝันที่ถูกลืม' (https://youtu.be/Upn-O-M5Mic?si=u_ZG4yf84UIgYdDm) ซึ่งนำเสนอออกมาเหมือนงานสารคดีชั้นยอดนั้น ก็เหมือนกระจกสะท้อนเมืองไทยในทุกมิติไปสู่สายตาชาวโลก

ตั้งแต่เหนือที่เต็มไปด้วยความวิจิตรแห่งวัดดังภายใต้สถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อย งดงาม พร้อมเรื่องราวแห่งที่มาที่ไปอันน่าจดจำ พาดผ่านไปยังภาคใต้ของไทย ที่อุดมไปด้วย ทะเล หาดทราย แสงอาทิตย์ ที่สร้างคลื่นขนาดใหญ่กลืนหัวใจทุกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสได้ทอดกายลงทุกแนบทุกหยดทะเลไทยในแดนใต้

นอกจากนี้ ‘รอยยิ้มแห่งสยาม’ ยังเป็นความงดงามที่ Alex and Coni ได้สัมผัสผ่านน้ำใจคนไทย ที่แทบจะกล้าพูดว่า ชาติใดในโลกก็ยังยากจะเทียบได้ในส่วนนี้

แน่นอนว่า วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ความทันสมัยแบบร่วมสมัยของแต่ละจังหวัด และความปลอดภัยในสยามประเทศ ก็เป็นอีกจุดเด่นสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งสอง ยังคงท่องเที่ยวอยู่ในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง

เห็นต่างชาติชื่นชมบ้านเราขนาดนี้ คนไทยก็ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ผลงานดี ๆ นี้ มีผู้ติดตามมากขึ้น ๆ

อย่าพลาดวิดีโอใหม่ ๆ ของพวกเขา 'Alex and Coni' ได้ที่ Instagram และ TikTok @alexandconi / YouTube www.youtube.com/@alexandconi

‘เอกนัฏ’ ยกทีมกระทรวงอุตฯ บุกภูเก็ต หนุนเงินทุน-เทคโนโลยี SME ย้ำชัดพัฒนาศักยภาพ Soft Power เมืองผ่าน ‘อาคาร-อาหาร-อาภรณ์-อารมณ์’

(7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต 

เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างความเท่าเทียมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในการให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดย SME มีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากรายงานสถานการณ์ SME ไทย ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการกว่า 3.24 ล้านราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต (สอจ.ภูเก็ต) จึงได้ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผ่านกิจกรรมสร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ ให้คำปรึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ยังได้จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ยังได้เชิญ ธพว. มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“ผมและคณะได้เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ยุโรป มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และได้สร้างบ้านเป็นตึกแถว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ"ชิโน-ยูโรเปียน" ทั้งสองสองฝั่งถนน ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมอันเกิดจากการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด 

โดย สอจ.ภูเก็ต ได้เข้าไปส่งเสริมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) การส่งเสริมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ อาทิ การทอเศษผ้าปาเต๊ะด้วยกระบวนการประยุกต์การทอเส้นด้าย การปักลูกปัดสีและเลื่อม สกรีน การเพ้นท์สีลายน้ำให้มีมิติผสมผสานศิลปะ สถาปัตยกรรมจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมร้านคุณแม่จู้ของฝากเมืองภูเก็ต (บริษัท แม่จู้ จำกัด) ร้านค้าภูมิปัญญาไทย (DIS SHOP) รายแรกของภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกิจการทำขนมอบแห้ง น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิดและของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้การรับรอง Green Industry ระดับที่ 1 “ความมุ่งมั่นสีเขียว” ให้กับบริษัทฯ ในความมุ่งมั่นของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน”

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เราเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในโครงการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม” หรือ คพอ.(ดีพร้อม) สำหรับภูเก็ตมีการดำเนินงานมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้  นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักของภูเก็ตคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในพื้นที่ 

รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Soft Power ภูเก็ต คือ อาหาร อาคาร อาภรณ์ อารมณ์ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและอาหาร การเชื่อมโยงพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร หรือการโปรโมทสินค้าท้องถิ่นและวัฒนธรรมผ่านเวทีนานาชาติสู่การขยายตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด BCG เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

‘ลอรี่ พงศ์พล’ เปิดงานสุราชุมชน จ.แพร่ เน้น!! ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ สานต่อภูมิปัญญา

(10 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดกิจกรรมผลิตภัณฑ์ Soft Power แพร่ ‘แพร่ แข็ง จ๊ด ครั้งที่ 3’ พร้อมกล่าวมอบนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ลานเพลินอีซูซุแพร่ บริษัท อีซูซุแพร่ จำกัด อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแปรรูปเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูง เพื่อการเซฟ SME ไทย ตามแนวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในท้องถิ่นจังหวัดแพร่อย่างข้าวเหนียว ข้าวโพด สับปะรด เมื่อนำไปแปรรูปเป็นสุรากลั่นชุมชนอย่างถูกต้องตามประกาศและระเบียบที่ใช้บังคับ มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรกรรมเดิมให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมากขึ้นกว่า 10 เท่า  และยังเป็นการสร้างมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ ที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน สานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ที่มาอย่างยาวนาน

โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ผ่านโครงการ ‘ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์’ โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อผลักดันให้สามารถส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ใน 2 สาขา ได้แก่ แฟชั่น และอาหาร ซึ่งการจัดงานในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน และที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแพร่ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนของจังหวัดแพร่ สู่การเป็น Soft Power ไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา อาทิ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้สัก ผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็ก และสุรากลั่นพื้นบ้านจากพืชผลทางการเกษตร ที่มีการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังนั้นจึงควรมีการฟื้นฟู สืบสาน และสร้างสรรค์พัฒนาสู่การผลิตสินค้า และบริการที่มีมูลค่า มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้จังหวัดแพร่ เป็นฐานการผลิตหัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ฐานความรู้ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และการออกแบบร่วมสมัย เพื่อตอบสนองต่อกระแสความต้องการของตลาด ต่อยอดสู่การเป็น Soft Power ของประเทศไทยในอนาคต

Cat on the Roof นำย่าน ‘เจริญกรุง’ คว้าแชมป์!! ประกวด ‘ออกแบบบอร์ดเกม’ สะท้อน!! วิถีชีวิตคนไทยที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่นด้านวัฒนธรรม ในย่านตึกเก่า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย และพันธมิตร ได้ประกาศผลการประกวดออกแบบบอร์ดเกม Thailand Board Game Design Contest 2024 (TBDC 2024) ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ : บอร์ดเกมเพื่อส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อเล่าเรื่องราวของ กทม. โดยนำพื้นที่ใน 4 ย่านคือจตุจักร, เสาชิงช้า, เยาวราช และเจริญกรุง มาเป็นหัวข้อหลักในการสื่อสารฯ ปรากฏผลผู้ชนะอันดับ 1 ได้แก่เกม Cat on the Roof จากทีม MISCELLANEOUS โดยนายพลสิทธิ์ แซ่เฮ้ง และนายวุฒิไกร วาทิตเมธี ซึ่งได้นำย่านเจริญกรุงมาออกแบบจนคว้าชัยชนะ  ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำผลงานไปผลิตและเผยแพร่ พร้อมนำไปจัดแสดงในงานบอร์ดเกมระดับโลก ที่ประเทศเยอรมัน ในปี 68

นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า การประกวดออกแบบบอร์ดเกมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม, สมาคมผู้ผลิตและออกแบบบอร์ดเกม และสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการสื่อสารถึงคุณค่าของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ใน 4 ย่านสำคัญของ กทม. ที่ประกอบด้วยย่านจตุจักร, เสาชิงช้า, เจริญกรุง และเยาวราช ซึ่งถือเป็นย่านที่เป็นที่รู้จัก และมีอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิตของไทย นำมาสื่อสารผ่านบอร์ดเกมที่เป็นสื่อที่คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจ โดยมุ่งหวังว่านอกจากจะเป็นการสื่อสารถึงคุณค่าของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบาย Soft Power แล้ว ยังจะเป็นการผลักดันให้เกิดนักสื่อสารเชิงวัฒนธรรมที่สามารถหยิบเรื่องราวของไทยมาสื่อสารผ่านสื่อในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น โดยหลัง จากนี้จะได้ขยายผลโดยผลงานของผู้ชนะเลิศจะถูกนำไปผลิต และเผยแพร่ให้ทดลองเล่นตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น อุทยานการเรียนรู้ TK Park ฯลฯ นอกจากนี้หน่วยงานที่เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนคือสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย ก็ได้มีแผนในการนำเกมที่ชนะการประกวดไปจัดแสดงที่งานบอร์ดเกมระดับโลก (Spiel 2025) ประเทศเยอรมนีในปี 2568

ด้าน นายพนม ศิริมงคลสกุล ผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประกวดฯ ครั้งนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 121 ทีม เพื่อชิงรางวัลมูลค่ารวม 320,000 บาท หลังจากคัดเลือกเหลือ 16 ทีม ก็ได้นำไปทำกิจกรรม Workshop ร่วมกัน โดยจากการตัดสินของคณะกรรมการได้ผลดังนี้ 

1) ผู้ชนะการประกวดอันดับ 1 ได้แก่เกม Cat on the Roof จากทีม MISCELLANEOUS โดยนายพลสิทธิ์ แซ่เฮ้ง และนายวุฒิไกร วาทิตเมธี คว้าเงินรางวัล 100,000 บาท และงบผลิตบอร์ดเกม 60,000 บาท โดยได้นำย่านเจริญกรุงมาออกแบบ มีแนวคิดให้ผู้เล่นเป็นแมวที่อาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุง ออกเดินทางท่องเที่ยวสำรวจไปในย่านตึกเก่า และสถานที่ต่างๆ 

2) ผู้ชนะการประกวดอันดับ 2 ได้แก่เกม Chatuchak Shop & Stuff จากทีมบุรินทร์ โดยนายบุรินทร์ มงคลสวัสดิกุล, นายธีรภัทร ประภัศร และคุณณัฏฐนิชา สาระ ซึ่งได้นำย่านจตุจักรมาออกแบบ โดยมีแนวคิดที่ให้ผู้เล่นเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาซื้อของ และของฝากในตลาดจตุจักร 

3) ผู้ชนะการประกวดอันดับ 3 ได้แก่เกมโล้ศิวะ จากทีม Unplugged Fun โดยนายธันยา นวลละออง และนางวินิทรา นวลละออง ซึ่งได้นำย่านเสาชิงช้ามาออกแบบ โดยมีแนวคิดจากพิธีตรียัมปวายในการโล้ชิงช้ามาจัดทำเป็นเกม 

4) ผู้ชนะการประกวดอันดับ 4 ได้แก่ เกม 1 Day Trip จากทีม Sci Whale SRC โดยนายวิศวัฒน์ สกุลศักดิ์นิมิตร, นายณัฐพล เขียวพิมพ์ และนายณัฐวุฒิ แก้วคำน้อย นำย่านเสาชิงช้ามาออกแบบ โดยมีแนวคิดเอาแผนที่ย่านเสาชิงช้าและร้านอาหารต่างๆ รวมถึงเวลาเปิดปิดจริงมาใส่เข้าในเกม 

โดยภายในงานประกาศผลฯ ยังได้จัดให้มีนิทรรศการแสดงผลงานบอร์ดเกมที่เข้ารอบ และเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมทดลองเล่นบอร์ดเกม จากผลงานของทั้ง 16 ทีม, การเสวนาบนเวที 2 หัวข้อคือ 1) Lookback การพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเข้าประกวด กับตัวแทนผู้เข้าประกวด Thailand Board Game Design Contest 2024 ที่จะมาแชร์ Trick/Technique สำหรับผู้สนใจงานออกแบบบอร์ดเกมเชิงวัฒนธรรม และประสบการณ์จากการประกวดฯ และ 2) บอร์ดเกมในฐานะสินค้าเพื่อสื่อสาร Story เป็นเรื่องการสร้างจุดเด่นบอร์ดเกมที่มากกว่าสนุกสนาน การเติมเรื่องราวที่น่าสนใจสอดแทรกคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จากนักออกแบบ, ค่ายเกมที่ส่งเกมไทยไปต่างประเทศ และ YouTuber ผู้เล่าเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในบอร์ดเกม

สำหรับผู้สนใจที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามข่าวสารหรือผลของการแข่งขัน ได้ที่ Facebook เพจ TBDC : Thailand Board Game Design Contest ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

กระทรวงแรงงานขานรับ Soft Power ผลักดันงานปักผ้าด้นมือภูมิปัญญาท้องถิ่น

วันที่ (13 ม.ค. 68) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อยกระดับ พัฒนา ความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทุนทางวัฒนธรรมของแรงงานไทยให้สร้างมูลค่า สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้แรงงานหลุดพ้นจากความยากจน

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความยินดี มุ่งมั่น ที่จะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ ในปี 2568 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงาน
พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power ประกอบด้วย การส่งเสริมการพัฒนาทักษะรองรับ Soft power (พัฒนาเครือข่าย และ e-learning) และการฝึกอบรมทักษะฝีมือ (หลักสูตรระยะยาว 240 ชั่วโมง และระยะสั้น 30 ชั่วโมง) เพื่อยกระดับทักษะแรงงานด้านต่าง ๆ ด้วยหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรม

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี มีความพร้อมในการนำนโยบายของรัฐบาล กระทรวง และกรม สู่การปฏิบัติ จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร การออกแบบผลิตภัณฑ์จากงานปักผ้า ในระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม 2568 มีผู้เข้ารับ การฝึกอบรม 20 คน ณ กลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมือ บ้านดอนยายเหม ตำบลกระจัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือด้านงานหัตถกรรมสิ่งทอให้แก่ชุมชนท้องถิ่น มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์จากงานปักผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมายาวนานของชุมชนบ้านดอนยายเหม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการออกแบบลวดลาย การเลือกใช้วัสดุ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

นางสาวสุขศรีไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า 
สำหรับผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี เลขที่ 13/1 หมู่ 4 ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3596 9917-19 Facebook : สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี

‘ศุภชัย’ ยก ศาสตร์พระราชา-เศรษฐกิจพอเพียง Soft Power ที่แท้จริง ย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืน

‘ดร.ศุภชัย‘ ยกศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงคือ Soft Power ที่แท้จริงของไทย พร้อมย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โลกยอมรับ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการผลักดัน Soft Power โดยเห็นว่า Soft Power ที่แท้จริงและทรงพลังของไทยไม่ใช่เพียงแค่มวยไทย หรืออาหารไทย แต่คือศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก

"หัวใจของ Sustainable Development คือ Sufficiency Economy ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นี่คือ Soft Power ของไทยที่แท้จริง" ดร.ศุภชัย กล่าว

ปรัชญานี้ได้รับการยอมรับจากองค์การนานาชาติ โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการ UNCTAD ได้พยายามผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีการประชุมระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าหัวใจของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนคือเศรษฐกิจพอเพียง และก็ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะการที่สหประชาชาติยกย่องให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวัน World Soil Day หรือวันดินโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในความเชี่ยวชาญของไทยในเวทีระดับโลก

"ความรู้เรื่องดินของเรามาจากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรานี่ที่หนึ่งในโลกเลย บางประเทศในแอฟริกาก็เคยมาขอให้ไทยไปช่วย" ดร.ศุภชัย กล่าว

นิยาม Soft Power ที่แท้จริงดร.ศุภชัย กล่าวว่าความหมายที่แท้จริงของ Soft Power 'Soft Power' คือการที่คุณมีอำนาจที่ไปหว่านล้อมคนอื่นได้ โดยที่คุณไม่ต้องใช้อะไรไปบังคับเขา ในขณะที่มวยไทย อาหารไทย และวัฒนธรรมบันเทิงอื่น ๆ เป็นส่วนที่ดีในแง่ของความสร้างสรรค์ (Creative) แต่ Soft Power ที่แท้จริงของไทยคือค่านิยม ปรัชญา และองค์ความรู้ที่คนไทยมี โดยเฉพาะหลักการ 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' ซึ่งเป็นสูตรของพระราชาชาวนาที่ควรได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

"คนไทยเรามี 'สูตรของพระราชาชาวนา' ศาสตร์พระราชาของเรานี่เอง 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' อันนี้คือสิ่งที่เราต้องขยายออกไปให้มาก" ดร.ศุภชัย กล่าว

ดร.ศุภชัย ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการวัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่าไม่ควรยึดติดเพียงตัวเลข GDP เพียงตัวเดียว เพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียวในการวัดการพัฒนา ตัวเลขการเติบโตที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตของรายได้กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ของประเทศ

ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติไม่ได้ใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดหลักในการประเมินความสำเร็จทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะ GDP ไม่ได้รวมหลายปัจจัยสำคัญ เช่น เศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่สำคัญมันอยู่ที่ Social Indicator อย่างเช่นการศึกษาของเด็กเป็นยังไง ซึ่งสะท้อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและการพัฒนามนุษย์ด้วย

การผสมผสานระหว่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นทางออกสำหรับประเทศไทยและโลกในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต และนี่คือ Soft Power ที่แท้จริงของไทยที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่สู่เวทีโลก

ผู้ช่วย รมว. กระทรวง อว.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน.และ ”Kick off “เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้านมวยไทย” ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

(3 เม.ย. 68) นวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. และ ”Kick off “การส่งเสริมงานด้าน อววน. เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้านมวยไทย” ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ หมู่บ้านจอมบึง เมืองราชบุรี 

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า 
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีแนวทางที่ดีในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้บัณฑิตสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวง อว. เองก็ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบในการร่วมผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์สถานประกอบการภายใต้โครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE) ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสฝึกงานและสร้างเครือข่ายการจ้างงานที่กว้างขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดได้เป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพทั้งสติปัญญา กาย ใจ ด้วยการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านประสบการณ์การทำงาน
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีโครงการที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมเกษตรถือเป็นจุดแข็งที่ช่วยยกระดับท้องถิ่นได้จริง และอยากให้มหาวิทยาลัยเร่งผลักดันงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงนักวิจัย ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายหลายหน่วยงานที่พร้อมและยินดีให้คำปรึกษา รวมทั้งงบประมาณการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่
 
ด้าน Soft Power มวยไทย การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมด้านมวยไทยเป็นแนวคิดที่ดีที่ช่วยอนุรักษ์ สืบสานต่อยอดมรดกวัฒนธรรมของชาติ และแปลงมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมทั้งการกีฬา และการท่องเที่ยว อยากให้มหาวิทยาลัยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ขยายผลไปยังสถาบันอื่นที่สนใจร่วมขับเคลื่อนให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงขยายกิจกรรมสู่ระดับนานาชาติ เช่น การจัดการแข่งขันหรือหลักสูตรแลกเปลี่ยนด้านมวยไทย เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
 
จากการลงฟื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ในวันนี้ ทางกระทรวงอว. ได้เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยและจุดเด่นของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมวยไทยซึ่งเป็น Soft Power ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านอุตสาหกรรมกีฬา ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสื่อบันเทิงซึ่ง กระทรวง อว. เล็งเห็นว่าในอนาคตอาจร่วมกันพัฒนาบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับมวยไทย โดยนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น ฟิตเนสเพื่อสุขภาพ การพัฒนาอุปกรณ์กีฬา เทคโนโลยีการฝึกซ้อม หรือศาสตร์การแพทย์แผนไทย สื่อดิจิทัลเกี่ยวกับมวยไทยหรือการพัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้มวยไทยออนไลน์ โดยเร่งประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยนำมวยไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเป็นอีกหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ กระทรวง อว. จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงการอบรมและรับรองมาตรฐานครูมวยไทยระดับสากล เพื่อส่งเสริมให้ครูมวยไทยสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้สนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสฝึกงานกับค่ายมวย สถานที่ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้เยาวชนและนักศึกษาที่สนใจมวยไทยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ทุนการศึกษา หรือโครงการแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาตนเองสู่ระดับสากลได้ต่อไป
 
กระทรวง อว. มุ่งมั่นสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาใช้พัฒนาพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ จะช่วยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่แนวทางเหล่านี้ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไปในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การศึกษา และเศรษฐกิจ รวมทั้งมวยไทยเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เวทีโลก

นางสาวประภารัตน์ นาคผจญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า  ในนามของจังหวัดราชบุรี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับท่านและคณะ ในโอกาสที่ได้กรุณาเดินทางลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อน งานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาจังหวัดราชบุรี ตลอดจนการส่งเสริมอัตลักษณ์ การสืบสานภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ผ่านแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำศิลปะมวยไทยมาสร้างคุณค่าและเพิ่มพูนศักยภาพกำลังคน 

ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้มีบทบาทสำคัญในการสืบสาน ต่อยอด และเชื่อมโยงองค์ความรู้
สู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
จังหวัดราชบุรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ท่านและคณะคงได้เห็นถึงศักยภาพอันหลากหลายของจังหวัดราชบุรี ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งล้วนเป็นฐานรากสำคัญที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้มีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดราชบุรีอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ผ่านการให้บริการวิชาการ งานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรของจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 

โครงการที่เกี่ยวข้องกับ “มวยไทย” ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย มหาวิทยาลัยฯ ได้สืบสานและต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่การพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านกีฬา    การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการศึกษาตลอดช่วงวัย ซึ่งล้วนเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงพื้นที่ของท่านในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวคิด และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับพื้นที่กับกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของจังหวัดราชบุรีต่อไป

นายทัศนา แช่มสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเบิกไพร กล่าวว่า ขอขอบพระคุณ ที่ท่านได้ให้เกียรติมาเยี่ยมชมบูธนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ "ต้นกล้ามวยไทยตำบลเบิกไพร"  เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและขับเคลื่อนศิลปะมวยไทยในระดับชุมชนศิลปะมวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ทั้งในด้านศิลปะการต่อสู้ การออกกำลังกาย และการส่งเสริมคุณธรรมวินัยแก่เยาวชน 

โครงการ  "ต้นกล้ามวยไทยตำบลเบิกไพร" จึงเกิดขึ้นเพื่อต่อยอดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้มวยไทยเป็นที่แพร่หลายและได้รับการอนุรักษ์สืบทอดอย่างยั่งยืนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยส่งเสริมและขยายโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ศิลปะมวยไทยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top