Wednesday, 3 July 2024
PM25

‘เศรษฐา’ ฟิต!! เตรียมยกหูถึง ‘นายกฯ กัมพูชา’ ลุยหารือแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังพัดเข้าไทย

(2 ก.พ. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติแล้ว หลังจากได้ลาป่วยตามคำแนะนำของแพทย์ จากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นเวลา 2 วัน โดยระหว่างเลี้ยวรถเข้าทำเนียบรัฐบาล หน้าบริเวณประตู 1 นายกรัฐมนตรี ได้ให้ขบวนรถจอด พร้อมกับลงมา ทักทายสื่อมวลชน โดยก่อนลงจากรถนายกรัฐมนตรี ได้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งพบว่ายังมี สีหน้าที่อิดโรย แววตาฉ่ำจากพิษไข้ พร้อมกล่าวทักทายสวัสดีสื่อมวลชน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหายดีแล้วใช่หรือไม่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนนี้พ้นระยะติดเชื้อแล้ว แต่ขอใส่แมสไว้หน่อยก็แล้วกัน เดี๋ยวเขาจะว่าเอา ไม่มีไข้ไม่มีอะไรแล้ว วันนี้ได้มาทำงานตามปกติ 

เมื่อถามว่ายังสามารถเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์นี้ ได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โอ๊ย สบายมากไม่มีปัญหาครับ วันนี้ก็มีนัดแน่นเอี้ยด โดยเวลา 09.30 น. ทางผู้บริหารธนาคารกรุงเทพจะพาธนาคารจีนมา และยังจะมีประชุมอีกทั้งวัน นอกจากนี้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะมาพูดคุย และรายงานเรื่องการท่องเที่ยวที่ได้ไปประชุมมา ที่จะรวบรวม 4-5 ประเทศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง

"ไม่ต้องห่วงครับสบายมากครับ เมื่อวานนี้ผมยังได้สั่งการไปหลายเรื่อง ซึ่งวันนี้เป็นห่วงเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากทางกัมพูชา โดยอีกสักครู่จะโทรศัพท์คุยกับพล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกรอบ เพราะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะดูจากแผนภาพความร้อน heatMap ของไทยมีน้อยมาก แต่ heat Mat อยู่ที่กัมพูชา เพราะลมพัดจากตะวันออกมาตะวันตก" นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า เดี๋ยวจะกำชับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย ในสัปดาห์หน้าเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น พอดี อีกทั้งจะกำชับไปทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในเรื่องของระบบจะต้องไม่ล่มเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ล่มไปอีกรอบ แต่ก็แก้ได้เร็ว ก็ต้องไปดูว่า Back up System ระบบสำรองข้อมูล และเรื่องต่างๆ อีกมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน

"ไม่ต้องห่วงครับ ไม่มีอะไรเดี๋ยวเจอกัน ซึ่งภารกิจวันนี้น่าเสียดายในตอนเย็นเดิมมีนัดเตะฟุตบอล กับท่านทูต ที่สนาม Polo Football park แต่ผมก็จะไปเฉยๆ คงไปยืนดูนิดๆ ก็พอครับ ความจริงอยากลงเตะเหมือนกัน" นายเศรษฐา กล่าว

‘BBC’ ชี้!! ปี 66 คนไทยกว่า 10 ล้านคน แห่รักษาอาการป่วย ผลพวงจาก ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง


BBC รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2566 มีคนไทย 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ

ทางการไทยระบุในปี พ.ศ. 2566 คนไทยมากกว่า 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาในขณะที่คุณภาพอากาศของประเทศไทยแย่ลง การเผาป่าและไฟป่าที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ มักก่อให้เกิดหมอกควันพิษในช่วงต้นปี 


ต้นปี พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 1.3 ล้านคนในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี พ.ศ. 2566 จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคนในต้นปี พ.ศ. 2567 AFP รายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 72 ล้านคน กรณีรวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ หอบหืด และโรคหัวใจ


ประเทศไทยต้อง ‘จัดลำดับความสำคัญ... ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน’ สศช. ระบุ PM 2.5 หมายถึงระดับของอนุภาคอันตรายขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่า ที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดได้ การสัมผัสกับมลพิษขนาดเล็กเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและคันในดวงตาและผิวหนัง รวมถึงอาการไอและแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นในผู้ที่มีภาวะหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว


จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยบางจังหวัดได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากเว็บไซต์ติดตามคุณภาพอากาศ เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ได้รับการจัดอันดับ ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ จาก Platform ติดตาม IQAir มลพิษทางอากาศของประเทศไทยเป็นปัญหาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งโดยปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไร่อ้อยและนาข้าวตามฤดูกาลของเกษตรกร


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพอากาศ ฝ่ายนิติบัญญัติยังเห็นชอบร่างกฎหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหานี้ด้วย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยได้ประกาศแผนการจัดเตรียมเครื่องบิน 30 ลำทั่วประเทศเพื่อทำฝนเทียมบรรเทามลพิษ ในเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยงานภาครัฐในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากบ้านเป็นเวลาสองวัน เนื่องจากระดับมลพิษในเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียงถึงระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยและกลุ่มสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่อต้านมลพิษ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 1,700 คน ได้ฟ้องร้องอดีตนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง ที่ไม่ใช้อำนาจลดมลพิษในภาคเหนือ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าทำให้ชีวิตแต่ละคนสั้นลงประมาณ 5 ปี ในเดือนมกราคมปีนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายใน 90 วัน

‘iQAir’ ชี้!! ‘เชียงใหม่’ มี ‘มลพิษ’ มากที่สุด ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา-เดลี

(7 มี.ค. 67) ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้

ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์

จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และ จ. สุรินทร์

> ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 43.9 - 196.1 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37.2 - 136.0 มคก./ลบ.ม.

> ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.2 - 46.4 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.7 - 31.5 มคก./ลบ.ม.

> ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.8 - 33.0 มคก./ลบ.ม.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 16.2 – 33.4 มคก./ลบ.ม.

ด้าน เว็บไซต์ iQAir จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่า จ.เชียงใหม่ มีมลพิษมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา และ เดลี ประเทศอินเดีย

ขณะที่ เว็บไซต์ของ NASA Firms ที่อัปเดตจุด hotspot ที่เผยจุดความร้อน การเผาป่า ไฟป่า ต้นเหตุควัน และฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 พบว่าในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดความร้อน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงมากในพื้นที่

‘เชียงใหม่’ อ่วม!! ยึดอันดับ 1 เมืองที่มี ‘ค่ามลพิษ’ สูงที่สุดของโลก แถมคนส่วนใหญ่ยังออกไปทำงานตามปกติ แม้ประกาศให้ WFH

วิกฤตฝุ่นควันเชียงใหม่ยังอาการสาหัส ค่ามลพิษสูงยึดอันดับ 1 เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกต่อเนื่อง โดยทางจังหวัดออกประกาศขอความร่วมมือให้พิจารณาจัดการทำงานแบบ Work from Home ระหว่าง 9-11 เม.ย.67 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตามพบคนส่วนใหญ่ยังต้องออกไปทำงานตามปกติ ยกเว้นหน่วยราชการส่วนใหญ่ที่ตอบสนองและปฏิบัติตามได้ทันที

(9 เม.ย.67) รายงานข่าวแจ้งว่าสถานการณ์ฝุ่นควันไฟป่าและมลพิษอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมหนาทึบด้วยฝุ่นควันจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพจากระยะไกลได้เหมือนช่วงปกติ ซึ่งจากสถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าวนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีการออกประกาศขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและเอกชนพิจารณาการทำงานแบบ Work from Home ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.67 เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องออกไปทำงานตามปกติเนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนยังคงเปิดตามปกติ รวมทั้งลูกจ้างจำนวนมากเป็นผู้ใช้แรงงานและรับค่าจ้างเป็นรายวันที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ขณะที่ในส่วนของหน่วยงานราชการนั้น พบว่าหลายหน่วยงานสามารถปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้ทันที โดยเฉพาะที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับจุดความร้อนจากไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ระบุว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 8 เม.ย.67 พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 961 จุด อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 207 จุด ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 297 จุด,อันดับ 3 ตาก 83 จุด, อันดับ 4 น่าน 82 จุด และอันดับ 5 ลำปาง 44 จุด

ขณะที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ รายงานจุดความร้อนรอบเช้าประจำวันที่ 9 เม.ย.67 ว่าพบจุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 145 จุด มากที่สุดในพื้นที่อำเภอเชียงดาว 21 จุด รองลงไป ได้แก่ แม่แจ่ม 19 จุด, ฮอด 18 จุด, ฝาง 16 จุด, อมก๋อย 14 จุด, แม่แตง 14 จุด, ไชยปราการ 11 จุด, สันกำแพง 9 จุด, พร้าว 6 จุด, สะเมิง 4 จุด, แม่อาย 4 จุด, กัลยาณิวัฒนา 3 จุด, เวียงแหง 2 จุด, ดอยสะเก็ด 2 จุด และแม่วาง 2 จุด

ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษที่ติดตั้งอยู่ในตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ,ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม, ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และตำบลหางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. วันนี้ อยู่ที่ 122.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 129.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 125.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 76 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 151.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 75.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 248,255,251,202,77 และ 201 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ทั้งนี้ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 197 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 145 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวอยู่ในอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ คูเวตซิตี้ ประเทศคูเวต ดัชนีคุณภาพอากาศ 194 US AQI และอันดับ 3 กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล 191 US AQI

‘เพจดัง’ เปิดคลิปท้องฟ้า ‘เชียงใหม่’ ฝุ่นหนาปกคลุมทั่วพื้นที่ จนแทบมองไม่เห็น

(10 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘อยากดังเดี๋ยวจัดให้รีเทิรน์ part 7’ ได้โพสต์คลิปเครื่องบินโดยสารขณะกำลังบินอยู่บนเหนือน่านฟ้าประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้โดยสารถ่ายคลิปนอกหน้าต่างที่มองไม่เห็นอะไรเลย เพราะท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันพิษ PM2.5

โดยเพจ ‘อยากดังเดี๋ยวจัดให้รีเทิรน์ part 7’ ระบุข้อความว่า "PM 2.5 เชียงใหม่อากาศดี๊ดี...ถถถ Drama-addict Take off จากเชียงใหม่เหมือนหนีตายจาก PM2.5 ไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติบางอำเภอค่ะ เรียกว่าค่าฝุ่นเชียงใหม่แย่มากทั้งจังหวัด หายใจลำบากมาก เลือดกำเดาออก มีผงขี้เถ้าลอยในอากาศฟุ้งไปหมด กินข้าวแทบไม่ได้ มันกล้ำกลืนไปหมดไม่สนับสนุนข่าวเท็จ อากาศดี ดีที่ไหนกันนนน ช่วยกันแชร์หน่อยค่ะ เพื่อชาวให้ชาวเชียงใหม่มีอากาศที่ดีขึ้น มาตรการควรเคร่งครัดมากกว่านี้ บรรเทาให้ถูกจุด ลด ละ เลิกแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ผู้คนไม่สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้"

เชียงใหม่-สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

29 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมอโมร่า ท่าแพ จ.เชียงใหม่ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “PM 2.5 ... ปัญหาซ้ำซากภาคเหนือไร้ทางแก้จริงหรือ? โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวเปิดการประชุม   

สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งอบจ.เชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์มช. สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ นักท่องเที่ยวลดลงทุกปีเสียรายได้ปีละหมื่นล้านบาท งานวิจัยระบุสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ทุกฝ่ายเรียกร้องเลิกทำงานเป็นแท่ง กระจายอำนาจชุมชน มีการวิจัยสาเหตุที่ชัดเจนอย่าโทษชาวบ้านอย่างเดียว ภาครัฐอย่าปิดบังความจริง พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรีใช้งบกลางคัดกรองมะเร็งปอดและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพของประชาชน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมว่านับว่าเป็นโอกาสดีที่สื่อมวลชนจ.เชียงใหม่และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสสส.เสริมพลังสื่อมวลชนร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหามลพิษทางออากาศจาก PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ งานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารราชภัฏเชียงใหม่ที่ศึกษาผลกระทบของPM 2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 สัญชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดโดยใช้ จ.เชียงใหม่ และ กทม.เป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศช่วงปี 2557ถึง ปี 2561 พบว่าปัญหาPM 2.5 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่น  PM 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือนจะทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 106,060 คน สอดคล้องกับตัวเลข ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ลดลงเช่น  ปี2561 มีนักท่องเที่ยว จำนวน 10.84 ล้านคน ปี2562 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 11 ล้านคน แต่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 5.9 ล้านคนและปี 2566 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวน  7.7 ล้านคน       

ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพนั้นองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าอัตราการตายประชากรโลกมีความสัมพันธ์กับความเป็นพิษทางอากาศ โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 2.5 มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับการวิจัยผลกระทบมลพิษต่อสุขภาพในพื้นที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่าการตายรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนสัมพันธ์กับปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี 2559 และปี 2560 ข้อมูลจากหลายองค์กรระบุตรงกันว่าภาคเหนือมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นทั้งๆที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง  การประชุมในวันนี้นอกจากได้ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่และผู้แทนสื่อมวลชนเชียงใหม่แล้ว จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ผศ.พญ.พุดตาน วงศ์ตรีรัตนชัย รองคณบดีด้านสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ สมอง ตา ส่งผลต่อทารกในครรภ์ การได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุก ๆ 22 ไมโครกรัม เฉลี่ย 20 ชั่วโมง จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก จากตัวเลขที่มีการรวบรวมค่าเฉลี่ย PM 2.5 รายวัน ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตลอดเดือนมีนาคม 2562 โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2562 คนเชียงใหม่ทุกเพศทุกวัยสูบบุหรี่ไปคนละ 18 มวน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้รับรู้แนวทางปฏิบัติตัวตามระดับของฝุ่น PM 2.5 ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ไม่ได้เกิดโรคมะเร็งปอดอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อสมองของเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น พัฒนาการช้าลง และ IQ ต่ำลงในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่มีผลต่อโรคสมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดสมองตีบและแตก มีผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหล เพราะมีผลต่อช่องจมูก ส่งผลให้ตาแดงอักเสบ ส่วนอัตราการตายจากมะเร็งปอด แยกรายภาค ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 ภาคเหนือมีอัตราการตายจากมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น ซึ่งเป็นผลมาจาก ฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเชียงใหม่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อเกิดปัญหา PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 10,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุของปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 มาจากหลายสาเหตุทั้งการเผาในที่โล่ง ไฟป่า  การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ประกอบกับที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่มีสภาพเป็นแอ่งกะทะทำให้การแก้ปัญหายากมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นเอกภาพเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากซึ่งในระยะหลังเริ่มดีขึ้นเพราะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล

สำหรับบทบาทของอบจ.เชียงใหม่ในการแก้ไขปัญหานั้น นายพิชัย กล่าวว่า มีหลายมิติคือ ทั้งการให้ใช้สถานที่จัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นที่แรกของประเทศไทยที่ให้งบประมาณสนับสนุนแก่มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องทุกปี เช่นปี 2564 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 10.87 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 10.99 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือทำแนวกันไฟ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศพร้อมจอแสดงผลทั้งจังหวัด 250 เครื่อง มอบเรือตรวจการณ์ในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนแม่กวงอุดมธารา การแจกหน้ากาก N 95 ให้กับประชาชน มีการล้างถนน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฝอยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ 

พร้อมกันนั้นยังมีการจัดทำระบบข้อมูลและการสื่อสารเผยแพร่ เช่นโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์รายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชนและศูนย์วิชาการของจังหวัดเพื่อดำเนินการตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน มีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ PM 2.5 รวมทั้งจัดทำ Application และอบรมการใช้ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลและให้ประชาชนแจ้งเบาะแสต่าง ๆ ด้วย

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ เชียงใหม่ กล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันทั้งด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงไปถึงต่างประเทศ ปัญหาโลกร้อนและผลประโยชน์ทับซ้อน กุญแจสำคัญคือการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยใช้มิติทางสังคมควบคู่กฎหมาย จากข้อมูลสถานการณ์ปี 2567 จุดความร้อนจากไฟไหม้ ของเชียงใหม่ดีขึ้นแต่ยังไม่เป็นตามเป้าที่จะให้ลดลง 50% แต่สิ่งที่ยังไม่น่าพอใจก็คือ จำนวนวันของคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานถึง 87 วันก็ถือว่ายังมากอยู่  

ดังนั้นการสรุปบทเรียนต้องวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังลงลึกไปถึงเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ของเชียงใหม่และภาคเหนือว่าเพราะเรามีระบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางทำงานเป็นแท่งในจังหวัดมีหน่วยงานส่วนกลางอยู่ 157 หน่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลอีก 23 หน่วย และมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 211 หน่วย ทำให้การบูรณาการแผนและงบประมาณมีข้อจำกัด ต่อมาคือการบริหารสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยยังทำงานเชิงรับถ้ามีอุบัติภัยจึงจะสามารถใช้งบประมาณใช้คนใช้เครื่องจักรได้ และเรายังมีความล่าช้าของการวางแผนแม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีการวางแผนตั้งแต่ต้นปี2566แต่กว่าแผนจะเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนทำให้งบประมาณล่าช้าจนต้องใช้เงินจากส่วนกลาง ดังนั้นแผนทุกอย่างควรจบในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคมต้องมีงบประมาณชัดเจนแล้ว

ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานจึงควรจะใช้รูปแบบเดียวกันกับการแก้ปัญหาเขตป่าสงวนที่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชนรองรับทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมแม้จะทำได้ดีแต่ยังไม่ลงลึกถึงชุมชนโดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในป่ายังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง  

นอกจากนั้นควรมีการวิจัยที่ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของการเผาคืออะไรไม่ควรแก้ปัญหาตามความรู้สึกหรือมีอคติว่าชาวบ้านเผาเพื่อหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ และควรมีกฎหมายหรือมาตรการจัดการกับบริษัทที่ไปลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อ ป้องกันการเผาในที่โล่ง รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมีแผนที่ชัดเจนและสุดท้ายขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจัดสรรงบฯ กลางเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดโดยทันที โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการโดยเร็ว  

นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในเรื่อง PM 2.5 ว่าสื่อจะรวบรวมข้อมูลนโยบายจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่มานำเสนอ เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เช่น ผลการวิจัย การลงพื้นที่ เก็บข้อมูลจากหน่วยงานและกลุ่มนักวิจัยหรือนักเคลื่อนไหวต่างๆ เพิ่มความถี่ในการนำเสนอข่าว ตอกย้ำ ว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข โดยพยายามขยายประเด็นการนำเสนอที่หลากหลายมิติ เช่นการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา การปรับตัวและการป้องกันตนเองของคนทำงานในด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ภาคประชาชน นักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลและวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ หรือการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

 สิ่งที่สื่อมวลชนอยากเรียกร้อง คือ ขอให้จังหวัดให้ข้อมูลที่เป็นความจริงกับสื่อมวลชน อย่างสร้างภาพและกลัวว่าข่าว PM 2.5 จะกระทบต่อการท่องเที่ยว แลกกับผลกระทบทางสุขภพาของคนเชียงใหม่ คุ้มกันหรือไม่ เราไม่อยากให้ผู้นำมาสร้างภาพ เช่น การปั่นจักรยาน การนั่งริมแม่น้ำปิง หรือการแจกหน้ากากอนามัย แต่อยากให้มีการวางแผนและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน สื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่บางครั้งข้อมูลมามาถึงสื่อ ในวอร์รูม สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุม

สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรและสื่อมวลชน พร้อมสรุปว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีประชุมจะนำไปสู่การผลักดันมาตรการต่างๆเช่น การวางแผนสนับสนุนการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่และสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจปัญหาและปรับตัวเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตลอดจนรู้จักวิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่น pm2.5


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top